ผู้เขียน หัวข้อ: มหากาพย์เลือดแห่งอัซเต็ก-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2808 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ตรงริมจัตุรัสโซกาโลอันโด่งดังกลางกรุงเม็กซิโกซิตี  ถัดจากซากพีระมิดศักดิ์สิทธิ์ของชาวอัซเต็กที่รู้จักกันในนาม เตมโปลมายอร์ หรือมหาวิหาร  นักโบราณคดีค้นพบซากสัตว์ซึ่งอาจเป็นสุนัขหรือหมาป่าตายมานาน 500 ปีบรรจุอยู่ในปล่องที่กรุด้วยหินลึกลงไป 2.5 เมตร  สัตว์ ตัวนี้คงไม่มีชื่อหรือเจ้าของ กระนั้นก็เห็นได้ชัดว่าสุนัขนิรนามตัวนี้ต้องมีความหมายสำหรับใครบางคน เพราะมันสวมปลอกคอทำด้วยลูกปัดหยกและเครื่องประดับหูทำจากเทอร์คอยส์ ส่วนที่ข้อเท้ามีกำไลห้อยลูกกระพรวนเล็กๆหลายลูกทำด้วยทองคำบริสุทธิ์

ทีมสำรวจทางโบราณคดีนำโดย เลโอนาร์โด โลเปซ ลูคัง ขุดพบซากที่เรียกกันว่า สุนัขสูงศักดิ์ (Aristo-Canine) นี้ในฤดูร้อนปี 2008 หรือสองปีหลังจากเริ่มขุดค้นเมื่อมีผู้ค้นพบวัตถุน่าทึ่งชิ้นหนึ่งระหว่าง การขุดดินเพื่อวางรากฐานอาคารใหม่หลังหนึ่ง วัตถุที่ว่านั้นคือแผ่นหินแอนดีไซต์สีชมพูเรื่อรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ น้ำหนัก 12 ตัน แตกเป็นสี่ชิ้นใหญ่ๆ สลักรูปอันน่าตื่นตะลึงชวนพิศวงของตลัลเต็กตลี เทพีแห่งพื้นพิภพ สัญลักษณ์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดของชาวอัซเต็ก ประทับยองๆเพื่อมีประสูติกาล พลางเสวยพระโลหิตของพระองค์เองและสิ่งที่ทรงให้กำเนิด

พวกเขายังพบเครื่องสังเวยหลายชุดที่ภายในบรรจุซากพืช ซากสัตว์ ศิลปวัตถุทำจากทองคำ หยก ทองแดง เทอร์คอยส์ และหินเหล็กไฟ  สิ่ง ของในกล่องเครื่องสังเวยดูเผินๆเหมือนจัดวางไว้อย่างไม่เป็นระเบียบ แต่จริงๆทุกอย่างล้วนมีความหมายในทางจักรวาลวิทยา โลเปซ ลูคัง ทราบว่า สิ่งที่เห็นนี้สามารถตีความตามคติทางจักรวาลวิทยาของชาวอัซเต็กได้ว่า เป็นภาพขุมแรกของยมโลก ซึ่งมีสุนัขคอยนำทางดวงวิญญาณเจ้านายให้ข้ามพ้นสายธารอันเต็มไปด้วยภยันตราย           

แต่ ดวงวิญญาณผู้ใดเล่าที่เป็นนายของมัน นับตั้งแต่ชาวสเปนชื่อ เอร์นัน กอร์เตส พิชิตเม็กซิโกได้เมื่อปี 1521 ก็ยังไม่เคยมีการค้นพบพระศพจักรพรรดิอัซเต็กพระองค์ใดอีกเลย ทั้งที่บันทึกประวัติศาสตร์ระบุว่า มีการถวายพระเพลิงและบรรจุพระอังคารของจักรพรรดิอัซเต็กสามพระองค์ไว้ที่ฐาน ของเตมโปลมายอร์ ตอนที่ค้นพบแผ่นหินตลัลเต็กตลี โลเปซ ลูคัง สังเกตเห็นว่า เทพเจ้าในภาพสลักทรงขยุ้มกระต่ายตัวหนึ่งไว้ในกรงเล็บของอุ้งพระบาทขวา และมีจุดสิบจุดสลักไว้เหนือภาพกระต่าย ตามระบบการจารึกของชาวอัซเต็ก กระต่ายสิบตัวตรงกับปี 1502 อันเป็นปีที่เอกสารโบราณต่างๆระบุว่า มีพระราชพิธียิ่งใหญ่เพื่อบรรจุพระอัฐิของจักรพรรดิผู้ทรงเป็นที่ครั่น คร้ามมากที่สุด คือจักรพรรดิอาวีตโซตล์

