แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - story

หน้า: 1 ... 453 454 [455] 456 457 ... 537
6811
สาธารณสุข * นายวิทยา บุรณศิริ รมว.กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับกระทรวง​แรงงาน​และกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมจัดกิจกรรม บิ๊ก คลีนนิ่ง ​เดย์ "รวมพลังคืนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน" จ.พระนครศรีอยุธยา ​และปทุมธานี ที่ถูกน้ำท่วม 7 ​แห่ง ​โดยตรวจคุณภาพน้ำก่อนสูบออกนอกนิคมฯ ​เป้าหมายคือตรวจ​การปน​เปื้อน​เชื้อ​โรค​และสาร​เคมี ​เริ่มตรวจ​ใน 4 นิคมอุตสาหกรรม คือ ​โรจนะ ​ไฮ​เทค บางปะอิน ​และนวนคร ตั้ง​แต่ 16 พ.ย. ​ใช้งบฯ  ​เกือบ 4 ล้านบาท ​เ​ก็บตัวอย่างน้ำ 6 จุด ​เมื่อ 9 พ.ย.2554 ผลตรวจพบส่วน​ใหญ่​ไม่​เกินค่ามาตรฐานของ​แหล่งน้ำผิวดินประ​เภทที่ 4 ยก​เว้นทอง​แดง พบระหว่าง  0.112 ​และ 0.155 มก./ลิตร ​แต่​ไม่​เกินค่ามาตรฐานน้ำทิ้งอุตสาหกรรม

สำหรับผล​การตรวจที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ​เ​ก็บตัวอย่างน้ำบริ​เวณหน้าสถานี​การ​ไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ​และบริ​เวณ​ใกล้​โรงงาน กิฟฟารีน 2 จุด ​ใกล้​โรงงานฟูจิกูระ ​และ​เนสท์​เล่ ​เมื่อ 20 ต.ค. พบปน​เปื้อน​แบคที​เรียกลุ่ม​โคลิฟอร์ม​ในระดับสูง ​แสดงว่า​เป็นน้ำ​เน่า​เสีย มี​การปน​เปื้อนขยะอินทรีย์ ​และสิ่งปฏิกูล​ในปริมาณสูง ​แต่​โดยทั่ว​ไปส่วน​การปน​เปื้อนสาร​เคมีพบว่าสูงกว่ามาตรฐานน้ำผิวดิน พบสารจำพวกฟีนอล​และ​โลหะหนักบางชนิด ​เช่น ทอง​แดง ตะกั่ว ​และ​แคด​เมียม ​แต่ปริมาณยังต่ำกว่าค่ามาตรฐานน้ำทิ้งของ​โรงงานอุตสาหกรรม.

ไทย​โพสต์  22 พฤศจิกายน 2554

6812
เอ็นจีโอ เบี้ยวการประชุมซ้ำ “วิทยา” เมิน ลั่นทุกอย่างยังเดินต่อ เผย ที่ประชุมเลือก “นพ.ประดิษฐ์” เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เตรียมเข้า ครม.พิจารณา หวังเดินหน้าระบบหลักประกัน
       
       จากกรณีการประชุมคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) แทน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่ง นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอชื่อ “นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์” เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย แต่ปรากฏว่า การประชุมล่ม เนื่องจากคณะกรรมการสัดส่วนเอ็นจีโอไม่เข้าร่วมถึง 5 คนจนต้องเลื่อนการประชุมมาเป็นวันที่ 21 พ.ย.นั้น
       
       ความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว นายวิทยา กล่าวภายหลังการประชุม ว่า การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 15 คน จากทั้งหมด 23 คน ที่มีสิทธิ์ในการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งถือเกินกึ่งหนึ่งขององค์ประชุมตามมาตรา 17 ที่ระบุว่า การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม แสดงว่า การประชุมครั้งนี้สามารถรับรองได้ และที่ประชุมก็ลงมติรับรองชื่อ “นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์” ในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิด้านแพทย์แผนไทย ขณะที่คณะกรรมการในสัดส่วนภาคประชาชนที่ไม่เข้าร่วมการประชุมนั้น ตนไม่ทราบเหตุผลว่า เพราะอะไร เนื่องจากเมื่อคืนวันที่ 20 พ.ย.นายนิมิตร เทียนอุดม กรรมการ บอร์ด สปสช.สัดส่วนภาคประชาชน ได้โทรศัพท์คุยกับตนว่าจะเข้าร่วม แต่พอการประชุมครั้งนี้กลับไม่เข้าร่วม ส่วน นพ.วิชัย โชควิวัฒน ทราบว่า เดินทางไปประเทศเกาหลี
       
       นายวิทยา กล่าวด้วยว่า มั่นใจว่า การที่กลุ่มภาคประชาชนไม่เข้าร่วมครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับการปฏิเสธ นพ.ประดิษฐ์ ซึ่งตนเชื่อว่าบอร์ดเสียงส่วนใหญ่จะสามารถทำหน้าที่บริหาร ที่เป็นประโยชน์แก่หลักประกันสุขภาพได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ จะนำรายชื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้ มีการคัดค้านโดยชูมาตรา 13 ที่ระบุว่าด้วยองค์ประกอบของคณะกรรมการ ต้องมีทั้งรัฐมนตรี สธ.ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ รวมไปถึงภาคเอ็นจีโอ ครบทั้งหมด ไม่เช่นนั้นคัดเลือกไม่ได้ นายวิทยา กล่าวว่า ตนในฐานะประธานคิดว่าการประชุมครั้งนี้ มีองค์ประชุมเกินกึ่งหนึ่งตามกฎหมายกำหนด ไม่เกี่ยวกับองค์ประกอบก็เพียงพอ และสามารถรับรองการประชุมได้
       
       ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย บอร์ด สปสช.การใช้มาตรา 17 ไม่ได้ เพราะมาตรานี้ใช้บังคับในกรณีการประชุมคณะกรรมการทั่วไป แต่ไม่เกี่ยวกับการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ แต่มาตรา 13 เป็นการใช้การประชุมเฉพาะกรณีสรรหากรรมการ หากไม่ทำตามมาตรานี้ จะนำไปสู่การดำเนินการมาตรา 17 ไม่ได้
       
       สำหรับกรรมการที่ไม่เข้าร่วมนั้น ประกอบด้วย นพ.วิชัย โชควิวัฒน ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านผู้สูงอายุ นายนิมิตร เทียนอุดม ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านผู้ติดเชื้อเอดส์ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสตรี นางสุนทรี เซ่งกิ่ง ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านแรงงาน นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ ผู้แทนองค์กรด้านคนพิการและจิตเวช รศ.ธิดา นิงสานนท์ ผู้แทนสภาเภสัชกรรม นายวีรวัฒน์ ค้าขาย ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่น และ นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้แทน อบจ.

ASTVผู้จัดการออนไลน์    21 พฤศจิกายน 2554

6813
ภาพที่พสกนิกรชาวไทยเห็น เมื่อเวลา 15.57 น. วันที่ 14 พฤศจิกายน

มากด้วยความ "ปลื้มปีติ"

เป็นความปีติ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์เชิ้ตแขนสั้นสีส้มลายกราฟิกดอกกุหลาบ สนับเพลาสีกากีเข้ม ฉลองพระบาทหนังสีดำผูกเชือก ทรงจูงสุนัขทรงเลี้ยง คุณทองแดง เสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าน้ำบริเวณลานสระว่ายน้ำสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราชเพื่อทอดพระเนตรระดับน้ำและทัศนียภาพริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

และต่อมาเวลา 17.28 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงร่วมด้วย

กระทั่ง 18.40 น. จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ

รวมเวลาเสด็จถึง 3 ชั่วโมง 13 นาที

ประชาชนที่มารอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ต่างเปล่งคำถวายพระพร "ทรงพระเจริญ"

ที่เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระพักตร์แจ่มใส

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ซึ่งเสด็จไปทรงเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมบริเวณพระตำหนักจักรีบงกช ต.บางขะแยง จ.ปทุมธานี มีพระดำรัสกับประชาชน ว่า

"ขอเล่าให้ฟังสักนิดนึงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยประชาชนมาก เมื่อสักประมาณอาทิตย์หนึ่งมาแล้ว ทรงทอดพระเนตรข่าวน้ำท่วมถึง 5 ชั่วโมงเต็มๆ เสร็จแล้วคงจะเป็นเพราะทรงเครียด ดูแล้วพระเจ้าอยู่หัวทรงรักประชาชนเหมือนลูกหลานอย่างจริงๆ และเมื่อเห็นราษฎรทุกข์ ก็ทรงทุกข์ด้วย ทุกข์เหลือเกิน"

"แต่ท่านเป็นคนที่ไม่ค่อยรับสั่ง เพราะฉะนั้น จึงออกมาในอาการที่ว่า ทรงมีอาการป่วยต่างๆ เช่นว่ามีเลือดออกเป็นต้น วันนั้นก็ฉุกละหุกพอสมควร แต่ตอนนี้ก็คงเข้าสู่สภาพปกติแล้ว แต่ว่าหมอก็ยังหาแผลไม่ได้ว่าตรงไหนที่เลือดออก เขาส่องกล้องเข้าไปแล้วก็ยังไม่เจอ ตอนนี้ก็เลยต้องเฝ้าดูพระอาการอยู่"

"แต่อยากให้ทราบว่าใจของพระองค์ท่านอยู่กับประชาชนเสมอ"

และเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้ประสบอุทกภัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ จ.นนทบุรี และมีพระดำรัสอีกครั้งหนึ่งว่า

"ช่วงเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ข้าพเจ้าไปเยี่ยมคนที่ประสบอุทกภัยที่พระนครศรีอยุธยา พอกลับมาพยาบาลมาเชิญ บอกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ่ายเป็นเลือดถึง 800 ซีซี ความดันตกมากอยู่ในภาวะทรงช็อก ไม่รู้สึกพระองค์"

"ข้าพเจ้าวิ่งไปเลยตอนนั้น เห็นพระองค์ได้รับการถวายเลือด ถวายอาหารทางเส้น หมอสันนิษฐานว่า เป็นเพราะทรงกังวล"

