ผู้เขียน หัวข้อ: มหกรรมจ่ายยาไม่อั้น!! คนไข้พึงระวัง เสี่ยงตายกว่าเดิม  (อ่าน 866 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9803
    • ดูรายละเอียด
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยุคนี้ เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยก็มักจะนึกถึงสถานพยาบาลเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะช่วงนี้ อากาศเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว อาจทำให้ล้มป่วยลงง่ายๆ จึงต้องรีบหาหมอ หาหยูกยามากิน เพราะต่างคิดกันไปว่า ยาปฏิชีวนะคือของดีที่ช่วยรักษาโรคให้หายขาดได้ในเวลาไม่นาน แต่เคยสังเกตกันบ้างไหมว่า เดี๋ยวนี้ค่าใช้จ่ายในการซื้อยาถึงแพงมากขึ้น ยาที่ได้ก็เพิ่มจำนวนขึ้น เพียงป่วยเล็กๆ น้อยๆ แต่กลับได้รับยามามากมายเกินความจำเป็น หรือนี่คือธุรกิจที่ใช้คนป่วยมาเป็นเครื่องมือสร้างผลประโยชน์ให้กับอาชีพที่เรียกว่า “หมอ”     
       
       หมอไทยจ่ายยาหวังผล
       
        จากจำนวนตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่าในปี 2554 ประเทศไทย มีมูลค่าการบริโภคยาภายในประเทศ 134,286 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35 ของค่าใช้จ่ายสุขภาพของประเทศ จำนวนเงินมหาศาลนี้สูงกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วถึง 2 เท่าตัว โดยประเทศไทยมีการนำเข้าและผลิตยาปฏิชีวนะสูงเป็นอันดับหนึ่ง มีมูลค่าถึง 20% ของยาทั้งหมด หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นและมีแนวโน้มนำเข้ายาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
       
        ข้อมูลจากการศึกษาของกรมการแพทย์ยังพบอีกด้วยว่า เมื่อปี 2553 คนไทยบริโภคยา ทั้งยาแผนปัจจุบันและแผนโบราณที่ผลิตเองและนำเข้าปีละประมาณ 47,000 ล้านเม็ด หรือเฉลี่ยวันละ 128 ล้านเม็ด โดยยาที่คนไทยใช้มากเป็นอันดับ 1 คือยาปฏิชีวนะ คิดเป็น 20% ของยาทั้งหมด จึงเกิดเป็นข้อสรุปว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเกิดปัญหาการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล
       
        ผลจากการศึกษาพฤติกรรมว่าทำไมคนไทยถึงกินยามากขึ้น มูลค่าการใช้ยาเพิ่มสูงขึ้น ก็พบว่า มีทั้งการปรับขนาดยาเองตามใจชอบ การเก็บยาไม่ถูกต้องทำให้ยาเสื่อมหมดอายุ การรับการรักษาจากหลายสถานพยาบาล แม้กระทั่งเชื่อว่าการใช้ยาดีกว่าการป้องกันการเกิดโรค แต่อีกหนึ่งเหตุผลซ่อนเร้นอันน่ากลัวคือเรื่องผลประโยชน์ที่ไม่เข้าใคร ออกใคร
       
        “ระบบการซื้อขายยาตามโรงพยาบาลมันก็จะคล้ายๆ กัน สมมติว่าเรามาขายยา เราก็ต้องไปพบคุณหมอ ต้องไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวยา ส่วนใหญ่ถ้าแค่มาให้ข้อมูลยาเฉยๆ ก็ไม่ได้หรอก อาจจะมีพาไปเลี้ยงข้าว มีของมาให้ พาไปเที่ยว
       
        นอกจากหมอแล้วการพิจารณายาก็จะมีเภสัชกรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อย่างช่วงที่เราทำยาเข้า ถ้าตอนนั้นมียาใหม่ออกมา การจะเอายาตัวนั้นเข้ามาขายในโรงพยาบาลได้ก็จะมีกระบวนการนำยาเข้ามาอยู่ในลิสต์โรงพยาบาล หลังจากนั้นทางโรงพยาบาลก็จะสั่งยาเรื่อยๆ บริษัทยาก็ใช้วิธีเดียวกับที่เสนอให้หมอนั่นแหละมาสนับสนุน ออกเงินไปงานประชุมวิชาการ พาไปเลี้ยงข้าว”
       
