ผู้เขียน หัวข้อ: หมอยัน “หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองแตกในช่องอก” พบน้อย ไม่มีอาการ มักพบในคนแก่  (อ่าน 523 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9779
    • ดูรายละเอียด
หมอ รพ.เด็ก เผย “โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องอกแตก” มักพบในผู้มีความดันสูง ผู้สูงอายุ อัตราเกิด 5-30 ต่อ 1 ล้านประชากร ระบุ ทำงานมา 30 ปี เจอเด็กป่วยโรคนี้แค่คนเดียว ชี้ ไม่มีอาการแทรกซ้อน
       
       จากกรณีดรามาเด็กชายวัย 15 ปี มารักษาพยาบาลด้วยอาการปวดท้อง โดยญาติร้องว่าบุคลากรทางการแพทย์ปล่อยให้รอจนเกิดภาวะช็อกแล้วเสียชีวิต โดยสาเหตุมาจากอาการเส้นเลือดใหญ่โป่งพองในช่องอกแตก
       
       นพ.ชัยสิทธิ์ แสงทวีสิน นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า อาการ “หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองแตก” หรือการฉีดขาดของหลอดเลือดแดงใหญ่ Aorta นั้น เป็นโรคที่เกี่ยวกับผนังหลอดเลือด ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ มีโอกาสทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว แม้จะได้รับการรักษาทันท่วงทีก็ตาม โรคนี้ถ้าไม่มีอาการอะไรแทรกซ้อน อาจจะไม่มีอาการใดๆ แสดงออกมา แต่จะพบโรคโดยเอกซเรย์ปอด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แบบฉีดสีดูเส้นเลือด ในกลุ่มที่มีอาการ อาการที่มาพบแพทย์ จะปวดที่หน้าอก ท้อง หรือไหล่แบบรุนแรง เหมือนถูกแทง หรือฉีกอวัยวะ ทำให้คนไข้ซีด ช็อก และเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว การรักษาในกรณีที่การฉีกของผนังหลอดเลือดยังไม่แตกทะลุทำได้ 2 วิธี คือ การผ่าตัด และการสอดสายสวนเข้าหลอดเลือด เพื่อใส่ท่อลวดค้ำยันบริเวณหลอดเลือดที่มีปัญหา แต่ในกรณีที่มีการฉีกขาดของหลอดเลือดออกสู่ช่องอกหรือช่องท้องแล้ว จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อใส่หลอดเลือดเทียมโดยมีโอกาสรอดน้อยกว่าร้อยละ 50
       
       นพ.ชัยสิทธิ์ กล่าวว่า จากข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกา โรคนี้พบได้น้อยมาก มีอัตราการเกิดโรคอยู่ที่ 5-30 ต่อ 1 ล้านประชากร และโรคนี้มักเจอในผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 50-70 ปี เป็นโรคแทรกซ้อนจากหลอดเลือดแข็ง สาเหตุมาจากอายุมาก หลอดเลือดเสื่อม ความดันโลหิตสูง หรือกลุ่มที่สูบบุหรี่ หรือเป็นโรคเบาหวาน ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดแข็ง จนส่งผลให้หลอดเลือดอ่อนแอลง สาเหตุส่วนใหญ่ที่สามารถเกิดโรคนี้ได้ คือ “กรรมพันธุ์” หรือหลอดเลือดในร่างกายอักเสบจะด้วยสาเหตุใดก็แล้วแต่นำไปสู่การโป่งพอง หรือเกิดจากอุบัติเหตุที่นำไปสู่การกระแทกที่รุนแรง จนทำให้ผนังหลอดเลือดบอบบางผิดปกติและโป่งพอง
       
       “จากการทำงานโรคหัวใจมาประมาณ 30 ปี ในไทยพบโรคในเด็กเพียง 1 รายเท่านั้น ที่สำคัญ การรักษาต้องเป็นสถานที่ที่มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย แนะประชาชนหมั่นตรวจสุขภาพ ออกกำลังกาย ลดอาหาร หวานจัด มันเค็ม หากมีอาการผิดปกติ รีบพบแพทย์ โดยด่วน” นพ.ชัยสิทธิ์ กล่าว

โดย MGR Online       24 กรกฎาคม 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9779
    • ดูรายละเอียด
 รมว.สธ. เสียใจเหตุเด็ก 15 ปี รอคิวเสียชีวิต เหตุเป็นโรคหายาก พบไม่บ่อย ขออย่าวิตก “รอคิวจนตาย” พร้อมปรับปรุงระบบบริการให้เร็วขึ้น ขอ ปชช. เข้าใจจำนวนบุคลากรน้อย แต่ภาระงานมาก
       
       จากกรณีดรามาเด็กชายวัย 15 ปี มารักษาพยาบาลด้วยอาการปวดท้อง โดยญาติร้องว่าบุคลากรทางการแพทย์ปล่อยให้รอจนเกิดภาวะช็อกแล้วเสียชีวิต โดยสาเหตุมาจากอาการเส้นเลือดใหญ่โป่งพองในช่องอกแตก ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการรอคิวรักษาในโรงพยาบาล
       
       นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม โรคที่เป็นนั้นเกิดขึ้นได้ยาก และไม่ได้พบได้บ่อย บางครั้งในชีวิตของแพทย์บางคนอาจไม่พบเลย จึงไม่อยากให้ประชาชนมองเป็นตัวอย่าง ว่า หากรอนานจะมีผลเสีย เพราะระบบของการแพทย์ทั่วโลกทุกคนต้องรอคิว แต่สิ่งที่สำคัญคือกระบวนการคัดกรอง ซึ่ง สธ. ได้ดำเนินการในเรื่องนี้ โดยเมื่อไปถึงสถานบริการก่อนที่จะมีการตรวจก็จะมีการวัดความดัน ตรวจชีพจร หากพบความผิดปกติ ก็จะมีการคัดกรองว่า มีความเร่งด่วนมากน้อยหรือพอนั่งรอได้ เป็นต้น
       
