ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.เร่งพัฒนาบริการอุบัติเหตุ-ฉุกเฉินหลังพบผู้ป่วยฉุกเฉิน 45 ครั้ง/นาที  (อ่าน 659 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9779
    • ดูรายละเอียด
 สธ.ระดมกำลังแพทย์ พยาบาล และระดับผู้บริหาร พัฒนาระบบงานบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุ ฉุกเฉินของ รพ.ทุกระดับเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกแห่ง เพิ่มโอกาสรอดชีวิต ไร้พิการซ้ำซ้อนให้ได้มากที่สุด เผยในรอบ 10 ปีสถิติผู้ป่วยห้องฉุกเฉินรพ.รัฐทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว เฉลี่ยเข้าห้องฉุกเฉินนาทีละ 46 ครั้ง
       
       วานนี้(21 ธ.ค.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)ศูนย์/รพ.ทั่วไป และผู้รับผิดชอบและปฏิบัติงานด้านอุบัติเหตุฉุกเฉิน ประกอบด้วยแพทย์หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรม งานเวชศาสตร์ฉุกเฉินและนิติเวช งานออร์โธปิดิกส์ พยาบาลประจำห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉินประจำรพ.ศูนย์ทั่วประเทศ รพ.มหาวิทยาลัย วิทยาลัยแพทยศาสตร์ จำนวน 300 คน เพื่อระดมสมองพัฒนาประสิทธิภาพระบบการให้บริการผู้ป่วยอุบัติเหตุ ฉุกเฉิน ใน รพ.ทุกระดับในประเทศไทย
       
       นพ.ณรงค์ กล่าวว่า งานบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินจัดเป็นงานด่านหน้าที่มีความสำคัญของรพ.ทุแห่ง เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินและวิกฤติอย่างรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ เพื่อให้รอดชีวิต ปลอดภัย ลดความพิการซ้ำซ้อน ให้บริการเป็นทีม เป็นความหวังของผู้ป่วยและญาติขณะประสบกับนาทีชีวิต ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และ สธ.ที่ต้องการให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐาน
       
       "จากการสำรวจของศูนย์อุบัติเหตุฉุกเฉิน โรงพยาบาลขอนแก่นพบว่า ในรอบ 10 ปีมานี้ จำนวนผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินเข้ารักษาตัวที่ห้องฉุกเฉินของ รพ.ของรัฐทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว จาก 12 ล้านครั้งในปี 2544 เป็น 24 ล้านครั้งในปี 2555 เฉลี่ยนาทีละ 46 ครั้ง ในขณะที่ทรัพยากรด้านต่างๆของ รพ.ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผนในการรับมือปัญหาอย่างเป็นระบบและทันท่วงที เพื่อให้มีความเป็นเลิศ มีมาตรฐานระดับสากล สร้างความเชื่อมั่นของคนไทยทั้งประเทศและต่างชาติ" นพ.ณรงค์ กล่าว
       
       นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้จะศึกษาทบทวนสถานการณ์ สภาพปัญหาที่เกิดในระบบจากการปฏิบัติงานจริง และการพัฒนาความพร้อมอย่างสมบูรณ์แบบใน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่

1.บุคลากรมืออาชีพ
2.โครงสร้าง และอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์
3.กระบวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกระดับ
4.เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารรับแจ้งเหตุ การประสานงานของเจ้าหน้าที่

จากนั้นจะจัดทำเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาและการลงทุนต่างๆ ให้เกิดความสมบูรณ์แบบได้มาตรฐาน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    22 ธันวาคม 2555