ผู้เขียน หัวข้อ: หมอตู่ 70 - หมอหนู 30 ความรับผิดหลังพ่ายศึกโควิดระลอก 3  (อ่าน 291 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จาก “เทศกาลแห่งความสุข” กลายเป็น “วิกฤตแห่งความทุกข์” จนได้

เพราะคล้อยหลังจากเทศกาลสงกรานต์มา ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็พุ่งทะยานอยู่ที่หลัก “สองพันกว่า” อย่างต่อเนื่อง ทำลายสถิติเป็นรายวัน

อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ระลอก 3 ที่มีต้นตอจาก “คลัสเตอร์ทองหล่อ” ที่รุนแรง และขยายวงกว้างในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากมีการเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือท่องเที่ยวพักผ่อนในช่วงวันหยุดยาว โดยที่รัฐบาลไม่ได้มีมาตรการป้องปรามอะไรออกมาทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่า จะส่งผลต่อการระบาดของโรคมากน้อยเพียงใด

ผู้นำนำเชื้อไวรัสมรณะไปแพร่กระจายออกจากรุงเทพฯ ไปยังทุก 77 จังหวัดของประเทศไทย จากนั้นก็ย้อนกลับมาที่กรุงเทพฯ จนเมืองหลวงของไทยมีอัตราการติดเชื้อสูงสุดอยู่ในขณะนี้

ที่สำคัญตัวเลขผู้เสียชีวิตก็เพิ่มมากขึ้นเป็น “นิวไฮ” ต่างจากการระบาดในระลอกแรก ที่ผู้ติดเชื้อมาก แต่ยอดสูญเสียต่ำ
ในขณะที่รัฐบาล ที่นำโดย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดูจะ “เก้ๆ กังๆ” ผิดฟอร์ม “ท่านผู้นำ” ที่เคยมี “ความเด็ดขาด” เป็น “จุดขาย” อย่างเห็นได้ชัด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สัญญาณอันตราย” ของการแพร่ระบาดระลอก 3 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือน เม.ย. ก่อนถึงช่วงหยุดยาววันสงกรานต์ถึง 2 สัปดาห์
แต่ในขณะที่สถานการณ์ “ไม่สู้ดี” อย่าว่าแต่มาตรการ “ยาแรง” อย่าง “ล็อกดาวน์” หรือ “เคอร์ฟิว” เลย รัฐบาลยังปล่อยให้มีการหยุดยาว และการเดินทางข้ามจังหวัดตามเดิม ทั้งที่ก็เคยมี “ประสบการณ์” เมื่อครั้งการแพร่ระบาดระลอกแรก ที่รัฐบาลสั่งยกเลิกวันหยุดช่วงสงกรานต์ปี 2563 เพื่อยับยั้งการเดินทางข้ามจังหวัด และงานฉลองรื่นเริง จนเป็นผลให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้

เข้าใจได้ว่า ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่สวมหมวกทั้ง “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” และ “ผอ.ศบค” การตัดสินใจโดยคำนึงถึง “ทุกมิติ” เป็นไปด้วยความยากลำบาก

อย่างที่เจ้าตัวว่าไว้ ที่ไม่ล็อกดาวน์ ไม่เคอร์ฟิว เพราะเกรงว่าจะกระทบเศรษฐกิจฐานราก

ครั้นจะ “ยาแรง” แบบ “เจ็บแต่จบ” เหมือนเมื่อปีกลาย ก็มีความกังวลถึงผลกระทบมิติทาง “เศรษฐกิจ” แล้วยังต้องพะว้าพะวงกับมาตรการเยียวยาที่ต้องรับผิดชอบ หันรีหันขวางก็เห็นว่า งบประมาณที่กู้มาเป็นล้านล้านบาท ได้นำออกมาใช้จนเหลืออยู่ไม่มากนัก