"ข้าพเจ้าถามพยาบาลว่า ทรงทำอะไรบ้างในวันสองวันนี้"

"ปรากฏว่า พระองค์ดูข่าวน้ำท่วม ทรงดูข่าวน้ำท่วมแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรักประชาชนเหมือนลูก เหมือนหลาน ทรงเป็นห่วงเป็นใย"

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งน้อยอยู่แล้ว แต่อาการที่แสดงออกทางร่างกาย พอเครียดขึ้นมาก็เกิดอาการทางกระเพาะ ลำไส้ ขณะนี้แพทย์ถวายการรักษาจนทรงเป็นปกติแล้ว"

"ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่โรงพยาบาลศิริราชก็จริง แต่พระทัยอยู่กับราษฎรทุกคน ถ้าใครรู้สึกซาบซึ้งในน้ำพระทัยขอให้อธิษฐานในใจเท่านั้น ขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระชนม์ยืน และทรงพระสุขภาพพลานามัยดี แค่คิดแค่นี้ข้าพเจ้าถือว่า กำลังใจของท่านทุกคนจะถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ"

แม้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะทำให้พสกนิกรชาวไทย สบายใจด้วย ทรงบอกว่า ขณะนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นปกติแล้ว

แต่คนไทยก็ยังคงอดเป็นห่วงและกังวลไม่ได้

จนเมื่อ 15.57 น. วันที่ 14 พฤศจิกายน ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงมาทอดพระเนตรสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยพระพักตร์ที่แจ่มใส นั่นแหละ

ความทุกข์ กังวลใจของพสกนิกรก็ผ่อนคลายลง

และยิ่งสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณมากขึ้น ที่ทรงห่วงใยผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างมาก ทรงติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด จนมีพระอาการเครียด

โดยสะท้อนผ่านพระอาการทางร่างกาย ที่ทรงมีพระโลหิตออกดังกล่าว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั้นเป็นที่แจ้งประจักษ์ใจของทั้งคนไทยและคนทั่วโลก ว่าทรงเชี่ยวชาญเรื่องน้ำอย่างมาก

สะท้อนผ่านจากที่สื่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศ ร่วมกันนำเสนอพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับ "น้ำ" ระหว่างที่คนไทยเผชิญมหาวิกฤตน้ำท่วม ขณะนี้

โดยสื่อมวลชนไทย ได้ย้อนไปถึงปี 2538 ในช่วงเดือนกันยายน มีพายุดีเปรสชั่นไรอันเข้ามาในไทย ทำให้ฝนตกมากทางตอนเหนือประเทศไทยและกรุงเทพฯ

น้ำเหนือไหลบ่าลงมาจะเข้าท่วมกรุงเทพฯ

วันที่ 19 กันยายน 2538 ทรงประชุมข้าราชการที่เกี่ยวข้องเป็นการด่วน

ทรงมีรับสั่งให้แก้ปัญหาโดยปล่อยให้น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำตามธรรมชาติของน้ำ

ให้ขุดตัดถนนที่ขวางทางน้ำ ขุดใต้ทางรถไฟ หาทางให้น้ำไหลลอดออกลงคลองระบายน้ำเพื่อให้ลงทะเลไปโดยเร็ว

พร้อมรับสั่งถึงโครงการระยะยาว ด้วยการให้เตรียมขุดขยายคูคลอง ระบบประตูระบายน้ำและสูบน้ำต่างๆ

ที่สำคัญ ทรงมีพระราชดำรัสว่า

"ในสมัยเก่า...สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ 6 ท่านเวนคืนเอาไว้ ท่านสงวนเอาไว้เป็นของรัฐ แล้วก็คนที่ไปอยู่ในนี้ ผิดกฎหมายทั้งนั้น คนที่เข้าไปอยู่ก็ผิดกฎหมาย ชาวบ้านที่เข้าไปอยู่ก็ผิดกฎหมาย รวมทั้งคนที่ไปซื้อจากชาวบ้านก็ผิดกฎหมาย ฉะนั้น การที่จะขุดรูจะไปทำโครงการสาธารณะ ไม่ผิดกฎหมาย ทำเพื่อที่จะป้องกัน เพราะว่าปีที่แล้วก็เกิด ปีก่อนๆ ก็เกิด ปีหน้าก็จะเกิดอีก ต้องทำโครงการฟลัดเวย์ (Flood Way)"

"ขอโทษที่ต้องพูดภาษาฝรั่ง ฟลัดเวย์ เพราะว่าเหมือนที่อเมริกา ที่ซานฟรานซิสโก เขามีฟลัดเวย์ใหญ่ตอนที่ไม่มีน้ำ แล้วไม่มีน้ำมาหลายปี ที่แคลิฟอร์เนียเขาอดน้ำจะแย่ ไอ้ฟลัดเวย์ก็อยู่ แต่ฝนตกเมื่อไร ไอ้ฟลัดเวย์ก็เต็มไปเลย แล้วไม่มีใครกล้าไปอยู่ในนั้นตอนนี้ถ้าใครกล้ามาอยู่ในนี้ แล้วฟลัดเวย์มันผ่านไป ก็กรวดน้ำให้เขา คือว่า ต้องเรียกว่า จะหาว่าใจร้ายก็ใจร้าย แต่จะป้องกันไม่ให้มีความหายนะ"

"...อันนี้ถึงย้ำและพูดรุนแรงหน่อยว่า แม้จะมีที่ที่คนจะว่าอะไร เป็นที่ของเขา ก็ต้องทำ ใช้กฎหมายใดที่จะพึงใช้ได้ หรือมิเช่นนั้นก็เอาเงินทุ่มก็ได้ แต่เชื่อว่าผู้ที่เป็นเจ้าของคราวนี้ คงเข้าใจ เขาต้องสละบ้าง และจะเป็นการแสดงความรักชาติ หรือความรักส่วนรวมของผู้เป็นเจ้าของที่ตรงนี้ และประชาชนก็จะมีความเห็นใจเขา แล้วก็อาจจะไม่ตำหนิติเตียนในเรื่องอื่น ก็อาจสบายขึ้นได้ เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด"

จะเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสถึงฟลัดเวย์ ที่จะเป็นทางระบายน้ำมาตั้งแต่ปี 2538

แต่น่าเสียดาย ที่ไม่มีการสานต่อเรื่องนี้

และเมื่อประเทศต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงเช่นตอนนี้ ประเทศไทยจึงเสียหายอย่างหนัก

และต่างพากันนึกถึงสิ่งที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแนะนำไว้

ขณะที่สื่อต่างประเทศ เช่น สำนักข่าวเอพีเสนอรายงานกึ่งวิเคราะห์เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมองการณ์ไกลเกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ก่อนหน้าจะเกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดใน 50 ปี

พระองค์ทรงเตือนหลายครั้งเรื่องการพัฒนามากเกินไป

รวมทั้งมีพระราชดำริหลายประการเพื่อบรรเทาความเสียหายจากการหนุนของน้ำทะเลในแต่ละปี นอกเหนือจากการรับมือกับฤดูน้ำหลาก

"ความพ่ายแพ้ของประเทศไทยต่อน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ทำให้ประชาชนเกือบ 400 รายเสียชีวิต พลเมืองนับแสนต้องกลายเป็นผู้อพยพ"

เอพี ย้ำว่า

"นี่เป็นบทเรียนที่แสนแพงจากการละเลยคำเตือนของพระองค์"
..............
(ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18-24 พ.ย.2554)

6814
ที่ประชุมองค์การนิทรรศการนานาชาติ (Bureau International des Expositions) หรือ บีไออี ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ประกาศรายชื่อ 5 เมืองที่ได้รับเลือกให้เข้าชิงการเป็นเจ้าภาพจัดนิทรรศการนานาชาติ หรือเวิลด์เอ็กซ์โป ประจำปี 2020 โดยหนึ่งในนั้นมี จ.พระนครศรีอยุธยา ของไทยรวมอยู่ด้วย

บีไออีแถลงว่า 5 เมืองที่เข้ารอบสุดท้ายประกอบด้วย จ.พระนครศรีอยุธยา ของไทย เมืองอิซเมียร์ของตุรกี นครเซาเปาโลของบราซิล เมืองเยกาเตรินเบิร์กของรัสเซีย และเมืองดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพต่อที่ประชุมใหญ่ 157 ชาติของบีไออี ที่ประชุมจะลงมติแล้วจะประกาศชื่อเมืองที่ได้เป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายน 2013

เวิลด์เอ็กซ์โป หรือยูนิเวอร์ซัลเอ็กซ์โป เป็นนิทรรศการแสดงความก้าวหน้าของมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกทั้งด้านเทคโนโลยี สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรม จัดขึ้นทุก 5 ปี แต่ละครั้งนาน 6 เดือน ดึงดูดคนไปเที่ยวชมจำนวนมาก และทำให้เกิดการตกลงทางธุรกิจ เวิลด์เอ็กซ์โปครั้งล่าสุดจัดขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้ของจีนเมื่อปีก่อน และครั้งหน้าจะมีขึ้นที่เมืองมิลานของอิตาลีในปี 2015 ส่วนเวิลด์เอ็กซ์โปครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงลอนดอนของอังกฤษในปี 1851

ประเทศไทยนับเป็นประเทศในอันดับต้นๆที่แสดงเจตจำนงเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการจัดงานเอ็กซ์โป 2020 โดยเมื่อเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2552 สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ได้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมการจัดประชุมและนิทรรศการ และมีการศึกษาความเป็นไปได้ของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพ "งานมหกรรมโลกเวิลด์เอ็กซ์โป" หลังจากนั้นได้มีการจัดทำรายงานความเป็นไปได้ การระดมความคิดเห็นจากกลุ่มภาครัฐ ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมไมซ์ และการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ พระนครศรีอยุธยา ยังเป็นจังหวัดที่เป็นเขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ มีศักยภาพทั้งในด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และ การท่องเที่ยวและการบริการ รวมไปถึงการมีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ การปรับตัว ความกลมกลืนทางวัฒนธรรม และการถ่ายทอดนวัตกรรม กับชาติต่างๆทั่วโลกของสยาม อาทิ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ และ ฝรั่งเศส ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการจัดงาน นิยามใหม่ของโลกาภิวัตน์-วิถีที่ยั่งยืน เพื่อโลกที่สมดุล หรือ Redefine Globalisation - Balanced Life, Sustainable Living เป็นอย่างมาก

