ผู้เขียน หัวข้อ: ชีวิตอนาถาของ "อังรี ดูนังต์" ผู้ก่อตั้งกาชาด  (อ่าน 915 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นเวลาที่ไฮโซในยุโรปรู้ว่าเมือง Heiden ในสวิสเซอร์แลนด์เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงด้านเกษตรกรรม อากาศบริสุทธิ์ มีสปาระดับเลิศ เพราะตั้งอยู่ริมฝั่งของทะเลสาบ Constance ที่สวยงาม ปัจจุบันสถานที่นี้ยังเป็นที่รู้กันว่า Henri Dunant (อังรี ดูนังต์) ได้ใช้ชีวิตบั้นปลาย และจบชีวิตอย่างอเน็จอนาถ ทั้งๆ ที่เป็นหนึ่งในสองคนที่พิชิตรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ รางวัลแรกในปี 1901
       
       ​ในปี 1887 นายแพทย์ชื่อ Hermann Alther ได้ถูกตามตัวไปรักษาคนไข้คนหนึ่งที่โรงพยาบาลอนาถาในเมือง Heiden เมื่อเขามาถึงก็ได้เห็นชายชราวัย 50 ปี นอนแผ่ในลักษณะอ่อนระโหยโรยแรง และเป็นโรคผิวหนัง (ecezema) สภาพความเป็นอยู่ในห้องแสดงว่า ชายคนนี้ไม่มีเงินติดตัวเลย
       
       ​แต่ทันทีที่ทราบชื่อของคนไข้ Alther ก็ตกใจ เพราะทุกคนในโลกคิดว่า Henri Dunant ผู้ก่อตั้งองค์การสภากาชาดสากลได้เสียชีวิตไปนานแล้ว และที่ช็อคยิ่งกว่านั้น คือ สภาพของ Dunant แสดงว่า ตกยาก ลำบาก และอนาถามาก
       
       ​เมื่อได้รับการรักษาจนหาย Henri Dunant ได้ใช้เวลาที่เหลืออีก 23 ปีที่ Heiden ในห้องเล็กๆ ที่โรงพยาบาลนั้น และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ.1910 สิริอายุ 82 ปี (หลังจากที่ได้เข้ารับรางวัลโนเบลเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.1901 แล้วได้สาบสูญไปจากสายตาทุกคน) จนอีก 100 ปีต่อมา คือในปี 2010 Heiden ก็ได้จัดพิธีเฉลิมฉลองความดีของพลเมืองของ Heiden ผู้มีชื่อเสียงที่สุดด้วยคอนเสิร์ต โชว์ นิทรรศการ และการประชุมเยาวชนนานาชาติ เพื่อให้คนปัจจุบันและคนอนาคตเข้าใจคุณค่าของการมีมนุษยธรรม และความกล้าหาญในการแสดงสำนึกด้านศีลธรรม
       
       ​Jean Henri Dunant เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ.1828 (ตรงกับรัชสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ที่เมือง Geneva ในสวิสเซอร์แลนด์ บิดาเป็นนักธุรกิจ ครอบครัวนี้ปลูกฝังให้ลูกชายตั้งแต่เด็กใช้ชีวิตทำงานรับใช้สังคม ทั้งบิดาและมารดาต่างก็มีบทบาทมากในการทำงานสงเคราะห์เด็กกำพร้า คนป่วย และคนยากจน ตัวบิดาเองอาสาทำงานสวัสดิการในคุก เป็นต้น
       
       ​เมื่ออายุ 18 ปี Henri Dunant ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคม Geneva Society เพื่อรวบรวมเงินช่วยคนยากไร้ และไปเยี่ยมเยือนนักโทษในคุก เขาทุ่มเททำงานเพื่อสังคมมาก จนไม่มีเวลาเรียนหนังสือและถูกรีไทร์จากมหาวิทยาลัย
       
       ​เมื่อถึงปี 1852 Dunant วัย 24 ปี ได้เดินทางไปปารีสประชุมเรื่องความเป็นไปได้ในการจัดตั้งองค์การนานาชาติ
       ​อีก 1 ปีต่อมา Dunant ได้เดินทางไปเยือน Algeria, Tunisia และ Sicily และรู้สึกสนใจจะทำธุรกิจในประเทศเหล่านี้ แต่ไม่ได้รับความสะดวกสบายเรื่อง กรรมสิทธิ์ด้านสถานที่ เพราะชาวแอฟริกันไม่ยินดีต้อนรับ
       
