แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 460 461 [462] 463 464 ... 651
6916
บอร์ด สปสช.ขอ .งบรายหัว 2,955.91 บาท เพิ่มขึ้นประมาณ 5.6% เผยต้องแล้วเสร็จภายในสิ้น ม.ค นี้

เมื่อวันที่7 ม.ค. นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวภายหลังประชุมบอร์ด สปสช.พิจารณาอัตราเหมาจ่ายรายหัวเพื่อของบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2557 สำหรับประชากร 49.097 ล้านคนว่า เมื่อพิจารณาจากประชากรที่เพิ่มขึ้น เงินเฟ้อ ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น อัตราเหมาจ่ายหัวจะอยู่ที่ 2,910.56 บาท เพิ่มขึ้นประมาณ 5.6% ซึ่งเป็นงบที่จะขอรัฐบาล แต่ในปี 2557 ได้กำหนดตัวชี้วัดงานเพิ่มขึ้น อาจต้องเพิ่มค่าหัวในส่วนของงานส่งเสริมและป้องกันโรคอีกประมาณ 45.35 บาทต่อหัว หรือ 4,746.85 ล้านบาท ดังนั้นอัตราเหมาจ่ายรายหัวจะอยู่ที่ 2,955.91 บาทต่อหัว ตรงนี้ต้องไปชี้แจงว่าขอเพิ่มขึ้นเกิดจากอะไร ส่วนที่เกรงว่าจะถูกตัดงบประมาณนั้นก็กังวล แต่ต้องชี้แจงเหตุผลความจำเป็น อย่างที่บอก 5.6% และอาจจะน้อยลงหากสามารถประหยัดค่ายา พัฒนาประสิทธิภาพต่างๆ ดังนั้นอาจเพิ่มไม่ถึง 5.6% อาจจะเหลือประมาณ 3%

รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า
นอกจากนี้ยังมีการของบเพิ่มในส่วนงบบริการสุขภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวี 2,950.81 ล้านบาท
งบบริการสุขภาพผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 5,233.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 2 %
งบบริการสุขภาพผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง 68.43 ล้านบาท
งบบริการผู้ป่วยปอดอุดกั้นเรื้อรัง 148.24 ล้านบาท
งบบริการสุขภาพเพื่อรักษาและฟื้นฟูผิดติดสารเสพติด 178.59 ล้าบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 0.3%
และงบบริการเพื่อประสิทธิภาพหน่วยบริการ 2,125.04 ล้านบาท
ซึ่งงบประมาณที่จะขอไปนี้คงต้องผ่านสำนักงบประมาณและนำเสนอ ครม.ต่อไป โดยต้องแล้วเสร็จภายในสิ้น ม.ค.

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

6917
เมื่อปี 2516 อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยเขียนบทความอมตะ "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" ซึ่งบรรยายถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย และเรียกร้องให้สังคมไทยยอมรับว่าคือสิทธิที่คนไทยทุกคนควรได้รับ จากวันนั้นถึงวันนี้เวลาผ่านไปถึง 39 ปีสวัสดิการที่คนไทยได้รับก็ยังห่างไกลจากความฝันดังกล่าวของอาจารย์ป๋วย ทั้งที่สังคมไทยมีการพัฒนามาตลอดและมั่งคั่งขึ้นมาก

แต่ความมั่งคั่งดังกล่าวก็ไม่ได้มีการกระจายอย่างเพียงพอจนสามารถนำไปสู่ความเท่าเทียมกันของสวัสดิการพื้นฐานได้ สาเหตุอาจมาจากความกังวลของผู้กำหนดนโยบายและภาคส่วนอื่นในสังคมในเรื่องการจัดสรรงบประมาณภาครัฐว่าจะเพียงพอหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งความกังวลว่าหากให้สวัสดิการอย่างพร่ำเพรื่อและมากเกินไปจะทำให้ผู้รับสวัสดิการขาดแรงจูงใจในการทำงาน อันจะนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวได้

