ผู้เขียน หัวข้อ: ชี้ตั้งองค์กร ส.ใหม่ดูวิจัยแทน สวรส.สุดลักไก่ ตั้งกองทูนสูงลิ่ว หวั่นงาบงบ  (อ่าน 468 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9782
    • ดูรายละเอียด
สพศท. ชี้ตั้งองค์กร ส. ใหม่ดูแลงานวิจัยแทน สวรส. สุดลักไก่ ตั้งกองทุนสูงถึง 4 พันล้านบาท หวั่นมีการงาบงบประมาณ เหตุมีการย้ายงบ สธ. มาโปะ ห่วงเดินหน้าตั้งองค์กรกลางกำหนดสิทธิประโยชน์ 3 กองทุนกระทบโรงพยาบาล ด้านรองปลัด สธ. ยัน สวรส. ยังวิจัยระบบสาธารณสุขเช่นเดิม
   
        วันนี้ (21 ม.ค.) พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) และตัวแทนประชาคมสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ พ.ศ. ... เพื่อตั้งสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ ซึ่งจะมาแทนที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยมีกองทุนบริหารงานปีแรก 2 พันล้านบาท ปีที่สอง 4 พันล้านบาท โดยอยู่ระหว่างเสนอ ครม. พิจารณา ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่มีการประชาพิจารณ์อย่างรอบด้าน มีเพียงการระดมความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มตัวเอง ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวจะต้องมีกองทุนเกิดใหม่ใช้งบปีละกว่า 3 พันล้านบาท กลายเป็นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แห่งที่ 2 เพราะมีเงินมหาศาล และยังระบุว่าจะต้องเอางบจาก สธ. อีก แต่กลับมีกฎหมายเฉพาะที่ยากต่อการตรวจสอบ และไม่ชัดเจนว่าจะมีระบบตรวจสอบที่เป็นกลางจริงหรือไม่ จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาให้ดี หากสนับสนุนต้องมีเสียงคัดค้านแน่
       
       “ขั้นตอนการยกร่างกฎหมายนี้ ฉกฉวยโอกาสที่บ้านเมืองอยู่ในวาระพิเศษแล้วลักไก่ ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออก พ.ร.บ. เพื่อตั้งกองทุนใหม่เรื่องการวิจัยระบบสุขภาพเฉพาะ เพราะปัจจุบันมีหน่วยงานที่มีงบประมาณสนับสนุนการวิจัยมากมาย แม้แต่ สธ.เองก็มีงบวิจัย จึงขอตั้งคำถามว่าการตั้งกองทุนใหม่ขึ้นมา อาจเป็นการโยกย้ายงบประมาณมาเพื่อมีเป้าหมายใดแฝงเร้นหรือไม่” พญ.ประชุมพร กล่าว
       
       พญ.ประชุมพร กล่าวอีกว่า องค์กร ส. ไม่ได้ผลักดันการเกิด สวรส. ใหม่เท่านั้น ยังเตรียมผลักดันตั้งองค์กรกลางกำหนดสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลทั้งสามกองทุนด้วย คือ บัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ โดยเมื่อปลายปี 2557 เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า ได้เสนอแนวทางดังกล่าวต่อคณะกรรมการประสานงานกองทุนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ ที่มี ดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน ก็ไม่ชัดเจนว่า เมื่อตั้งองค์กรกลางแล้วจะมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการจัดสรรงบฯให้โรงพยาบาลอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ก่อนเสนอควรมีการระดมความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถานบริการ
       
       “ปัญหาคือองค์กรกลางจะเป็นพื้นฐานของการรวมสามกองทุนหรือไม่ และการจัดสรรงบประมาณไปยังโรงพยาบาลต่างๆ จะใช้ สปสช. เป็นต้นแบบหรือไม่ เนื่องจากกังวลว่า สุดท้ายเงินเหมาจ่ายรายหัวของแต่ละกองทุนจะมีการแบ่งจ่ายออกเป็นหมวดต่างๆ เหมือน สปสช. ทั้งงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค งบบริการเฉพาะ ฯลฯ ซึ่งหากเป็นจริงจะทำให้การจัดสรรเงินออกเป็นหมวดๆ มากเกินไป สุดท้ายก็จะประสบปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนจากวิธีจัดสรรเงินของ สปสช. อีก” พญ.ประชุมพร กล่าว
       
       ด้าน นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัด สธ. กล่าวว่า กฎหมายนี้จะออกโดยสำนักนายกรัฐมนตรี มี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นประธานคณะกรรมการยกร่างฯ โดยกฎหมายนี้จะส่งผลให้มีการตั้งสำนักงานขึ้นใหม่ ทำหน้าที่ในการวิจัยงานด้านสุขภาพทั้งหมด แต่ไม่ได้รวมถึงการวิจัยในด้านระบบสาธารณสุข เพราะงานวิจัยด้านนี้เป็นส่วนที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) รับผิดชอบดำเนินการอยู่แล้ว และจะยังคงทำหน้าที่งานวิจัยของตัวเองต่อไป ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    21 มกราคม 2558