โล เปซ ลูคัง เชื่อมั่นว่า สถานที่บรรจุพระอัฐิของจักรพรรดิอาวีตโซตล์อยู่ใกล้กับจุดที่พบแผ่นหิน ถ้าเขาเข้าใจถูกต้อง  สุนัขสูงศักดิ์ก็อาจเป็นมัคคุเทศก์ในปรโลกที่เปรียบเสมือนกุญแจไขความเร้น ลับเกี่ยวกับผู้คนที่เราเรียกว่าชาวอัซเต็กซึ่งเรียกตัวเองว่า เม็กซิกา (Mexica) มรดกอารยธรรมของคนเหล่านี้หล่อหลอมเป็นอัตลักษณ์ของชาวเม็กซิกัน หากโลเปซ ลูคัง ค้นพบสถานที่บรรจุพระอัฐิของอาวีตโซตล์ ก็จะเป็นจุดสูงสุดของความพยายามอันน่าทึ่งยาวนาน 32 ปี ในการสืบค้นเรื่องราวของจักรวรรดิที่มักถูกเข้าใจผิดและเป็นตำนานมากที่สุดแห่งหนึ่งของซีกโลกตะวันตก

จักรวรรดิอัซเต็กเริ่มก่อร่างจากความว่างเปล่า  ตอนแรกชาวอัซเต็กหรือเม็กซิกาอพยพมาจากทางเหนือ  ซึ่งเชื่อกันว่ามาจากอัซตลาน  แม้ จะไม่เคยมีใครระบุที่ตั้งเมืองเกิดของชาวอัซเต็กเมืองนี้ได้ และบางทีอาจมีอยู่แต่เพียงในตำนาน พวกเขาพูดภาษานาอวตล์ของชาวตอลเต็ก ซึ่งสูญสิ้นอิทธิพลไปจากภาคกลางของเม็กซิโกในศตวรรษที่สิบสอง แต่ภาษาเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เชื่อมโยงชาวเม็กซิกาเข้ากับความยิ่งใหญ่นั้น หลังถูกขับไล่จนต้องระหกระเหินจากถิ่นฐานแห่งแล้วแห่งเล่าในแอ่งเม็กซิโก ในที่สุดชาวอัซเต็กก็มาพบเกาะที่ไม่มีใครต้องการในทะเลสาบเตซกูโก และสถาปนาขึ้นเป็นนครรัฐเตนอชตีตลานในปี 1325 ในยุคนั้น เตนอชตีตลานยังเป็นเพียงที่ลุ่มน้ำขังธรรมดาๆ ซ้ำยังขาดน้ำดื่ม ขาดแคลนหินและไม้สำหรับการก่อสร้าง แต่ชนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาอาศัย แม้จะ “แทบไร้วัฒนธรรม” ตามคำของมิเกล เลออง-ปอร์ตียา นักวิชาการผู้โด่งดัง แต่พวกเขาก็ชดเชยด้วยสิ่งที่เลออง-ปอร์ตียา เรียกว่า “เจตจำนงอย่างไม่ระย่อ”