        คำบอกเล่าจากเภสัชกรสาว แหล่งข้อมูลทีม Live แสดงให้เห็นว่าการซื้อ-ขายยาจากบริษัทยาเข้าไปจัดจำหน่ายในโรงพยาบาล มีเรื่องของธุรกิจการค้า ผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ประชาชนจึงตกเป็นเหยื่อความไว้วางใจฝากชีวิตไว้ในมือของคนบางคนที่เรียกว่า “หมอ” แต่แหล่งข้อมูลก็กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้ต้องดูเป็นกรณีไป หมอบางคนสั่งยามากๆ หลากยี่ห้อ หวังถ่ายยาออกไปเร็วๆ แต่หมอบางคนที่จ่ายยาแบบคงไว้ด้วยคุณธรรมก็มี
       
        “สมมติบริษัทออกเงินให้ ส่งหมอไปประชุมต่างประเทศ ก็จะเป็นที่รู้กันว่าหมอควรจะมีอะไรตอบแทน ซึ่งการสั่งยาเนี่ยขึ้นอยู่กับหมอแต่ละคนว่าจะจ่ายอะไร เท่าไหน หมอบางคนใช้ทุกยา ทุกตัว เป็นคนจ่ายยาเยอะ หมอบางคนก็ชอบจ่ายยานอก จ่ายยาแพงๆ แต่ก็มีที่จ่ายยาธรรมดา ยาผลิตในไทย ไม่ให้คนไข้ได้รับยามากเกินไป แต่เคสที่ว่าหมอต้องทำให้ได้กี่เคสแล้วจะได้เงินเท่านี้ ยังไม่เคยเจอนะ ตอนนี้มันมีการควบคุมจะทำแบบนี้ก็อาจจะยาก”
       
        ทุกวันนี้หลายคนจึงต้องกินยาหลายเม็ด หลายชนิด ให้ครบตรงตามที่หมอสั่ง ตามฉลากที่แปะติดไว้ข้างซอง ระบุว่าอย่างไรก็กินไปอย่างนั้น แต่ไม่ทราบว่าตัวยาประกอบด้วยอะไร มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง การขาดความรู้ในด้านนี้จึงส่งผลร้ายแก่เราแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว
       
       
       พิษร้าย ภัยกินยาเกินพอดี
       
        การจ่ายยามากเกินความจำเป็น การจ่ายยาซ้ำซ้อน การกินยาเกินขนาด ล้วนเป็นสาเหตุการเกิดพิษสะสมสร้างปัญหาให้ร่างกายตามมา อย่างข่าวครึกโครมที่ออกโรงเตือนเรื่องการรับประทานยาพาราเซตามอลติดต่อกันแล้วตับจะวาย บางตัวยาอาจส่งผลไม่เพียงแค่ตับอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่อวัยวะภายในส่วนอื่นก็เสี่ยงถูกทำลายเพราะฤทธิ์ยาด้วยเช่นกัน เภสัชกรสาวคนเดิมกล่าวว่า พิษสะสมของยาแต่ละตัวนั้นแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงควรศึกษาข้อมูลและอ่านฉลากยาที่ได้รับมาให้ครบถ้วนจะเป็นการดีและปลอดภัยที่สุด
       
        “ผลเสียจากการกินยาซ้ำซ้อน มันขึ้นอยู่กับยาแต่ละตัว อย่าง ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ถ้ากินยาเยอะ กินซ้ำซ้อน มันก็ออกฤทธิ์เหมือนๆ กัน พอฤทธิ์เหมือนกัน มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรอาจจะได้โทษมากขึ้น คือยาจะไปกัดกระเพาะ คนไข้ก็อาจจะรู้สึกแสบท้อง หรือเป็นโรคกระเพาะ แต่ถ้าเป็นยากลุ่มอื่นก็อาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้ากินพาราฯ มากไปก็มีผลต่อตับเพราะขับยาไม่ทัน อาจจะเกิดตับวายได้”
       
