แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 554 555 [556] 557 558 ... 652
8326
  สำหรับใครที่ไม่เคยตื่นตัวเรื่องการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โดยเฉพาะผู้ที่เกิดก่อนปี พ.ศ.2535 เชื่อหรือไม่ว่า คุณกำลังใช้ชีวิตกับความเสี่ยงทางสุขภาพอย่างมาก เนื่องจากโรคดังกล่าวสามารถติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และผ่านสายเลือด ซึ่งแน่นอนหากคุณมีการใช้เข็มฉีดยา เข็มสัก หรือแม้กระทั่งกรรไกรตัดเล็บและมีดโกนหนวดร่วมกับผู้ที่มีพาหะ ทั้งเชื้อเอชไอวี และเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการรับไวรัสตับอักเสบบีมากกว่าเอชไอวี ถึง 100 เท่า
ข้อมูลดังกล่าวได้รับการยืนยันโดย รศ.นพ.ธีระ พิรัชวิสุทธิ์ นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย ซึ่งให้ข้อมูลว่า จากสถิติพบว่า ทั่วโลกมีผู้เป็นพาหะโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังกว่า 350 ล้านคน และมีผู้ได้รับเชื้อชนิดนี้กว่า 2,000 ล้านคน ส่วนในประเทศไทย พบว่า มีผู้เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีกว่า 3.5 ล้านคน ซึ่งมีสถิติพบว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคไวรัสตับอักเสบบีที่ไม่ได้รับการรักษา 1 ล้านคนต่อปี โดยอาการทั่วไปของโรคนี้เกิดขึ้นได้ 2 แบบ คือ 1.เฉียบพลัน จะมีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดชายโครง ตาเหลือง และ 2.แบบเรื้อรัง จะอ่อนเพลีย มีอาการต่อมน้ำลายโต และตับแข็ง ซึ่งแพทย์จะต้องตัดชิ้นเนื้อ หรือเอกซเรย์ ดู จึงจะทราบอาการและส่วนมากหากเป็นขั้นรุนแรงก็จะมีชีวิจอยู่ได้แค่ 4-6 เดือน โดยที่น่าห่วง คือ พบว่า ทารกที่รับเชื้อจากมารดา ทางสายเลือดที่เป็นตับอักเสบบีเฉียบพลัน มีโอกาสจะเป็นเรื้อรังได้ถึง 95% ขณะที่ผู้ใหญ่ซึ่งป่วยเฉียบพลันแล้วมีโอกาสรา 3-5% จะป่วยเรื้อรังได้ แต่โชคดีที่เด็กรุ่นใหม่มีโอกาสรับวัคซีน
       
       “ที่น่ากังวล คือ ไวรัสตับอักเสบบี นำไปสู่มะเร็งตับประมาณร้อยละ 80 ที่มีอยู่ทั่วโลก ดังนั้น จึงควรเร่งตรวจคัดกรองเพื่อจะได้รับยาอย่างถูกต้องและไม่ต้องเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ” รศ.นพ.ธีระ กล่าวเสริม
       
       รศ.นพ.ธีระ กล่าวด้วยว่า โรคไวรัสตับอักเสบบี สามารถติดต่อผ่านคนได้โดยจากการสัมผัสเลือด และน้ำคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ สำหรับในเอเชียและตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่เชื้อจะแพร่จากแม่สู่ลูก และระหว่างเด็กๆ ด้วยกัน นอกจากนี้ เชื้ออาจจะแพร่โดยการใช้ของมีคม ของใช้ส่วนตัว เช่น แปรงสีฟันร่วมกับกับผู้ติดเชื้อ และการใช้เครื่องมือที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อในการสักผิวหนัง ทั้งนี้ มีผลการสำรวจของหลายสถาบันได้พบสถิติว่าผู้ที่เป็นพาหะโรคไวรัสตับ อักเสบบีมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งตับสูง ถึง 80% เรียกได้ว่าเป็นภัยเงียบสู่มะเร็งตับที่ต้องเฝ้าระวังอยู่เสมอ
       
       รศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังให้หายขาด แต่มีการรักษา 2 แบบ ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้โรคเลวร้ายลง และป้องกันโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งแบบแรกเป็นการรักษาโดยใช้ยาอินเทอเฟอรอน เพื่อช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน ในการติดเชื้อ และแบบที่สองเป็นการใช้ยาต้านเชื้อไวรัส ซึ่งจะทำงานโดยการรบกวนการเพิ่มจำนวนไวรัส ซึ่งจะเป็นการลดปริมาณไวรัสในเลือด เป้าหมายการรักษา คือ การลดจำนวนไวรัสในเลือด
       
       ขณะที่ พล.ต.นพ.อนุชิต จูฑะพุทธิ เลขาธิการมูลนิธิโรคตับ กล่าวว่า ในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา ทางมูลนิธิโรคตับร่วมกับสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย ได้จัดโครงการ “หยุดไวรัสตับอักเสบบี ต้านภัยมะเร็งตับ...เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา” เพื่อรณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชนได้มีการดูแลสุขภาพที่ดี รู้จักโรค รู้อาการ รู้อันตราย และรู้วิธีการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีที่ถูกต้องเหมาะสม โดยในปี 2555 ที่จะถึงนี้จะจัดกิจกรรมตรวจหาไวรัสตับอักเสบบีฟรี จำนวน 8,400 ราย ทั่วประเทศ ซึ่งจะแจ้งสถานที่ในการคัดกรองให้ประชาชนทราบในภายหลัง ซึ่งบุคคลที่ควรตรวจคัดกรอง ได้แก่ ผู้ที่เกิดก่อนปี 2535 เนื่องจากเด็กรุ่นใหม่หลังจากปีดังกล่าว มีวัคซีนป้องกันแล้ว จึงจำเป็นต้องคัดกรองในกลุ่มวัยทำงาน เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน และจะได้หาวิธีการป้องกันการนำไปสู่โรคมะเร็งตับ อันเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของชายไทย

โดย จารยา บุญมาก
ASTVผู้จัดการออนไลน์    14 ธันวาคม 2554

8327
ฤดูหนาวใกล้เข้ามาครั้งใด หนุ่มสาวคงกังวลกับการรักษาผิวพรรณ เกรงว่า จะแตกลายด้วยพิษของสายลม จนลืมไปว่า ยังมีสิ่งที่ควรใส่ใจกว่า นั่นคือ การเลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อผิวพรรณที่ดีจากภายใน
       
       และหากคุณยังมองหาอาหารเพื่อสุขภาพไม่ได้ “สง่า ดามาพงษ์” นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญด้านโภชนาการได้แนะนำวิธีการเลือกรับประทานที่ดีต่อสุขภาพและเหมาะสมในช่วงฤดูหนาว ว่า อย่างแรกที่ผู้บริโภคควรรู้ คือ อากาศเปลี่ยนแปลงจึงทำให้มนุษย์ปรับตัวไม่ทัน ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยโดยเฉพาะไข้หวัด ส่วนคนที่ภูมิคุ้มกันดีอยู่แล้ว ทำให้ร่างกายแข็งแรงไปด้วย ฉะนั้นต้องรับประทานอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย 3 อย่าง ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต,ไขมันและน้ำตาล

       ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง คือ การรับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการมาโดยตลอด คือ
1.ต้องทานอาหารให้เพียงพอ
2.ไม่ว่าจะฤดูกาลไหนก็ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
3.ทานอาหารตามฤดูกาลเพราะธรรมชาติจะปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาลอยู่แล้ว รวมทั้งผักพื้นบ้าน พืชสมุนไพรเนื่องจากผักที่ปลูกในช่วงฤดูนี้จะเจริญเติบโตได้ดีและสมบูรณ์ จึงควรจะรับประทานผักเป็นหลัก เช่น ทานสลัด หรืออาหารไทยจำพวกแกงต่างๆ เพราะจะช่วยเพิ่มวิตามีน แร่ธาตุ นอกจากนี้ ในผักยังมีสารพฤกษเคมี หรือ ไฟโตนิวเทรียน ซึ่งมีสารช่วยต้านออกซิเดชัน ทำลายฤทธิ์ของอนุมูลอิสระ, ลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับดีเอ็นเอ เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ลดการเกิดโรคมะเร็งได้,เพิ่มภูมิต้านทานโรค, ควบคุมการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนอีกด้วย”
       
       หากใครที่ไม่ชอบทานผัก อ.สง่า ยังมีอีกทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ชอบทานผักแต่รักสุขภาพ คือ อาหารประเภทปลา เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวปลาจะเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ และมีไขมัน หากลองสังเกตปลาในหน้าหนาวจะมีเนื้อแน่น รสชาติอร่อย นอกจากนี้ในเนื้อปลายังมีสารอาหารมากมาย เช่น เป็นอาหารที่มีโปรตีนดี ย่อยง่าย ไขมันต่ำ และมีไขมันไม่อิ่มตัวหรือโอเมก้า 3 โดยเฉพาะในปลาทะเลน้ำลึก แนะนำให้รับประทานสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง จะได้โปรตีนที่มีคุณภาพต่อร่างกาย

แกงส้มดอกแค อีกเมนูที่เหมาะกับหน้าหนาว

       “เมนูอาหารที่อยากแนะนำ เพราะสามารถหาวัตถุดิบและทำได้ง่าย คือ แกงส้มดอกแค มีรสเปรี้ยวปนขมเล็กน้อยและรสเผ็ด คนโบราณเชื่อว่ามีคุณค่าทางอาหารที่ดีต่อร่างกายมากมาย ซึ่งตรงกับหลักทางวิทยาศาสตร์ เช่น ดอกแคมีวิตามินซีช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ส่วนประกอบในเครื่องแกงประกอบไปด้วยสมุนไพรต่างๆ อย่างหอมแดง กระเทียม พริก ล้วนเป็นสมุนไพรเครื่องหอมระเหยช่วยเรื่องระบบหายใจสำหรับคนเป็นหวัด และยังมีเนื้อปลา ซึ่งมีโปรตีนและไขมันไม่อิ่มตัว นอกจากนี้ ยังไม่ทำให้เกิดไขมัยสะสมในร่างกายไม่ทำให้อ้วนอีกด้วย”
       
       ส่วนอาหารที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ควรหลีกเลี่ยง คือ อาหารประเภทไขมันอิ่มตัว จำพวกอาหารทอด หากจำเป็นต้องรับประทานควรใช้น้ำมันรำข้าวในการทอด และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบเป็นส่วนมากเนื่องจากน้ำตาล ไม่มีประโยชน์ทางพลังงานมากเท่ากับคาร์โบไฮเดรต เมื่อรับประทานเหมือนได้แค่ความหวานเท่านั้นหากรับประทานมากไปอาจทำให้เกิดโรคอ้วนได้ ส่วนข้าวแนะนำว่าควรทานไม่เกินวัน 3-4 ทัพพี หากมากไปจะกลายเป็นน้ำตาลสะสมในร่างกายได้
       
       ไม่ว่าจะฤดูกาลใดการรับประทานอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะต้องรับประทานทุกวันฉะนั้นเลือกรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ผนวกกลับออกกำลังกายเป็นประจำเพียงเท่านี้ ก็สามารถทำให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิคุ้มกันต่อโรคในทุกๆ ฤดูกาล

โดย กมลรัตน์ อู่อรุณ
ASTVผู้จัดการออนไลน์    14 ธันวาคม 2554

8328
ประกาศผลรางวัลเจ้าฟ้าฯ ปี 54 มอบรางวัล “แพทย์-นักเคมี-นักจุลชีววิทยา” 3 นักพัฒนาวิจัยการแพทย์และสาธารณสุข ด้านระบบรักษาโรคซึมเศร้า-ไวรัสโรต้า แก่คนทั่วโลก พร้อมรับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนฯ 25 ม.ค.นี้
       
       วันนี้ (14 ธ.ค.) ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวในงานแถลงข่าวผลการตัดสินรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 20 ประจำปี 2554 ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 โรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช ว่า ปีนี้มีผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 2 สาขา

สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.นพ.แอรอน ที.เบ็ค (Professor Aaron T.Beck) และ ดร.เดวิด ที. วอง (Dr.David T.Wong)

สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ดร.รูธ เอฟ. บิชอป (Dr.Ruth F. Bishop)

ซึ่งรางวัลเจ้าฟ้าฯ เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 ม.ค.2535 โดยจะมอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปี
       
       นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าว่า ปี 2554 มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2554 ทั้งสิ้น 76 ราย จาก 45 ประเทศ โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ในวันที่ 25 ม.ค. พ.ศ.2555 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

       ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กล่าวว่า สำหรับประวัติย่อของผู้ทีได้รับรางวัล สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.นพ.แอรอน ที.เบ็ค (Professor Aaron T.Beck) เป็น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และประธานกิตติมศักดิ์ ศูนย์วิจัยจิตพยาธิวิทยาแอรอน ที. เบ็ค (Aaron T. Beck Psychopathology Research Center) รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่นำความคิดและพฤติกรรมบำบัด (Cognitive Behavioural Therapy, CBT) มารักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยใช้กระบวนการและเทคนิคของการเรียนรู้มาใช้บำบัดเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมให้ดีขึ้น และได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาด้านความคิดและพฤติกรรมบำบัด ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้มากกว่า 120 ล้านคนต่อปี โดยเฉพาะลดการฆ่าตัวตาย ซึ่งมีมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี

       2. ดร.เดวิด ที.วอง ศาสตราจารย์สมทบ (Adjunctive Professor) เป็นนักเคมีในภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอินเดียนา รัฐอินเดียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ค้นพบยา ฟลูออกซีทีน (fluoxetine) และยาโปรแซค (Prozac) 2 ปี ต่อมา ได้รับการยอมรับว่าเป็นยารักษาโรคซึมเศร้าที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถใช้รักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้านับร้อยล้านคนทั่วโลก นอกจากนี้ ฟลูออกซีทีน (fluoxetine) ยังเป็นต้นแบบของการพัฒนายารักษาโรคซึมเศร้าอีกหลายชนิดต่อมา และ 3 ผู้ที่ได้รับรางวัล สาขาสาธารณสุข ดร.รูธ เอฟ. บิชอป ศาสตราจารย์เกียรติยศ (Professorial Fellow) นักจุลชีววิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และนักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเด็กเมอด็อค รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ค้นพบว่าโรคท้องร่วงรุนแรง เกิดจากเชื้อไวรัสโรต้า และยังค้นพบว่าทารกแรกเกิดมีภูมิคุ้มกันสามารถต่อต้านเชื้อไวรัสโรต้าได้ เป็นพื้นฐานนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรต้า หลังจากนั้นก็พัฒนาระบบให้วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรต้า เป็นที่ยอมรับและใช้กันแพร่หลาย ทั่วโลกกว่า 60 ประเทศทั่วโลก
       
       ด้าน รศ.นพ.เธียรชัย งามทิพย์วัฒนา จิตแพทย์ประจำ รพ.ศิริราช กล่าวว่า ต้องถือว่าปีนี้คณะกรรมการพิจารณารางวัลเจ้าฟ้าฯ มีการมองการณ์ไกลอย่างมาก คือ มองเห็นปัญหาสุขภาพจิตเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า ซึ่งปัจจุบันพบว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นภัยสุขภาพอันดับ 4 ของโลก และคาดว่า อีก 20 ปี อาจขึ้นอยู่อันดับ 1 ดังนั้น การพัฒนาและคิค้นวิธีการรักษาระบบสุขภาพจิต จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    14 ธันวาคม 2554

8329
ค้าน สปส.ตั้งงบจ่ายตามกลุ่มโรคผู้ป่วยในสูงเกินเหตุ ชี้เอื้อประโยชน์ รพ.มากกว่า

นักวิชาการสนับสนุนแนวทาง สปส.จ่ายผู้ป่วยในตามระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม ชี้ จะทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาโรคค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้น ข้องใจตั้งอัตราสูงกว่าบัตรทองและข้าราชการ เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อรพ.มากกว่าผู้ประกันตน ระบุถ้าใช้อัตราเดียวกับข้าราชการประหยัดเงินได้ปีละ 2 พันล้านบาท อัตราเดียวกับบัตรทองประหยัดได้ปีละ 4 พันล้านบาท แนะ สปส.ต้องระวังการใช้เงิน เพราะสมทบมาจากผู้ประกันตน ต้องใช้ให้คุ้มค่าก่อนกองทุนประกันสังคมจะเจ๊ง ชี้ สปส.ไม่เคยใส่ใจ ทำไมผู้ประกันตน 9.4 ล้านคนต้องจ่ายสมทบสิทธิสุขภาพอยู่กลุ่มเดียว
       
       สืบเนื่องจากกรณีที่มติคณะกรรมการประกันสังคมเห็นชอบปรับระบบการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลแก่โรงพยาบาลคู่สัญญา โดยผู้ป่วยในจะเปลี่ยนจากการจ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัวเป็นการจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมหรือDRG ซึ่งใช้ค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ หรือ RW ละ 1.5 หมื่นบาท เริ่มมีผลในวันที่ 1 ม.ค.2555 นั้น
       
       ดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า สิ่งที่ สปส.ทำอยู่ตอนนี้มาถูกทางแล้ว ต้องขอชื่นชมคณะกรรมการประกันสังคมที่ได้มีการปรับระบบการจ่ายเงินเพื่อแก้ปัญหาเดิมๆ ของการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมที่หากผู้ประกันตนป่วยด้วยโรคค่าใช้จ่ายสูงแล้วมักจะไม่ได้รับการดูแลจากรพ. เนื่องจากรพ.ต้องการประหยัดเงินจากงบเหมาจ่ายรายหัวที่ได้รับทั้งก้อนไว้ ซึ่งการเปลี่ยนระบบจ่ายจะทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาโรคค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้น เพราะ รพ.ต้องรักษาผู่ป่วยก่อนจึงจะได้เงิน ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับที่บัตรทอง และสวัสดิการข้าราชการดำเนินการอยู่ ทั้งยังเป็นความพยายามที่ทำให้แต่ละระบบหลักประกันสุขภาพมีมาตรฐานเดียวกันด้วย

       ดร.นพ.พงศธร กล่าวต่อว่า แต่การที่อัตราการจ่ายของ สปส.สูงกว่าของบัตรทองและข้าราชการนั้น ไม่ได้ส่งผลดีกับกองทุนประกันสังคมและผู้ประกันตน แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับรพ.คู่สัญญา ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นรพ.เอกชน ไม่เข้าใจว่าทำไม สปส.จึงตั้งอัตราสูงกว่า และคำนวณมาจากฐานข้อมูลใด สปส.มีรายละเอียดหรือไม่ ซึ่งอัตราเดียวกับข้าราชการนั้นยังสามารถเบิกยานอกบัญชีได้ด้วย เมื่อประเมินจากฐานข้อมูลที่คาดการณ์ว่า เมื่อมีการปรับระบบการจ่ายเงินผู้ป่วยในแบบใหม่ หากมีอัตราการใช้บริการผู้ป่วยในของผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น 10% การใช้ RW ละ 1.5 หมื่นบาทนั้น สปส.จะใช้งบอยู่ที่ 10,000 ล้านบาทต่อปี แต่หากใช้อัตราของข้าราชการ RW ละ 1.2 หมื่นบาท ใช้งบ 8 พันล้านบาทต่อปี สปส.จะประหยัดเงินได้ปีละ 2 พันล้านบาท และหากใช้อัตราเดียวกับบัตรทอง RW ละ 9 พันบาท ใช้งบ 6 พันล้านบาทต่อปี สปส.จะประหยัดเงินได้ปีละ 4 พันล้านบาทต่อปี ดังนั้น สปส.จึงน่าจะใช้เงินของผู้ประกันตนให้คุ้มค่ามากกว่านี้
       
       ดร.นพ.พงศธร กล่าวว่า ต้องไม่ลืมว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินสมทบของผู้ประกันตน ต่างจากบัตรทองและข้าราชการที่รัฐเป็นผู้อุดหนุนให้ การตั้งอัตราสูงกว่า เหมือนต้องการเพียงแค่จะเอาชนะว่าประกันสังคมดีกว่าระบบอื่น ถามว่า กรณีนี้ดีสำหรับใคร สิ่งที่เห็นคือ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับรพ.มากกว่าให้กับผู้ประกันตน การที่คณะกรรมการประกันสังคมมีมติเช่นนี้ จึงสะท้อนถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการ ที่ขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตนอย่างแท้จริง ขาดผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ขณะที่องค์ประกอบของคณะกรรมการการแพทย์ก็มีแต่ตัวแทนของผู้ให้บริการการแพทย์แต่ไม่มีตัวแทนของผู้ประกันตน การมีมติออกมาจึงตอบสนองแต่ผู้ให้บริการการแพทย์ฝ่ายเดียว แต่ไม่ตอบสนองผู้ประกันตน
       
       “จึงอยากให้ สปส.ทบทวนอัตราจ่ายผู้ป่วยในใหม่ อย่าลืมว่าเป็นเงินสมทบของผู้ประกันตน ขณะที่มีข้อมูลวิชาการออกมาตลอดว่าในอนาคตเงินกองทุนประกันสังคมจะไม่พอ แต่ก็ยังปล่อยให้มีมติที่เอื้อประโยชน์ต่อ รพ.มากกว่าผู้ประกันตนออกมา นอกจากนั้น ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่คณะกรรมการประกันสังคมไม่เคยเข้ามาจัดการคือ ไม่ว่าจะมีการออกมติด้านสวัสดิการรักษาพยาบาลใดๆออกมาเพื่อพยายามให้ประกันสังคมเท่าเทียบกับระบบอื่น แต่ข้อเท็จจริงที่ยังเป็นอยู่ คือ ผู้ประกันตน 9.4 ล้านคนยังเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายสมทบค่าสวัสดิการรักษาพยาบาล แต่ข้าราชการและสิทธิบัตรทองไม่ต้องจ่าย รัฐบาลอุดหนุนให้ ตรงนี้เป็นความเหลื่อมล้ำที่ สปส.ไม่เคยแก้ไข สิ่งที่ทำอยู่ก็เหมือนภาพลวงตาที่คล้ายจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตน แต่ที่สุดก็เอื้อประโยชน์แก่ รพ.มากกว่า หนำซ้ำยังเป็นใช้จ่ายเงินของผู้ประกันตนอย่างไม่คุ้มค่าอีกด้วย” ดร.นพ.พงศธร กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    14 ธันวาคม 2554

8330
สปส.รื้อระบบจ่ายค่ารักษาโรคร้ายแรงที่มีค่าใช้จ่ายสูง ป้องกัน รพ.ปฏิเสธการรักษา-ปัญหาส่งต่อผู้ป่วย ทุ่มงบก้อนแรก 4.4 พันล้าน วงเงินค่ารักษาเริ่ม 1.5 หมื่นบาท ถึง 6 แสนบาท ผู้ประกันเริ่มใช้สิทธิได้ในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า
   
       วันนี้ (14 ธ.ค.) นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ได้มีมติวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา ให้ปรับรูปแบบวิธีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมในปี 2555 เป็นการจ่ายตามกลุ่มโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคไต โรคปอด ซึ่งผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงสามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ในสถานพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมได้ทุกแห่งกว่า 2,000 แห่ง และในโรงพยาบาลคู่สัญญาอีก 246 แห่ง โดย สปส.ได้จัดสรรงบประมาณปี 2555 รองรับไว้จำนวน 4,460 ล้านบาท ซึ่งตั้งเป็นงบกองกลาง
       