ผู้ ตั้งถิ่นฐานลงมือขุดค้นซากนครรัฐที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต คือเตโอตีอัวกันและตูลา และเมื่อพบสิ่งใดก็รับเอามาเป็นของตน  ครั้นล่วงถึงปี  1430 เตนอชตีตลานก็ยิ่งใหญ่กว่านครทั้งสองในอดีต มีการถมดินและสร้างระบบลำรางส่งน้ำอย่างน่าอัศจรรย์ โดยอาศัยคูคลองและคันเขื่อนแบ่งพื้นที่เป็นสี่ส่วนรอบศูนย์กลาง อันเป็นที่ตั้งของพีระมิดบันไดคู่ และมีวิหารแฝดตั้งอยู่บนส่วนยอด องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมเหล่านี้ไม่มีอะไรแปลกใหม่ แต่นี่แหละคือประเด็นสำคัญ ชาวเม็กซิกาแสวงหาการเชื่อมโยงทางเชื้อสายกับ จักรวรรดิต่างๆในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยเล่ห์เพทุบายของปุโรหิต   นาม ว่า  ตลากาเอลเอล  ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่สิบห้า  ตลากาเอลเอลแต่งประวัติศาสตร์เม็กซิกาขึ้นใหม่ โดยอ้างว่าชาวอัซเต็กสืบเชื้อสายมาจากชาวตอลเต็กผู้ยิ่งใหญ่ ทั้งยังยกย่องวิตซีโลปอชตลี สุริยเทพและเทพแห่งสงคราม ซึ่งเป็นองค์อุปถัมภ์ของชาวอัซเต็ก ให้มีฐานะทัดเทียมกับทวยเทพของชาวตอลเต็ก ปุโรหิตผู้นี้ยังไปไกลกว่านั้นอีกก้าวหนึ่ง ดังที่มิเกล เลออง-ปอร์ตียา เขียนไว้ว่า ตลากาเอลเอลกำหนดชะตาของจักรวรรดิไว้ว่าเป็น “การพิชิตชาติอื่นๆทั้งปวง...เพื่อจับเหยื่อมาเป็นเครื่องเซ่นสังเวย ทั้งนี้เพราะสุริยเทพผู้ทรงเป็นต้นกำเนิดแห่งสรรพชีวิต จะดับสูญหากแม้นมิได้เสวยเลือดมนุษย์”

ด้วย วิธีการเหล่านี้ ผู้มาใหม่จากทางเหนือจึงผงาดขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่ เข้ายึดครองเมืองแล้วเมืองเล่าในแอ่งเม็กซิโก ในรัชสมัยของมอกเตซูมาที่หนึ่งเมื่อปลายทศวรรษ 1440 ชาวเม็กซิกาและพันธมิตรเดินทัพไกลกว่า 300 กิโลเมตร เพื่อขยายอาณาเขตลงไปทางใต้สู่ดินแดนที่ปัจจุบันคือรัฐมอเรโลสและรัฐเกร์เร โร พอถึงทศวรรษ 1450 ก็รุกไปจรดชายฝั่งทางเหนือของอ่าวเม็กซิโก ครั้นปี 1465 สมาพันธรัฐชัลโก ซึ่งยังแข็งข้ออยู่เพียงแห่งเดียวในแอ่งเม็กซิโก ก็ถูกปราบราบคาบ

