ผู้เขียน หัวข้อ: ขอให้กำหนดมาตรฐาน “เวลาการทำงานของแพทย์” ก่อนจะออกกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายฯ  (อ่าน 2671 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9772
    • ดูรายละเอียด


การเรียกร้องของกลุ่มผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขให้รัฐบาลออกพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ดำเนินมาหลายปีต่อเนื่องกัน แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ โดยมีกลุ่ม”สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)” และบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆอีกมากมายหลากหลายกลุ่มทียังต้องรับผิดชอบทำงานดูแลรักษาผู้ป่วยอยู่ทุกวัน ต่างก็ได้ต่อต้านและคัดค้านการตราพระราชบัญญัตินี้มาตลอด

ทั้งนี้สาเหตุที่คัดค้านการออก พ.ร.บ.นี้ ก็เนื่องจากการบริการทางการแพทย์หรือการดูแลรักษาผู้ป่วยนั้น มีทั้ง “ความไม่แน่นอนและความเสี่ยง” ซึ่งผู้ป่วยเสี่ยงต่อความเสียหายและแพทย์เสี่ยงต่อการถูกฟ้อง ซึ่งความไม่แน่นอนและความเสี่ยงในทางการแพทย์นี้ เกิดขึ้นและดำรงอยู่ทั่วโลก

       ทั้งนี้  ผู้เขียนขอยกเอาคำพูดของ Sir William Osler (1849- 1919) ที่เคยกล่าวไว้ว่า “Medicine is a science of uncertainty and an art of probability” แปลเป็นไทยว่า “การแพทย์เป็นวิทยาศาสตร์ของความไม่แน่นอน และเป็นศิลปะศาสตร์แห่งความเสี่ยง“

ทำไมการแพทย์หรือการดูแลรักษาผู้ป่วยจึงมีความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยง?

ปัจจัยอะไรบ้างที่มีส่วนทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยมีทั้งความไม่แน่นอน และมีความเสี่ยง?

 คำตอบต่อคำถามทั้งสองคำถามนี้  อาจกล่าวได้ว่าเนื่องจากมีความแตกต่างของบุคคล ทั้งที่เป็นผู้ป่วยและเป็นแพทย์ผู้รักษา เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยมีความไม่แน่นอนและได้ผลที่แตกต่างกันได้ตลอดเวลา จึงเป็นเหตุที่อาจกล่าวได้ว่า “การแพทย์หรือการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะศาสตร์ที่ไม่แน่นอนและมีความเสี่ยง”ดังกล่าว

ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนและความเสี่ยงในการดูแลรักษาผู้ป่วยดังต่อไปนี้คือ

1.ความแตกต่างของผู้ป่วยแต่ละคน

2.ความแตกต่างของแพทย์ผู้ทำการรักษาผู้ป่วย

  ซึ่งจะขออธิบายรายละเอียดในความแตกต่างทั้ง 2 ข้อดังนี้คือ

1.ความแตกต่างของผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้คือ

1.1ความรุนแรงของโรคแตกต่างกัน ในการรักษาผู้ป่วยแต่ละคน ถึงแม้จะป่วยด้วยโรคเดียวกัน  แต่ความรุนแรงของโรคก็แตกต่างกันไป ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากระยะเวลาที่ผู้ป่วยเริ่มมาพบแพทย์เร็วหรือช้า ผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี หรือมีโรคในอวัยวะร่างกายแห่งอื่นๆอีกหรือไม่

1.2 ความแตกต่างของร่างกายและการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน

                คนเราแต่ละคนล้วนมีส่วนประกอบของร่างกายที่แตกต่างกันทั้งภายนอกและภายใน  เช่น พันธุกรรม  ความบกพร่องหรือความพิการ มีการทำงานของอวัยวะต่างๆทั้งที่เป็นระบบอัตโนมัติที่ตัวเราเองก็ควบคุมไม่ได้ เช่นการเต้นของหัวใจ การย่อยอาหารและการเผาผลาญอาหารมาเป็นพลังงาน มีระดับความเข้มข้นของเลือดและฮอร์โมนต่างๆแตกต่างกันไป ซึ่งความแตกต่างเหล่นี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยแตกต่างกันไป

