ผู้เขียน หัวข้อ: DRGs Version 5 ความเป็นธรรมของระบบสาธารณสุขไทย  (อ่าน 894 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการชดเชยค่าบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
       
       ระบบการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนที่รัฐบาลประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2555 จนถึงวันนี้ ยังไม่พบปัญหาใดๆ ที่เป็นอุปสรรคจนทำให้ต้องยุติ หรือยกเลิกโครงการ แต่ที่เห็นได้ชัด ก็คือ ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินจนอาจเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ได้รับบริการช่วยชีวิตไปแล้วถึง 1,074 ราย (ข้อมูลตั้งแต่ 1-30 เม.ย.2555)
       
       ข่าวที่ปรากฏในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน เม.ย.จึงไม่ใช่ปัญหาการเข้าถึงบริการของประชาชน แต่เป็นปัญหาที่สะท้อนมาจากโรงพยาบาลเอกชน ว่า เงินชดเชยที่ภาครัฐกำหนดให้จ่ายตามระบบ DRGs โดยมีอัตราจ่ายที่ 10,500 บาทต่อหนึ่งหน่วยน้ำหนักสัมพัทธ์ อาจไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและทำให้โรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการประสบภาวะขาดทุนได้
       
       ผมเชื่อว่า หลายท่านคงสงสัย และอยากรู้ว่า ระบบ DRGs คืออะไร และเกี่ยวข้องอย่างไรกับการจ่ายเงินชดเชย DRGs มาจากคำว่า Diagnostic Related Groups หรือระบบการวินิจฉัยโรคร่วม ซึ่งหมายถึงการจัดกลุ่มโรคที่มีต้นทุนในการให้บริการใกล้เคียงกันมาไว้เป็นกลุ่มเดียวกัน แต่ละกลุ่มจะมีค่าน้ำหนักประจำกลุ่มซึ่งแปรผันได้ตามจำนวนวันที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยชายไทย อายุ 40 ปี มาโรงพยาบาลด้วยอาการปวดท้องด้านขวามาก มีอาการคลื่นไส้อาเจียน แพทย์ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และวินิจฉัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ และเข้ารับการผ่าตัด นอนพักในโรงพยาบาล 5 วัน โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ จากนั้นแพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน กรณีนี้ เมื่อป้อนข้อมูลเข้าระบบเพื่อจัดกลุ่มโรค จะจัดอยู่ในกลุ่มรหัส 06070 มีน้ำหนักสัมพัทธ์เท่ากับ 1.1468 แต่หากผู้ป่วยนอนในโรงพยาบาล 7 วันเนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลผ่าตัดติดเชื้อและ/หรือมีโรคร่วมที่เพิ่มค่าใช้จ่ายในการดูแล เช่น ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรังจะจัดอยู่ในกลุ่ม 06074 มีน้ำหนักสัมพัทธ์เท่ากับ 3.3052 เป็นต้น
       
       ที่เรียกว่า “น้ำหนักสัมพัทธ์” ก็เนื่องจากเป็นผลลัพธ์จากการนำค่าเฉลี่ยของค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดจากการให้บริการในกลุ่มโรคนั้นๆ หารด้วยค่าเฉลี่ยของค่าใช้จ่ายจากการให้บริการของทุกๆ กลุ่มโรคจากการเก็บข้อมูลการให้บริการจริงอย่างต่อเนื่อง 3-5 ปี ดังนั้น น้ำหนักสัมพัทธ์ของการผ่าตัดไส้ติ่งที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน 1.1468 จึงหมายความว่าการผ่าตัดไส้ติ่งในกรณีดังกล่าวมีการใช้ทรัพยากรเป็น 1.1468 เท่าของการใช้ทรัพยากรในการรักษาเฉลี่ยทุกโรคแต่นั้นยังไม่ใช่เงินชดเชยค่าบริการที่จะต้องจ่ายให้กับโรงพยาบาลนะครับ
       
