ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อพิษช่วยชีวิต-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1167 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
พิษหรือสารที่หลั่งออกมาจากเขี้ยวและเหล็กในของสิ่งมีชีวิตบางชนิดเปรียบได้กับนักฆ่ามือหนึ่งของธรรมชาติ พิษ (venom) ถูกสร้างขึ้นมาอย่างพิถีพิถันให้สามารถหยุดการทำงานของร่างกายได้อย่างสมบูรณ์แบบ สารคัดหลั่งอันซับซ้อนนี้อุดมไปด้วยโปรตีนพิษและเปปไทด์ซึ่งเป็นกรดอะมิโนสายสั้นๆ เหมือนโปรตีน  โมเลกุลเหล่านี้ทำงานเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกันจนกลายเป็นหมัดเด็ด  บางตัวเล่นงานระบบประสาท บางตัวทำให้เซลล์และเนื้อเยื่อตาย พิษยังสามารถสังหารเหยื่อได้ด้วยการทำให้เลือดแข็งตัวจนหัวใจหยุดเต้น  หรือต้านการแข็งตัวของเลือด  และทำให้เกิดการเสียเลือดจนตายได้

พิษทุกชนิดมีคุณสมบัติและหน้าที่หลากหลาย  [ความแตกต่างระหว่างพิษ และยาพิษ (poison) คือ พิษจะเข้าสู่ร่างกายเหยื่อโดยการฉีดหรือเจาะเข้าไปด้วยอวัยวะเฉพาะ เช่น เขี้ยว และเหล็กใน  ส่วนยาพิษต้องกินเข้าไป]  ชีวพิษ (toxin) หลายสิบหรือหลายร้อยชนิดอาจเข้าสู่ร่างกายโดยการกัดเพียงครั้งเดียว บ้างมีฤทธิ์เหมือนๆกัน บ้างมีพิษสงเฉพาะตัว ในสังเวียนการแข่งขันทางวิวัฒนาการระหว่างนักล่าและเหยื่อ  อาวุธและกลไกป้องกันตนเองได้รับการปรับปรุงและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง    

เรื่องตลกร้ายก็คือคุณสมบัติที่ทำให้พิษเป็นอันตรายถึงชีวิตกลับเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางการแพทย์ ชีวพิษหลายชนิดออกฤทธิ์กับโมเลกุลเดียวกันกับที่ทางการแพทย์ต้องควบคุมเพื่อบำบัดรักษาโรค พิษทำงานรวดเร็วและเฉพาะเจาะจงมาก  องค์ประกอบที่ออกฤทธิ์ซึ่งได้แก่เปปไทด์และโปรตีนต่างๆ ทำงานทั้งในรูปของชีวพิษและเอนไซม์  โดยพุ่งเป้าเล่นงานเฉพาะบางโมเลกุลราวกับไขแม่กุญแจด้วยลูกกุญแจถูกดอก ซึ่งยารักษาโรคส่วนใหญ่ทำงานในลักษณะเดียวกันนี้ โดยตัวยาจะจับกับโมเลกุลที่เข้ากันพอเหมาะเพื่อให้เกิดผลทางการรักษา การหาชีวพิษที่ออกฤทธิ์ต่อเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งเป็นเรื่องท้าทาย ถึงกระนั้นตอนนี้ยารักษาโรคหัวใจและเบาหวานชั้นยอดหลายขนานพัฒนาขึ้นจากพิษ ส่วนการรักษาโรคแพ้ภูมิตนเอง โรคมะเร็ง และอาการปวดด้วย วิธีใหม่ๆ อาจนำมาใช้ได้ภายในสิบปี

“เราไม่ได้พูดถึงยาตัวใหม่แค่สองสามตัว แต่เป็นยากลุ่มใหม่อีกหลายกลุ่มครับ” เป็นคำยืนยันจากปากของโซลตาน ตากัช นักสำรวจหน้าใหม่ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิก ผู้เป็นทั้งนักชีวพิษวิทยาและนักวิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จนถึงปัจจุบันมีชีวพิษไม่ถึงหนึ่งพันชนิดที่ผ่านการวิเคราะห์ว่ามีคุณประโยชน์ทางการแพทย์ และตัวยาหลักเพียงสิบกว่าขนานได้รับการอนุมัติให้วางจำหน่ายได้ ตากัชเสริมว่า “อาจมีชีวพิษจากพิษอีกกว่า 20 ล้านชนิดที่รอคอยการตรวจสอบ