1.3 ความแตกต่างด้านพฤติกรรม คนแต่ละคนยังมีความแตกต่างจากพฤติกรรมที่คนเราแต่ละคนสามารถควบคุมได้ เช่น การมีพื้นฐานทางอารมณ์ความรู้สึกและแนวคิดแตกต่างกัน  ซึ่งทำให้มีพฤติกรรมแตกต่างกัน  และทำให้อากรเจ็บป่วยแตกต่างกันไป

1.4 ความแตกต่างด้านสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม มีที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมทางกายภาพหรือสังคมแตกต่างกันออกไป ล้วนทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อโรคหรือพยาธิสภาพที่แตกต่างกัน

1.5 ความแตกต่างของปฏิกิริยาของร่างกายต่อการเจ็บป่วย เมื่อคนเราได้รับเชื้อโรคเหมือนๆกัน บางคนอาจล้มป่วย บางคนสามารถกำจัดเชื้อโรคได้เองเพราะร่างกายมีภูมิต้านทานดี  ในจำนวนผู้ที่ล้มป่วยนั้น บางคนอาจมีอาการป่วยเล็กน้อย บางคนป่วยหนัก บางคนถึงกับเสียชีวิต กล่าวคือระดับความรุนแรงของโรคของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป  ตามสภาพของร่างกายและปัจจัยอื่นๆที่กล่าวแล้ว และจำนวนคนที่ไม่ป่วยนั้น บางคนอาจกลายเป็นพาหะของโรค ที่นำเอาเชื้อโรคนั้นไปแพร่กระจายต่อไปยังคนอื่น ทำให้คนอื่นเจ็บป่วย แต่บางคนก็สุขภาพดีดังเดิม

1.6 ความแตกต่างในการดูแลสุขภาพของแต่ละบุคคล บางคนเอาใจใส่ดูแลรักษาสุขภาพ ให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ ถ้าเจ็บป่วยแล้วก็รีบดูแลรักษา โดยอาจมีความรู้ที่เหมาะสมในการปฐมพยาบาล และไปพบแพทย์เมื่อดูแลรักษาเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น แต่บางคนอาจปล่อยปละละเลยไม่ดูแลรักษาสุขภาพ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ เมื่อเจ็บป่วยก็ไม่สนใจที่จะรีบดูแลรักษา ปล่อยปละละเลยจนมีอาการหนัก หรือสุขภาพทรุดโทรม จนยากทีจะเยียวยา หรือบางคนไปพบแพทย์แล้วก็ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ จนนำไปสู่อาการร้ายแรง ฯลฯ หรือบางคนสังเกตุอาการเจ็บป่วยได้อย่างละเอียดและสามารถเล่ารายละเอียดเหล่านี้ให้แพทย์ฟังอย่างครบถ้วน ก็จะช่วยให้แพทย์ได้รับข้อมูลอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการเจ็บป่วย จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ดีขึ้น  เป็นต้น

1.7  ความแตกต่างของผู้ป่วยที่เกิดขึ้นหลังการรักษา ในจำนวนผู้ที่ล้มป่วยนั้น เมื่อได้รับการรักษาเหมือนกัน ได้ยาแบบเดียวกัน ได้รับการดูแลรักษาเหมือนกัน บางคนก็ฟื้นไข้ หายป่วย และมีสุขภาพแข็งแรงดีในเร็ววัน บางคนก็เพียงแต่ทุเลาจากอาการป่วย แต่ต้องไปพักฟื้นและฟื้นฟูร่างกายอีกนาน แต่บางคนหลังจากฟื้นไข้แล้วยังสะสมเชื้อโรคไว้ในร่างกาย และกลายเป็นพาหะของโรค อาจเป็นพาหะที่ร่างกายแข็งแรงดี แต่มีความสามารถในการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ แต่บางคนอาจจะพอทุเลาจากอากรเจ็บป่วย หลังการรักษา แต่หลังจากนั้นอาจจะมีเชื้อโรคแอบแฝงอยู่และกลายเป็นผู้ป่วยเรื้อรัง ซึ่งในบางกรณีกลายเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคร้ายเช่นมะเร็งตามมาจากการติดเชื้อนั้น