งานวิจัยสู่ระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าภายในปี พ.ศ. 2560 โดย ดร.สมชัย จิตสุชน และคณะ (โดยการสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ชี้ให้เห็นว่าความกังวลสองประการข้างต้นสามารถหลีกเลี่ยงได้หากมีการจัดการที่ดีพอ โดยงานวิจัยเริ่มจากระดมความเห็นเพื่อกำหนดประเภทและระดับสวัสดิการที่คนไทยควรได้รับตั้งแต่เกิดจนตาย โดยยึดหลักความสมเหตุสมผล ไม่มากไปและไม่น้อยไป (เรียกว่าสวัสดิการอันพึงปรารถนา) จากนั้นทำการคำนวณงบประมาณภาครัฐที่จะต้องใช้ โดยอิงกับฐานข้อมูลการใช้จ่ายจริงต่อหัว แล้วจึงเสนอแนะแนวทางในการจัดหาและจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อให้คนไทยสามารถมีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าพื้นฐาน และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังระยะยาวได้

ทั้งนี้ สวัสดิการก่อนเกิด สวัสดิการที่ได้รับผ่านแม่ที่อุ้มท้อง เช่น การบำรุงครรภ์ การดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ การได้รับโภชนาการที่ครบถ้วนสำหรับแม่และเด็ก

สวัสดิการสำหรับเด็กและนักเรียน รัฐช่วยค่าเลี้ยงดูบุตรทุกคน ในอัตราที่เท่ากับที่กองทุนประกันสังคมให้ในปัจจุบัน คือ มีศูนย์ดูแลเด็กเล็กที่ดูแลทั่วถึงทั้งด้านโภชนาการ การพัฒนาสติปัญญาและพื้นฐานทางอารมณ์ ลดต้นทุนการศึกษาในทุกด้านลง จนแม้กระทั่งนักเรียนที่ยากจนที่สุดก็สามารถเข้าถึงการศึกษาพื้นฐานอย่างน้อย 15 ปี รวมทั้งเพิ่มคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมกันมากขึ้น

สวัสดิการสำหรับคนวัยทำงาน เพิ่มเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุจนเท่ากับเส้นความยากจน ดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง ช่วยตัวเองไม่ได้เป็นพิเศษ เช่น มีเบี้ยเพิ่มเติมหรือจัดบริการพิเศษโดยยึดหลักให้อยู่กับครอบครัวตนเองได้ จัดสถานสงเคราะห์แก่ผู้สูงอายุ เพื่อรองรับผู้สูงอายุที่ครอบครัวไม่พร้อมดูแล

สวัสดิการสำหรับผู้พิการ ค่าครองชีพพื้นฐานให้แบบถ้วนหน้า และมีเบี้ยยังชีพเพิ่มพิเศษให้แก่ผู้พิการที่ยากจนและอยู่ในภาวะพึ่งพิง ส่งเสริมการช่วยเหลือตนเอง และการพัฒนาอาชีพสำหรับผู้พิการที่มีศักยภาพ บังคับใช้กฎหมายควบคุมสิ่งก่อสร้างให้เอื้อต่อการเข้าถึงและใช้บริการของผู้พิการ จัดสถานสงเคราะห์สำหรับผู้พิการที่ครอบครัวไม่พร้อมดูแล

หากเปรียบเทียบสวัสดิการที่คนไทยได้รับในปัจจุบันกับตารางข้างต้น พบว่าสังคมไทยยังขาดหลักประกันและสวัสดิการในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเด็กเล็กที่ยังไม่ทั่วถึงและไม่ได้คุณภาพ นักเรียนยากจนจำนวนไม่น้อยยังขาดโอกาสในการศึกษา หรือได้รับการศึกษาคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานมาก แรงงานนอกระบบเกือบทั้งหมดยังขาดสวัสดิการที่สำคัญอีกหลายเรื่องผู้สูงอายุและคนพิการไม่ได้รับการดูแลเพียงพอ หรือถูกปฏิเสธโอกาสในการพัฒนาตนเอง

