ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.พิจิตรเจอวิกฤตการเงินถึงขั้นทอดผ้าป่าขอบริจาค  (อ่าน 448 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9782
    • ดูรายละเอียด
วิกฤตการเงินโรงพยาบาลพิจิตรขาดสภาพคล่องแพทย์พยาบาลรวมตัวเปิดใจยอมรับติดลบถึงขั้นทอดผ้าป่าขอบริจาคเงินจากผู้ป่วยแบบรายวันชี้ต้นเหตุพร้อมหนุนแก้พรบ.ประกันสุขภาพ
           
วันที่ 28 ก.ค. 2560 นายแพทย์ วิริยะ เอี๊ยวประเสริฐ  ผอ.รพ.พิจิตร พร้อมคณะแพทย์พยาบาลที่เป็นระดับบริหารจำนวนเกือบ 20 คน ร่วมกันเปิดใจแถลงถึงภาวะวิกฤตการเงินของ รพ.พิจิตร ว่า ทุกวันนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลหรือ สป.สช.แบบรายหัวประมาณ 3,000 บาทต่อคน แต่ต้องถูกเหมารวมรายจ่ายและเงินเดือน เจ้าหน้าที่บุคลากรที่ต้องนำไปหักยอดข้างต้นอีก 2,004 บาท ทำให้เหลือเงินรายหัวเพียงแค่ พันกว่าบาทเท่านั้นจึงทำให้ขาดสภาพคล่องทุกวันนี้ รพ.พิจิตร เป็นหนี้ติดลบมากถึง 198 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดสะสมพัวพันมาหลายปีแต่ยืนยันว่า ได้ทำทุกวิถีทางในการบริหารจัดการไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชน โดยทุกวันนี้ต้องใช้วิธีประชารัฐร่วมใจทอดผ้าป่าสามัคคีขอรับเงินบริจาคจากผู้ป่วย จากผู้ใจบุญ แบบรายวัน ซึ่งก็ได้ตั้งเป็นเงินกองทุนบัญชีผ้าป่าเพื่อบริหารจัดการภายในโรงพยาบาลที่มีรูปแบบเป็นคณะกรรมการคอยตรวจสอบ ซึ่งทุกวันนี้ รพ.พิจิตร มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา อาทิเช่น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง , แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินปัสสาวะต่อมลูกหมาก แต่ทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่ามีบุคลากรมีคุณภาพ แต่ยังขาดเครื่องมือหรืออุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย เหตุเป็นเพราะระบบบริหารจัดการที่ผ่านมาไม่สอดคล้องกับแนวทางของผู้ปฏิบัติ
 
แพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข  หัวหน้ากลุ่มงานแผนกสูตินรีเวช รพ.พิจิตร กล่าวว่า ปัญหาการให้บริการผู้ปฏิบัติรู้ปัญหาแต่เป็นเพียงเสียงสะท้อนจากคนตัวเล็กๆไปไม่ถึงระดับผู้บริหาร ดังนั้นจึงขอเสนอให้แก้ พรบ.หลักประกันสุขภาพในมิติต่างๆ ทั้ง 14 ข้อ ที่เคยเสนอไปแล้วและมี 4 ประเด็นหลักที่แพทย์และพยาบาลของ รพ.พิจิตร อยากเสนอเพราะหลายปีที่ผ่านมางบสนับสนุนที่บอกว่า รพ.พิจิตร ได้ค่าหัว 3,000 บาท แท้ที่จริงหักแล้วเหลือแค่พันกว่าบาทที่จะใช้เพื่อการส่งเสริมป้องกันรักษาผู้ป่วย แต่แพทย์พยาบาลในชนบทก็กัดฟันแก้ไขจนผ่านพ้นวิกฤต จึงทำให้ไม่มีผลกระทบต่อผู้ยากไร้แม้งบประมาณจะไม่พอ แต่ก็ทำให้...ทำให้ดีที่สุดไปมากว่านี้ไม่ได้ เหตุเพราะขาดเงินงบประมาณ

นพ.เสรี วุฒินันท์ชัย หัวหน้ากลุ่มงานกุมารเวชกรรม รพ.พิจิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ควรแยกการเงินและค่าตอบแทนของหน่วยบริการภาครัฐออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัวเพื่อให้มีเงินงบประมาณเท่าเทียมกัน ที่จะให้บริการประชาชน เพราะทุกวันนี้โรงพยาบาลใหญ่ได้มาก โรงพยาบาลเล็กได้น้อย บางแห่งได้แค่เพียง 500 บาท ต่อ หัว ซึ่งทำให้ไม่เสมอภาค ทั้งๆที่สิทธิผู้ป่วยและสิทธิของแพทย์พยาบาลควรเท่าเทียมกันทั่วประเทศ แต่ทุกวันนี้หาเป็นเช่นนั้นไม่
 