2.     ความแตกต่างของแพทย์ผู้ทำการรักษาผู้ป่วย จากข้อมูลทั้งหลายในข้อ 1 โดยสรุปก็คือ  เมื่อคนเราเจ็บป่วยแล้ว ระดับความรุนแรงของโรคก็ไม่เหมือนกัน และเมื่อได้รับการดูแลรักษาและให้ยาแล้ว การตอบสนองต่อการรักษาหรือยา ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน จึงทำให้วิทยาการทางการแพทย์ เป็น “วิทยาศาสตร์แห่งความไม่แน่นอน และมีความเสี่ยงว่าจะมีอาการดีขึ้นหรือไม่มากน้อยเพียงใด” ซึ่งหมายถึงว่าในการดูแลรักษาผู้ป่วยในแต่ละคนนั้น อาจมีอาการเจ็บป่วยหลายอย่างพร้อมๆกัน ซึ่งทำให้แพทย์ผู้ดูแลรักษานั้น ต้องแยกให้ได้ว่าเป็นอาการของโรคอะไรกันแน่ มีทางเลือกหลายทางว่าจะใช้เครื่องมือหรือวิธีการอะไรในการที่จะ “รู้” อย่างมั่นใจว่า ผู้ป่วยมีอาการป่วยด้วยโรคอะไร จากสาเหตุอะไร และการป่วยนั้นรุนแรงในระดับใด

           เมื่อแพทย์ผู้รักษา “คิดว่ามั่นใจแล้ว”ว่าผู้ป่วยนั้นเป็นอะไรแน่ มีสาเหตุอะไรและอยู่ในขั้นใด มีโรคอื่นร่วมด้วยหรือเปล่าแล้ว แพทย์ผู้รักษาก็ยังมีเรื่องที่จะต้อง “ใช้ความคิดหรือตัดสินใจ” อีกว่าโรคนั้น  มี “ทางเลือกในการรักษาแบบไหนบ้าง” ที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นมากกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ วิธีการรักษาอาจมี ได้หลายทาง มีวิธีการหลายวิธี มียาหลายชนิด มีสิ่งอื่นๆที่จะช่วยรักษาได้ เช่นการเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน การเปลี่ยนส่วนประกอบของอาหาร การละเว้นสิ่งที่เป็นเหตุของการเจ็บป่วย ฯลฯ 

            การตัดสินใจทั้งในการวินิจฉัยโรคและการเลือกวิธีการรักษาโรคของแพทย์แต่ละคน ก็ย่อมมีผลทำให้เกิดความ “ไม่แน่นอนและความเสี่ยง”ต่ออาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากความแตกต่างของแพทย์แต่ละคนในสาระสำคัญดังนี้คือ

2.1.“ความรู้ทางการแพทย์”  ยิ่งแพทย์มีความรู้ทางการแพทย์ดีเท่าไร การดูแลรักษาผู้ป่วยก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น ความรู้ทางด้านการแพทย์เหล่านี้ แพทย์ทั้งหลายต่างก็ได้รับจากการได้รับการศึกษาและการสั่งสอนฝึกอบรมมา และการศึกษาอย่างต่อเนื่องจากการอ่านหนังสือ ร่วมประชุมวิชาการ อ่านงานวิจัยหรือทำการวิจัย ซึ่งแพทย์ที่มีความรู้เป็นอย่างดีในวิชาการแพทย์ ก็ย่อมจะสามารถ “เลือก”การดูแลรักษาผู้ป่วยของตนได้ดีและเหมาะสมที่สุด

             แต่อย่างไรก็ตาม วิทยาศาสตร์การแพทย์ในยุคปัจจุบันได้ก้าวหน้าไปอย่างมากมายหลากหลายสาขาทั้งด้านกว้างและลึก จนทำให้แพทย์แต่ละคน ไม่สามารถที่จะมีความรอบรู้ในวิทยาการต่างๆเหล่านั้นได้ทุกแขนงและทุกขั้นตอนเหมือนกันหมดทุกคนอย่างดีที่สุดเท่าเทียมกัน  ทำให้วิทยาการแพทย์แตกแขนงไปในการศึกษาฝึกอบรมเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่างๆมากมายหลายร้อยสาขา