มติชนออนไลน์ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

6815
แถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 45

วันนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รายงานว่า ทรงมีพระปรอท (ไข้) ต่ำๆ เป็นบางเวลาและเมื่อเย็นวานนี้ ทรงมีพระอาการเจ็บบริเวณพระนาภีด้านล่าง คณะแพทย์ได้ถวายตรวจพระวรกายและถวายตรวจพระโลหิตได้วินิจฉัยว่า พระโรคถุงเนื้อเยื่อขนาดเล็กบนผนังของพระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) อักเสบ (Diverticulltis) ทั้งนี้ คณะแพทย์ได้เคยส่องกล้องตรวจพบว่าทรงมีถุงเนื้อเยื่อขนาดเล็กที่ผนังของพระอันตะ (Diverticulum) ตามที่ได้มีแถลงการณ์สำนักพระราชวัง ให้ทราบทั่วกันแล้วเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2542 หลังจากนั้นได้ถวายส่องกล้องตรวจติดตามพระอาการเป็นระยะ (check-up) ไม่พบเนื้อร้ายและคณะแพทย์ได้อธิบายว่า เป็นพระอาการที่มักเกิดในผู้สูงอายุโดยอาจมีการอักเสบของถุงเนื้อเยื่อหรือมีโลหิตออกจากถุงเนื้อเยื่อเป็นครั้งคราวได้ ดังที่เคยพบถุงเนื้อเยื่อเล็กบนผนังของพระอันตะอักเสบ และถวายการรักษามาแล้วครั้งหนึ่ง ตามที่ได้มีแถลงการณ์สำนักพระราชวังเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2550

ในครั้งนี้คณะแพทย์จึงได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะทางหลอดพระโลหิต ผลการตรวจเอกซเรย์พระอุระ (ทรวงอก) ปรากฏว่า พระปัปผาสะ (ปอด) ปรกติ คณะแพทย์ได้ขอพระราชทานงดเสวยพระกระยาหารสักระยะหนึ่งจนกว่าพระอาการอักเสบจะทุเลาลง

จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
 
สำนักพระราชวัง 19 พ.ย. 2554

6816
“วิทยา”ผลิตคู่มือป้องกันโรคหลังน้ำลด ฉบับประชาชน พิมพ์ 1.5 แสนเล่ม แจกฟรี ทั้งคู่มือป้องกันโรค-คู่มือทำความสะอาดหลังน้ำลด
       
       วันนี้(19 พ.ย.)ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตภาวนาเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่แผ่นดินหลังประสบภัยน้ำท่วมที่วัดพนัญเชิงจ.พระนครศรีอยุธยา หลังจากนั้นเดินทางไปเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัย แจกยาชุดน้ำท่วมและถุงยังชีพ ที่หอประชุมเทศบาลนครหลวงและ อบต.แม่ลา อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา
       
       นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ภูมิภาคตอนบนของประเทศไทย มีระดับน้ำลดลงมาก กำหนดเป็นพื้นที่เข้าสู่ระยะฟื้นฟู ได้เร่งรัดให้กำหนดวันเริ่ม ดำเนินการฟื้นฟูเยียวยา โดยมีตัวชี้วัดด้านต่างๆ ดังนี้1.ด้านระบบบริการในโรงพยาบาล เร่งฟื้นฟูให้เปิดบริการได้ตามปกติ ไม่มีปัญหาการขาดยา เวชภัณฑ์ 2. ระบบการควบคุมป้องกันโรค 3.ความสะอาดปลอดภัยอนามัยสิ่งแวดล้อม กำจัดแหล่งน้ำเน่าเสีย ขยะ ฉีดพ่นกำจัดไข่แมลงวัน ยุง แมลงสาบ ซึ่งเป็นพาหนะนำโรค 4.การดูแลสุขภาพจิตผู้ประสบภัย และ5.การสร้างมีส่วนร่วมโดยปฏิบัติการของอาสาสมัครสาธารณสุข โดยเป้าหมายฟื้นฟู ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดเหมือนกันทุกพื้นที่ภายใน 45 วันหลังดำเนินการ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้เน้นเป็นพิเศษ เพื่อสร้างความมั่นใจประชาชน โดยให้รายงานความคืบหน้าต่อเนื่อง ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ของบประมาณฟื้นฟูระยะที่ 3 จำนวน 700 ล้านบาท คาดว่าจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า เพื่อใช้ในการดำเนินงานฟื้นฟูหลังน้ำลดให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
       
       นายวิทยา กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ทุกฝ่ายเป็นกังวลในระยะฟื้นฟู คืออนามัยสิ่งแวดล้อม และการควบคุมป้องกันโรคระบาดหลังน้ำลด นอกจากเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างเข็มงวดแล้ว ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคและกรมอนามัย จัดทำคู่มือความรู้ฉบับประชาชน 2 เล่ม เป็นคู่มือฉบับพกพา รวม 1 ล้าน 5 แสนเล่ม ดังนี้1.คู่มือการป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วมเช่นโรคไข้หวัด ตาแดง โรคหัด ฉี่หนู จำนวน 50,000 เล่ม 2.คู่มือการทำความสะอาดที่อยู่อาศัยหลังน้ำลด การล้างบ่อน้ำ จำนวน 100,000 เล่ม เป็นคำแนะนำการปฏิบัติตัวแบบง่ายๆ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าใจในการป้องกันตนเองไม่ให้เกิดโรคหลังน้ำลดได้
       
       ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุชกล่าวว่า ผลการดำเนินการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ขณะนี้ยังคงปฏิบัติการต่อเนื่อง จนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติทุกพื้นที่ วันละกว่า 100 ทีม พบผู้เจ็บป่วยจากน้ำท่วมสะสม 2,178,410 ราย โรคที่พบเป็นโรคทั่วๆไป ที่พบได้ในช่วงน้ำท่วมได้แก่ น้ำกัดเท้า ไข้หวัด ผื่นคัน ไม่พบมีการระบาดของโรค
       
       ด้านสุขภาพจิตขณะนี้ได้ให้จิตแพทย์และทีมสุขภาพจิตทั้งส่วนกลางและจังหวัดเร่งดำเนินการลดปัญหาความเครียดประชาชน โดยจัดกิจกรรมฝึกคลายเครียดด้วยตนเองทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ให้บริการปรึกษา และตรวจคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงจะเกิดผลกระทบด้านจิตใจเช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เด็กวัยเรียน ขณะนี้คัดกรองแล้ว 119,237 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยพบผู้ที่มีความเครียดสูง 6,704 ราย มีอาการซึมเศร้า 8,317 ราย ต้องติดตามดูแลพิเศษ 2,341 ราย และมีผู้ที่ต้องรักษาด้วยยาคลายเครียดคลายกังวล 6,832 ราย นอกจากนี้ยังได้ส่ง อสม.ปฏิบัติงานดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยและดูแลระบบสุขาภิบาลที่ศูนย์พักพิง ให้คำแนะนำวิธีคลายเครียด วันละกว่า 20,000 คน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้แจกยาชุดน้ำท่วมไปแล้ว 2,199,050 ชุด

ASTVผู้จัดการออนไลน์    19 พฤศจิกายน 2554

6817
รมช.สาธารณสุขเผย ตลาดสดถูกน้ำท่วม 13 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 74 แห่ง เร่งทำความสะอาดตามหลักสุขาภิบาล เน้นล้าง พื้น-เขียง-แผง จุดสัมผัสอาหารมากสุด...

เมื่อวันที่ 18 พ.ย. นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รมช.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน “เมืองน่าอยู่” Big Cleaning Day ที่ จ.ลพบุรี ว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น นอกจากจะส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนของประชาชนให้เกิดความเสียหายแล้ว สถานที่สาธารณะก็ได้รับความเสียหายด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะตลาดสด ซึ่งเป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอยสินค้าทั้งของสดและของแห้งสำหรับประชาชน ตลาดสดจึงเป็นสถานที่สาธารณะลำดับต้นๆ ที่ต้องเร่งฟื้นฟู โดยล้างทำความสะอาดเพื่อไม่ให้กลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค

"ข้อมูลจากการสำรวจของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดพบว่า มีตลาดสดที่ผ่านเกณฑ์ตลาดสดน่าซื้อของกรมอนามัยถูกน้ำท่วมในพื้นที่ 13 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 74 แห่ง ในจำนวนนี้มีตลาดที่ยังคงถูกน้ำท่วมจำนวน 51 แห่ง กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วจำนวน 23 แห่ง กรมอนามัยร่วมกับพื้นที่ได้เร่งฟื้นฟูโดยการล้างตลาดตามหลักการสุขาภิบาล จำนวน 18 แห่ง และจะเร่งดำเนินการให้ครบถ้วนทุกพื้นที่หลังน้ำลด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่ต้องการจับจ่ายสินค้าภายในตลาด สำหรับตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการประสานข้อมูลกับกรุงเทพมหานครเพื่อเข้าฟื้นฟูในพื้นที่" รมช.สาธารณสุขกล่าว

ด้าน นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การล้างตลาด ผู้ประกอบการควรคำนึงถึง 3 จุดหลักสำคัญ ได้แก่ พื้น เขียง แผง เพราะเป็นจุดที่สัมผัสกับอาหารมากที่สุด จึงเป็นเส้นทางผ่านเชื้อโรคให้เข้าสู่ร่างกายได้ ซึ่งการล้างตลาดที่ถูกหลักสุขาภิบาลมี 2 ขั้นตอนสำคัญคือ ขั้นที่ 1 การล้างด้วยน้ำและผงซักฟอกเพื่อกำจัดคราบสกปรก แล้วฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนบริเวณบนแผง หรือพื้นทางเดิน แต่หากมีคราบไขมันจับให้ใช้น้ำผสมโซดาไฟราดลงบนพื้นหรือแผง ทิ้งไว้นาน 15-30 นาที และใช้แปรงลวดถูเพื่อช่วยในการขจัดคราบไขมัน

ขั้นที่ 2 การฆ่าเชื้อโรคโดยใช้น้ำผสมผงปูนคลอรีนใส่ลงในฝักบัวรดน้ำและรดบริเวณแผง เขียง ทางเดิน ทางระบายน้ำเสียให้ทั่ว จากนั้นปล่อยทิ้งไว้เพื่อให้คลอรีนฆ่าเชื้อโรคและกำจัดกลิ่น สำหรับบริเวณห้องน้ำ ห้องส้วม อ่างล้างมือ ที่ปัสสาวะ และก๊อกน้ำสาธารณะ ที่ใช้ในตลาด ต้องทำความสะอาดโดยใช้น้ำยาทำความสะอาด หรือผงซักฟอกช่วย และล้างด้วยน้ำสะอาด ซึ่งจะเป็นการลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรค ที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อหลังน้ำลดได้.