       ทั้งนี้ ผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาไปก่อน เนื่องจากโรงพยาบาลในระบบประกันสังคมสามารถเบิกค่ารักษาโดยตรงได้ที่สปส. ซึ่งผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิ์ตามระบบนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 โดยครอบคลุมทั้งในกรณีผู้ประกันตนขอเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลในระบบประกันสังคมได้โดยตรง และโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ์ส่งต่อผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงไปยังโรงพยาบาลแห่งอื่นในระบบประกันสังคมที่มีศักยภาพการรักษาสูงกว่า
       
       “ปัจจุบันมีผู้ประกันตนส่วนหนึ่งป่วยเป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคไต และต้องเสียค่ารักษาจำนวนมาก เมื่อเข้ารักษาโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคม ก็จะมีปัญหาในเรื่องไม่ยอมส่งต่อผู้ป่วย เพราะกังวลเรื่องงบค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้ เชื่อว่าระบบจ่ายค่ารักษาตามกลุ่มโรคร้ายแรงนี้ จะช่วยแก้ปัญหากรณีดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ซึ่งงบประมาณกว่า 4.4 พันล้านบาทเป็นงบรองรับก้อนแรกเท่านั้น หากจะต้องใช้งบเพิ่มขึ้นก็สามารถเพิ่มเติมได้อีก” นายเผดิมชัย กล่าว
       
       ด้านนพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคม กล่าวว่า ปัจจุบันสปส.จัดงบรักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมในรูปแบบเหมาจ่ายรายหัวครอบคลุมทุกโรคโดยในปี 2554 จัดงบไว้ในอัตราคนละ 2,050 บาท แต่ในปี 2555 ได้ปรับรูปแบบเป็นจ่ายตามกลุ่มโรคทำให้งบรายหัว ลดลงเหลือ คนละ 1,955 บาท โดยในจำนวนดังกล่าวมีค่าความเสี่ยง 432 บาท ค่ารักษาโรคทั่วไป 1,446 บาท และค่ามาตรฐานโรงพยาบาล 77 บาท ซึ่งได้นำงบค่าความเสี่ยงมาตั้งเป็นงบกองกลาง เพื่อรักษาโรคที่ร้ายแรง คำนวณจากผู้ประกันตนที่มีอยู่กว่า 10.5 ล้านคน หรือคิดเป็นเงิน 4,460 ล้านบาท
       
       ทั้งนี้ ส่วนการจ่ายค่ารักษาตามกลุ่มโรคจะคำนวณตามระดับความรุนแรงของโรคซึ่งมีระดับตั้งแต่ 2-40 โดยเริ่มต้นระดับละ 15,000 บาท และสูงสุด 600,000 บาทต่อราย ทั้งนี้ วงเงินค่ารักษาจะจ่ายเพิ่มขึ้นตามน้ำหนักความรุนแรงของโรคตามลำดับ เช่น ป่วยเป็นโรคร้ายแรงอยู่ในระดับ 2 ค่ารักษาอยู่ที่รายละ 15,000 บาท ระดับ 3 ค่ารักษาอยู่ที่รายละ 30,000 บาท ระดับ 4 ค่ารักษาอยู่ที่รายละ 45,000 บาท
       
       นพ.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า ในปี 2554 สปส.ใช้งบค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมคนละประมาณ 3 ครั้งต่อปี และป่วยเป็นโรคร้ายแรงต่างๆ ประมาณ 2 แสนคน ซึ่งแต่ละโรคร้ายแรงต้องเสียค่ารักษาสูงมาก จึงเชื่อว่า การปรับระบบจ่ายค่ารักษาพยาบาลรูปแบบใหม่จะทำให้โรงพยาบาลในระบบประกันสังคมและผู้ประกันตนได้รับประโยชน์และพึงพอใจทั้ง 2 ฝ่าย เพราะผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงก็จะได้รับการดูแลที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ์ประกันสังคมก็ลดภาระความเสี่ยงในการรักษาโรคร้ายแรงและไม่ต้องกังวลเรื่องงบการรักษาหากจะส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอื่น ที่มีความพร้อมในการรักษาสูงกว่า
       
       “สปส.จะจัดทำบัญชีกลุ่มโรคร้ายแรงและโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคร้ายแรงแต่ละโรคใส่ในเวบไซต์ของประกันสังคม www.sso.go.th  หรือ สายด่วน 1506 เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ในเร็วๆ นี้” นพ.สมเกียรติ กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    14 ธันวาคม 2554

8331
มติคณะรัฐมนตรี -- พุธที่ 14 ธันวาคม 2554
เรื่อง  ร่างพระราชบัญญัติ​การประกอบวิชาชีพ​การ​แพทย์​แผน​ไทย พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติ​การประกอบ​โรคศิลปะ

(ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ​และร่างพระราชบัญญัติสถานพยาบาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ

คณะรัฐมนตรี​เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ​การประกอบวิชาชีพ​การ​แพทย์​แผน​ไทย พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติ​การประกอบ​โรคศิลปะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ​และร่างพระราชบัญญัติสถานพยาบาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข​เสนอ ​และ​ให้​เสนอสภา​ผู้​แทนราษฎรพิจารณา​เป็น​เรื่องด่วน ​และ​แจ้ง​ให้คณะกรรม​การประสานงานสภา​ผู้​แทนราษฎร​ไปพร้อมกัน
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. ร่างพระราชบัญญัติ​การประกอบวิชาชีพ​การ​แพทย์​แผน​ไทย พ.ศ. ....

1.1 กำหนด​ให้มีสภา​การ​แพทย์​แผน​ไทย มีฐานะ​เป็นนิติบุคคล ​โดยมีวัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่ ​และ ที่มาของราย​ได้สภา​การ​แพทย์​แผน​ไทยตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 7 ​ถึงร่างมาตรา 10)

1.2 กำหนดคุณสมบัติ​และลักษณะต้องห้าม สิทธิ​และหน้าที่ ​และ​การสิ้นสุดของสมาชิกภาพของสมาชิก สภา​การ​แพทย์​แผน​ไทย กำหนดคุณสมบัติ​ผู้ขอขึ้นทะ​เบียน​และรับ​ใบอนุญาต​เป็น​ผู้ประกอบวิชาชีพ​การ​แพทย์​แผน​ไทย (ร่างมาตรา 12 ​ถึงร่างมาตรา 15)

1.3 กำหนด​ให้มีคณะกรรม​การสภา​การ​แพทย์​แผน​ไทยประกอบด้วย กรรม​การ​โดยตำ​แหน่ง กรรม​การ ​ซึ่ง​เป็น​ผู้​แทนสถาบัน​การศึกษา กรรม​การ​ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรม​การ​ซึ่ง​ได้รับ​เลือกตั้งจากสมาชิก กำหนดอำนาจหน้าที่ วาระ​การดำรงตำ​แหน่ง​และ​การพ้นจากตำ​แหน่ง (ร่างมาตรา 16 ​และร่างมาตรา 21 ​ถึงร่างมาตรา 24)

1.4 กำหนดหลัก​เกณฑ์​การ​เลือกนายกสภา​การ​แพทย์​แผน​ไทย กรรม​การอื่น ๆ ​และ​ให้นายกสภา​การ​แพทย์​แผน​ไทย​เลือกกรรม​การ​เพื่อดำรงตำ​แหน่ง​เลขาธิ​การ (ร่างมาตรา 18)

1.5 กำหนดหลัก​เกณฑ์​การควบคุม​การประกอบวิชาชีพ​การ​แพทย์​แผน​ไทย ​การขึ้นทะ​เบียน ​การออก​ใบอนุญาต อายุ​ใบอนุญาต ​การต่ออายุ​ใบอนุญาต ​การออกหนังสืออนุมัติ​หรือวุฒิบัตร คุณสมบัติ​ผู้ขอขึ้นทะ​เบียน​และรับ​ใบอนุญาต (ร่างมาตรา 29 ​ถึงร่างมาตรา 33)

1.6 กำหนดหลัก​เกณฑ์​การกล่าว​โทษ​ผู้ประกอบวิชาชีพ​การ​แพทย์​แผน​ไทย ​การ​แต่งตั้งคณะอนุกรรม​การจรรยาบรรณ​แห่ง​การประกอบวิชาชีพ​การ​แพทย์​แผน​ไทย อำนาจหน้าที่คณะอนุกรรม​การฯ หลัก​เกณฑ์​และวิธี​การสอบสวน ​และอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรม​การ ตลอดจนหลัก​เกณฑ์​การ​เพิกถอน​ใบอนุญาต (ร่างมาตรา 35 ​ถึงร่างมาตรา 47)

1.7 กำหนดหลัก​เกณฑ์​และวิธี​การยื่นอุทธรณ์ ​และวิธีพิจารณาอุทธรณ์ คำสั่ง​ไม่รับขึ้นทะ​เบียน​และออก​ใบอนุญาต ​และ​การพัก​ใช้​ใบอนุญาต​หรือถูก​เพิกถอน​ใบอนุญาต (ร่างมาตรา 51 ​ถึงร่างมาตรา 53)

1.8 กำหนดบทกำหนด​โทษสำหรับ​ผู้ฝ่าฝืน ​โดยมี​โทษจำคุก​และปรับ ​และกำหนดบท​เฉพาะกาล​เพื่อรองรับ​การกระ​ทำต่าง ๆ (ร่างมาตรา 54 ​ถึงร่างมาตรา 64)
2. ร่างพระราชบัญญัติ​การประกอบ​โรคศิลปะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

2.1 ​แก้​ไข​เพิ่ม​เติมองค์ประกอบคณะกรรม​การ​การประกอบ​โรคศิลปะ คุณสมบัติ​และลักษณะต้องห้ามของกรรม​การ (ร่างมาตรา 5 ​และร่างมาตรา 6)

2.2 ​แก้​ไข​เพิ่ม​เติมหลัก​เกณฑ์​การ​เลือกตั้งกรรม​การวิชาชีพของ​แต่ละสาขาวิชาชีพ วาระ​การดำรงตำ​แหน่ง​และ​การพ้นจากตำ​แหน่งของกรรม​การวิชาชีพ (ร่างมาตรา 10)
3. ร่างพระราชบัญญัติสถานพยาบาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

3.1 ​แก้​ไข​เพิ่ม​เติมคำนิยาม “สถานพยาบาล” “​ผู้ประกอบวิชาชีพ” (ร่างมาตรา 3 ​และร่างมาตรา 4)

3.2 ​แก้​ไข​เพิ่ม​เติมหลัก​เกณฑ์​การออก​ใบอนุญาต​ให้ดำ​เนิน​การสถานพยาบาล ​การ​แสดงรายละ​เอียดของสถานพยาบาล ​และหน้าที่​และ​ความรับผิดชอบของ​ผู้ดำ​เนิน​การสถานบริ​การ (ร่างมาตรา 5 ​ถึงร่างมาตรา 7)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 ธันวาคม 2554--จบ--

ryt9.com

8332
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ได้มีการอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ พ.ศ....  และร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเกี่ยวกับการประกันสุขภาพ (การรักษาพยาบาล) ของสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และได้มีการกำชับไม่ให้ทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงข่าวให้สาธารณชนรับทราบ

ทั้งนี้พบว่าในร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเกี่ยวกับการประกันสุขภาพ (การรักษาพยาบาลของสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ... ที่ครม.อนุมัตินั้น ได้เพิ่มสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลให้กับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากที่ปัจจุบันที่ได้รับการประกันสุขภาพเป็นรายปี โดยมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในลักษณะการประกันสุขภาพกลุ่มให้กับผู้รับประกันในอัตราไม่เกิน 20,000 บาทต่อคนต่อปี โดยเสียค่าใช้จ่ายปีละ 12.6 ล้านบาท ขณะที่ร่างที่แก้ไขฉบับนี้ได้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์สวัสดิการรักษาพยาบาล โดยสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลทั่วไปต่อครั้งได้ 100,000 บาท, ค่าผ่าตัดต่อครั้งได้ 120,000 บาท และค่าตรวจสุขภาพประจำปีได้ 7,000 บาท โดยจะมีผลบังคับใช้ในปีงบประมาณ 2556 เนื่องจากสัญญาประกันสุขภาพกลุ่มจะสิ้นสุดในปี 2555