               ซึ่งผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างเพียงด้านเดียวในหลายๆด้าน ได้แก่แพทย์อายุรกรรม ซึ่งหมายถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาผู้ป่วยที่เป็น “ผู้ใหญ่” (ไม่ใช่เด็ก) โดยการรักษาด้วยการใช้ยาและวิธีต่างๆที่ไม่ใช่การ “ผ่าตัด”และ แพทย์ยังต้องมีเวลา “อธิบาย”ให้ผู้ป่วยเข้าใจวิธีการใช้ยา ผลที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา การคาดการณ์ว่าอาการที่รักษาหลังจากใช้ยานั้นๆแล้วจะเป็นอย่างไร(หรือผลการรักษา) รวมทั้งการอธิบายเรื่องอาหารหรือการปฏิบัติตัวให้เหมาะสมเช่นการงดเสพยาหรือสิ่งเสพติดอะไรบ้าง รวมถึงการออกกำลังกาย  และสิ่งอื่นๆที่อาจจะมีผลต่อการเจ็บป่วยนั้นๆ 

               แต่ในกลุ่มแพทย์อายุรกรรมนี้ เอง ก็ยังแบ่งสาขาย่อย(คำว่าย่อยไม่ได้ถึงว่าไม่สำคัญ แต่เป็นวิชาการแพทย์ที่ลึกซึ้งหรือละเอียดเฉพาะทางลงไปอีก) เช่นสาขาอายุรกรรมหัวใจ สมอง ไต และทางเดินอาหาร ฯลฯ และในสาขาย่อยเหล่านี้ ยังสามารถแยกลงไปให้ลึกซึ้งกว่าเดิมอีก เช่น สาขาโรคทางเดินอาหารก็อาจจะแยกไปเป็นการส่องกล้อง สาขาตับ หรือมะเร็งทางเดินอาหารฯลฯ ฉะนั้นในการรักษาผู้ป่วยแต่ละคน  นอกจากจะต้องอาศัยความรู้ของแพทย์ทั่วไปแล้ว ก็อาจจำเป็นต้องอาศัยความรู้ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอีกด้วย

    ซึ่งแพทย์ทั่วไป อาจจะต้องพิจารณาส่งผู้ป่วยที่ตนกำลังรักษาอยู่ ไปพบแพทย์เฉพาะทาง หรือส่งไปเพื่อขอรับการปรึกษาแนะนำในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างลึกซึ้ง โดยตรงอีกด้วย

2. 2 “ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ของแพทย์” ในการดูแลรักษาผู้ป่วยมาก่อนแล้ว  เพื่อใช้ในการเลือกข้อมูลจากการ ซักประวัติผู้ป่วย ตรวจร่างกาย และใช้ “ดุลพินิจ” ในการ “ตัดสินใจ” ว่าผู้ป่วยคนนี้ที่อยู่ตรงหน้าแพทย์ มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคอะไร มีอะไรเป็นสาเหตุสำคัญและสาเหตุเสริมให้เกิดเจ็บป่วย และควรจะรักษาอย่างไร จึงจะเกิดผลดีที่สุด แพทย์ที่มีประสบการณ์มากหรือยาวนาน ก็อาจจะมีความสามารถในการ “ใช้ดุลพินิจ” ที่ถูกต้องเหมาะสมและรวดเร็ว” ในการดูแลรักษาผู้ป่วย เป็นต้น

2.3. การวิเคราะห์ข้อมูลการเจ็บป่วย โดยแพทย์จะต้องแสวงหาและรวบรวมข้อมูลการเจ็บป่วยจากตัวผู้ป่วยเองหรือผู้ปกครองหรือญาติใกล้ชิด รวมทั้งข้อมูลจากการตรวจร่างกายผู้ป่วย ซึ่งจะรวมถึงข้อมูลที่ผู้ป่วยบอกเล่าให้แพทย์ทราบตามความเป็นจริงทั้งหมดหรือไม่ ผู้ป่วยปกปิดหรือ “ลืมบอก”ข้อมูลบางอย่างของตนแก่แพทย์หรือไม่ การตรวจร่างกายผู้ป่วยสามารถทำได้อย่างละเอียดครบถ้วนหรือได้ละเลยบางสิ่งบางอย่างไปหรือไม่? พิเศษได้แก่การตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ เอ็กซเรย์ และการตรวจด้วยเทคโนโลยีอื่นๆ

                สำหรับผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจจะยังไม่สามารถตัดสินใจในการคิดว่าเป็นโรคอะไร หรือมีอะไรเป็นสาเหตุให้เกิดความเจ็บป่วย โดยอาศัยเพียงการซักประวัติและการตรวจร่างกาย แพทย์จึงอาจต้องส่งผู้ป่วยไปตรวจร่างกายเพิ่มเติมโดยวิธีพิเศษ เช่น การส่งเอ๊กซเรย์ การทำอัลตร้าซาวน์ หรือการตรวจพิเศษโดยเครื่องมือและเทคโนโลยีชั้นสูงที่ทันสมัยและก้าวหน้า หรือต้องส่งส่วนประกอบต่างๆในร่างกายเช่น เลือด ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำมูก เสมหะ ฯลฯ ไปตรวจวิเคราะห์หาความผิดปกติหรือสาเหตุของการเจ็บป่วย เพื่อเอามาประกอบการพิจารณาตัดสินใจหรือวิเคราะห์ว่า ผู้ป่วยเป็นโรคอะไร และมีสาเหตุจากอะไร เพื่อช่วยในการตัดสินใจรักษาผู้ป่วยให้ได้ผลดีที่สุด

             ฉะนั้น แพทย์ผู้ทำการรักษาผู้ป่วยจึงเป็นคนสำคัญที่สุดที่จะรักษาผู้ป่วยให้ได้ผลดีที่สุด โดยอาศัย “การตัดสินใจ”ที่ถูกต้องอย่างน้อย 2 ขั้นตอน คือการวินิจฉัยโรค ว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร และการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด ดังกล่าวแล้ว   ซึ่งการ “ตัดสินใจในทุกขั้นตอน” หรืออาจเรียกได้ว่าการใช้ “ดุลพินิจของแพทย์”ย่อมทำให้เกิดความไม่แน่นอนและเกิดความเสี่ยง ต่อ “ผลการรักษาหรือชีวิตและสุขภาพ”ของผู้ป่วยทั้งสิ้น

2.4 มาตรฐานภาระงานและเวลาทำงานของแพทย์

                    แพทย์ที่มีภาระงานมากเกินไป ตัวอย่างเช่น มีผู้ป่วยจำนวนมากที่แพทย์จะต้องดูแลรักษา ก็จะทำให้แพทย์ “มีเวลา”น้อยเกินไป ที่จะสามารถใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ ในการ”วิเคราะห์” หรือ “พินิจพิจารณาข้อมูลต่างๆ”จากการตรวจร่างกายผู้ป่วยดังที่กล่าวแล้ว” มาประกอบการ “ตัดสินใจหรือการใช้ดุลพินิจ” ในการวินิจฉัยโรครวมทั้งการดูแลรักษาผู้ป่วย

                  แพทย์จึงต้องมีเวลาในการทำงานที่เหมาะสมเพื่อ “ตัดสินใจเลือก” ในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วย เพื่อให้เกิด “ความไม่แน่นอนและความเสี่ยง”ต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยน้อยที่สุด เพื่อลดความไม่แน่นอนและลดความเสี่ยงต่อความเสียหายหรืออันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของผู้ป่วย หรือทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยไม่ได้ผลดีดังการคาดหวังของทั้งผู้ป่วยและแพทย์

               และแพทย์ยังต้องมีสภาพร่างกายที่แข็งแรง มีสมองแจ่มใส จึงจะสามารถ “ใช้ดุลพินิจ” ที่เหมาะสมในการดูแลรักษาผู้ป่วย เพื่อลด “ความไม่แน่นอนและความเสี่ยง”ดังกล่าวมาแล้ว

การที่แพทย์จะมีร่างกายแข็งแรงและมีสมองแจ่มใส แพทย์ก็ควรจะมีเวลาพักผ่อนนอนหลับเต็มอิ่ม ไม่ต้องทำงานตรวจรักษาหรือผ่าตัดผู้ป่วยติดต่อกันเป็นเวลามากกว่า 8 ชั่วโมงในแต่ละวัน  แพทย์จึงจะมีสภาพร่างกายแข็งแรงสดชื่นแจ่มใส และ สมองปลอดโปร่ง สามารถใช้ความคิดละตัดสินใจหรือใช้ดุลพินิจที่ถูกต้องในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างมี “ความไม่แน่นอนและความเสี่ยง”ต่อผู้ป่วยน้อยที่สุด