ไทยรัฐออนไลน์ 19 พย 2554

6818
สธ.​เร่ง​เอกซ​เรย์ พื้นที่หลังน้ำลดป้องกัน​โรคระบาด คุม​เข้มน้ำ​เน่าที่ท่วมขัง​และขยะ ​เล็งงัด กม.สิ่ง​แวดล้อมมาบังคับ ​ใช้​ใน​เขตกรุง​เทพฯ ​และปริมณฑล

นายต่อพงษ์ ​ไชยสาส์น รัฐ มนตรีช่วยว่า​การกระทรวงสาธารณ สุข (สธ.) กล่าวภายหลัง​การประ ชุม​ผู้บริหารระดับสูง สธ.ว่าตน​ได้สั่งกำชับ​ให้​เจ้าหน้าที่สาธารณสุข​เอกซ​เรย์พื้นที่น้ำลดทุกตำบลทุกจังหวัด ​เพื่อ​เฝ้าระวัง​โรคระบาด หลังน้ำลด หน่วยงานที่ต้องปฏิบัติ หน้าที่​เฝ้าระวัง​ได้​แก่ กรมอนามัย, กรมวิทยาศาสตร์​การ​แพทย์, สำนักงานคณะกรรม​การอาหาร​และยา, กรมสนับสนุนบริ​การสุขภาพ ​ซึ่งมีอสม.ทุกหมู่บ้านดำ ​เนิน​การสำรวจข้อมูล​ในสถาน ​การณ์พื้นที่จริง รวม​ทั้งสิ่งที่จะก่อ​ให้​เกิด​ความ​เสี่ยงของ​โรคระบาด ​เพื่อนำข้อมูลมาวิ​เคราะห์​เชิงลึก ​และวาง​แผน​ความพร้อมป้อง กันควบคุมอย่าง​เข้มข้น​ไม่​ให้​เกิด​โรคระบาด ​และหากจำ​เป็น​ให้นำกฎหมาย พ.ร.บ.​การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ​ซึ่งอยู่​ใน​ความดู​แลของ สธ. มา​ใช้​เพื่อจัด​การปัญหาสิ่ง​แวดล้อมภายหลังน้ำท่วม ​เพื่อ​ให้​การควบคุม​โรคบรรลุ​เป้าหมาย ​โดย​เฉพาะปัญหาขยะ​และน้ำ​เน่า​เสีย ​ซึ่งมีจำนวนมาก​โดย​เฉพาะ​ในพื้นที่ กทม.​และปริมณฑล

นอกจากนี้ สถาน​การณ์น้ำท่วมจะสร้าง​ความ​เสียหาย​ให้ กับหน่วยบริ​การสาธารณสุข​เป็น จำนวนมาก ​ซึ่งคาดว่าจะต้อง​ใช้งบประมาณ​ใน​การฟื้นฟูจำนวน 660 ล้านบาท ​โดย​เงินจำนวนดัง กล่าวจะขอจากงบประมาณกลาง ประมาณ 400 ล้านบาท​เพื่อดู​แล พื้นที่หลัก ​เช่นที่ รพ.พระนคร ศรีอยุธยา, รพ.พระนั่ง​เกล้า ​และจะของบประมาณจากสำนักงานคณะกรรม​การหลักประกันสุขภาพ​แห่งชาติ (สปสช.) ประมาณ 250 ล้านบาท ​เพื่อดู​แลฟื้นฟู รพ.ส่ง​เสริมสุขภาพตำบล, สถานีอนามัย

นพ.​ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.กล่าวว่า ขณะนี้ สธ.​ได้จัด​ทำ​แผนพื้นฟูหลังน้ำลด​ทั้งหมด​แล้ว วัตถุประสงค์หลักคือ ป้องกัน​ไม่​ให้​เกิด​โรคระบาดที่สำคัญ 10 ​โรค ​เช่น ​โรคอุจจาระร่วง, ​โรคฉี่หนู, ​โรค​ไข้หวัด​ใหญ่ ​และ​โรคตา​แดง ​เป็นต้น.

ไทย​โพสต์  17 พฤศจิกายน 2554

6819
  วันนี้ (17 พ.ย.) นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการแถลงข่าว การประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการผนึกกำลัง ร่วมใจสู้ภัยน้ำท่วม ว่าสธ. และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เพื่อการเยียวยาจิตใจประชาชนในสถานการณ์ภัยพิบัติ ได้ร่วมมือกันในการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อการเยียวยาฟื้นฟูจิตใจประชาชนให้มีความเข้มแข็ง ทั้งนี้ เชื่อว่า กอ.รมน.มีบุคลากรเครือข่ายและทีมงานที่สามารถสื่อสารในระดับท้องถิ่น กระจายอยู่ใน 76 จังหวัด ซึ่งจะสามารถเป็นกำลังสำคัญในการ เผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจในการมองด้านดีๆ และจะสามารถเยียวยาและฟื้นฟูความเข้มแข็งทางจิตใจให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมพื้นที่ประสบภัยมากยิ่งขึ้น
       
       พล.ต.ฦๅชา มั่นศุข รองผู้อำนวยการสำนักกิจการมวลชนและสารนิเทศ กอ.รมน.กล่าวว่า ด้วยกองรมน.เป็นองค์กรหนึ่งที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและรักษาความมั่นคงรวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งในท้องถิ่นเพื่อป้องกันภัยและให้การช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะในขณะนี้ เกิดอุทุกภัยในหลายจังหวัดส่งผลทั้งความเป็นอยู่และจิตใจ ด้วย กอ.รมน.มีเครือข่ายการดำเนินงานครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หากเครือข่ายได้รับการอบรมเพิ่มความรู้ด้านสุขภาพจิตเพื่อเยียวยาจิตใจและความรู้สำหรับถ่ายทอดต่อแก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียดที่สะสมของผู้ประสบภัยได้ และสร้างความรู้สึกที่ดีให้แก่ทั้งสองฝ่าย
       
       ด้าน นพ.เกียรติภูมิ  วงศ์รจิต  รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การจัดโครงการครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมาย 2 ระดับ ได้แก่

1.เพื่อสร้างสื่อบุคคลส่งผ่านความช่วยเหลือด้านจิตใจให้กับเครือข่าย กอ.รมน.จำนวน 150 คนสำหรับถ่ายทอดขยายผลความรู้และแนวทางปฏิบัติในการเยียวยาจิตใจให้ผู้ประสบภัย วิธรการประเมินสุขภาพจิต การดูแลจิตใจรวมทั้งเทคนิคการผ่อนคลายความเครียดในรูปแบบต่างแก้ผู้ปฏิบัติงาน

2.เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการผ่อนคลายความเครียดและการสร้างความมั่นคงทางจิตใจของกรมสุขภาพจิตสู้ประชาชนผ่านสถานีวิทยุในสังกัด กอ.รมน.ที่มีมากกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 พฤศจิกายน 2554

6820
 แพทย์ห่วงทหารใจดี ช่วยประชาชนช่วงน้ำท่วม แช่น้ำนานเท้าอาจเน่า-ติดเชื้อในอวัยวะเพศ ขณะที่ทหารหลายรายมีอาการติดเชื้อที่บริเวณขาหนีบ อวัยวะเพศ และ บางคนมีภาวะบวมแดงติดเชื้อที่อัณฑะ ชี้ หากดูแลไม่ดีเสี่ยงเป็นหนอง
       
       วานนี้ (16 พ.ย.) พญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังจากรับมอบยาสำหรับทาแผลติดเชื้อฟิวิดีนครีม และยาหยอดตาฟิวซิทาลมิค ของบริษัท LEO Pharma ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเวชภัณฑ์ยาที่เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังสำหรับผู้ป่วยวิกฤตจากประเทศเดนมาร์ก มูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท ว่า จากการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม พบว่า ขณะนี้ ตัวเลขของผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางผิวหนัง ที่เกิดจากการลุยน้ำเป็นเวลานาน รวมทั้งถูกของมีคมบาด จนเป็นแผลเพิ่มขึ้นอย่างมาก ที่น่าเป็นห่วงอีกกลุ่มหนึ่ง ก็คือ ทหาร เจ้าหน้าที่ และ จิตอาสา ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นเวลานาน กำลังประสบปัญหาอย่างมาก จากโรคติดเชื้อทางผิวหนัง ซึ่งการติดเชื้อบาดแผลในลักษณะนี้ หากไม่มีการดูแลที่ดีพอ จะเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้เชื้อโรคที่มากับน้ำเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย โดยเชื้อโรคจะทำให้แผลอักเสบ เกิดการติดเชื้อและอาจลุกลามจนเป็นอันตรายร้ายแรงได้ เนื่องจากกระแสน้ำ พัดพาสิ่งสกปรก เชื้อโรค ของเสียและสารเคมีกระจายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ขณะนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ อย่างมาก