        อีกสิ่งหนึ่งที่น่าวิตกกังวล คือเรื่องของคุณภาพยาที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งผลิตโดยบริษัทยาของคนไทย เภสัชกรสาวเล่าต่ออีกว่า ก่อนที่ยาจะถูกจำหน่ายออกไปจะต้องผ่านการสุ่มตรวจคุณภาพ แต่อาจจะมีบ้างที่หละหลวมทำให้ยาล็อตที่ไม่ได้คุณภาพ ไม่ตรงตามมาตรฐานหลุดจำหน่ายออกไป ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องเสี่ยงดวงเอาเองว่าบริษัทยานั้นมีจริยธรรมมากขนาดไหน
       
        “เวลาเราผลิตยาเม็ด มันไม่ได้มีแค่ตัวยาเพียวร์ๆ มันจะมีส่วนประกอบอื่นที่คนมักเรียกว่าแป้ง แต่ความจริงมันไม่ใช่หรอก มันคือสารประกอบที่ทำให้ยาเป็นเม็ดได้ แล้วก่อนที่ยาเม็ดจะได้ออกมาจำหน่ายต้องมีการทดสอบว่า ยานี้แข็งพอมั้ยที่จะเป็นเม็ด แต่ไม่แข็งมากพอที่จะกลืนลงไปแล้วแตกตัวย่อยได้ อีกอย่างคือทดสอบเปอร์เซ็นต์ยาในเม็ดนั้นว่า แต่ละล็อตได้มาตรฐานหรือไม่ ตรงนี้มันอยู่ที่มาตรฐานของแต่ละบริษัท
       
        ส่วนยาที่ผลิตในไทยก็เป็นลิขสิทธิ์ของต่างประเทศ พอ 20 ปีผ่านไปหมดสิทธิบัตรแล้ว ใครก็สามารถผลิตเลียนแบบได้ คนไทยจึงมาผลิตซึ่งต้องผลิตให้ได้ตรงตามมาตรฐานต้นแบบประเทศเขา ซึ่งเคยได้ยินมาว่าบางบริษัทหละหลวม สุ่มยามาทดสอบ 5 เม็ด ไม่ผ่าน แทนที่จะทิ้งทั้งล็อตนั้นไป กลับไปสุ่มใหม่จนกว่าจะผ่าน มันก็ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งข้อมูลตรงนี้คงไม่มีบริษัทไหนเอามาเปิดเผย”
       
       
       กินยาแต่เล็ก ฆ่าเด็กทางอ้อม
       
        แม้กระทั่งเด็กตัวเล็กๆ เองก็มีปัญหาเรื่องของการจ่ายยาให้กินมากเกินความจำเป็น แต่พ่อแม่ก็ยินดีควักสตางค์จ่ายให้ไม่รีรอ โดยหารู้ไม่ว่าการที่เด็กเล็กๆ รับประทานยามากๆ นั้นไม่ต่างกับการฆ่าลูกตัวเองทางอ้อม นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ก็เคยออกมากล่าวเตือนว่า การให้เด็กรับประทานยามากๆ ตั้งแต่ยังเล็กอาจทำให้เด็กไม่โต และป่วยด้วยยาในที่สุด
       
        “เด็กยุคใหม่ถูกจับให้กินยาประจำหลายขนานราวกับผู้ใหญ่ ถ้ามีการเก็บสถิติคงติดอันดับต้น ๆ ในเรื่องการกินยากันเลยทีเดียว ทั้งที่ความจริงแล้วการให้ยาในปริมาณยิ่งมากยิ่งไปกดภูมิคุ้มกันเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่เป็นภูมิแพ้ที่จะต้องกินยาหลังอาหารทุกมื้อ ทำให้โรคที่เป็นดีขึ้นในตอนแรก แต่หลังจากนั้นจะพบกับสภาพที่หนักกว่าเดิม”
       
