ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.ม.อ. สมองไหล บุคลากรการแพทย์ พยาบาลเตรียมลาออก เหตุรัฐเมินบรรจุ  (อ่าน 959 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
สัญญาณเตือน “รพ.ม.อ.” ใกล้ถึงจุดวิกฤต ส่งผลกระทบทั่วภาคใต้ “บุคลากรทางการแพทย์” ทยอยลาออกเป็นจำนวนมาก และเตรียมลาออกระลอกใหญ่
       
       วันนี้ (3 ม.ค.) นายมนูญ หมวดเอียด พยาบาลวิชาชีพชำนาญการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครรินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี กลุ่มสหสาขาวิชาชีพสุขภาพคณะแพทยศาสตร์ (ม.อ.) พร้อมด้วยพยาบาลวิชาชีพประมาณ 150 คน ได้พบกับ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีที่ตัวแทนบุคลากรของ รพ.ม.อ. ได้ยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อขอให้บรรจุบุคลากรทางการแพทย์ รพ.ม.อ.เป็นข้าราชการ
       
       นายมนูญ เปิดเผยว่า ม.อ. เป็นโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่บุคลากรในสังกัด แต่บุคลากร รพ.ม.อ. ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์แต่อย่างใด เพราะส่วนใหญ่กระทรวงศึกษาธิการจะดูแลครู ขณะที่ ม.อ. ไม่มีการบรรจุบุคลากรทางการแพทย์เป็นข้าราชการตั้งแต่ พ.ศ.2541 แต่จะจ้างในตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัย หรือลูกจ้างแทน ทำให้บุคลากรทยอยลาออก เพราะขาดขวัญ และกำลังใจ
       
       “ช่วงปี 2552-2555 ได้ลาออกไปประมาณ 300 คน ที่สำคัญ รพ.ม.อ. เป็นโรงพยาบาลหลักในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ รองรับตำรวจ และทหารที่บาดเจ็บจากเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงเหตุการณ์ความไม่สงบซึ่งเดิมมี 1,000 เตียง เฉลี่ยแล้ว พยาบาลวิชาชีพ แพทย์ ได้ทยอยลาออกประมาณปีละ 100 คน ไปทำงานกับโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ จนเกิดภาวะขาดแคลนแพทย์ และพยาบาลของโรงพยาบาลรัฐในที่สุด ส่งผลให้แพทย์ พยาบาลไม่พอเพียงต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยในภาคใต้ รัฐเองจะต้องสูญเสียงบประมาณในการผลิตแพทย์ พยาบาล แต่ละปีเป็นเงินจำนวนมหาศาล” นายมนูญกล่าว
       
       นายมนูญ ยังเปิดเผยต่ออีกว่า ขณะนี้ยังมีแพทย์ และพยาบาล ตลอดจนสาขาอื่นๆ ที่เตรียมลาออกอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการลาออก พยาบาลชำนาญการ แพทย์เฉพาะทาง หรือสาขาอื่นๆ จะทำให้ รพ.ม.อ.ในอนาคตเกิดภาวะวิกฤตได้ เพราะขาดผู้ชำนาญการ แล้วจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ มากมาย และ ม.อ.เองตอนนี้ก็อยู่ภาวะที่ค่อนข้างจะขาดแคลนอยู่แล้ว แต่หากรัฐบาลไม่เร่งดำเนินการ ช่วยให้เขาเข้าบรรจุเป็นข้าราชการก็จะมีการลาออกกันเป็นจำนวนมาก รพ.ม.อ.จะเกิดภาวะวิกฤต จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยไข้ไปทั่ว 14 จังหวัดภาคใต้อย่างเลี่ยงไม่พ้นเชื่อว่าอนาคตอันใกล้นี้จะเกิดขึ้น
       
       “ผู้ป่วยจาก 14 จังหวัดภาคใต้ต้องส่งเข้ามารักษาใน รพ.ม.อ.ในแต่ละปีประมาณ 45,000 คน พร้อมทั้งคนป่วยใกล้เคียง และจากโรงพยาบาลจังหวัดใกล้เคียง รวมแล้วประมาณ 950,000 คนต่อปี ในขณะที่มีบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล ประมาณ 921 คน พยาบาลที่เป็นข้าราชการเงินเดือน 9,140 บาท ส่วน รพ.ม.อ. 18,000 บาท และหากไปเข้าโรงพยาบาลเอกชน เงินเดือนประมาณ 20,000 บาท พร้อมบวกกับประสบการณ์ปีละ 500 บาท หากมีประสบการณ์ 5 ปี ก็จะได้ประมาณ 2,500 บาทต่อเดือน โรงพยาบาลเอกชนเตรียมรองรับอย่างเต็มที่ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ของ ม.อ.” นายมนูญเปิดเผยว่า ส่วนใหญ่แพทย์ พยาบาล และสาขาอื่นๆ ที่ลาออกไป ไปทำงานกับโรงพยาบาลเอกชนทั่วทุกภูมิภาค แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเข้าไปยังส่วนกลางที่กรุงเทพฯ รพ.ม.อ.ขาดทั้งแพทย์ อาจารย์แพทย์ พยาบาล ฯลฯ จนส่งผลกระทบต่ออาคารศูนย์อุบัติเหตุ ขนาดสูง 15 ชั้น ซึ่งมีลานเฮลิคอปเตอร์จอดขึ้นรับส่งผู้ป่วยได้สร้างเสร็จแล้ว แต่ขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานแพทย์ และพยาบาล
       
       “คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่เมื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล ฯลฯ สำเร็จแล้ว ไม่สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้ ถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น ต่างกับหน่วยงานอื่นๆ เมื่อสำเร็จแล้ว ก็สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้ ม.อ.มีแพทย์เฉพาะทางบางโรค เป็นมือ 1 ของประเทศไทย และเป็นมืออันดับ 3 ของภูมิภาคอาเซียนด้วย เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลที่สุด เตรียมตัวลาออกกันเป็นจำนวนมาก หากมีการลาออกกันเป็นจำนวนมาก จะขาดพยาบาลชำนาญการ มีความเชี่ยวทางด้านโรคต่างๆ จะเกิดภาวะวิกฤตต่อเนื่อง ม.อ. และผู้ป่วยทั่วภาคใต้ส่งสัญญาณมาถึงรัฐบาลให้เร่งดำเนินการแก้ไขก่อนที่จะถึงวิกฤตวันนั้น”

ASTVผู้จัดการออนไลน์    3 มกราคม 2556