ผู้เขียน หัวข้อ: บึงกาฬ จังหวัดใหม่ใครๆก็เห่อ-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2345 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ฝนปรายกับชายต่างถิ่นอย่าง ผมเข้ากันได้ดีในคืนเงียบงัน กลางเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งริมน้ำโขง เราเชื่อมสัมพันธ์กันด้วยพรายฟองเย็นเฉียบจากเครื่องดื่มสีทองรสขมทว่าหอม ฝนอะไรหนอมาตกเอาดึกๆดื่นๆป่านนี้ ไม่เตือนกันสักคำ "ดูท่าคืนนี้พี่ได้นั่งกินกับผมอีกนาน ที่นี่เป็นอย่างนี้แหละพี่  บทจะมาก็มา พอมาแล้วก็ไม่ยอมหยุดง่ายๆเสียด้วย"   ออโต้ - ภาคภูมิ พลวงศ์ษา เด็กหนุ่มเจ้าถิ่นคู่สนทนาและเจ้าของบาร์พูดถึงฟ้าฝน               
                ด้วย วัย 27 ปี ออโต้ดูไฟแรงและมีฝันใหญ่เกินตัว ความฝันที่ผุดขึ้นมาพร้อมกับที่เมืองเล็กๆแสนสงบแห่งนี้ กำลังจะได้ยกสถานะจากอำเภอเป็นจังหวัดแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย
                เขา หวังสร้างอาณาจักรธุรกิจของตนเองในเมืองนี้ เริ่มจากสถานบันเทิงที่เขาลงทุนดัดแปลงบ้านไม้เก่าของครอบครัวให้เป็นบาร์ ทันสมัย และตั้งชื่อให้อย่างเก๋ไก๋ว่า “อาลีบาบา” ตกแต่งร้านอย่างคนเมืองและเปิดเพลงฝรั่ง  หากกิจการไปได้สวย เขาวางแผนจะเปิดบาร์หรือผับอีกสักแห่งสองแห่ง  สร้างแบรนด์ให้ติดหู ก่อนจะกระโดดไปทำธุรกิจอื่นต่อ
                ละออง ฝนยังโปรยปรายลงมาไม่ขาดฟ้า ออโต้ขอตัวไปต้อนรับแขก ดึกโขแล้ว แต่ลูกค้าไม่ซ้ำหน้ายังคงทยอยเข้าไปในร้าน เพื่อนสนิทถามไถ่จากปลายสายว่าผมไปทำอะไรที่ "เมืองกาญจน์" ผมถอนหายใจ พุทโธ่เอ๋ย! ได้โปรดฟังให้แจ้งชัด  ขณะนี้ข้าพเจ้าอยู่ที่ "บึงกาฬ" ต่างหากล่ะขอรับ               

หลังออกจากหนองคาย มุ่งหน้าสู่นครพนม แม่น้ำโขงซึ่งไหลเลาะเลียบตลิ่งกว่าร้อยกิโลเมตรจะผ่านมาถึงเมืองเล็กแสนสงบ แห่งหนึ่งซึ่งซุกซ่อนตัวอยู่อย่างสงบเสงี่ยม ซึ่งเรียกขานกันว่า “บึงกาฬ” แต่ไหนแต่ไรมาชาวเมืองที่นี่ทำเกษตร  ทำไร่ทำนา จับปลาหาผักกันตามประสาชีวิตชนบท พอถึงราวเดือนกันยายนเมื่อน้ำท่ากำลังดี พวกเขาจะนำเรือยาวออกมาพายแข่งขันประชันกันในแม่น้ำโขง  และ ท้าดวลพี่น้องชาวลาวฝั่งตรงข้ามซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ ให้ออกมาลับฝีพายกันอย่างครื้นเครง หลังจบงานเรือก็ถึงเทศกาลบั้งไฟพญานาค  เมื่อดวงไฟปริศนาผุดโผล่ขึ้นมาจากลำน้ำโขงในคืนวันออกพรรษา  สร้างความพิศวงแก่ชาวบ้านผู้เฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อ             
                บึง กาฬสงบเสงี่ยมเจียมตัวไม่ใคร่เป็นที่รู้จัก จนกระทั่งจู่ๆวันหนึ่งก็ทะลึ่งพรวดอวดโฉมแก่สายตาผู้คนทั้งประเทศ ราวกับดรุณีบ้านป่าได้รางวัลนางสาวสยาม ด้วยมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติยกสถานะขึ้นเป็นจังหวัด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 โดยผนวกอำเภอทั้งแปด  อันได้แก่ ปากคาด  บึงกาฬ บุ่งคล้า  พร เจริญ บึงโขงหลง เซกา โซ่พิสัย และศรีวิไล รวมเป็นจังหวัดเดียวกัน ใช้ชื่อว่าบึงกาฬ ด้วยเหตุผลที่ว่าการเดินทางระหว่างอำเภอต่างๆและตัวเมือง (หนองคาย) มีระยะทางไกลโข ยกตัวอย่างอำเภอบึงโขงหลง ซึ่งอยู่ทางตะวันออกสุดของตัวจังหวัดหนองคายเป็นระยะทางกว่าสองร้อยกิโลเมตร
                เจริญ ลาภ สุเดชะ นายด่านศุลกากรบึงกาฬ กล่าวว่า "คนที่นี่นิสัยดี อาชญากรรมก็น้อย อากาศดี ค่าครองชีพไม่แพง การค้าก็เจริญ แต่ระยะทางไกลจากตัวจังหวัด ตอนนี้ทุกอย่างพร้อมแล้ว ที่จริงน่าจะได้เป็นจังหวัดตั้งนานแล้วครับ"