อย่างไรก็ตามเรื่องเดิมที่ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ส่งร่างระเบียบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ครม.พิจารณานั้น จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ปีละ 124.63 ล้านบาท ได้กำหนดค่ารักษาพยาบาลทั่วไปอยู่ที่ครั้งละ 120,000 บาท ก่อนที่จะปรับลงมาเหลือ 100,000 บาท, ค่าแพทย์ผ่าตัดครั้งละ 200,000  บาท ก่อนที่จะถูกปรับลงเหลือ 120,000 บาท และค่าตรวจสุขภาพประกันปี 10,000 บาท ก่อนที่จะปรับลงมาเหลือ 7,000 บาท

นอกจากนี้ตามร่างกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นฯ ที่ ครม.อนุมัติ กำหนดให้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร(ประธานรัฐสภา) จะได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรรมาธิการวุฒิสภา กรรมาธิการรัฐสภาและกรรมาธิการร่วมกันของทั้ง 2 สภา ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งเฉพาะครั้งที่มาประชุมในอัตราครั้งละ 1,500 บาท และกำหนดให้อนุกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร อนุกรรมาธิการวุฒิสภา อนุกรรมาธิการรัฐสภาและอนุกรรมาธิการร่วมกันของทั้ง 2 สภา ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งครั้งละ 800 บาท

สำหรับข้อเสนอที่จะให้ผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา ซึ่งแต่งตั้งจากข้าราชการรัฐสภาสามัญได้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 1,000 บาทนั้น ไม่ได้รับการอนุมัติ เพราะเป็นการปฏิบัติงานตามหน้าที่ปกติของเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับเงินเดือนเป็นประจำอยู่แล้ว

ส่วนค่าใช้จ่ายในการเดินทางของส.ส.,ส.ว.,กรรมาธิการส.ส.,กรรมาธิการส.ว.,กรรมาธิการรัฐสภา และกรรมาธิการร่วมกันของทั้ง 2 สภา ให้ได้รับสิทธิเบิกค่าเดินทางในอัตราเดียวกับหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง สำหรับส.ส.และส.ว.ที่เดินทางโดยพาหนะส่วนตัวมีสิทธิได้รับเงินชดเชยเป็นค่าพาหนะในการเดินทางมาประชุม

ประชาชาติธุรกิจ  13 ธันวาคม พ.ศ. 2554

8333
เป็นหมอที่ชอบคลุกคลีกับชาวบ้าน เป็นนักวิจัยที่ชอบทำงานกับชุมชน เป็นนักคิดที่สนใจทุกเรื่อง และผู้ประสบภัยที่กลายเป็นอาสาสมัคร

เคยได้ยินบ่อยๆ ว่า เวลาคุณหมอคนนี้ไปบรรยายที่ไหน มักจะช่วยกระตุกต่อมคิดคนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนในแวดวงสาธารณสุข เพราะเขาสนใจทั้งเรื่องสังคม ชุมชน และจิตวิญญาณ จริงๆ แล้วสนใจไปเกือบทุกเรื่อง ชอบคลุกคลีช่วยเหลือให้แนวคิดกับชาวบ้าน พร้อมๆ กับเก็บเกี่ยวภูมิปัญญามาใช้กับการทำงานและชีวิต 

 นายแพทย์ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข หมอในคราบนักมานุษยวิทยา กับวิถีที่อ่อนโยนกับชีวิตและธรรมชาติ
 ความอ่อนโยนเหล่านี้แฝงอยู่ในงาน วิธีพูด คิด และการกระทำ

 วิธีการทำความเข้าใจกับมนุษย์ของเขา จึงมีมิติหลากมุม โดยเฉพาะในช่วงน้ำท่วม เขาเป็นผู้ประสบภัยที่ผันตัวลงพื้นที่เป็นอาสาสมัคร บางครั้งทำงานกลุ่ม บางครั้งฉายเดี่ยว ไม่เว้นแม้กระทั่งออกแรงช่วยสร้างสะพาน
 หากถามว่า ถ้าจะสร้างอาสาสมัครในแผ่นดินนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ต้องทำอย่างไร คุณหมอมีคำตอบตามแบบฉบับของเขา พร้อมๆ กับบทเรียนภัยพิบัติครั้งนี้...

ก่อนจะคุยเรื่องอาสาสมัคร ภัยพิบัติครั้งนี้ คุณหมอคิดว่า สังคมได้บทเรียนอะไรบ้าง
 ภัยพิบัติครั้งนี้เป็นสัญญาณเตือนครั้งสำคัญกับวิธีคิดที่ไม่มีความพร้อม ตั้งอยู่บนความประมาท หลายหน่วยงานเคยซ้อมรับมือภัยพิบัติและไฟไหม้ แต่ในระดับชุมชนไม่มีการเตรียมพร้อม ทั้งๆ ที่มีอยู่ในแผนบรรเทาสาธารณภัยเขียนไว้ว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติต้องรู้สภาพพื้นที่ จุดรวมพล เส้นทางอพยพและทรัพยากรในพื้นที่มีใครบ้างที่จะระดมมาช่วย เมื่อเกิดเหตุไม่มีวิธีคิดชุดนี้เลย ทั้งๆ ที่มีแผนเหล่านี้อยู่
 แต่เรื่องนี้ก็ต้องมีองค์ประกอบสองเรื่อง คือ 1.พลังฝ่ายวิชาการที่น่าเชื่อถือ และ 2.กลไกจัดการภาครัฐ ต้องทำให้วิชาการเหล่านี้จริงจังและน่าเชื่อ แต่สถานการณ์นี้ขาดทั้งภาวะผู้นำในภาครัฐและภาควิชาการ เมื่อเกิดภัยพิบัติระยะหนึ่งประชาชนจึงเลือกที่จะฟังข้อมูลข่าวสารสถานีโทรทัศน์ช่องที่อธิบายให้เข้าใจได้ หรือคลิปวีดิโอที่กลุ่มนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ผลิตขึ้น เพราะมีหลักการน่าเชื่อถือ และไม่ใช่ว่าคนไทยไม่กระตือรือร้นเรื่องข่าวสาร แต่ขาดองค์ประกอบสองอย่างที่ผมกล่าวมา

ปัญหาคือการขาดข้อมูลทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ  ?
 น้ำท่วมครั้งนี้ส่งผลกว้างตั้งแต่ชุมชนเกษตรจนถึงนิคมอุตสาหกรรม คนจนในเมืองไปจนถึงคนมีบ้านร้อยล้าน ทั้งๆ ที่มีความหลากหลายทางสังคม แต่การรับมือดูเหมือนมีการปฏิบัติต่อสังคมในแบบเดียวกันทั้งหมด ทั้งๆ ที่แต่ละชุมชนมีประวัติศาสตร์ของตัวเอง พี่น้องชุมชนมุสลิม เมื่ออพยพมาอยู่ศูนย์พักพิง พวกเขาอยู่ไม่ได้ เพราะมีแต่เสียงดนตรีและเสียงดังๆ จึงขอไปอยู่ในมัสยิด เขาบอกว่า ไม่ใช่เวลาของการสังสรรค์ ควรเป็นเวลาแห่งการทบทวนชีวิตและการภาวนา แต่วิธีการจัดการปฏิบัติราวกับว่าทุกคนเหมือนกันหมด ทั้งๆ ที่ความรู้การจัดการภัยพิบัติมีหลายมิติ ผมคิดว่า สังคมไทยขาดการจัดการความรู้เพื่อรับมือภัยพิบัติ ความรู้มีหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่สื่อนำเสนอออกมามีแต่มิติของมวลน้ำ ส่วนมิติของชุมชนหรือแม้กระทั่งศาสนธรรมเกี่ยวข้องกับภัยพิบัติอย่างไร ก็มีเรื่องพวกนี้น้อยมาก

การจัดการความรู้ค่อนข้างล้มเหลว ?
 ถ้าเราแยกไม่ออกระหว่างการเตรียมรับมือ การเผชิญกับน้ำและเตรียมฟื้นฟู ทั้งสามระยะแยกจากกันไม่ได้ ถ้าเรารับมือไม่ดีตั้งแต่แรก การฟื้นฟูก็ต้องมาแก้โจทย์ที่รับมือไม่ดี ไม่ใช่แค่การสูญเสียทางกายภาพและเศรษฐกิจ ยังต้องมีการฟื้นฟูทางมิติสังคมและจิตวิญญาณในสังคมไทย  เมื่อเรารับมือไม่ดี ผลกระทบทางสังคมที่เห็น คือ คนเกลียดและโกรธรัฐบาล  คนต่างชุมชนทะเลาะกัน ภัยพิบัติครั้งนี้ได้มาซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะบางพื้นที่ถูกปกป้องราวกับไข่แดง พื้นที่ไม่ได้รับการปกป้องก็จมน้ำไปสามเดือน โดยใช้ข้ออ้างคำเดียว เพื่อรักษาศูนย์กลางเศรษฐกิจ ซึ่งผมไม่ได้มีปัญหา แต่แผนด้านอื่นๆ  ต้องดีด้วย ตอนนี้คนรู้สึกว่าถูกละเลย ถูกทอดทิ้ง ถูกปฏิบัติไม่เป็นธรรม

นำไปสู่ผลกระทบทางสังคมค่อนข้างมาก ?
 ในช่วงแรกที่น้ำท่วมในต่างจังหวัด เสียงคนเหล่านั้นไม่ค่อยปรากฏในสื่อและนโยบายของรัฐ ผมอยากเรียกว่ามีกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลาง ด้วยการมองโลกจากประสบการณ์ผู้คนในเมือง เมื่อน้ำท่วมเข้าสู่ภาคกลาง เริ่มได้เห็นว่า นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างเดียว แต่มีการแทรกแซงจากน้ำมือมนุษย์ในการกำหนดการไหลของน้ำ บางคนกำหนดบางอย่างได้มากกว่าคนอื่น ทำให้รู้สึกว่า เราถูกกำหนดจากกลไกบางอย่าง ส่วนการเยียวยาความขัดแย้งทางสังคม เป็นภารกิจสำคัญที่ต้องใส่ใจในช่วงฟื้นฟู

การฟื้นฟูหลังน้ำท่วม จึงไม่ควรมองข้ามมิติทางสังคม ?
 มิติหนึ่งของการฟื้นฟู เราจะตั้งคำถามว่า ภัยพิบัติครั้งนี้มีความหมายกับคนไทยอย่างไร ถ้าเราค้นพบว่า ภัยพิบัติครั้งนี้ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของคนไทย อาทิ แก้ไขนิสัยการทิ้งขยะของคนไทย แก้ไขกลไกรัฐที่ละเลยเพิกเฉยต่อผังเมือง เราจะแก้ไขความไม่รับผิดชอบการโกงกินแม้กระทั่งถุงยังชีพได้อย่างไร ถ้าเราสร้างความหมายให้กับภัยพิบัติครั้งนี้ได้ เหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสสำคัญในการรื้อหรือปรับแก้ปฏิรูปใหญ่ เพื่อแก้ปัญหา ไม่ว่าปัญหาผังเมือง ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่า กฎหมายเรื่องนี้ไร้ประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดความเสียหายหลายแสนล้าน น่าจะได้เวลาทำเรื่องนี้จริงจัง แต่ปัญหาที่เราอาจจะสูญเปล่าไปกับภัยพิบัติครั้งนี้ คือ ไร้ซึ่งสภาวะผู้นำที่จะสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงใหญ่เพื่อให้ประเทศไทยเข้มแข็งกว่าเดิม ถ้าเกิดภัยพิบัติครั้งใหม่ เราจะมีความพร้อมมากขึ้นแค่ไหน เป็นคำถามที่ต้องถามทุกภาคส่วนในสังคม ถ้าจะคาดหวังจากภาครัฐ หรือผู้นำรัฐบาล เราน่าจะสรุปบทเรียนว่า เราคาดหวังได้จำกัด

