ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.สต.ท้วงกำหนดพื้นที่กันดารแค่ รพ.อำเภอ ค่าตอบแทนสุดเหลื่อมล้ำต่างกัน 100 เท่า  (อ่าน 643 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9797
    • ดูรายละเอียด
รพ.สต. ขึ้นป้ายจี้ รบ.- สธ. แก้ปัญหาค่าตอบแทนพื้นที่กันดารสุดเหลื่อมล้ำ เผย บางวิชาชีพค่าตอบแทนต่างกันถึง 100 เท่า หลักเกณฑ์จ่ายค่าตอบแทนไม่เป็นธรรม ชี้ กำหนดพื้นที่กันดารแค่ รพ. อำเภอ ไม่รวม รพ.สต. ระดับอายุงานไม่เท่ากัน ยันไม่ต้องการสร้างความแตกแยก
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หลายแห่งทั่วประเทศขึ้นป้ายข้อความบริเวณหน้า รพ.สต. ว่า “วอน! รัฐบาลแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือนข้าราชการพลเรือน และค่าตอบแทนบุคลากรด้านสาธารณสุข” และ “วอนกระทรวงสาธารณสุขเร่งลดความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข ชี้ค่าตอบแทนต่างเป็น 100 เท่า” อาทิ รพ.สต.นากว้าง รพ.สต.บ้านขาว รพ.สต.นาดี รพ.สต.นาข่า รพ.สต.โคกสะอาด และ รพ.สต.ปากดง เป็นต้น
       
       นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุขประเทศไทย และผู้ประสานงานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลประเทศไทย กล่าวว่า รพ.สต. ทั่วประเทศ มีประมาณ 1 หมื่นแห่ง ซึ่งการขึ้นป้ายดังกล่าวเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา และจะทยอยขึ้นป้ายเพิ่มมากขึ้น โดยจะขึ้นป้ายไว้ตลอด มี.ค. เพื่อเรียกร้องแบบสันติ โดยต้องการให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แก้ปัญหาเรื่องค่าตอบแทนที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างมากในแต่ละวิชาชีพของบุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะค่าตอบแทนบุคลากรในหน่วยบริการที่เป็นพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และประชากรน้อย พบว่า บางวิชาชีพได้ถึง 60,000 บาท แต่บางวิชาชีพได้เพียง 600 บาท ต่างกันถึง 100 เท่า ทั้งที่เป็นวิชาชีพที่อยู่ในกระทรวงเดียวกัน แต่กลับเหลื่อมล้ำอย่างมาก
       
       นายริซกี กล่าวว่า นอกจากนี้ ขอให้ปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว ซึ่งมีความไม่เป็นธรรมใน 3 ข้อ คือ 1. การกำหนดหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร ซึ่งกำหนดเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ทั้งที่ รพ.สต. ตั้งอยู่ในระดับตำบลมีความกันดารและห่างไกลกว่า รพช. ที่อยู่ในระดับอำเภอ โดยบางพื้นที่แม้ รพช. จะเป็นพื้นที่ปกติ แต่ รพ.สต. บางแห่งกลับมีความกันดาร อยู่บนดอย บนเขา เพราะเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาจะดูจากความเจริญ ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า หรือ เซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งในระดับตำบลที่ รพ.สต. ตั้งอยู่ส่วนใหญ่จะไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว จึงขอให้ปรับปรุงนิยามหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร โดยกำหนดให้กับ รพ.สต. ด้วย
       
       2. อายุราชการ บางวิชาชีพถูกกำหนดให้มีเพียง 2 ระดับ แต่บางวิชาชีพกลับแบ่งเป็น 3 ระดับ ส่งผลให้ค่าตอบแทนแตกต่างกัน เช่น เจ้าพนักงานสาธารณสุข อายุงานระดับ 1 ทำงาน 1 - 3 ปี ค่าตอบแทน 600 บาท ระดับ 2 ทำงาน 4 ปีขึ้นไป ได้รับ 900 บาท ส่วนวิชาชีพแพทย์ อายุงานระดับ 1 ทำงาน 1 - 3 ปี ได้รับค่าตอบแทน 10,000 บาท ระดับ 2 อายุงาน 4 - 10 ปี ได้รับ 12,000 บาท และระดับ 3 อายุงาน 10 ปีขึ้นไป ได้รับ 15,000 บาท และได้รับสูงสุดถึง 60,000 บาท หากทำงานอยู่ในพื้นที่กันดารเกิน 10 ปี จึงขอให้เพิ่มอายุการทำงานจากที่บางวิชาชีพมีเพียง 2 ระดับ ให้มีอายุงาน 3 ระดับเหมือนกันทุกวิชาชีพ และ 3. ใน รพช. ให้ค่าตอบแทนตามภาระงาน หรือ พีฟอร์พี กลับมีการกำหนดค่ากิจกรรมต่างกันในแต่ละวิชาชีพ เช่น บางวิชาชีพ คิดโดยคูณจำนวนชิ้นงานกับ 1 หรือ 2 แต่บางวิชาชีพกลับคูณจำนวนชิ้นงานด้วย 0.1 หรือ 0.2 ทำให้หากมีปริมาณชิ้นงานที่เท่ากัน คือ 1,000 ชิ้น บางวิชาชีพจะได้ค่าตอบแทนแค่ 100 - 200 บาท แต่บางวิชาชีพกลับได้ 1,000 - 2,000 บาท ถือว่าไม่เป็นธรรม ก็ขอให้ปรับให้เท่ากันทุกวิชาชีพ
       
       “ที่เรียกร้องไม่ได้ต้องการสร้างความแตกแยก แต่ สธ. มีถึง 20 วิชาชีพ ก็ควรใช้หลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมและมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องค่าตอบแทนระหว่างวิชาชีพน้อยลง ซึ่งวิชาชีพอื่นไม่ได้ต้องการให้ได้รับเท่ากับวิชาชีพหลักอย่างแพทย์ แต่ไม่ควรมีความเหลื่อมล้ำกันมากเกินไป ที่สำคัญ ค่าตอบแทนส่วนนี้ หากเปรียบเทียบไปก็เหมือนกับโบนัสในส่วนของภาคเอกชน เพราะฉะนั้น ไม่ควรได้มากกว่าเงินเดือน แต่ปัจจุบันบางวิชาชีพได้สูงถึง 60,000 บาท ขณะที่เงินเดือนเพียง 20,000 - 30,000 บาท แต่บางวิชาชีพได้แค่ 600 - 1,800 บาทเท่านั้น ทั้งนี้ สธ. ควรตั้งคณะทำงานในการพิจารณาปรับหลักเกณฑ์จ่ายค่าตอบแทนให้มีความเป็นธรรม ลดเหลื่อมล้ำ โดยให้มีผู้แทนจากวิชาชีพต่าง ๆ เข้าร่วมด้วย” นายริซกี กล่าว


โดย MGR Online       2 มีนาคม 2559