ผู้เขียน หัวข้อ: ฉันจึงมาหาความหมาย  (อ่าน 1176 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
ฉันจึงมาหาความหมาย
« เมื่อ: 12 มีนาคม 2012, 21:39:52 »
“ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว” ...
วิทยากร เชียงกูล

1
 
ผมมีโอกาสอยู่ในมหาวิทยาลัยมา 10 ปี ในหลายสถานะ และมักได้ยินคำถามเสมอว่า “นักศึกษาหายไปไหน” ผมมักงงกับคำถามเหล่านี้เสมอ เพราะในสำนึกของผมก็เห็นเขาเดินทั่วมหาวิทยาลัย ไม่ได้หนีไปไหน 

เพิ่งไม่นานมานี้ผมถึงได้คำตอบว่า “สิ่งที่เขาถาม” กับ “สิ่งที่ผมเข้าใจ” มันคนละความหมายกัน สิ่งที่เขาถามไม่ใช่ “ตัวนักศึกษา” แต่เป็น “บทบาท สถานะ” ของนักศึกษาต่างหากที่หายไป  ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ  นิสิตนักศึกษาหายไปไหน ทำไมไม่เข้ามาร่วมต่อสู้กับพี่น้องประชาชนนี้ต่างหากละที่เขาถาม 

ซึ่งแตกต่างจากการเคลื่อนไหวต่อสู้ของนิสิตนักศึกษาในช่วง 14 ตุลาคม 2516-6 ตุลาคม 2519  ที่นิสิต/นักศึกษามีบทบาทอย่างสำคัญในการต่อสู้กับเผด็จการ และเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ผู้ยากไร้  โดยนิสิตนักศึกษาในยุคนั้นเชื่อมั่นว่าพลังเล็กๆ ของตนจะเปลี่ยนโลก แม้ว่าขบวนการนักศึกษาในเวลานั้นจะพ่ายแพ้ต่อพลังอนุรักษนิยม  แต่พลังอันบริสุทธิ์ของเขาเหล่านั้นได้กลายเป็นอุดมคติของหนุ่มสาวยุคต่อมา  แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะเปลี่ยนร่างพรางตัวไปเป็นเหลืองบ้าง แดงบ้าง หรือไม่มีสีก็ตาม
 
นิสิต/นักศึกษา ในยุค 14-6 ตุลาฯ จึงกลายเป็นอุดมคติของคนหนุ่มคนสาว  และเป็นที่คาดหวังของสังคมว่านิสิต/นักศึกษา ในยุคหลังต้องเป็นเสมือนคนยุคนั้น แม้ว่าบริบททางสังคมจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม

2
 
อย่างไรก็ตามความแตกต่างอย่างสำคัญของนิสิต/นักศึกษาในอดีตกับปัจจุบันที่เห็นอย่างเด่นชัด 3-4 ประการ คือ
 
1. บริบททางสังคมที่นิสิต/นักศึกษาใน 2 ช่วงเวลา คือ นิสิต/นักศึกษาในช่วง 14-6 ตุลาฯ อยู่ภายใต้บริบทการต่อสู้กันระหว่างอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ กับประชาธิปไตย  ท่ามกลางการต่อสู้ของ 2 ขั้วอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกากับโซเวียต การแบ่งโลกออกเป็น 2 ขั้ว ทำให้นิสิต/นักศึกษาอยู่ภายใต้ความขัดแย้ง ที่ต้องแสวงหาองค์ความรู้ต่อโลกที่เขาเผชิญ ท่ามกลางวาทกรรมมากมาย เช่น “คอมมิวนิสต์จะทำให้เลิกนับถือพ่อแม่ ศาสนา ยึดทรัพย์สินแม้แต่ลูกเมียก็ต้องเอาเป็นของกลาง”  “ใครไม่ซ้ายไม่มีหัวใจ” เป็นต้น โลกของเขาเหล่านั้น คือ “โลกแห่งการหาค้นหาความหมายของชีวิต” การเกิดขบวนการ นักศึกษาในเวลานั้นเป็นปรากฏการณ์ของทั้งโลกที่เรียกว่ายุค “60” ได้เกิดขบวนการเรียกร้องให้ยุติสงครามเวียดนาม การเกิดกลุ่มบุพผาชน ในสหรัฐอเมริกา  การต่อต้านสังคมในส่วนต่างๆ ของโลก
 
โลกของนักศึกษาในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว  เขาไม่ได้อยู่ในโลกของการแบ่งโลกออกเป็น 2 ขั้ว โลกของเขาปราศจากสงครามเชิงกายภาพขนาดใหญ่ แต่อยู่ในโลกของทุนนิยม บริโภคนิยม และโลกไร้พรมแดน  ที่ไม่ต้องเผชิญกับ “โลกแห่งการหาความหมายของชีวิต” เพราะชีวิตเขาเหล่านั้นหาความหมายได้จากการ “ดื่มโค้ก” “กินแมคโดนัลด์” “เล่นไอโฟน” “ใส่ลาคอสต์” “เที่ยวสยามพารากอน” “จ่ายครบจบแน่” ซึ่งโลกแบบนี้มีความหมายมากมาย  แล้วแต่จะเลือกใช้/เลือกเป็น  เปลี่ยนได้ทุกวันไม่ต้องปวารณาตัวเป็นสาวกของมาร์ก หรือเคน อีกแล้ว  โลกแบบนี้จึงเปลี่ยนแปร ปรับเปลี่ยนได้ตามปรารถนา โดยไม่ต้องหาเวลาสร้างความหมายให้เหนื่อยจิต เพราะสิ่งที่เขาใช้บ่งบอกความหมายของตนอยู่แล้ว
 
2. ระบบการศึกษาแบบ “จ่ายครบจบแน่” ไม่ได้สร้างให้นักศึกษา แสวงหาความรู้  การเรียนการสอนถูกลดถอนให้เหลือแต่เพียงการเรียน “เชิงเทคนิค” เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพมิได้สอนให้คิดวิเคราะห์  ไม่ต้องตั้งคำถาม จำให้ได้มากๆ  สอบให้ผ่าน  ลอกบ้างอะไรบ้าง ได้ใบ “ปริญญา” สักใบ ไม่ต้องสนว่ามีความรู้มากน้อย เพราะไม่สำคัญเท่า “ไอ้ใบ” ที่ได้

“ไอ้ใบ” นี้มันคือ “พระเจ้า” บันดาลได้ทุกอย่าง ซึ่งคำถามง่ายๆ ว่าการทำให้ไอ้ใบนี้กลายเป็นพระเจ้านี้ เป็นการ “สร้างความหมาย” จากใคร นักศึกษา หรือว่าสังคมไทย
 
คำตอบง่ายๆ โดยไม่ต้องคิด คือ “สังคมไทยเรานี้เองครับ”  ที่สร้างให้ “ไอ้ใบ” นี้วิเศษ เป็นแก้วสารพัดนึก เราทำให้ไอ้ใบนี้เข้มขลัง โดยพิธีกรรมต่างๆ  เช่น การพระราชทานปริญญา ที่ต้องซ้อมอย่างเอาเป็นเอาตาย ผมเรียนมาเจ็ดปีไม่เหนื่อยเท่าซ้อมรับ “ไอ้ใบ” นี้ 3 วัน  ในวันรับปริญญาต้องใส่ชุดประหลาดๆ ที่ใส่ไปไหนในเวลาปกติไม่ได้เพราะเขาจะว่าบ้า  มีพระบรมวงศานุวงศ์มาพระราชทาน มีพระสวด นั่งนิ่งๆ ห้ามคุย ห้ามหลับ (ทั้งที่บรรยากาศให้เสียไม่มี) ฯลฯ ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่านั่งในโบสถ์เสียอีกครับ  แต่ “ไอ้บ้า” กับ “ไอ้ใบ” นี้ช่างมีอภิสิทธิ์เหลือเกินในสังคมไทย
 
3. “เราอยู่กันคนละโลก” โลกของผู้ใหญ่ กับโลกของนิสิตนักศึกษา อยู่บนผืนดินเดียวกัน แต่ฝันกันถึงโลกคนละใบ  เราท่านมักเรียกร้องให้นิสิตนักศึกษา  ทำนั้น  ทำนี้  ตามที่ท่าน “ต้องการ” แต่ท่านไม่เคยให้เขา “คิด” อย่างที่เขาอยากเห็น  ผมยกตัวอย่างกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ที่แต่ละกิจกรรมด้วยความเคารพนะครับ “หาสาระไม่ค่อยได้” เช่น การรับน้อง ที่ยืนยันนั่งยันนอนยันให้เห็นลำดับชั้นของคนจนขาดมิติอื่นๆ  งานขันโตก  กีฬาสี ฯลฯ  ถามว่ามันนำพาให้นิสิต/นักศึกษา  เปิดโลกทัศน์ มองโลกจากความเป็นจริง เห็นความทุกข์ยาก ลำบากของคนเล็กคนน้อยในสังคมหรือไม่
 
ค่ายอาสาที่เคยเฟื่องฟูในยุค 14-6 ตุลาฯ  ไม่มีอีกแล้ว  ถึงมีก็น้อยลงหรือแทบไม่มีความหมาย
 
ค่ายอาสาในมหาวิทยาลัย ที่เป็นการให้นักศึกษาได้เรียนรู้ การเสียสละ การทำงานกลุ่ม เข้าใจความลำบาก ทุกข์ยากของคนอื่นตายสนิทในมหาวิทยาลัยไทย
 
