ผู้เขียน หัวข้อ: โลกมองผลกระทบน้ำท่วมไทยใน 5 นาที:ประเมินเฉียด 1 ล้านล้านบาท  (อ่าน 1241 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด


แม้มหาอุทกภัยครั้งนี้ยังไม่จบและถึงขั้นการฟื้นฟู ตัวเลขการวิเคราะห์ผลกระทบก็ได้ผลสรุปออกมาหลายกระแส ทั้งภายในและต่างประเทศ คราวนี้สื่อของอังกฤษที่ทำกราฟฟิคสถานการณ์ข่าวและหัวข้อที่น่าสนใจทั่วโลกมาย่อเพียง 5 นาที ของสำนักข่าว www.lfpress.com ก็สรุปตัวเลขเมื่อสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่าค่าฟื้นประเทศอยู่ที่  30 พันล้าน US หรือ 900,000 ล้านบาท ตรงกับตัวเลขที่รัฐบาลพยายามจะกู้มาสร้าง New Thailand

            อย่างไรก็ตามเมื่อประมวลข่าวก่อนหน้านั้นก็พบการประเมินหลายสำนัก สอดคล้องกับหอการค้าไทย นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ ประเมินความเสียหายของอุทกภัยเบื้องต้นไว้ที่ 6 - 7 แสนล้านบาท แต่หากน้ำท่วม กทม.ไปจนถึงต้นปี 2555 จะเสียหายอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาท ส่วนพื้นที่การเกษตรเสียหาย 10 ล้านไร่ , ข้าวเสียหาย 2-3 ล้านตัน 

            นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสถานการณ์ภาพรวมความเสียหายภาคอุตสาหกรรมจากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นว่า ได้ส่งผลกระทบต่อโรงงานทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 9,859 โรงงาน มูลค่าการลงทุนกว่า 8 แสนล้านบาท  ผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบกว่า 6.6 แสนคน 

            ขณะที่ภาคการเกษตร นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประเมินว่า มีพื้นที่ทางการเกษตรถูกน้ำท่วมทั้งสิ้นประมาณ 15 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 13 ล้านไร่  ที่เหลือเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่และอื่น ๆ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 80,000 ล้านบาท

 

            ภาคอสังหาริมทรัพย์ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้แถลงว่า  คาดว่าความเสียหายโดยรวมสำหรับบ้านเรือนของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยรวมคงเป็นเงินประมาณ 74,284 ล้านบาท และหากท่วมทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ความเสียหายคงมากเกินกว่าจะประเมินค่าได้ โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ และความเชื่อมั่นของประเทศไทยในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ

            ด้านการประกันภัย นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เปิดเผยตัวเลขว่า ความเสียหายจากอุทกภัยในครั้งนี้ ล่าสุด ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2554 มียอดความเสียหายทั้งสิ้นกว่า 1.45 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ความเสียหายต่อรถยนต์ จำนวน 2,004 คัน รวมค่าสินไหมทดแทน 211,521,285 บาท ความเสียหายต่อทรัพย์สิน จำนวน 2,862 ราย รวมมูลค่าจำนวน 5,924,312,735 บาท ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต 58 ราย รวมเงินเอาประกัน 11,093,652 บาท ส่วน ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่ง ได้ประเมินความเสียหายบ้างแล้ว ในเบื้องตนได้ประเมินความเสียหายรวมเอาไว้ 140,000 ล้านบาท เพราะน้ำท่วมยังไม่ได้ถูกระบายออก ทำให้เครื่องจักรที่จมน้ำมีการเสื่อมสภาพเร็วขึ้น ส่วนหลังน้ำลดก็ต้องเข้าไปทำการประเมินอีกครั้งส่วนความเสียหายจะถึง 200,000-300,000 ล้านบาท หรือ ไม่ยังไม่สามารถประเมินได้



            คราวนี้มาดูการประเมินของ www.lfpress.com   ว่าได้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมหนักสำคัญของด้านยานยนต์คือ บริษัทโตโยต้า,ฟอร์ด, ฮอนด้า เป็นต้น ด้านชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฮารด์ดิสก์ ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิ้ล, เลอโนโว, เวสเทิร์นเกต ,แคนนอน เป็นมูลค่ามหาศาล

            ส่วนด้านการเกษตรข้าวไทยก็จะสูญเสียกว่า 19 ล้านตัน ไม่รวมถึงสินค้าเกษตรอื่น ๆ ที่ส่งออกด้วย ที่สำคัญคือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับประชาชนไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บ สัตว์อันตราย งู จระเข้  ฯลฯ



            อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าภัยพิบัติครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายนับทวีจากปี 2553 ที่มีความรุนแรงระดับหนึ่งแล้ว และเป็นมหาอุทกภัยในปีนี้ ไม่มีใครรับรองได้ว่าจะไม่เกิดขึ้นในปีหน้า หรือปีต่อไป การดำรงอยู่ในความไม่ประมาท เป็นเรื่องสำคัญ พร้อมด้วยการนำบทเรียนครั้งใหญ่นี้ไปสร้างระบบบริหารจัดการระดับประเทศ อันจะสร้างกลไกการป้องกันเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพขั้นสูงสุด การให้ความสำคัญ  Crisis Management โดยนำบทเรียนของนานาชาติและภายในประเทศเพื่อป้องกันปัญหา แก้ไขปัญหา และเร่งฟื้น (Recover) ในเวลาอันรวดเร็วเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนกำลังรอคอยภาพนั้นอยู่

oknation.net 6 พฤศจิกายน 2554