ผู้เขียน หัวข้อ: "ปรับระบบการเงิน"ก่อนพากันเจ๊งทั้งกระทรวงสาธารณสุข  (อ่าน 2189 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
ไม่น่าเชื่อ! โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถึง 191 แห่งจากทั้งหมด 832 แห่ง เงินหมดเกลี้ยง ชนิดไม่มีเหลือแม้กระทั่งเงินบำรุงโรงพยาบาลไว้ใช้ยามฉุกเฉิน บางแห่งถึงกับไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานชั่วคราว

 หนักหนากว่านั้น อย่างน้อย 1 แห่ง ติดหนี้ ค้างจ่ายค่ายา จนถูกบริษัทยาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย นอกจากนี้ อีก 467 แห่งอยู่ในภาวะรายรับน้อยกว่ารายจ่าย และมีแนวโน้มจะขาดสภาพคล่องขั้นรุนแรงในอนาคต โดยภาพรวมขาดทุนคิดเป็นเม็ดเงิน 1,245 ล้านบาท

 เรื่องแดง ออกมาจากการที่คณะอนุกรรมาธิการติดตามและตรวจสอบการบริหารงบประมาณด้านสาธารณสุขวุฒิสภา ตรวจ พบตัวเลขแสดงงบดุลมาตรฐาน ณ สิ้นไตรมาสของหน่วยบริการสังกัดสธ.ไม่ตรงกับตัวเลขแสดงงบดุลมาตรฐานของสำนัก งานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

 สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรกับระบบบริการที่ช่วยเหลือชีวิตประชาชน หากฟังจาก ผอ.โรงพยาบาลส่วนใหญ่ ล้วนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เพราะ “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ขณะที่ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กลับตอบว่า ปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องไปจนถึงการขาดทุน ยังเป็นผลจากค่าตอบแทนที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุข เป็นภาระที่ภาครัฐต้องแบกรับในการรักษาจำนวนแพทย์ให้อยู่ในระบบมากที่สุด แต่ นพ.สมชัย นิจพานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ใน ฐานะผู้อำนวยการกลุ่มประกันสุขภาพ สำนักงานปลัด สธ. บอกว่า ค่าลงทุนด้านบุคลากรที่รวมถึงเงินเดือน ค้าจ่างและค่าตอบแทน คิดเป็น 40%ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของสถานพยาบาลแต่ละแห่งเท่านั้นซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานปกติและ สธ.ติดตามอย่างใกล้ชิด

 อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง ?

 ย้อนไปในช่วงก่อน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มีผลบังคับใช้ โดยปี 2541 งบประมาณด้านสาธารณสุขราว 6.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 7.7% ของงบประมาณทั้งประเทศ ในส่วนนี้เป็นงบประมาณ สธ.ราว 5.9 หมื่นล้านบาท ประมาณ 97% ของงบด้านสาธารณสุข และ เมื่อเทียบงบด้านนี้กับงบประมาณทั้งประเทศ พบว่า มีแนวโน้มลดลง โดยปี 2542 คิดเป็น 7.3% ปี 2543 เป็น 7.4% และปี 2544 คิดเป็น 7.1% ของงบทั้งประเทศ

 หลังมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า ในปี 2546 งบด้านสาธารณสุข ราว 7.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 7.8% ของงบทั้งประเทศ แต่ในปี 2553 งบด้านสาธารณสุขเพิ่มเป็นราว 1.78 แสนล้านบาท คิดเป็นถึง 10.5% ของงบทั้งประเทศ จำนวนนี้เป็นงบของ สธ. 40.2% และงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 50.2%

 อัตราการเพิ่มงบประมาณโดยเฉลี่ย พบว่า ปี 2541-2544 ก่อนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า งบประมาณทั้งประเทศ มีอัตราเพิ่ม 4.37% ต่อปี งบด้านสาธารณสุข เพิ่ม 1.90% ต่อปี แต่ปี 2545-2553 หลังมีหลักประกันฯ งบทั้งประเทศเพิ่ม 7.63% ต่อปี ส่วนงบด้านสาธารณสุขเพิ่มถึง 12.46% ต่อปี

 จะเห็นว่างบด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้น น่าจะสอดคล้องกับจำนวนประชากรที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่รัฐรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล แต่ทำไมโรงพยาบาลจึงอยู่ในภาวะวิกฤติด้านการเงิน โดยเฉพาะโรงพยาบาลสังกัด สธ.ที่มีรายได้หลักจากงบเหมาจ่ายรายหัวของ สปสช. ที่เป็นเช่นนี้ อาจ เป็นเพราะงบเหมาจ่ายรายหัวที่รัฐจัดสรรให้เป็นค่าบริการประชาชนและรับผิดชอบ โดย สปสช.ก่อนจัดสรรให้โรงพยาบาลสังกัด สธ.นั้น จะถูกกันไว้ 25% ของงบรายหัวทั้งหมด เพื่อนำมาจ่ายเป็นเงินเดือนให้บุคลากรทุกคนในสถานพยาบาล 60%

