ผู้เขียน หัวข้อ: ข้าราชการประจำกับนักการเมืองเลว(ตาโป๋เป่าปี่)  (อ่าน 2888 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด

(1)วันที่ 24/9/2010
ยุคนี้เป็นยุคที่ข้าราชการประจำถูกปู้ยี่ปู้ยำจากนักการเมืองมากที่สุด ทั้งๆที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่รัฐบาลเผด็จการที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมีให้เห็นเกี่ยวกับการถวายฎีกาของอดีตข้าราชการประจำกระทรวงมหาดไทย เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ แสดงให้เห็นถึงความอัดอั้นตันใจอย่างถึงที่สุดของข้าราชการประจำเหล่านี้ ที่ทนไม่ได้อีกต่อไปในการก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายของนักการเมืองที่กำกับดูแลกระทรวงดังกล่าว พึ่งใครไม่ได้ก็ต้องพึ่งพระเจ้าแผ่นดิน

พฤติกรรมของนักการเมืองที่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของข้าราชการประจำในรัฐบาลชุดนี้ มิได้เกิดขึ้นเฉพาะกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น หากแต่ได้เกิดขึ้นในอีกหลายกระทรวงขณะนี้ โดยเฉพาะกระทรวงที่เป็นแหล่งหาเงินหาทองได้มาก ทั้งจากงบประมาณแผ่นดิน หรือโครงการต่างๆ ที่เสนอขึ้น ข้าราชการประจำในกระทรวงเหล่านี้ จะเป็นข้าราชการประจำที่นักการเมืองชอบเข้าไปใช้อิทธิพลทางการเมืองบีบบังคับให้ต้องทำในสิ่งที่นักการเมืองต้องการอยู่ตลอดเวลา

คำว่า "ข้าราชการ" มีความหมายว่า "ผู้รับใช้ในกิจการของพระราชา" เป็นความหมายที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้งในเนื้อหา ตัวของข้าราชการเองก็ย่อมเข้าใจดีว่าการงานที่ตนทำตามหน้าที่นั้นทำเพื่อใคร

แต่สมัยนี้ โดยเฉพาะยุคนี้ ความหมายดังกล่าวได้แปรเปลี่ยนไปจนกลายเป็น "ข้ารัฐบาล" เข้าไปทุกที การแปรเปลี่ยนความหมายดังกล่าวนี้ เกิดจากน้ำมือของนักการเมืองผู้คิดว่าไม่มีใครใหญ่เท่าตน และเกิดจากข้าราชการประจำบางคนด้วยที่ยอมตนรับใช้นักการเมืองเพียงเพื่อความเติบโตในตำแหน่งหน้าที่ที่นักการเมืองนั้นจัดให้

ข้าราชการที่ได้ดิบได้ดีวิธีนี้ ต้องกลายเป็น "ผู้รับใช้ในกิจการของรัฐบาล" ซึ่งสุดแล้วแต่รัฐบาลจะใช้ให้ทำอะไรที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมก็ทำไปตามนั้น จะถูกต้องตามความรู้ความสามารถหรือไม่ จะผิดถูกอย่างไรไม่สำคัญ ขอเพียงถูกใจหรือถูกความต้องการของรัฐบาลก็พอ

การเป็นข้าราชการในยุคนี้จึงมีความลำบากและยุ่งยากหลายอย่าง เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจเป็นอย่างมาก ระบบคุณธรรมได้กลายมาเป็นระบบอุปถัมภ์แทบจะหมดสิ้น ใครไม่เป็นพวกก็อยู่ไม่ได้ จะถูกกลั่นแกล้งถูกบีบบังคับด้วยวิธีการต่างๆ

 ทุกกระทรวงทบวงกรมปั่นป่วนไปหมด

การแต่งตั้งโยกย้ายสับเปลี่ยนหน้าที่การงานของส่วนราชการต่างๆที่กำลังทำกันอยู่ในเดือนกันยายนนี้ ไม่ว่าจะเป็นพลเรือน ตำรวจ หรือทหารนั้น สมัยก่อนๆไม่ค่อยจะเป็นข่าวชวนตื่นเต้นอะไร เพราะเป็นเรื่องปกติที่ปีหนึ่งก็โยกย้ายแต่งตั้งหรือสับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่กันทีหนึ่ง แต่สมัยนี้ดูจะเป็นเรื่องตื่นเต้นเป็นข่าวให้พูดถึงแทบทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งสำคัญๆ ระดับสูง