       Dunant จึงตัดสินใจไปขอความช่วยเหลือจากจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ซึ่งขณะนั้นพระองค์ทรงประทับอยู่กับกองทัพในแคว้น Lombardy ที่เมืองเล็กๆ ชื่อ Solferino ในอิตาลีเพื่อต่อสู้กับกองทหารออสเตรียที่กำลังยึดครองอิตาลี เพื่อจะได้เข้าถวายตัวต่อจักรพรรดิ Dunant ได้วางแผนนำหนังสือที่เขาเขียนเทิดพระเกียรติองค์จักรพรรดิไปถวายด้วยตัวเอง
       
       ​ในเวลาเย็นของวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ.1859 Dunant วัย 31 ปี ได้เดินทางถึง Solferino ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอิตาลี ในวันนั้นการสู้รบได้เกิดขึ้นอย่างดุเดือด เป็นเวลานาน 9 ชั่วโมง จำนวนทหารที่ได้รับบาดเจ็บ ที่กำลังจะตาย และที่ล้มตายมีประมาณ 23,000 คน โดยแทบไม่มีแพทย์และพยาบาลเฝ้าดูแลรักษาคนเหล่านี้เลย โดยเฉพาะกองทัพฝรั่งเศสนั้น Dunant ได้พบว่า มีสัตวแพทย์จำนวนมากกว่าแพทย์ด้วยซ้ำไป
       
       เมื่อความทุกข์และความตายปรากฏเกลื่อนกลาด Dunant จึงตัดสินใจชักจูงชาวบ้าน โดยเฉพาะสตรีและเด็กผู้หญิงมาช่วยเขารักษาและพยาบาลคนบาดเจ็บตามมีตามเกิด เพราะคนที่มาช่วยก็ไม่มีความรู้มากไม่ว่าจะเป็นด้านการพยาบาล อุปกรณ์เช่น ผ้าพันแผล ยาฆ่าเชื้อ ฯลฯ ก็แทบไม่มี Dunant ชักจูงให้ชาวบ้านออกมารักษาพยาบาลทหารที่ป่วย และบาดเจ็บโดยไม่เลือกข้างหรือสัญชาติ ด้วยคำขวัญประจำใจว่า “Tutti fratelli” (ทุกคนเป็นพี่น้องกัน)
       
       นอกจากนี้ Dunant ก็ยังประสบความสำเร็จในการชักจูงให้กองทัพฝรั่งเศสปล่อยแพทย์ออสเตรียจากการคุมขังด้วย
       
       ​เมื่อสงครามยุติ Dunant เดินทางกลับเจนีวา และตัดสินใจจะเขียนหนังสือเรื่อง “A Memory of Solferino” ในปี 1862 แล้วจะจัดพิมพ์ด้วยเงินส่วนตัว โดยเล่าประสบการณ์ด้านการสูญเสียชีวิตของทหาร เงินทองของประเทศชาติ และความรู้สึกต่างๆ ของเขาที่เกิดในสงคราม และในบทสรุปเขาได้เสนอความคิดว่า ในอนาคตโลกควรมีองค์การที่มีความเป็นกลางด้านการเมืองเพื่อดูแลทหารที่ได้รับบาดเจ็บ จากนั้นก็ได้ส่งหนังสือนี้ไปให้ผู้นำทางการเมือง และการทหารหลายชาติในยุโรปอ่าน

   
       ​หนังสือ 1,600 เล่มที่ Dunant จัดพิมพ์ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีโดยสังคม และท่านนายกสมาคม Geneva ก็ได้จัดการประชุมเรื่องที่ Dunant นำเสนอ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1863 โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการ 5 ท่านขึ้นพิจารณาเรื่องนี้ โดยมี Dunant เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่ง การประชุมวันแรกของคณะกรรมการชุดนี้เกิดขึ้นในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1863 วันนี้จึงถือเป็นวันกำเนิดของ International Committee of the Red Cross (ICRC กรรมการกาชาดสากล) ​
       
       แต่หลังจากนั้น Gustav Moynier ซึ่งเป็นนายกของสมาคม Geneva และเป็นกรรมการท่านหนึ่งกับ Dunant ก็มีความคิดเห็นขัดแย้งกันบ่อยในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านวิสัยทัศน์หรือการดำเนินการ จน Moynier ได้ออกมาขัดขวาง และกีดกันมิให้ Dunant มีบทบาทมากในการเป็นตัวแทนของคณะกรรมการในที่ประชุมต่างๆ
       
