ผู้เขียน หัวข้อ: นำร่อง 11 อำเภอต้นแบบ ตีทะเบียน “พิการ” แต่กำเนิด  (อ่าน 408 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
นำร่อง 11 อำเภอต้นแบบ จดทะเบียนความพิการแต่กำเนิด คัดกรองชัดเจน 5 กลุ่มโรค ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข
       
       วันนี้ (19 ธ.ค.) ที่ รร.ตวันนา ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด(ประเทศไทย) แถลงผลการดำเนินโครงการระดับชาติเพื่อป้องกันดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิด 3 ปีแรก (2554 - 2557) ว่า ความพิการแต่กำเนิด ป้องกันได้ รวมทั้งสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กพิการตั้งแต่แรกเกิดและครอบครัวได้ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ปัจจุบันได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในลักษณะเครือข่ายระดับชาติ โดยสมาคมฯ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะแพทยศาสตร์ 8 แห่ง และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 7 เขต ร่วมทำงานใน 22 จังหวัดนำร่อง เกิด 11 อำเภอต้นแบบ จดทะเบียนความพิการแต่กำเนิดและสร้างระบบการดูแลรักษาและป้องกันความพิการตั้งแต่แรกเกิด พัฒนาคู่มือและสร้างระบบลงทะเบียนความพิการตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมเพราะเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการสำรวจข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อให้ทราบสถานการณ์ความพิการตั้งแต่แรกเกิดใน 5 กลุ่มโรค คือ

1. อาการดาวน์
2. หลอดประสาทไม่ปิด
3. ปากแหว่งเพดานโหว่
4. แขนขาพิการแต่กำเนิด และ
5. กล้ามเนื้อเสื่อมพันธุกรรมดูเชนน์
       
       “ระยะต่อไปตั้งเป้าขยายความร่วมมือให้ครบ 12 เขต สปสช. และเพิ่มโรคที่จะขึ้นทะเบียน คัดกรอง อาทิ ธาลัสซีเมีย พันธุกรรมเมตาบอลิคที่รุนแรงกว่ากลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม หัวใจพิการตั้งแต่แรกเกิด รวมทั้งวางมาตรฐานตรวจการได้ยิน และสายตา ซึ่งบางโรคจำเป็นต้องได้รับการคัดกรองที่รวดเร็วเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ ที่สำคัญ การดูแลอย่างต่อเนื่อง พัฒนาศักยภาพของเด็กพิการตั้งแต่แรกเกิด จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขได้ ซึ่งเฉพาะ 5 โรคนี้มีเด็กเข้ารับการรักษาต่อเนื่องในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ใช้งบกว่า 600 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากมีความเสี่ยงเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น กลุ่มอาการดาวน์ สามารถเกิดโรคทางระบบหัวใจได้ 30 - 40% และหากไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสมอาจเกิดปัญหาบกพร่องทางปัญญาซ้ำซ้อน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่หากกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม จะมีพัฒนาการทางสมองเพิ่มขึ้น ดูแลตัวเองได้ และเรียนร่วมกับเด็กปกติได้และมีโอกาสประกอบอาชีพง่ายๆได้” ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ กล่าว
       
       ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ กล่าวด้วยว่า การมีข้อมูลสถานการณ์ปัญหาที่ชัดเจน จะกระตุ้นให้ภาครัฐเห็นความสำคัญและวางนโยบายการแก้ปัญหาอย่างเป็นองค์รวมได้ สิ่งสำคัญที่สุดต้องเร่งให้ความรู้ประชาชนเพื่อนำไปสู่การป้องกันความพิการแต่กำเนิดที่สามารถป้องกันได้ เช่น การตั้งครรภ์ในช่วงวัยที่เหมาะสม การให้ประชากรหญิงได้รับสารอาหารที่สำคัญ โดยเฉพาะโฟเลต ที่พบว่าช่วยป้องกันความพิการที่รุนแรงตั้งแต่กำเนิดได้อย่างชัดเจน ทั้งโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ปากแหว่งเพดานโหว่ ความพิการของระบบสมองประสาท นอกจากนี้ ยังต้องสร้างความร่วมมือของท้องถิ่น ทำให้ชุมชนเข้าใจ เพื่อช่วยดูแลครอบครัวที่เกิดความพิการตั้งแต่กำเนิดได้ด้วย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    19 ธันวาคม 2557