ผู้เขียน หัวข้อ: อัปยศอดสู! ค่ารักษามหาโหด ถึงเวลาคุมราคา "รพ.เอกชน"  (อ่าน 582 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
ความอัปยศอดสูของโรงพยาบาลเอกชน ถูกแฉและแชร์ออกมาให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ผู้ป่วยบางรายหายจากโรคแต่ต้องช็อกเพราะค่ารักษา ซ้ำร้ายบางรายต้องผ่อนจ่าย-แปลงโฉนดที่ดินไปเป็นค่ารักษา จุดชนวนวิพากษ์ ชวนตั้งคำถาม แท้จริงแล้ว "รพ.เอกชน" ไม่ได้มีไว้รักษาคนเจ็บ แต่มีไว้เพื่อขูดรีดเงินจากประชาชน ล่าสุดมีการตั้งแคมเปญล่ารายชื่อตั้ง "คกก.ควบคุมราคา รพ.เอกชน" หวังให้เกิดหน่วยงานตรวจสอบ-ให้ความเป็นธรรม
       
        ร้องไห้หนักมาก! เมื่อรู้ค่ารักษาแพงหูฉี่
       
       เป็นที่ทราบกันดีว่า ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนแพงกว่าโรงพยาบาลรัฐ สอดรับกับโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งก็มักจะออกมาโต้แย้งถึงสาเหตุของค่ารักษาพยาบาลในราคาที่สูงนั้น เนื่องจากมีต้นทุนสูง รวมไปถึงการแข่งขันของบริษัทยา ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการตลาดสูงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
       
       กระนั้น แม้ประชาชนสามารถเลือกได้ที่จะไม่เข้า รพ.เอกชน ทว่า ในความเป็นจริง หากต้องเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่รพ.รัฐบาลตามสิทธิอยู่ไกล ทำให้ "รพ.เอกชน" คือความจำเป็นเพื่อรักษาชีวิตให้รอด ในกรณีนี้หากใคร "เงินหนัก" หรือทำประกันชีวิต/อุบัติเหตุเอาไว้ก็นอนรักษาตัวได้อย่างไร้กังวล แต่สำหรับบางคน เมื่อหายจากโรค แต่กลับต้องช็อก เพราะค่ารักษาพยาบาล หลายรายต้องผ่อนจ่าย หรือแปลงโฉนดที่ดินไปเป็นค่ารักษา
       
       นี่คือกรณีตัวอย่างที่ทางเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์เคยได้รับการร้องเรียนเข้ามา
       
       - ผู้ป่วยชายมีอาการเจ็บหน้าอก เข้ารพ.เอกชนที่โฆษณาว่ามีหมอโรคหัวใจ 24 ชั่วโมง แต่นอนรอตั้งแต่สองทุ่มถึง 8 โมงเช้า ก็ไม่มีหมอหัวใจมาตรวจจนผู้ป่วยเสียชีวิต ต่อมาญาติฟ้อง รพ.เอกชนแห่งนั้น จึงมีการตรวจสอบบิลค่ารักษา พบว่าทาง รพ.เก็บค่าอะดรีนาลีนเพื่อกระตุ้นหัวใจ 148 หลอด ราคา 29,600 บาท       
       
       แต่ในเวชระเบียนระบุว่าใช้เพียง 30 หลอด ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจไปเบิกความว่า อะดรีนาลีนนั้นใช้ได้ไม่เกิน 2 หลอด/ ชั่วโมง ถ้าใช้เกินคนไข้จะเสียชีวิต ความจริงคือช่วงที่แพทย์สั่งให้อะดรีนาลีนทางโทรศัพท์ใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง ดังนั้น การใช้อะดรีนาลีนไม่น่าจะเกิน 10 หลอด ซึ่งคิดเป็นเงินเพียง 2 พันบาทเท่านั้น
       
       - ผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งเล่าว่า เธอและสามีต้องไปหาหมอรพ.เอกชนทุก 3 เดือน ค่ายาแต่ละครั้ง 5-6 หมื่นบาทต่อคน เธอและสามีก้มหน้าก้มตาจ่าย ครั้งล่าสุดหมอจ่ายยาให้สามีเธอสำหรับ 3 เดือน เป็นเงินถึง 9.8 หมื่นบาท เรียกว่าเกือบหนึ่งแสน เธอตกใจมาก จึงไปสอบถามร้านยาว่า ยาลดไขมัน Ezetrol เม็ดละเท่าไร ร้านยาบอกว่า 50 บาท
       