กัดฟัน “วัดดวง” ไปตามมีตามเกิด ปรากฎผลก็ไม่เกินกว่าที่หลายฝ่ายคาด กับยอดผู้ติดเชื้อที่พุ่งทะยานทุบสถิติเป็นรายวัน ที่สำคัญคือแพทย์หลายคนยืนยันตรงกันว่า หากตัวเลขผู้ป่วยยังอยู่ในระดับนี้ ต่อไปอีกราว 3-4 วัน ระบบสาธารณสุขจะ “พัง” ด้วยโครงสร้างพื้นฐานของระบบ และบุคลากรทางการแพทย์ไม่มีทางเพียงพอรองรับกับตัวเลขผู้ป่วยที่มากขนาดนี้

แถมยังเกิดปัญหาถาโถมเข้าใส่รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสายด่วนคอลเซนเตอร์ หรือปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ เพราะสถานพยาบาล เตียงรักษาผู้ป่วยไม่เพียงพอ และความไม่ได้มาตรฐานของโรงพยาบาลสนาม จนเกิดเหตุการณ์สลด ผู้ป่วยโควิด ต้องเสียชีวิต “คาบ้าน” หรือ “คาคอนโดฯ” เพราะหาเตียงรักษาไม่ได้ หรือบางรายถึงขนาดเสียชีวิตตั้งแต่ยังไม่ได้ตรวจเลยด้วยซ้ำ

จริงอยู่ที่เรื่อง “เตียง” เป็น “ช่องโหว่” สำคัญของระบบสาธารณไทย เพราะต้องยอมรับว่า โรงพยาบาลขนาดใหญ่ไม่ได้อยู่ในเมือของกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็ โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลพระมงกุฎ โรงพยาบาลภูมิพล รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนจำนวนมาก แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาใหม่ และเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า องค์กรระดับชาติอย่าง ศบค. ซึ่งมีประสบการณ์เรื่องโควิดมาอย่างต่อเนื่องเแทนที่จะมองเห็นปัญหานี้กลับมะงุมมะหงาหราอย่างไม่น่าเชื่อ

กระทั่งปัญหาใหญ่ที่สุดคือ ความล่าช้าของการจัดหา และกระจายวัคซีน

เรียกว่ากลับตาลปัตร จากที่เคยยืดอกภูมิใจคุยเขื่องว่า ได้รับการยกย่องเป็นอันดับต้นๆของโลก ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เมื่อปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง
กลับกลายเป็นว่าปีกว่าที่ผ่านมา “นายกฯ ตู่” ไม่ได้เรียนรู้การรับมือใดๆ เช่นนั้นหรือ

คำถามที่มีต่อความเด็ดขาดของ “นายกฯ ตู่” ยังมีไปถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทุกระลอกนั้นมี “ต้นตอ” มาจากความไม่เด็ดขาดของ “ผู้มีอำนาจ” ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคลัสเตอร์สนามมวยลุมพินี-สถานบันเทิงในระลอกแรก ที่สอบสวนไปมาก็ไม่สามารถจับมือใครดมได้

หรือการระบาดระลอกที่ 2 มีต้นตอมาจาก 2 คลัสเตอร์สำคัญนั่นคือ “บ่อนการพนันหลงจู๊สมชาย” และ “การลักลอบเข้าเมือง” ของแรงงานต่างชาติ “วงจรส่วย” ที่พันมาถึง “ผู้มีอำนาจ” อีกเช่นกัน แต่ดูเหมือนว่า การไล่เบี้ยเอาผิดจะหยุดแค่ “ปลาซิวปลาสร้อย” ในขณะที่ “ผู้บงการ” ลอยนวล

ไม่ต่างจากการระบาดระลอก 3 ที่คลัสเตอร์ทองหล่อ จากสถานบันเทิง “คริสตัล-เอมเมอรัล” ที่ในยุทธจักร “คนมีสี” รู้กันดีว่า เป็นของ “บิ๊ก” คนไหน ทว่าก็เลือกเล่นงานเฉพาะ “ผู้จัดการร้าน” ทั้งที่มีความผิดทั้งกรณีปล่อยปละละเลยแพร่โควิด แล้วยังพบว่า ไม่มีใบอนุญาตเปิดสถานบันเทิงอีกต่างหาก

