ผู้เขียน หัวข้อ: เปิด...ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองฯฉบับใหม่!รับเงินยุติฟ้องอาญา แพ่ง ปกครอง  (อ่าน 1287 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
ท่ามกลางการเคลื่อนไหวอย่างหนักของกลุ่มแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขที่คัดค้าน ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... ด้วยการยืนยันต้องถอนร่างพ.ร.บ.ออกมาทำประชาพิจารณ์ก่อนนำเข้าสภา เกิดกระแสใหม่ ผุดร่างพ.ร.บ.อีกฉบับที่เป็นการนำร่างฉบับสภาทนายความ รัฐบาล และแพทย์ มาผนวกรวมเข้าด้วยกันเหมือนยำ 3 กรอบ ใช้ชื่อ ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือจากรัฐในการคุ้มครองผู้รับบริการและผู้ให้บริการทางสาธารณสุข พ.ศ.... เตรียมทำประชาพิจารณ์และนำเข้าสู่สภา รวมกับอีก 7 ร่างที่จ่ออยู่ในสภาแล้ว

 เนื้อหาสาระของร่างใหม่มีส่วนที่ปรับปรุงและแตกต่างจากร่างฉบับรัฐบาล เดิมมาก โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นประเด็นการคัดค้าน ทั้งประเด็นบุคคลที่ได้รับการคุ้มครอง, การวินิจฉัยมาตรฐานวิชาชีพ, คณะกรรมการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข ที่มาเงินกองทุน ยิ่งกว่านั้น คือ การหมดสิทธิ์ฟ้องหากรับเงินแล้ว เริ่มจาก มาตรา 3 ผู้เสียหาย หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการรับหรือการให้บริการสาธารณสุขจากสถาน พยาบาล จากเดิมมุ่งคุ้มครองเฉพาะผู้รับบริการเท่านั้น

 หมวด 1 มาตรา 5 ภายใต้ภาวะเร่งด่วนที่เป็นไปเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยหรือทารกในครรภ์ให้พ้นจาก อันตรายต่อชีวิตหรือความพิการใดๆ หากการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพก่อให้เกิดผลกระทบใดๆ ต่อสุขภาพกายหรือใจของผู้ป่วย ผู้ประกอบวิชาชีพย่อมได้รับความคุ้มครองโดยไม่ต้องรับผิดทางอาญาและทางแพ่ง เว้นแต่เป็นการกระทำโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

 ภาวะเร่งด่วน คือ เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย ช่วยชีวิตทารกในครรภ์ ช่วยให้ผู้ป่วยพ้นหรือบรรเทาจากสภาวะทุพพลภาพหรือความล้มเหลว ความพิการ และความทุกข์ทรมานหรือความเจ็บปวดทางร่างกาย และประกาศเพิ่มได้อีก ซึ่งฉบับเก่าไม่มีการกำหนดในส่วนของการคุ้มครองผู้ให้บริการไว้แต่อย่างใด

 ส่วนการคุ้มครองผู้ เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข หมวด 3 มาตรา 9-10 มีการกำหนดเงื่อนไขไว้เช่นเดิม ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชยจากกองทุนตามพ.ร.บ. โดยไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด แต่มิให้ใช้บังคับในกรณีเดิมเช่นกัน คือ ความเสียหายตามปกติธรรมของโรค หลีกเลี่ยงมิได้ และไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติ โดยตัดส่วนที่กำหนดว่ามาตรฐานวิชาชีพออกไป

 หมวด 4 มาตรา 11 ในส่วนของคณะกรรมการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข เพิ่มเติมให้มี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้แทนประกอบวิชาชีพจำนวน 4 คน และผู้แทนสถานพยาบาลจำนวน 2 คน ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านคุ้มครองสิทธิ ผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพจำนวน 6 คน และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 6 คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุขและ ด้านสังคมศาสตร์ ด้านละ 3 คน รวมเป็น 27 คน จากเดิม 18 คน
 มาตรา 16 คณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชย นอกจากจะประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านนิติศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ และด้านการคุ้มครองผู้ บริโภค ด้านละ 1 คนแล้ว ให้เพิ่มผู้แทนสถานพยาบาลและผู้แทนผู้รับบริการสาธารณสุข อีกฝ่ายละ 1 คน มาตรา 23 ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นสำนักงานเลขานุการ หมวด 5 มาตรา 24 เรื่องวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบ บริการสาธารณสุข เพิ่มเติม การจ่ายเพื่อสนับสนุนหรือช่วยเหลือหรือคุ้มครองผู้ให้บริการ