      จากข้อมูลความแตกต่างของแพทย์ทั้ง 4 ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันนี้ มหาวิทยาลัยหรือองค์กรที่ให้การศึกษาฝึกอบรมด้านการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นในระดับการศึกษาเพื่อปริญญาแพทยศาสตร์ หรือการศึกษาฝึกอบรมหลังปริญญา ที่อยู่ในความดูแลและรับรองความรู้ความสามารถโดยสภาวิชาชีพ (แพทยสภา) หรือราชวิทยาลัยและสมาคมแพทย์ต่างๆ ต่างก็ได้กำหนดมาตรฐานด้านวิชาการและการฝึกอบรม รวมทั้งการเพิ่มพูนทั้งความรู้และทักษะ (knowledge and skill) ในการปฏิบัติงานดูแลรักษาผู้ป่วยทุกขั้นตอนของผู้ที่ต้องการ ทำหน้าที่”แพทย์”

ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า แพทย์ทุกคน มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและทักษะในการวิเคราะห์และแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย เพื่อที่จะใช้ดุลพินิจในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสม มีมาตรฐาน และควรจะก่อให้เกิด “ความไม่แน่นอนและความเสี่ยง” ต่อชีวิตและสุขภาพของผู้ป่วยน้อยที่สุด

   แต่ในประเทศไทยยังขาดองค์กรด้านวิชาการ ที่จะมา “กำหนดมาตรฐานภาระงานและเวลาการทำงานของแพทย์”ดังที่กล่าวในข้อ 2.4

 กล่าวคือในปัจจุบันนี้ แพทย์ส่วนใหญ่ของประเทศที่ทำงานดูแลรักษาประชาชนในกระทรวงสาธารณสุข ต่างมีภาระงานมากเกินกำลังของมนุษย์ธรรมดา ที่จะสามารถทำงานได้อย่างดีที่สุด กล่าวคือ แพทย์มีเวลาตรวจผู้ป่วยเพียงคนละ 2-4 นาที เนื่องจากมีผู้ป่วยต้องดูแลรักษามากเกินไป บางแห่งก็ต้องตรวจรักษาผู้ป่วยถึงวันละ 100 คน และแพทย์ยังตมีเวลาทำงานติดต่อกันมกเกินไป เช่นต้องทำงานติดต่อกัน 24 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น โดยไม่มีเวลาหยุดพัก หรือไม่มีแม้กระทั่งเวลานอนหลับ ทำให้แพทย์มีสภาพร่างกายเหนื่อยล้า ทำให้ความสามารถในการใช้ดุลพินิจในการตรวจรักษาผู้ป่วยไม่ดีเท่าที่ควร(ทำงานได้ไม่เต็มตามศักยภาพ) จากการเก็บข้อมูลของแพทยสภาได้พบว่า  บางแห่งแพทย์ต้องทำงานสัปดาห์ละ 80-120 ชั่วโมง เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากร ทำให้แพทย์ต้อง “อยู่ในสภาพจำยอม” ที่ต้องรับหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยต่อเนื่องกันเกิน 24 ชั่วโมง

             ซึ่งภาระงานและเวลาทำงานของแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข เป็นดังกล่าวนี้มานานหลายปีแล้ว และภาระงานนี้มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นหลังจากการมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาจนถึงปัจจุบัน และคงจะเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต ทั้งนี้เนื่องจากการส่งเสริมให้เกิด Medical hub หรือการเกิด ASEAN Economic Community (AEC) ที่จะทำให้มีผู้ป่วยต่างชาติหลั่งไหลมารับการบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยมากขึ้น และ Medical hub น่าจะทำให้จำนวนแพทย์ในรพ.กระทรวงสาธารณสุขน้อยลง (เนื่องจากไหลไปอยู่ที่รพ.เอกชนมากขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยจะเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เนื่องจากการเพิ่มจำนวนผู้สูงอายุและมีโรคจากความเสื่อมตามวัยและโรคเรื้อรัง

               การที่แพทย์มีสภาพการทำงานที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวแล้ว จะส่งผลเสียหายต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชน เกิดความเสี่ยงต่อความเสียหาย และความเสี่ยงที่แพทย์จะถูกฟ้องร้องเพิ่มขึ้น