       ​ในวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ.1864 ได้มีการประชุมที่รัฐสภาสวิสเพื่อการลงนามในปฏิญญา Geneva โดยมีผู้แทนจาก 12 ประเทศเข้าร่วมประชุม แต่ Dunant ได้ถูกจำกัดหน้าที่ให้รับบทบาทเป็นเพียงผู้จัดที่พักให้ผู้เข้าประชุมเท่านั้น
       
       ​ในช่วงเวลาที่ Dunant ทุ่มเทเวลาทำงานหนักเพื่อ ICRC นั้น ธุรกิจของเขาที่ Algeria ล่มจมตกต่ำและขาดทุนจนถึงขั้นล้มละลาย ในที่สุด Dunant ได้ถูกศาลตัดสินว่าทำธุรกิจหลอกลวง จนเพื่อนฝูงและครอบครัวของ Dunant ต่างก็ได้รับผลกระทบกระเทือนจากความล้มละลายของ Dunant ในครั้งนี้
       
       ​สมาชิกของสมาคม Geneva จึงเรียกร้องให้ Dunant ลาออกจากการเป็นกรรมการของ ICRC เพื่อรักษาชื่อเสียงขององค์การ และ Moynier ได้มีบทบาทมากในการขับไล่ไสส่ง Dunant ในครั้งนี้ เพื่อตนจะได้ครองตำแหน่งประธานของคณะกรรมการ ICRC อย่างสมบูรณ์
       
       Dunant รู้สึกอับอาย และขายหน้ามาก ในปี 1867 เขาจึงตัดสินใจเดินทางจากบ้านเกิดที่ Geneva อย่างไม่หวนกลับไปอีกเลย


       ​แม้ Dunant จะจากไปแล้ว แต่ Hoynier ก็ยังพยายามขัดขวางทุกวิถีทางไม่ให้ใครผู้ใดช่วยเหลือ Dunant จน Dunant ต้องหลบไปปารีส และย้ายที่อยู่บ่อย เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ตามตัว และครองชีพอย่างจำกัดจำเขี่ย แต่ก็ยังทำตัวเป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น ดำเนินการหาทางจัดตั้งศาลนานาชาติเพื่อไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทระหว่างประเทศ และจัดตั้งห้องสมุดโลก เป็นต้น
       
       ​เพื่อหลบหนีเจ้าหนี้ที่ฝรั่งเศส Dunant เดินทางไป Stuttgart ในเยอรมนี ไป Rome ในอิตาลี Basel ในสวิสเซอร์แลนด์ และ Karlruhe ในเยอรมนี และเมื่อครั้งที่อยู่อังกฤษ Dunant ได้รับเงินบริจาคจากญาติห่างๆ คนหนึ่ง และเคยเป็นลมล้มลงหมดสติที่ท่าเมือง Plymouth เพราะร่างกายอดอาหารมานานหลายวัน ในปี 1881 ขณะพักที่ Stuttgart ในเยอรมนี เพื่อนได้นำ Dunant ไปที่หมู่บ้านเล็กๆ ในสวิสเซอร์แลนด์ชื่อ Heiden เป็นครั้งแรก และนี่คือบ้านที่ Dunant จะกลับมาใช้ชีวิตที่เหลือ เมื่อเขาหมดแรงหนี
       
       ​ที่ Heiden Dunant ได้พบสามีภรรยาชื่อ Wilhelm Sonderegger และ Susanna ผู้รู้ชื่อเสียงของ Dunant จึงเชิญ Dunant มาเป็นนายกกิตติมศักดิ์ของสมาคมกาชาดแห่ง Heiden แต่ในเวลาต่อมา ความสัมพันธ์ของ Dunant กับสองสามีภรรยาก็ถูกกระทบกระเทือน เพราะ Dunant เกิดความระแวงว่า คนทั้งสองประสงค์ร้ายต่อตน
       
