แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - patchanok3166

หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 19
46
วันนี้ (16 ม.ค.) นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อายุรแพทย์ระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงกรณีหนุ่มออกมาโพสต์เตือนผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน จนมีอาการแสบจมูก แสบคอ ถึงขั้นจามเป็นเลือดจำนวนมาก ว่า การจามเป็นเลือดมีหลายสาเหตุ ซึ่งหากเกิดขึ้นฉับพลันเพียงครั้งเดียว ก็อาจเป็นปัญหาที่เราเจอบ่อยๆ คือ เส้นเลือดฝอยในจมูกแตก ถามว่าสัมพันธ์กับการหายใจเอาฝุ่นลงไปหรือไม่ ก็แน่นอนว่า ถ้าทำให้เกิดการระคายเคืองและจามอย่างรุนแรงก็ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกได้ แต่ว่าก็ต้องไปหาสาเหตุด้วยว่ามีสาเหตุอื่นอีกหรือไม่ หรือเกิดขึ้นเพียงหนเดียวแล้วหายไป

"ผมคิดว่า เป็นปัญหาที่ตอบยาก แต่ถามว่าเกิดขึ้นได้หรือไม่ เมื่อเกิดการระคายเคืองในทางเดินหายใจ การไอหรือจามรุนแรงบางครั้งก็ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกได้เหมือนกัน ถ้าเลือดออกคงต้องมีการประเมินให้ดีว่า ไม่ได้เกิดจากปัญหาอื่นร่วมด้วยหรือไม่ แต่ก็เป็นไปได้ที่ไอจามรุนแรงแล้วเลือดออก โดยที่ไม่มีโรคร้ายแรงแต่อย่างใด" นพ.ฉันชาย กล่าว

นพ.ฉันชาย กล่าวว่า หากเลือดออกเพียงหนเดียวที่สัมพันธ์กับอาการไอหรือจามรุนแรง แนะนำว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า อาจมาจากการระคายเคือง ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกแล้วเป็นเลือดออกมา ก็อาจแค่เฝ้าระวังก่อน ยังไม่ต้องถึงขั้นไปพบแพทย์ แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น และมีเลือดออกต่อเนื่อง หรือมีอาการอย่างอื่นร่วม เช่น มีไข้ เจ็บคอมาก ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร

นพ.ฉันชาย กล่าวว่า การมีเลือดออกทางจมูก นอกจากเส้นเลือดฝอยในจมูกแตกแล้ว ยังเกิดจากสาเหตุอื่นได้ คือ อาจมีรอยโรคทางจมูกที่ทำให้เลือดออกได้ หรือโรคเรื้อรังที่ทำให้มีอาการเลือดออกทางจมูกบ่อยครั้ง เป็นๆ หายๆ หรือถ้าไอออกมาเป็นเลือดก็ต้องระวังการติดเชื้อในปอดที่ทำให้เกิดการไอเป็นเลือดได้ ซึ่งต้องไปหาสาเหตุ

นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ช่วงนี้ขอแนะนำให้ติดตามข่าวสารหรือระดับฝุ่นละอองของพื้นที่รอบตัวให้ดี ถ้ามีฝุ่นละอองระดับสูง เช่น ถ้าฝุ่น PM2.5 เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ก็แนะนำว่าว่าออกไปข้างนอกถ้าไม่จำเป็น หรือหากต้องออกไปก็อาจป้องกันด้วยอุปกรณ์เท่าที่เราหาได้เพื่อลดความเสี่ยงการสัมผัส แต่หากเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น โรคปอด โรคหอบหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด ก็อาจพิจารณาว่าถ้าค่าเกิน 30 มคก./ลบ.ม.ก็อาจเลี่ยงการออกจากบ้าน

ด้าน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า เชื่อว่าผู้ป่วยคนดังกล่าวน่าจะมีโรคประจำตัว เพราะในคนปกติ จะไม่มีอาการไอจามเป็นเลือด เมื่อเจอกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก แต่อาจเจอกับภาวะคอแห้ง แสบจมูกได้ ส่วนอาการไอจามเป็นเลือดอาจเกิดได้จากป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ส่วนกรณีระบุว่ามีสมุนไพรป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้นั้น ยังไม่มีองค์ความรู้เรื่องข้อมูล แต่ที่แน่ชัดและดีที่สุด คือการเลี่ยง พื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองสูง งดทำกิจกรรมในพื้นที่โล่งแจ้ง ในพื้นที่สีแดง และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจจากฝุ่นสูงขึ้น คาดว่าตัวเลขจะเห็นชัดในอีก 3 เดือนข้างหน้า สำหรับปัญหาคนแห่ซื้อหน้ากากอนามัย N95 จนขาดตลาด เห็นว่าหน้ากากาอนามัยเป็นการป้องกัน สามารถสวมหน้ากากอนามัยธรรมดา 2 ชั้นกรองอากาศทดแทนได้ หรือใช้ผ้าขาวม้า เย็บ 4 ชั้น แทน แต่ว่าควรแก้ที่ต้นเหตุด้วย คือการลดแหล่งเกิดฝุ่นละออง


เผยแพร่: 16 ม.ค. 2562 13:51   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

47
แพทยสภา เร่งทำอัตราค่าธรรมเนียมแพทย์ฉบับใหม่ ครอบคลุมหมอทุกสาขาเชี่ยวชาญ แบ่งเป็นช่วงสูงสุดต่ำสุด รวมถึงครอบคลุม รพ.เอกชน หากคิดแพงกว่าที่กำหนดจะพิจารณาจริยธรรม "หมอสมศักดิ์" เชื่อคุมค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษา แต่ค่าใช้จ่ายจะไปโป่งส่วนอื่น แนะใบเสร็จค่ารักษาควรแจงค่าใช้จ่ายตามจริง ไม่ควรบวกในค่ายา


ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา กรรมการแพทยสภา กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติเห็นชอบให้ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าควบคุม ว่า ค่ายาของ รพ.เอกชน ปัจจุบันอาจจะมีการขายในราคาที่บวกกำไรขึ้นไปอย่างมาก อาจจะ 200-300% ส่วนหนึ่งเพราะมีค่าอย่างอื่นแฝง โดยมีค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่อาจจะไม่รู้ว่าจะนำไปไว้ในค่าอะไรของใบเสร็จ ก็เพิ่มไว้ในค่ายา เพราะฉะนั้น ส่วนตัวเห็นว่า รพ.เอกชนควรที่จะแสดงใบเสร็จแจกแจงรายละเอียดจริงๆ ตามค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้น ไม่ควรนำมาแฝงไว้ในค่ายาแทน เพราะจะทำให้เหมือนว่า คิดค่ายาที่แพงกว่า รพ.รัฐที่ปัจจุบันมีการบวกกำไรเพิ่มราว 10-20% ส่วน รพ.เอกชนอาจจะบวกกำไรเพิ่มมากขึ้นในส่วนของยาที่ราคาไม่แพง และบวกกำไรเพิ่มเล็กน้อยสำหรับยาที่มีราคาแพง เพื่อไม่ให้ยาราคาแพงอยู่แล้วแพงมากเกินไป แต่จะต้องนำปริมาณการใช้ยาชนิดนั้นและต้นทุนการซื้อยาของ รพ.แต่ละแห่งมาพิจารณาด้วย


“หากเห็นว่า ซื้อยาใน รพ.แพงก็สามารถขอให้แพทย์ออกใบสั่งยาไปซื้อจากข้างนอกที่ถูกกว่าได้ แต่ปัญหา คือ คนไทยส่วนใหญ่มีประกันสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาล ก็จะยอมรับยาจาก รพ. เพราะประกันจ่าย ไม่ขอใบเสร็จมาซื้อยาข้างนอก เพราะต้องจ่ายเอง อย่างไรก็ตาม หากดูค่ารักษาพยาบาลในต่างประเทศจะแพงกว่าไทยมาก ทำให้คนต่างชาติเดินทางมารักษาในไทยแต่ละปีค่อนข้างสูง และเชื่อว่าแม้จะคุมค่ายา เวชภัณฑ์ บริการทางการแพทย์ บริการรักษาพยาบาล ท้ายที่สุดค่าใช้จ่ายเมื่อเข้ารับการรักษาก็จะไปโป่งในส่วนอื่นอยู่ดี” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว


ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนค่าธรรมเนียมแพทย์ แพทยสภามีการกำหนดโดยประกาศค่าธรรมเนียมแพทย์แต่ละสาขาเฉพาะทางที่มีความแตกต่างกัน ฉบับปัจจุบันใช้มาเป็น 10 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงค่าธรรมเนียมแพทย์ เนื่องจากบริบทแตกต่างจากในอดีตมาก และพบว่า ค่าเฉลี่ยค่าธรรมเนียมแพทย์ในปัจจุบันเท่ากับอัตราค่าธรรมเนียมสูงสุดของฉบับเดิม คาดว่าจะแล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ อัตราค่าธรรมเนียมแพทย์แต่ละสาขา แพทยสภาจะกำหนดขึ้นจากการหารือกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเป็นช่วงๆ ต่ำสุด-สูงสุด เพราะหากกำหนดอัตราเดียวทั้งหมดหรือเป็นเพดาน จะทำให้สถานพยาบาลที่มีขนาดเล็กคิดอัตราค่าธรรมเนียมแพทย์ในระดับสูงสุดเกรดเอทั้งสิ้น ซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมแพทย์ของแพทยสภาจะครอบคลุมแพทย์ในรพ.เอกชนด้วย หากแพทย์ใน รพ.เอกชนมีการคิดค่าธรรรมเนียมแพทย์ในการตรวจรักษามากกว่าที่แพทยสภากำหนดไว้ ก็จะมีการพิจารณาในเรื่องของจริยธรรม จรรยาบรรณแพทย์ด้วย
 

