ผู้เขียน หัวข้อ: โต้ลดบุหรี่ไม่ได้ผล แจงคนสูบน้อยลง 6.5 ล้านคน  (อ่าน 405 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
โต้มาตรการลดสูบบุหรี่ไม่ได้ผล “หมอประกิต” งัดข้อมูลชี้แจง จำนวนคนไทยเพิ่มขึ้น แต่สามารถลดจำนวนคนสูบบุหรี่ลงได้มากกว่าที่ควรจะเป็นถึง 6.5 ล้านคน ห่วงบริษัทบุหรี่ให้ข้อมูลไม่เป็นจริงผ่านสื่อ

        วันนี้ (6 ม.ค.) ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ กำลังโจมตีว่า สธ. ไม่ควรออกกฎหมายฉบับนี้ เพราะที่ผ่านมามาตรการและนโยบายต่างๆ ก็ไม่สามารถลดคนสูบบุหรี่ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ เพราะจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ แต่กลับสามารถลดจำนวนคนสูบบุหรี่ได้อย่างมากกว่า 6.5 ล้านคน โดยในปี 2534 ประชากรไทยอายุมากกว่า 15 ปี มีประมาณ 38.3 ล้านคน คนสูบบุหรี่ประมาณร้อยละ 32 แต่ปี 2556 ประชากรเพิ่มเป็น 53.9 ล้านคน แต่สามารถลดคนสูบบุหรี่ลงได้เหลือร้อยละ 19.9
       
       “หากอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยในปี 2556 คงที่อยู่ที่ร้อยละ 32 เหมือนปี 2534 ประเทศไทยจะมีประชากรที่สูบบุหรี่ 17.2 ล้านคน แต่การสำรวจเมื่อปี 2556 มีคนไทยที่สูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน ดังนั้น จำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่จึงลดลงจากที่ควรเป็น 6.5 ล้านคน ถ้ามาตรการควบคุมยาสูบไม่ได้ผล และอัตราการสูบบุหรี่ไม่ได้ลดลง แต่การที่จะลดจำนวนคนที่ติดบุหรี่เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะบุหรี่มีอำนาจเสพติดสูงเทียบเท่าเฮโรอีน” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
       
       ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า สถิติพบว่าเด็กไทย 10 คน ที่ติดบุหรี่ 7 คน จะติดไปตลอดชีวิต และในอีก 3 คนที่เหลือแต่ละคนจะต้องสูบไป 20 ปีก่อนที่จะเลิกได้ ขณะที่บริษัทบุหรี่ใช้กลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อล่าลูกค้ารายใหม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งทั้งหมดเป็นเยาวชนที่อายุเฉลี่ย 17 ปีเศษ เพื่อทดแทนผู้สูบบุหรี่ที่เลิกสูบหรือเสียชีวิต ที่สำคัญมาตรการต่าง ๆ ที่จะลดการสูบบุหรี่จะถูกคัดค้านโดยบริษัทบุหรี่มาโดยตลอด ทั้งการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงผ่านสื่อต่างๆ “การซื้อความเงียบ” ด้วยการบริจาคแก่หน่วยงานและองค์กรต่างๆ และที่อ้างว่า “ทำกิจกรรมเพื่อสังคม” การใช้อำนาจเงินวิ่งเต้นผู้กำหนดนโยบาย จนกระทั่งการฟ้องศาลเพื่อยับยั้งกฎหมายที่จะส่งผลให้คนสูบบุหรี่น้อยลง
       
       ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า เนื่องจากบุหรี่เป็นสิ่งเสพติดที่ทำให้ครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลา รัฐบาลทั่วโลกจึงพยายามที่จะปกป้องประชาชนจากพิษภัยบุหรี่ ทั้งมาตรการทางภาษีและกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายควบคุมการตลาดของบริษัทบุหรี่ กระทรวงสาธารณสุขจึงเสนอร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเด็กๆ ไม่ให้เข้าไปเสพติดบุหรี่ อันจะทำให้จำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่ค่อยๆ ลดลงในอนาคต สังคมไทยจึงควรรู้เท่าทันแท็กติก และข้อโต้แย้งต่างๆ ที่ฝ่ายที่คัดค้านร่างกฎหมายฉบับใหม่งัดมาใช้ เพื่อปกป้องกำไรของบริษัทบุหรี่

ASTVผู้จัดการออนไลน์    6 มกราคม 2558