My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ABBA ที่ 30 สิงหาคม 2012, 00:14:06

หัวข้อ: เตรียมเสนอ ครม.ต่อรองราคาดาวเทียมทางการแพทย์ 14 จังหวัด
เริ่มหัวข้อโดย: ABBA ที่ 30 สิงหาคม 2012, 00:14:06
 “วิทยา” เตรียมเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า ขอพิจารณาต่อรองราคา ใช้ระบบดาวเทียมทางการแพทย์ 14 จังหวัด
       
       วันนี้ (29 ส.ค.) ที่โรงแรมริชมอนด์ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เปิดการประชุมผู้บริหาร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกระทรวงต่างๆ ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดที่มีพื้นที่ติดแนวชายแดน 31 จังหวัด ผู้ประสานงานสาธารณสุขชายแดนจาก 31 จังหวัด และนักวิชาการจำนวน 150 คน เพื่อชี้แจงแผนแม่บทการแก้ปัญหาและพัฒนางานสาธารณสุขชายแดนฉบับที่ 2 พ.ศ.2555-2559 ระหว่างวันที่ 29-30 สิงหาคม โดย นายวิทยา กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแผนแม่บทการแก้ปัญหาและพัฒนางานสาธารณสุขชายแดน ที่ สธ.จัดทำขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบการทำงานของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการพัฒนาสุขภาพประชาชนที่อยู่ตามพื้นที่ชายแดนใน 31 จังหวัด ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเนื่องจากที่ผ่านมาการบริการสาธารณสุขบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีความลำบาก โดยเฉพาะเรื่องบุคลากร เครื่องมือแพทย์ รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากถิ่นทุรกันดานไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่เป็นไปด้วยความลำบากมาตลอด


ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต

       นายวิทยา กล่าวว่า ด้วยปัญหาเหล่านี้ สธ.มีนโยบายในการใช้เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล หรือ เทเลเมดิซีน (Telemedicine) โดยแนวทางหนึ่งนอกจากการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านทางไกลแล้ว ในกรณีพื้นที่ห่างไกลมากๆ ที่ระบบอินเทอร์เน็ตปกติอาจใช้ไม่ได้ จำเป็นต้องใช้ระบบขั้นสูง คือ การใช้เทคโนโลยีสื่อสารผ่านดาวเทียม หรือการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านทางช่องสัญญาณดาวเทียม ซึ่งจะเป็นการเชื่อมต่อแบบตลอดเวลา โดยปัจจุบันโรงพยาบาลบางแห่งมีการนำมาใช้บ้างแล้ว แต่ปัญหาคือ ต้องจ่ายค่าเช่าการใช้ระบบตกเดือนละ 9,000 บาท ซึ่งถือว่าแพงมากสำหรับโรงพยาบาลรัฐที่มีงบประมาณจำกัด ดังนั้น จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้าถึงความเป็นไปได้ว่า จะมีแนวทางอย่างไรในการขอเช่าสัญญาณในราคาถูกลงเหลือเดือนละ 1,500-2,000 บาท โดยขณะนี้ได้รวบรวมพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้มีทั้งหมด 100 กว่าจุดใน 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี ศรีษะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และกาญจนบุรี คาดว่า จะเสนอให้ ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของชายแดนภาคใต้มีการดำเนินการด้านบริการสุขภาพอย่างไร นายวิทยา กล่าวว่า มีดำเนินการมาตลอดเช่นกัน โดยเน้นให้แต่ละหน่วยบริการมีบุคลากรสาธารณสุขที่เป็นคนในพื้นที่ เพราะจะทำให้พูดภาษาถิ่นได้ ส่งผลให้การสื่อสารกับผู้ป่วยง่ายขึ้น นอกจากนี้ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ยังมอบหมายให้มีการจัดทำแผ่นพับคำแนะนำด้านสาธารณสุขต่างๆ เป็นภาษามลายู เพื่อคนในพื้นที่ด้วย
       
       “จริงๆ แล้วนโยบายเหล่านี้ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพการบริการตามนโยบายร่วมจ่าย 30 บาท โดยจะเริ่มเรียกเก็บในวันที่ 1 กันยายนนี้ สำหรับการร่วมจ่ายครั้งนี้ไม่เพียงจะได้รับบริการที่ดี สะดวกสบายขึ้น ยังให้สิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นการรับบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ในอนาคตจะขยายเรื่องการรักษาพยาบาลกรณีไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยขณะนี้ทางคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) อยู่ระหว่างต่อรองราคาค่าน้ำยาล้างช่องท้อง เพื่อให้มีราคาเดียวที่เป็นมาตรฐาน คาดว่าจะมีความชัดเจนและเสนอในบอร์ด สปสช.ได้เร็วๆ นี้ แต่ขอย้ำว่ากรณีการรักษาฟรีทั้ง 3 กองทุนคงยังไม่สามารถทำได้ทันที ต้องหารือกันอีกครั้ง” รัฐมนตรี สธ.กล่าว
       
       อนึ่ง สำหรับ 31 จังหวัดชายแดนประเทศไทย จัดเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ ความยาวรวม 5,820 กิโลเมตร เป็นพรมแดนทางบก 3,205 กิโลเมตร ทางน้ำและชายฝั่งทะเล 2,164 กิโลเมตร โดยติดกับพม่า 10 จังหวัด กัมพูชา 7 จังหวัด ลาว 12 จังหวัด และมาเลเซีย 4 จังหวัด และมีต่างด้าวข้ามมาใช้มาบริการตรวจรักษาพยาบาลในฝั่งไทยประมาณร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วยไทย