ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 14-19 ส.ค.2555  (อ่าน 1310 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 14-19 ส.ค.2555
« เมื่อ: 20 สิงหาคม 2012, 03:33:58 »
1. “ประยุทธ์” ฉะ ดีเอสไอปากไวอ้างทหารใช้สไนเปอร์สลายม็อบ พร้อมแจ้งจับ “อัมสเตอร์ดัม” กล่าวหาทหารซื้ออาวุธฆ่า ปชช.!

       จากกรณีที่ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนการเสียชีวิตของประชาชนจากเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 ได้แถลงเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ว่า จะเรียกทหารสไนเปอร์ที่ประจำตามจุดต่างๆ มาสอบปากคำประกอบสำนวนคดี โดยอ้างว่ามีภาพปรากฏผ่านสื่อมวลชนว่าทหารใช้ปืนยิงเพื่อกดดันมวลชนให้ถอยร่นในช่วงดังกล่าว
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 14 ส.ค. พ.ต.อ.ประเวศน์ ได้ออกมาแถลงเพิ่มเติมอีกว่า มีบางเหตุการณ์ที่มีหลักฐานยืนยันว่า การเสียชีวิตมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น บริเวณสนามมวยลุมพินี หน้าธนาคารกสิกรไทย สาขาพระราม 4 โดยมีคลิปภาพบันทึกการยิงของสไนเปอร์ พร้อมชี้ว่า หากมีการแจ้งข้อกล่าวหาฝ่ายปฏิบัติ ทางผู้สั่งการจะถูกแจ้งข้อกล่าวหาก่อน
       
       ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี รีบออกมาสำทับทันทีว่า ผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงก็คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)
       
       ขณะที่ พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) แถลงว่า สำนักนายกฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ไปปฏิบัติงานในดีเอสไอ และเป็นพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อสืบสวนสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช. ) จำนวน 50 นาย โดยมีตนเป็นผู้กำกับดูแลให้การสืบสวนสอบสวนคดีเสร็จสิ้นโดยเร็ว และว่า ขณะนี้ มีบางคดีมีพยานหลักฐานยืนยันตัวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งใช้อาวุธปืนในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บแล้ว โดยจะเรียกผู้ปฏิบัติมาให้การในเร็วๆ นี้ และจะขยายผลไปถึงผู้สั่งการในที่สุด
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ไม่พอใจที่ดีเอสไอพาดพิงว่าการเสียชีวิตของประชาชนในเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อปี 2553 เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยบอกว่า ถ้าคดียังไม่ยุติไม่สมควรออกมาพูด และว่า เรื่องนี้ได้ขอร้องผ่านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอไปแล้ว ซึ่งนายธาริตรับปากและขอโทษ รวมทั้งจะไปบอก พ.ต.อ.ประเวศน์ด้วย
       
       พล.อ.ประยุทธ์ ยังสวนกลับผู้ที่อ้างว่าทหารในคลิปที่มีการนำออกมาเผยแพร่เป็นทหารสไนเปอร์ด้วยว่า รูปที่ปรากฏเป็นทหารที่ติดกล้องเฉยๆ และปืนนั้นก็ไม่ใช่แบบสไนเปอร์ ถ้าพูดแล้วไม่รู้ อย่าพูดดีกว่า ส่วนกรณีที่คณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ในปี 2553 มีการเบิกกระสุนมา 3,000 นัด แต่ใช้ไป 800 นัด จึงอยากทราบว่ากระสุนที่เหลือหายไปไหนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ โต้กลับว่า อยากถามว่า ถ้าเบิกไป 3,000 นัด ยิงไป 300 นัด ขาดไป 2,700 นัด แสดงว่าต้องมีคนตาย 2,700 คนหรือไม่ มีใครบอกว่าทหารเอาปืนไปยิงคน ถามลูกน้อง เขาบอกว่า ไม่ได้ยิงใครสักคน มีแต่โดนยิง
       
       ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ได้มอบหมายให้นายทหารพระธรรมนูญเข้าแจ้งความต่อตำรวจ สน.ลุมพินี ให้ดำเนินคดีนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ชาวแคนาดา ทนายความคนเสื้อแดง และหญิงไทยไม่ทราบชื่อ ที่เป็นล่ามแปลและเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดท ข้อหาหมิ่นประมาท จากกรณีที่นายอัมสเตอร์ดัม ได้ปราศรัยบนเวทีคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2555 เป็นภาษาอังกฤษและมีล่ามแปล ผ่านสถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดท โดยกล่าวหาว่ากองทัพบกซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ เพื่อมาเข่นฆ่าประชาชน ทำให้กองทัพได้รับความเสียหายและเสื่อมเสียชื่อเสียง
       
       ขณะที่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ได้ออกมาแถลงกรณีดีเอสไอจะเรียกทหารสไนเปอร์ในคลิปมาสอบ โดยยืนยันเช่นกันว่า ในคลิปดังกล่าวไม่ใช่สไนเปอร์ พ.ต.อ.สรรเสริญ ยังจับโกหกกรณีที่ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ระบุว่า ที่ผ่านมากองทัพไม่ได้ส่งข้อมูลหลักฐานที่ทหารอ้างว่ามีชายชุดดำทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหารและฆ่าประชาชนในเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อปี 2553 ให้พนักงานสอบสวน โดยยืนยันว่า หลังเหตุการณ์สิ้นสุดลง ทางกองทัพได้รวบรวมข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้องส่งมอบให้พนักงานสอบสวนไปหมดแล้ว รวมทั้งกรณีที่กองทัพบกนำเฮลิคอปเตอร์ไปโปรยใบปลิวเพื่อแจ้งให้ยุติการชุมนุม แต่กลับมีการยิงอาวุธขึ้นไปบน ฮ. ซึ่งสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 3 ราย พร้อมยึดของกลางได้จำนวนมาก ทั้งอาวุธสงคราม เอ็ม 16 ปืนอาก้า กระสุนปืนความเร็วสูงเป็นพันนัด ซึ่งได้ส่งหลักฐานให้พนักงานสอบสวนไปแล้ว แต่ปรากฏว่า ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่ไม่มีหลักฐานประกอบ จึงอยากถามว่าเอกสารหลักฐานที่ส่งมอบให้พนักงานสอบสวนหายไปไหน เหตุใดไม่นำมาประกอบหลักฐาน
       
       พ.ต.อ.สรรเสริญ ยังเตือนความจำนายธาริตด้วยว่า สมัยนั้นนายธาริตก็เป็น 1 ใน ศอฉ. เข้าร่วมประชุมทุกครั้ง รับรู้เหตุการณ์และร่วมกันตัดสินใจมาโดยตลอด น่าจะทราบเหตุการณ์ดีว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำอะไรลงไปบ้าง
       
       ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ อธิบดีดีเอสไอ ออกมายอมรับว่า ได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ของกองทัพเพื่อทำความเข้าใจเรื่องการให้ข่าวของดีเอสไอแล้ว และว่า หลังจากนี้ตนจะเป็นผู้ให้ข่าวเพียงผู้เดียว ส่วนการดำเนินคดี พนักงานสอบสวนยังคงทำงานตามปกติ โดยดีเอสไอจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย นายธาริต ยังบอกด้วยว่า มีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องบางคดี แต่อาจจะไม่ต้องรับผิด เพราะหากทำในภาวะจำเป็นหรือทำตามคำสั่ง เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจะมีกฎหมายคุ้มครอง
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลัง พล.อ.ประยุทธ์ออกมาติงการให้ข่าวของดีเอสไอ ปรากฏว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ได้ส่ง พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ไปพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงานและการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ พร้อมแจ้งให้แจ้งทราบว่า รัฐบาลต้องการทราบว่าใครคือผู้สั่งการ และว่า การเรียกมาสอบ ไม่ได้ตั้งใจเอาผิดทหาร แต่ต้องการทราบว่าใครคือผู้สั่งการระดับนโยบาย
       
       ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงกรณีที่ดีเอสไอจะเรียกมือยิงสไนเปอร์มาสอบปากคำเหตุการณ์ชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 โดยยืนยันว่า ไม่กังวล เพราะรู้ว่าข้อเท็จจริงคืออะไร และว่า เป็นความพยายามของฝ่ายการเมืองที่จะดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งไม่ได้เหนือความคาดหมาย อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ เตือนว่า เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมา หากมีการกลั่นแกล้ง พวกตนก็สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายได้
       
       ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ก็ยืนยันว่า การดูแลสถานการณ์การชุมนุมเมื่อปี 2553 ไม่มีการใช้อาวุธพิเศษหรือสไนเปอร์มาแก้ปัญหาแต่อย่างใด “การให้ข้อมูลของ ร.ต.อ.เฉลิม พยายามจะทำให้เกิดความเข้าใจว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์สั่งฆ่าประชาชนนั้น ผมคิดว่า ร.ต.อ.เฉลิมหลงยุค เพราะกรณีการสั่งฆ่าประชาชนมีในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีคดีอุ้มฆ่าคนตาย 2,500 คน ในยุคนายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่มีการสั่งฆ่าประชาชน แต่วันนั้นเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน เกิดเหตุรุนแรงก่อจลาจลเผาบ้านเผาเมือง กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่พอ มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทหารมาเป็นผู้ช่วยตำรวจ การสั่งการทำตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่มีการทำผิดกฎหมาย”
       
       2. “นิคม” ได้เป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่ หลังโหวต 2 รอบ พลิกชนะ “พิเชต”!

       เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ได้มีการประชุมวุฒิสภา เพื่อเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่แทน พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ที่พ้นตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติ หลังถูกศาลพิพากษาจำคุก แต่รอลงอาญา 2 ปี ฐานออกระเบียบขึ้นค่าตอบแทนให้ตัวเองสมัยเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน สำหรับกระบวนการเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่นั้น ที่ประชุมได้เปิดให้มีการเสนอชื่อบุคคลที่จะเข้ารับการคัดเลือกเป็นประธานวุฒิสภา โดยนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เสนอชื่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา ,นางเกศินี แขวัฒนะ ส.ว.อยุธยา เสนอชื่อ น.ส.สุนันท์ สิงห์สมบูรณ์ ส.ว.สรรหา ,นายนายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ ส.ว.สรรหา เสนอชื่อนายพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา และนายพรพจน์ กังวาร ส.ว.ระนอง เสนอชื่อนายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี จากนั้นได้เปิดให้ผู้ถูกเสนอชื่อแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม
       
       หลังแสดงวิสัยทัศน์ ที่ประชุมได้ให้สมาชิกลงคะแนนว่าจะเลือกใคร โดยลงคะแนนลับ ผลปรากฏว่า นายพิเชตได้ 63 คะแนน ,นายนิคมได้ 46 คะแนน ,นายเกชาได้ 35 คะแนน ,น.ส.สุนันท์ได้ 2 คะแนน อย่างไรก็ตาม แม้ว่านายพิเชตจะมีคะแนนมากสุด แต่ถือว่าคะแนนยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่ลงชื่อเข้าประชุมคือ 146 คน ตามระเบียบแล้ว จึงต้องนำผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 2 ลำดับแรกมาให้สมาชิกเลือกอีกรอบ ซึ่งหลังจากลงคะแนนรอบสองปรากฏว่า นายนิคมได้ 77 คะแนน ขณะที่นายพิเชตได้ 69 คะแนน ส่งผลให้นายนิคมได้เป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่
       
       ทั้งนี้ นายนิคมยืนยันว่า จะทำในสิ่งที่ได้แสดงวิสัยทัศน์ และจะไม่ทำงานตามกระแสกดดันจากพรรคการเมืองใด พร้อมกันนี้นายนิคมได้ขอลาออกจากตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1
       
