ผู้เขียน หัวข้อ: หายนะประเทศ!! มือมืดใช้อภิสิทธิ์แย่งโควตา จนวัคซีนขาดแคลน? เสี่ยงคุมไม่อยู่  (อ่าน 292 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
ไร้วัคซีนพิชิตโรค “ความเสี่ยงมหาศาล-วิกฤตประเทศ” สะท้อนการการจัดการที่ล่าช้า-วางแผนน้อย อาจจะทำให้ ยอดติดโควิดพุ่ง-เตียงไม่พอ สังคมฉะ วัคซีนขาดแคลน ไร้ที่พึ่ง เพราะนักการเมืองใช้สิทธิพิเศษ หมอชี้ ความวิกฤตหายนะประเทศกำลังมา!

วัคซีนที่หายไป เพราะนักการเมืองใช้สิทธิพิเศษ?

“เราถูกขอให้ต่อสู้ รบยืดเยื้อ และให้ขยายแนวรบออกไปตลอดเพื่อชาติ ชาติบอกเรามาว่า ให้ปันส่วนกระสุน เอาไปคนละสิบนัดในเดือนนี้ แล้วให้ตรึงแนวรับไว้ให้ได้จนถึงเดือนหน้า บางหน่วยยังเตรียมพร้อมอยู่ในที่ตั้ง แต่มีกระสุนให้ไม่จำกัด”

นี่คือ ข้อความส่วนหนึ่งที่ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติต้นแบบการก่อตั้งโรงพยาบาลสนาม สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิดแห่งแรกในประเทศไทย ได้ออกมาโพสต์ถึงความรู้สึก หลังหลาย รพ.ออกประกาศ เลื่อนนัดรับวัคซีนเข็ม 2 ช่วงปลายเดือนนี้ จนถึงต้นเดือนหน้า เหตุเพราะยังไม่ได้รับวัคซีน

เมื่อตรวจสอบพบว่า ก่อนหน้านี้ ทางโรงพยาบาลได้ติดต่อขอโควตาวัคซีนแบบองค์กร กับกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 12,000 โดส เพื่อฉีดให้บุคลากรอื่นๆ นอกเหนือจากแพทย์ และพยาบาล ที่ทำหน้าที่ปฏิบัติงาน หลังถูกใช้เป็นพื้นที่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก

โดยกรมควบคุมโรคไม่ส่งวัคซีนตามกำหนดในวันเสาร์ที่ผ่านมา ทั้งที่รับปากว่าจะให้วัคซีนแก่บุคลากรของธรรมศาสตร์-สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) และ ยังไม่ได้รับการติดต่อว่าจะส่งมอบให้วันไหน

ไม่เพียงแค่นั้น โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม เป็นต้นไป ศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีเฉพาะวัคซีนซีโนแวค (Sinovac) ให้บริการประชาชนเท่านั้น

เช่นเดียวกับ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) เข็มที่สอง วันที่ 25 พ.ค. - 4 มิ.ย. เพราะยังไม่ได้รับวัคซีน

ขณะเดียวกัน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข แจงถึงเหตุการณ์ที่เลื่อนฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 2 เพราะทำตามหลักวิชาการ ยืนยันมีวัคซีนฉีดคนไทยตามกำหนด

“ประเทศไทยยังมีวัคซีนซิโนแวค พร้อมอยู่ และมั่นใจว่า แอสตร้าเซนเนก้า จะส่งวัคซีนตามข้อกำหนด โดยสัญญาระบุว่า หากวัคซีนที่ผลิตในไทยยังจัดส่งไม่ได้ ก็ต้องจัดหามาจากแหล่งผลิตอื่นส่งให้ไทย

ยืนยันเรามีวัคซีนฉีดให้กับพี่น้องประชาชนตามกำหนดของรัฐบาลแน่นอน และในช่วงบ่ายวันนี้ ไฟเซอร์ (Pfizer) ได้มาหารือเกี่ยวกับเอกสารสำหรับยื่น ถือเป็นการนับหนึ่ง ทุกอย่างก็เป็นไปตามแผน อย่าไปกังวล”