       หลายท่านคงมีประสบการณ์การไปรับบริการในคลินิก หรือโรงพยาบาลเอกชนไม่มากก็น้อย หลังพบคุณหมอเพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกาย คุณหมอก็จะสั่งยา จากนั้นก็ไปรับยาที่ห้องยาพร้อมชำระเงิน ผมเชื่อว่า ราคาที่ปรากฏในใบแจ้งหนี้ที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งเรียกเก็บมีโอกาสไม่เท่ากัน เพราะต้นทุนของแต่ละโรงพยาบาลไม่เท่ากัน การคิดค่าบริหารจัดการ หรือค่าบริการก็ไม่เท่ากัน แม้ว่าผู้ป่วยจะถูกวินิจฉัยด้วยโรคเดียวกัน ดังนั้น เมื่อกองทุนสุขภาพของประเทศไทยทั้ง 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพ สวัสดิการข้าราชการและกองทุนประกันสังคมเป็นตัวแทนในการจ่ายเงินชดเชยให้กับโรงพยาบาลแทนสมาชิกของแต่ละกองทุน จึงนำระบบ DRGs และค่าน้ำหนักสัมพัทธ์มาใช้ ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลก
       
       แปลว่า ในระบบ DRGs การให้บริการจากโรงพยาบาลใดๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก เมื่อผลการให้บริการนั้นถูกจัดกลุ่มไปอยู่ในกลุ่มเดียวกัน จะให้ค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ที่เท่ากันเสมอ แต่ในชีวิตจริงแม้ว่าผลการให้บริการนั้นจะถูกจัดไปอยู่ในกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมเดียวกัน แต่ผู้ป่วยอาจนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยจำนวนวันนอนที่ไม่เท่ากัน เช่น การให้บริการผ่าตัดไส้ติ่งในเด็ก อาจนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพียง 5 วัน แต่ผู้สูงอายุที่ได้รับการผ่าตัดไส้ติ่ง อาจต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลถึง 9 วัน ดังนั้น เมื่อจัดกลุ่มเรียบร้อยแล้ว จะมีการนำวันนอนพักรักษาตัวมาใช้คำนวณเพื่อให้ได้น้ำหนักสัมพัทธ์ที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง วันนอนที่มากกว่าจึงส่งผลต่อน้ำหนักสัมพัทธ์ให้มีค่ามากกว่า และค่าที่ปรับได้เรียกว่า น้ำหนักสัมพัทธ์ที่ปรับตามวันนอน (Adjusted Relative Weight: AdjRW) เงินชดเชยค่าบริการจะเป็นเท่าไร จะใช้น้ำหนักสัมพัทธ์ที่ปรับตามวันนอนนี่เองเป็นหลักในการคำนวณ ไม่ว่าจะให้บริการที่ใดก็ตาม
       
       เหมือนเราไปหาซื้อแตงโมสักลูกกับชาวไร่ น้ำหนักชั่งในสวนเท่ากับ 2.5 กิโลกรัม เมื่อนำมาขายในตลาดไท แตงโมลูกนั้นก็ยังคงหนัก 2.5 กิโลกรัม สุดท้ายถูกนำมาขายต่อในห้างสรรพสินค้า แตงโมลูกนั้นก็ยังคงหนัก 2.5 กิโลกรัมเท่าเดิม แต่ราคาขายต่อ 1 กิโลกรัมต่างหากที่แตกต่างกันระหว่างในสวน ในตลาดหรือในห้างสรรพสินค้า
       
       สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใช้ DRGs เป็นเครื่องมือในการจ่ายเงินชดเชยให้กับโรงพยาบาลมาตั้งแต่ปี 2545 ตั้งแต่ รุ่นที่สาม (Version 3) จนปัจจุบันเป็นรุ่นที่ห้า (Version 5) รุ่นที่ใหม่กว่าจะมีการปรับปรุงเพื่อเพิ่มความเป็นธรรมในการชดเชยให้กับโรงพยาบาลตามทรัพยากรที่ใช้ไปในค่าเฉลี่ย ยกตัวอย่างเช่น รุ่นที่ 3 มีการจัดกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมจำนวน 1,283 กลุ่ม รุ่นที่ 4 มีการจัดกลุ่มเพิ่มเป็น 1,920 กลุ่มและรุ่นที่ 5 มีการจัดกลุ่มโรคและหัตถการเพิ่มขึ้นเป็น 2,450 กลุ่ม ซึ่งมีความละเอียดมากขึ้น ส่งผลให้น้ำหนักสัมพัทธ์ที่ได้มีความสอดคล้องกับการวินิจฉัยโรคและหัตถการมากขึ้น