เมื่อปัญหาประดังประเดจน “เอาไม่อยู่” ก็กลายเป็น “ประจานความล้มเหลว” ของรัฐบาลก็เริ่มมีคำถามถึงประสิทธิภาพการทำงาน ภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์” และ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ “ศบค.” ที่ก็ “พล.อ.ประยุทธ์” นั่งเก้าอี้เป็นหัวเรือใหญ่อีกเช่นกัน

หรือทำไปทำมา “ปัญหา” น่าจะอยู่ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่มีอำนาจสูงสุดในรัฐบาล และในฐานะ ผอ.ศบค. ที่เป็นหน่วยงานรวมศูนย์ในการจัดการกับปัญหาโควิด-19 มาตั้งแต่ต้นและเป็นปัญหาที่ “เพื่อนร่วมรัฐบาล” เคยพยายามท้วงติงหลายครั้ง แต่ด้วย “ความมั่นใจในตัวเอง” ของ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่ “สูงกว่าปกติ” จึงไม่มีการปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด

“หลายครั้งที่ผมพูดผมอาจจะพูดเร็วไปนิดหนึ่ง เพราะว่ามันมีเรื่องหลายเรื่องที่ให้ต้องคิด ก็ต้องขอโทษด้วยแล้วกัน วันนี้ผมพยายามพูดช้าๆ บางครั้งผมพูดเร็วก็พูดถูกบ้างผิดบ้าง สะกดการันต์ พูดไม่ชัดบ้าง ขอให้เข้าใจก็แล้วกัน ผมพยายามเต็มที่เพราะผมเป็นคนทำอะไรเร็วไปนิดหนึ่ง คิดเร็ว พูดเร็ว หลายเรื่องอยู่ในสมองนายกฯ เยอะทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สุขภาพ การลงทุน งบประมาณ งานในหน้าที่ของนายกฯ ก็จะพยายามทำให้ดีที่สุดด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน อะไรที่ไม่ดีก็ขอโทษ อะไรที่ดีก็ขอให้ร่วมมือกัน”

คือคำให้สัมภาษณ์ของ “บิ๊กตู่” เมื่อวันที่ 20 เม.ย. หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงปัญหาด้านการสื่อสาร เมื่อครั้งแถลงหลังการประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 16 เม.ย.

ล่าสุด “หมอหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ที่เป็น “หนังหน้าไฟ” ในวิกฤตการณ์โควิดมาตลอด เพราะโดยตำแหน่งถือเป็น “เจ้าภาพหลัก” ด้านการสาธารณสุขของรัฐบาล ต้องออกมา “ฟ้องสังคม” ผ่านเฟซบุ๊กที่บางช่วงบางตอนกล่าวไปถึงการถูกยึดอำนาจของกระทรวงสาธารณสุขโดยนายกรัฐมนตรี แต่ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาก็พร้อมปฏิบัติตามนโยบายและคำสั่งของนายกฯมาโดยตลอด

“ที่ผ่านมา ศบค. เป็นผู้บริหารแบบ Single command มาตั้งแต่ต้น กระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติตามนโยบาย ศบค. ด้วยดีมาตลอด แม้จะไม่เห็นด้วยในบางเรื่องก็ตาม” ความในใจที่สะท้อน “นัย” ของ “อนุทิน”

ตามมาด้วย “ลูกคู่” อย่าง“บังซุป” ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย สายตรง “เสี่ยโอ้ง” เนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่แห่งบุรีรัมย์ ที่แชร์บทความ “หมอนิรนาม” ที่เผยแพร่ผ่านสื่อแห่งหนึ่งที่เสนอให้ “ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ยุบทิ้ง ศบค.”