ประกอบกับเรื่องการสิ้นสุดของงบประมาณแผ่นดินประจำปี ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายนนี้ จึงเป็นระยะเวลาที่มีการเคลื่อนไหวกันมาก ทั้งทางด้านบุคคลและแนวทางการบริหารงานของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ เพื่อรองรับกับการทำงานตามงบประมาณแผ่นดินใหม่

สมัยก่อนเรื่องดังกล่าวไม่ค่อยจะเป็นข่าวหรือได้รับความสนใจกันมาก ก็เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายสมัยนั้นเป็นไปตามระบบคุณธรรมเป็นส่วนใหญ่ แม้จะมีระบบอุปถัมภ์ แทรกอยู่บ้างในบางครั้งบางคราวก็เป็นส่วนน้อยไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่าขณะนี้

 แต่สมัยนี้ไม่ค่อยจะเป็นอย่างนั้น

เพราะตำแหน่งหน้าที่สำคัญๆ ที่สามารถให้คุณให้โทษ หรือสามารถอำนวยประโยชน์ให้กับผู้แต่งตั้ง ได้กลายมาเป็นเงื่อนไขสำคัญในการแต่งตั้งโยกย้ายในแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเป็นเกราะช่วยคุ้มกันความผิดหรือประพฤติมิชอบของผู้มีอำนาจแต่งตั้ง หรือเพื่อร่วมมือช่วยเหลือผู้แต่งตั้ง ทั้งในการหาผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งทางด้านการเมืองและด้านการเงินการทอง

 พฤติกรรมอย่างนี้สมัยนี้มีมากที่สุด

ถ้านักการเมืองผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้าย เป็นคนมีคุณธรรม ศีลธรรม มีหิริโอตตัปปะ หน้าไม่ด้าน เพราะมีความละอายเป็นคุณสมบัติอยู่ในตัว การแต่งตั้งโยกย้ายสับเปลี่ยนหน้าที่การงานของข้าราชการประจำ ก็จะเป็นไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสม ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการงานก็จะตกอยู่กับส่วนรวม

แต่ถ้านักการเมืองผู้มีหน้าที่แต่งตั้งโยกย้ายเป็นคนไม่มีคุณธรรม ศีลธรรม ไร้หิริโอตตัปปะคือหน้าด้าน ไม่ละอายในบาปในการกระทำผิดถืออำนาจบาตรใหญ่ทั้งกลางวันกลางคืน การแต่งตั้งโยกย้ายสับเปลี่ยนหน้าที่ของข้าราชการประจำก็จะเป็นไปในทางเล่นพวกเล่นพ้อง ไม่ว่าพวกพ้องนั้นจะมีความสามารถเหมาะสมกับงานที่ทำหรือไม่

 ญาติโกโหติกาของนักการเมืองผู้มีอำนาจในการแต่งตั้ง จึงบานสะพรั่งแทบทุกวงการหน่วยงานในยุคนี้ อย่างชนิดที่เรียกได้ว่าไม่เคยเห็นมาก่อน

ข้าราชการดีๆ มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่มีผู้สนับสนุน ถึงจะเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตและเหมาะสมกับหน้าที่การงานเท่าไร โอกาสที่จะได้เติบใหญ่และเจริญก้าวหน้าตามที่ควรจะเป็น จึงเป็นของหายากในยุคนี้

(2)วันที่ 28/9/2010
วันนี้ขอให้ข้อคิดกับข้าราชการประจำทั้งหลายที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลชุดนี้ เพราะการทำงานกับนักการเมืองนั้นมีอะไรหลายอย่างที่ต้องระมัดระวัง ไม่เหมือนกับการทำงานในระหว่างข้าราชการด้วยกันเองที่มีระเบียบแบบแผน หรือกฎกติกากำหนดไว้อย่างชัดเจน

 ต้องระลึกอยู่ตลอดเวลาว่า การเป็นข้าราชการประจำนั้นเป็นคนที่มีเกียรติ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการฝ่ายไหนหรือกระทรวงไหน เพราะเป็นผู้รับใช้แผ่นดินรับใช้ประชาชน ไม่ใช่รับใช้นักการเมือง

 เกียรติยศของตนที่มีอยู่จะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของตนเป็นสำคัญ ทำตัวให้มีเกียรติก็มีเกียรติ ทำตัวให้เสียเกียรติก็ไม่มีเกียรติ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งอะไร