       ยกตัวอย่างผู้ป่วยท้องเสียและมีภาวะโพแทสเซียมต่ำ ใน DRGs รุ่น 4 จัดอยู่ในกลุ่ม 06573 มีน้ำหนักสัมพัทธ์เท่ากับ 0.6268 แต่จากการศึกษาพบว่าค่าใช้จ่ายภาวะโพแทสเซียมต่ำในผู้ป่วยท้องเสียไม่ได้มีผลทางสถิติต่อค่าใช้จ่ายจริง ซึ่งอาจเกิดจากค่ายาเพิ่มโพแทสเซียมมีราคาถูกลงมาก ใน DRGs รุ่น 5 จึงมีการจัดกลุ่มใหม่เป็น 06571 และมีน้ำหนักสัมพัทธ์เป็น 0.4100 ในขณะที่ผู้ป่วยท้องเสียและ มีภาวะช็อกจากการเสียน้ำซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่าภาวะโพแทสเซียมต่ำที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 06573 กลับมีน้ำหนักสัมพัทธ์เพิ่มขึ้นเป็น 1.0796 ซึ่งแพทย์ผู้รักษาเองก็คงไม่ต้องการเห็นโรงพยาบาลได้รับการชดเชยบริการเท่ากันในโรคแทรกทั้งสองชนิด
       
       DRGs มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องโดยคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวรต่อเนื่องกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยใช้ข้อมูลการให้บริการจริงจากโรงพยาบาลทั่วประเทศที่บันทึกเพื่อขอเบิกค่าใช้จ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสวัสดิการข้าราชการ สำหรับ DRGs รุ่นที่ 5 หลังจากคณะวิจัยได้ทำการศึกษามาระยะหนึ่งได้มีการประชุมระดมสมองและประชาพิจารณ์ครั้งที่ 1 ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 และเมื่อจัดทำต้นร่างเรียบร้อยแล้ว ได้จัดประชุมเพื่อระดมสมองและประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2 วันที่ 27 สิงหาคม 2553 ที่โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี โดยมีตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขและกรมที่เกี่ยวข้อง โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ราชวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ เช่นราชวิทยาลัยรังสีแพทย์ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น
       
       เพื่อป้องกันความสับสนของโรงพยาบาลทั่วประเทศที่เบิกเงินชดเชยจากกองทุนสุขภาพทั้ง 3 กองทุนได้ตกลงร่วมกันว่าจะประกาศใช้ DRGs รุ่นเดียวกัน โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของแต่ละกองทุน
       
       สำหรับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีการเชิญคณะผู้วิจัยเข้าไปนำเสนอระเบียบขั้นตอนการวิจัยและเสนอผลการจัดทำ DRGs รุ่น 5 ต่อคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขซึ่งมีตัวแทนจากวิชาชีพต่างๆ เช่น อธิบดีกรมการแพทย์ ผู้แทนราชวิทยาลัยแพทย์เฉพาะทางสาขาสูตินรีเวช สาขาศัลยกรรม สาขาอายุรกรรม สาขากุมารเวชกรรม ผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ ทันตกรรม เภสัชกรรม ผู้แทนโรงพยาบาลเอกชน ผู้แทนแพทยสภา สภาการพยาบาล ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม ฯลฯ เพื่อขอรับความคิดเห็น และนำเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อขอความเห็นชอบ
       
       กว่าจะออกมาเป็น DRGs ในแต่ละรุ่นต้องผ่านกระบวนการศึกษาวิจัยทางวิชาการอย่างละเอียด ผ่านการระดมสมองและประชาพิจารณ์ โดยเชิญผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วน จึงอาจกล่าวได้ว่า DRGs เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความเป็นธรรมในระบบบริการสาธารณสุขในเวลานี้
       
       ก็เหมือนกับตัวอย่างของแตงโมที่เล่าให้ฟังก่อนหน้า จะมีใครวิจารณ์ไหมว่าหน่วย “กิโลกรัม” ที่ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ไม่เป็นธรรม หรือจะสร้างความหายนะให้กับวงการค้าขายแตงโม ส่วนราคาขายต่อหน่วยน้ำหนักควรจะเป็นเท่าไร ยุติธรรมไหม ก็ว่ากันเป็นอีกเรื่องไปนะครับ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    15 พฤษภาคม 2555