เซลล์แมนโตโยต้าสาขาบึงกาฬผู้ไม่ประสงค์ออกนามยิ้มจนแก้มย่น สองสามปีที่ผ่านมา แต่ละเดือนเขาขายรถได้มากกว่าสามสิบคัน  มี ทั้งซื้อสดและซื้อผ่อนแบบดาวน์หนักๆ "ปิกอัปครับ แต่ช่วงหลังลูกค้าหันมาเล่นรถยกสูง ราคาแรงกว่า แต่สมรรถนะดีกว่าด้วย" เขาบอก ยอดขายรถยนต์ของโชว์รูมเล็กๆแห่งนี้ พอจะบอกเป็นนัยถึงสภาพเศรษฐกิจของเมือง ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมจู่ๆชาวบ้านที่นี่ก็อู้ฟู่ขึ้นมา         
                "ยางพาราสิลูกเอ๋ย! ลืมตาอ้าปากได้ก็เพราะยางนี่แหละ" จำปา ท้าวดี เจ้าของสวนยางกว่าร้อยไร่ บอกผม  ขณะใช้มีดกรีดผิวต้นยางพารา เสียงน้ำยางขาวบริสุทธิ์ไหลลงถ้วยรับทีละหยดสองหยด เสียงดังกังวานสม่ำเสมอว่า เงินๆๆๆ
                หลังลองผิดลองถูกปลูกมาแล้วสารพัด บัดนี้ ยางพาราก็กลายเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของเมืองนี้ไปในที่สุด       ด้วยอิทธิพลของความชื้นจากแม่น้ำ ปริมาณฝนเฉลี่ยที่พอกับภาคใต้  ปริมาณน้ำใต้ดินที่ล้นเหลือ และแหล่งน้ำผิวดินที่มีอยู่ทั่วไป  ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกยางพาราซึ่งเป็นพืชทนทานและกระหายน้ำ เมื่อราคายางพาราในตลาดโลกทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ความ มั่งคั่งจึงไหลบ่ามาสู่เมือง บัญชา เจษฎาวิสุทธิ์ กรรมการบริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) และผู้จัดการโรงงานยางที่สาขาบึงกาฬ บอกว่า "ตอนนี้ชาวบ้านปลูกกันเป็นกระแส    ใครมีที่ดินก็ต้องลงต้นยาง   เพราะไม่ต้องดูแลเยอะเหมือนปลูกผลไม้”    เขาเล่าว่า อุปสงค์ยางพาราในตลาดโลกถูกขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหลัก รถยนต์คันหนึ่งใช้ยางอย่างต่ำห้าเส้น ไม่นับอะไหล่อื่นๆที่มีส่วนประกอบจากยางธรรมชาติ ยางพาราส่วนหนึ่งแถบนี้เป็นผลผลิตสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ไทยเติบโตในฐานะผู้ ผลิตยางอันดับหนึ่งของโลก
                ทว่า การโหมปลูกยางพาราอย่างไม่ลืมหูลืมตาจนกลายเป็นการเกษตรเชิงเดี่ยว อาจนำไปสู่หายนะทางสิ่งแวดล้อมและย่ำยีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไม่อาจ หลีกเลี่ยง "ที่ไหนปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่นั่นมักมีปัญหาครับ" บัญชายอมรับ  เย็นวันนั้นผมสาวเท้าเข้าไปในสวนยางพาราพื้นที่หลายร้อยไร่ซึ่งมีนายทุน จากกรุงเทพฯเป็นเจ้าของ พอตะวันเย็นลู่หลบหลังเมฆ ลึกเข้าไปในสวนยางแน่นขนัดผมสัมผัสได้ถึงบรรยากาศเย็นเยียบไร้ซึ่งสรรพเสียง วังเวงจนสะท้านวาบถึงต้นคอ