 บทบาทหน้าที่ของแต่ละคนแตกต่างกันตามความรับผิดชอบในตำแหน่งหน้าที่ที่ครองอยู่ แต่ที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง ก็คือ เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานของรัฐบาล ความสำเร็จหรือล้มเหลวในการงานของบ้านเมืองนั้น ลำพังพวกนักการเมือง 35 คน ในคณะรัฐมนตรีไม่มีทางที่จะบริหารประเทศได้สำเร็จถ้าปราศจากข้าราชการประจำ

 ต้องร่วมกันทำงานทั้งสองฝ่าย

 ต้องยอมรับกันว่าบ้านเมืองในยามนี้ยังวิกฤติทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง แม้จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ใช้แล้วเพื่อการปฏิรูปกระบวนการเข้ามาได้อำนาจรัฐของนักการเมืองแล้วก็ตาม แต่นักการเมืองส่วนใหญ่ยังไม่ได้ปฏิรูปตนเองตามไปด้วย เราจึงเห็นนักการเมืองจำนวนไม่น้อยที่ยังประพฤติปฏิบัติตนเหมือนเดิม เคยทำอย่างไรก็ยังทำอย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง

 แม้โครงสร้างทางการเมืองหลายอย่างได้เปลี่ยนไปจากเดิมตามกติกาใหม่ในรัฐธรรมนูญ การเข้าสู่วงการเมืองมีกฎมีกติกาในการตรวจสอบกลั่นกรองมากขึ้น แต่นักการเมืองไม่ดีก็ยังสามารถเล็ดลอดเข้ามาได้จากกลวิธีต่างๆ อย่างที่เห็น

 ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนั้น ต้องยอมรับความจริงว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ข้าราชการประจำหรือนักการเมืองเป็นผู้ก่อขึ้น ถ้าไม่ต่างฝ่ายก่อก็ร่วมมือกันก่อขึ้น มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย

 เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการแสวงหาผลประโยชน์เข้าตนโดยการทุจริตฉ้อฉล เมื่อเกิดปัญหาขึ้นต่างฝ่ายก็โทษกัน อย่างที่เห็นในกระทรวงทบวงกรมหลายแห่งขณะนี้ บางปัญหาข้าราชการประจำทุจริตกันเอง บางปัญหานักการเมืองเป็นฝ่ายทุจริต แต่ที่ร้ายที่สุดก็คือร่วมกันทุจริตโดยมีพ่อค้ามาร่วมมือด้วย

 ปัญหาบางอย่างเมื่อเริ่มเกิดขึ้นไม่แก้ไข ปล่อยปละละเลยไว้จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที จนปัญหาพอกพูนใหญ่โตจนลำบาก เหมือนคนไข้เมื่อเริ่มป่วยไม่รีบไปหาหมอรักษา ปล่อยทิ้งไว้จนหมดหนทางรักษาก็ต้องถึงแก่ความตายในที่สุด

 บางปัญหาเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็แก้ไขแบบขอไปที จะเป็นเพราะลูบหน้าปะจมูก หรือมีความเกรงใจ เกรงกลัวอิทธิพลอำนาจมืด หรือได้รับผลประโยชน์ปิดปากก็แล้วแต่ อย่างนี้มีให้เห็นมากจนเรื่องเงียบๆ ไปก็คิดว่าไม่มีปัญหาอะไรแล้ว

 นี่คือ วิธีการทำงานของข้าราชการประจำ และนักการเมืองบางกลุ่มบางพวกที่ควรได้มีการแก้ไข

 ข้าราชการประจำกับนักการเมืองนั้น มีความเกี่ยวข้องในการทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะนักการเมืองที่เข้ามารับตำแหน่งหน้าที่ทางบริหารในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ทั้งสองฝ่ายจึงต้องทำงานร่วมกันตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตน

 นักการเมืองทำทางด้านนโยบาย

 ข้าราชการประจำทำทางด้านการปฏิบัติ

 แต่หลักการเช่นว่านี้ มักไม่เป็นไปตามนั้นเสมอไปเพราะนักการเมืองหลายคนชอบทำงานแบบที่เขาเรียกว่า ล้วงลูก คือ เข้าไปทำงานก้าวก่ายงานประจำของข้าราชการอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะในกระทรวงทบวงกรมที่มีผลประโยชน์ด้านเงินๆ ทองๆ

 ที่เป็นเช่นนี้ เพราะนักการเมืองต้องการหาเงินหรือต้องการถอนทุนคืนจากที่เคยเสียไปในการเลือกตั้ง

 กระทรวงทบวงกรมไหนได้นักการเมืองอย่างนี้เข้าไปทำงาน ข้าราชการประจำในกระทรวงทบวงกรมนั้นย่อมมีความลำบากใจในการทำงานตามหน้าที่ ยกเว้นแต่ว่าเป็นคนซื่อตรงและใจแข็งพอที่จะต่อสู้เพื่อความถูกต้อง

