ผู้เขียน หัวข้อ: เสนอตั้งกองทุนร่วมจ่าย แก้งบบัตรทองบานปลาย  (อ่าน 512 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
สปช.-สนช.เข้าหารือผู้บริหาร สธ. เตรียมยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ชี้เขตสุขภาพเป็นเรื่องดี ช่วยประชาชนเข้าถึงบริการรวดเร็ว มีคุณภาพ พร้อมหารือบูรณาการ 3 กองทุน เสนอตั้งกองทุนร่วมจ่าย แก้ปัญหางบรายหัวบัตรทองบานปลาย

        พญ.พรพรรณ บุญรัตพันธ์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พร้อมด้วย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เดินทางเข้าร่วมหารือ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาะารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน ปลัด สธ. ผู้บริหาร สธ.ระดับสูง ถึงการปฏิรูประบบสุขภาพ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
       
       ทั้งนี้ พญ.พรพรรณ ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมว่า การทำงานขณะนี้อยู่ในขั้นเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในฐานะที่เป็นประธาน กมธ.ด้านสาธารณสุขก็ต้องมารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับสาธารณสุขว่ามีประเด็นสำคัญอะไรที่จะเสนอหรือไม่ ซึ่งทาง สธ.เองก็มีการปฏิรูประบบสุขภาพด้วยการทำเขตสุขภาพ ซึ่งมองว่าหากทำระบบการส่งต่อรักษาพยาบาลได้แบบไร้รอยต่อจริงก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ช่วยลดความคับคั่งและภาระภายในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ระดับตติยภูมิ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลมุ่งหวังคือ ประชาชนต้องได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว มีคุณภาพและครอบคลุม คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งไม่เพียงเฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่เป็นทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทย เน้นทั้งระบบการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาลและการฟื้นฟู
       
       พญ.พรพรรณ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการหารือในเรื่องการบูรณราการ 3 กองทุนสุขภาพด้วย โดยมองว่ารัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอและยั่งยืน แต่การจะดำเนินการอย่างไรนั้นต้องมาหารือ เพราะแต่ละกองทุนต่างก็มีกฎหมายของตัวเอง ก็ต้องมาดูว่าจะจัดสรรอย่างไรให้มีคุณภาพ หรือจะบริหารจัดการร่วมกันอย่างไร
       
       ด้าน นพ.เจตน์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ที่มาหารือในครั้งนี้เพื่อรับฟังความเห็นต่างๆ เพื่อนำไปประมวลผลในการพิจารณาของ สนช.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ด้านสาธารณสุขถือว่ามีการปฏิรูปที่มาไกลกว่ากระทรวงอื่น มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ได้รับความนิยมและความพอใจจากประชาชน แต่ที่น่าห่วงคือมีการใช้งบรายหัวเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสุดท้ายต้องมาแก้ปัญหาที่การร่วมจ่าย แต่ประชาชนอาจไม่ยินยอม รมช.สาธารณสุขจึงเสนอให้มีการตั้งกองทุนร่วมจ่ายโดยเฉพาะ เพื่อมาแก้ปัญหาแทน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าที่มาของเงินกองทุนมาจากที่ไหน คงต้องปรึกษากระทรวงการคลัง แต่มองว่ากองทุนเช่นนี้ต้องมี โดยอาจให้ท้องถิ่นบริหารจัดการเอง แต่ที่แน่ชัดคือไม่เอาเงินภาษีบาปมาใช้ในกองทุนนี้ ซึ่งแนวคิดนี้ส่วนตัวก็เห็นด้วย

ASTVผู้จัดการออนไลน์  26 พฤศจิกายน 2557