จริงอยู่ว่าหากรัฐบาลเข้ามาดูแลสวัสดิการทุกด้านตามแสดงในตารางสวัสดิการอันพึงปรารถนา ก็อาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมากทางออกวิธีหนึ่ง คือ การค่อยๆ เพิ่มประเภทสวัสดิการ และในบางประเภทสวัสดิการก็ค่อยๆ เพิ่มระดับสวัสดิการ (เช่น จำนวนเงินต่อหัว) โดยควบคุมมิให้ในที่สุดแล้วระดับสวัสดิการสูงเกินไปจนทำให้ผู้รับไม่อยากทำงานดังที่เป็นในบางประเทศ นอกจากนี้หากมีการลดทอนงบประมาณที่ใช้ในนโยบายประชานิยมที่กล่าวอ้างว่าเป็นการช่วยคนจน แต่หลายนโยบายประโยชน์มิได้ตกกับคนจนอย่างแท้จริงหรืออย่างไม่ทั่วถึง ก็สามารถทำให้การใช้งบประมาณด้านสังคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง

ด้วยฐานความคิดข้างต้น คณะนักวิจัยได้พิจารณาทางเลือก "ชุดสวัสดิการ" 4 ชุด คือ

สวัสดิการทางเลือกชุดที่หนึ่ง ให้ครอบคลุมสวัสดิการที่มีความสำคัญสูง ประกอบด้วย การดูแลเด็กเล็ก การช่วยค่าเดินทางและค่าครองชีพของนักเรียนยากจน การขยายโอกาสทางการศึกษา การเพิ่มคุณภาพการศึกษาอย่างเร่งด่วน และการขยายประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบอย่างครอบคลุม

สวัสดิการทางเลือกชุดที่สอง ปรับเพิ่มจากชุดแรก มีการเพิ่มเบี้ยยังชีพยากจนและเบี้ยภาวะพึ่งพิงสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ เพิ่มคุณภาพการศึกษาในระยะยาว เพิ่มการประกันสุขภาพสำหรับคนไร้รัฐและชนกลุ่มน้อย

สวัสดิการทางเลือกชุดที่สาม เพิ่มจากชุดที่สอง โดยเพิ่มเงินสมทบของรัฐบาลในสวัสดิการสำหรับแรงงานนอกระบบ และเพิ่มงบประมาณพิเศษในการดูแลคนจนทุกคน(เรียกว่าสวัสดิการเติมเต็มชีวิต) และขยายประกันสุขภาพไปสู่แรงงานต่างด้าวและผู้หนีภัยสงครามทุกคน

สวัสดิการทางเลือกชุดที่สี่ โดยประกอบด้วยสวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้าเท่ากับชุดที่สาม แต่ตัดรายจ่ายนโยบายประชานิยมลง เช่น การประกันราคาพืชผล การอุดหนุนสาธารณูปโภคสวัสดิการชาวนา

สวัสดิการชุดที่สี่เป็นทางเลือกดีที่สุดและควรส่งเสริม สิ่งที่ต้องคิดต่อเนื่องคือ จะจัดหางบประมาณภาครัฐมาสนับสนุนได้อย่างไรจากการคำนวณงบประมาณที่ต้องใช้อย่างละเอียดถี่ถ้วน พบว่าการจัดสวัสดิการในชุดที่สี่จะทำให้มีรัฐบาลมีภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นจากระบบปัจจุบันประมาณ 2 แสนถึงกว่า 3 แสนล้านบาท ในระยะ 3-4 ปีแรก จากนั้นจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นช้าๆ ตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินนี้คิดเป็นเพียงร้อยละ 2-3 ของรายได้ประชาชาติเท่านั้น อันอยู่ในวิสัยที่เศรษฐกิจไทยสามารถรองรับได้และไม่ก่อให้เกิดภาวะหนี้พอกพูนต่อเนื่องโดยมีเงื่อนไขว่ารัฐบาลต้องสร้างความยั่งยืนของระบบสวัสดิการถ้วนหน้าด้วยการปฏิรูประบบภาษี ซึ่งปัจจุบันรายได้ภาษีรวมคิดเป็นเพียงร้อยละ 16-18 ของรายได้ประชาชาติ ต่ำกว่าศักยภาพในการเสียภาษีของเศรษฐกิจไทย (ร้อยละ 20-21 ของรายได้ประชาชาติ ตามงานวิจัยของธนาคารโลก) อยู่มาก หากมีการจัดเก็บตามศักยภาพแล้วก็สามารถรองรับการจัดสวัสดิการได้แน่นอนและยังเหลืองบประมาณมาพัฒนาด้านอื่นๆที่จำเป็นด้วย เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม เป็นต้น

