ผู้เขียน หัวข้อ: ฉลาดแต่ขาดคุณธรรม และ ไม่จริงใจแก้ปัญหา: เหตุให้คอร์รัปชันเพิ่ม  (อ่าน 1333 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
หนังสือพิมพ์รายวันฉบับวันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม 2554 หลายฉบับ ได้ลงข่าวการจัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันโลก ประจำปี 2554 โดยมีคะแนนการไม่คอร์รัปชันเต็ม 10 และผลปรากฏว่าประเทศนิวซีแลนด์ได้ 9.5 คะแนน มากเป็นอันดับหนึ่งในจำนวน 183 ประเทศ
      
        ส่วนประเทศไทยได้ 3.4 คะแนนเป็นอันดับที่ 80 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17 อันดับ และถ้าเปรียบเทียบกับประเทศในเอเชียด้วยกัน ประเทศสิงคโปร์ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง 9.2 คะแนน และประเทศไทยจัดเป็นอันดับ 10 ในจำนวน 26 ประเทศในกลุ่มอาเซียน
      
        เมื่อดูจากคะแนนที่ได้รับ และอันดับที่ได้แล้ว ถือได้ว่าการคอร์รัปชันในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
      
        อะไรเป็นเหตุให้การคอร์รัปชันในประเทศไทยเพิ่มขึ้น และมีแนวทางป้องกันอย่างไรได้บ้าง
      
        ก่อนที่จะตอบปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองมองย้อนไปถึงมูลเหตุพื้นฐานแห่งพฤติกรรมที่เรียกว่าทุจริต คอร์รัปชัน จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็จะพบว่าพฤติกรรมเยี่ยงนี้ได้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมมนุษย์พร้อมกับการเกิดขึ้นของมนุษย์ เพียงแต่มีรูปแบบแห่งการทุจริตแตกต่างกันออกไป กล่าวคือ ในระยะที่การดำรงชีวิตไม่ซับซ้อน และการแย่งกันอยู่แย่งกันกินยังจำกัดอยู่ในเรื่องที่อยู่อาศัยแหล่งทำกิน รวมไปถึงทรัพย์สินเท่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพอย่างง่ายๆ
      
        ดังนั้น พฤติกรรมทุจริตในยุคนั้นก็จะมีแต่ลักทรัพย์ จะเห็นได้จากบัญญัติทางศาสนาในทุกศาสนา จะห้ามลักขโมย เช่น ศีลข้ออทินนาทานของพุทธ และข้อห้ามในศาสนาคริสต์ที่ว่า สูเจ้าจงอย่าขโมยอย่างเด็ดขาด (You Shall Not Steal) เป็นต้น
      
        จากข้อห้ามทางศาสนาที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่าพฤติกรรมทุจริตในยุคที่มนุษย์ยังมีจำกัดอยู่ในเรื่องที่อยู่อาศัย และแหล่งทำมาหากิน การสะสมทรัพย์อื่นใดนอกจากนี้ยังไม่มี การทุจริตก็จะมีเพียงการลักขโมยของกินของใช้เท่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ
      
        มนุษย์ยังไม่มีความต้องการที่หลากหลาย และการแสวงหาสิ่งที่ต้องการก็ไม่ซับซ้อนอย่างในปัจจุบัน เพียงมีข้อห้ามทางศาสนา ประกอบกับมีกฎหมายไว้ป้องกันการทุจริตพื้นๆ ก็ช่วยให้สังคมอยู่อย่างเป็นสุขได้
      
        แต่ครั้นสังคมมนุษย์มีความก้าวหน้าในวัตถุ ความต้องการของมนุษย์มีหลากหลายขึ้น วิธีการแสวงหาสิ่งสนองความต้องการก็ซับซ้อนมากขึ้น ประกอบกับความรู้ ความเข้าใจ และการใส่ใจใฝ่หาคุณธรรม จริยธรรมลดลง จึงทำให้พฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชันเพิ่มขึ้น และมีรูปแบบหลากหลาย ซับซ้อนตามความรู้ ความสามารถของมนุษย์ ดังที่ปรากฏให้เห็นอย่างดาษดื่นในประเทศด้อยพัฒนา หรือแม้กระทั่งในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย รวมทั้งประเทศไทยด้วย
      
        คอร์รัปชันหมายถึงอะไร และทำไมประเทศไทยจึงมีการคอร์รัปชันเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่มีกฎหมายและหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกัน และปราบปรามพฤติกรรมคอร์รัปชันอยู่หลายหน่วยงาน
      
        Oxford Word Power Dictionary ได้ให้ความหมายคำว่า Corruption ไว้ว่า เป็นคำนาม และหมายถึงพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่ไม่ซื่อสัตย์ และผิดศีลธรรม (Dishonest or Immoral Behaviour or Activities) และได้ยกตัวอย่าง มีข้อกล่าวหา Corruption ระหว่างนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายนาย (These Were Accusation of Corruption Among Senior Police Officer)
      