 มาตรา 26(2) เรื่อง องค์ประกอบกองทุน เพิ่มที่มาของเงินกองทุนอีก 1 ส่วน คือ เงินที่ได้จากหน่วยงานของรัฐ หรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์หรือเกี่ยวข้องกับการจัดบริการด้านสาธารณ สุขหรือการแพทย์ โดยพิจารณาตามอัตราส่วนของการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของสถาบันกับการลด ภาระการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐหรือกองทุน มาตรา 27 ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของกองทุนและดำเนินการ เบิกจ่ายเงินกองทุน

 สำคัญที่สุดอยู่ตรง มาตรา 37 ให้ผู้ให้บริการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายมอบอำนาจให้กองทุน จัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้เสียหาย กรณีที่มีการตกลงยินยอมรับเงินชดเชย ให้สิทธิในการฟ้องคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีปกครอง เป็นอันระงับไป

 และมาตรา 38 ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพยุติการดำเนินการตามพ.ร.บ.นี้ และผู้เสียหายหรือทายาทไม่มีสิทธิ์ที่จะยื่นคำขอตามพ.ร.บ.นี้อีก ในกรณีนี้ให้ศาลมีคำสั่งเรียกกองทุนเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดี

 บทเฉพาะกาล มาตรา 51 ในระหว่างที่ยังไม่มีกรรมการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณ สุข ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 18 คน เพิ่มผู้แทนวิชาชีพสาธารณสุขจำนวน 4 คน ผู้แทนสถานพยาบาลจำนวน 2 คน ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุข และด้านสังคมศาสตร์ จากเดิมที่มีเพียง ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน จำนวน 6 คน และผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ สื่อสารมวลชน และการเจรจาไกล่เกลี่ยสาธารณสุข มาตรา 52 ให้สถานพยาบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนภายใน 2 ปีนับแต่วันที่พ.ร.บ.ใช้บังคับ และมาตรา 53 ให้ผู้เสียหายจากการรับและให้บริการในสถานพยาบาลมีสิทธิ์ยื่นคำขอรับเงิน เมื่อสถานพยาบาลนั้นๆ จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน

 แรงกดดันหนักสุด ณ ขณะนี้ ตกอยู่ที่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลหรือ วิปรัฐบาล ผู้ต้องชี้ชะตาว่าจะหยิบยกร่างพ.ร.บ.ขึ้นมาพิจารณาในสภาเมื่อไหร่ แต่จนถึงวันนี้ วิป ยังย้ำคำเดิม “กระทรวงสาธารณสุขต้องไปทำประชาพิจารณ์ก่อนสภาจะพิจารณา” ส่วนจุดยืน “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ชัดเจนเช่นกัน ถามที่ไรได้คำตอบแทบจะเหมือนกันทุกครั้ง “เป็นหน้าที่วิปที่จะพิจารณาว่าจะเอาร่างพ.ร.บ.นี้เข้าสู่การพิจารณาของสภา เมื่อไหร่”

 แต่สิ่งที่ สธ.ควรจะทำในขณะนี้ คือ การประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองฯ เพื่อยุติความขัดแย้งและเห็นต่างของทุกฝ่าย ก่อนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 ที่บุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศนัดแต่งดำชุมนุมประท้วง !!!

ร่างพ.ร.บ. 7 ฉบับที่อยู่ในสภา
1.ฉบับรัฐบาล
2.ฉบับนายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
3. ฉบับ นพ.บรรพต ต้นธีรวงศ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
4.ฉบับนางอุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย
5.ฉบับนายเจริญ จรรย์โกมล ส.ส.พรรคเพื่อไทย
6.ฉบับ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง
7.ฉบับ นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ
อนึ่ง ฉบับ นพ.ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนธ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ขอถอนออกไป 


คม ชัด ลึก
1 กุมภาพันธ์ 2554