       ​ในเดือนกันยายน 1895 บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Die Ostschweiz ชื่อ Georg Baumberger ได้เขียนบทความชื่อ “Henri Dunant, the founder of the Red Cross” บทความนี้ทำให้ชื่อเสียงของ Dunant เริ่มกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งหนึ่ง
       ​เมื่อถึงเวลาพิจารณามอบรางวัลโนเบลเป็นครั้งแรกในปี 1901 สำหรับรางวัลสาขาสันติภาพนั้น มีผู้ได้รับการเสนอชื่อหลายคน เช่น Moynier และกรรมการ International Committee, Dunant และ Frederic Passy ฯลฯ ในที่สุด คณะกรรมการตัดสินรางวัลได้มอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพรางวัลแรกแก่ Passy และ Dunant ด้วยผลงานการจัดตั้งองค์การสันนิบาตสันติภาพสำหรับ Passy และ Dunant สำหรับการจัดตั้งองค์การกาชาด (Red Cross) ซึ่งถือเป็นสุดยอดแห่งความสำเร็จด้านมนุษยธรรมของศตวรรษที่ 19
       
       ​ในกรณีของ Passy นั้นไม่มีข้อถกเถียง เพราะงานที่ทำเป็นด้านสันติภาพตรงตามความประสงค์ของ Alfred Nobel เจ้าของรางวัล แต่ในส่วนของ Dunant มีปัญหาพอประมาณ เพราะ Moynier ก็เป็นคู่แข่งด้วย และงานกาชาดเป็นงานด้านมนุษยธรรมที่สนับสนุนให้คนทำสงครามกัน เพราะรู้ว่ามีหน่วยพยาบาล และแพทย์ช่วยรักษา ในที่สุดคณะกรรมการก็ตัดสินใจมอบรางวัลให้ทั้งผลงานด้านสันติภาพและด้านมนุษยธรรมด้วยเงิน 208,000 สวิสฟรังก์ Dunant ได้รับมาครึ่งหนึ่ง แต่ได้ฝากธนาคารนอร์เวย์ไว้เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้มาทวง โดยส่งมอบให้องค์การกุศลต่างๆ ในนอร์เวย์และสวิสเซอร์แลนด์ โดยตนไม่ได้ใช้เงินแม้แต่ฟรังก์เดียว
       
       ​ฐานะของ Dunant จึงยังยากจนเหมือนเดิม และต้องเข้าพักในโรงพยาบาลคนชราที่ Heiden เพราะสุขภาพทรุดลงๆ และป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากับโรคระแวงว่าเจ้าหนี้กับ Motnier จะมุ่งร้าย เช่น วางยาพิษหรือทำร้ายร่างกาย เมื่อถึงวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ.1910 ขณะนอนในห้องพักชั้นบนของโรงพยาบาลตา Dunant จ้องมองนาฬิกา และหูคอยฟังเสียงนาฬิกาตีบอกเวลา และรู้สึกเหนื่อยอ่อนเป็นที่สุด Dunant หมดลมหายใจเมื่ออายุ 82 ปี
       
       ​Dunant ได้จากโลกไปหลัง Moynier 2 เดือน และแม้ว่าองค์การ ICRC จะเขียนจดหมายแสดงความยินดีถึง Dunant ที่ได้รับรางวัลโนเบล ทั้ง Dunant และ Moynier ก็ไม่ได้พบปะหรือเจรจาแสดงความปรองดองกันจนตาย
       
       ​Dunant ได้แสดงความจำนงให้ฝังศพเขาโดยไม่มีพิธีสวดใดๆ ที่สุสานในเมือง Zurich
       
       ​ในวันที่ 8 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเกิดของ Dunant ได้ถือเป็นวันกาชาดที่มีการจัดเฉลิมฉลองทั่วโลก
       
       ​โรงพยาบาลคนชราที่ Heiden ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑ์ Henry Dunant
       
       ​ที่ Geneva และกรุงเทพฯ มีถนนชื่อ Henri Dunant
       
       ​องค์การกาชาดมีเหรียญ Henry Dunant สำหรับผู้ที่มีผลงานด้านมนุษยธรรมโดดเด่นที่สุดทุก 2 ปี
       ​ในปี 1944 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ใกล้สงบ หญิงชาวเมือง Heiden คนหนึ่งชื่อ Claire Kellenberger ได้คลอดบุตรชายที่โรงพยาบาลคนอนาถาที่ Dunant เสียชีวิต เธอได้ตั้งชื่อลูกชายว่า Jacob Kellenberg และเขาเมื่อเติบใหญ่เขาได้รับเลือกเป็นประธานของ ICRC ในปี 2000 จนถึงปี 2014

โดย สุทัศน์ ยกส้าน    14 กุมภาพันธ์ 2557
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9570000018009