ผู้เขียน หัวข้อ: ทราบหรือไม่ พยาบาล เครียดแค่ไหน?  (อ่าน 1360 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
ทราบหรือไม่ พยาบาล เครียดแค่ไหน?
« เมื่อ: 03 มีนาคม 2015, 00:30:53 »
ภัยเงียบที่เรียกว่า “ความเครียด” กลายเป็นอีกแง่มุมของความรุนแรงในการทำงานที่หลายคนไม่เคยทราบและเงียบไปโดยปริยาย ที่ “พยาบาล” กำลังเผชิญ...

อาชีพที่ต้องอาศัยความเอื้ออาทร เสียสละ เมตตาอ่อนโอน ผนวกรวมกับจิตใจของการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง 1 ในนั้นคืออาชีพ “พยาบาล” ซึ่งต้องใช้ทักษะเฉพาะทาง และถือว่าเป็นวิชาชีพที่สำคัญยิ่ง ในยามที่มนุษย์เจ็บป่วย ดูแลตนเองไม่ได้ จนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล

ไม่ว่าผู้ป่วยจะเป็นโรคใด มีอาการหนัก-เบาแค่ไหน บุคคลที่ถูกเรียกว่า “พยาบาล” ก็ไม่สามารถปฏิเสธผู้ป่วยได้ เพราะนี่คือ “หน้าที่” ที่ได้เลือกแล้ว...

ใน ความเป็นจริง...สถานการณ์ที่เหล่าพยาบาลทั้งหลาย จำเป็นต้องประสบพบเจอ ไม่สามารถกำหนดกฏเกณฑ์ได้ว่า วินาทีใด ที่จะต้องดูแลผู้ป่วย หรือช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกันหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา

ล่าสุด!!! ต้องใช้คำว่า “อึ้ง” เนื่องจากเมื่อต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา มีข้อมูลจากโครงการวิจัยสุขภาพและชีวิตการทำงานของพยาบาลไทย ออกมาว่า พยาบาลไทยเกือบ 50% มีความเครียดสูง โดยจำนวนนี้กว่า 10% ต้องพึ่งยานอนหลับ แถม คุณภาพชีวิตต่ำกว่าคนทำงานด้านอื่น แต่เพราะ “หน้าที่” ทำให้บ่นไม่ได้ จนต้องนำสุขภาพและชีวิตของตัวเองไปเสี่ยงแทน กลายเป็นอีกแง่มุมของความรุนแรงในการทำงานที่หลายคนไม่เคยทราบและเงียบไปโดย ปริยาย

“เดลินิวส์ออนไลน์” มีโอกาสไขความเงียบที่ก่อให้เกิดความเครียด จากพยาบาลผู้มากประสบการณ์และความสามารถท่านหนึ่ง อย่าง “อ.สุนิสา สีผม” อาจารย์ภาควิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย

“แน่นอนว่า สิ่งที่เจอขณะปฏิบัติงานคือ 1.สถานการณ์ บาง ครั้งจะต้องประสบปัญหากับอาการผู้ป่วยที่มีการเปลี่ยนแปลง อาจอยู่ในช่วงวิกฤติ ซึ่งจะต้องดูแลอย่างทันท่วงที ซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งได้รับบาดเจ็บระหว่างปฏิบัติงาน ถูกเข็มทิ่มตำ บาดเจ็บจากของมีคม จึงทำให้พยาบาลมีโอกาสเกิดความเครียดได้ 2.ผู้ร่วมงาน หากประสานงานอย่างมีระบบ มีสัมพันธภาพระหว่างผู้ร่วมงานที่ดี อาจช่วยลดความเครียดลงไปได้บ้าง 3.เทคโนโลยี ที่มีความเจริญก้าวหน้า ทำให้พยาบาลต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ความเครียดก็เกิดขึ้นได้”

อ.สุ นิสา เผยว่า พยาบาลที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการเผชิญกับสถานการณ์ที่รุนแรง ยิ่งไปเจออาการคนไข้ถึงขั้นวิกฤติและต้องการการพยาบาลที่เร่งด่วน ความเครียดจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่อาจไม่มากเท่าความตื่นเต้น ขณะเดียวกันจะเป็นการดูแลคนไข้ที่หลากหลาย ถือเป็นการเรียนรู้ เพราะคนไข้มาจากต่างที่ ต่างศาสนา ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาองค์ความรู้ต่อไป หากพยาบาลคนไหนสนใจจะศึกษาข้อมูลต่อยอด ครั้งต่อไปเมื่อเจอกรณีคล้ายกัน ก็จะดูแลคนไข้ได้ถูกต้อง