เรื่องของสภาวะผู้นำเป็นอีกเรื่องที่ต้องไตร่ตรอง?
 เคยมีนักวิชาการบอกว่า สภาวะผู้นำ กับการยอมรับในสภาวะผู้นำ เป็นสองอย่างที่ประกอบกัน คนที่มาเป็นผู้นำ เพราะมีคนจำนวนหนึ่งยอมรับว่าเป็นผู้นำได้ แต่วิธีการของสังคมไทยในการรับมือกับภัยพิบัติ ถ้ามองจากวาทกรรมที่พูดถึงภัยพิบัติครั้งนี้ ค่อนข้างชัดว่าได้มาซ้ำเติมสภาวะผู้นำซึ่งอ่อนแออยู่ ยิ่งล้มเหลวลงไปอีก เพราะวิธีคิดและวาทกรรมเกี่ยวกับภัยพิบัติ ทำให้คนที่เรียกตัวเองว่า ผู้ประสบภัยไม่ได้ลุกขึ้นมาช่วยเหลือตัวเอง เราเห็นกระบวนการขนข้าวกล่องเข้าไปเป็นเดือนๆ ทำไมไม่สร้างระบบครัวชุมชน เพื่อให้พวกเขาลุกขึ้นมาจัดการชีวิตตัวเอง
 ในสถานการณ์แบบนี้ การลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันในชุมชนคือการเยียวยาแล้ว นี่คือการฟื้นคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งผมเห็นว่า มีน้อยมากที่ชุมชนมีระบบการจัดการเอง เมื่อผู้ประสบภัยอพยพแล้ว กลายเป็นคนที่รอรับความช่วยเหลือ วาทกรรมชุดนี้ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นผ่านสื่อว่า "หมู่บ้านนั้นนี้น้ำท่วมถึงเอว ไม่เห็นมีใครมาแจกของ หรือสนใจเลย"

อีกเรื่องที่คุณหมอเน้นคือ สังคมแบบปัจเจกชนนิยม?
 ในยุคสมัยของปัจเจกชนนิยมที่คิดว่า เราอยู่ได้ พึ่งตัวเองได้ มีเครื่องปั๊มน้ำ ทำกำแพงกั้นบ้าน กันน้ำได้ เวลาเจอภัยพิบัติใหญ่ๆ มีบางเรื่องราวเราทำตามลำพังไม่ได้ ต้องร่วมกันทำ เราลืมไปว่า ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนบ้านทดแทนด้วยวัตถุไม่ได้ อย่างทฤษฎีทางสังคมที่ได้กล่าวไว้เยอะว่า ความสัมพันธ์ที่มีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย มันเป็นองค์ประกอบสำคัญในการแก้ไขปัญหา

ส่วนเรื่องการมองโลกจากส่วนกลาง ก็เป็นเรื่องเดิมๆ ที่พบเห็นบ่อยในสังคมไทย ?
 ผมคิดว่าเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ของการพัฒนา มองว่าประเทศไทยคือกรุงเทพฯ สื่อมวลชนก็นำเสนอข่าวในมุมมองคนกรุง ยกตัวอย่าง พิธีกรคนหนึ่งบอกว่า น่าจะมีนวัตกรรมตึกหรือสวนสาธารณะสวยๆ ในกรุงเทพฯ บ้าง แล้วทำไมต้องเป็นกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่สื่อทีวีเป็นของคนทั้งประเทศ ไม่ต่างจากข่าวภัยพิบัติ ก่อนหน้านั้นคนต่างจังหวัดต้องรู้เรื่องการป้องกันไฟฟ้าช็อตตายไหม หรือเรื่องอื่นๆ ไหม แต่พอน้ำท่วมกรุงเทพฯ สื่อบอกทุกขั้นตอน

ปัญหาการจัดการภัยพิบัติ กลายเป็นรอยร้าวในใจคนไทย เรื่องนี้ต้องแก้ไขอย่างไร
 ผมตั้งคำถามว่า เมื่อภัยพิบัติครั้งนี้ผ่านพ้นไป เราจะมีความทรงจำทางสังคมในการบอกเล่าให้ลูกหลานฟังอย่างไร ถ้าจำได้แค่ว่า ผู้ว่าฯ กทม.กับผู้บริหาร ศปภ.(ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย) ทะเลาะกัน ,ถ้าจำได้แค่ ศปภ.ล้มเหลว ต้องอพยพย้ายกองบัญชาการเพราะน้ำท่วมสองครั้ง และจำได้แค่ว่า น้ำท่วมสามเดือนไม่มีใครใส่ใจเหลียวแล เพราะรัฐมุ่งปกป้องบางพื้นที่ ถ้าความทรงจำเป็นแบบนี้ ภัยพิบัติก็เป็นรอยร้าวรอยแยกของสังคมต่อไปไม่จบสิ้น ถ้าจำได้แค่นั้นน่าเสียดาย ยังมีเรื่องราวอื่นๆ ที่น่าบอกเล่า ความสำเร็จหลายชุมชนที่ลุกขึ้นมาจัดการปัญหาตัวเอง ตอนผมไปช่วยตั้งศูนย์พักพิงในโรงเรียน ชุมชนคลองมหาสวัสดิ์  เพราะคนที่นั่นไม่อยากย้ายออก จึงต้องวางแผนจัดการให้อยู่กับน้ำได้
 ผมอยากถามว่า เมื่อเหตุการณ์น้ำท่วมผ่านไป อะไรคือความทรงจำของคนที่นี่ ถ้าพวกเขาอยู่กับน้ำได้ มันจะเป็นเรื่องราวที่พวกเขาจดจำเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นช่วงน้ำท่วมปี 2554 คุณคงได้ยินเรื่องราวของคน อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำท่วมทุกปี พวกเขาทำสะพานทั้งตลาด เขาภูมิใจเรื่องนี้มาก ต่อไปภัยพิบัติจะเกิดบ่อยครั้ง ผมไม่ได้คิดว่าโลกจะดับ แต่มีข้อมูลภัยพิบัติระดับโลกออกมาชัดเจนว่า ทั้งความถี่และขนาดของปัญหาจะมากขึ้น

จำเป็นต้องสร้างจิตสำนึกใหม่ในสังคมไทย ?
 ถ้ามองจิตสำนึกเหมือนการเอาชิปไปฝังในตัวคน หรือใส่โปรแกรม ผมไม่เห็นด้วย ในความคิดผมจิตสำนึกสัมพันธ์กับระบบโครงสร้าง มีคนบอกว่า คนญี่ปุ่นมีระเบียบเข้าแถวเวลารับสิ่งของ แต่คนไทยแย่งชิงสิ่งของกัน ไม่มีจิตสำนึก ผมอยากอธิบายว่า พฤติกรรมกับโครงสร้างเชิงระบบมีความสัมพันธ์กัน ผมไปลงพื้นที่ดอนเมือง เจอป้าคนหนึ่งมารับถุงยังชีพ ผมถามว่า "รู้ข่าวได้อย่างไร" เธอบอกว่า "ไม่รู้ สุ่มๆ เอา" ผมถามต่อว่า "ถ้าวันนี้ไม่ได้ถุงยังชีพจะทำอย่างไร" เธอตอบว่า "พรุ่งนี้...มาใหม่"
 ถ้าระบบความช่วยเหลือมีหลักประกันว่า ทุกคนที่มาวันนั้นได้ถุงยังชีพ มีการกำหนดเวลาจ่ายของแน่นอน ถ้าใครไม่ได้วันนี้ จดชื่อไว้ พรุ่งนี้มาก็ให้ไป ผมถามว่า ถ้ามีระบบแน่นอน พวกเขาจะแย่งกันทำไม เห็นไหมครับว่า จิตสำนึกเป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงระบบ ถ้าเราสร้างระบบดี ธรรมชาติฝ่ายดีของมนุษย์แสดงออก ถ้าเราสร้างระบบไม่ดี ธรรมชาติฝ่ายเลวแสดงออก อันนี้เป็นตรรกะง่ายๆ คนจะทำดีหรือเลว  การปลูกฝังจากครอบครัว โรงเรียนและการศึกษา ก็สำคัญ แต่ผมอยากเปรียบเทียบให้เห็นว่า ผมเป็นหมอ พ่อแม่สอนมาตั้งแต่เด็ก ถ้าผมไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน พฤติกรรมของผมจะต่างจากทำงานโรงพยาบาลรัฐไหม จิตสำนึกผมเปลี่ยนเมื่อผมไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน โครงสร้างที่นั่นก็กำหนดพฤติกรรมเรา

ถ้าอย่างนั้น...สังคมไทยกำลังหลงลืมอะไรไป
 เวลาเราพูดเรื่องการปลูกฝังจิตสำนึก เราลืมไปว่า เราต้องปรับระบบโครงสร้างควบคู่ไปด้วย ถ้าไม่ทำ เราไม่สามารถสร้างจิตสำนึกอะไรขึ้นมาได้ จิตสำนึกของคนสัมพันธ์กับความรู้สึกของชุมชน เวลาเราพูดถึงเรื่องจิตสำนึกเราพูดในความหมายว่าเรามีชีวิตอยู่ท่ามกลางคนอื่น มันเป็นมิติทางสังคม คนญี่ปุ่นจะรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวม มีความจงรักภักดีต่อคนในกลุ่ม แต่ในสังคมไทยโครงสร้างเชิงระบบอนุญาตให้เรามีสำนึกเช่นนั้นน้อย ยกตัวอย่าง เราเห็นตู้โทรศัพท์ถูกทำลาย ระบบเปิดโอกาสให้เราช่วยดูแลไหม เราแจ้งความว่า มีคนทำลายสมบัติสาธารณะ รัฐจะปกป้องเราไหม เราฟ้องได้ไหม เป็นเรื่องที่พลเรือนไทยไม่สามารถมีบทบาทได้

ระบบโครงสร้างไม่เปิดโอกาสให้แสดงออกในเรื่องจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ?
 ไม่อนุญาตให้คนได้แสดงออกทางจิตสำนึก ถ้าคนได้แสดงออกบ่อยๆ ก็จะมีจิตสำนึกสาธารณะ ผมขอยกตัวอย่างในอเมริกา ผู้ชายคนหนึ่งออกไปออกกำลังกายในยิมฯ แต่ถูกปฏิเสธว่า โรงยิมแห่งนี้ให้ผู้หญิงออกกำลังกายเท่านั้น เขาฟ้องร้องว่า ทำไมต้องแบ่งแยก ฟ้องในฐานะผู้ถูกละเมิดสิทธิส่วนรวม แบบนี้เรียกว่า คนคนหนึ่งมีสถานะเป็นตัวแทนของส่วนรวม ระบบกฎหมายอนุญาตให้จิตสำนึกเหล่านี้แสดงออกได้อย่างเป็นรูปธรรม มีกระบวนการรองรับ ไม่เป็นภาระสำหรับเจ้าของเรื่อง

ควรวางรากฐานเรื่องนี้อย่างไร
 ถ้าอิงมาทางพุทธศาสนา จิตสำนึกเป็นกระบวนการศึกษาหรือสิกขาที่ยกระดับจิตสำนึก มีทั้งศีล สมาธิ และปัญญา ศีล คือ การอยู่ร่วมกับคนอื่น เวลาเราพูดถึงจิตสำนึก ถ้าเราพูดว่า ให้นั่งปฏิบัติธรรมใส่ชุดขาว ซึ่งผมคิดว่า ไม่เพียงพอในการเชื่อมโยงกับความทุกข์ร้อนของคนอื่น ถ้าปัจเจกชนเหล่านั้นคิดว่า แม้จะมีคนเอารัดเอาเปรียบในบ้านเมือง มีความเหลื่อมล้ำขนาดไหน ก็ไม่เป็นไร ขอนั่งเงียบๆ จิตนิ่ง สุขสงบร่มเย็นก็พอแล้ว แบบนั้นไม่ได้หรอก ไม่ผิดแต่ไม่พอ พุทธมหายานเน้นให้ออกมาทำงานช่วยเหลือคนอื่น ผมรู้สึกว่าแนวโน้มการปฏิบัติธรรมในสังคมไทยคือ ปลีกตัวออกจากสังคม  และผมอยากยกตัวอย่างอีกเรื่อง ตอนเกิดภัยพิบัติ คนจำนวนมากอยากเป็นอาสาสมัคร ผมไปทำงานสร้างสะพาน มีน้องๆ ถามว่า มาได้ยังไง ผมบอกว่า เปิดเฟซบุ๊คเจอ ผมมองว่า ถ้าคนทุกวัยต้องการแสดงออก เราพร้อมที่จะหล่อเลี้ยงให้จิตสำนึกพวกเขาเติบโตเพียงใด ก็ต้องช่วยกันคิด เพราะมีคนจำนวนมากออกมาช่วย แล้วระบบไม่เอื้อให้แสดงออก