แม้จะไม่ถึงกับอดอยากปากแห้ง แต่บรรดาคนหาปลาก็กล่าวโทษพวกปลูกมะเขือเทศริมตลิ่งและเจ้าของสวนยางพาราว่า ใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมีมากเกินไป จนเป็นเหตุให้ปลาในกุดทิงลดจำนวนลง           
                กุดทิงเป็นหนองน้ำใหญ่มีน้ำท่วมขังตลอดปี ครอบคลุมพื้นที่กว่า 16,500 ไร่ อยู่ทางใต้ของเมืองบึงกาฬราว    5 กิโลเมตร และรับน้ำส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับแม่น้ำโขง หนองน้ำรูปปีกผีเสื้อแห่งนี้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ตามอนุสัญญาแรมซาร์ (RAMSAR) ลำดับ ที่ 12 ของไทย และลำดับที่ 1733 ของโลก เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพันธุ์พืชและสัตว์หายากเฉพาะถิ่น และยังมีคุณค่าต่อชุมชนในฐานะแหล่งอาหาร
                ทว่า ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สารเคมีเกษตรทั้งจากสวนยางพาราและไร่มะเขือเทศที่นิยมปลูกกันบนดินอุดมริม ตลิ่งในฤดูน้ำลดกำลังคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำผู้อารีแห่งนี้ เพราะน้ำจากสารพัดแหล่งย่อมไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ยิ่งไปกว่านั้น หากบึงกาฬได้เป็นจังหวัดอย่างสมบูรณ์ (ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนทางสภาเพื่อตราเป็นพระราชบัญญัติ) คาดกันว่าศูนย์ราชการแห่งใหม่น่าจะตั้งประชิดกับกุดทิง และอาจตามมาด้วยชุมชนที่ผุดขึ้น "เรื่องการพัฒนาผังเมืองกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ใกล้ กันเป็นเรื่องท้าทายครับ" เชาว์ มูลศิริ เจ้าหน้าที่ฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจืดจากกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ประจำประเทศไทย ซึ่งคลุกคลีกับพื้นที่ชุ่มน้ำแถบนี้มากว่า 5 ปีบอกผม   
                นอก จากกุดทิงแล้ว บึงกาฬยังมีบึงโขงหลงอันเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติอีก แห่ง ตั้งอยู่ที่อำเภอบึงโขงหลง และมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากุดทิง ชะตากรรมของบึงโขงหลงก็ไม่ต่างจากกุดทิง เพราะในพื้นที่ใกล้เคียงมีแหล่งเพาะกล้ายางพาราจำนวนมาก "เราจะมองพื้นที่ชุ่มน้ำแต่เฉพาะน้ำไม่ได้นะครับ ต้องมองปลาด้วย แต่จะมองปลาอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องมองนกด้วย เราต้องมองทุกอย่างให้สัมพันธ์กัน บึงกาฬเปิดประเด็นเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำได้ดีครับ เพราะแค่ชื่อจังหวัดก็บอกอยู่แล้วว่า บึงกาฬ" เชาว์อธิบาย             

การเป็นเมืองชายแดนเสมือน เหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งคือการค้าขายที่ว่ากันว่าจะไหลบ่าพาเอาความมั่งคั่งมาสู่เมือง อีกด้านหนึ่งคือสิ่งผิดกฎหมายหลายแหล่ที่อาจไหลเข้ามาได้ง่ายดายไม่ยิ่ง หย่อนไปกว่ากัน
                เรื่องแรกคงเป็น ปัญหาโรบินฮู้ด ผมพบสาวลาวจำนวนมากเข้ามาทำมาหากินอย่างลับๆและผิดกฎหมายตามร้านคาราโอเกะ กลางทุ่งหรือสวนยางพารา ไฟวิบวอมของมันเย้ายวนในตาเฒ่าชาวสวนยางพาราเม้มเงียเมียแก่ไปป้อยอแม่เนื้อ อ่อน แม่น้ำโขงอันไพศาลมีช่องทางข้ามแดนมากมายและยากต่อการควบคุม สาวบริการชาวลาวส่วนใหญ่ลักลอบเข้าเมืองมาจากทางนั้น
                ทว่า เรื่องถัดมาที่น่าสะพรึงกว่าคือยาเสพติดที่พักหลังเจ้าหน้าที่จับกุมได้ถี่ และบ่อยราวกับข่าวฉาวในวงการดาราท้องป่อง เรือเอกยอดอาวุธ มีชูพล หัวหน้าสถานีเรือบึงกาฬ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง หรือ นรข. เล่าว่า ในท้องที่นี้พบกัญชามากที่สุด เนื่องจากมีไร่ติดริมแม่น้ำโขงซึ่งสภาพภูมิประเทศเหมาะกับการเพาะปลูกและ สะดวกในการขนส่ง "เราได้ข่าวมาว่าตอนนี้กัญชารอข้ามฝั่งมาเป็นหลักหลายตัน ไม่ใช่ตันเดียวนะครับ หลายตัน" ผู้การหนุ่มย้ำ       มาร ร้ายที่น่าขนพองอีกชนิดคือยาบ้า ยามรณะที่ปีสองปีนี้เริ่มทะลักเข้ามาอย่างกับเขื่อนแตก ทั้งที่แต่ก่อนพบในจำนวนไม่มาก เมื่อก่อนมีเพียงเล็กน้อยครับ แต่ตอนนี้เป็นหลักหมื่นถึงหลักแสนเม็ด เราทำได้แค่สกัดกั้น ที่จับกุมได้เป็นข่าวเป็นเพียงส่วนน้อยครับ เราเชื่อว่าที่หลุดรอดเจ้าหน้าที่ไปได้ก็มีมาก แต่เราทำงานกันเต็มที่แล้ว เต็มที่จริงๆ" เขากล่าวด้วยใบหน้าอิดโรย