        จากคำอธิบายขยายความ และตัวอย่างข้างต้น ทำให้เข้าใจได้ว่า การจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชันขององค์กรเพื่อความโปร่งใสคงจะจำกัดวงการคอร์รัปชันในภาครัฐ และถ้าความเข้าใจนี้ถูกต้อง ก็พูดได้ว่าการคอร์รัปชันในประเทศไทยอยู่ในขั้นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะถ้าไม่ป้องกันและแก้ไขให้ทันท่วงทีแล้ว ภาวะล่มจมทางเศรษฐกิจคงจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน
      
        คอร์รัปชันในประเทศไทยเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะป้องกันได้ด้วยวิธีการใดบ้าง
      
        การคอร์รัปชันในวงราชการไทยแบ่งเป็น 3 ลักษณะ หรือ 3 ประเภทตามลักษณะงานดังต่อไปนี้
      
        1. การจัดเก็บรายได้ในรูปแบบภาษี และค่าธรรมเนียมต่างๆ โดยมีส่วนราชการในระดับกรมรับผิดชอบ เช่น กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร เป็นต้น
      
        การคอร์รัปชันในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บรายได้ เกิดขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่เอื้ออำนวยให้ผู้ที่จะต้องเสียภาษีมากเสียน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยได้รับสินบนจากผู้เสียภาษี ทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้น้อย และที่คอร์รัปชันมากกว่านี้ก็คือ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบว่ามีการหลบเลี่ยงภาษี และควรจะดำเนินการลงโทษด้วยการปรับเพื่อนำเงินเข้ารัฐ แต่กลับใช้วิธีการขู่เข็ญและรีดไถเพื่อเรียกรับเงินเข้าตัวเอง แลกกับการไม่ดำเนินคดี
      
        2. ในส่วนของการจ่ายโดยเฉพาะรายจ่ายจากงบลงทุนซึ่งมีขั้นตอนการจ่ายในรูปแบบของการจัดซื้อจัดจ้าง การคอร์รัปชันในส่วนนี้เกิดขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมมือกับพ่อค้าโกงรัฐในหลายๆ รูปแบบ ที่มองเห็นได้และมีอยู่อย่างดาษดื่นก็คือ ซื้อของหรือจ่ายค่าจ้างแพงกว่าที่ควรจะเป็น หรือจ่ายไม่แพงถ้ามองจากราคา แต่จะเห็นได้ว่าเมื่อนำสินค้าหรืองานที่ว่าจ้างมาเทียบกับคุณภาพของสินค้าหรืองานที่จ้าง จะพบว่าคุณภาพด้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็ได้รับประโยชน์จากพ่อค้าเป็นเครื่องตอบแทน
      
        3. งานให้บริการประชาชน เช่น งานดูแลความเรียบร้อยของสังคมโดยผู้รักษากฎหมาย เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น การคอร์รัปชันในส่วนนี้เกิดขึ้นจากการเรียกเก็บผลประโยชน์จากผู้ทำผิดกฎหมาย ยกตัวอย่างง่ายๆ ตำรวจจราจรที่เรียกเก็บเงินจากคนขับขี่ที่ทำผิดกฎหมายโดยไม่ออกใบสั่งปรับเข้ารัฐ และที่คอร์รัปชันแล้วก่อความเสียหายแก่รัฐชัดเจน เช่น การไม่จับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินโดยเรียกเก็บส่วยจากผู้ประกอบการแทน เพราะการทำแบบนี้เท่ากับทำให้ถนนหนทางได้รับความเสียหาย และจะต้องจ่ายเงินซ่อมกันทุกปี แทนที่จะนำเงินส่วนนี้ไปสร้างถนนใหม่
      
        ทั้ง 3 ประการที่ยกมาเป็นเพียงรูปแบบการคอร์รัปชันที่มองเห็นได้ง่าย ถ้าลงให้ลึกกว่านี้ ก็จะพบการคอร์รัปชันที่แยบยล และป้องกันยาก ทั้งเอาผิดทางกฎหมายได้ยากด้วย การคอร์รัปชันที่ว่านี้ก็คือการคอร์รัปชันในเชิงนโยบาย ที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่นักธุรกิจการเมืองอยู่ในขณะนี้
      
        ดังนั้น ถ้าไม่มีการป้องกันและแก้ไข เชื่อว่าอีกไม่กี่ปีประเทศไทยภายใต้นโยบายประชานิยม จะไม่มีอะไรเหลือให้ลูกหลาน นอกจากหนี้