       จากนั้น พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สุราษฎร์ธานี ได้เสนอญัตติขอให้ที่ประชุมเลือกตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาแทนตำแหน่งที่ว่างลง แต่นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ทักท้วงว่า ยังมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายอีกหลายฉบับ ประกอบกับเรื่องดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ควรรอให้สมาชิกไปหารือกันก่อน ซึ่งสมาชิกหลายคนเห็นด้วย พล.ต.ท.มาโนชจึงยอมถอนญัตติ ด้านนางพรทิพย์ โล่ห์วีระ จันทร์รัตนปรีดา รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้แจ้งให้คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา(วิปวุฒิสภา) ไปหารือเพื่อกำหนดวันเลือกรองประธานวุฒิสภาต่อไป
       
       ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะส่งเรื่องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อนำชื่อของนายนิคมขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
       
       3. สภาฯ เสียงข้างมาก ผ่าน พ.ร.บ.งบฯ ปี ’56 แล้ว ด้วยมติ 279 ต่อ 8 สะพัด “เจ๊แดง-เยาวภา” จุ้นผันงบ!

       เมื่อวันที่ 15-17 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ในวาระที่ 2 และ 3 วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ แถลงต่อที่ประชุมว่า กมธ.ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรวม 452 หน่วยงาน และรัฐวิสาหกิจไม่ได้รับงบรวม 10 หน่วยงาน โดยได้ปรับลดงบกว่า 22 ล้านบาท และได้พิจารณาเพิ่มงบในวงเงินเท่ากับจำนวนที่ปรับลด
       
       สำหรับบรรยากาศการอภิปรายงบนั้น ไฮไลต์ของวันแรก(15 ส.ค.) ได้แก่ นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเป็นห่วงงบปี 2556 ที่มีรายจ่ายสูงถึง 2.4 ล้านล้านบาท เพราะเป็นงบรายจ่ายที่มีเม็ดเงินสูงมากเป็นประวัติการณ์ ขณะที่รายได้ประมาณการณ์ของรัฐบาลมีเพียง 2.1 ล้านล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลจะขาดดุล 3 แสนล้านบาท ต้องกู้ยืมเพิ่มเพื่อชดเชยการขาดดุล จึงเป็นห่วงหนี้สาธารณะของประเทศ
       
       ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยัน การจัดทำงบประมาณเป็นไปอย่างโปร่งใส เพราะได้ทำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ ส่วนการใช้จ่ายงบประมาณจะเป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาเป็นหลัก อีกส่วนหนึ่งจะใช้พัฒนาประเทศเพื่ออนาคต
       
       ด้านนายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า รัฐบาลล้มเหลวในการใช้งบโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวที่เกษตรกรไม่ได้รับอานิสงส์เลย นอกจากนี้ยังมีการสวมสิทธิไม่น้อยกว่า 3 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กำลังตรวจสอบอยู่ รัฐบาลจะปัดความรับผิดชอบว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ไม่ได้
       
       ขณะที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ชี้แจงเรื่องการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวว่า กมธ.ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วให้ดำเนินมาตรการรับจำนำข้าวอย่างเคร่งครัดไม่ให้เกิดการทุจริต หากใครมีข้อมูลทุจริตให้ส่งเรื่องมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เพราะนายกรัฐมนตรีได้ตั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการรับจำนำข้าว
       
       ส่วนวันที่สอง(16 ส.ค.) ของการอภิปรายงบ นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ได้อภิปรายโจมตีนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงบประมาณว่า มีการจัดงบลงจังหวัดตัวเองอย่างไม่โปร่งใสและไม่เหมาะสม
       