"การที่จะเข้ามาควบคุมค่าต่างๆ ใน รพ.เอกชน จริงๆไม่ควรทำ แต่ถ้าไม่ทำก็จะทำให้ค่ารักษาอาจจะแพงขึ้นๆ ไปอีก หากจะดำเนินการก็ต้องดูข้อกำหนด ผลกระทบให้รอบด้านด้วย เพราะการรักษารพ.เอกชนเป็นทางเลือกของประชาชน ถ้ามองว่าแพงก็ไม่ต้องเข้าในรพ.เอกชนแห่งนั้น ไปแห่งอื่นแทน เป็นไปตามกลไกการค้าเสรี หากไปบีบ รพ.มากๆอาจจะทำให้เขาเจ๊งได้" ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว



เผยแพร่: 11 ม.ค. 2562    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

48
ทันตแพทยสภาสอบใบประกอบวิชาชีพผ่านระบบออนไลน์ทั่วประเทศอย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก โดยใช้ระบบดิจิทัลช่วยให้รูปถ่ายเคสต่างๆ รวมทั้งฟิล์มเอกซเรย์ชัดเจน วัดความรู้นักศึกษาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แถมนักศึกษาในต่างจังหวัดไม่ต้องเดินทางมาสอบที่ส่วนกลาง ลดค่าใช้จ่าย ด้านนายกทันตแพทยสภา เผย ระบบได้ผลดี น่าพอใจ ไม่มีสนามสอบไหนมีปัญหา เตรียมยกระดับการสอบเพื่อวัดผลการผลิตทันตแพทย์ให้ประชาชนมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐาน


ผศ.ทพ.บัณฑิต จิรจริยาเวช ประธานศูนย์ประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพทันตกรรม (ศ.ป.ท.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 12-13 ม.ค. 2562 นี้ มีการสอบประเมินความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพทันตกรรมของนักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 4 และ 6 โดยการสอบในปีนี้เป็นการสอบแบบออนไลน์เต็มระบบทั่วประเทศเป็นครั้งแรก มีผู้เข้าสอบพร้อมกันกว่า 800 คนทั่วประเทศ


สำหรับการสอบนักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 4 จะเป็นการสอบวัดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน และในส่วนของนักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 6 เป็นการสอบความรู้พื้นฐานทางด้านคลินิก แต่เดิมใช้การสอบแบบข้อเขียนบนกระดาษตามปกติ ซึ่งประสบปัญหาคือรูปภาพในกระดาษจะไม่ชัด เมื่อรูปไม่ชัดก็มีผลกับการทำข้อสอบ แต่เมื่อนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ รูปถ่ายเคสต่างๆ หรือฟิล์มเอกซเรย์ก็ชัดเจนขึ้น ทำให้นักศึกษาเข้าใจและทำข้อสอบได้ดีขึ้น การประมวลผลก็ง่ายขึ้น รวมทั้งจัดให้มีสนามสอบทั่วประเทศ นักศึกษาไม่ต้องเดินทางมาศูนย์สอบที่ส่วนกลาง ลดภาระค่าใช้จ่ายของนักศึกษา ทำให้มีเวลาเตรียมตัวมากยิ่งขึ้น


“ระบบนี้ก็ทำให้เกิดความยุติธรรมและความเที่ยงตรงในการประมวลผล ก่อนหน้านี้ เราก็มีการทดลองสอบบนระบบออนไลน์ แต่ยังทำไม่เต็มจำนวน ส่วนปีนี้เป็นปีที่ออนไลน์ครบทั้งระบบเป็นครั้งแรก ถือเป็นวิชาชีพแรกๆ ที่ใช้การสอบออนไลน์เข้ามาช่วย” ผศ.ทพ.บัณฑิต กล่าว


ด้าน ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า เท่าที่ได้รับรายงาน พบว่า การจัดสอบเป็นไปได้อย่างราบรื่น ไม่มีสนามสอบไหนที่มีปัญหาเลย การใช้ระบบออนไลน์ก็มีประสิทธิภาพดีค่อนข้างน่าพอใจ สามารถสอบพร้อมกันหมดทั่วประเทศ เด็กต่างจังหวัดก็ไม่ต้องเดินทางเข้ามาที่ส่วนกลาง สามารถสอบในพื้นที่ของตัวเองได้เลย


“เดิมเราใช้ระบบพิมพ์ข้อสอบ รูปที่พิมพ์ลงไปไม่ชัด จะพิมพ์สีก็ลำบาก รูปเอกซเรย์เลิกพูดได้เลย การจะวัดว่าเด็กนักเรียนอ่านฟิล์มเป็นหรือไม่ทำไม่ได้เลย แต่ในรูปแบบของระบบดิจิทัลสามารถทำได้หมด รูปภาพเคส เนื้องอก ภาพจากกล้องจุลทรรศน์ ลักษณะฟันผุ โรคในช่องปากทั้งหลายสามารถใช้เป็นรูปสีได้ ภาพเอกซเรย์ก็สามารถลงได้ในคอมพิวเตอร์ เห็นได้ชัดเจนกว่าเดิม ทำให้การวัดความรู้ของนักศึกษาดีขึ้น เป็นการสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าเด็กที่จบไปจะมีความรู้ความสามารถในการดูแลประชาชนได้จริงๆ” ทพ.ไพศาล กล่าวว่า เมื่อเห็นว่าระบบทุกอย่างทำงานดีเช่นนี้ การสอบครั้งต่อๆ ไปก็จะใช้รูปแบบนี้ต่อไปและจะพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น




เผยแพร่: 13 ม.ค. 2562   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

49
เลือกตั้งแพทยสภา "หมอธีระวัฒน์-หมอฉันชาย" หน้าใหม่คะแนนสูง จับตา "หมอสมศักดิ์" ขึ้นนายกฯ อีกสมัย?


ประกาศผลเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา "หมอสมศักดิ์" คะแนนสูงสุดเหมือนทุกครั้ง จับตาหวนนั่งนายกแพทยสภาอีกสมัยหรือไม่ พบส่วนใหญ่เป็นกรรมการหน้าเดิม เพิ่มเติมรายใหม่ส่วนอาจารย์แพทย์ ทั้ง "หมอธีระวัฒน์-หมอฉันชาย" ลงสมัครครั้งแรก คะแนนนำสูงอันดับ 2 และ 7


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเลือกตั้งคณะกรรมการแพทยสภา วาระ พ.ศ. 2562-2564 มีผู้สมัครเลือกตั้งเป็นกรรมการแพทยสภาทั้งสิ้น 117 ราย ซึ่งได้มีการส่งบัตรลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่แพทย์ทั่วประเทศ ในการลงคะแนนเลือกตั้ง โดยให้เลือกผู้สมัครได้ไม่เกิน 29 หมายเลข และให้ส่งกลับมาสำนักงานเลขาธิการแพทยสภา โดยกำหนดปิดหีบรับบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา


วันนี้ (8 ม.ค.) คณะอนุกรรมการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา วาระ พ.ศ. 2562-2564 ได้จัดให้มีการนับคะแนนการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา โดยขนหีบบัตรเลือกตั้งจากสำนักงานเลขาธิการแพทยสภา ไปยังอาคารใหม่ของสภาวิชาชีพด้านสาธารณสุข เพื่อดำเนินการตรวจนับผลคะแนน โดยเชิญนิสิตนักศึกษาแพทย์ใน กทม.จำนวน 80 คน มาช่วยดำเนินการ ทั้งนี้ บัตรลงคะแนนเลือกตั้งที่จัดส่งมีทั้งสิ้น 55,791 ฉบับ มีสมาชิกแพทยสภาลงคะแนน จำนวน 14,732 คน ซึ่งผู้ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงสุด 29 คนแรก จะได้รับการแต่งตั้งเป้นกรรมการแพทยสภาวาระ พ.ศ. 2562-2564 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2562 เป็นต้นไป ซึ่งผลคะแนนการเลือกตั้งมีดังนี้


1.ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา 7,909 คะแนน 2.ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา 5,969 คะแนน 3.พญ.ชัญวลี ศรีสุโข 5,896 คะแนน 4.ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ 5,585 คะแนน 5.รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร 5,567 คะแนน 6.พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ 5,497 คะแนน 7.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ 5,269 คะแนน 8.นพ.พินิจ หิรัญโชติ 4,925 คะแนน 9.ศ.นพ.กัมมันต์ พันธุมจินดา 4,833 คะแนน 10.ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ 4,684 คะแนน


11.นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ 4,572 คะแนน 12.ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ 4,301 คะแนน 13.นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ 4,282 คะแนน 14.พ.อ.นพ.สุรจิต สุนทรธรรม 4,036 คะแนน 15.รศ.นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ 3,930 คะแนน 16.ศ.คลินิก เกียรติคุณ พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก 3,867 คะแนน 17.ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ 3,846 คะแนน 18.นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน 3,840 คะแนน 19.ศ.นพ.ภาคภูมิ สุปิยพันธุ์ 3,782 คะแนน 20.นพ.เกรียง อัศวรุ่งนิรันดร์ 3,654 คะแนน


21.รศ.นพ.บุญส่ง พัจนสุนทร 3,654 คะแนน 22.พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา 3,472 คะแนน 23.นพ.ชาตรี บานชื่น 3,388 คะแนน 24.ศ.คลินิก นพ.วิรุฬ บุญนุช 3,387 คะแนน 25.นพ.พิชญา นาควัชร 3,340 คะแนน 26.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ 3,350 คะแนน 27.ศ.นพ.สิน อนุราษฎร์ 3,335 คะแนน 28.ศ.นพ.วิรัติ พาณิชย์พงศ์ 3,319 คะแนน และ 29.ผศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ 3,258 คะแนน


