ผู้เขียน หัวข้อ: จิตวิทยา จุฬาฯ เผยคนไทยนิยม “ศัลยกรรม” เพิ่มความสมบูรณ์แบบ  (อ่าน 1416 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
 ปัจจุบัน “ศัลยกรรมเสริมความงาม” ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ศัลยกรรมเสริมความงามยังเป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับความสนใจอย่างสูงทั้งในวงการแพทย์ จิตวิทยา และสังคมวิทยา ว่า เพราะเหตุใดศัลยกรรมเสริมความงามจึงมีกระแสความนิยมสูงมากในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา

       จากผลงานวิทยานิพนธ์เรื่อง “อิทธิพลของความนิยมความสมบูรณ์แบบต่อเจตคติในการทำศัลยกรรมเสริมความงาม โดยมีการนำเสนอตนเองด้วยความสมบูรณ์แบบและการซึมซับจากวัฒนธรรมสังคมเป็นตัวแปรส่งผ่าน” โดย อ.กมลกานต์ จีนช้าง สาขาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประเภทนิสิตมหาบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2554 เป็นงานวิจัยเชิงประยุกต์ที่ศึกษาถึงสาเหตุการเลือกใช้ศัลยกรรมเสริมความงามเป็นวิธีการปรับปรุงรูปลักษณ์ของผู้หญิงไทย เนื่องจากในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา การทำศัลยกรรมเสริมความงามเป็นที่นิยมมากขึ้นในหลายประเทศ และเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราทั้งเพศหญิงและเพศชาย จากการศึกษาวิจัยทางจิตวิทยาพบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ศัลยกรรมเสริมความงามได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเนื่องจากความไม่พึงพอใจในรูปลักษณ์ของตนเอง จึงต้องการจะเปลี่ยนแปลงให้รูปร่างหน้าตาดูดียิ่งขึ้น หลายคนมักจะหมกมุ่นกับเรื่องความงามและรูปร่างหน้าตาเป็นสำคัญ
       
        "ผู้ที่มีลักษณะวัตถุนิยมสูงและมีแนวโน้มในการมองร่างกายเป็นเสมือนวัตถุ การทำร่างกายให้ดูดีโดดเด่นด้วยการทำศัลยกรรม ทำให้ตนเองรู้สึกว่ามีคุณค่าและความภาคภูมิใจ นอกจากนี้ ปัจจัยทางสังคม ได้แก่ กระแสสังคมยุคปัจจุบันที่นิยมชมชอบดารานักแสดงที่มีหน้าตาสวยงาม ซึ่งยอมรับว่า ผ่านการทำศัลยกรรมเสริมความงามมาแล้ว ทำให้คนบางกลุ่ม เช่น วัยรุ่นยอมรับค่านิยมในเรื่องความสวยเหมือนดารา และมองว่า การทำศัลยกรรมไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด แต่กลับช่วยทำให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ปัจจุบันกลุ่มคนที่ทำศัลยกรรมเสริมความงามจึงไม่ใช่เฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยเท่านั้น”
       