ไม่เท่านั้น “บังซุป” ยังได้เพิ่มเติมความเห็นส่วนตัวลงไปในทำนองว่า รัฐบาลถนัดแต่ใช้ “อำนาจพิเศษ” และ “ผิดพลาด” ที่ใช้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาเป็นหลักแทนกระทรวงสาธารณสุข ที่สำคัญคือการตัดความมีส่วนร่วมของ “ฝ่ายการเมือง” ออกไป

ต่อเนื่องด้วยอีกโพสต์ในทำนองว่า “ทัวร์ลง” ผิดคน เพราะแม้ “เสี่ยหนู” จะเป็น รมว.สาธารณสุข แต่ถูกริบอำนาจไปอยู่ ศบค.หมด

ซึ่งเป็นท่วงทำนองของ “บังซุป” สอดคล้องกับโพสต์ของ “เสี่ยหนู” อย่าง “ตั้งใจ”

มองไม่ยากว่า “ค่ายเซราะกราว” พรรคภูมิใจไทย กำลังตะกายหนีบท “แพะรับบาป” ที่กำลังถูก “บูชายัญ” ในสงครามโควิด-19 เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว มิได้เป็นเช่นนั้นเสียทีเดียว

งานนี้ ถ้าต้องถามหา “ผู้รับผิดชอบ” ในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 คงหนีไม่พ้น “นายกฯ ตู่” ในฐานะผู้นำประเทศ-ผอ.ศบค. และ “หมอหนู” ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ถ้าจะให้คะแนนกัน เมื่อประมวลการทำงานที่ผ่านมา สรุปได้ว่า “นายกฯ ตู่” สมควรที่จะรับผิดไปเต็มๆ ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 30 เปอร์เซ็นต์ “หมอหนู” คงไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกัน

และด้วยความมั่นใจอย่างไรไม่ทราบได้ ในขณะที่กำลังถูกท้วงติงถึงปัญหาการทำงานแบบ “รวมศูนย์” อยู่ แทนที่จะปรับตามข้อเสนอแนะ “บิ๊กตู่” กลับแอกชันตอกย้ำในทันที เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 เม.ย.64 ที่ผ่านมา ที่อนุมัติประกาศอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็น “ฉบับที่ 3” หลังจากที่มีการประกาศฉบับที่ 1 เมื่อเดือน มี.ค.63 และฉบับที่ 2 เมื่อเดือน พ.ค.63 ในช่วงสถานการณ์แก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 ระลอกแรก เมื่อปีกลาย

โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับที่ 3 ก็เป็นการ “รวบตึง” อำนาจกฎหมาย 31 ฉบับ ที่ปกติจะมีรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย มาไว้ที่ “นายกรัฐมนตรี” แต่เพียงผู้เดียวเป็นการชั่วคราว

ตามเหตุผลว่า เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด -19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามการรวบอำนาจ 31 พระราชบัญญัติในครั้งนี้ยังถือว่าน้อยกว่าการประกาศฉบับแรกที่มีการรวบอำนาจกฎหมายถึง 40 ฉบับ ก่อนที่สถานการณ์คลี่คลาย และออกฉบับที่ 2 เหลือเพียง พระราชบัญญัติโรคติดต่อ เพียงฉบับเดียว

เป็นการหวนกลับมาใช้ “โมเดลเก่า” ประกาศยึดอำนาจรัฐมนตรีจากกฎหมาย 31 ฉบับมาให้นายกรัฐมนตรี ในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดระลอกที่ 3 ซึ่งถูกโจมตีถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในแทบทุกมิติ

เพราะถือว่า “ทำได้ดี” เมื่อช่วงวิกฤตระลอกแรก

แต่ว่าก็ว่าเถอะ การประกาศ “รวบตึงอำนาจ” ของ “นายกฯ ตู่” ครั้งนี้ ดูเสมือนเป็นการสร้างภาพทางจิตวิทยาว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ ศบค.ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ “นายกฯ ตู่” หากแต่อยู่ที่ “หมอหนู” ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนั้นทั้งหมด เพราะ ศบค.คือหน่วยงานภายใต้การกำกับการของ “นายกฯ ตู่” มาแรมปี ย่อมต้องรู้ปัญหาทุกด้านอย่างละเอียดดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ที่น่าสนใจคือ ก่อนหน้านั้นวันเดียว ก็เกิด “ตลกร้าย” ขึ้น เมื่อมีการเผยแพร่ภาพการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาเกี่ยวกับการจัดหาและการกระจายวัคซีน เมื่อวันที่ 26 เม.ย.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล

เป็นการประชุมที่ “บิ๊กตู่” ผู้ไม่สวมหน้ากากอนามัย นั่งเป็นหัวโต๊ะ จนเจอ “สังคมโซเชียล” ปักป้ายประจานว่า “ผู้นำประเทศ” ผิดข้อกำหนดของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เพิ่งประกาศจับ-ปรับผู้ไม่สวมหน้ากากอนามัยนอกเคหสถาน เสียเอง

เมื่อเป็นเรื่องขึ้นมา “บิ๊กวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้ระบุว่า นายกฯ สั่งการด้วยตัวเองให้ตรวจสอบว่ามีความผิดหรือไม่ ก็ปรากฏว่า “มีความผิดจริง” ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยมีอัตราการเปรียบเทียบปรับตามบัญชีท้าย เป็นจำนวนเงิน 6,000 บาท และมีการเปรียบเทียบปรับไปเป็นที่เรียบร้อย

ถือเป็นอาการ “เบ๊อะบ๊ะ” อีกครั้งของ “ลุงตู่” ก่อนจะหามุม “แก้เกี้ยว” ว่าเป็นการ “จัดฉาก” เพื่อ “สร้างบรรทัดฐาน”

ที่ว่า “ตลกร้าย” เพราะกฎหมายฉบับเดียวที่ปรากฎในประกาศรวบอำนาจไว้ที่นายกฯ ฉบับที่ 2 ก็คือ “พ.ร.บ.โรคติดต่อ” แต่นายกฯ ผู้รักษาการตามกฎหมายกลับกระทำผิดเสียเอง

คำถามมีว่า กฎหมายฉบับเดียวยังรักษาเองไม่ได้ แล้วการรวบอำนาจมาไว้ที่ตัวเองอีกครั้งจะมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายได้แค่ไหน

หรือข้อสงสัยที่ว่า ปัญหาต่างๆที่พร้อมใจกัน “แดง” ขึ้นมาในช่วงนี้ ทั้งสายด่วนคอลเซนเตอร์ ปัญหาผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล เพราะสถานพยาบาล เตียงรักษาผู้ป่วยไม่เพียงพอ และความไม่ได้มาตรฐานของโรงพยาบาลสนาม หรือเรื่องสำคัญการบริหารจัดการ “วัคซีน” ที่เคยโอ้อวดว่า เจรจาเป็นชาติแรกๆ ของโลก กลับกลายเป็นว่าล่าช้ากลายหลายๆ ชาติที่เริ่มกับมาใช้ชีวิตปกติหลายช่วงตัว และนำมาซึ่งวิกฤตระลอก 3 ที่ดูจะหนักหนากว่าจะรับมือได้ในตอนนี้

ปมประเด็นปัญหาต่างๆ เหล่านี้ “บิ๊กตู่” ในฐานะ Single command ร่วมประชุม ศบค.ด้วยตัวเองแทบทุกสัปดาห์ไม่เคยรับรู้เลยอย่างนั้นหรือ

ว่ากันว่า ปัญหาสำคัญของ “บิ๊กตู่” ที่ติดกับดัก “วัฒนธรรมสั่งงานแนวตั้ง” จากความเป็น “ทหารอาชีพ” ที่มีมอตโต้ประจำใจ “ใช่ครับพี่-ดีครับผม-เหมาะสมครับนาย”

