ผู้เขียน หัวข้อ: คนบัตรทองไม่ต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล  (อ่าน 665 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9779
    • ดูรายละเอียด
คนสิทธิบัตรทองไม่ต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล เฉพาะเงินจากรัฐใช้ดูแลได้อีก20 ปี ไม่ต้องหาแหล่งเงินอื่นเพิ่ม ย้ำรัฐต้องให้เพิ่มปีละ 4.2 % คนจ่ายเองเฉพาะสิทธิเสริม

      หลังจากที่คณะกรรมการจัดทำแนวทางพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตั้งขึ้น มีศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน ได้มีการสรุปในส่วนของการสร้างความเป็นธรรมของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยจะให้มีการกำหนดสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่ทุกคนจะได้เหมือนกันในทุกสิทธิรักษาพยาบาลทั้งบัตรทอง ประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ และมีสิทธิฯเสริมที่แต่ละกองทุนประกันสุขภาพจะไปกำหนดเพิ่มเติมเอง และสิทธิเสริมที่ประชาชนแต่ละคนจะจ่ายเองตามความต้องการนั้น

       "เท่ากับประชาชนที่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลเป็นบัตรทองไม่ต้องร่วมจ่ายเพื่อนำมาสนับสนุนระบบ เพราะเงินภาษีจากรัฐอย่างเดียวแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเพียงพอที่จะใช้สนับสนุนค่ารักษาพยาบาลได้เพียงพอในการให้บริการตามสิทธิประโยชน์หลักที่ทุกคนจะได้ ประชาชนจะต้องจ่ายเงินเองในกรณีที่ต้องการสิทธิประโยชน์ในการรักษาเสริมเพิ่มเติมจากสิทธิพื้นฐานและสิทธิที่แต่ละกองทุนจัดให้ ซึ่งการจ่ายเงินเองก็เป็นไปตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประชาชน"ศ.นพ.ภิรมย์กล่าว

     ด้านดร.คณิศ กล่าวว่า รัฐจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 4.2 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราคู่ขนานกับการขยายตัวด้านงบประมาณของรัฐบาล แต่หากภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ งบประมาณด้านสุขภาพยังต้องคงไว้ที่ตัวเลขดังกล่าว เนื่องจากเป็นตัวเลขที่ระบบการบริการด้านสุขภาพจะยังอยู่ได้ และยังไม่จำเป็นต้องมีการแหล่งเงินทุนอื่นเพิ่ม ทั้งกรณีการเก็บภาษีพิเศษเพิ่ม หรือกรณีการร่วมจ่าย

       ต่อข้อถามจะทำอย่างไรให้งบฯบัตรทองได้รับเพิ่มเติมร้อยละ 4.2 ต่อปีทุกปีเพราะที่ผ่านมาเคยมีการแช่แข็งงบฯนี้ให้คงที่ 3 ปีมาแล้ว ดร.คณิศ กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องเขียนไว้เป็นกฎหมาย เพราะการระบุตัวเลขในกฎหมายจะทำให้เกิดความยุ่งยาก สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ

1.กระทรวงสาธารณสุขต้องเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขแห่งชาติอย่างแท้จริง ต้องดูแลเรื่องสาธารณสุขในทุกแกน เพื่อจะสามารถบอกได้ว่างบประมาณด้านสุขภาพจำเป็นต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ อย่างไร เพื่อทีรมว.สธ.จะสามารถไปเสนอต่อสู้ในการของบประมาณได้ และ

2.ต้องมีระบบข้อมูลด้านสุขภาพที่ดี สามารถแจกแจงคนและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ เมื่อมีข้อมูลเช่นนี้ก็จะแก้ปัญหาผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินเรื่องบประมาณไม่เข้าใจความจำเป็นต้องใช้งบฯในเรื่องสุขภาพได้ 

      ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย ประธานคณะทำงานศึกษาความเป็นธรรม กล่าวว่า  การจัดทำชุดสิทธิประโยชน์หลักและสิทธิประโยชน์เสริม จะมีการจัดทำเป็น พ.ร.บ. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลของสภาปฏิรูประบบสุขภาพ โดยขั้นตอนในการผลักดันให้ออกเป็นกฎหมายนั้น โดยปกติจะอยู่ที่ประมาณ 2 ปี แต่ในภาวะนี้อาจรวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของชุดสิทธิประโยชน์หลัก แต่ละกองทุนจะต้องมีความเหมือนกันมากที่สุด เพื่อสร้างความเป็นธรรม ซึ่งแต่ละกองทุนจะไปกำหนดสิทธิประโยชน์ร่วมกันว่ามีอะไรบ้างที่ต้องเหมือนกัน ส่วนสิทธิประโยชน์เสริมอยู่ที่แต่ละกองทุนไปพิจารณาเอง แต่ในเรื่องข้อกำหนดสิทธิประโยชน์ทั้งชุดหลักและชุดเสริม จะต้องรอร่าง พ.ร.บ.ออกมาก่อนจึงจะดำเนินการได้

http://www.komchadluek.net/news/edu-health/245778#.V_3LS32XWDM.facebook