                  ในฐานะของผู้แทนกลุ่มผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทยคือ“สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)”จึงขอเรียกร้องให้องค์กรผู้นำในทางวิชาการแพทย์ ได้แก่สมาคมหรือราชวิทยาลัยต่างๆ ได้ กำหนด “มาตรฐานภาระงานและเวลาการทำงานของแพทย์”ให้เหมาะสมที่สุด ที่จะ ช่วย “ป้องกันความไม่แน่นอนและความเสี่ยง”ด้านการแพทย์ ให้เหลือน้อยที่สุด ที่จะทำให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายแก่ผู้ป่วยให้น้อยที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ได้รับความเสียหายจาก “ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงจากการบริการทางการแพทย์”นี้

                  โดยมีข้อเรียกร้องในการกำหนดมาตรฐานภาระงานและเวลาการทำงานของแพทย์ดังนี้คือ

                   1.กำหนดมาตรฐานภาระงานของแพทย์ว่าแพทย์ควรต้องรับผิดชอบตรวจรักษาผู้ป่วยวันละกี่คน ทั้งนี้เพื่อให้แพทย์มีเวลาที่มีมาตรฐานในการตรวจผู้ป่วยแต่ละคน” โดยการกำหนดว่าแพทย์ควรมีเวลาอย่างน้อยที่สุดนานเท่าใด จึงจะสามารถ “ลดความไม่แน่นอนและความเสี่ยง”ในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้มากที่สุด ซึ่งถ้าดูมาตรฐานเฉลี่ยในสหรัฐพบว่า แพทย์ควรมีเวลาไม่น้อยกว่า “10นาที” ในการตรวจและรักษาผู้ป่วยนอกรายใหม่ นั่นหมายความว่า ในเวลา 1 ชั่วโมง แพทย์ไม่ควรตรวจรักษาผู้ป่วยนอกเกิน 6 คน ใน 1 ชั่วโมง

                    2. กำหนดมาตรฐานระยะเวลาการทำงานของแพทย์ว่าไม่ควรเกิน 8 ชั่วโมงติดต่อกัน และรวมเวลาการทำงานของแพทย์ในแต่ละสัปดาห์ ไม่ควรเกิน 60 ชั่วโมง

              ทั้งนี้ การกำหนดมาตรฐานภาระงานและเวลาการทำงานของแพทย์ดังกล่าวทั้ง2 ข้อนี้ ประกอบกับมาตรฐานความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยของแพทย์  จะช่วยลดความ “ไม่แน่นอนและความเสียง”ของการบริการทางการแพทย์ให้เหลือน้อยที่สุด จะทำให้ผู้ป่วยปลอดภัย เนื่องจากแพทย์จะสามารถทำงาน “ตรวจรักษาผู้ป่วยได้ตามมาตรฐาน”และผู้ป่วยจะเสี่ยงต่อ “ความเสียหายน้อยที่สุด”

จาก http://chinaworker.info/en/content/news/1464/ ได้กล่าวถึงว่าแพทย์ในส่วนของการบริการสาธารณะ(public sector) ของฮ่องกง เรียกร้องให้ทางการกำหนดมาตรฐานเวลาการทำงานของแพทย์เพื่อลดปัญหาการลาออก และความเสี่ยงต่อความผิดพลาด กล่าวคือในปัจจุบัน แพทย์ในระบบสาธารณะของฮ่องกงต้องทำงานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 65.6 ชั่วโมง โดยแพทย์ถึง 212% ต้องทำงานมากกว่า สัปดาห์ละ 80 ชั่วโมง และแพทย์ 3 % ต้องทำงานมากกว่าสัปดาห์ละ 100 ชั่วโมง และแพทย์ 80% ได้กล่าวว่าการทำงานมากเกินไปส่งผลต่อการตัดสินใจในการรักษาผู้ป่วย และแพทย์ 40% ยอมรับว่าการทำงานมากเกินไปทำให้เกิดความผิดพลาดในการรักษาผู้ป่วย และแพทย์ 85% กล่าวว่ากำลังพิจารณาที่จะลาออกจากการทำงานในการบริการสาธารณะ ถ้าสภาพการทำงานไม่เปลี่ยนแปลง โดยแพทย์เหล่านี้บอกว่า ต้องตรวจรักษาผู้ป่วยอย่างน้อยวันละ 20 คน แต่บางวันก็อาจจะต้องตรวจรักษาผู้ป่วยมากถึง 40 คน ซึ่งทำให้แพทย์ต้องการออกไปทำงานในภาคเอกชนที่มีภาระงานน้อยกว่าและมีค่าตอบแทนดีกว่า แต่แพทย์ส่วนหนึ่งก็ลาออกจากการทำงานในรพ.รัฐบาลเนื่องจากทนต่อความกดดันจากภาระงานไม่ไหว มากกว่าที่จะลาออกจากสาเหตุค่าตอบแทนต่ำเท่านั้น และเมื่อแพทย์ลาออกมากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ภาระงานของแพทย์ที่ยังคงทำงานอยู่ยิ่งมากขึ้น