       ทั้งนี้ มีรายงานว่า ช่วงสายวันเดียวกัน ระหว่างประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย พี่สาว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางมาที่รัฐสภา และอยู่ที่ห้องทำงานของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ โดยมี ส.ส.พรรคเพื่อไทยเข้าร่วมหารือนานกว่า 2 ชั่วโมง ก่อนเดินทางออกจากรัฐสภา ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีแกนนำภาคเหนือของพรรคเพื่อไทยคอยชี้นำและครอบงำรัฐมนตรีกระทรวงหนึ่ง ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดให้พยายามผันเงินงบประมาณไปลงในกระทรวงและพื้นที่ของตัวเอง
       
       ด้านวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดนางเยาวภา รีบปฏิเสธข่าวดังกล่าว โดยอ้างว่า นางเยาวภาเดินทางมารัฐสภา เพราะตนชวนไปตรวจสุขภาพประจำปี นางเยาวภาจึงแวะมารับตนที่รัฐสภาเพื่อไปพบแพทย์ด้วยกัน พร้อมย้ำ นางเยาวภาไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องงบแม้แต่น้อย
       
       ขณะที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายตั้งข้อสังเกตงบของสำนักงานเลขาธิการนายกฯ 900 ล้านบาท ที่ตั้งชื่อว่า “โครงการพัฒนาชุมชนเมือง” ซึ่งไม่มีรายละเอียดโครงการและหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ จึงข้องใจว่างบดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อสนองเหตุผลทางการเมือง และเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงหรือไม่
       
       สำหรับการอภิปรายงบวันที่สาม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านได้อภิปรายโจมตีรัฐบาลว่าไม่มีความโปร่งใสในการใช้งบ 1.2 แสนล้านบาทเรื่องน้ำท่วม เพราะไม่ยอมให้รายละเอียดโครงการที่ดำเนินการว่าอยู่ที่ไหน อย่างไร “หากรัฐบาลมีความสุจริตในการใช้จ่ายงบก้อนนี้ ก็ต้องเปิดเผยว่าใช้งบ 1.2 แสนล้านบาทอย่างไร และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายร่วมกันตรวจสอบว่าข้อครหาเรื่องเปอร์เซ็นต์ การขายโครงการ เป็นความจริงหรือไม่”
       
       ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้นำสื่อมวลชนไปดูกล่องใส่เอกสารแสดงรายละเอียดงบประมาณปี 2556 ที่อาคารรัฐสภา 3 พร้อมโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ว่าเล่นเกมการเมือง ดึงเวลาประชุมสภาพิจารณางบประมาณด้วยวิธีการลุกขึ้นอภิปรายขอเอกสารรายละเอียดการเบิกจ่ายงบ 1.2 แสนล้านในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ทั้งที่ กมธ.ซีกรัฐบาลได้ส่งเอกสารให้บางส่วนแล้ว
       
       ทั้งนี้ หลังที่ประชุมสภาได้อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณในวาระ 2 เป็นเวลา 3 วัน และข้ามคืนเข้าสู่วันที่ 18 ส.ค. เวลา 01.40น. นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมก็ได้สั่งให้ที่ประชุมลงมติว่าจะรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ประจำปี 2556 วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาทในวาระ 3 หรือไม่ ซึ่งผลปรากฎว่า ที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติรับร่างดังกล่าว 279 ต่อ 8 เสียง งดออกเสียง 127 เสียง
       
       4. ศาลฎีกา พิพากษากลับ จำคุก “หม่อมลูกปลา” 4 ปี 8 เดือน คดีวางยาพิษ “ท่านกบ” !

       เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางชลาศัย ยุคล หรือหม่อมลูกปลา อายุ 40 ปี เป็นจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น โดยคดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า นางชลาศัยได้บังอาจฆ่าหม่อมเจ้าฐิติพันธ์ ยุคล หรือท่านกบ ซึ่งได้จดทะเบียนสมรสอยู่กินกันฉันท์สามีภรรยาในวังอัศวิน ด้วยการผสมยาพิษ ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงกลุ่มคาร์บอเนตในถ้วยกาแฟให้ดื่ม จนสิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 21 ส.ค.2538 เหตุเกิดที่แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต เขตพญาไท กทม.
       