การจะเพิ่มรายได้ภาษีให้ได้ตามศักยภาพนั้นต้องมีการขยายฐานภาษี โดยยึดหลักความเสมอภาคของระบบภาษี กล่าวคือ ต้องทำให้ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกันเสียภาษีเท่ากัน และผู้มีฐานะดีกว่าเสียภาษีมากกว่า ซึ่งระบบภาษีปัจจุบันยังไม่เป็นไปตามหลักนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขนาดที่ใหญ่ของภาคเศรษฐกิจนอกระบบ(Informal Sector) และมีการจัดเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สินน้อยเกินไป และที่สำคัญอีกประการคือ รัฐบาลและสังคมไทยต้องเลิกความเชื่อที่ไม่จริงว่า คนในอาชีพใดอาชีพหนึ่งเป็นคนยากจนแล้วทำการยกเว้นภาษีตามกลุ่มอาชีพ (ทั้งที่ระบุในตัวบทกฎหมายภาษีหรือในการบังคับใช้) ซึ่งความเชื่อเช่นนี้ยังนำไปสู่การใช้จ่ายงบประมาณด้านนโยบายประชานิยมที่มักไม่เป็นการช่วยคนจนอย่างแท้จริงดังที่กล่าวถึงข้างต้น เนื่องจากนโยบายประชานิยมส่วนใหญ่เป็นการให้ประโยชน์ตามกลุ่มอาชีพ เช่น การทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากเพื่อช่วยเพียงอาชีพชาวนา เพราะมีสมมติฐานว่า ชาวนาทุกคนยากจนทั้งที่งานวิจัยของทีดีอาร์ไอและนักวิชาการอื่นได้ชี้ชัดแล้วว่า คนยากจนทุกคนไม่ได้เป็นชาวนาและชาวนาทุกคนก็ไม่ได้เป็นคนยากจน มีชาวนาที่ฐานะดีและฐานะปานกลางจำนวนมากเกินกว่าการรับรู้ของคนทั่วไป แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือมีคนจนที่ไม่ใช่ชาวนาและไม่ได้ประโยชน์จากงบประมาณรัฐจำนวนมากที่รัฐบาลใช้ซื้อข้าว ไม่ว่าจะเป็นแรงงานนอกระบบ หาบเร่แผงลอยรายเล็ก คนเก็บขยะ เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกถึงเสมอ คือ การใช้จ่ายในด้านสวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้านั้น ไม่ใช่เงินที่สูญเปล่าหรือเงินสงเคราะห์คนจนและผู้ด้อยโอกาสเท่านั้น หากเป็นการลงทุนทางสังคมที่จะให้ผลตอบแทนไม่น้อยกว่าการลงทุนในสิ่งปลูกสร้างหรือเครื่องจักรกลเพราะจะมีผลสืบเนื่องไปถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างทั่วถึง และเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ยังจะมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย อันเป็นปัจจัยสำคัญของความขัดแย้งในสังคมและการเมืองของไทยในระยะหลายปีที่ผ่านมาอีกด้วย