       ขณะที่ รพ.เอกชนแห่งนั้นขายเม็ดละ 117 บาท และยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะ Nexium40mg ที่ร้านยาขายเม็ดละ 55.75 บาท แต่รพ.เอกชนขายเม็ดละ 156 บาท เมื่อเธอศึกษาพบว่าราคายาที่ต้องจ่าย 9.8 หมื่นบาท ราคากลางที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดเพียง 3 หมื่นกว่าบาท สรุปแล้วเธอต้องจ่ายแพงขึ้นถึง 6 หมื่นกว่าบาท
       
       ที่หนักไปกว่านั้น ยังเคยมีคนไข้บางคน ทั้งชีวิตไม่เคยเห็นเงินแสน แต่ต้องวิ่งหาเงินครึ่งล้านภายในครึ่งวันเพื่อจ่ายค่ารักษาให้รพ.เอกชน ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงไม่กี่เคส และเชื่อว่ายังมีอีกหลายๆ เคสในซอกมุมของสังคม ต้องระทมขมขื่นกับเรื่องราวเหล่านี้ด้วยความปลงๆ ว่า "บ่นไป พูดไปก็เท่านั้น"
       
 ถึงเวลาคุมค่ารักษา "รพ.เอกชน"     

       ด้วยความที่สังคมไทยเก็บกดเรื่องนี้กันมานานมาก ทำให้ ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ลุกขึ้นมาเป็นตัวตั้งตัวตีในการเรียกร้องด้วยการสร้างแคมเปญรณรงค์ผ่าน www.change.org เพื่อล่ารายชื่อ "ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคารพ.เอกชน" เพราะถ้าไม่ควบคุม ก็มีการโกงได้ คิดเกินจริงได้อย่างเสรี นี่คือความจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบและให้ความเป็นธรรม
       
       เนื่องจากที่ผ่านมาทางเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ป่วยและญาติจำนวนมาก เกี่ยวกับการคิดค่ารักษาพยาบาลที่สูงเกินจริงของโรงพยาบาลเอกชน แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเหล่านั้นโดยตรง             
       
       ดังนั้น "การควบคุมค่ารักษา" อย่างน้อยก็สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากประชาชนควรมีสิทธิตรวจสอบว่าราคาสมเหตุสมผลหรือไม่ ไม่ใช่แค่ดูแต่ใบเสร็จแล้วก็หาเงินมาจ่ายเท่านั้น นี่คือเป้าประสงค์ของการรณรงค์ในครั้งนี้ ล่าสุดมียอดผู้ลงชื่อสนับสนุนแล้ว 24,122 คน (วันที่ 28 เม.ย.58 เวลา 19.22 น.) ยังต้องการอีก 878 เพื่อขอชื่อให้ถึง 25,000 คน จากนั้นจะเดินทางไปยื่นรายชื่อกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเป็นพลังต่อรองให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไป สามารถร่วมลงชื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาสถานพยาบาลเอกชนได้ที่ goo.gl/hiGxKf
       
       ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ก่อนหน้านี้ ได้ออกมาหนุนให้มีการกำหนดราคากลางเพื่อควบคุมไม่ให้ราคาค่ารักษาพยาบาบแพงจนเกินไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหามายาวนาน ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเองก็พยายามผลักดันเรื่องนี้ แม้แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็พยายามประสานพูดคุยกับ รพ.เอกชนในการเข้าร่วมโครงการและจัดเก็บตามราคากลาง แต่ก็ไม่สำเร็จ
       
       ทำไมค่ารักษา รพ.เอกชนถึง "แพง"
       
       เมื่อลงลึงถึงเรื่องนี้ เคยมีรายงาน และผลวิจัยหลายชิ้น ระบุถึงคนเอเชีย รวมไปถึงคนไทยว่ามีการใช้จ่ายเงิน เพื่อการรักษาพยาบาลสูงขึ้นทุกปีเฉลี่ยประมาณ 20% ซึ่งเป็นผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลที่มิได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล หรือที่เรียกกันว่า โรงพยาบาลเอกชนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
       
       ส่วนค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนที่ "แพง" นั้น นพ.อนันตศักดิ์ อภัยรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 ได้เคยชี้แจงผ่านผู้จัดการ 360 องศารายสัปดาห์ว่า เพราะมีการรวมเรื่องค่าบริการ ค่าแพทย์ และค่าอื่นๆ ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐไม่มีการคิดค่าดังกล่าว
       