 ข้าราชการประจำคนไหนตามใจนักการเมืองประเภทอย่างนี้ ในที่สุดก็ต้องเดือดร้อนพลอยเข้าปิ้งไปด้วยเพราะถูกจับได้

 นักการเมืองประเภทขี้หิวนี้ในปัจจุบันไม่ได้รอกินอยู่แต่ในกระทรวงที่ตนเข้าไปรับผิดชอบ แต่ขึ้นไปกินถึง "ต้นน้ำ" เลยทีเดียว

 สำนักงบประมาณเป็น "ต้นน้ำ" สำคัญ

 นักการเมืองขี้หิวจะใช้วิธีจัดสรรคนของตัวให้ได้ไปนั่งในตำแหน่งแห่งที่ที่สามารถเอื้อประโยชน์แก่ตนได้ หน่วยราชการแห่งนี้ถูกแทรกแซงอย่างหนักในการแต่งตั้งโยกย้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของรัฐบาลหน้าเหลี่ยมที่ถูกยึดอำนาจ

(3)วันที่ 1/10/2010
การเปลี่ยนแปลงของฝ่ายการเมืองนั้น มีอยู่ตลอดเวลาและไม่ค่อยจะต่อเนื่อง สำหรับฝ่ายราชการประจำแล้วเปลียนแปลงน้อยกว่า และมีความต่อเนื่องมากกว่า

 ข้าราชการประจำต้องนึกถึงเรื่องนี้ให้มาก

นักการเมืองมาแล้วก็ไป อาจวูบเดียวปีเดียวก็เปลี่ยน ช่วงระยะเวลาทำงานถ้าครบเทอมก็สี่ปี ซึ่งก็มีน้อยมากที่จะอยู่ครบสำหรับการเมืองบ้านเรา แต่ข้าราชการประจำต้องอยู่ตลอดเวลา และมีช่วงเวลาทำงานมากกว่า

เพราะฉะนั้นคนที่เป็นข้าราชการประจำจึงต้องระลึกเสมอว่า ในการทำงานนั้นข้าราชการเป็นกลไกในการทำงานตามนโยบาย ไม่ใช่เป็นเครื่องมือที่จะทำงานรับใช้นักการเมืองแบบตามใจชอบ

 บ่อยครั้งที่นักการเมืองหยิบเอาข้าราชการประจำไปใช้เพื่อสนองประโยชน์นักการเมือง ด้วยรูปแบบและวิธีการต่างๆ

ในอดีตที่ผ่านมามีการก้าวก่ายเข้าไปใช้ทหารในกองทัพ ทั้งๆที่ทหารเป็นข้าราชการประจำ ถ้าไม่ใช้ในทางสร้างอิทธิพลข่มขู่คนอื่นก็ใช้ไปในการทำปฏิวัติรัฐประหารไปก็มี เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจของนักการเมืองนั้นๆ หรือของผู้บังคับบัญชาทหารเองก็มีที่คิดการใหญ่ต้องการอำนาจทางการเมือง

 แต่สมัยนี้ห่างไปเพราะมีบทเรียนที่เจ็บปวด

แม้กระทั่งการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็ตาม ทหารที่เป็นหัวหน้าในการรัฐประหารครั้งนี้ก็ได้รับบทเรียนไปหลายอย่างว่า แม้กระทำการยึดอำนาจได้ก็จริง แต่ความไม่เป็นประสีประสาทางการเมือง ขาดความเด็ดขาดในการจัดการกับเงื่อนไขของปัญหาใหญ่อันเป็นมูลเหตุของการรัฐประหารให้เสร็จเรียบร้อย ถอยตัวออกไปจากอำนาจที่กุมไว้ได้และให้มีรัฐบาลพลเรือนรับไปทำงานแทนเพราะคิดว่าจะทำได้ตามที่คิด แต่รัฐบาลพลเรือนที่ว่านี้ก็ทำงานไม่เป็น นั่งเฝ้ากระทรวงเฝ้าทำเนียบไปวันๆหนึ่งจนหมดเวลา ทุกสิ่งทุกอย่างของความเลวร้ายที่คิดว่าจะหมดไปกลับฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็วอย่างที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้

นักการเมืองบางคนนั้นใช้ข้าราชการประจำในการหากินทางเศรษฐกิจ หากินในทางเป็นหัวคะแนนของนักการเมืองนั้นๆ หรือใช้เป็นเครื่องมือในการทำทุจริตต่างๆเพื่อหาผลประโยชน์