โดย สามารถ มังสัง    
manager.co.th  12 ธันวาคม 2554
....................................................................
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ได้เขียนเกี่ยวกับการคอร์รัปชันในวงราชการไปแล้ว แต่ยังไม่ได้บอกถึงแนวทางแก้ไข ดังนั้นวันนี้จะเขียนเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขเท่าที่คาดว่า ถ้ามีการดำเนินการแล้ว น่าจะทำให้คอร์รัปชันลดลงถึงแม้จะไม่ถึงกับหมดไป แต่ก็จะช่วยงบประมาณรายจ่ายของประเทศไทยแต่ละปีขาดดุลน้อยลง หรือแม้จะไม่ลดลง แต่ก็มีส่วนเหลือไปใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาด้านที่จำเป็น เช่น การศึกษา เป็นต้น ให้มากขึ้น
      
        ในการแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็นปัญหาในด้านใด จะต้องแก้ที่เหตุหรือต้นตอของปัญหานั้นๆ และแนวทางที่คนไทยในฐานะที่เป็นพุทธมามกะเป็นส่วนใหญ่ ควรจะยึดถือก็คือ อริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ อันเปรียบได้กับตัวปัญหา สมุทัย อันเปรียบได้กับเหตุให้เกิดปัญหา นิโรธ อันเปรียบได้กับผลที่ได้จากการแก้ปัญหา และสุดท้ายมรรค อันเปรียบได้กับวิธีการแก้ปัญหา
      
        โดยอาศัยแนวทางการแก้ปัญหาตามนัยแห่งอริยสัจ 4 การแก้ปัญหาคอร์รัปชันก็พอจะกำหนดเป็นขั้นตอนได้ดังนี้
      
        1. การค้นหาเหตุแห่งปัญหา
      
        ถ้ามองจากสภาพปัญหาคอร์รัปชันในวงราชการไทย ก็พออนุมานได้ว่าน่าจะเกิดจากเหตุต่างๆ ดังต่อไปนี้
      
        1.1 การศึกษาที่เน้นให้คนมีความรู้ ความสามารถในด้านการแสวงหาทางวัตถุ แต่ปล่อยปละละเลยการปลูกฝังคุณธรรม ซึ่งคนในยุคก่อนมักเตือนและพร่ำสอนทั้งในโรงเรียนและครอบครัว แต่การฝึกในปัจจุบันแม้กระทั่งหน้าที่พลเมือง สมบัติผู้ดีและศีลธรรมจรรยา เด็กรุ่นใหม่แทบจะไม่รู้จักทั้งพ่อแม่รุ่นใหม่ก็ไม่มีเวลาในการอบรมลูก ปล่อยให้เติบโตภายใต้การดูแลของพี่เลี้ยงและโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ ดังนี้เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ จึงมีแต่ความสามารถแต่ขาดคุณธรรม
      
        1.2 การบริหารบุคคลในภาครัฐ จะใช้ระบบอุปถัมภ์มากกว่าระบบคุณธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการโยกย้าย แต่งตั้งในตำแหน่งที่เอื้อต่อการแสวงหาผลประโยชน์ จะมีทั้งการเล่นพรรคเล่นพวก ระบบต่างตอบแทนและซื้อตำแหน่ง จึงกลายเป็นหนี้บุญคุณและเกิดการถอนทุนเกิดขึ้น จะเห็นได้ชัดเจนในวงการตำรวจ และศุลกากรอันเป็นสาเหตุหนึ่งของการคอร์รัปชันเพื่อทดแทนบุญคุณ และถอนทุนจากการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง
      
        2. สภาพปัญหา และการแก้ไขป้องกันที่เป็นอยู่
      
        ในปัจจุบันเปรียบเทียบกับแนวทางอริยสัจ 4 การคอร์รัปชันในวงราชการไทย ดังได้บอกไปแล้วในวันอังคารที่แล้ว แต่เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มองเห็นประเด็นแห่งปัญหาชัดเจนยิ่งขึ้น จึงขอสรุปให้เห็นอีกครั้งดังต่อไปนี้
      
        2.1 เกิดจากงานจัดซื้อจัดจ้างในส่วนที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ และใช้งบลงทุนในภาครัฐ และใช้เงินกู้ในรัฐวิสาหกิจจะเกิดการคอร์รัปชันในหลายๆ รูปแบบมีตั้งแต่การล็อกสเปกเพื่อให้ผู้ขายหรือผู้รับเหมารายใดรายหนึ่งได้งานไปจนถึงการฮั้วประมูลในกรณีที่เกิดประมูลทั่วไป และงานจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ จะจัดทำในรูปแบบของกรรมการซึ่งแต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจสูงสุดของส่วนราชการนั้นๆ จึงง่ายต่อการแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ ถ้าผู้แต่งตั้งร่วมมือกับพ่อค้า และข้าราชการได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ
      