ทั้งนี้ ผู้ได้รับการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาวาระนี้ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นกรรมการหน้าเดิม เช่น ทีมชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์ (ชพพ.) ซึ่งครั้งนี้ ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ได้รับคะแนนนำสูงสุด ก็ต้องจับตาว่าจะกลับมาเป็นนายกแพทยสภาอีกสมัยหรือไม่ หลังจากวาระที่ผ่านมา ศ.นพ.ประสิทธิ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นนายกแพทยสภา ซึ่งครั้งนี้ไม่ได้ลงเลือกตั้งต่อ แต่ครั้งนี้ก็มีกรรมการแพทยสภาหน้าใหม่ๆ ที่ได้รับเลือกเข้ามา เช่น ทีมแพทย์อาสา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาจารย์แพทย์จากโรงเรียนแพทย์ เช่น ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งลงสมัครเป็นครั้งแรก ก็ได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงเป็นอันดับ 2 เช่นเดียวกับ นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รพ.จุฬาฯ ที่ลงสมัครครั้งแรกเช่นกัน ก็ได้คะแนนสูง เป็นอันดับ 7


อย่างไรก็ตาม กรรมการแพทยสภาชุดใหม่ จะมีการประชุมร่วมกับ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเลือกนายกแพทยสภา และจากนั้นนายกแพทยสภาจะเลือกทีมขึ้นมาทำงานในส่วนของเลขาธิการแพทยสภาตอ่ไป



เผยแพร่: 8 ม.ค. 2562    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

50
กรมการแพทย์สำรวจภาระงาน 5 วิชาชีพ "หมอ-พยาบาล-เภสัชฯ-เทคนิคการแพทย์-รังสี" พบหมอเกิน 60% ทำงาน 80 ชั่วโมง/สัปดาห์ เกินแพทยสภากำหนด 2 เท่า 15% อยู่เวรทั้งสัปดาห์ 90% เคยขึ้นเวรทั้งที่ป่วย 90% ยอมรับผิดพลาดการรักษาเพราะนอนน้อยงานมาก 65%ไม่มีความสุขกับการทำงาน จ่อสรุปผลทั้งหมดในสัปดาห์นี้ หาทางออกนำร่อง รพ.สังกัดกรมฯ เสนอ รมว.สธ.-ปลัดสธ.สัปดาห์หน้า


วันนี้ (7 ม.ค.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการสำรวจภาระงานบุคลากรสาธารณสุข ว่า ที่ผ่านมาปัญหาภาระงานของบุคลากรสาธารณสุขถูกตั้งคำถามจำนวนมาก เพื่อให้มีข้อมูลเชิงประจักษ์ กรมการแพทย์ จึงได้มอบหมายให้ นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักกฎหมายทางการแพทย์ กรมการแพทย์ ทำการสำรวจการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานขึ้นเวรในโรงพยาบาล หลักๆ มี 5 วิชาชีพ คือ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ และรังสีเทคนิค โดยเป็นกลุ่มทำงานเวรดึก โดยผลการสำรวจจะนำมาพิจารณาเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม เบื้องต้นจะหาทางออกภายในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ 31 แห่งจากทั่วประเทศก่อน ซึ่งบุคลากรในกรมการแพทย์สำหรับสายวิชาชีพน่าจะประมาณร้อยละ 70 จากทั้งหมดประมาณ 18,000 คน ทั้งนี้ กรมฯ จะมีการหารือและสรุปผลทั้งหมดภายในสัปดาห์นี้ หลังจากนั้นจะนำเรียนต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงสัปดาห์หน้า


ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลสรุปเบื้องต้นเป็นอย่างไร นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากสำรวจเมื่อช่วงปลายปี 2561 ทราบว่า ใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือนก็ทราบผลเบื้องต้น โดยได้สำรวจบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ แต่ส่วนใหญ่ที่มาตอบจะเป็นสังกัด สธ. โดยพบว่า ในส่วนของแพทย์ที่มาตอบคำถามประมาณกว่าพันคน พบร้อยละ 60 ทำงานนอกเวลาราชการมากกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเกินกว่าที่แพทยสภาเคยกำหนดไว้ไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ก็ต้องพิจารณาหลายๆ อย่าง โดยขอให้มีการหารือกันก่อนและจะมีการสรุปพร้อมหาทางออกต่อไป


นพ.เมธี กล่าวภายหลังโพสต์เฟซบุ๊ก Methee Wong ถึงภาระงานบุคลากรสาธารณสุข ว่า การทำงานถึง 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นการทำงานเกินเวลาที่แพทยสภาประกาศถึง 2 เท่า และยังพบว่าอีกกว่าร้อยละ 30 แพทย์ทำงานนอกเวลาราชการมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเกินกว่า 3 เท่า ที่สำคัญยังพบว่าแพทย์ร้อยละ 15 ต้องอยู่เวรทั้งสัปดาห์ และแพทย์กว่าร้อยละ 90 มีประสบการณ์ต้องทำงานและขึ้นเวรทั้งที่ตนเองป่วย เพราะหาคนทำแทนไม่ได้ และโดนบังคับให้ทำ นอกจากนี้ ยังพบว่า แพทย์ 70% มีประสบการณ์ต้องทำงานและขึ้นเวรทั้ง ๆ ที่ญาติพี่น้อง ทั้งบิดามารดา สามีภรรยา บุตร ป่วย แต่ไม่สามารถไปดูแลได้ และมากกว่า 50% ต้องรับผิดชอบคนไข้นอกมากกว่า 100 รายต่อวัน ซึ่งจริงๆ มาตรฐานการตรวจผู้ป่วยรายใหม่ คนหนึ่งควรใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10-15 นาที รายเก่า 5 นาที


"แพทย์มากกว่า 55% ต้องรับผิดชอบคนไข้ห้องฉุกเฉินเกือบ 70 รายต่อวัน แพทย์ 90% ยอมรับว่าเกิดความผิดพลาดในการรักษา เพราะภาระงานที่มากเกินไปและอดนอน แพทย์ 70% ยอมรับว่าป่วยก่อนวัยอันควรและมีปัญหาสุขภาพจิต รวมทั้ง ซึมเศร้า เบื่องาน นอนไม่หลับ ต้องใช้ยานอนหลับ ดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลัง แพทย์ 65% ไม่มีความสุขกับการทำงานในวิชาชีพแพทย์” นพ.เมธี กล่าว



เผยแพร่: 7 ม.ค. 2562    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

51
"ปาบึก" ทำ รพ.เสียหาย 92 โรง รพ.สต.บ้านปลายทราย "แหลมตะลุมพุก" ยังปิดบริการ สธ.ฟุ้งโครงสร้างอาคารแข็งแรง


สธ.เผย รพ.เสียหายจากพายุปาบึก 92 โรง เสียหายรุนแรง 29 โรง หนักสุดที่นครศรีธรรมราช พบ รพ.สต.บ้านปลายแหลม ยังต้องปิดปรับปรุง คาดเปิดบริการได้ 8 ม.ค. ชี้โครงสร้างอาคาร รพ.มั่นคงแข็งแรง แม้เจอพายุหนักพอๆ กับอดีต สำรวจแล้วยังไม่พบปัญหาสุขภาพจิต เตรียมพร้อมดูแลทั้งประชาชนและบุคลากร สธ.ที่รับผลกระทบ ยังเหลือ 23 ราย ติดค้าง รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช เหตุไฟที่บ้านยังดับ


วันนี้ (7 ม.ค.) ที่ศูนย์ราชการฯ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก ว่า ขณะนี้ได้ให้กองวิศวกรรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สำรวจความเสียหายของสถานพยาบาล พบว่า มีสถานพยาบาลทุกระดับในสังกัด สธ. ได้รับผลกระทบ 92 แห่ง แต่เสียหายรุนแรง 29 แห่ง แต่ทั้งหมดยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ ส่วนใหญ่เป็นความเสียหายจากแรงลม ทำให้หลัง ฝ้า และเพดานเสียหาย ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ไม่ได้รับผลกระทบ ถือว่าไม่รุนแรง


ต่อมา ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม ได้ประชุมร่วมกับทีมแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุม ว่า สถานพยาบาลของ สธ.ได้รับความเสียหายเล็กน้อย ส่วนใหญ่เกี่ยวกับหลังคา ฝ้า และเพดาน แต่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ แต่ที่รับผลกระทบมากที่สุดเป็น จ.นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะ รพ.สต.บ้านปลายทราย ที่แหลมตะลุมพุก ซึ่งอยู่ระหว่างปรับปรุง คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในวันที่ 8 ม.ค. 2562 ส่วนน้ำท่วมสถานพยาบาลแค่บางแห่ง สามารถให้บริการได้ตามปกติ ส่วนปัญหาระบบไฟฟ้าที่ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช ก็กลับมาใช้ได้ตามปกติแล้ว ส่วนการรายงานผู้เสียชีวิต มีแค่ 4 คน ซึ่งพายุเข้าครั้งนี้ เมื่อเทียบกับพายุเกย์ในอดีตแม้จะรุนแรง แต่ความเสียหายไม่มาก เห็นได้จากโครงสร้างของอาคารก็ไม่ได้รับความเสียหาย