เพราะฉะนั้นข้าราชการประจำต้องรู้จักแยกแยะบทบาทและหน้าที่ของตนให้ออก อย่ามัวเมาตามใจนักการเมืองในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง กระทรวงทบวงกรมไหนได้นักการเมืองที่ดีๆไปอยู่กระทรวงทบวงกรมนั้นๆ จึงพอจะปลอดจากสารพิษ ทำการทำงานได้สบายใจหน่อย

นักการเมืองดีๆมีอยู่มาก ไม่ใช่ไม่มีเสียเลย โดยเฉพาะนักการเมืองซึ่งเข้ามาเป็นหัวแถว ถ้าเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ทำงานตรงไปตรงมา ไม่มีนอกมีในอะไรแล้ว หางแถวลงไปก็ไม่ค่อยกล้า

กระทรวง ทบวง กรม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านความสงบสุขและความปลอดภัย กระทรวงทบวงกรมที่ว่านี้คนเป็นข้าราชการประจำยิ่งต้องใส่ใจในการทำงานของตนให้มีประสิทธิภาพ ข้าราชการประจำในกระทรวงทบวงกรมดังกล่าวนี้ต้องระลึกอยู่ตลอดเวลาว่า ถ้าประชาชนไม่ศรัทธาเชื่อถือแล้ว ความร่วมมือร่วมใจที่จะได้รับจากประชาชนจะหาได้ยาก ทำให้การงานในหน้าที่ของตนนั้นไม่มีผลสำเร็จ

ข้าราชการประจำในแต่ละกระทรวงทบวงกรมล้วนแล้วแต่ต้องทำงานรับใช้ประชาชน เพราะเงินเดือนที่ได้รับมาจากคนเหล่านี้ แนวทางสำคัญที่ข้าราชการประจำต้องจำใส่ใจไว้ตลอดเวลามีอยู่ 3 เรื่องใหญ่ๆคือ

1. รู้จักคน ว่าคนที่ตัวต้องดูแลรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่นั้นอยู่ในสภาพอย่างไร ทำมาหากินอะไร จำแนกประเภทของอาชีพที่ทำมีอะไรบ้าง จำนวนมากน้อยแค่ไหน และปัญหาหรืออุปสรรคของเขามีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง

 2. รู้จักพื้นที่ ว่าพื้นที่ตามขอบเขตของงานที่ตนรับผิดชอบนั้นอยู่ที่ใด มากน้อยแค่ไหน น้ำท่าที่ใช้ทั้งการอุปโภคและบริโภคนั้นเป็นอย่างไร เส้นทางคมนาคมติดต่อสื่อสารมีเพียงพอหรือมีอยู่อย่างจำกัด ต้องดูให้ทั่ว

3. รู้จักงาน ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ถ้าไม่สันทัดจะหาใครมาเป็นผู้คอยช่วยเหลือ หรือจะต้องประสานกับใครบ้างเพื่อให้การทำงานของตนบรรลุผล

อย่างไรก็ตาม ต้องระลึกด้วยว่า คนเรานั้นไม่สามารถจะทำอะไรได้สำเร็จเพียงลำพังผู้เดียว การทำงานในแต่ละวันย่อมต้องสัมพันธ์กับคนอื่นเสมอ จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่นหรือหน่วยงานอื่นในบางครั้งบางคราว ยิ่งปัจจุบันด้วยแล้วมีปัญหายุ่งยากสลับซับซ้อนมากมาย ความจำเป็นที่จะรู้จักประสานสัมพันธ์ยิ่งมีมากขึ้น

 การประสานสัมพันธ์ที่ดีนั้น ควรต้องทำให้ได้ในลักษณะที่ว่า "ผู้ใหญ่ดึง ผู้น้อยดัน คนเท่ากันยกย่อง"

ไม่ใช่ "ผู้ใหญ่กีด ผู้น้อยกัน คนเท่ากันเหยียบ"

และรักษาระยะห่างจากนักการเมืองให้ดีด้วย ต้องนึกอยู่ตลอดเวลาว่า "ใกล้เกินไปก็ร้อน ห่างเกินไปก็หนาว" วางตนอยู่อย่างพอดีๆ โดยเฉพาะอยู่กับรัฐบาลชุดนี้ด้วยแล้ว ต้องอยู่มันตรงกลางนั่นแหละดีที่สุด

(แนวหน้า)

ฝากให้ข้าราชการประจำกระทรวงสาธารณสุข ได้ขบคิดด้วย