“พยาบาลทุกคน...บางที อยู่ที่บ้านก็มีเรื่องคิด แต่เมื่อไหร่ที่ขึ้นไปปฏิบัติงาน จิตใจเราก็ต้องพร้อมที่สุด ณ ตอนนี้สิ่งที่เราสนใจก็คือ การดูแลพยาบาลผู้ป่วยที่เรารับผิดชอบ แต่เราไม่ได้นำตัวเองเข้าไปมีอารมณ์ร่วม เสมือนเป็นญาติใกล้ชิดอย่างคนในครอบครัว ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ใช่รู้สึกอะไร ยังคงรู้สึกเห็นอกเห็นใจ แต่ไม่ได้เข้าไปมีอารมณ์ร่วมรู้สึกซึมเศร้า หรือโทษตัวเอง เพราะนั้นคือสิ่งที่เราทำดีที่สุด และเต็มที่แล้ว”

จากผลวิจัยข้างต้นปรากฏว่า “พยาบาล” จำนวน 18,765 คน มากกว่าครึ่งหนึ่ง...มีความเครียด ในจำนวนนี้มีร้อยละ 45 ที่เครียดสูง โดย 1 ใน 3 คน มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ และต้องพึ่งยานอนหลับร้อยละ 8-10 ทั้งนี้สาเหตุความเครียด เพราะต้องเข้าเวรผลัดต่อเนื่องนานกว่า 12 ชม.ต่อวัน

แต่...กว่าที่จะได้มาเป็น “พยาบาล” สักหนึ่งคน ไม่ใช่เรื่องง่าย บททดสอบในวิชาชีพ ที่เหล่านักศึกษาพยาบาลต่างต้องพบเจอ เพื่อให้ได้มาเป็นบุคคลากรทางการแพทย์ ถูกเล่าผ่านนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 อย่าง “น.ส.ญานิศา ดวงเดือน” วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย

“ตอนปี 1 จะเรียนวิชาพื้นฐาน ทฤษฎีการพยาบาล และไม่ได้ขึ้นตึกอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนปี 2เรียนสรีรวิทยา การพยาบาลเด็กและวัยรุ่น เนื้อหาลงลึกมากขึ้น ในหนึ่งสัปดาห์จะขึ้นตึก 2-3 วัน ซึ่งจะรู้ว่าคนไข้เป็นอย่างไร จากการซักประวัติ และได้ฉีดยา ปูเตียง บางคนอาจจะคิดว่าการปูเตียงเป็นเรื่องง่าย แต่พอมาเรียนแล้วไม่ใช่ง่าย ต้องปูผ้าปูให้ตึง เพื่อไม่ให้คนไข้มีแผลเกิดขึ้นจากรอยยับของเตียง พอถึงปี 3 จะเรียนการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ เจาะลึกรายละเอียดโรคต่างๆ ว่าเกิดจากสาเหตุใด รักษาอย่างไร เกี่ยวข้องกับโรคอื่นหรือไม่ สุดท้ายปี 4ก็จะเรียนวิชาจิตเวช รักษาโรคเบื้องต้น พร้อมที่จะออกไปเป็นพยาบาลอย่างเต็มรูปแบบ และออกฝึกตามสถานที่ต่างๆตามต่างจังหวัด”

นัก ศึกษาพยาบาลคนนี้ บอกว่า สิ่งไหนก็ตามที่เป็นครั้งแรกๆ ของการเริ่มต้น ทุกคนต้องเจอกับปัญหา ไม่ใช่แค่อาชีพพยาบาล อาชีพไหนๆ ก็ต้องมีจุดแข็งจุดอ่อนผสมกันไป หากได้ทำในสิ่งที่รัก ไม่ต้องใช้ความอดทนมาก อาชีพพยาบาลไม่ได้ดูแลเพียงแค่ร่างกายคนไข้อย่างเดียว แต่จิตใจ และครอบครัว ก็จะช่วยส่งผลให้คนไข้แข็งแรงขึ้น หรืออาจหายเป็นปกติได้เร็วขึ้น

ไม่ว่า “มาตรฐานวิชาชีพพยาบาล” จะเคร่งครัดมากเพียงใด การดูแลคนไข้ด้วยจิตใจที่เอื้ออาทร ก็จะทำให้คนไข้มีพัฒนาการดีขึ้น จนบรรเทาอาการหรือหายเป็นปกติ

หากคนไข้รับรู้ถึงความหวังดี ถือเป็นยาชูใจ...ที่ทำให้ “พยาบาล” ปฎิบัตงานได้อย่างมีความสุข แม้จะต้องเผชิญกับความเครียดก็ตามที

…................................

ทวีลาภ บวกทอง

เดลินิวส์ 22 กุมภาพันธ์ 2558