 ฟังดูคุ้นๆเหมือนที่เกิดขึ้นในเมืองไทยของเรานั่นเอง

สำหรับชั่วโมงการทำงานของแพทย์ในทวีปยุโรปหรือ สามารถค้นหาได้จาก google ที่มีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยตั้งแต่ 35- 65 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยที่ควรมีเวลาเฉลี่ยในการตรวจรักษาผู้ป่วยคนละอย่างน้อย 10นาที  ทั้งนี้เวลาที่น้อยกว่า 10นาที อาจจะทำให้ไม่มีเวลาแพทย์จะ “สื่อสาร” หรือพูดคุยกับผู้ป่วยให้เข้าใจในเรื่องอาการป่วย การรักษาและความคาดหวังว่าจะเกิดผลอะไรตามมาหลังจากการรักษาบ้าง รวมทั้งการที่แพทย์มีเวลา “ฟัง”ผู้ป่วย เพื่อช่วยในการวินิจฉัย รักษา และแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้ป่วยเพื่อสัมพันธภาพที่ดีต่อกันอีกด้วย

 ปัจจุบันนี้ แพทยสภาและราชวิทยาลัยหรือสมาคมแพทย์ต่างๆ  ต่างก็ทำหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานและคอยกำกับ ควบคุมให้แพทย์รักษา “มาตรฐานการแพทย์”จากข้อ 2.1-2.3 ได้แก่ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล  ดังกล่าวแล้ว

 แต่กระทรวงสาธารณสุขยังไม่สามารถกำหนดมาตรฐานภาระงานและเวลาการทำงานของแพทย์ดังกล่าวได้เลย ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยมีผลเป็น “ความไม่แน่นอนและความเสี่ยง”มาก ซึ่งเป็นผลให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อความเสียหายต่อชีวิตและสุขภาพ ส่วนแพทย์มีความสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องหรือกล่าวโทษ

กลุ่มผู้เสียหายจากการไปรับบริการทางการแพทย์ยอมรับความเสี่ยงเหล่านี้ โดยเรียกร้องเพียง “การคุ้มครองหลังจากเกิดความเสียหายแล้ว” โดยการเสนอและผลักดันให้รัฐบาลออกพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจาการรับบริการสาธารณสุขเท่านั้น

แต่ ผู้เขียนในฐานะผู้แทนของ “กลุ่มผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข” ส่วนหนึ่ง จากสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข(สผพท.) เห็นว่าถ้ารัฐบาลสามารถกำหนดมาตรฐานการทำงานของแพทย์ให้ครบทั้ง 4 ข้อ รวมทั้งสามารถจัดการให้แพทย์มีภาระงานและเวลาการทำงานตามมาตรฐานอย่างแท้จริง ก็ย่อมจะช่วยลดความเสี่ยงอันตรายและความเสียหายของผู้ป่วย และป้องกันการฟ้องร้องแพทย์ได้เป็นอย่างดี

สผพท.จึงขอยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  รวมทั้งสภาวิชาชีพ สมาคมและราชวิทยาลัยทางการแพทย์ ทุกๆองค์กรว่า ถึงเวลาที่ต้องกำหนด “เวลาที่ใช้ในการตรวจรักษาผู้ป่วย” และเวลาการทำงานของแพทย์” ได้ตามที่เสนอข้อเรียกร้องมา ทั้ง 2 ข้อข้างบน  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย

 กลุ่มสผพท.แน่ใจว่า ถ้าแพทย์มีเวลาทำงานตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ดังกล่าวแล้ว บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขคงจะช่วยสนับสนุนและผลักดันให้เกิด “พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข” โดยรวดเร็วอย่างแน่นอน

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)
23 ก.พ. 55