       ในงานวิจัยเรื่องนี้ อ.กมลกานต์ ได้เลือกศึกษาปัจจัยทางจิตวิทยาที่อาจเป็นสาเหตุให้บุคคลเลือกทำศัลยกรรมเสริมความงามใน 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยภายใน คือ ความนิยมความสมบูรณ์แบบ การนำเสนอตนเองด้วยความสมบูรณ์แบบ และปัจจัยภายนอก คือ การซึมซับค่านิยมทางวัฒนธรรมสังคม กลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษาวิจัยเป็นนิสิตนักศึกษาหญิงในมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน จำนวน 635 คน ในการวิเคราะห์ข้อมูล มีการใช้โมเดลสมการเชิงโครงสร้างในการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งสามารถอธิบายผลการวิจัยได้อย่างแม่นยำ ผลการศึกษาวิจัย พบว่า ปัจจัยในเรื่องความนิยมความสมบูรณ์แบบอาจไม่มีอิทธิพลโดยตรงต่อเจตคติในการทำศัลยกรรมเสริมความงาม แต่สิ่งที่พบ คือ ผู้ที่นิยมความสมบูรณ์แบบและชอบที่จะนำเสนอตนเองจะมีเจตคติทางบวกต่อการทำศัลยกรรม การนำเสนอตนเองจึงมีอิทธิพลส่งผ่านระหว่างความนิยมความสมบูรณ์แบบกับเจตคติในการทำศัลยกรรมเสริมความงาม ในขณะเดียวกัน ปัจจัยภายนอกทางด้านการซึมซับค่านิยมทางวัฒนธรรมสังคมมีอิทธิพลค่อนข้างมากต่อเจตคติในการทำศัลยกรรมเสริมความงาม
       
       ทั้งนี้ อ.กมลกานต์ ยังได้พัฒนามาตรวัดลักษณะความนิยมความสมบูรณ์แบบที่มีองค์ประกอบที่เหมาะสำหรับนำมาใช้ศึกษาเรื่องรูปร่างหน้าตา ความงาม และลักษณะอื่นๆที่สัมพันธ์กับความนิยมความสมบูรณ์แบบ ซึ่งแตกต่างไปจากมาตรวัดความนิยมความสมบูรณ์แบบอื่นๆก่อนหน้านี้ที่อาจไม่เหมาะที่จะนำมาศึกษาวิจัยร่วมกับตัวแปรความงามเรื่องรูปร่างหน้าตา นอกจากนี้ยังได้พัฒนามาตรวัดการนำเสนอตนเองด้วยความสมบูรณ์แบบ มาตรวัดการซึมซับจากวัฒนธรรมสังคม และมาตรวัดเจตคติในการทำศัลยกรรมเสริมความงาม เพื่อใช้กับบริบทสังคมไทย
       
       อ.กมลกานต์ ได้ให้ข้อเสนอแนะสำหรับเด็กวัยรุ่นที่มักมองว่ารูปลักษณ์ภายนอกที่งดงามเป็นดัชนีชี้วัดการยอมรับและการชื่นชมจากผู้อื่น สิ่งที่ควรตระหนัก ก็คือ “คุณค่าของคนเราไม่ได้อยู่ที่ความสวยความงาม รูปลักษณ์หน้าตาภายนอกเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าภายใน เช่น ความสามารถของบุคคลซึ่งมีความสำคัญมากกว่า” นอกจากนี้ ผู้ที่ผ่านการทำศัลยกรรมมาแล้วหลายครั้งเสมือนเป็นผู้เสพติดศัลยกรรม ทำให้ผู้ที่ทำศัลยกรรมความงามบางรายมีหน้าตาที่ดูไม่เป็นธรรมชาติ การแก้ไขให้กลับมาเหมือนเดิมจะเป็นไปได้ยาก อยากให้ตระหนักว่าไม่มีศัลยกรรมประเภทไหนที่สามารถสร้างคนให้สวยงามได้เต็มร้อย สำหรับสิ่งที่อาจารย์จะศึกษาวิจัยต่อยอดในอนาคต คือ การศึกษาเรื่องลักษณะวัตถุนิยมกับผลที่มีต่อความสนใจการทำศัลยกรรมเสริมความงามมากขึ้น
       
       นอกจากนี้ ควรมีการศึกษาเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างที่มาจากมหาวิทยาลัยต่างๆกันถึงเจตคติในการทำศัลยกรรมที่มีความแตกต่างกันไป โดยกลุ่มตัวอย่างในสังกัดมหาวิทยาลัยเอกชนมีค่านิยมในการซึมซับเรื่องศัลยกรรมเสริมความงามมากกว่า

ASTVผู้จัดการออนไลน์    3 มิถุนายน 2555