       นอกจากนั้น บางโรงพยาบาลจะรวมค่าบริหารจัดการของโรงพยาบาลเข้าไปด้วย เรื่องนี้ ผู้บริหาร รพ.เอกชนอีกรายหนึ่ง ที่เคยบอกเอาไว้ว่า ไม่ใช่คิดเฉพาะต้นทุนยาเหมือนในโรงพยาบาลรัฐ ค่าอุปกรณ์ต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน ที่มีการรวมค่าบริหารจัดการเข้าไปด้วย ส่วน Doctor Fee กับค่าพยาบาล จะเป็นส่วนของแพทย์ หรือพยาบาล ซึ่งปกติโรงพยาบาลไม่ได้มีกำไรจากส่วนนี้อยู่แล้ว             
       
       สอดคล้องกับ ศ.นพ.สิน อนุราษฎร์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์กลุ่มภูมิภาค โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เคยให้สัมภาษณ์ถึง "รายได้" ของโรงพยาบาลว่า จะมีรายรับมาจากการหักเปอร์เซ็นต์ค่าพบแพทย์ โดยหักจากผู้ป่วยนอก (OPD) 15% เป็นค่าใช้จ่ายด้านสิ่งอำนวยความสะดวกแก่แพทย์ แต่สำหรับผู้ป่วยใน (IPD) ทางโรงพยาบาลจะไม่หักเปอร์เซ็นต์ค่าแพทย์ไว้ แต่จะมีรายได้ในส่วนของค่าพยาบาล ค่าเครื่องมือแพทย์ ค่าพื้นที่ ที่ได้จากการเรียกเก็บจากคนไข้
       
       "คนไข้มักจะลืมไปว่าในห้องตรวจมีค่าใช้จ่าย ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้แพทย์ไม่ได้เป็นคนออก จึงต้องมีส่วนอื่นเข้ามาช่วย ซึ่งบางแห่งก็คิดค่าใช้จ่ายตรงนี้ประมาณ 50-80 บาท" นพ.สิน บอก
       
       นอกจากนี้ รายได้แหล่งใหญ่ของโรงพยาบาลยังมาจากการ "ขายยา" ซึ่งราคาค่ายาจะถูกบวกค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการตรวจรักษาเข้าไปด้วย และนี่ก็คืออีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไม "ยา" ในโรงพยาบาลจึงแพงกว่าร้านขายยาทั่วไป
       
       อย่างไรก็ดี แหล่งข่าว ซึ่งเป็นแพทย์หญิงได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า หากคนไข้ต้องการให้เขียนชื่อยาเพื่อไปซื้อข้างนอก ย่อมสามารถทำได้เนื่องจากเป็นสิทธิผู้ป่วย หากแต่แพทย์คงไม่ได้ถามคนไข้ทุกคนว่าต้องการชื้อไปซื้อเองหรือไม่ ถ้าผู้ป่วยประสงค์ย่อมทำได้
       
       เช่นเดียวกับความเห็นของ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ควรปรับเปลี่ยนระบบโดยให้ผู้ป่วยสามารถเอาใบสั่งยาไปซื้อยาจากร้านยาภายนอกได้ เนื่องจากที่ผ่านมา แม้จะมี พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ที่กำหนดให้สถานพยาบาลเอกชนแสดงราคา เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นเช่นนั้น ผู้บริโภคไม่เคยรู้ราคาเลย ทั้งที่จริงแล้วเป็นสิทธิของผู้บริโภค อย่างเรื่องของค่ายาและเวชภัณฑ์ซึ่งส่วนใหญ่โรงพยาบาลมักไปเพิ่มราคาในส่วนนี้ ทำให้ผู้ป่วยนอกจากจะต้องจ่ายค่าหมอ ค่าบริการเต็มจำนวนแล้ว ยังต้องมาเสียค่ายาที่แพงมากอีก
       
       สุดท้ายนี้ ประชาชนทุกคนรู้ดีว่าค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนนั้น "แพง" แต่สิ่งที่ไม่สามารถรู้ได้เลยก็คือ ค่ารักษานั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ดังนั้น การมีคณะกรรมการควบคุมค่ารักษาในรพ.เอกชน น่าจะเป็นทางเลือกให้ชาวบ้านที่สงสัยเข้าไปร้องเรียนได้ แทนที่จะไปขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะกว่าจะรู้ว่าโกงคงต้องฟ้องร้อง ต้องพิสูจน์กันนานหลายปี หรือบางคนถ้ามีศักยภาพที่จะจ่าย ก็คงไม่ชอบใจแน่ ถ้ารู้ว่าโดนคิดราคาแพงเกินจริง
       
       ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live


ASTVผู้จัดการรายวัน    28 เมษายน 2558