โลกของผู้ใหญ่  ที่ต้องการให้เด็กคิด  เด็กเป็น  ตามที่ตนเองปรารถนา  โดยไม่ให้เขากล้าที่จะคิด  กล้าที่จะทำ  เรียนรู้ถูก/ผิด  เพื่อหล่อหลอมให้เขาตามที่เขาอยากเป็น  แล้วเราท่านเรียกร้องหาเขาทำไมครับ  เขาเหล่านั้นไม่ได้หายไปไหน แต่เขามีโลกของเขาอีกใบหนึ่งครับท่าน

4.  ความเปลี่ยนแปรของสังคมไทย ทำให้อุดมคติ “ตายด้าน” อุดมคติหารับประทานไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เช่น เรายอมรับกันไหมครับว่าระหว่างความดีกับความรวย  เราให้คุณค่าไม่ต่างกัน  หรือจะให้ค่าความรวยมากกว่าความดีด้วยซ้ำ (ผมใช้คำว่าความดีเพราะจะชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของไพร่หรือผู้ดี  แต่เป็นค่านิยมของสังคมที่เห็นร่วมกันว่า ความดีความงาม คืออะไร โดยไม่ต้องใช้ ความดีความงามมาใส่ป้ายหยามเหยียดกัน)
 
เราเคารพนบนอบคนรวย  แม้ว่าเขาจะรวยมาจากการเอาเปรียบ ฉ้อฉล โกง ทำร้าย ทำลาย ฯลฯ คนอื่นมามากน้อยแค่ไหนก็ตาม เพราะกูไม่รู้ หรือรู้ก็แกล้งลืม ส่วน “ไอ้ดี” นี้แต่มึงจนก็ไร้ค่า เช่น คนเก็บขยะเก็บของคืนเจ้าของ  ช่วยจับโจรได้ หรือ ฯลฯ ก็ไม่มีความหมายได้รับการ” โปรโมทชั่วประเดี๋ยวประด๋าว  สุดท้ายก็ลืมกันไป  ผมไม่เห็นใครจำได้แล้วยกมือทักทายเขาเหล่านั้นอีกเลย
 
แต่ “ไอ้รวย” นี้ไง ไปไหนใครก็จำได้  เคารพนบไหว้  ผมไม่เคยเห็นนิสิตนักศึกษา  ปวารณาตัวว่าจะ “จน” ผมเห็นแต่คนฝันว่าจะ “รวย” ทั้งนั้น ก็สังคมเราคาดหวังอย่างนี้ครับแล้วจะถามหา “นิสิต/นักศึกษา” ทำไมครับเจ้านาย

3
 
คำตอบของผมข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งที่พยายามหาคำตอบต่อความเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็มีอีกหลายคำตอบที่ไม่สามารถอธิบายได้ในที่นี้  แต่นิสิต/นักศึกษาไม่ได้หายไปไหนหรอกครับ  เขาเหล่านั้นอยู่ในโลกของเขา  โลกที่เราสร้างขึ้นไงครับ  เป็นโลกที่เราท่านต่างมีส่วนไม่มากก็น้อย โลกที่เป็นของผู้ใหญ่ กำหนดให้เดิน แล้วเขาก็เผชิญโลกอย่างที่เขาเป็น แล้วเราเรียกร้องให้เขาออกมาอย่างที่เราต้องการ  ทั้งที่เขาก็มีโลกของเขาอยู่แล้ว เขาไม่มาหรอกครับ ตราบใดที่เรายังไม่ปรับเปลี่ยนทัศนคติ เราก็จะกักขังมโนคติ และความคาดหวังของเราต่อไป ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก
 
ผมหวังว่าอุดมคติแบบ 14-6 ตุลาฯ จะหวนกลับมาอีกครั้งท่ามกลางความเปลี่ยนแปรของโลก นิสิต/นักศึกษาจะกลับมามี “หัวใจ” อีกครั้ง “หัวใจ”  ในแบบที่เขาเป็นนะครับ ไม่ใช่หัวใจซ้ำๆ ของผู้ใหญ่บางคน
 
แต่เราท่านต้องเปลี่ยนทั้งวิธีคิด  โครงสร้างที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ดำรงอยู่ของนิสิต/นักศึกษา ให้เขาอยู่อย่างที่เขาเป็น  และเขาจะกลับมาอีกครั้งครับพี่น้องจึงหวังว่าเราจะมีพื้นที่ให้เขาเหล่านั้น นิสิต/นักศึกษาที่ต้องการทำอะไรให้สังคมยังมีอีกมาก ผมหวังว่าเราจะเปิดพื้นที่ให้เขาเหล่านั้นมี “ตำแหน่งแห่งที่” ของตน แล้วเราจะได้เขากลับมาครับ

โดย : ชัยพงษ์ สำเนียง
กรุงเทพธุรกิจ  12 มีนาคม 2555