        นอกจากงบลงทุนที่ดำเนินการในรูปของโครงการแล้ว งบทำการก็ดี การคอร์รัปชันเกิดขึ้นในหลายรูปแบบมีตั้งแต่ทำล่วงเวลาเกินความจำเป็น และไม่เป็นไปตามการบริหารต้นทุน ในส่วนของค่าใช้จ่าย ในส่วนของเงินเดือนและค่าจ้าง เช่น ไม่ทำงานในเวลาปกติ แต่ไปทำล่วงเวลาและแทนที่จะจ้างคนเพิ่มในรูปของการจ้าง part time ในช่วงที่มีงานเพิ่มแต่ไม่ต่อเนื่องยาวนานกลับทำงานล่วงเวลาทำให้งานไม่ได้เนื้องานเนื่องจากคนล้าจากงานในเวลามาแล้ว และแถมเปิดช่องให้คนไม่ทำงานในเวลาเก็บไว้ทำล่วงเวลา เป็นต้น นี่เป็นการคอร์รัปชันรูปแบบหนึ่ง
      
        ส่วนการแก้ไขและป้องกันเท่าที่ทำอยู่ในส่วนราชการขณะนี้ แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ
      
        ทำการตรวจสอบภายในเพื่อแก้ไขและป้องกันงานส่วนนี้อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนงานตรวจสอบภายในซึ่งมีอยู่ทั้งในระดับกรม และระดับกระทรวง
      
        แต่งานตรวจสอบเท่าที่เป็นอยู่ทำได้ แต่ทำการตรวจสอบจากเอกสารปฏิบัติการในปีที่ผ่านมา และตรวจกันปีละครั้งเดียว ทั้งการตรวจสอบก็จำกัดอยู่ในเรื่องรายจ่ายจากงบทำการ เช่น ค่าล่วงเวลา ค่าเดินทาง ค่าที่พัก เป็นต้น และในบางหน่วยงานที่มีการจัดเก็บรายได้จากค่าเช่า ค่าธรรมเนียม เป็นต้น ก็มีการตรวจในส่วนนี้ด้วย
      
        แต่เมื่อตรวจพบว่ามีการกระทำผิดระเบียบกฎหมาย หรือวิธีปฏิบัติก็มีการทักท้วงรวมไปถึงการเรียกเงินคืนในรายที่พบว่าจ่ายเงินเกิน แต่จะมีการลงโทษถึงขั้นตั้งกรรมการสอบสวน และหากพบว่ามีความผิดก็จะมีการลงโทษหักเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือน ส่วนจะถึงขับไล่ออกมีอยู่น้อยมาก จึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะทำให้คนทำผิดเข็ดหลาบ และไม่กล้ากระทำผิดอีก
      
        สำหรับงานโครงการที่มีการจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินมากๆ จากงบลงทุนไม่ค่อยปรากฏว่าหน่วยงานตรวจสอบภายในของส่วนราชการใดตรวจพบความผิด และมีการดำเนินการถึงขั้นลงโทษ จะมีก็เพียงรายที่ตกเป็นข่าวทางสื่อ หรือมีคนไปยื่นฟ้อง ป.ป.ช.และมีการสอบสวน แต่สอบสวนแล้วส่วนใหญ่จะได้คนผิดระดับล่างๆ หรือข้าราชการผู้น้อย ส่วนตำแหน่งใหญ่ๆ ที่รับนโยบายโดยตรงมาจากฝ่ายการเมืองมักจะรอดไปได้ จึงไม่มีน้ำหนักพอจะป้องกันคอร์รัปชันได้
      
        3. แนวทางแก้ไขและป้องกัน โดยอาศัยหลักอริยสัจ 4 ก็ควรจะเริ่มต้นด้วยการจัดการศึกษาควบคู่ไปกับการฝึกอบรมเพื่อปลูกฝังคุณธรรมให้แก่เด็กเพื่อให้โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีคุณธรรม
      
        อีกทั้งในส่วนงานบริหารงานบุคคลในภาครัฐ จะต้องเลิกใช้ระบบอุปถัมภ์ ระบบต่างตอบแทน และที่สำคัญคือระบบซื้อขายตำแหน่งจะต้องไม่ให้มีอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันมิให้คนเลวมามีอำนาจในการปกครอง แต่จะต้องใช้ระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายเพื่อให้โอกาสคนดีมีอำนาจในการปกครอง
      
        ถ้าทำ 3 ประการที่ว่านี้ได้ เชื่อว่าไม่นานต่อจากนี้ ประเทศไทยจะคอร์รัปชันลดลงถึงแม้จะไม่หมดไปก็เชื่อว่าอยู่ในระดับที่นักลงทุนต่างชาติจากประเทศที่เจริญแล้วยอมรับได้แน่นอน

โดย สามารถ มังสัง    
manager.co.th  19 ธันวาคม 2554
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 ธันวาคม 2011, 20:37:27 โดย story »