เมื่อระบบไม่เอื้อ จะแก้ไขอย่างไร
 เมื่อคนเดินออกมาอาสาช่วยงาน เรามีหน้าที่สำคัญคือ ทำระบบเพื่อให้ศักยภาพของเขาถูกใช้เต็มที่ ตอนที่มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยถูกน้ำท่วม แต่ไม่ปิดตัว เพราะพวกเขาถามตัวเองว่า ในเมื่อทุกคนมีความสามารถด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อเป็นผู้ประสบภัย ทำไมต้องทำให้เขากลายเป็นคนไร้ความสามารถ เมื่อคนมารวมกันเป็นร้อยๆ มีช่างตัดผม คนจะไม่อยากตัดผมบ้างไหม  ถ้ามีการสร้างระบบรองรับ ก็ทำให้จิตสำนึกเติบโต ผมไปเห็นอาสาสมัครวัยรุ่นเป็นพันๆ คนที่ ศปภ. พวกเขานั่งเป็นแถวยาวเพื่อแพ็คยา จำนวนยา 25 รายการ จะมี 25 คนที่ทำงานอย่างมีคุณค่า ที่เหลืออีก 50-60 คนแค่ส่งถุงยาต่อๆ ไป แค่นี้พวกเขาก็ดีใจที่มาช่วย สังคมไทยยังมีประสบการณ์เรื่องงานอาสาสมัครน้อย กลุ่มที่มีประสบการณ์มากคือ กลุ่มกระจกเงา เมื่อมีอาสาสมัครเข้ามา พวกเขาจะดูทักษะ แล้วให้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ อาสาสมัครกลับไปก็ภูมิใจและจดจำตลอดชีวิต การเป็นอาสาสมัครจึงเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ เป็นการลดอัตตา ไม่ใช่การเสริมอัตตา

โมเดลการสร้างอาสาสมัครในความคิดคุณหมอเป็นอย่างไร
 จำเป็นต้องสร้างระบบคู่กันไปด้วย ระบบต้องทำให้จิตสำนึกสาธารณะแสดงออก ทำให้คนเป็นอาสาสมัครได้รู้สึกว่า ทุกคืนที่ล้มตัวลงนอน คิดถึงเรื่องนี้แล้วดีใจที่ได้ทำ เคยมีการวิเคราะห์เปรียบเทียบให้เห็นว่า จำนวนชั่วโมงการทำงานอาสาสมัครของไทย เทียบกับอาสาสมัครในประเทศอาเซียน แค่เทียบกับเวียดนามและสิงคโปร์ จำนวนชั่วโมงการทำงานอาสาสมัครไทยน้อยมาก ไม่ต้องเปรียบเทียบกับอเมริกาเลย อาสาสมัครเยอะมาก
 ผมคิดว่า ต้องมีการเปิดพื้นที่ให้กับการทำงานอาสาสมัคร ผมยกตัวอย่างง่ายๆ โรงเรียนในประเทศไทยจะไม่ยอมรับให้พ่อแม่ไปปรากฏตัวในชั้นเรียนของลูก ต่างจากโรงเรียนเด็กเล็กในอเมริกาจะมีอาสาสมัครพ่อแม่เข้าไปช่วย  นั่นเพราะพ่อแม่ไทยเวลาไปเป็นอาสาสมัครในชั้นเรียน เวลาแบ่งของกินหรือดูแลเด็ก ก็เน้นลูกตัวเองก่อน ถ้าระบบไม่ดี พ่อแม่ตามใจตัวเอง ระบบก็ต้องถูกยกเลิก

ในช่วงบ้านน้ำท่วมสองเดือนกว่าๆ คุณหมอเลือกจะเป็นอาสาสมัคร  ?
 ตอนนั้นประชาชนกำลังทุกข์ทั้งแผ่นดิน ถ้ามานั่งประชุมเรื่องงานกันคงไม่ใช่เวลา พวกเราหมอชุมชนก็ไปช่วยผู้ประสบภัย บางครั้งผมก็ทำคนเดียว บางครั้งทำเป็นกลุ่ม นอกจากเข้าไปช่วยวางระบบศูนย์พักพิงคลองมหาสวัสดิ์ให้อยู่กับน้ำได้ ก็ไปดูให้กำลังใจหมออนามัยทำงานในชุมชน ประสานเครือข่ายช่วยเหลือกัน

โดยส่วนตัวแล้วได้เรียนรู้อะไรบ้าง
 สี่เรื่องที่ผมเห็น คือ 1.หัวใจที่ไม่ยอมพ่ายแพ้ ผมเข้าไปในชุมชน บางคนมีอาชีพตัดผม น้ำท่วมบ้าน ตัดผมไม่ได้ ก็ออกไปรับจ้างถูบ้านช่วงน้ำลด ตอนน้ำท่วมก็สะพายแหไปด้วย ตรงไหนมีปลาก็ทอดแห เขาไม่ได้รอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว 2.ปัญญาที่ไม่อับจน  มีนวัตกรรมเกิดขึ้นมากมาย 3.มิตรภาพที่ไม่ทอดทิ้งกัน มีเครือข่าย พี่น้องจากภาคใต้เอารถขนอาหารมาให้ และ 4.ศรัทธาที่เชื่อมั่นว่า ถ้าผ่านภัยพิบัติครั้งนี้จะกลับมาเข้มแข็งกว่าเดิม และไม่ใช่ศรัทธาลมๆ แล้งๆ นะ ผมไปลงพื้นที่แม่น้ำท่าจีน เรือที่เราไปเป็นเรือชุมชนน้ำเค็ม จ.พังงา พวกเขาเคยประสบภัยเกือบพินาศ ปัจจุบันกลายเป็นหน่วยกู้ภัยชุมชนน้ำเค็มที่เข้มแข็งที่สุดของจังหวัด

ภัยพิบัติครั้งนี้ ทำให้คนเดือดร้อนจำนวนมาก แต่คนไทยก็ยังยิ้มได้ ถือว่าเป็นข้อดีไหม
 อย่างช่างภาพต่างชาติที่มาถ่ายภาพทำข่าวน้ำท่วม พวกนี้จะเครียดมาก เพราะไม่ได้ภาพธรรมชาติอย่างที่คาดหวัง เนื่องจากคนไทยเวลาเห็นกล้อง ก็ยิ้มใส่กล้อง แล้วทำท่าชูสองนิ้วให้ถ่ายรูป คนไทยมีวิธีคิดที่ไม่ซีเรียส หากถามว่าเป็นจุดอ่อนไหม ผมว่าเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน ในแง่หนึ่งทำให้คนในสังคมไม่ทุกข์จนเกินไป ทั้งๆ ถูกน้ำท่วม ก็ไม่ค่อยหดหู่ซึมเศร้า จริงๆ แล้วตายเพราะถูกไฟช็อตมากกว่าซึมเศร้า แต่ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นจุดอ่อน  คนไทยไม่ได้จริงจังกับหลายเรื่องที่ควรจะจริงจัง

โดย : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
กรุงเทพธุรกิจ  13 ธันวาคม 2554

8334
สำหรับพ่อแม่ที่ไม่ใส่ใจ และปล่อยให้ลูกรับประทานมากเกินไปในวัยเด็ก พิจารณาข่าวนี้กันให้ดี เพราะนักวิชาการสภาบันโภชนาการออกมาเตือนว่า หากเด็กทานอาหารมากเกินไป นอกจากปัญหาโรคอ้วนแล้ว อาจทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Metabolic Syndrome จากภาวะอ้วนลงพุงในวัยรุ่นได้ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่น ๆ ตามมา นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม
       
        ดร.อุรุวรรณ แย้มบริสุทธิ์ นักวิจัยประจำหน่วยมนุษยโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ภาวะอ้วนของเด็กไทยทั้งในเด็กเล็ก และเด็กโตมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกจากสาเหตุปัจจัยจากพันธุกรรมแล้ว การบริโภคอาหารที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาภาวะอ้วนลงพุง และ Metabolic Syndrome ซึ่งเป็นกลุ่มภาวะผิดปกติของร่างกายก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน แล้วในที่สุดจะนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่
       
       โดยภาวะ Metabolic Syndrome นั้น ประกอบด้วยกลุ่มอาการหลายอย่างรวมกัน คือ เด็กและวัยรุ่นจะอ้วน และมีค่าเส้นรอบเอวมากเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งใช้เป็นดัชนีคัดกรองตัวแรก เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งจะมีภาวะดื้ออินซูลิน นอกจากนี้ยังมีภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ภาวะ High-density lipoprotein cholesterol (HDL-C) ต่ำอีกด้วย เมื่อตรวจพบสิ่งเหล่านี้ แสดงว่าผู้ป่วยมีปัญหา Metabolic Syndrome ส่งผลต่อความผิดปกติของระบบการเผาผลาญในร่างกายเพิ่มขึ้น
       
       สำหรับกลไกการเกิดภาวะ Metabolic Syndrome นั้น เกิดจากปัจจัยหลัก 2 ส่วน คือ ภาวะอ้วน และภาวะดื้อต่ออินซูลิน โดยมีภาวะอ้วนเป็นปัจจัยพื้นฐาน ผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นที่มีภาวะอ้วนจะมีการสะสมเนื้อเยื่อไขมันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันตัวเซลล์ไขมันเองก็มีการขยายขนาดและสร้างสารที่ทำให้ร่างกายเกิดกระบวนการอักเสบตามมา ทำให้ร่างกายมีการอักเสบเพิ่มขึ้น และยาวนานขึ้น ยิ่งมีภาวะอ้วนลงพุงด้วยแล้วจะมีเนื้อเยื่อไขมันสะสมบริเวณพุงและอวัยวะภายในมากกว่าตำแหน่งอื่น ๆ ทำให้มีการปล่อยกรดไขมันอิสระออกมาจำนวนมากและไปสะสมตามเนื้อเยื่อตับ และตับอ่อน ทำให้อินซูลินทำงานไม่ปกติ จึงไม่สามารถพาน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้ เกิดปัญหาภาวะดื้อต่ออินซูลิน แม้อินซูลินจะผลิตฮอร์โมนออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ฮอร์โมนเหล่านั้นก็ไม่สามารถออกฤทธิ์ต่อเซลล์ได้อย่างเต็มที่
       
       นอกจากนี้ ภาวะดื้อต่ออินซูลินยังมีผลต่อการยับยั้งภาวะการสลายไขมันในเนื้อเยื่อไขมันด้วย ทำให้กรดไขมันอิสระในเลือดเพิ่มมากขึ้น เกิดไขมันสะสมที่ตับ และระบบการทำงานของตับเสื่อมลง ทั้งยังทำให้เยื้อบุผนังหลอดเลือดทำงานผิดปกติ และมีการเพิ่มขึ้นของ Fibrinogen และสาร PAI-1 และสะสมในหลอดเลือด เกิดหลอดเลือดแดงแข็งตามมาด้วย
       
       ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าว นักวิจัยประจำหน่วยมนุษยโภชนาการท่านนี้ ฝากถึงพ่อแม่ทุก ๆ ท่านว่า ควรเน้นที่การป้องกันไม่ให้เด็กมีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกินตั้งแต่ต้นมากกว่าการรักษา หากมีภาวะอ้วน การที่จะควบคุมน้ำหนักได้ถือเป็นเรื่องที่ยาก แม้จะทำให้สำเร็จแต่ก็ควบคุมได้ในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เมื่อหยุดการควบคุม เด็กก็จะกลับมาอ้วนอีกครั้ง ฉะนั้นการป้องกันไม่ให้เด็กอ้วนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
       
       "พ่อแม่ควรดูแลเอาใจใส่ต่อสุขภาพเด็ก โดยเริ่มให้อาหารเสริมตามวัยควบคู่ไปด้วยเมื่อเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป และควรระวังเรื่องคุณภาพของอาหารเสริมด้วย เพราะถ้าเป็นอาหารเสริมที่คุณภาพไม่ดี หรือมีแคลอรีมากเกินไปอาจส่งผลทำให้น้ำหนักมากเกินได้ แต่โดยทั่วไปแล้วในช่วงวัยแรกเกิดถึง 2 ปีไม่ควรจำกัดอาหารไขมันมากนัก เพราะอาจมีผลต่อการเจริญเติบโตได้ แต่ยังต้องควบคุมการให้นม และอาหารที่มีรสหวานไม่ให้มากเกินไป เพราะทำให้เด็กมีน้ำหนักเพิ่มง่าย และติดรสหวาน รวมทั้งอาหารที่มีรสเค็มจัดซึ่งเป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูง" นักวิจัยประจำหน่วยมนุษยโภชนาการให้แนวทางเพื่อการป้องกัน
       
       นักวิจัยประจำหน่วยมนุษยโภชนาการ แนะนำเพิ่มเติมว่า ในมื้ออาหารแต่ละวัน ควรมีเมนูผักทุกวันเพื่อให้เด็กเคยชินกับการบริโภคผักด้วย เนื่องจากผักให้วิตามินและแร่ธาตุช่วยลดปัญหาท้องผูก ส่วนอาหารว่างระหว่างมื้อ แนะนำให้เป็นผลไม้ที่ให้กากใย และไม่หวานมากนัก เช่น มะละกอสุก ฝรั่ง ชมพู่ เงาะ เป็นต้น นอกจากนี้ เด็กควรได้ดื่มนมเพื่อสะสมแคลเซียมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เด็กจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่เพื่อช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง
       
       ในส่วนของลูกวัยรุ่นนั้น พยายามให้เด็กรับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมื้อเช้า เพื่อให้ร่างกายสามารถนำพลังงานไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม แต่ควรลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก อาหารหวาน น้ำอัดลม และควรพากันออกกำลังกายโดยเน้นการออกกำลังกายที่มีความกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างเหมาะสมซึ่งจะช่วยให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง
       
       โรคต่าง ๆ ที่เกิดจากภาวะ Metabolic Syndrome คงไม่มีพ่อแม่ท่านใดปรารถนาอยากให้เกิดกับลูกของตัวเอง แต่เชื่อเถอะครับว่า หากเราเรียนรู้ในการป้องกันพร้อมปรับพฤติกรรมการบริโภคและพากันออกกำลังกายให้เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ โรคเหล่านี้ก็จะไม่ย่างกรายเข้ามาอย่างแน่นอนครับ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    13 ธันวาคม 2554

8335
ซูซาน ลันด์ แห่งสถาบันวิจัยแมกคินซีย์ โกบอล เสนอรายงานการวิจัยอันบ่งชี้ว่า ภายในปี 2563 อีก 10 ปีข้างหน้า โฉมหน้าของเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนแปลงไปราวหน้ามือเป็นหลังมือ

อาชีพทำเงินแห่งโลกอนาคตจะเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้น มีอิสระมากขึ้น

อาชีพนักสถิติจะเป็นอาชีพทำเงินอันดับต้นๆ ในทศวรรษหน้า การลงพื้นที่สำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติไม่เพียงแต่จะถูกใช้ในงานวิชาการ แต่ยังก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลแก่แวดวงธุรกิจ

อีกหนึ่งอาชีพในฝันที่จะสร้างรายได้คือ อาชีพนักวางระบบรักษาความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ ทำหน้าที่ป้องกันการเจาะข้อมูลของเฮกเกอร์

คาดกันว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นถึง 10 เท่า

ขณะเดียวกัน การจดสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นขึ้นใหม่ จะกลายเป็นสาระสำคัญ ก็เพราะอย่างนี้ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านการจดสิทธิบัตรจะเป็นอาชีพฮิตฮ็อตในทศวรรษหน้า

ทศวรรษหน้าจะเกิดวิกฤตผู้สูงอายุ โลกจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมคนแก่ 1 ในอาชีพที่จะมาแรง เป็นพนักงานดูแลผู้สูงอายุ

ตลาดแรงงานจะต้องการคนดูแลผู้สูงอายุอีกหลายล้านคน ในปี 2573

ที่ปรึกษาด้านพันธุกรรมเป็นอีก 1 อาชีพ ที่คาดว่าจะสามารถทำรายได้เฉลี่ยปีละ 63,700 เหรียญสหรัฐ หรืออาจสูงถึง 150,000 เหรียญสหรัฐ

อีกอาชีพหนึ่งที่มาพร้อมกับประชากรโลกที่จะเพิ่มจาก 7,000 ล้านคนในปี 2554 และภายในปี 2593 ประชากรโลกจะเพิ่มมากกว่า 9,000 ล้านคน คาดว่าร้อยละ 80 ของชาวโลกที่อาศัยอยู่ในเมืองจะมีปัญหาวิกฤตขาดแคลนอาหาร

ทำให้เกิดอาชีพใหม่คือเกษตรกรแนวดิ่ง ทำหน้าที่ย้ายการผลิตจากชนบทสู่ตึกระฟ้าในเมือง เป็นการทำไร่บนตึกสูง



ที่มา : มิสแซฟไฟร์ คอลัมน์ คนดังอะราวด์เดอะเวิลด์ "6 อาชีพทำเงินแห่งโลกอนาคต", ไทยรัฐ, 26 พฤศจิกายน 2554

8336
เมื่อวันที่8ธ.ค. นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ ได้ออกระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.  2554
 
ทั้งนี้  เพื่อเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับค่าตอบแทนของบุคลากร ภาครัฐ และเหมาะสมกับสภาวะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยอาศัยอำนาจตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 217 พระราชบัญญัติสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2552 มาตรา 6 (2) และ (10) และระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2554 ข้อ 4

สำหรับค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 27,500 บาทต่อเดือน (จำนวน 1 อัตรา)

ค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 27,500 บาทต่อเดือน (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนละไม่เกิน 1 อัตรา)

ค่าตอบแทนของผู้ช่วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 19,800 บาทต่อเดือน (จำนวน 1 อัตรา)

ค่าตอบแทนของผู้ช่วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 19,800 บาทต่อเดือน (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนละไม่เกิน 1 อัตรา)

มติชนออนไลน์  12 ธันวาคม พ.ศ. 2554

8337
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ว่า นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยบอสตัน และผู้เชี่ยวชาญแห่งห้องทดลองประสาทวิทยาการคอมพิวเตอร์ ATR ในกรุงโตเกียว ญี่ปุ่น เปิดเผยร่วมว่า ในอนาคตข้างหน้า มนุษย์อาจสามารถดาวน์โหลด"ความรู้"หรือ"ทักษะต่างๆ"เช่น การขับเครื่องบิน การพูดภาษาใหม่ ๆ ได้ เพียงนั่งหน้าคอมพิวเตอร์แล้วดาวน์โหลดความรู้เหล่านี้เข้าไปยังสมอง

รายงานระบุว่า ขณะนี้ กลุ่มได้ศึกษาการทำงานเครื่องกระจายพลังงานแม่เหล็ก ที่สามารถชักนำความรู้เข้าไปยังสมองส่วนประสาทตาได้ ด้วยการส่งสัญญาณที่สามารถเปลี่ยนแบบแผนของกิจกรรมปกติ โดยหากสามารถยับยั้งโมเลกุลชื่อว่า"PKR"ได้ จะทำให้สมองสามารถรับรู้ทักษะจากการส่งผ่านจากภายนอก ที่จะนำไปสู่การสร้างความทรงจำระยะยาวของสมองระดับผู้ใหญ่ และหากโมเลกุลดังกล่าวสามารถถูกปิดกั้นได้ จะทำให้นักวิทย์อาจสามารถใช้ยายกระดับความรู้"เพื่อปลูกทักษะทางสมองดังกล่าวได้ด้วย

ดร.เมาโร คอสต้า แมตติโอลิ กล่าวว่า นับเป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์มาก ๆที่มนุษย์สามารถยกระดับความทรงจำและกิจกรรมทางวสมองได้ด้วยยาที่จะไปมีผลกระทบต่อโมเลกุล"PRK"โดยเฉพาะ โดยปกติแล้ว ตัวตนและความเป็นพิเศษของมนุษย์ถูกสร้างจากความทรงจำ และโมเลกุลดังกล่าวยังอาจเป็นกุญไปสู่การไขปริศนาว่าเพราะเหตุใดมนุษย์ถึงมีความจำที่ยืนยาว รวมทั้งการสร้างการทรงจำใหม่ขึ้นมา

มติชนออนไลน์ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2554

8338
มหาวิทยาลัยขอน​แก่น (มข.) จัด​โครง​การฝึกภาคสนามร่วม ครั้งที่ 29 ​โดยมีนักศึกษาจาก 4 คณะ ​ได้​แก่ คณะ​แพทยศาสตร์ คณะสัตว​แพทยศาสตร์ คณะทันต​แพทยศาสตร์ คณะ​เทคนิค​การ​แพทย์ คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิต​เอ​เชีย รวม จำนวน 617 คน ณ หมู่บ้านตำบลหนอง​เรือ ​และตำบล​โคก​ใหญ่ อำ​เภอ​โนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ​ซึ่ง​เสร็จสิ้น​โครง​การ​ไป​เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมา

​การดำ​เนิน​โครง​การฝึกภาคสนามดังกล่าว อยู่ภาย​ใต้​การดู​แลของคณะ​ผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอน​แก่น นำ​โดย รศ.ดร.กิตติชัย ​ไตรรัตนศิริชัย อธิ​การบดี พร้อมด้วย ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ รองอธิ​การบดีฝ่ายวิจัย​และ​การถ่ายทอด​เทค​โน​โลยี ผศ.วิชัย ณีรัตนพันธุ์ ที่ปรึกษาฝ่ายศิลปวัฒนธรรม ศ.นพ.ภิ​เศก ลุมพิกานนท์ คณบดีคณะ​แพทยศาสตร์ ​และ​ผู้บริหารวิทยาลัยบัณฑิต​เอ​เซีย ที่​ได้​เดินทาง​ไปร่วม​โครง​การ​เพื่อรับฟัง​การ​เสนอผลงานพร้อม​ให้​โอวาท​แก่นักศึกษา​ในพื้นที่

รศ.ดร.กิตติชัย ​ไตรรัตนศิริชัย อธิ​การบดี ​ได้ขอ​ให้นักศึกษา​เ​ก็บ​เกี่ยวประสบ​การณ์อันมีค่าของชีวิต​ในครั้งนี้​ไป​เพื่อ​การปรับ​ใช้​ใน​การศึกษา ​และ​ให้จดจำ​ถึงน้ำ​ใจ​ไมตรีของ​ผู้คน​ในชนบท ที่ช่วยสั่งสอน​ให้​เรา​ได้​เกิด​ความรู้ ​ความ​เข้า​ใจ​ในวิถีชีวิตจริง ​และจงนึก​ถึงประชาชน​ในยามที่​ได้ออก​ไป สู่สังคมด้วย