นพ.สุขุม กล่าวว่า ส่วนการซ่อมแซมจะใช้เงินบำรุงของ รพ.ก่อน ซึ่งคาดว่าไม่มาก แต่ละโรงน่าจะอยู่ที่ประมาณหลักหมื่นบาท แต่ต้องรอประเมินสรุปอีกเพื่อจัดสรรงบและความช่วยเหลือให้เพียงพอ สำหรับสถานการณ์โดยทั่วไปถือว่า อากาศแจ่มใส ไม่มีฝนตก อยู่ในช่วงของการฟื้นฟู โดยจัดทีมแพทย์ 4 ทีม คือ ทีมแพทย์ ด้านการดูแลฉุกเฉิน ทีมแพทย์ควบคุมป้องกันโรคติดต่อ ทีมแพทย์ดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยสิ่งแวดล้อม และทีมแพทย์ดูแลสุขภาพจิต ซึ่งผลการสำรวจและให้การดูแลสุขภาพจิตของผู้ประสบภัย ตอนนี้ยังไม่พบปัญหาทางสุขภาพจิต แต่อาจมีความเครียด วิตกกังวลบ้าง ซึ่งต้องมีการสำรวจ และติดตามต่อเนื่อง อย่างไรก้ตาม ไม่เพียงแค่ประชาชนเท่านั้นที่เราดูแล แต่จะดูแลไปถึงบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งหากเป็นบ้านพักบุคลากรในสถานพยาบาลก็มีงบจัดสรรลงไป แต่หากเป็นบ้านพักส่วนตัว ก็จะมีการระดมเงินบริจาคช่วยเหลือ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมมีการสรุปสถานการณ์ดังกล่าว โดยพบว่า จ.นครศรีธรรมราชได้รับผลกระทบมากที่สุด โรงพยาบาลได้รับผลกระทบ 4 แห่ง คือ 1.รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช ลมพัดแรง เสาไฟฟ้าล้ม 4 ต้น ทำให้รถทั้งของเจ้าหน้าที่และผู้มารับบริการเสียหายรวม 12 คัน แต่มีการซ่อมแซมให้ไฟฟ้ากลับมาใช้ได้ปกติแล้ว แต่ยังรอติดตั้งเสาไฟฟ้าต้นใหม่ ส่วนกรณีที่เปิดเป็นศูนย์พักพิงให้ผู้ติดค้างกว่า 100 รายนั้น ตอนนี้เหลืออยู่ 23 ราย เป็นผู้ป่วยติดเตียง 3 ราย ยังกลับบ้านไม่ได้ เพราะไฟฟ้าที่บ้านดับ และยังไม่ได้ทำความสะอาด 2.รพ.ปากพนัง เกิดปัญหาน้ำท่วม แต่ลดแล้ว มีความเสียหายมที่อาคารซักฟอก โรงเก็บยา และแผนกยานพาหนะ 3.รพ.เฉลิมพระเกียรติ มีปัญหาฝ้าเพดานเสียหายแฟลตที่พัก และอาคารซักฟอก และ 4.รพ.ชะอวด พบว่าฝ้าถล่ม ส่วน รพ.สต.เสียหาย 5 แห่ง ส่วนของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งจังหวัดไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ แต่บ้านพักส่วนตัวเสียหาย 48 ราย


โดยวันที่ 8 ม.ค. 2562 นพ.สุขุม เตรียมหารือกับผู้บริหาร เพื่อระดมความช่วยเหลือจากการได้รับผลกระทบในครั้งนี้ด้วย




เผยแพร่: 7 ม.ค. 2562    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

52
บอร์ด สปสช. เห็นชอบงบกองทุนบัตรทองปี 63 จำนวน 1.99 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากที่จัดสรรปี 62 ถึง 1.8 หมื่นล้านบาท เป็นงบเหมาจ่ายรายหัว 1.82 แสนล้านบาท เฉลี่ย 3,784 บาทต่อหัว งบกองทุนย่อย 1.73 หมื่นล้านบาท เพิ่มสิทธิประโยชน์ 15 รายการ จ่อชง ครม.เห็นชอบเร็วๆ นี้


วันนี้ (7 ม.ค.) ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และประธานบอร์ด สปสช. เป็นประธาน มีวาระพิจารณาร่างข้อเสนองบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2563 และกรอบภาระงบประมาณปี 2564 ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบเรื่องดังกล่าวตามข้อเสนอคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน สปสช. โดยเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบวงเงินต่อไป


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2563 ในส่วนงบเหมาจ่ายรายหัวได้เสนอจำนวน 182,658.48 ล้านบาท หรือ 3,784.57 บาท/ประชากรผู้มีสิทธิ ซึ่งมีทั้งหมด 48.26 ล้านคน ซึ่งขอเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ได้รับการจัดสรรจำนวน 166,445.22 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 16,213.26 ล้านบาท หรือ 358.01 บาทต่อประชากร ปัจจัยการปรับเพิ่มงบประมาณมาจากต้นทุนบริการ ทั้งอัตราเงินเฟ้อ ค่ายา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าตอบแทนบุคลากร ปริมาณการใช้บริการ สิทธิประโยชน์ใหม่ และการเพิ่มการเข้าถึงบริการแบบก้าวกระโดด ซึ่งเมื่อหักเงินเดือนบุคลากรภาครัฐจำนวน 49,832.58 ล้านบาท คงเหลืองบประมาณเข้าสู่กองทุนจำนวน 132,825.90 ล้านบาท


นพ.จเด็จ กล่าวว่า ส่วนงบประมาณนอกเหมาจ่ายรายหัว ปีงบประมาณ 2563 คณะอนุกรรมการฯ ได้นำเสนอรายละเอียดดังนี้ 1.งบบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 3,632.58 ล้านบาท 2. งบบริการสาธารณสุขผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จำนวน 9,537 ล้านบาท 3.งบบริการบริการควบคุมป้องกันความรุนแรงโรงเรื้อรัง (เบาหวานและจิตเวชเรื้อรังในชุมชน จำนวน 1,291.66 ล้านบาท 4.งบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,490.28 ล้านบาท 5.งบค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จำนวน 1,025.55 ล้านบาท และ 6.งบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว จำนวน 284.18 ล้านบาท เมื่อรวมรายการงบนอกเหมาจ่ายรายหัวแล้ว คิดเป็นงบประมาณจำนวน 17,261.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 2,122.41 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยต้นทุนการบริการ ปริมาณการใช้บริการ ขอบเขตบริการและนโยบายที่เพิ่มขึ้น



"ปี 2563 นี้ยังได้เพิ่มเติมงบประมาณเพื่อชดเชยวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) เพื่อแก้ไขปัญหาการะบาดในภาคใต้ ปีงบประมาณ 2561-2562 จำนวน 45.02 ล้านบาท เมื่อรวมกับข้อเสนองบประมาณทั้ง 3 ส่วนนี้ รวมเป็นงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งสิ้น จำนวน 199,964.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ได้รับจัดสรร จำนวน 181,584.09 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 18,380.68 ล้านบท หลังหักเงินเดือนบุคลากรภาครัฐเป็นงบเข้าสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 150,132.19 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15,863.07 ล้านบาท" นพ.จเด็จ กล่าว


นพ.จเด็จ กล่าวว่า ข้อเสนองบประมาณเพิ่มขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการปรับปรุงและเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพื่อการเข้าถึงการรักษาให้กับประชาชน ซึ่งมี 15 สิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2563 นี้ ได้แก่ 1.บริการตรวจคัดกรองยีน HLA-B*1520 ก่อนเริ่มยากันชัก Carbamazepine ป้องกันการแพ้ยาชนิดรุนแรง สตีเวนส์ จอห์นสัน 2.ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประชากร อายุ 50-70 ปี 3.บริการผ่าตัดผ่านกล้องและอุปกรณ์ทันสมัย และบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ 4.เพิ่มสิทธิประโยชน์เข้าถึงยาราคาแพง บัญชียา จ.(2) ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ มะเร็งไทรอยด์ เส้นประสาทที่เกิดจากการทำลายปลอกมัยอิลินชนิดเรื้อรัง และผู้ป่วยเอดส์ที่ดื้อยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐาน 5.นำร่องบริการตรวจคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมทารกในครรภ์


6.บริการดูแลผู้ป่วยกึ่งเฉียบพลัน (Intermediate care) ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ในผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน บาดเจ็บทางสมองและบาดเจ็บที่เส้นประสาทไขสันหลัง 7.เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพโดยหมอครอบครัว 8.บริหารจัดการ่วมระหว่างหน่วยบริการ อปท. ชุมชนและครอบครัวเพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียงทุกลุ่มอายุ และกลุ่มสิทธิสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม 9.ติดตามค่าน้ำตาลในเลือดด้วยเครื่องตรวจในผู้ป่วยโรคเบาหวานในเด็กทุกราย 10.นำร่องการล้างไตผ่านเครื่องอัตโนมัติในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 11.นำร่องป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีด้วยวิธี Pre-Exposure Prophylaxis (PrEP) ในกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวี 12.เพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการแพทย์แผนไทยมากขึ้น 13.การเพิ่มโอกาสได้รับการส่งต่อเพื่อรับการรักษาโรคอย่างต่อเนื่องในประชาชนชาว กทม. 14.การขยายสิทธิประโยชน์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในกลุ่มผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ และ 15.เพิ่มการให้วัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงเด็กอายุ 2-18 เดือน


นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับการประชุมในวันนี้ บอร์ด สปสช.ยังรับทราบการจัดทำกรอบงบประมาณกองทุนฯ ปี 2564 โดยได้นำเสนอกรอบงบประมาณจำนวน 210,868.52 ล้านบาท แยกเป็นงบเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 192,813.79 ล้านบาท หรือ 3,975.87 บาทต่อประชากร และงบค่าบริการอื่นนอกงบเหมาจ่ายรายหัว จำนวน 18,054.73 ล้านบาท ซึ่งจะมีการนำเสนอต่อ ครม. รับทราบพร้อมข้อเสนองบประมาณปี 2563 ต่อไป



เผยแพร่: 7 ม.ค. 2562    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

53
กลืนไม่ลง!! หมดยุค “ข้อมูลสุขภาพ” ชุดเดียวใช้ทั้งประเทศ กรมอนามัยลุยทำ “การตลาด” เจาะทุกกลุ่มวัย เล็งหารือ “กูเกิล” ช่วยติดอันดับค้นหา


กรมอนามัยลุยใช้ “การตลาด” สร้างสื่อรณรงค์-ข้อมูลสุขภาพแนวใหม่ ตรงใจคนแต่ละกลุ่ม หวังชักจูงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพคนไทยได้ดีขึ้น รับแต่ละคนสนใจต่างกัน ไลฟ์สไตล์ต่างกัน ใช้ข้อมูลชุดเดียวสื่อสารคนทั้งประเทศไม่ได้ เร่งทำคลังข้อมูลสุขภาพบนเว็บไซต์ คิดประสานกูเกิลช่วยติดอันดับการค้นหาเรื่องสุขภาพ เพิ่มการเข้าถึง ลดปัญหาแชร์ข้อมูลสุขภาพแบบผิดๆ


พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของคนไทย ว่า ขณะนี้กรมฯ กำลังหันมาใช้หลักการตลาดเข้ามาช่วยเรื่องการสื่อสารให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ หรือ นำความรู้สุขภาพต่างๆ ไปใช้ เพราะต้องยอมรับว่า แต่ละคนมีความชอบ ความสนใจ และจริตที่แตกต่างกันออกไป จะใช้ข้อมูลความรู้สุขภาพหรือสื่อรณรงค์เพียงชุดเดียวที่มีความเป็นแมส (Mass) มากๆ แล้วเอาไปใช้สื่อสารกับคนทุกกลุ่มวัยอีกต่อไปคงไม่ได้ เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะกลืนหรือรับข้อมูลทั้งหมดเข้าไปได้ เพราะเมื่อคำแนะนำที่ให้เป็นการฝืนไลฟ์สไตล์เขาก็จะไม่สนใจหรือไม่ทำ ดังนั้น จะต้องใช้หลักการตลาดแบ่งกลุ่มคนออกมาและทำสื่อรณรงค์หรือชุดความรู้ที่จะสื่อสารไปยังกลุ่มบุคคลต่างๆ เหล่านี้ให้ตรงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น เหมือนกับสินค้าที่วางขาย ยังต้องทำออกมาหลากหลายให้คนเลือกตามความสนใจ ความรู้ทางสุขภาพหรือสื่อรณรงค์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็เช่นกัน ควรจะต้องมีความหลากหลายให้เหมาะกับคนหลายๆ กลุ่มในสังคมหรือเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเขาเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้


พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า การจะสื่อสารให้ตรงกลุ่มเป้าหมายนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาเก็บข้อมูลกลุ่มเป้าหมายก่อน เหมือนอย่างบริษัทต่างๆ ที่ทำการตลาดก็ต้องเก็บข้อมูลกลุ่มเป้าหมายเช่นกัน ถึงจะทำสินค้าออกมาตรงกับความต้องการและทำให้คนหันมาซื้อสินค้าได้ ความรู้ทางสุขภาพก็เช่นกัน จำเป็นที่จะต้องมีการเก็บข้อมูลเพื่อให้รู้ก่อนว่า กลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มนั้นสนใจเรื่องอะไร พูดคุยเรื่องอะไร เพื่อที่จะได้ทำข้อความส่งไปได้ตรงมากขึ้น เช่น สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กเล่มสีชมพู ซึ่งมีความรู้ทั้งหมดอยู่ในนั้น แต่ก็ต้องมาเปิดหาเรื่องที่สนใจเอง พอถึงเวลาก็ไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ เราก็กำลังทำเป็นแอปพลิเคชัน ที่มีระบบประมวล ว่า แม่นั้นสนใจค้นหาเรื่องอะไร หรือพูดคุยเรื่องอะไร ก็จะได้ทำข้อมูลสื่อสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้โดยเฉพาะเลย แต่ถามว่าคนอื่นอ่านได้หรือไม่ ก็สามารถอ่านได้ เรียกว่าต้องทำสื่อรณรงค์ให้จับใจผู้รับสาร และหวังว่าเมื่อจับใจเขาแล้วเขาก็จะไปเปลี่ยนตัวเองให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งอาจจะต้องประสานทางอาจาย์มหาวิทยาลัยที่สอนด้านการตลาดในการช่วยเรื่องเหล่านี้ด้วย



พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ส่วนการสื่อสารออกไปให้คนรับรู้ก็จะมีหลายช่องทาง อย่างแรกคือ ทำคลังข้อมูลของตัวเอง คือ เว็บไซต์กรมอนามัยที่จะเป็นคลังความรู้สุขภาพทั้งหมด และมีการจัดทำออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาค้นหาได้ตามความชอบ และอาจต้องประสานงานกับเสิร์ชเอนจินอย่าง “กูเกิล” เพื่อให้เวลาค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพแล้ว ข้อมูลของกรมอนามัยควรจะติดอันดับอยู่ในหน้าแรกของการค้นหา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ เป็นแหล่งอ้างอิงได้ ซึ่งตรงนี้จะต้องมีการลงทุน นอกจากนี้ อาจต้องใช้สื่อโซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์ในการสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มคนต่างๆ มากขึ้น ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเราทำองค์ความรู้เช่นนี้ ก็จะช่วยลดปัญหาการถูกหลอกลวงหรือข้อมูลสุขภาพผิดๆ ที่แชร์กันในสื่อสังคมออนไลน์ได้ด้วย



เผยแพร่:  4 ม.ค. 2562    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

54
สธ. เกาะติดสถานการณ์พายุปาบึก พบว่า เกิดฝนตกหนัก ใน 3 จังหวัด คือ สงขลา พัทลุง และ ปัตตานี พบน้ำท่วมทางเข้า รพ.สายบุรี เกิดไฟฟ้าลัดวงจร แต่แก้ไขแล้ว ยังเปิดให้บริการปกติ ขณะเดียวกัน ประสานอพยพ คนท้อง ผู้ป่วยติดเตียงออกจากพื้นที่แล้ว เพื่อความปลอดภัย ด้านกรมสุขภาพจิต แนะประชาชนเตรียมพร้อมรับมือพายุปาบึกอย่างมีสติ ส่วนผู้มีโรคประจำตัว ขอให้จัดเตรียมยาประจำตัวไว้ใกล้ตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยจิตเวช ระมัดระวังการขาดยา


วันนี้ (3 ม.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุม ศูนย์ปฏิบัติด้านการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมประชุมระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับ นายแพทย์สาธารณสุข ถึงกรณีพายุปาบึก ว่า หลังจากได้มีการสั่งการให้ทุกพื้นที่ใน 16 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุ มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการขึ้น และ มีการสำรวจยาและเวชภัณฑ์นั้น ล่าสุด ทุกพื้นที่ได้เตรียมการพร้อมแล้ว และจากการสอบถามในพื้นที่ พบว่า พายุมีการเคลื่อนผ่านไปยัง จ.สงขลา, ปัตตานี และ พัทลุง ซึ่งฝนตกลงมาต่อเนื่อง


นพ.สุขุม กล่าวต่อว่า ปริมาณฝนที่ตกส่งผลให้ รพ.สายบุรี จ.ปัตตานี เกิดน้ำท่วมทางเข้าโรงพยาบาล แต่ยังเปิดให้บริการได้ตามปกติ และเนื่องจากฝนตกลงมาตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงขณะนี้ จึงได้มีการประสานร่วมกับจังหวัด อพยพหญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยติดเตียงออกจากพื้นที่แล้ว ขณะเดียวกัน ที่ รพ.สายบุรี ก็พบปัญหาไฟฟ้าลัดวงจร แต่ได้แก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วน จ.สงขลา ก็ได้รับรายงานว่า มีฝนตกลงมาต่อเนื่องตั้งแต่ ตี 5 ของวันนี้ (3 ม.ค.) และมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณ โดยสถานพยาบาลที่เสี่ยงอาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ได้แก่ รพ.ระโนด, รพ.สิงหนคร และ รพ.สะเดา ขณะที่ จ.พัทลุง พบมีฝนตกอย่างหนัก ทางกระทรวงได้สั่งการให้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด


“ได้มีเปิดศูนย์ปฏิบัติการ และให้แจ้งหรือรายงานสถานการณ์ในระบบ แต่เพื่อความไม่ประมาท ได้สั่งกำชับให้มีการเตรียมใช้วิทยุสื่อสาร หากสถานการณ์พายุรุนแรง หรืออินเทอร์เน็ตไม่สามารถใช้รายงานผลได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการน้อมนำพระราชดำริของในหลวง ร.๙ ที่ทรงนำวิทยุสื่อสาร มาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ห่างไกล โดยวิทยุสื่อสารนี้สามารถสื่อได้ในระยะสั้น และได้มีการวางแม่ข่ายไว้แล้ว ขณะเดียวกัน ได้กำชับให้เฝ้าระวังไฟฟ้าลัดวงจรในพื้นที่ด้วย” นพ.สุขุม กล่าว


วันเดียวกัน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตมีความเป็นห่วงประชาชน เนื่องจากสถานการณ์ภัยพิบัติจากพายุ จะมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจประชาชน ส่วนใหญ่อาจเกิดสภาวะเครียด วิตกกังวล วิธีการป้องกันผลกระทบดังกล่าวที่ดีที่สุด คือ การเตรียมความพร้อมรับมือไว้ล่วงหน้าทั้งตนเองและครอบครัว จะช่วยลดความสูญเสียต่างๆ ได้มาก โดยขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุในครั้งนี้ อย่าตื่นตระหนก แต่ขอให้ตั้งสติพร้อมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยขอให้ประชาชนปฏิบัติ 4 ประการดังนี้


1. ผู้ที่อยู่ในพื้นที่มีโอกาสเสี่ยงภัยพิบัติจากพายุ ติดตามข่าวสารประกาศเตือนภัยจากทางราชการเป็นหลัก ระมัดระวังข่าวปลอมที่อาจก่อให้เกิดความตื่นตระหนก เพื่อลดความวิตกกังวล และวางแผนรับมือได้อย่างเหมาะสม


2. ให้ตั้งสติ อย่าตกใจ และให้คิดถึงความปลอดภัยของชีวิตและคนในครอบครัวไว้ก่อน เนื่องจากเป็นภัยที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยให้เตรียมความพร้อมร่วมกันในครอบครัว จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของปัญหา เรียงจากมากไปหาน้อย แก้ไปทีละข้อ จัดเตรียมสำรองเทียนไข ไฟฉาย อาหารแห้ง และน้ำดื่มให้เพียงพออย่างน้อย 3 วัน กำหนดหน้าที่ของคนในครอบครัว ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และวางแผนการขนย้ายผู้ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้หรือได้น้อย เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ รวมทั้งสิ่งของจากบ้านเรือนไว้ให้พร้อม การวางแผนโดยมีสตินั้น จะช่วยลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินลงได้มาก และผลกระทบด้านจิตใจจะลดน้อยลง


3. สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวทุกโรค ขอให้จัดเตรียมยาที่กินประจำไว้ใกล้ตัว เพื่อหยิบง่ายในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะผู้ป่วยจิตเวช ควรระมัดระวังการขาดยา เพราะอาจทำให้อาการจะกำเริบระหว่างที่รับมือกับภัยพิบัติครั้งนี้ แนะนำให้ครอบครัวผู้ป่วยช่วยตรวจสอบจำนวนยา หากพบยาใกล้หมด หรือยากินสูญหาย อาจไม่ต้องรอให้มีอาการป่วยก่อน ควรรีบแจ้งสถานพยาบาล หรือ อสม. ที่อยู่ใกล้บ้าน โดยการได้รับยาต่อเนื่องจะทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการให้เป็นปกติได้ ซึ่งหากปล่อยให้อาการกำเริบบ่อยๆ อาจส่งผลเสียเกิดอาการทางจิตรุนแรงขึ้นได้ และการรักษาจะยุ่งยากขึ้นในภายหลัง


4. ควรจดเบอร์ฉุกเฉินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านสุขภาพและความปลอดภัยไว้ติดตัว ได้แก่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323, สายด่วนกู้ชีพ 1669, สายด่วนนิรภัย 1784 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อสามารถโทรขอรับความช่วยเหลือได้ทันทีหากเกิดภาวะจำเป็นเร่งด่วน


สำหรับการเตรียมความพร้อมให้การดูแลจิตใจประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ทางกรมสุขภาพจิตได้ให้โรงพยาบาลจิตเวชและศูนย์สุขภาพจิตที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งให้เตรียมทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team ; MCATT) พร้อมเวชภัณฑ์ยาที่จำเป็น พร้อมปฏิบัติการสนับสนุนการดำเนินการร่วมกับทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทของสถานพยาบาลในเขตสุขภาพ ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเวชภัณฑ์ยารักษา และ การเยียวยาด้านอารมณ์จิตใจ สนับสนุนการปฏิบัติงานของทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทเครือข่ายของโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยอย่างใกล้ชิด


เผยแพร่:  4 ม.ค. 2562 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

55
การบริจาคเลือด ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่ หากสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และมีคุณสมบัติตรงตามที่ศูนย์รับบริจาคโลหิตต้องการ เช่น มีอายุระหว่าง 17-70 ปีบริบูรณ์ มีน้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป ก็สามารถบริจาคเลือดได้ ผู้บริจาคเลือดไม่เพียงจะได้รับความสุขจากการให้ แต่ยังได้รับประโยชน์สุขภาพอีกมากมายที่คุณอาจจะคาดไม่ถึง


ประโยชน์ดีๆ ที่ได้จากการบริจาคเลือด



1.ช่วยเผาผลาญแคลอรี


การบริจาคเลือดอาจเหมือนแค่นอนนิ่ง ๆ แต่จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียพบว่า การบริจาคเลือดครั้งละ 450 มิลลิลิตรสามารถเผาผลาญพลังงานได้ถึง 650 กิโลแคลอรี แม้การบริจาคเลือดแต่ละครั้ง จะช่วยเผาผลาญพลังงานได้มาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าคุณจะลดน้ำหนัก ด้วยการโหมบริจาคเลือดได้ เพราะคุณสามารถบริจาคเลือดได้ทุก 3 เดือน โดยต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงด้วย

 

2.ช่วยป้องกันภาวะเหล็กเกิน

ธาตุเหล็กเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง แต่หากมีธาตุเหล็กสะสมอยู่ภายในร่างกายมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะเหล็กเกิน (hemochromatosis) คือ ธาตุเหล็กไปเกาะอยู่ตามอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ หัวใจ ไต ส่งผลให้เป็นโรคอย่าง ตับแข็ง เบาหวาน ข้ออักเสบ เป็นต้น ซึ่งการบริจาคเลือดจะทำให้ปริมาณธาตุเหล็กในร่างกายน้อยลง จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเหล็กเกินได้

 

3.ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ

จากการศึกษาพบว่า การบริจาคเลือดเป็นประจำติดต่อกันนานหลายปี จะช่วยลดความเข้มข้นของเลือด และระดับธาตุเหล็กในร่างกาย จึงสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหัวใจวายได้ถึง 88% และลดความเสี่ยงของการเกิดอาการเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจชนิดรุนแรง เช่น โรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 33%

 

4.ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง

การบริจาคเลือดเป็นประจำช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งที่มีสาเหตุจากมีธาตุเหล็กสูงเกินไป เช่น มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะ มะเร็งลำคอได้ โดยยิ่งบริจาคเลือดบ่อย ความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งก็จะยิ่งลดลง

 

5.กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดใหม่

ภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากบริจาคเลือด ไขกระดูกจะถูกกระตุ้นให้จะสร้างเม็ดเลือดแดงใหม่ ขึ้นมาทดแทนเลือดที่เสียไป และเม็ดเลือดแดงของคุณจะกลับมามีปริมาณเท่าเดิม ภายในเวลา 60 วัน อีกทั้งกระบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงใหม่นี้ ยังช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ดี สุขภาพจึงแข็งแรงขึ้นด้วย

 

6.ได้ตรวจสุขภาพเบื้องต้นฟรี

ก่อนจะบริจาคเลือดได้ ผู้ประสงค์จะบริจาคเลือดต้องผ่านการตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น การวัดความดันโลหิต การตรวจความเข้มข้นของเลือด รวมไปถึงการซักประวัติด้านสุขภาพ หากผลการตรวจเบื้องต้นผ่านเกณฑ์ และแพทย์ลงความเห็นว่าสุขภาพแข็งแรง จึงจะสามารถบริจาคเลือดได้ อีกทั้งเลือดที่คุณบริจาคจะต้องผ่านการตรวจหาความผิดปกติ เช่น เชื้อไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ซิฟิลิส ก่อนเก็บไว้เป็นเลือดสำรอง จึงถือว่าคุณได้ตรวจโรคดังกล่าวไปด้วยแบบฟรีๆ

 

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดหลังบริจาคเลือด

หลังจากบริจาคเลือด คุณอาจรู้สึกคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดเป็นลม จึงควรนอนพักโดยยกเท้าให้สูงกว่าศีรษะสัก 5 นาทีก่อนลุกจากเตียงบริจาค บางคนอาจมีเลือดไหล หรือเกิดรอยช้ำบริเวณรอยเข็มได้เป็นเรื่องปกติ หลังจากบริจาคเลือด อย่าลืมกินอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น เนื้อแดง ผักใบเขียวเข้ม ข้าวเสริมธาตุเหล็ก แครอท เพื่อป้องกันไม่ให้ระดับธาตุเหล็กในร่างกายต่ำเกินไป และหากคุณมีอาการดังนี้ติดต่อกันนานเกิน 3 วัน ควรติดต่อศูนย์บริจาคโลหิตทันที


     -พักผ่อน กินข้าว ดื่มน้ำแล้วก็ยังวิงเวียน คลื่นไส้ หน้ามืด

     -เลือดไหลจากรอยเข็มไม่หยุด

     -แขนเป็นเหน็บชา หรือปวดแขน



31 ธ.ค. 61 sanook.com

56
สธ.เผย ปชช.รับบริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ช่วงแรก 3.9 แสนคน เตรียมช่วงที่ 2 วันที่ 7-20 ม.ค.นี้


สธ. เตรียมออกให้บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลประชาชน มอบบริการสุขภาพเป็นของขวัญปีใหม่ประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล 878 อำเภอทั่วประเทศ และกรุงเทพฯ ช่วงที่ 2 วันที่ 7-20 ม.ค. นี้ เผยช่วงแรกให้บริการแล้ว 390,000 ราย


ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุข ประสานหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดโครงการบูรณาการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อดูแลประชาชนอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ออกให้บริการเป็นของขวัญปีใหม่คนไทยในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร 878 อำเภอทั่วประเทศ และกรุงเทพมหานคร 2 ช่วง ช่วงที่ 1 วันที่ 11-24 ธันวาคม 2561 และจะจัดช่วงที่ 2 วันที่ 7-20 มกราคม 2562 โดยให้บริการการแพทย์ขั้นพื้นฐาน ทันตกรรมเคลื่อนที่ ตรวจตา สุขภาพจิต แนะนำและฝึกอาชีพ รวมทั้งบริการอื่นๆ ตามบริบทของพื้นที่


ผลการดำเนินงานช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 11-24 ธันวาคม 2561 ข้อมูล ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2561 ได้รับรายงานมีผู้มาใช้บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รวม 390,819 คน บริการแพทย์พื้นฐาน 105,279 ราย ส่งต่อเพื่อเข้ารับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ 3,411 ราย บริการทันตกรรม 43,473 ราย ส่งต่อ 1,489 ราย บริการตรวจตา 39,170 ราย ส่งต่อ 2,081 ราย บริการด้านสุขภาพจิต 60,570 ราย ส่งต่อ 1,937 ราย แนะนำและฝึกอาชีพ ได้แก่ งานด้านบริการ เช่น เสริมสวย นวด เป็นต้น งานคหกรรม งานศิลปะประดิษฐ์ เย็บปักถักร้อย ดนตรี 51,416 ราย และกิจกรรมตามบริบทพื้นที่ อาทิ นวดแผนไทย/กายภาพบำบัด จำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน/โอทอป กิจกรรมสันทนาการ ฉีดวัคซีน/ทำหมันสัตว์เลี้ยง แจกพันธุ์ไม้ บริการตัดผม ซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า 90,911 ราย รวมทั้งประชาชนที่มารับบริการมีความพึงพอใจ เพราะได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ สะดวก ไม่ต้องรอคอยนาน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาเดินทางไปโรงพยาบาล เมื่อพบอาการผิดปกติมีระบบส่งต่อ และต้องการให้จัดหน่วยแพทย์ในลักษณะนี้บ่อยๆ


“ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ มีสุขภาพที่แข็งแรง มีความสุขตลอดปีและตลอดไป และขอเชิญชวนเข้ารับบริการต่างๆ ที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ช่วงที่ 2 วันที่ 7-20 มกราคม 2562 ในพื้นที่ที่แต่ละจังหวัดกำหนด” รมว.สาธารณสุข กล่าว



เผยแพร่: 1 ม.ค. 2562 1โดย: ผู้จัดการออนไลน์

57
สธ.-สปสช.-ประกันสังคม ประสานเสียงไม่ต้องห่วงค่ารักษาช่วงปีใหม่ หากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต อันตรายถึงชีวิต ใช้สิทธิยูเซปเข้ารักษาฟรี 72 ชั่วโมงแรกได้ ส่วนบัตรทองหากไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่จำเป็นต้องรับการรักษา ใช้สิทธิรักษา ม.7 ได้ ย้ำเข้า รพ.รัฐ ใกล้สุดไว้ก่อน


นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 จะมีความเข้มข้นในการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจ โดยขอให้ประชาชนระมัดระวังอุบัติเหตุทั้งที่เดินทางกลับบ้านและท่องเที่ยว แต่หากเกิดเหตุสุดวิสัย หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้เตรียมความพร้อมดูแลช่วยเหลือ โดยส่วนของนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ หรือ ยูเซป (UCEP) ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับอย่างดี มีปัญหาและเรื่องร้องเรียนน้อยมาก รวมถึงปัญหาการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินในช่วง 72 ชั่วโมงแรก ประชาชนส่วนใหญ่พอใจ เป็นอย่างที่นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวไว้ว่า ใน 100 ราย อาจมีผู้ที่ไม่พอใจเพียง 1 รายเท่านั้น แต่เราก็พยายามแก้ไขปัญหาให้


นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 หากประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล แบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1. กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤต หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทุกแห่งที่อยู่ใกล้สุด ตามนโยบายยูเซป และให้สถานพยาบาลที่ให้การรักษาเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ตามอัตราที่กำหนด 2. กรณีเจ็บป่วยที่ไม่ใช่ฉุกเฉินระดับวิกฤต หรือผู้มีสิทธิบัตรทองที่เดินทางไปต่างถิ่นแล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล เช่น ความดันโลหิตขึ้นสูง ปวดศีรษะมาก ท้องเสียรุนแรง เป็นต้น เป็นภาวะที่ไม่ถึงขั้นฉุกเฉินแก่ชีวิต จะเป็นไปตามข้อบังคับ สปสช.ว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขกรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุหรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ระบุว่า


ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองหากมีเหตุสมควร หรือกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลอื่นที่ไม่ได้ลงทะเบียนหน่วยบริการประจำและสถานพยาบาลที่ไม่ได้เข้าร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทั้งนี้ ขอแนะนำให้เข้ารับบริการสถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ใกล้ที่สุดก่อน ไม่มุ่งเจาะจงเข้าสถานพยาบาลเอกชนเท่านั้น เนื่องจากการเบิกจ่ายค่ารักษาจะเป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้


“ในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อความสะดวก นอกจากการเตรียมบัตรประจำตัวประชาชนที่เป็นหลักฐานสำคัญแล้ว ควรศึกษาข้อมูลหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่ระหว่างเดินทางและจุดหมายปลายทาง เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการเข้ารับการรักษาพยาบาลยังหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วและเพื่อความไม่ประมาท ส่วนประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหอบหืด เป็นต้น ควรเตรียมพร้อมยารักษาโรคเพื่อให้เพียงพอสำหรับการเดินทาง” เลขาธิการ สปสช.กล่าว และว่าหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน สปสช. โทร.1330 ขณะที่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้น โทร.สายด่วน 1669 ได้ทั่วประเทศ



ด้านนายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า สำหรับผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินหรือประสบอุบัติเหตุระหว่างการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ ขออย่าได้กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา หากเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือได้รับอุบัติเหตุ หรือมีอาการเจ็บป่วยกะทันหัน ลูกจ้าง ผู้ประกันตน สามารถเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดได้ทันที โดย สปส.จะพิจารณาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ภายใน 72 ชั่วโมง ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนด ทั้งนี้ ให้ผู้ประกันตนหรือโรงพยาบาลที่ให้การรักษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง แจ้งสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ทราบโดยเร็ว ตั้งแต่เข้ารับการรักษาเพื่อให้รับผิดชอบค่าบริการทางการแพทย์ให้กับผู้ประกันตน


นายอนันต์ชัยกล่าวว่า การรักษากรณีผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการจากโรงพยาบาลทุกแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน โดยไม่ถูกทวงถามสิทธิก่อนรักษา ไม่ต้องสำรองค่ารักษา ไม่ถูกบ่ายเบี่ยงการรักษา และได้รับการดูแลรักษาจนกว่าอาการจะทุเลา ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจในระบบบริการทางการแพทย์ของสำนักงานประกันสังคมว่าทุกคนจะได้รับการบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างรวดเร็ว มีคุณภาพเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ ผู้ประกันตนท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิการรักษาสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1506 พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง



เผยแพร่: 27 ธ.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

58
สาวพยาบาลผวาหนัก แฟนหนุ่มรุ่นน้องที่เพิ่งคบหาโมโหไม่เล่นด้วย ค้นเอาทรัพย์สินมีค่าในบ้าน แถมเขียนข้างฝาคู่อาฆาตจะเอาให้ตายอีกด้วย จนไม่กล้าอยู่บ้านคนเดียวแล้ว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า (16 ธ.ค.) เมื่อเวลา 22.00 น. ที่บ้านหลังหนึ่ง หมู่ 2 ถนนเทศบาลพัฒนา 1 ตำบลเหมือง อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี สภ.แสนสุข ได้รับแจ้งว่ามีเหตุลักทรัพย์ของมีค่าหลายรายการ จึงได้เดินทางมาตรวจสอบ และได้พบ น.ส.ชุติญา อายุ 49 ปี มีอาชีพเป็นพยาบาลประจำศูนย์แลป พร้อมกับเชิญเจ้าหน้าที่เข้าไปดูหลักฐานการรื้อค้นของคนร้าย


น.ส.ชุติญา กล่าวว่า คนร้ายไม่ใช่ใครอื่นเป็นแฟนใหม่ที่เพิ่งคบหากันได้ไม่นานและอยู่ในระหว่างดูใจกัน เพราะฝ่ายชายอายุน้อยกว่ามากและเพิ่งพ้นทหารมาจึงยังไม่คิดอะไร แต่ฝ่ายชายพยายามที่จะเอาตนมาเป็นภรรยา และหลายครั้งพยายามที่จะผูกมัดตนเอาเป็นเมียให้ได้ จนตนเองต้องออกอุบายหลบออกจากบ้านหลายครั้ง


ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา ฝ่ายชายทะเลาะกับตนเพราะรู้ว่าตนไม่เล่นด้วยเป็นแน่ ถึงขนาดเอามีดไล่ฟันและบังคับตนจนต้องหลบเข้าห้อง รอจนได้โอกาสหนีออกจากบ้านหลายวัน ไปอาศัยอยู่บ้านเพื่อนปล่อยให้ฝ่ายชายอยู่บ้านคนเดียว หลังกลับมาที่บ้านเพื่อจะมาดูบ้านเมื่อเห็นว่าฝ่ายชายไม่อยู่บ้านแล้ว


ตนจึงเข้าไปและพบว่าสิ่งของที่ตนหวงแหนและสะสมมา ทั้งชีวิตหลายรายการหายไป อีกทั้งงัดกรอบแบงก์ที่ข้างฝาไปด้วยแล้วก็เขียนคำขู่อาฆาตตนไว้ที่ข้างฝาอีกด้วย ตนจึงโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าว พร้อมให้มาตรวจสอบทรัพย์สินที่หายไปจากในตู้ด้วย 


ทั้งนี้ พ.ต.ท.สุกิจ เหมรา พนักงานสอบสวน ก็ได้ให้ผู้เสียหายเดินทางมาที่สถานีตำรวจภูธรแสนสุข เพื่อทำการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน เพื่อติดตามตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป




17 ธ.ค. 61 sanook.com

59
ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ระบายความอัดอั้นตันใจ หลังจากตนต้องเจอเรื่องราวที่เหมือนเป็นฝันร้าย ที่ทำให้ตนรู้สึกถอดใจที่สุด ตั้งแต่ทำอาชีพพยาบาลมา 6 ปี เมื่อคนไข้คนหนึ่งมารักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ที่ตนทำงานอยู่



โดนสามีคนไข้เมาอาละวาด-หาเรื่อง


ผู้โพสต์ระบุว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อวาน (25 พ.ย.) มีผู้หญิงคนหนึ่งที่ประสบอุบัติเหตุถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาล จึงพาไปตรวจร่ายกายเพื่อประเมินบาดแผล แต่อยู่ๆ สามีของคนไข้ ที่คาดว่าเมาเหล้า มาโวยวายว่าทำไมพาไปเอกซ์เรย์ แถมตะคอกใส่ โดยหาว่าตนมองหน้าหาเรื่อง และใช้คำไม่สุภาพด่ากราดตน