แฟ้มภาพ
       ด้านนพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้รับผิดชอบหน่วยแพทย์และรพ.สนามของกรมการแพทย์ในพื้นที่เขต กทม.กล่าวว่า แหล่งน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ก่อให้เกิดแผลติดเชื้อ ผิวหนังอักเสบ (dermatitis) น้ำกัดเท้า และโรคตาแดง ซึ่งเกิดจากการติดต่อสัมผัสโดยตรงกับน้ำ ที่น่าเป็นห่วงคือ ขณะนี้ ทหารจำนวนหลายสิบรายมีอาการติดเชื้อจากแผลน้ำกัด และแผลที่ถูกของมีคมบาด อีกทั้งในบางพื้นที่ที่น้ำท่วมสูงในระดับเอว หรือ อก พบว่า ทหารหลายรายมีอาการติดเชื้อที่บริเวณขาหนีบ อวัยวะเพศ และ บางคนมีภาวะบวมแดงติดเชื้อที่อัณฑะ ซึ่งถือว่าอันตรายมาก ที่สำคัญ ทหารเหล่านี้เหน็ดเหนื่อยกับการทำงานมานาน อาจไม่มีเวลาพักผ่อน ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ โอกาสที่จะติดเชื้อรุนแรงก็เป็นไปได้สูง ยิ่งหากไม่มีการดูแลที่ดีพอ อาจลุกลามเป็นหนองและมีไข้ร่วมด้วย
       
       ด้านนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัญหาการติดเชื้อที่บาดแผลขณะนี้ พบว่า จำนวนผู้ป่วยเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียในชั้นหนังกำพร้า โดยได้รับเชื้อมาจากผู้สัมผัส หรือจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เมื่อเกิดรอยข่วน หรือรอยถลอกที่ผิวหนัง แม้แต่เพียงเล็กน้อยก็สามารถเกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังได้ โดยเฉพาะในเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
       
       ที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ บาดแผลที่ได้รับจากการบาดเจ็บ อาจมีการติดเชื้อที่อาจจะก่อให้เกิดโรคบาดทะยัก เช่น เชื้อ Tetanus เนื่องจากบาดแผลสกปรกมากที่ผ่านมาพบได้ไม่บ่อย แต่ก็เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในช่วงที่น้ำลด อาจมีดิน โคลน หรือน้ำขังเฉอะแฉะที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อเหล่านี้ รวมทั้งแบคทีเรียเลปโตสไปรา ที่ทำให้เกิดโรคเลปโตสไปโรซีสหรือโรคฉี่หนูด้วย
       
       ด้านภก.วิรัตน์ โพธิ์ทองคำนธุ์ ผู้จัดการอาวุโสบริษัท LEO Pharma กล่าวว่า ยาที่นำมามอบให้ครั้งนี้ เป็นยาจากต่างประเทศ ที่สามารถฆ่าเชื้อจากการติดเชื้อที่ผิวหนังได้ ส่วนยาหยอดตา เป็นยาหยอดตาชนิดพิเศษ มีลักษณะเป็นเจลสำหรับใช้รักษาโรคตาแดงที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากผู้ประสบภัยต้องอยู่กับน้ำที่ไม่สะอาด อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียทีทำให้ตาแดงและตาอักเสบได้ ยาตัวนี้จะช่วยครอบผิวที่ดวงตาพร้อมกับฆ่าเชื้อได้ด้วย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    16 พฤศจิกายน 2554

6821
กระทรวงสาธารณสุขถือเป็นกระทรวงที่โชคดี แม้ว่าจะเป็นหน่วยงานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนนทบุรีซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมอย่างหนัก ซ้ำหัวน้ำยังจ่ออยู่ตรงแยกพงษ์เพชร ถนนงามวงศ์วาน แต่น้ำก็เดินทางข้ามมาไม่ถึงกระทรวง และไหลไปทางถนนวิภาวดีแทน จึงถูกเรียกเป็นพื้นที่ไข่แดง เพราะไม่ได้รับผลกระทบจากก้อนน้ำมหาศาลในครั้งนี้ ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ระยะประชิด

                ทั้งนี้แม้ว่าที่ตั้งกระทรวงสาธารณสุขจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ต้องยอมรับว่าข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขส่วนใหญ่ต่างมีบ้านเรือน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี ซึ่งส่วนใหญ่ต่างประสบปัญหาน้ำท่วมที่เข้าขั้นวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่บางบัวทอง ไทรน้อยและท่าอิฐ เป็นต้น ซึ่งต่างได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก และต่างต้องการความช่วยเหลือเบื้องต้นจากหน่วยงานต้นสังกัด ในการดูแลชีวิตเช่นเดียวกับหน่วยงานอื่น

                แต่ที่ผ่านมากลับได้ยินเสียงบ่นด้วยความน้อยใจจากข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขที่ดังเป็นเสียงเดียวกัน ถึงการไม่ได้รับความเหลียวแลและช่วยเหลือใดๆ จากกระทรวง แม้แต่การจะขอยืมเรือที่จอดไว้เฉยๆ เพื่อรอการติดตั้งเครื่องยนต์ เพียงแค่วันเดียว เพื่อเข้าไปรับพ่อแม่ที่ติดอยู่ในบ้านก็ไม่ได้รับอนุญาตให้หยิบยืม

                ไม่นับรวมกรณีถุงยังชีพและยาที่ควรได้รับ เพราะในฐานะข้าราชการชั้นผู้น้อยที่บ้านถูกน้ำท่วม ย่อมไม่แตกต่างไปจากชาวบ้านที่ประสบภัยเช่นกัน แต่กลับถูกปฏิเสธและให้ขอรับที่ศาลากลางจังหวัดแทน เช่นเดียวกับการช่วยเหลือเบื้องต้นในด้านที่พัก ทำให้ต้องวิ่งไปขอรับการช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่น

                สิ่งเหล่านี้ จึงกลายเป็นสิ่งที่บั่นทอนขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ในกระทรวงเอง เพราะเหมือนถูกหน่วยงานทอดทิ้งยามเดือดร้อน โดยเฉพาะเมื่อมีการเปรียบเทียบความช่วยเหลือพนักงานและเจ้าหน้าที่ซึ่งประสบภัยน้ำท่วมของหน่วยงานอื่นๆ

              ปัญหาที่เกิดขึ้น ... จึงน่ามาจากการบริหารจัดการ
  ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขในฐานะที่เป็นหน่วยงานดูแลงานด้านการสาธารณสุข และรักษาพยาบาลความเจ็บป่วยของประชาชน โดยเฉพาะในยามที่ช่วงประเทศเกิดภาวะวิกฤติเหตุการณ์ต่างๆ ต้องยอมรับว่า เป็นหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่นี้ได้ดี และในสถานการณ์น้ำท่วมนี้เช่นกัน ภาพที่เห็นจนชินตาผ่านทางสื่อ จึงมีทั้งการออกหน่วยแพทย์ช่วยเหลือชาวบ้าน การรักษาพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทั้งในพื้นที่น้ำท่วมและตามศูนย์อพยพ รวมไปถึงการลงพื้นที่เพื่อควบคุมโรค ที่ต่างสร้างความประทับใจให้กับชาวบ้านและได้รับเสียงชื่นชม โดยผลงานที่ปรากฏเหล่านี้ล้วนแต่ต้องใช้พลังจากคนในกระทรวงที่ต่างช่วยกันทำหน้าที่

                ดังนั้น ขวัญกำลังใจของคนในหน่วยงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ และต้องอย่าลืมที่จะดูแลกัน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 17 พฤศจิกายน 2554

6822
 ลอสแองเจลิสไทมส์ - ณ ฝั่งตรงกันข้ามกับบ้านของลุงหลี่ สิ่วฉิน ชายวัย 68 ปี ซึ่งอาศัยในหมู่บ้านซุนอี้ ที่กรุงปักกิ่งมาตลอดชีวิตนั้น เป็นที่ตั้งของสวนปลูกผัก ที่ดูผิดสังเกตพิกล มันกั้นอาณาเขตด้วยรั้วสูง 6 ฟุต ตรงปลายเป็นเหล็กแหลม มียามเฝ้าหน้าประตู และเปิดให้เฉพาะรถยนต์บางคันเข้าไป
       
       สถานที่แห่งนั้นเคยมีป้ายติดประกาศว่าเป็น “แหล่งปลูกผักของสำนักงานศุลกากรแห่งปักกิ่งและคันทรี่คลับ” จนกระทั่งเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา ป้ายก็ถูกรื้อออก หลังจากนักข่าวชาวจีนเล็ดลอดเข้าไปข้างใน และรายงานเรื่องราวเกี่ยวกับสวนผักแห่งนี้ ซึ่งผลิตอาหารด้วยวิธีการแบบเกษตรอินทรีย์ ที่ปลอดสารพิษถึงขนาด ที่สามารถเด็ดผลแตงกวาจากต้น มากินได้เลย โดยไม่ต้องนำมาล้างให้สะอาดเสียก่อน
       
       หากเป็นที่อื่นในโลก การมีสวนผักสุดยอดแบบนี้อาจเป็นเรื่อง ที่ต้องนำคุยอวดคุณสมบัติกันใหญ่โต ทว่าไม่มีสิ่งนี้เกิดขึ้นในจีน !
       