มีสัตว์กว่า 100,000 ชนิดพันธุ์ที่วิวัฒน์ขึ้นให้สามารถสังเคราะห์พิษได้ อาทิ งู แมงป่อง แมงมุม กิ้งก่าบางชนิด ผึ้งและสัตว์ทะเล เช่น หมึกยักษ์ ปลาหลายชนิด และหอยเต้าปูน ตุ่นปากเป็ดเพศผู้เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหนึ่งในไม่กี่ชนิดที่มีพิษ โดยพิษของมันจะอยู่ตรงเดือยบริเวณข้อเท้า

แต่ใช่ว่าพิษทุกชนิดจะเข่นฆ่าให้อาสัญ  เช่น  ผึ้งใช้พิษที่ไม่ถึงตายเป็นเกราะป้องกันตัว  ส่วนตุ่นปากเป็ดเพศผู้ใช้ในการข่มตัวผู้ตัวอื่นในฤดูผสมพันธุ์  กระนั้น  พิษส่วนใหญ่ก็ใช้ในการสังหาร หรืออย่างน้อยก็หยุดการเคลื่อนไหวของเหยื่อก่อนจะกินเป็นอาหาร  มนุษย์มักตกเป็นเหยื่อโดยบังเอิญ  องค์การอนามัยโลกประมาณการว่า แต่ละปีมีคนถูกสัตว์มีพิษกัดราวห้าล้านราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตประมาณ 100,000 คน แม้ว่าตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่านี้มาก

โซลตาน ตากัชวัย 44 ปี เป็นชาวฮังการีโดยกำเนิด เขาเพิ่งลาออกจากมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโกเมื่อไม่นานมานี้ และเปิดธนาคารชีวพิษโลก (World Toxic Bank) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนายาจากชีวพิษ  หากไม่อยู่ในห้องทดลอง  เราอาจพบเห็นเขากอดรัดฟัดเหวี่ยงกับงูพัฟแอดเดอร์ในซูดานใต้ เก็บตัวอย่างงูสามเหลี่ยมในเวียดนาม  หรือรีดพิษงูกะปะกาบองในคองโก  เป้าหมายของเขาคือการทำพิมพ์เขียวสำหรับ “ห้องสมุดชีวพิษ” ซึ่งในท้ายที่สุดอาจรวบรวมพิษจากสัตว์ทุกชนิดบนโลกเอาไว้

โซลตาน ตากัช คุยได้ไม่รู้เบื่อว่า ศักยภาพทางการแพทย์ของพิษ “เป็นเรื่องยากหยั่งถึง” พิษนานาชนิดที่ได้จากสัตว์มีพิษสามารถนำมาผลิตเป็นตัวยาหลายขนาน ตั้งแต่พิษงูแมมบาดำที่นำมาผลิตเป็นยาแก้ปวด พิษของกิลามอนสเตอร์ (กิ้งก่าชนิดหนึ่ง) ที่นำมาผลิตยารักษาระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสร้างอินซูลินเองได้และทำให้น้ำหนักตัวลดลง ไปจนถึงพิษแมงป่องสามชนิดที่ให้สารยับยั้งเซลล์ที (T-cell) ของระบบภูมิคุ้มกันซึ่งเป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้ตนเองหลายชนิด

แต่ปัจจุบันเราเสี่ยงที่จะสูญเสียแหล่งทรัพยากรเหล่านี้ไปอย่างรวดเร็วก่อนจะได้เรียนรู้คุณค่าของพวกมัน งูกำลังลดจำนวนลง เช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่นๆ มหาสมุทรเผชิญชะตากรรมเดียวกัน คุณสมบัติทางเคมีของทะเลและมหาสมุทรที่เปลี่ยนแปลงไป  อาจทำให้ขุมพิษอันทรงคุณค่าตั้งแต่หอยเต้าปูนไปจนถึงหมึกยักษ์สาบสูญไป

ตากัชทิ้งท้ายว่า “ในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก เราควรให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพเชิงโมเลกุลมากกว่าที่เป็นอยู่” โมเลกุลของยามรณะจากธรรมชาติเป็นสิ่งที่เราควรพิทักษ์ไว้เป็นอันดับต้นๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะหวนกลับมาช่วยชีวิตเราในท้ายที่สุด”

กุมภาพันธ์ 2556
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 มีนาคม 2013, 22:05:45 โดย pani »