       “ผมไม่อยากให้ประชาชนวิตกกังวล ว่า การไปนั่งรอจะต้องเกิดกรณีลักษณะนี้ทุกราย เพราะต้องดูที่อาการมากกว่า และระบบของเราก็มีการคัดกรองก่อน บางครั้งก็จะมีพยาบาลมาคอยสอบถาม อย่างไรก็ตาม หากนั่งรอแล้วเกิดมีอาการไม่พึงประสงค์ก็น่าจะมีช่องทางให้สามารถไปบอกกับเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ทั้ง 2 ฝ่ายต้องเข้าใจกันซึ่งกันและกัน เนื่องจากทุกฝ่ายอยากได้รับบริการที่รวดเร็วและดีที่สุด แต่ก็ต้องเข้าใจในจำนวนของเจ้าหน้าที่ด้วย” รมว.สธ. กล่าว
       
       นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น สธ. พร้อมที่จะปรับปรุงให้ระบบบริการให้ดีขึ้น ซึ่งทุกโรงพยาบาลกำลังหาทางแก้ไข ทั้งเรื่องการเข้าพบแพทย์และได้รับการตรวจที่เร็วที่สุด โดยขณะนี้มีการพัฒนาหลายรูปแบบ อาทิ กระจายระบบการตรวจไม่ให้มากระจุกที่โรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลศูนย์อย่างเดียว โดยตั้งคลินิกหมอครอบครัว ซึ่งตั้งเป้าว่าภายใน 10 ปี จะมีคลินิกหมอครอบครัวรอบโรงพยาบาลขนาดใหญ่สามารถดูแลคัดกรองได้อย่างรวดเร็ว หากมีปัญหาต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลใหญ่ก็สามารถส่งได้โดยตรง ส่วนระบบนัดหมายก็จะใช้เทคโนโลยีที่ทำให้มีความรวดเร็วมากขึ้นเช่นเดียวกับระบบจ่ายยา ซึ่งตนเชื่อว่าโรงพยาบาลทุกสังกัด พยายามที่จะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลที่ดีที่สุด
       
       นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัด สธ. ในฐานะโฆษก สธ. กล่าวว่า ต้องขอแสดงความเสียใจกับทางครอบครัว ส่วนในเรื่องกระบวนการตรวจรักษาของโรงพยาบาลพระจอมเกล้า สธ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะเป็นนโยบายของ สธ. ที่อยากให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพ และได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วมากที่สุด แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพบว่ามีการสูญเสีย สธ. ไม่อยากให้เกิดขึ้น ซึ่งต้องพยายามหาสาเหตุและหาทางแก้ไขต่อไป โดย สธ. ได้มีการตั้งคณะกรรมกรสอบข้อเท็จจริงแล้วว่าการรักษาเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งจะทราบผลภายใน 2 - 3 วัน ส่วนเจ้าหน้าที่ก็น่าเห็นใจ เพราะว่าทำงานหนักอยู่แล้ว
       
       นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตทราบว่าเกิดจากเส้นเลือดใหญ่แตก ซึ่งถือเป็นกรณีที่พบได้น้อยและวินิจฉัยได้ยาก ทั้งยังเกิดขึ้นในเด็กที่พบได้น้อยมากประมาณ 3 - 5 คนต่อประชากรล้านคน และส่วนมากพบในผู้สูงอายุที่มีความดันโลหิตสูงมาก่อน เป็นกลุ่มไขมันพอกเส้นเลือดทำให้เส้นเลือดเปราะบาง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โรคนี้ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษ หรือเครื่องสแกนคอมพิวเตอร์ที่จะทำให้เห็นแบบสามมิติ ไม่สามารถตรวจได้ด้วยวิธีปกติได้ อย่างไรก็ตาม สธ. มีความเป็นห่วงและเห็นถึงความสำคัญในการตรวจวินิจฉัยให้รวดเร็วขึ้น โดยจะมีการกำชับเป็นพิเศษ ทั้งนี้อยากขอความรวมมือประชาชนให้บอกอาการให้ละเอียดทุกครั้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถให้การรักษาที่แม่นยำและรวดเร็วขึ้น ส่วนการช่วยเหลือและการเยียวยานั้นเป็นไปตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ขณะที่ทางโรงพยาบาลก็จะมีการช่วยเหลืออีกทางหนึ่งด้วย
       
       “อยากขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบการให้บริการของ สธ. เพราะแต่ละปีมีการให้บริการประชาชนทั่วประเทศกว่า 100 ล้านคนต่อปี มีการให้บริการเต็มที่ ถึงแม้เจ้าหน้าที่จะมีจำกัด การรอคอยมีบ้างแต่ทางเจ้าหน้าที่ก็จะมีการจัดลำดับความสำคัญให้ อยากให้ประชาชนร่วมมือกันช่วยกัน ความเร่งด่วนใครก็อยากได้แต่เราต้องดูตามความเร่งด่วนของโรค ที่มีวิธีการดูแลทางการแพทย์ดูแลอยู่แล้ว แต่หากเจ้าหน้าที่ทอดทิ้งละเลยประชาชนเรายอมไม่ได้ ส่วนเรื่องการรอทุกคนไปโรงพยาบาลเราก็เห็นใจที่ไม่สบายแล้วต้องไปรอ และเจ้าหน้าที่ก็ให้การดูแลเต็มที่อยู่แล้วอยากให้เห็นใจเจ้าหน้าที่ด้วย” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

โดย MGR Online       24 กรกฎาคม 2560