"ญาติคนไข้ (สามี) เดินเข้ามายืนข้างๆ เตียง ลักษณะเมาสุรา ด้วยความที่เราอยากรีบล้างแผลเนื่องจากกลัวแผลมีสิ่งสกปรกติดเชื้อ สามีคนไข้ ได้บอกกับเราว่า ขาคนไข้หักต้องรีบ X-ray เราเข้าใจว่าเขาเป็นห่วงภรรยา จึงอธิบายว่าต้องให้แพทย์มาประเมินผู้ป่วยและความรุนแรงของบาดแผลก่อน จึงจะขึ้น X-ray ได้ พอจบประโยค สามีคนไข้ก็ตะคอกใส่เราว่า 'แล้วหมออยู่ไหน' เราจึงตอบกลับไปว่ากำลังดูคนไข้ฉุกเฉินอยู่"


"แล้วบอกว่ามึงมองหน้ากูทำไม ไม่พอใจเหรอ มึงจะเอาเหรอ ถ้าเป็นญาติมึง มึงจะว่างยังไง _ีเ_ี้ย _ีสั_ว์ _ีพยาบาลเลว บริการแย่ มึงชื่ออะไร เอาชื่อมึงมา กูจะเอาเรื่องมึงให้ถึงที่สุด"


แจ้งผู้บริหารโรงพยาบาล


ผู้โพสต์เล่าต่อไปว่า ขณะนั้นตนไม่แน่ใจว่าสามีคนไข้จะพกอาวุธมา และใช้ทำร้ายตน หรือไม่ จึงเลือกถอยออกมา แต่ก็ยังโดนพูดจาหาเรื่อง จึงเลือกหลบไปอยู่ในห้องพักพยาบาล แต่หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง สามีคนไข้ก็ยังไม่ไปไหน ราวกับตามติดคิดบัญชีกับตน จึงนำความไปบอกกับผู้บริหารโรงพยาบาล เผื่อว่าจะช่วยตนได้ เพราะเห็นว่าถูกคุกคามขณะทำงาน


"ประมาณ 20 นาทีให้หลัง พี่ยาบาลเดินเข้ามาบอกเราว่า อย่าเพิ่งออกไปด้านนอก คนนั้นยังเดินตามหาเรา สอบถามจากเพื่อนร่วมงานเรา เพื่อที่จะทำร้ายเรา เรารอประมาณ 1 ชั่วโมง เขาก็ยังไม่กลับ พูดว่าจะดักรอเราด้านนอก เรากลัวมาก แจ้งผู้บริหาร"


คำตอบสุดบาดใจ ผู้บริหารลั่นไม่เกี่ยว เป็นเรื่องส่วนตัว


อย่างไรก็ตาม คำตอบที่ตนได้รับจากผู้บริหารโรงพยาบาล คือ เป็นเรื่องส่วนตัวของตนและสามีคนไข้ และถ้าอยากแจ้งความก็ทำได้เลย แต่ไม่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาล เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งจุดนี้ตนรู้สึกผิดหวังมาก เพราะตนถูกคุกคามขณะทำงาน แต่หัวหน้ากลับไม่เหลียวแล



"ผู้บริหารเขาบอกว่า ถ้าอยากแจ้งความก็แจ้งเองเลย เพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัว เราก็คิดนะว่า ทำไมการถูกคุกคามถูกทำร้ายขณะปฏิบัติหน้าที่ถึงกลายเป็นเรื่องวิวาทส่วนตัวของเราไปได้"


ผู้โพสต์จึงตัดสินใจแจ้งตำรวจ และเมื่อตำรวจมาถึง ชายคนนั้นก็ยังด่าทอตนให้ตำรวจฟังด้วยคำพูดหยาบคาย ทำให้ตนไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ แต่ก็ยังกลับมาทำงานต่อในช่วงดึก แต่สามีคนไข้คนนั้นก็ยังตามมาคุกคามตนบริเวณโรงพยาบาลอีก จึงต้องให้พ่อแม่ขับรถมารับตนกลางดึก


เหมือนโดนเท้าเหยียบหัวใจ


เหตุนี้ ทำให้ตนน้อยใจว่า นี่หรือคือสิ่งที่หน่วยงานราชการดูแลตน ทำให้ตนต้องอยู่อย่างหวาดระแวง แต่คนที่คุกคามตนกลับลอยนวล และไม่ต้องรู้สึกผิดอะไร


"คนนั้นยังสามารถกลับบ้านไปแบบปกติสุข ไม่ได้รู้สึกผิดอะไรเลย นี่เหรอสิ่งที่หน่วยงานราชการดูแลเรา สิ่งตอบแทนกรรมกรชุดขาวแบบพวกเรา ที่ต้องดูแลตัวเอง หมดกันศักดิ์ศรีพยาบาลวิชาชีพ ที่ยอมให้เขาใช้เท้าเหยียบหัวใจเรา กี่ครั้งที่พวกเราเงียบ กี่คนที่ตาย ที่เจ็บตัว สุขภาพจิตเสีย หวาดกลัว เนี่ยเหรอ สิ่งตอบแทนที่เราได้รับ" ผู้โพสต์ ระบุ





26 พ.ย. 61 sanook.com

60
แม้ว่าการรับประทานผักนั้นจะเป็นการดีต่อสุขภาพก็ตามที แต่การพบกับสารพิษปนเปื้อนในผักนั้นก็เป็นสิ่งที่ทำใจได้ยากเช่นกัน เพราะแน่นอนว่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพเป็นแน่แท้ รองศาสตราจารย์ ดร.สมพนธ์ วรรณวิมลรักษ์ แห่งศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรม คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้แนะนำข้อมูลถึงอันตรายของผักเปื้อนสารพิษ รวมถึงคำแนะนำในการล้างสารพิษในผักมานำเสนอกัน


“องค์การอนามัยโลกเขาก็บอกว่าให้กินอย่างน้อยวันละ 4 ขีด 400 กรัม ผักและผลไม้ เพราะว่าถ้าเรากินครบมันมีหลักฐานยืนยันแล้วว่าจะช่วยป้องกันโรคหัวใจ และโรคมะเร็ง แต่อีกมุมหนึ่งผักและผลไม้ที่เราซื้อมากินไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่เราคิด มีการปนเปื้อน เพราะการปนเปื้อนจากสารตกค้างของสารฆ่าแมลงจากเกษตรกรที่เข้าใช้ในการเกษตรกรรม เราก็ไม่คิดว่ามันจะเยอะขนาดนี้นะ ได้ยินข่าวลือเฉยๆ ว่ากะหล่ำปลีเยอะมาก แต่ก็ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แต่พอเรามาทำเองแล้วเป็นตัวเลขที่น่าวิตกเพราะผักไทยที่เราเจอใน 7 อย่าง ปนเปื้อนในผักไทย 90 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ต่างประเทศเขายอมรับไม่ได้ 100%”


“ที่ว่าถ้าคุณไปซื้อคะน้าจากตลาดสด หรือซูเปอร์มาร์เกต มันก็มีทั้งหมด ที่เราเก็บเราไม่ได้เก็บแค่ที่เดียว เราเก็บจากหลายจังหวัด แล้วเราก็เก็บทีเป็นร้อยตัวอย่าง ในระยะเวลา 8 ถึง 12 เดือน เพื่อให้ครอบคลุมฤดูกาลด้วย และเพื่อให้เป็นตัวแทนของผักของประชาชนหรือผู้บริโภคได้กินกันอยู่ทุกวัน ยิ่งมีสารเคมีมากเท่าไหร่โอกาสที่เราได้รับอันตรายมันก็ย่อมเยอะขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาที่เราตรวจเจออย่างคะน้า พบเจอถึง 12 ชนิด มังคุดเราก็เจอ 20 ชนิด หรือส้มเราเจอ 21 ชนิด และราคาก็ไม่ได้รับประกันว่าจะดีหรือปลอดภัย เพราะตอนแรกเราก็ไม่คิดว่ามันจะเป็นแบบนี้ เราก็ทดลองเก็บผักจากตลาดสดมา แล้วเราก็ไปซื้อผักจากซูเปอร์มาร์เกตมา แล้วก็เขียนว่าผักปลอดสารพิษ ผักปลอดภัย ผักอินทรีย์ แต่ปรากฏว่าเราเจอสารพิษเพียบเลย คุณจ่ายราคาผักสูงมาก 6-7 เท่า แต่คุณได้รับสารฆ่าแมลงมากเท่ากับที่เราเจอในตลาดสดธรรมดา


เราจะทำยังไงให้คนลดความเสี่ยงได้ สิ่งที่เราทำได้ก็คือ ผู้บริโภคจะต้องดูแลตัวเอง การล้างผักมันช่วยลดความเสี่ยง ผมก็เอา 4 วิธีมาใช้ช่วยในการลดความเสี่ยง วิธีแรกที่ใช้กันมากก็คือ ล้างด้วยด่างทับทิม เราพบว่าวิธีนี้ล้างออกได้แค่ 20-30 เปอร์เซ็นต์, วิธีที่ 2 ล้างด้วยน้ำส้มสายชู ล้างออกได้ 30-40 เปอร์เซ็นต์, วิธีที่ 3 ล้างด้วยเบกกิ้งโซดา วิธีนี้ล้างออกได้แค่ 30-40 เปอร์เซ็นต์, วิธีที่ 4 ล้างด้วยวิธีน้ำไหล สามารถล้างสารตกค้างได้ถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์”


วิธีล้างผักด้วยวิธีน้ำไหลที่ถูกต้อง ข้อแรก แยกใบออกมาในน้ำและแช่ผัก 10 นาที หลังจากนั้นก็เปิดน้ำให้ไหลตลอด จากนั้นก็นำขึ้นมาถูใบและถูก้าน ประมาณ 2 นาที น้ำจะช่วยกำจัดชะล้างสารเคมีที่อยู่บนผิวผักออกไปได้ ในแง่ของคนกินผักผลไม้ก็ต้องระวัง เพราะเรามีข้อมูลว่ามันปนเปื้อน ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดก็คือต้องล้างผักและผลไม้ก่อนรับประทาน”


ขอบคุณข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยมหิดล

เผยแพร่: 25 ธ.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 19