ทว่า ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับวัคซีนโควิดแอสตร้าเซนเนก้า เริ่มไม่เพียงพอ หลังบางโรงพยาบาล ประกาศเลื่อนนัดฉีดเข็ม 2 พร้อมทั้งมองว่าฉีดเข็มแรกเพียงพอแล้ว ขอให้รอเข็มสองไปก่อน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ต่างสร้างข้อสงสัยเกี่ยวกับวัคซีน ว่า ที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไม่เพียงพอ ไม่สามารถแบ่งให้ได้ตามที่สัญญาไว้ เพราะผู้มีอำนาจทางการเมืองใช้สิทธิพิเศษเอาวัคซีนไปใช้หาเสียงในพื้นที่หรือไม่

ถึงเรื่องนี้ อ.สุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมทีวีดิจิทัลแห่งประเทศไทย ได้พูดถึงและสงสัยประเด็นดังกล่าว ในช่วงหนึ่งของรายการขีดเส้นใต้เมืองไทย ไว้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตประเทศ

“ผมเห็นเขาแฉตัวเลขการจัดสรรวัคซีน ที่กระทรวงสาธารณสุขส่งไปต่างจังหวัด ให้เขาไปบริหารจัดการฉีดกันเอง ที่เขาเปรียบเทียบ คือ จังหวัดเล็กๆ ประชากรน้อย ตัวเลขคนติดเชื้อน้อย กลับได้รับการจัดสรรจำนวนวัคซีนมากกว่าจังหวัดใหญ่ ที่มีจำนวนประชากรมากกว่า มีตัวเลขผู้ติดเชื้อมากกว่า อันนี้มันเกิดขึ้นได้ยังไง

แล้วเขายกตัวอย่าง จ.สกลนคร ได้รับการจัดสรรวัคซีน จากกระทรวงสาธารณสุขไป มากกว่าจังหวัดที่มีประชากรมากกว่า และติดเชื้อมากกว่า เขาเลยสงสัยว่า นี่มันเป็นเรื่องของการเมือง พรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยไหม ที่พรรคการเมือง นักการเมืองจะเอาดึงเอาวัคซีนเข้าจังหวัดตัวเองให้มากๆ เพื่อเป็นการเพิ่มประชานิยม คะแนนนิยม”

เทียบจำนวนวัคซีน น้อยกว่าจำนวนประชากร?

แน่นอนว่า โควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน มากกว่า 30 คลัสเตอร์ โดยเฉพาะในแคมป์คนงานในโรงงาน ที่กระจายออกไป นำมาซึ่งการถูกวิจารณ์หนักไม่ต่างกัน คือ แผนการกระจายวัคซีน ของพื้นที่สีเข้ม 4 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และ สมุทรปราการ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ให้คำตอบกับ ทีมข่าว MGR Live ถึงสถานการณ์ตอนนี้ รวมถึงกฎเกณฑ์การกระจายวัคซีนว่า ปัจจุบันมองว่าทุกพื้นที่เป็นพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด ที่จะต้องคลุมให้ได้

“จริงๆ แล้ว ตอนนี้เราถือว่าทุกพื้นที่ เป็นพื้นที่เสี่ยงหมด เพราะถ้าหากว่าเราคลุมไม่ได้ พื้นที่สีเขียวก็จะหลายเป็นพื้นที่สีแดงไปในที่สุด

เพราะว่าในพื้นที่สีเขียว หรือสีเหลืองนั้น ถ้ามีคนที่ติดเชื้อ โดยที่ไม่เห็นหรือไม่มีอาการ เข้าไปสักพักเดียวมันก็กลายเป็นพื้นที่สีแดงไป ดังนั้นการฉีดตรงนี้ แท้จริงแล้วจะเลือกไม่ได้ว่า จะเป็นสีแดงหรือเป็นสีเขียว หมายความว่า ต้องหาวัคซีนให้พอที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อที่จัดการเรื่องนี้”

ทั้งนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยังมองอีกว่า วัคซีนที่มี เมื่อเทียบกับประชากรของประเทศ วัคซีนมีน้อยมากๆ ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชาชน และหากประชาชนได้รับวัคซีนช้า สถานการณ์โควิด-19 ของประเทศจะวิกฤต