       การทำสวนเกษตรอินทรีย์บนแดนมังกรเป็นเรื่อง ที่ต้องเหยียบเอาไว้ อย่าแพร่งพรายเป็นอันขาด เพราะผลผลิต ซึ่งสุดแสนจะสะอาด และปลอดภัยที่สุดเหล่านี้ สุดท้ายปลายทางของมันก็คืออยู่บนโต๊ะอาหารของพวกคนร่ำรวย และเจ้าหน้าที่ของรัฐ
       
       "สวนนี่สำหรับพวกเจ้าหน้าที่เท่านั้นแหละคุณ เขาปลูกผักปลอดสารพิษ พริกเอย หอมหัวใหญ่เอย ถั่ว ดอกกะหล่ำ แต่ไม่ขายให้ประชาชนหรอก" ลุงหลี่เล่าให้ฟัง
       
       " ชาวบ้านธรรมดาอย่าหวังได้เข้าไปเล้ย" แกว่า
       
       บริษัทผู้ผลิตอาหาร ที่ดีที่สุดหลายรายของจีนก็ไม่เผยแพร่โฆษณา เพราะไม่ต้องการให้สาธารณชนรู้ว่าผลผลิต ที่มีจำกัดนี้ ถูกส่งไปให้เจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ ส่งไปยังห้องรับประทานอาหารของนักกีฬาชั้นยอด นักการทูตต่างชาติ และคนระดับบนพวกอื่น ๆ
       
       ส่วนประชาชนทั่วไปกินอาหาร ซึ่งนับวันมีแต่สารปนเปื้อนเพิ่มขึ้น หรือถูกสุขอนามัยน้อยลง เช่น เนื้อสัตว์เจือสารสเตียรอยด์ ปลาจากบ่อ ที่ใส่ฮอร์โมนกระตุ้นให้โตไว ๆ หรือนมปนเปื้อนสารเมลามีน
       
       "พวกเจ้าหน้าที่รัฐไม่สนหรอกว่า ชาวบ้านทั่วไปกินอะไร เพราะเขากับครอบครัวมีอาหาร ที่ผลิตป้อนให้เป็นพิเศษเฉพาะ" นายเกา จื้อหยง ซึ่งทำงานกับบริษัทผลิตอาหาร ซึ่งเป็นของรัฐ และเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ ระบุ
       
       ในเมืองจีนนั้น การจัดส่งเสบียงอาหาร ซึ่งทำขึ้นเป็นพิเศษเฉพาะ มีมาตั้งแต่ยุคต้น ๆ ในสมัยการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ และมีหน่วยผลิตอาหาร คอยจัดสรรให้ตามฐานะตำแหน่ง
       
       "พวกผู้นำต้องการให้แน่ใจว่าพวกเขามีอาหารกินเพียงพอ และอาหารไม่ถูกใส่ยาพิษ" นายเกาอธิบาย
       
       ในหนังสือชีวประวัติของท่านประธานเหมา เจ๋อตง ซึ่งแต่งโดยนายแพทย์ประจำตัวของเขาเล่าว่า ในช่วงทศวรรษ 1950 ที่ปรึกษาชาวโซเวียตได้ช่วยจีนจัดตั้งแผนกจัดส่งอาหาร โดยมีเครื่องไม้เครื่องมือตรวจตราความปลอดภัยพร้อมสรรพสำหรับพวกผู้นำ
       
       การปันส่วนอาหารสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับล่าง มีการแบ่งระดับของเจ้าหน้าที่ออกเป็น 25 ระดับ คุณภาพและปริมาณอาหารในการปันส่วนก็ลดหลั่นกันไปตามระดับ
       
       ครั้นมาถึงยุคปัจจุบัน ระบบการส่งป้อนอาหารพิเศษเฉพาะสำหรับชนชั้นสูงแดนมังกรเกิดขึ้นในสภาพการณ์ ที่สิ่งแวดล้อมกำลังเสื่อมโทรม และการผลิตอาหารปลอดสารพิษมีอย่างจำกัด
       
       Phelim Kine เจ้าหน้าที่ของกลุ่มฮิวแมน ไรตส ว็อตช์ ประจำฮ่องกงระบุว่า มีคนกลุ่มเดียวในสังคมจีนที่ได้กินอาหาร ที่เชื่อถือได้ว่าปลอดภัยก็คือพวกเจ้าหน้าที่ในพรรคคอมมิวนิสต์
       
       ในกรุงปักกิ่ง ฟาร์มผลิตอาหารจำหน่ายสำหรับลูกค้ากลุ่มพิเศษนั้นตั้งอยู่ใกล้กับสนามบิน ซึ่งเป็นละแวกอาศัยขอชาวต่างชาติ ที่ร่ำรวย มีโรงเรียนนานาชาติตั้งอยู่หลายแห่ง ส่วนทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเป็นย่านผู้คนอาศัยแออัด เหม็นกลิ่นควันพิษ และการจราจรบนท้องถนนจอแจคับคั่ง
       
       ตรงเชิงเขาทางด้านตะวันตกเป็นที่ตั้งของฟาร์มจี้ซาน ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีปลูกพืชผักป้อนให้แก่ห้องครัวส่วนตัวของท่านประธานเหมา ปัจจุบัน ยังดำเนินการภายใต้การอุปถัมภ์ของแคปปิตอลอะกริบิสซิเนส กรุ๊ป ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่จัดหาอาหารสำหรับการประชุมต่าง ๆ ในระดับชาติ
       
       ด้านคณะรัฐมนตรีของจีนเองก็มีผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารส่งให้โดยเฉพาะ ตั้งแต่อาหารชนิด ที่มีราคาแพง ไปจนถึงอาหารประเภทไข่เป็ดเค็ม
       
       โฆษกของบริษัทเว่ยซานหูโลตัสฟู้ด ในมณฑลชานตงระบุว่า ทางบริษัทจัดส่งอาหารให้คณะรัฐมนตรีมานานเกือบ 20 ปีแล้ว
       
       "ผลิตภัณฑ์ของเราหาซื้อในร้านซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปไม่ได้ เพราะปริมาณการผลิตของเราน้อยมาก" โฆษกเปิดเผย
       
       นอกจากนั้น เกษตรกร ซึ่งทำฟาร์มแบบเกษตรอินทรีย์หลายรายยังถูกกดดันให้จำหน่ายผลผลิต ที่มีจำกัดของตนให้แก่ทางการ
       
       "รัฐบาลอยากให้เราป้อนผลผลิตให้แก่เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐมากขึ้น แต่เราคิดว่าการที่ผู้คนทั่วไปจะได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ของเราก็เป็นเรื่องที่สำคัญ" นายหวัง จ้านหลี่ เจ้าของโรงผลิตนมโคเกษตรอินทรีย์ "กรีน ยาร์ด" ซึ่งได้รับประกาศนียบัตรรับรองเมื่อปี 2549 ตั้งอยู่ในย่านหยานชิงของกรุงปักกิ่งกล่าวในตอนท้าย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    16 พฤศจิกายน 2554

6823
สำรวจ โครงสร้างโรงพยาบาล "เฉพาะกิจ" เพื่อคอยดูแลสุขภาพของผู้ประสบภัย ทั้ง หมอ พยาบาล อาจารย์ และนักศึกษา ต่างช่วยกัน "รันระบบ" ให้ไม่แพ้โรงพยาบาลจริงๆ ที่จมน้ำอยู่

ความเคลื่อนไหวของผู้คนกว่าครึ่งพัน ทำให้ "บริเวณ" ของอาคารกองกิจการนักศึกษา ในรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ดูเล็กลงไปถนัดตา

นับตั้งแต่ที่นี่ประกาศตัวเป็น "ศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัย" เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2554 จนมาถึงวันนี้ ก็ยังมีผู้คนเดินทางเข้ามา "หลบน้ำ" อย่างต่อเนื่อง

ทั้ง "บ้านใกล้" อย่าง อ.บางเลน อ.นครชัยศรี หรือ "เรือนเคียง" จากฝั่งธนฯ กรุงเทพฯ และปทุมธานี

อาคาร 4 ชั้น กินพื้นที่ไปถึงสนามหญ้า ลานดินโดยรอบถูก "ใช้สอย" และ "แบ่งส่วน" สำหรับรองรับการใช้ชีวิตของผู้ประสบภัย แบบ "ครบวงจร" ไม่ว่าจะเป็น ที่กิน ที่อยู่ ศูนย์ประสานงาน รวมไปถึงกิจกรรมจากหน่วยงาน และภาคส่วนต่างๆ ที่ระดมมาช่วยเหลือ

ทำให้ 624 ชีวิตของผู้ประสบภัย (ยอดวันที่ 14 พฤศจิกายน 2554) เมื่อบวกกับ อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ มีสภาพไม่ต่างอะไรกับชุมชนขนาดย่อม

จนล่าสุด ภายในศูนย์พักพิงได้เปิด "โรงพยาบาลสนาม" ขึ้นมา เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ต้องอาศัย "เรือนนอน" และ "บุคลากรทางการแพทย์" หลังจากเปิดพื้นที่ช่วยเหลือมายังไม่เต็มเดือนดี

    โมเดล "30 เตียง"

ด้วยสภาพร่างกายที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวยในการเดินทางสักเท่าไหร่อยู่แล้ว เมื่อถูกอาการเส้นเลือดในสมองตีบทำให้ร่างกายซีกซ้ายใช้การไม่ได้ "เล่นงาน" เข้าไปอีก ทำให้ชีวิตของ วิไลวรรณ รุ่งโรจน์ ในวัย 77 ปี ค่อนข้างลำบากพอสมควร

ทางครอบครัวจึงตัดสินใจ ส่งตัว "คุณยาย" จากบ้านใน ซอยวัดดงมูลเหล็ก บางกอกน้อย เข้ารักษาตัวที่ โรงพยาบาลศิริราช ก่อนจะมาพักฟื้นต่อยัง ศูนย์ภูมิบำบัดราชพฤกษ์ ตลิ่งชัน เมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา

เมื่อตลิ่งชัน "จมน้ำ" เธอจึงกลายเป็นผู้ประสบภัยไปโดยปริยาย และถูก "ส่งต่อ" มาที่นี่ พร้อมๆ กับผู้ป่วยจากสถานพยาบาลอื่นๆ ในละแวกพื้นที่ใกล้เคียง

โรงพยาบาลสนาม เกิดขึ้นจากการประสานงานของ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) กับมหาวิทยาลัยที่ต้องการ "พื้นที่" สำหรับรองรับผู้ป่วยจากสถานพยาบาลที่ถูกมวลน้ำ "เล่นงาน" อยู่ในขณะนี้

"จริงๆ เราทำก่อนหน้านั้นอยู่แล้วค่ะ" ผศ.ดร.หทัยชนก บัวเจริญ หรือ "อาจารย์นก" อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ ที่รั้งตำแหน่งผู้ดูแลระบบบริการโรงพยาบาลสนามเท้าความ

ที่ทำอยู่ก่อน... ในความหมายของเธอก็คือ การดูแลผู้ป่วยที่เป็นผู้พักพิง ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ใช้พื้นที่ชั้น 2 ของอาคารจัดเป็นส่วนพยาบาล นอกจากห้องพยาบาลใต้ถุนอาคารที่เป็นฐานหลักในการดูแลผู้อพยพ และมีอาสาสมัครนักศึกษาพยาบาลของมหาวิทยาลัยมาช่วย

