ผู้เขียน หัวข้อ: “กินเจแบบไม่จำเจ” เคล็ดลัดแบบฉบับกูรูมหา'ลัย  (อ่าน 1203 ครั้ง)

science

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 184
    • ดูรายละเอียด
สัญลักษณ์ธงเหลืองปลิวไสวอยู่ตามแผงร้านอาหาร เป็นสัญญาณบ่งบอกถึง "เทศกาลกินเจ" ที่หลายคนเลือกจะงดบริโภคอาหารสัตว์ แล้วหันมาทานผัก โปรตีนที่ได้จากถั่ว เต้าหู้แทน พร้อม ๆ ไปกับการรักษาศีล ทำความดี ซึ่งในปีนี้ผู้คนจำนวนมากสนใจหันมาร่วมถือศีลกินเจมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่วัยรุ่นตอนนี้ก็หันมากินเจเพิ่มมากขึ้นด้วย

       Life On Campus จึงไม่พลาดที่จะเรียนเชิญ อาจารย์อมราภรณ์ วงษ์ฟัก กูรูด้านอาหารเจจากหลักสูตรคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) มาให้คำแนะนำน้องๆ วัยรุ่น นิสิต นักศึกษา เกี่ยวกับการเลือกกินอาหารเจ การเตรียมตัวให้พร้อมกับการกินเจ การกินเจให้สมวัย ข้อควรระวังและความปลอดภัยในการกินอาหารเจ เอาไว้อย่างน่าสนใจ
       
       กินเจให้สมวัย
       อาจารย์อมราภรณ์ กล่าวถึงการรับประทานอาหารเจสำหรับวัยรุ่นมือใหม่หัดทาน ว่า หากพูดถึงเทศกาลอาหารเจ สิ่งแรกที่วัยรุ่นต้องทำความนึกถึง ข้อห้าม ข้อละเว้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเมื่อเริ่มต้นเลือกรับประทานอาหารเจ
       
       “อาหารเจ เราต้องหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ทุกชนิด และปรุงอาหารด้วยแป้ง เต้าหู้ ซีอิ๊ว ถั่วเหลือง ถั่วต่าง ๆ รวมทั้งผักนานาชนิด ยกเว้น ผักฉุน 5 ประเภท ที่เป็นผักรสหนักมีกลิ่นเหม็นคาวรุนแรง ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ และยังมีพิษทำลายพลังธาตุทั้ง 5 ในร่างกาย ส่งผลให้อวัยวะหลักสำคัญภายในทั้ง 5 ทำงานไม่ปกติ ได้แก่ 1.กระเทียม หัวกระเทียม ต้นกระเทียม ส่งผลกระทบต่อธาตุไฟของร่างกาย แม้ว่ากระเทียมจะมีสารที่ช่วยลดคอเลสเตอรอล แต่กระเทียมมีความระคายเคืองสูง อาจไปทำลายการทำงานของหัวใจได้ ผู้เป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือโรคตับ ไม่ควรรับประทานมาก
       
       2.หัวหอม รวมไปถึงต้นหอม ใบหอม หอมแดง หอมขาว หอมหัวใหญ่ ซึ่งตามหลักการแพทย์โบราณของจีนเชื่อว่า หัวหอม จะกระทบกระเทือนต่อธาตุน้ำในร่างกาย และไปทำลายการทำงานของไตได้ แม้ว่าหอมแดง จะมีฤทธิ์ช่วยขับลม แก้ท้องอืด แก้ปวดประจำเดือน แต่ไม่ควรบริโภคมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการหลง ๆ ลืม ๆ ได้ง่าย รวมทั้งนัยน์ตาพร่ามัว มีกลิ่นตัว
       
       3.หลักเกียว หรือที่รู้จักว่า กระเทียมโทนจีน ลักษณะคล้ายหัวกระเทียมที่พบเห็นทั่วไป แต่จะมีขนาดเล็กและยาวกว่า ในทางการแพทย์ของจีนเชื่อว่า หลักเกียว ส่งผลกระทบกระเทือนต่อธาตุดินในร่างกาย และไปทำลายการทำงานของม้าม
       
       4.กุยช่าย เชื่อกันว่า กุยช่าย จะไปกระทบกระเทือนต่อธาตุไม้ในร่างกาย และทำลายการทำงานของตับ
       
       5.ใบยาสูบไม่ว่าจะเป็นยาเส้น บุหรี่ ของเสพติดมึนเมา อะไรต่าง ๆ จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อธาตุโลหะในร่างกาย และทำงานการทำงานของปอด
       