 หมายความว่า 60% ของเงินเดือนบุคลากรแต่ละคนในโรงพยาบาล มาจากงบเหมาจ่ายรายหัวของชาวบ้าน

 เช่น ในปีงบประมาณ 2553 ที่รัฐจัดสรรงบรายหัวให้ 2,462.25 บาทต่อคน โดยรวมเป็นเงินงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 89,385 ล้านบาท และเป็นเงินเดือนบุคลากรถึง 28,584 ล้านบาท เงินที่ตกเป็นค่าดำเนินการดูแลรักษาประชาชนจึง ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย 100% ขณะที่ประชาชนเข้ารับการรักษาแบบ เต็มที่

 นอกจากนี้ การจัดสรรเงินในส่วนที่ไม่ใช่เงินเดือน สปสช.จะพิจารณาตามหลักเกณฑ์รายหัว ทำให้หน่วยบริการที่มีประชากรน้อยได้รับงบน้อย ไม่สอดคล้องกับภาระบริการจริงที่มีประชาชนมาใช้บริการสูงกว่าจำนวนประชากร ที่โรงพยาบาลรับผิดชอบ ขณะที่มีการกระจุกตัวของงบในบางพื้นที่ และการจ่ายเงินให้โรงพยาบาลจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เงินจัดสรรล่วงหน้า จ่ายเป็นงวด ปีละ 4 งวด งวดละ 25% และเงินจัดสรรตามผลงานการให้บริการแต่ละส่วน ซึ่งส่วนนี้โรงพยาบาลจะต้องทำรายงานส่ง สปสช.จึงจะได้เงิน หลายแห่งบ่น "ยุ่งยาก เสียเวลาการรักษาผู้ป่วยต้องมานั่งคีย์ข้อมูลกว่าจะได้เงินก็นานบางครั้งไม่ ได้ทั้งหมดตามขอ"

 เหล่านี้ จึงเป็นต้นเหตุให้โรงพยาบาลจำนวนมากต้อง ควักเนื้อ นำเงินในส่วนบำรุงโรงพยาบาลมาใช้จ่ายในการดูแลประชาชน สั่งสมมาเรื่อยๆ จนเงินไม่เหลือ และเกิดภาวะลำบากทางการเงินอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และแน่นอนย่อมส่งผลถึงคุณภาพการบริการประชาชนที่ต่ำไปด้วย แม้เข้าถึงบริการมากแต่คุณภาพที่ได้น้อย

 การช่วยเหลือแบบ ปะหน้า สปสช.จะเพิ่มการจัดสรรเงินล่วงหน้า งวดแรกของปีงบ 2553 ให้โรงพยาบาล 50% จากเดิม 25% และจะเพิ่มวงเงินในกองทุนเงินช่วยเหลือชดเชยโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง หรือซีเอฟ จากที่ สปสช.จัดสรรให้ สธ. ไปดำเนินการช่วยเหลือทุกปี ซึ่งปี 2553 จัดสรรไว้ 200 ล้านบาท เป็น 1,000-2,000 ล้านบาท เพราะเงินที่ขาดทุนมีมากถึงกว่าพันล้านบาท ไม่ใช่ร้อยล้านบาท

 ส่วน การแก้ปัญหาในเชิงระบบ มีการเสนอให้แยก 60% ของเงินเดือนบุคลากรแต่ละคนในสถานพยาบาลออกจากงบรายหัวและตั้งเป็นงบประมาณ ไว้ที่ สธ.เหมือนเงินเดือนข้าราชการกระทรวงอื่นๆ เพื่อทำให้โรง พยาบาลนำเงินรายหัวที่ได้รับการจัดสรรไปใช้เพื่อการดูแลประชาชนอย่างเต็ม 100% ไม่ต้องเบียดบังงบบำรุงโรงพยาบาลมาใช้จนไม่เหลือ

 ที่สำคัญ ควรปรับรูปแบบการจ่ายค่ารักษาพยาบาล จากที่ประชาชนไม่ต้องจ่าย กลายเป็นให้ประชาชนร่วมจ่าย แต่ จะต้องเป็นเฉพาะประชาชนที่มีกำลังจ่ายเท่านั้น เพราะหากคิดจากอัตราการใช้บริการผู้ป่วยนอกของสิทธิบัตรทองในปี 2552 จำนวน 140 ล้านครั้ง หากเรียกเก็บครั้งละ 50 บาท จะทำให้มีเงินรวมทั้งประเทศถึง 7,000 ล้านบาท และทำให้โรงพยาบาลที่บริการประชาชนมาก มีเงินจากการร่วมจ่ายของประชาชนมาก สามารถนำไปบริหารจัดการการเงินของโรงพยาบาลได้

 ทั้งหมดขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจตัดสินใจว่าจะเลือกทำอย่างไร

 บางทีนี่อาจถึงเวลาที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ผู้นำรัฐบาล ต้องกล้าเปลี่ยน !!!!

คมชัดลึก 15 ตค. 2553