ผู้เขียน หัวข้อ: TCELS โต้โผถกรัฐและเอกชนผ่าทางตันลดนำเข้าเครื่องมือแพทย์เน้นผลิตเองในไทย  (อ่าน 1223 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
ThaiPR.net -- ศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2555 10:41:07 น.


กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์
TCELS โต้โผจัดประชุม Thailand Life Sciences Business Forum ครั้งที่ 1 ถกภาครัฐและเอกชน ผ่าทางตันลดนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ เน้นผลิตเองในไทยให้ได้มาตรฐานสากล แข่งขันได้ ตามเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์ชาติ ชี้ทางรอดสร้างเครือข่ายจตุภาคี รัฐ-เอกชน- มหาวิทยาลัย-ผู้ใช้ ร่วมมือกันอย่างจริงจัง ขณะที่ผู้ผลิตโอด กฎ ระเบียบ เมืองไทยหิน ไม่เอื้ออุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในไทยโต วอนภาครัฐปรับให้เหมาะสมปฏิบัติได้จริงอย่างสมเหตุสมผล


 
ปัจจุบันประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าเครื่องมือแพทย์เป็นจำนวนมาก การจะพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทยให้เข้มแข็งและแข่งขันได้ในตลาดโลกนั้น จำเป็นต้องลดการนำเข้า และหันมาพัฒนาการผลิตเครื่องมือแพทย์ทดแทน โดยตั้งเป้าหมายเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทยสู่สากล

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ TCELS เล็งเห็นถึงความจำเป็นดังกล่าว จึงได้จัดการประชุม Thailand Life Sciences Business Forum ขึ้นเป็นครั้งแรก ในหัวข้อการวิเคราะห์ศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเชิญผู้แทนทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมประชุม ประกอบไปด้วย นายนเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS นายแพทย์ฆนัท ครุฑกุล กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุและอุปกรณ์การแพทย์ กระทรวงอุตสาหกรรม นางมัลลิกา ลดาวัลย์ ณ อยุธยา และนายชัยณรงค์ หมั่นดี ผู้แทนจากสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย นายไพศาล วราห์บัณฑูรวิทย์ ผู้จัดการบริษัท ด๊อกเตอร์บู จำกัด นายรัก ปีตาสัย เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย นายธนะศักดิ์ ไชยเดช ผู้แทนจากสถาบันไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ นายไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ ผู้แทนจากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) นายกิตติพงศ์ สุวรรณะบุณย์ ผู้แทนจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และนายอิทธิชัย ปัทมสิริวัฒน์ ผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

นายนเรศ กล่าวว่า ประเทศไทยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศปีละ 22,654 ล้านบาท ในขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในบ้านเรายังไม่เติบโตเท่าที่ควร ทั้งที่เรามีวัตถุดิบมากมายในประเทศทีจำเป็นต่อการผลิตเครื่องมือแพทย์บางชนิด เช่น ยางพาราและเม็ดพลาสติก ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้ก็คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน ในรูปแบบของ จตุภาคี ซึ่งประกอบไปด้วย ภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และผู้ใช้ มาปรึกษาหารือกันเพื่อการทำงานที่สอดคล้อง ทั้งด้านยุทธศาสตร์และทิศทาง อันจะนำไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทยให้แข่งขันได้ และบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ

นายแพทย์ฆนัท กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ของสำนักงานเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม พบว่า ประเทศสิงค์โปร์มีการผลิตมาก เนื่องจากมีการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ ขณะเดียวกันกลุ่มประเทศยุโรปอย่าง เยอรมัน สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมด้านนี้ มีส่วนแบ่งทางการตลาดและอัตราการเติบโตสูง อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีจุดแข็งคือ มีศักยภาพในการผลิตและส่งออกผลผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มาจากยางพาราได้แก่ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย สิ่งปรุงแต่งที่ใช้เพื่ออนามัยของช่องปาก เพสต์ต่าง ๆ ทางทันตกรรม โดยส่งออกกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี แต่ก็มีคู่แข่งที่สำคัญคือ สิงค์โปร์ มาเลเซีย ที่มีบริษัทผู้ผลิตชั้นนำของโลกเข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก และมีการบริหารจัดการเรื่องการปลูกและการแปรรูปยางพารามีคุณภาพดีกว่าบ้านเรา

นายชัยณรงค์ กล่าวถึงโอกาสที่ประเทศไทยจะลดต้นทุนการผลิตเครื่องมือแพทย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอิเลกทรอนิกส์ คือ การนำเข้าชิ้นส่วนจากประเทศจีนและอินเดียเนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า มาประกอบในไทยและส่งออกตลาดอาเซียน เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ของอาเซียน ทั้งนี้เครื่องมือแพทย์ที่จะทำตลาดได้คือ เครื่องมือประเภท Endoscope ที่จะเข้าไปในทุกส่วนของร่างกายตามแนวโน้มการบริการทางการแพทย์ในปัจจุบันที่หลีกเลี่ยงการผ่าตัดแบบเดิม

ด้านนางมัลลิกา กล่าวว่า สะท้อนถึงปัญหาของผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ว่า ปัจจุบันการตัดสินใจซื้อของผู้ซื้อขึ้นอยู่กับการอนุญาตของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ระบุว่าผลิตที่ไหนเท่านั้น ไม่มีการตรวจสอบอย่างอื่น ทั้งที่เราเราควรควบคุมตั้งแต่การออกแบบ จนถึงการควบคุมมาตรฐาน ข้อห่วงใยอีกประการหนึ่งคือ ในอนาคตประเทศไทยจะถูกบังคับให้นำเข้าอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ใช้แล้ว หรืออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์มือสองจากประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้นเราจึงต้องมีหน่วยงานที่เป็นกลางมาตรวจสอบเครื่องมือเหล่านั้นว่าได้มาตรฐานหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้หารือกันถึงแนวทางแก้ไข โดยเสนอให้มีการประสานงานจัดตั้ง ศูนย์ทดสอบเครื่องมือแพทย์โดยตรง มีหน้าที่ สร้างความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเชิญผู้ประกอบการเดิมเข้ามาประสานกับแพทย์ในเรื่องการวิจัย ออกแบบ โดยอาจส่งไปผลิตที่อื่นหรือทำงานร่วมกับต่างประเทศ และในส่วนของมาตรฐานในระบบอุตสาหกรรมควรมีคู่มือให้แพทย์ใช้เป็นแนวทางในการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์โดยคู่มือดังกล่าวควรจะมีการกำหนดมาตรฐานการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัย สำหรับการซ่อมเครื่องมือแพทย์นั้น มีการเสนอว่าควรทำเป็นเครือข่ายความรู้ และผลักดันในเชิงนโยบายให้มีการซ่อมบำรุง อยู่เป็นระยะ เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการทางการแพทย์ นอกจากนี้ที่ประชุม ยังเสนอตั้งคณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วย สถาบันไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำร่องโดยการนำเครื่องมือแพทย์ไทยที่ได้มาตรฐานเข้าใช้ในโรงพยาบาลอย่างน้อย 1 แห่ง

ติดต่อ:
www.tcels.or.th,www.tcels.org, 02-6445499