        ทั้งนี้ หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและดำเนินคดี จำเลยให้การรับสารภาพ แต่เมื่อคดีถึงชั้นศาล จำเลยกลับให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดี อ้างว่าไม่ได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ด้านศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยผสมยาพิษในถ้วยกาแฟให้ผู้ตายดื่มจริง พิพากษาจำคุก 9 ปี แต่คำรับสารภาพของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาบ้าง จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 6 ปี
       
        อย่างไรก็ตาม จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลยกฟ้อง ซึ่งศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ฝ่ายโจทก์ไม่มีประจักษณ์พยานชี้ให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้ใส่ยาพิษในถ้วยกาแฟของผู้ตาย ประกอบกับพยานบุคคลของฝ่ายโจทก์ที่เข้าเบิกความล้วนแต่มีพิรุธ น่าสงสัย และมีน้ำหนักน้อย ส่วนคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวน ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นคำรับสารภาพที่ให้การโดยไม่สมัครใจ รวมทั้งการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้ดำเนินการตามความสมัครใจของจำเลย พยานทั้งหมดล้วนเป็นคนใกล้ชิดของผู้ตาย และมีส่วนได้เสียกับทรัพย์สินในกองมรดก คำอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
       
        ต่อมา อัยการโจทก์ได้ยื่นฎีกา ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิด ซึ่งศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นคนใส่ยาพิษในถ้วยกาแฟให้ผู้ตายดื่มหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องจับเท็จมาทดสอบจำเลย โดยก่อนเข้าเครื่องจับเท็จ จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อเข้าเครื่องจับเท็จแล้ว ปรากฏว่าไม่ผ่านการทดสอบ ซึ่งภายหลัง จำเลยยอมรับสารภาพว่าเป็นคนใส่ยาพิษในถ้วยกาแฟจริง แต่หวังเพียงให้ผู้ตายประชวรและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อที่จำเลยจะได้มีโอกาสไปพบคนรักและมีเวลาอยู่นอกวังอัศวินนานๆ ไม่มีเจตนาที่จะปลงพระชนม์
       
        ส่วนประเด็นที่ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่า จากการตรวจสอบน้ำในกระเพาะของผู้ตาย พบสารจากยาฆ่าแมลงในกระเพาะของผู้ตาย แต่ไม่สามารถตรวจหาปริมาณของสารพิษได้ เนื่องจากไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยใส่สารพิษจำนวน 500 มิลลิกรัมในถ้วยกาแฟเพื่อหวังให้เสียชีวิตใน 1 ชั่วโมงนั้น ศาลเห็นว่าเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเอาเอง ฎีกาโจทก์ประเด็นนี้จึงฟังไม่ขึ้น ฟังได้เพียงว่า จำเลยมีเจตนาใส่ยาพิษเพียงเพื่อจะทำร้าย แต่การทำร้ายเป็นผลให้เสียชีวิต นอกจากนี้ศาลยังเห็นว่า จำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้ตาย เพราะหลังเกิดเหตุ จำเลยเป็นคนแจ้งให้บุคคลในวังอัศวินทราบและนำผู้ตายส่งโรงพยาบาล
       
        ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ใส่ยาพิษในถ้วยกาแฟจริง แต่ไม่มีเจตนาให้ถึงแก่ชีวิต จึงพิพากษาแก้ เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 290 วรรคแรก ให้จำคุกจำเลย 7 ปี แต่จำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวน มีเหตุลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลย 4 ปี 8 เดือน
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังฟังคำพิพากษา นายชลาศัยถึงกับร้องไห้และโผเข้ากอดลูกชายและสามีใหม่ พร้อมถอดสร้อยคอทองคำมอบไว้ให้ลูกชาย ก่อนที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะควบคุมตัวไป
       
       ด้านนายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะทนายและนายประกัน เผยว่า ได้เตรียมยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้จำเลย โดยจะพยายามให้ทันวันที่ 5 ธ.ค.นี้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    20 สิงหาคม 2555