แม้หลายคนจะวิจารณ์ว่าการตั้งจังหวัดใหม่เป็นเรื่องการเมือง เพื่อหวังแย่งชิงฐานเสียงและเอาใจประชาชนท้องถิ่น  ดังจะเห็นได้จากงานแข่งเรือยาวประจำปีของบึงกาฬปีนี้  รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงคลองหลอดถึงกับบินมาเปิดงานด้วยตัวเอง งานในปีนี้จึงใหญ่โตเพราะพ่วงงานเฉลิมฉลองจังหวัดใหม่เข้าไปด้วย               
                แต่ ใครจะสน งานวันนี้คึกคักและทุกคนรอคอย ออโต้หนุ่มเจ้าของบาร์สั่งเบียร์ถังใหญ่มารองรับลูกค้าต่างถิ่น ส่วนบัญชา ผู้จัดการโรงงานแปรรูปยางพาราได้รับเชิญนั่งอยู่ในโซนแขกผู้มีเกียรติ ผู้การยอดอาวุธเป็นผู้คุมขบวนเรือในการอัญเชิญถ้วยพระราชทานมาทางแม่น้ำโขง ส่วนเชาว์ หนุ่มเอ็นจีโอจาก WWF เป็นผู้ออกแบบปลายักษ์จำแลงบนหลังรถบรรทุกในริ้วขบวนตัวแทนจากอำเภอบึงโขงหลง
                งาน นี้ริ้วขบวนงามอย่างวิจิตร หมอแคนหนุ่มนำขบวนกลองยาวจากทั่วทุกอำเภอและหมู่บ้าน มากับแม่ๆที่นุ่งซิ่นสีสันเลื่อมระยับวับกับไอแดด เอ้าดูโน่น พวกเขาเซิ้งกันใหญ่แล้ว เสียงดนตรีรื่นเริงบันเทิงกันอย่างที่สุด ในความคึงคะนอง สำเนียงดนตรีเบื้องหน้าช่างละม้ายกับดนตรีในความทรงจำไม่กี่วันก่อนหน้าที่ ผมเพิ่งพบมา
                เรื่องของเรื่องคือ บ่ายวันหนึ่งระหว่างเดินทางผ่านอำเภอเซกา ผมพบเด็กกลุ่มหนึ่งในชุดนักเรียนมอซอออกมาโลดเต้นกันอย่างสุดเหวี่ยงอยู่ริม ถนน ไปกับดนตรีที่พวกเขารังสรรค์ขึ้นมาเอง บักหำน้อยบางคนเป่าแคนดังหวีดหวิว มือกลองก็กระหน่ำรัวกลองโปเกทำจากกระป๋องสี หลายคนไม่ใส่รองเท้า (หรือไม่มีใส่) พวกเขามาเรี่ยไรเงินจากชาวบ้าน เพื่อนำไปทำบุญในงานบุญข้าวประดับดินซึ่งถือเป็นงานบุญในเดือนเก้า       

                ผม กวักมือเรียกน้องคนหนึ่งให้มารับนิตยสารเก่าๆที่ผมติดรถมาจากกรุงเทพฯ ทันทีที่แจกไปเล่มหนึ่ง เด็กกว่าสามสิบคนก็กรูกันเข้ามารุมทึ้งทันที พวกเขายื้อแย่งกันอย่างอุตลุดและดุเดือด    ผมนำเรื่องนี้มาเล่าให้มิตรสหายที่กรุงเทพฯฟัง พวกเขาตาวาวด้วยความสนเท่ห์ แล้วถามว่า นั่นน่ะหรือ "เมืองกาญจน์" ที่นายเพิ่งไปมา     
                พุทโธ่เอ๋ย...

พฤศจิกายน 2553