บรรดา “ลูกน้อง” ต่างรู้ดีว่าเวลา “นาย” ประชุม หรือฟังรายงาน มักชอบฟังแต่ เรื่องดีๆ ฟีลกู๊ด มากกว่าเรื่องร้ายๆ ให้หงุดหงิดใจ

หรือเวลาถูกท้วงติงก็มักจะไม่ได้ผล เป็นเช่นนี้ “ปัญหา” ก็เลยไม่ค่อยถึงหู

ไม่เท่านั้นยังเป็นที่สังเกตว่า “พล.อ.ประยุทธ์” มักนิยม “สร้างภาพ” เน้นย้ำในความเป็นคนดี ความจริงใจ เพื่อกลบ “ข้อวิจารณ์” ที่มาถึงตัว เสมือน “ลอยตัว” เหนือปัญหา มากกว่าคิดแก้ไข อย่างปากว่า

เป็นอารมณ์ “รับชอบ” แต่ “ไม่รับผิด” ที่ถือว่าย้อนแย้งอย่างยิ่งกับไม่สมกับที่ “รวมศูนย์อำนาจ” ไว้กับตัวเองตามสไตล์ “วันแมนโชว์” ที่เป็นมาตั้งแต่สมัย คสช.

ยังไม่นับรวมการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” นายทหารอาชีพตลอดชีวิต หาญกล้าประกาศเป็น “หัวหน้าเศรษฐกิจ” ด้วยตัวเอง อันเป็นผลให้เศรษฐกิจไทยย่ำแย่อยู่ทุกวันนี้แม้จะพออ้างได้ว่าเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ก็ตามที

เมื่อทุกอย่างรวมศูนย์ที่ “บิ๊กตู่” เพียงผู้เดียว ข้อเรียกร้อง “ให้นายกฯ ลาออก” ตามแถลงการณ์พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ตรงกับหลายภาคส่วนในขณะนี้ จึงไม่ถือเป็นข้อเรียกร้องที่เกินเลยไปแต่ประการใด

แม้การเรียกร้องให้ “นายกฯ ลาออก” จะรู้อยู่แก่ใจว่า ถึง “พล.อ.ประยุทธ์” ถอดใจลาออกจริง ก็ยังมีรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เอื้อให้ได้กลับมาเป็นนายกฯ ต่ออยู่ดี

ข้อเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก เป็นการกระตุกต่อมสำนึก “สปิริต-ความรับผิดชอบ” ของ “พล.อ.ประยุทธ์” มากกว่าจะหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน

ต้องยอมรับว่าวิกฤตโควิด-19 ระลอกแรก และระลอกที่ 2 ถือเป็น “ตัวช่วย” ที่ทำให้ “รัฐบาลประยุทธ์” ที่ตอนนั้นซวนซัดซวนเซกับ “ม็อบการเมือง-ม็อบสามนิ้ว” ยังอยู่ได้มาจนถึงบัดนี้ อีกทั้งยังมีโอกาสได้กู้เงินถึง 1 ล้านล้านบาทมาแก้ไขวิกฤต

แต่วิกฤตโควิด ระลอก 3 ถือว่าต่างออกไป เพราะถือว่าไม่มี “ข้ออ้าง” หากเกิดความผิดพลาดใดๆ ขึ้น เนื่องจากมีประสบการณ์มาแล้ว

อาจพูดได้ว่าวิกฤตโควิด ระลอก 3 เป็น “LAST CHANCE” หรือ “โอกาสสุดท้าย” ของ “พล.อ.ประยุทธ์” โดยแท้จริง

หากยังเรียกฟอร์ม “ฮีโร่” กลับมาไม่ได้ ก็อาจถึงเวลาต้อง “CHANGE” เปลี่ยนให้ “ฮีโร่คนใหม่” มากู้วิกฤตแทน

1 พ.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์