“เทียบแล้ววัคซีนน้อยมาก ขณะนี้เราเรียกว่าวัคซีนเราไม่พอเลย ประการที่ 2 คือ การฉีดก็ยังไม่มีกระบวนการที่ฉีดได้มากที่สุด และครอบคลุมทุกพื้นที่ได้ ถ้าหากมันเป็นสักประมาณ 5-6 เดือนที่แล้ว เราอาจจะฉีดบรรจงได้ จะกลัวแพ้ไหม ซักประวัติอะไรต่างๆ ก่อนไหม แต่ ณ ขณะนี้ถือว่าเรารอไม่ได้แล้ว ต้องฉีดปูพรมไปหมดเลย คือ เรียกได้ว่ายืนเข้าแถวฉีดเลย”

ไม่เพียงแค่นั้น ยังมองอีกว่า ในภาวะวัคซีนไม่พอในประเทศ การฉีดวัคซีนเพียง 1 เข็ม ถึงจะลดอัตราการเสียชีวิตได้ แต่ไม่สามารถพิชิตสถานการณ์นี้ได้ เพราะไม่ใช่การแก้ทางออก ดังนั้น ถ้าหากว่าสายพันธุ์ใหม่เข้ามาครองพื้นที่ และครองสัดส่วนได้มากขึ้น มันจะเริ่มเป็นปัญหาระลอกใหม่ ดังนั้นระลอกเก่าที่มีอยู่ ณ ขณะนี้ต้องสงบให้ได้เร็วที่สุดก่อน

“ฉีดเข็มเดียวจริงๆ เอาไม่อยู่ แต่อย่างน้อยที่สุด ต้องฉีด 1 เข็มก่อน แต่ ขณะเดียวกัน ต้องรีบสั่งทยอยเข้ามาฉีด

การฉีดเข็มที่ 2 นั้น ถ้าหากว่าเนิ่นนานเกินไปนั้น ผลที่ได้รับการปกป้องคุ้มกัน โดยสายพันธุ์ที่ไม่ใช่สายพันธุ์ปกติ โดยเฉพาะที่มีรายงานล่าสุดมา คือ สายพันธุ์อินเดีย ประสิทธิภาพนั้นอาจจะลดน้อยถอยลง ถ้าหากว่าเข็มที่ 2 นั้นฉีดล่าช้าเกินไป

ดังนั้น คือ หลังจากที่ฉีดครบ 60 ล้านคน ภายใน 60 วัน หมายความว่า ต้องเริ่มต้นฉีดเข็มที่ 2 ต่อ ซึ่งหมายความว่าต้องเตรียม 60 ล้านเข็ม ต่อไปเลย”

สุดท้ายย้ำ ให้ฟังเกี่ยวกับสถานการณ์ตอนนี้ จะมีผู้ที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก หากไร้วัคซีนป้องกัน ซึ่งยิ่งผู้ติดเชื้อมากขึ้นเท่าไหร่ อัตราความเสี่ยงก็เพิ่งสูงขึ้น จนถึงขั้นวิกฤตที่เอาไม่อยู่

“เป็นความเสี่ยงมหาศาล ถือเป็นความวิกฤตค่อนข้างมาก เพราะว่าเตียงต่างๆ ที่รับผู้ป่วยในขณะนั้น อยู่ในภาวะที่คับขัน เตียงที่รับผู้ป่วยที่วิกฤตเหล่านี้ มันจะเพิ่มสัดส่วนตามจำนวนผู้ติดเชื้อ

ยิ่งผู้ติดเชื้อมากขึ้นเท่าไหร่ จำนวนผู้อาการหนักจะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ตรงนี้เป็นสายพันธุ์ปกติอยู่ ซึ่งวัคซีนเอาอยู่ ถ้าหากว่าเราเอาไม่อยู่ตรงนี้

หมายความว่าเตียงก็เต็มแล้ว และยังมีสายพันธุ์อื่นๆ มา ซึ่งเราก็กังวลว่าวัคซีนตามปัจจุบันนี้ อาจจะได้ผลได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น จะถูกซ้ำซ้อนเข้ามาอีก ตรงนี้จะเป็นความวิกฤตหายนะของระบบสาธารณสุขเลย ตอนนี้เราไม่มีทางเลือกแล้ว เราถูกมัดมือชก”


ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
25 พ.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์