       นอกจากนี้จะต้อง งดเว้นเนื้อสัตว์ นม เนย หรือน้ำมันที่มาจากสัตว์ งดอาหารรสจัด หมายถึง อาหารรสเผ็ดมาก เค็มมาก หวานมาก เปรี้ยวมาก และที่สำคัญต้องรักษาศีล 5รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์ให้คงที่ พูดจาไพเราะ"

เมนูอาหารหลากหลาย ปลอดเนื้อสัตว์
       อย่าหลงเชื่อ “กินเจ ทำให้ผอม”
       
       “อย่าคาดหวังว่า ทานเจ แล้วจะผอม ถ้าเลือกกินอาหารแบบผิดๆ อาจทำให้อ้วนมากกว่าเดิม” นี้คำยืนยันแนะนำของกูรูด้านโภชนาการ อาจารย์อมราภรณ์ กล่าวเสริมว่า หลักของการรับประทานอาหารเจคือ งดทานเนื้อสัตว์ และเลือกรับประทานอาหารจำพวกผักและแป้ง แต่บางคนไม่ทานผัก ก็ต้องเลือกทานแต่แป้ง หรือของทอดที่หาซื้อยากตามท้องตลาด
       
       “วิธีที่ดีที่สุด คือ การเลือกรับประทานอาหารเจอย่างถูกวิธี รับประทานอาหารประเภทแป้งพอดี หลีกเลี่ยงอาหารประเภทผัด ทอด ซึ่งใช้น้ำมันเยอะ ควรกินอาหารประเภท ต้ม นึ่ง หรืออบ ทานแป้งในปริมาณเท่าเดิม และหันมาทานผักมากขึ้น 10วันที่ทำให้น้ำหนักลดลง หรือ 10 วันที่ทำให้น้ำหนักคงที”

       เปิดคอร์สเรียนทำอาหารเจ ที่ มสด.
       
       อาจารย์อมราภรณ์ กล่าวว่า เป็นประจำทุกๆ ปีที่ หลักสูตรคหกรรมศาสตร์ เปิดคอร์สพิเศษให้นักศึกษาปี 3 เรียนรู้วิธีการทำอาหารเจ ดัดแปลงเมนูอาหารเจแบบง่ายๆ สามารถทำรับประทานเองได้
       
       “ ชื่อคอร์ส“อาหารมังสวิรัตและอาหารเจ” สอนทั้งทฤษฏีและปฎิบัติ เด็กนักศึกษาจะได้เรียนรู้ว่า อาหารเจและมังสวิรัตแตกต่างกันอย่างไร รวมทั้งจะต้องเรียนทำเต้าหู้ นำถั่วเหลืองมาทำเต้าหู้แผ่น เพราะเรามองว่า เด็กเหล่านี้สามารถทำอาหารเจได้หลากหลาย ทั้งน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง หรือแม้แต่โปรตีนเกษตร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ นักศึกษาหลายคนนำความรู้ไปบอกต่อครอบครัว ประกอบเป็นอาชีพเสริมได้ในช่วงเทศกาลกินเจ”
       
       จับฉ่าย “1 วัน 3เมนูใหม่”
       
       อาจารย์อมราภรณ์ กล่าวเอ่ยทิ้งท้ายด้วย เมนูจับฉ่าย เป็นเมนูยอดฮิตสำหรับคนกินเจ ให้น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น ไม่จำเจ หรือน่าเบื่ออีกต่อไป แถมยังอุดมไปด้วยวิตามินจากผักนานาชนิด
       
       “บางครอบครัวมักเลือกทำจับฉ่ายหม้อใหญ่ ที่จะสามารถนำมารับประทานได้ทุกมื้อ แต่พอทานไปเรื่อยๆ อาจจะทำให้เบื่อได้ เรามีจึงคิดปรับเมนูจับฉ่ายให้น่ากินมากยิ่งขึ้น เริ่มจาก มื้อเช้า นำข้าวเย็นที่เหลือจากเมื่อวาน นำมาต้มใส่น้ำ กลายเป็นข้าวต้มโรยหน้าด้วยจับฉ่าย หรือนำฟองเต้าหู้มาทอด แล้วโรยหน้าจับฉ่ายผัดเหมือนกับโจ้กที่มีหมี่กรอบโรยหน้า หรือเอาวุ้นเส้นมาผัดรวมกับจับฉ่าย กลายเป็นจับฉ่ายผัดแห้ง รับประทานแทนข้าว น่ารับประทานไปอีกแบบ”

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    18 ตุลาคม 2555