ผศ.​ไมตรี ปะ​การะสังข์ ​ผู้อำนวย​การฝึกภาคสนามร่วม กล่าวว่า ผลจาก​การดำ​เนิน​โครง​การ ถือว่านักศึกษา​ได้​เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดี มี​การ​ทำงาน ที่​เข้า​ถึงชุมชน​ทั้ง​ในด้าน​การศึกษาชุมชนตาม​โครง​การที่​ได้​เตรียม​ไว้​และ​การ​ใช้ชีวิตประจำวัน ​ซึ่ง​ได้รับ​ความร่วมมือจากชุมชน​เป็นอย่างดี สิ่งที่ภาคภูมิ​ใจคือ​ความร่วมมือของคณะวิชา​ในศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพที่ส่งนักศึกษา​เข้ามาร่วม ​การฝึกครบทุกคณะ ​เชื่อว่า​การฝึก​เช่นนี้ยัง​เป็นประ​โยชน์ต่อนักศึกษา ​โดย​เฉพาะ​ใน​เรื่องประสบ​การณ์ของ​การบูรณา​การสหสาขาวิชาระหว่างกัน

นายประ​เสริฐ สมสันต์ ​ผู้​ใหญ่บ้าน ​โคกป่ากุง หมู่ 2 ต.หนอง​เรือ อ.​โนนสัง จ.หนองบัวลำภู กล่าวว่า นับว่า​เป็น​โครง​การที่ดีที่นำนักศึกษาลงมา​ในชุมชน ​ซึ่งคน​ในชุมชน​ก็​ได้รับประ​โยชน์​เป็น​ความรู้​ใน​เรื่องสุขภาพ ​การดู​แลตัว​เอง ส่วนนักศึกษา​ก็จะ​ได้​เข้า​ใจชีวิตของคนชนบท​เพื่อจะ​ได้​เป็น​ความรู้​ในตอนที่​เรียนจบออก​ไป​ทำงานว่าคนชนบท​ใช้ชีวิตอยู่กินกันอย่าง​ไร ​ได้​เข้า​ใจคนชนบทมากขึ้น ​ซึ่ง​การ​เข้ามา​ในพื้นที่นั้นชุมชน​ก็​ให้​การต้อนรับ​เหมือนลูกหลานนักศึกษา ​ก็มี​การ​แสดงออกที่​เรียบร้อย

นางพอง ทองสา ชาวบ้านหนองตานา กล่าวว่า นักศึกษามี​ความประพฤติดีทุกคน มา อยู่ด้วยรู้สึกดี​ใจพวก​เขา​ใช้ชีวิตที่​ไม่สร้าง​ความลำบาก​ให้ชาวบ้าน​แต่มา​ทำงาน​ให้ชาวบ้าน​ได้มี​ความรู้ อยาก​ให้มีมาฝึกกันบ่อยๆ

นางหนู พุมพะ​โว ชาวบ้านหนองตานา กล่าวว่า ยินดี​ให้​การต้อนรับลูกๆ หลานๆ ทุกคน ​การมาอยู่อาศัย​ในหมู่บ้าน​ทำ​ให้ที่นี่​ไม่​เงียบ​เหงามี​ความสุข​และยัง​ได้​ความรู้อีกด้วย ​ในช่วง 2 วันสุดท้ายของ​การฝึก​เป็นกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ ที่​ได้​เห็น​การ​ทำกิจกรรมสันทนา​การระหว่างชาวบ้าน​และนักศึกษาด้วย​การ​แข่งขันกีฬา มีชาวบ้าน ​ผู้อาวุ​โส ​และ​ผู้นำชุมชนมาร่วมชมร่วม​เชียร์ด้วย​ความสนุกสนาน ​โดยท่านอธิ​การบดียัง​ให้​เกียรติ​เป็นประธาน​เปิด​การ​แข่งขันฟุตบอลกระชับมิตรอีกด้วย

น.ส.ดวง​แข กุลชูศักดิ์ นักศึกษา​เทคนิค​การ​แพทย์ชั้นปีที่ 4 กล่าวว่า ผลของกิจกรรม ​เป็น​ไป​ได้ด้วยดีอย่างที่ตั้ง​ใจ​ไว้ ​เพราะ​ได้ร่วมกัน ​เตรียม​การวาง​แผน​และหาข้อมูลมาก่อน​แล้ว​จึง​ไม่มีปัญหาอะ​ไรมากนัก ​ใน​เรื่องประสบ​การณ์จาก​การฝึกถือว่า​ได้สิ่งที่มีค่ามาก บางครั้งที่​เรา​เรียน​ในห้อง​เรียนอาจ​ใช้​ไม่​ได้​โดยตรงกับ​การ​ทำงานจริง ต้องลงมา​เรียนรู้​และปรับ​ใช้ ​โดย​ทำ​ความ​เข้า​ใจวิถีของชุมชน ​เป็นสิ่งจำ​เป็นอย่างยิ่งที่นักศึกษา​ในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพต้อง​เรียนรู้​เพื่อ​การออก​ไป​ทำงานกับชุมชน​ในอนาคต อยาก​ให้คณะวิชาต่างๆ ​ในมหาวิทยาลัย​ได้มี​โอกาส​เข้าร่วม​การฝึก ​เช่นนี้

​แนวหน้า  12 ธันวาคม 2554

8339
เร่งพัฒนา 9,726 รพ.สต. 215 ศูนย์สุขภาพเมือง  ช่วยลดความแออัด ผู้ป่วย รพ.ใหญ่ครึ่งหนึ่ง‏ หวังอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนไม่ต้องรอคิวยาว
       
                     
       วันนี้ (12 ธ.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ไพจิตร์  วราชิต ปลัด สธ.  เปิดศูนย์แพทย์ชุมชนดอนยอ ต.คูหาสวรรค์ อ.เมือง จ.พัทลุง ซึ่งเป็นเครือข่ายบริการแห่งที่ 3 ของโรงพยาบาลพัทลุง   หลังเปิดไปแล้ว 2 แห่ง คือ ที่ศูนย์แพทย์ชุมชนท่ามิหรำ และศูนย์แพทย์ชุมชนคูหาสวรรค์  จากนั้นเดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลพัทลุง และไปที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เพื่อติดตามความก้าวหน้าการตั้งศูนย์การศึกษาและบริการทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัย
       
       
       นายวิทยากล่าวว่า ปัญหาบริการสุขภาพที่ต้องเร่งแก้ไขขณะนี้มี 5 เรื่อง คือ การเข้าถึงบริการ ระบบการส่งต่อผู้ป่วย ประชาชนพึ่งพิงโรงพยาบาลไม่พึ่งตนเอง  โรงพยาบาล (รพ.) ใหญ่แออัด และบริการของหน่วยบริการพื้นฐานยังมีข้อจำกัด รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเร่งพัฒนาระบบริการทุกระดับทั้งเขตเมืองและชนบทให้เพียงพอ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการใกล้บ้านและมีคุณภาพ และลดปัญหาแออัดของผู้ป่วยที่แผนกผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 95 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้คิวยาวตรวจรักษาแห่งละ 1,500-2,000 รายต่อวัน ประมาณร้อยละ 40 เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คือ โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง หากผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการดูแลรักษาไม่ดีพอก็จะเกิดโรคแทรกอื่นตามมาอีก เช่น โรคหัวใจ ไตวาย และผู้ป่วยอีกประมาณร้อยละ 70 ป่วยไม่รุนแรง   จึงต้องเร่งพัฒนาระบบบริการ และการบริหารจัดการควบคู่กัน
       
       
       นายวิทยากล่าวต่อว่า ในปี 2555 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าหมายลดปัญหาแออัดผู้ป่วยนอก  โดยพัฒนาหน่วยบริการใกล้บ้าน  ในเขตชนบท คือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่มี  9,726 แห่ง  ส่วนในเขตอ.เมือง ซึ่งที่ผ่านมาจะมีเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่คือโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป  ก็จะตั้งศูนย์สุขภาพเมืองเพิ่มอำเภอละ 2-3 แห่ง มีแพทย์ มีห้องแล็บ อุปกรณ์การแพทย์อื่นๆ ที่จำเป็น   รวมทั้งหมด 215 แห่ง   เป็นหน่วยบริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกทั่วไป  และผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องไปพบแพทย์ตามนัด โดยจะให้โรงพยาบาลทุกแห่งเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยในพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลผ่านในระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์  รวมทั้งการให้เจ้าหน้าที่และอสม.ออกเยี่ยมผู้ป่วยเรื้อรังที่อาการทรงตัวและนอนรักษาที่บ้านเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ  มั่นใจว่าระบบดังกล่าว จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้เร็ว ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลใหญ่      คาดว่าจะสามารถลดความแออัดผู้ป่วยไปใช้บริการในโรงพยาบาลใหญ่ลงได้ 50 เปอร์เซ็นต์
       
       นพ.ไพจิตร์  วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ในปี 2555 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 1,000 แห่ง ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นหน่วยทหารราบ  ให้มีความเข้มแข็ง เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพคุณภาพ  เป็นที่เชื่อมั่นและการยอมรับของประชาชนในพื้นที่  และเป็นต้นแบบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศ  หัวใจของการให้บริการหลักคือการสร้างสุขภาพนำซ่อมสุขภาพ โดยมีการเพิ่มกำลังคน และพัฒนาองค์ความรู้เจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการต่างๆเพื่อให้เป็นนักสุขภาพประจำครอบครัว  ออกเยี่ยมบ้านให้ได้ร้อยละ 80 ของงานบริการ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะรู้ปัญหาสุขภาพทุกครอบครัว  และมีระบบดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูงทุกราย ซึ่งขณะนี้ทั่วประเทศมีประมาณ 3 ล้านคน   ไม่ให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนเช่นไตวาย ตาบอด  ขณะเดี่ยวกันจะตรวจคัดกรองสุขภาพประชาชนในพื้นที่ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปร่วมกับอสม.  เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงเช่นการออกกำลังกาย การกินอาหาร  ป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้น ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  มั่นใจว่าทิศทางดังกล่าวจะลดจำนวนผู้ป่วยเรื้อรังในประเทศไทยในอนาคตได้สำเร็จ     

ASTV ออนไลน์ 12 ธค 2554

8340
 ชู“มะขามป้อม-ขิง-ใบกระเพรา-ตะไคร้- ฟ้าทะลายโจร” สมุนไพรลดอาการป่วยหน้าหนาว ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น
       
       ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม และหัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์การแพทย์ไทยอภัยภูเบศร รพ.จ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า หน้าหนาวนี้อากาศเริ่มเย็นลง หลายคนป่วยด้วยไข้หวัด บ้างก็ไอ จาม วิธีป้องกันอาการเหล่านี้ นอกจากดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ทำร่างกายให้อบอุ่น ออกกำลังกายเป็นประจำพักผ่อนให้เพียงพอแล้ว การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ก็เป็นสิ่งสำคัญ รวมไปถึงการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน อย่างวิตามินซี วิตามินอี ซึ่งมีมากใน “มะขามป้อม” ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้หลอดลมแห้งในช่วงหน้าหนาวชุ่มชื้นขึ้น ซึ่งปัญหาหลอดลมแห้งจะทำให้เวลาหายใจเสี่ยงนำเชื้อโรคเข้าไปง่ายขึ้น ส่วนสมุนไพรอื่นๆ ที่ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น อาทิ ขิง ใบกระเพรา ตะไคร้ สมุนไพรเหล่านี้มีฤทธิ์เผ็ดร้อน ช่วยป้องกันอาการหวัดได้เช่นกัน
       
       ด้านนพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า “ฟ้าทะลายโจร” เป็นสมุนไพรอีกอย่างที่ช่วยบรรเทาอาการหวัด และเสริมภูมิต้านทานดีกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในคนที่เป็นหวัดและ ร้อนในบ่อยๆ แต่ไม่ควรทานเป็นสัปดาห์ก็อาจส่งผลต่อระบบลำไส้ โดยตัวยาจะไปทำลายแบคทีเรียชนิดดีของลำไส้ อาจทำให้เกิดอาการย่อยยาก จึงควรหยุดเมื่ออาการดีขึ้น

ASTVผู้จัดการออนไลน์    12 ธันวาคม 2554

หน้า: 1 ... 554 555 [556] 557 558 ... 652