ผู้เขียน หัวข้อ: การขับเคลื่อนระบบสุขภาพระดับอำเภอ (DHS) คือคำตอบของการดูแลสุขภาพระยะยาว  (อ่าน 839 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9773
    • ดูรายละเอียด
การขับเคลื่อนระบบสุขภาพระดับอำเภอ (DHS) คือคำตอบของการดูแลสุขภาพระยะยาว

.............การปฏิรูประบบสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ที่เน้นการกระจายอำนาจจากส่วนกลางและเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของการบริหารจัดการมากที่สุด จากรูปแบบที่มีการดำเนินการสำเร็จในหลายประเทศและผลจากการดำเนินการที่ผ่านมาแม้ว่าจะยังไม่เต็มรูปแบบก็ยังส่งผลให้เห็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นมากมายในพื้นที่ทั่วประเทศไทย คือการจัดระบบบริการแบบเขตสุขภาพ รวมกันเป็นเครือข่าย 4-8 จังหวัด ประชากรประมาณ 3-5 ล้านคน โดยใช้แนวคิดการบริหารร่วม การจัดบริการร่วมกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เป้าหมายเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในระดับเขตทุกแห่งและมีเครื่องมือหลักในการดำเนินงาน คือ แผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) และการขับเคลื่อนระบบสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System : DHS) สำหรับแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) จะทำหน้าที่เชื่อมประสานการรักษาพยาบาลในโรคที่เป็นปัญหาการป่วยและตายที่สำคัญ ๑๐ สาขา เช่น สาขาโรคมะเร็ง, โรคไต, หัวใจ, ทารกแรกเกิด เป็นต้น เพื่อให้เกิดการบริการที่มีประสิทธิภาพไร้รอยต่อ สามารถดูแลได้ภายในเขตสุขภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การดูแลรักษา ส่งเสริมป้องกันที่มีคุณภาพ สะดวก ใกล้บ้านมากที่สุด

..............สำหรับระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอซึ่งมีหน้าที่ในการจัดบริการปฐมภูมินั้นจะเป็นคำตอบให้กับประชาชนคนไทยทุกคน ในการดูแลสุขภาพของทุกกลุ่มวัย เรียกได้ว่า “ตั้งแต่เกิดจนตาย” อันได้แก่กลุ่มสตรีและเด็ก(๐-๕ปี) เด็กวัยเรียน(๕-๑๔ปี) วัยรุ่น(๑๕-๒๑ปี) วัยทำงาน(๑๕-๕๙ปี) ผู้สูงอายุ(๖๐ปีขึ้นไป) และผู้พิการ โดยมีความมุ่งหวังที่จะให้ทุกคนมีสุขภาพดีตลอดไปหรือถ้าเจ็บป่วยก็จะได้รับการรักษาพยาบาลที่เข้ากับบริการได้สะดวกรวดเร็ว เป็นไปตามขั้นตอนการส่งต่อ เมื่อหายหรือกลับมาพักฟื้นต่อที่บ้านจะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง หรือกล่าวได้ว่าครบวงจรการบริการ ได้แก่ ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาลและฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยที่มีระบบบริการที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด หากเจ็บป่วยก็สามารถไปโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้าน เพื่อขอรับคำปรึกษา รับการรักษาพยาบาล กรณีที่เกินขีดความสามารถก็จะถูกส่งต่อไปรักษาในระดับอำเภอที่โรงพยาบาลชุมชนต่อไป นอกจากนี้บริการขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของทุกกลุ่มวัย เช่นวัยเด็กจะต้องได้รับวัคซีน วัยเรียนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็จะคอยให้คำปรึกษาเรื่องพฤติกรรมความเสี่ยงต่างๆ เช่น ยาเสพติด เพศศึกษา วัยทำงานก็จะได้รับการคัดกรองตามเรื่องโรคต่าง ๆ ที่พบบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันโลหิต ผู้พิการก็จะได้รับการดูแลอุปกรณ์ช่วยต่าง ๆ ผู้สูงอายุจะมีกิจกรรมที่จัดให้เพื่อช่วยให้มีสุขภาพที่แข็งแรง เช่น การออกกำลังกายที่เหมาะสม เป็นต้น โดยมีชมรมผู้สูงอายุของตำบลเป็นแกนหลัก

.............ระบบสุขภาพระดับอำเภอเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม มาเป็นเจ้าของสุขภาพของตนเอง ร่วมกันดูแลสุขภาพของตนเองและชุมชน โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั้งในเขตชนบทและเขตเมือง เป็นผู้คอยดูแล จัดระบบ ประสานงาน รวมถึงกลุ่ม อสม. ที่มีอยู่ทุกตำบลหมู่บ้าน ช่วยกันในการวางแผน จัดสภาพแวคล้อมที่เหมาะสมกับการมีสุขภาพดี การส่งเสริมสุขภาพ ออกกำลังกายในชุมชน เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงร่วมกันดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่ติดเตียงที่บ้าน ผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยคำนึงถึงหัวใจของความเป็นมนุษย์ ในอนาคตหวังว่าจะทำให้การเจ็บป่วยลดลง หรือหากเจ็บป่วยก็สามารถได้รับบริการที่มีคุณภาพใกล้บ้าน เข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างดี เข้ากับเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้ว่า "ได้พบหมอ รอไม่นาน อยู่ใกล้ไกลได้ยาเดียวกัน" และคนไทยจะมีอายุยืนขึ้นและสุขภาพดีขึ้น ตัวอย่างเช่น การดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดเตียงที่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง การดูแลรักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงแบบครบวงจรในระดับรพ.สต. การดูแลกลุ่มป่วยที่ภาวะแทรกซ้อนทางไต ทางตา ทางหลอดเลือด ร่วมกับผู้เชี่ยวใน คลินิกป้องกันไตเสื่อม, คลินิกฟอกไต การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่บ้าน เป็นต้น สิ่งที่กล่าวมานี้พบได้ในทุกจังหวัด ในรูปแบบที่หลากหลายตามบริบท ความเชื่อ วัฒนธรรมและความไว้วางใจของการจัดระบบบริการ และบริการที่ดีดีเหล่านี้จะได้รับการขยายมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในแนวนโยบายปัจจุบันที่จะเน้นการจัดบริการในระดับปฐมภูมิมากขึ้นและเน้นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันการเกิดโรคก่อน และให้ทุกคนตระหนักว่าสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องหมั่นดูแลอยู่เสมอ

.............กิจกรรมด้านสุขภาพที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพระดับอำเภอที่จะขับเคลื่อนงานปฐมภูมิตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือระบบสุขภาพระดับอำเภอที่จะแสวงหาความร่วมมือกับทุกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เช่น อบต., เทศบาล, อสม. เป็นต้น เข้ามามีส่วนร่วมในลักษณะ “ร่วมด้วยช่วยกัน” ดูแลสุขภาพของทุกคนในชุมชนของเรา สร้างความเอื้ออาทร ห่วงใยดูแลกันเพื่อนำไปสู่ชุมชนที่เข็มแข็ง ต่อไป

.............การขับเคลื่อนระบบสุขภาพระดับอำเภอ (DHS)เพื่องานบริการปฐมภูมิ จึงเป็นคำตอบสำหรับสุขภาพคนไทยทุกคนที่กระทรวงสาธารณสุขจะผลักดันให้เกิดเป็นผลสำเร็จในทุกอำเภอทั่วประเทศไทย โดยที่อยากเห็น คนไทยในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า มีสุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างยั่งยืนต่อไป

https://www.facebook.com/pages/Page%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/441959992553380?hc_location=timeline