"เราจัดเซ็ตการปฐมพยาบาลเบื้องต้น (First aid) ให้ อย่างผู้ป่วยอัมพฤกษ์ของ 2 ครอบครัวที่เป็นผู้พักพิง เอาหนังสือมาให้ จัดเวรเด็กให้มาเยี่ยม วัดความดัน คอยแวะมาพูดคุย"

หลังจากผู้ป่วยเริ่มมีปริมาณมากขึ้น จนทาง สสจ. แสดงความจำนงอยากใช้พื้นที่ตั้งเป็นที่พักผู้ป่วยขนาด 30 เตียง ระบบ "โรงพยาบาลสนาม" จึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยได้อาคารห้องสมุดของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ที่เพิ่งสร้างใหม่มาปรับเป็น "อาคารพยาบาล" หรือ "เรือนนอน"

ส่วน อุปกรณ์ หรือเวชภัณฑ์ต่างๆ นอกจากที่คณะฯ นำมาใช้เอง และขอรับบริจาคแล้ว ทาง สสจ.ก็ยังส่งมาช่วยเพิ่มเติมโดยเฉพาะ ทีมพยาบาลวิชาชีพ และแพทย์ ทั้งจากโรงพยาบาลในนครปฐมเอง และโรงพยาบาลชุมชน จากราชบุรี ซึ่งประสานงานผ่านโรงพยาบาลศูนย์นครปฐมเป็นแม่ข่าย โดยใช้ระบบเดียวกับการควบคุมโรค หรือติดเชื้อในโรงพยาบาลเป็นมาตรฐาน ทั้งการแยกถังขยะติดเชื้อ จัดเรื่องการล้างมือ เรื่องอุปกรณ์ เรื่องดูแลผู้ป่วย เป็นต้น

บทบาทหลักของตัวโรงพยาบาลที่ถูกวางไว้ก็คือ การเป็นที่พักพิง-ส่งต่อในกรณีที่ แพทย์เห็นว่า "ตึงมือ"

"ถ้าหายใจเองไม่ได้ ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ เราจะไม่รับ" อาจารย์นก ยกตัวอย่าง

หรือกรณี ต้องฉีดยาติดต่อกัน มีอาการติดเชื้อรุนแรง และแพร่กระจายเชื้อกับคนอื่น อย่าง วัณโรคปอด ตลอดจน กรณีที่มีอาการทางจิตประสาท ก่อกวนคนอื่น ทางโรงพยาบาลแห่งนี้ก็ต้อง "ขอผ่าน"

แต่คนไข้ทั้ง 26 คน ที่ประจำเตียงอยู่วันนี้ ก็มีตั้งแต่ภาวะติดเชื้อเรื้อรัง เส้นเลือดในสมองแตก เบาหวาน ความดัน หรือเคสที่ต้องรับยาต่อเนื่อง และคนไข้โรคจิต-ประสาทที่มีอยู่ แน่นอนว่าไม่ได้เบากว่าเคสที่ปฏิเสธไปสักเท่าไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง.. "ผู้สูงอายุทั้งนั้นค่ะ" เธอบอก

    พยาบาล "ลูกผสม"

"เพราะเราไม่มีคนดูแล มีแต่นักศึกษาที่ประสบการณ์ยังไม่ถึง เด็กปี 2 เราเรื่องการพยาบาลยังไม่ได้ ได้แค่พื้นฐานดูแล ความสุขสบายทั่วไป" นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมพยาบาลที่ประจำอยู่ในส่วนนี้ จึงหน้า "ละอ่อน" กันส่วนใหญ่
 ด้วยความเป็นคณะเปิดใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ปีที่ 2 ของการศึกษา นักศึกษายังไม่เคยผ่านภาคปฏิบัติมาก่อน แต่สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ว่าที่พยาบาลทั้ง 54 คน ได้ลองลง "สนามจริง" ไปโดยปริยาย

"กลัว แถมเกร็งด้วยค่ะ" เป็นคำสารภาพของ อาย - ภัสราภรณ์ สมบุตร นักศึกษาพยาบาลปี 2 หนึ่งในพยาบาลจำเป็นที่มารับหน้าเสื่อครั้งนี้

ขณะที่ อะตอม - วิทย์วุฒิ จันทร์กระแจะ นักศึกษาพยาบาลร่วมห้องอีกคน มองว่าเป็นอะไรที่ต่างจากตำราอย่างสิ้นเชิง

"ตอนเรียนจะมีขั้นตอนค่อนข้างซับซ้อนอยู่แล้ว แต่ก็ฝึกกับหุ่น แต่พอมาเจอคนจริงๆ เขาเคลื่อนไหวตัวเองได้ ซึ่งก็ทำให้เป็นอุปสรรค บางคนก็มีโลกส่วนตัว บางเคสก็ต้องรีบทำแข่งกับเวลาก็มี ต้องปรับเฉพาะหน้าเยอะครับ" เขาแบ่งปันประสบการณ์

ทั้งอาย อะตอม และเพื่อนๆ ถูกเรียกตัวกลับระหว่างปิดภาคเรียน ภายหลังจากที่ โรงพยาบาลสนามเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 โดยก่อนหน้านั้น จะเป็นการ "ขอแรง" ช่วยดูแลผู้อพยพในศูนย์พักพิงฯ มากกว่า

"นักศึกษาเราทั้ง 2 ชั้นปี มีทั้งหมด 99 คน แต่เรียกกลับมาได้ 54 คน เพราะที่เหลือติดน้ำท่วม" อาจารย์นกเสริม
 แน่นอนว่า การเรียกกลับมานอกจากจะช่วย "ผ่อนแรง" ทีมพยาบาลวิชาชีพที่ถูกส่งมาประจำแล้ว "หน้างาน" ตรงนี้ยังถูกปรับให้กลายเป็น "วิชาเรียน" ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับตัวนักศึกษาเองก่อนลงปฏิบัติจริงอีกด้วย

"นอกจากเราบริการสังคมแล้ว เราก็ขอเรียนรู้จากสังคมด้วย" รศ.ดร.สุนุตตรา ตะบูนพงศ์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มองถึง "โอกาส" ใน "วิกฤติ" คราวนี้

ลักษณะการทำงานภายในอาคารโรงพยาบาลสนามจึงเป็นแบบ "คู่ขนาน" ที่นอกจากจะมีพยาบาลวิชาชีพประจำเวรตั้งแต่ 7.00 - 19.00 น. และ 19.00 - 7.00 น.ตามปกติแล้ว ยังมี "เวรเด็ก" ที่ทำงานล้อกันไปด้วย

"แต่เด็กจะอยู่แค่ 4 ทุ่มค่ะ คือ เวรเช้า 7.00 -15.00 เวรเย็น 15.00-22.00 ถือเป็นฝึกปฏิบัติเลย มีอาจารย์เข้ามาดูแล" ผู้ดูแลระบบโรงพยาบาลคนเดิมอธิบาย

ที่สำคัญ ถึงพยาบาลจะมีนักศึกษาเป็นส่วนผสม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ "มาตรฐาน" โรงพยาบาลตกลงแต่อย่างใด

"ไม่แตกต่างค่ะ" วาสนา ภูมิชัยศรี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลพุทธมณฑล หนึ่งในทีมพยาบาลที่มารับหน้าที่ระหว่างโรงพยาบาลต้นสังกัดกำลังจมน้ำยืนยัน เพราะความพร้อมด้านสถานที่ และอุปกรณ์จะไม่เท่าโรงพยาบาล แต่ก็ต้องปรับให้ได้มาตรฐานเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นโซนสะอาด หรือโซนติดเชื้อ

"อย่างน้อยคนไข้ที่มาอยู่ที่นี่ก็ต้องไม่ติดเชื้อเพิ่ม" เธอบอก

    "อาสา" พยุงระบบ

การมีโรงพยาบาลภาคสนาม ทำให้ภายในศูนย์พักพิงแบ่งระบบการดูแลออกเป็น 2 ส่วน คือ โซนศูนย์พักพิง และโซนเรือนนอน เพื่อให้การดูแลด้านสาธารณสุขเป็นไปอย่างทั่วถึง

เมื่อศักยภาพการดูแลเพิ่ม ปริมาณคน และปริมาณของ ย่อมเพิ่มตามไปโดยปริยาย บุคลากร เวชภัณฑ์ และการประสานงาน จึงถือเป็นปัญหาแรกๆ ที่อาจารย์นกในฐานะผู้ดูแลระบบต้องเจอ

วันนี้ แม้ทางศูนย์จะได้กำลังจาก นพ.พนมพันธ์ ศิริวัฒนานุกูล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คุณหมออีกคนที่ "ตกงาน" เพราะน้ำท่วมโรงพยาบาล มาช่วยนั่งประจำห้องตรวจให้

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ทุกอย่าง "เสถียร" ขึ้น

"ปกติทาง สสจ.ก็จะหาแพทย์มา จาก รพ.พุทธมณฑล และรพ.นครปฐม มาตรวจทุกวัน แต่ตอนนี้ระบบยังไม่นิ่ง เขาก็เลยมาบางวัน บางเวลา แต่ก็มีมาทุกวัน" เธอบอก

ปริมาณเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์สนับสนุนต่างๆ ก็ยังเป็นปัญหาอยู่

"อุปกรณ์อะไรขาด ถ้าที่คณะมีก็มาหนุนเสริม ในช่วงแรก ของขาด ขอบริจาค ก็อาจารย์ และนักศึกษานี่แหละค่ะ ไปขอในตลาดองค์พระ เราก็ทำลิสต์รายการเวชภัณฑ์ รายการยา พ่อค้าแม่ค้า คนเดินตลาดก็ให้มาเยอะ ทั้งยา ผ้าถุง ผ้าปูเตียง ผ้าอ้อม ยาพื้นฐาน ก็ได้มา"

ยังไม่นับเรื่องการบริหารจัดการคนไข้ อาทิ บางกรณีที่พยาบาลไม่สามารถจ่ายยาเองได้ ก็พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการส่งต่อไปยังโรงพยาบาล หรือไม่ก็เจียดเวลาหมอให้เข้ามาตรวจรักษา ซึ่งทั้งหมด เป็นสถานการณ์ที่ต้องแก้แบบ "วันต่อวัน" มากกว่า

"เฉพาะหน้ามากค่ะ" เธอยืนยัน

และ "ค่าใช้จ่าย" ที่เป็น "ปัญหาคลาสสิก" ตลอดเวลา

ภาระกว่า 20,000 บาทต่อวัน เฉพาะค่ายา ค่าอุปกรณ์ ไม่ได้นับค่าน้ำค่าไฟ หรือค่าแรงที่ส่วนใหญ่เป็นจิตอาสา ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า

..ส่วนนี้ ใครจ่าย ?