        แม้กระทั่ง ทะสึโอะ โยชิซากิ กุมารแพทย์ชาวญี่ปุ่น โรงพยาบาลชินเซไคโทยามา ก็ยังกล่าวเอาไว้ว่า บางครั้งที่เด็กๆ เป็นหวัด พ่อ-แม่ก็ไม่ควรหยิบยื่นยาปฏิชีวนะ ทั้ง ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก ยาละลายเสมหะ ฯลฯ ให้เด็กๆ โดยทันที แต่ควรปล่อยให้ร่างกายได้ต่อสู้ สร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงจะดีกว่า
       
        “ยาที่แก้หวัดโดยตรงไม่มีหรอกครับ เพราะฉะนั้นถึงจะกินยาพวกนี้ก็ไม่ได้ทำให้หายไข้ หรือย่นระยะเวลารักษาลงครับ วิธีคิดที่ว่า พอมีไข้ก็ให้ยาปฏิชีวนะ เป็นแผลก็ต้องให้สารต้านจุลชีพนั้นไม่ค่อยจะมีผลดี กลับดูจะมีผลร้ายเสียมากกว่า ส่วนการมีไข้ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายเพื่อจะได้ต่อสู้กับสาเหตุของโรคอย่างได้เปรียบ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ไวรัสและแบคทีเรียก็จะทำงานยากขึ้น”
       
       
       วิถีชาวบ้าน "สมุนไพรรักษา"
       
        “การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” คำกล่าวนี้ยังคงใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย การเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นสิ่งที่ไม่มีใครประสงค์ ยิ่งนึกถึงการกินยาเป็นกำๆ แล้วหลายคนคงขยาดไปตามกัน แถมยิ่งแย่หนักถ้าเจอหมอหน้าเงินจ่ายยาให้เกินความพอดี ตอนนี้จึงมีคนบางกลุ่มพยายามหลีกหนีการแพทย์แผนปัจจุบัน มารักษาด้วยวิธีการธรรมชาติ ไม่ต้องไปเสาะแสวงหาที่ไหน แต่อยู่ใกล้จากพืชพันธุ์รอบตัวนั่นเอง สรรพคุณและคุณค่าของพืชสมุนไพรจึงเรียกได้ว่าเป็นภูมิปัญญาชั้นดีในการนำมารักษาโรคอย่างปลอดภัยและประหยัดอีกด้วย
       
        สมุนไพรแต่ละชนิดมีประโยชน์ครอบคลุม รักษาได้มากกว่าโรคเดียวและอาการเดียวได้ เพียงแต่ใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป อาจเป็นการใช้แบบสด ตากแห้งบดเป็นผง ต้มดื่ม ดองเหล้า และยิ่งจะได้ผลดีหากรับประทานในรูปแบบของอาหาร เพื่อช่วยให้ร่างกายสร้างกลไกต่อต้านโรคต่างๆ บ้านไหนมีพื้นที่ก็น่าจะทำสวนสมุนไพรเล็กๆ เป็นคลังยาเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยเล็กๆ น้อยๆ อย่าง ฟ้าทะลายโจร ไม้ล้มลุกที่ขึ้นชื่อเรื่องการแก้ไข้หวัด แล้วยังรักษาอาการเจ็บคอ ไปถึงโรคอุจจาระร่วง หรือใบบัวบก สำหรับคนช้ำใน และยังนำต้นมาใช้เป็นยาลดความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย
       
        แพทย์แผนไทยอย่างการใช้สมุนไพร อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนขยาดยาปฏิชีวนะ รักษาโรควันนี้แต่เป็นพิษสะสมในวันข้างหน้า ทั้งความไม่กล้าวางใจในมาตรฐานการผลิตยาของบริษัทคนไทย และสุดท้ายไม่แน่ใจว่าจะกลายเป็นเหยื่อถ่ายยาของหมอบางคนตามโรงพยาบาลทั้งหลายที่หวังแค่ผลประโยชน์ของตัวเองหรือเปล่า.
       

 ASTVผู้จัดการรายวัน    12 ธันวาคม 2555