นายแพทย์วิศิษฎ์  อภิสิทธิ์วิทยา ผอ.รพ.บางมูลนาก-ดงเจริญ ที่เรียกตนเองว่า “หมอบ้านนอก” เกิดและเติบโตเป็นหมอในจังหวัดพิจิตรบ้านเกิด กล่าวเสริมว่า ควรปรับปรุง พรบ.ประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เสมอภาคและเท่าเทียมกัน “ประชาชนต้องมีสุขภาพที่ดีขึ้น เจ้าหน้าที่มีความสุข ปรับปรุงก้าวไปข้างหน้าเปลี่ยนแปลงเพื่อให้วงการแพทย์และการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนให้ดีขึ้น”

แพทย์หญิงเพ็ญศรี  มโนวชิรสรรค์  รองฯ ผอ.ด้านปฐมภูมิและทุติยภูมิ รพ.พิจิตร กล่าวเสริมอีกว่าทุกวันนี้สังคมผู้สูงอายุมีมากขึ้นการเจ็บไข้ได้ป่วยก็มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเกือบ 20 % เป็นผู้สูงอายุ ป่วยติดบ้านติดเตียงมีค่าใช้จ่าย-ค่ายา-ค่าดูแลรักษาอื่นๆอีกมากมาย แต่บางครั้งก็ติดด้วยระเบียบการเบิกจ่าย วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับปรุงระบบการบริหารด้วยการแก้ไข พรบ.ประกันสุขภาพ

นายแพทย์ วิริยะ เอี๊ยวประเสริฐ  ผอ.รพ.พิจิตร กล่าวสรุปปิดท้ายว่า วิกฤตปัญหาการเงินที่ส่งผลสะเทือนไปถึงประชาชนเกิดจากระเบียบและข้อกฎหมาย ดังนั้นจึงควรแก้ที่ พรบ.ประกันสุขภาพแล้วให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม มองปัญหาให้รอบด้วยทั้ง รายจ่าย รายรับ  การบริหารจัดการหารายได้ในการให้บริการแบบระบบ “การจ่ายร่วม แต่ไม่ใช่การจ่ายเพิ่ม เช่นการทอดผ้าป่า , การจัดกิจกรรมการกุศล ให้บริการนอกเหนือบัตรทอง เช่น เสริมความงาม อย่างนี้เป็นต้น  นายแพทย์ วิริยะ ผอ.รพ.พิจิตร กล่าวอีกว่า รพ.พิจิตร เป็น รพ.ขนาดใหญ่มี 405 เตียง มีผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ 1,000-1,200 คน มีบุคลากลทุกสาขารวมแล้วประมาณ 1,200 คน คาดว่าก่อนสิ้นปีนี้จะเปิดตึก 6 ชั้นอาคารหลังใหม่ ที่ได้งบประมาณมาเพียงการสร้างอาคารแต่ยังขาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญอีกหลายรายการ ซึ่งยอมรับว่า จะต้องหาเงินจากผู้บริจาคเพื่อทำห้อง ICU หรือผู้ป่วยฉุกเฉินที่ตามมาตรฐานต้องมี 10% หรือ 40 เตียง แต่ทุกวันนี้มีแค่ 12 เตียง รวมถึงห้องผ่าตัดก็มีเพียงแค่ 9 ห้อง ใช้มาหลายสิบปี ทุกวันนี้มีผู้ป่วยมีคนไข้ฉุกเฉินจะต้องผ่าตัด แพทย์ก็ต้องเข้าคิวแย่งห้องผ่าตัดกันเหมือนแย่งเก้าอี้ดนตรี ดังนั้นปัญหาเช่นนี้รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข สปสช. และประชาชนควรต้องรับรู้และหันหน้าเข้าหากันเพื่อปรึกษาหารือหาแนวทางแก้ไข เพื่อส่งเสริม ป้องกัน รักษา โรคภัยไข้เจ็บของประชาชนอย่างมีคุณภาพให้ดี ให้ได้ ต่อไป

บ้านเมือง  28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560