จักรวรรดิ อัซเต็กแผ่ขยายออกไปไกลที่สุดในรัชสมัยของจักรพรรดิองค์ที่แปด คืออาวีตโซตล์ เรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์เท่าที่รู้กันก็คือ นายทหารสูงศักดิ์ผู้นี้ปราบดาภิเษกเมื่อปี 1486 หลังจากจักรพรรดิตีซ็อก พระเชษฐา ทรงสูญเสียอำนาจเหนือจักรวรรดิและสวรรคต บางทีอาจถูกลอบปลงพระชนม์ด้วยยาพิษหรือด้วยน้ำมือพระอนุชา เรื่องที่อาวีตโซตล์ทรงกำชัยในการศึก 45 ครั้งจนเป็นเกียรติประวัติของการครองราชย์ยาวนาน 16 ปี ได้รับการบันทึกไว้อย่างออกรสออกชาติยิ่งโดยข้าหลวงใหญ่ผู้แทนพระองค์ จักรพรรดิสเปน  ในจดหมายเหตุที่เรียกว่า    โกเด็กซ์เม็นโดซา (Codex Mendoza) กองทัพของอาวีตโซตล์มีชัยเหนือดินแดนชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ลงไปจนถึงบริเวณที่ปัจจุบันคือประเทศกัวเตมาลา   การศึกเหล่านี้บางครั้งมุ่งเพียงเพื่อแสดงแสนยานุภาพหรือลงทัณฑ์ผู้นำท้อง ถิ่นที่แข็งข้อ แต่ส่วนใหญ่มุ่งสนองความกระหายที่สำคัญสองประการ นั่นคือส่วยบรรณาการสู่เตนอชตีตลานและเหยื่อสังเวยเทพเจ้า

แต่ แล้วในที่สุด ชาวเม็กซิกาก็สูญเสียนักสร้างจักรวรรดิผู้ยิ่งใหญ่ไปในช่วงที่จักรวรรดิ เรืองอำนาจสูงสุด ในปี 1502 หรือปีกระต่าย 10 ตัว จักรพรรดิอาวีตโซตล์ก็สวรรคต สันนิษฐานว่าเกิดจากการที่พระเศียรได้รับการกระทบกระเทือน ขณะทรงอพยพหนีน้ำท่วมจากพระราชวัง อุทกภัยในครั้งนั้นเกิดจากการก่อสร้างลำรางส่งน้ำอย่างเร่งรีบ ซึ่งเป็นโครงการที่อาวีตโซตล์ทรงริเริ่มเพื่อผันน้ำจากน้ำพุที่ไหลมาจาก เมืองโกโยอากันที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งที่เจ้าเมืองโกโยอากันเตือนแล้วว่าน้ำพุนี้ไหลไม่สม่ำเสมอ จักรพรรดิทรงตอบสนองคำเตือนด้วยการสั่งประหารเจ้าเมืองผู้นั้น ในงานถวายพระเพลิงมีการคัดเลือกข้าทาสมา 200 คนเพื่อให้ตามเสด็จไปปรโลก ข้าทาสบริพารเหล่านี้สวมชุดงามประณีตในริ้วขบวนอัญเชิญ    พระราชสัมภาระที่ จักรพรรดิต้องทรงใช้ในการเสด็จสู่ปรโลกเข้าไปในเตมโปลมายอร์ ที่ซึ่งพวกเขาถูกควักหัวใจ ก่อนจะโยนศพใส่กองเพลิง กล่าวกันว่าทั้งเถ้ากระดูกของข้าทาสและพระอัฐิล้วนถูกฝังไว้รวมกันหน้ามหา วิหารนั้นเอง
               นั่นคือจุดที่นักโบราณคดีพบซากสุนัขสูงศักดิ์ แม้ว่าจนถึงขณะนี้จะยังไม่พบสถานที่บรรจุพระอัฐิของอาวีตโซตล์ แต่โลเปซ ลูคัง บอกว่า “ผมเชื่อว่าไม่ช้าก็เร็วเราจะพบสุสานของจักรพรรดิอาวีตโซตล์ เรากำลังขุดลึกลงไปเรื่อยๆครับ” แต่ไม่ว่านักโบราณคดีผู้นี้จะขุดลึกลงไปสัก เพียงใด ก็ไม่มีวันขุดแก่นความเร้นลับของชาวอัซเต็กขึ้นมาได้ แก่นนี้จะยังคงฝังลึกในมโนสำนึกของชาวเม็กซิกันสมัยใหม่ ให้รู้สึกหรือสัมผัสได้แม้มองไม่เห็น ทั้งเก่าแก่และเกรียงไกร เป็นเสียงเพรียกพลังและความเข้มแข็งจากมนุษย์ปุถุชน ผู้เปลี่ยนหนองบึงเป็นอาณาจักรได้

 พฤศจิกายน 2553