"ต้องทำใจนะ เพราะหน่วยราชการเรารู้ว่าทำงานยังไง" ผศ.สมเดช นิลพันธุ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม บอกเอาไว้ตั้งแต่วันแรกๆ ที่ตัดสินใจรับทำเรื่องโรงพยาบาลสนาม

สิ่งที่เขาวางแผนเอาไว้ก็คือ "ควักเนื้อ" การขออนุมัติงบประมาณจากสภามหาวิทยาลัยไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินการของโรงพยาบาล หากไม่มีหน่วยงานใดแสดงความรับผิดชอบ ตลอดระยะเวลาประมาณการ 2 เดือนเพื่อรอน้ำลด

"ตอนนี้โชคดีที่เรายังไม่ได้ใช้เงินมหาวิทยาลัย วันนี้เรายังมีเงินบริจาคที่บริจาคเข้ามา ยาก็องค์การเภสัชกรรม มีบางส่วนที่ซื้อบ้าง ที่จำเป็นจริงๆ ก็ใช้เงินบริจาคจัดหามา ใช้หน้าเสื่อตรงนี้  ได้มาใช้ไป จนท้ายสุด โอเค ไม่มีใครบริจาคแล้ว จึงเอาเงินที่มีอยู่มาใช้  เพราะการทำงานในมหาวิทยาลัยบางคนก็เห็นด้วย บางคนก็ไม่เห็นด้วย ต้องระมัดระวังเรื่องการใช้เงินตรงนี้เหมือนกัน"

ความระมัดระวังที่ ผศ.สมเดชพูดถึงก็คือ การตรวจสอบการใช้เงิน เพราะถึงแม้จะเห็นว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชนจริงๆ แต่ด้วยระบบราชการ "การใช้เงินผิดวัตถุประสงค์" ก็อาจทำให้ ถูกตีความว่า "ทุจริต" ก็ได้

อย่างไรก็ตาม ภาพการดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ของบรรดาอาสาสมัครพยาบาล ก็ทำให้บรรยากาศในโรงพยาบาลเฉพาะกิจแห่งนี้ เต็มไปด้วยชีวิตชีวา และเป็นยาบำรุงกำลังใจขนานเอกให้ผู้ประสบภัยสามารถยิ้มสู้ปัญหาผ่านไปได้อย่างดีอีกด้วย

"เหยียบไว้นะ หลานๆ เขาดูแลดีกว่าบางโรงพยาบาลที่เคยไปอีก" เสียงยายวิไลวรรณกระซิบกระซาบด้วยรอยยิ้ม

---------------
ส่งน้ำใจให้โรงพยาบาลสนาม

ผู้ที่ต้องการสนับสนุนศูนย์พักพิง และโรงพยาบาลสนามของ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม สามารถบริจาคได้ที่ บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขามหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม เลขที่ 980-6-68225-4 โครงการมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมร่วมใจต้นภัยน้ำท่วมและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

รายการสิ่งของที่ต้องการับบริจาค : ผงซักฟอกแบบห่อ 10 บาท, แปรงสี, ขวดนม, ผ้าอ้อมสำเร็จรูปผู้ใหญ่ ไซค์ใหญ่ กลาง, เจลล้างมือ, เชือกตากผ้า, แป้ง, หมอนผ้าห่ม, ชุดชั้นใน, ผ้าถุง, เสื้อผ้า, รองเท้า, น้ำยาซักผ้าเด็ก, แปรงล้างขวดนม, โลชั่นทาผิวแบบซอง, แปรงซักผ้า, พริกไทย, น้ำมันพืช, พริกแกงทุกชนิด, ซอสมะเขือเทศ, ซอสหอยนางรม, หมูบด, ไก่สับ, ต้นหอม, ผักชี, หอมแดง, ซี้อิ๋วดำ, กะปิ, กระเทียม, น้ำตาลปีบ, น้ำตาลทราย

โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี
กรุงเทพธุรกิจ 16 พฤศจิกายน 2554

6824
เมเปิลครอฟต์ บริษัทวิเคราะห์ความเสี่ยงและจัดทำแผนที่ของอังกฤษ ดำเนินการศึกษา 193 ประเทศทั่วโลก

ระบุว่า ประเทศและเมืองขนาดใหญ่ในทวีปเอเชียและแอฟริกามีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะต้องเผชิญกับอิทธิพลของสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาไม่กี่ปีข้างหน้านี้

ขณะที่ระบุว่าประเทศไอซ์แลนด์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดในโลก

เมเปิลครอฟต์ได้จัดอันดับประเทศไทยเสี่ยงภัยพิบัติธรรมชาติ 10 อันดับ

1 เฮติ 2 บังกลาเทศ 3 ซิมบับเว 4 เซียร์ราลีโอน 5 มาดากัสการ์ 6 กัมพูชา 7 โมซัมบิก 8 คองโก 9 มาลาวี 10 ฟิลิปปินส์

และไทยอยู่อันดับที่ 37

รายงานบอกด้วยว่า หลายประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรเกิน 10 ล้านคน จะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมากที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล อุทกภัย พายุหรือภัยแล้ง

ในภูมิภาคอาเซียนมี 2 ประเทศที่ติด 10 อันดับแรกของโลก ได้แก่ กัมพูชาอันดับ 6 ฟิลิปปินส์อันดับ 10

ในส่วนของประเทศไทยซึ่งรั้งอันดับที่ 37 ผลการศึกษาระบุว่าเป็นอีกประเทศเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว และกำลังเผชิญกับภัยพิบัติครั้งรุนแรงซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

ขณะเดียวกัน เมเปิลครอฟต์ศึกษามหานครที่ขยายตัวรวดเร็วที่สุดในโลก 20 แห่ง ระบุกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศเป็นเมืองที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด

ขณะที่กรุงเทพมหานครอยู่ในกลุ่มเมืองที่มีความเสี่ยงระดับสูง

ที่มา : โพสต์ทูเดย์, 27 ตุลาคม 2554

6825
    เมื่อเวลา 01.30 น.เจ้าหน้าที่วิทยุ สภ.หลังสวน จ.ชุมพร รับแจ้งจาก รพ.หลังสวนว่า มีผู้ป่วยจะกระโดดสะพานลอยคนข้ามถนนเพื่อฆ่าตัวตาย จึงแจ้งตำรวจสายตรวจรถยนต์ พร้อมด้วยหน่วยกู้ภัยสมาคมพุทธประทีปหลังสวน นำกำลังไปยังที่เกิดเหตุ บริเวณกลางสะพานลอยคนข้ามถนนหน้า รพ.หลังสวน หมู่ที่ 4 ต.วังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร บนถนนสายเอเซีย41 ท่ามกลางความมืดมีเพียงไฟสลัวๆข้างถนนเท่านั้น พบนางปราณี จันทมา อายุ 28 ปี ทราบเพียงแต่ว่าบ้านเดิม อยู่ จ.หนองคาย กำลังยืนร้องไห้ สายตาเหม่อลอยทำท่าจะปีนราวสะพาน เจ้าหน้าที่จึงต้องพยายามพูดเกลี้ยกล่อม จนนางปราณี ยอมเดินลงจากสะพานลอยกลับเข้าไปใน รพ.หลังสวน
    จากการสอบถามนายสมศักดิ์ รื่นรมย์ อายุ 41 ปี บ้านเลขที่ 181 หมู่ที่ 6 ต.น้ำเป็น อ.เขาชะเมา จ.ระยอง อาชีพรับจ้าง สามีของนางปราณี ได้การว่า ในช่วงหัวค่ำ นางปราณีได้ใช้ผ้าเช็ดตัว และ ผ้าถุงต่อกัน แล้วแขวนคอตายในห้องน้ำในบ้านพัก แต่นายสมศักดิ์ไปพบเสียก่อน จึงช่วยนำส่ง รพ.หลังสวนในสภาพหายใจรวยริน แพทย์ต้องปั้มหัวใจ จนฟื้นขึ้นมาและให้นอนดูอาการในห้องผู้ป่วย ในจังหวะที่ไม่มีใครสังเกตุ นางปราณีได้หนีออกจากห้องผู้ป่วยเดินลัดเลาะท่ามกลางความมืดไปยัง สะพานลอยคนข้ามถนนหน้า รพ.หลังสวน นายสมศักดิ์จึงแจ้ง จนท.รักษาความปลอดภัยของ รพ.หลังสวนช่วยค้นหาจนพบว่า กำลังจะกระโดดสะพานลอยฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ยังได้เขียนหนังสือลาตาย ระบุถึงความไม่ดีของตัวเองที่ไม่รักลูก และ ความรักที่ไม่ประสบความสำเร็จ
    นายสมศักดิ์ ยังเล่าอีกว่า นางปราณีเคยมีสามีและมีลูกด้วยกัน 1 คนมาก่อนแต่ได้เลิกรากันและได้มาอยู่กินกับนายสมศักดิ์กระทั่งมีลูกด้วยกัน 1 คน แต่เมื่อไม่นานเพิ่งทราบว่านายสมศักดิ์ ซึ่งมีภรรยาอยู่ที่ จ.ระยองอีกคนทำให้นางปราณีเครียดและพยายามฆ่าตัวตาย

เนชั่นทันข่าว 16 พย. 2554

หน้า: 1 ... 453 454 [455] 456 457 ... 537