การจะเพิ่มรายได้ภาษีให้ได้ตามศักยภาพนั้นต้องมีการขยายฐานภาษี โดยยึดหลักความเสมอภาคของระบบภาษี กล่าวคือ ต้องทำให้ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกันเสียภาษีเท่ากัน และผู้มีฐานะดีกว่าเสียภาษีมากกว่า ซึ่งระบบภาษีปัจจุบันยังไม่เป็นไปตามหลักนี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 7 มกราคม 2556

6918
ชาวเมืองหยงคัง ร่วมไว้อาลัยแก่ นายตู้ ก่วงหวา เศรษฐีหนุ่มระดับหลายร้อยล้าน ผู้กลายเป็นวีรบุรุษของลูกจ้าง หลังเสียชีวิตเพราะกระโดดลงไปในแม่น้ำซึ่งหนาวจัดติดลบ 10 องศาเซลเซียส ช่วยลูกจ้างที่เมาสุราตกน้ำ
       
       สื่อจีนรายงาน (3 ม.ค.) ว่า นายตู้ ก่วงหวา วัย 31 ปี เศรษฐีหนุ่มระดับหลายร้อยล้าน เจ้าของธุรกิจฮาร์ดแวร์ ในเมืองหยงคัง มณฑลเจ้อเจียง ได้จมน้ำเสียชีวิตหลังกระโดดลงไปช่วยลูกจ้างคนหนึ่ง ซึ่งเมาสุราและเดินพลัดตกลงจากเรือในแม่น้ำที่มีอุณหภูมิติดลบ 10 องศาเซลเซียส
       
       เจ้อเจียงเดลี่ย์ รายงานเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ว่า บริษัทของนายตู้ ได้จัดเลี้ยงวันเทศกาลฤดูหนาวให้กับลูกจ้าง เมื่อคืนวันที่ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมา บนเรือที่ล่องไปตามแม่น้ำ ครั้นงานเลี้ยงเลิกรา ลูกจ้างต่างทยอยขึ้นจากเรือจนหมด แต่มีลูกจ้างคนหนึ่งยังเมาสุราและเดินพลัดตกลงไปในแม่น้ำไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ นายตู้ซึ่งเห็นเหตุการณ์ได้กระโดดลงไปช่วยทันที โดยไม่ได้ห่วงคำนึงถึงสภาพความหนาวเย็นจัดของน้ำในแม่น้ำที่ต่ำติดลบเกือบ 10 องศาเซลเซียส
       
       พยานเล่าว่า นายจ้างตู้ ได้ว่ายประคองและพยายามพยุงนายจ้าว เซิง ลูกจ้างเมาคนนี้ขึ้นฝั่ง จนกระทั่งหัวหน้าพ่อครัวบนเรือได้ยินเสียงและกระโดดน้ำลงไปช่วยดึงตัวลูกจ้างขึ้นมาอีกแรง ขณะที่นายตู้ซึ่งเริ่มชาและอ่อนแรง ได้จมลงไปใต้น้ำที่หนาวยะเยือก เวลานั้นลูกจ้างหลายคนเริ่มกระโดดลงไปช่วยนายจ้างของตน แต่ด้วยความมืดและหนาวเหน็บทำให้การค้นหาเป็นไปด้วยความยากลำบาก กระทั่งเวลาผ่านไปหลายนาที ก็ยังไม่พบนายจ้างของตน แม้เวลาต่อมา จะได้แจ้งขอความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ชีพ ก็ยังไม่สามารถค้นหาร่างของเขาได้ และยังคงอยู่ในการติดตามค้นหา
       
       นายกเทศมนตรีของเมืองหยงคัง ได้เอ่ยคำไว้อาลัยแก่นายตู้ว่า ชาวหยงคังรู้สึกอาลัยและสะเทือนใจกับการเสียสละของเขา ผู้ซึ่งเปรียบเสมือนเปลวเพลิงในฤดูหนาวที่สร้างความอบอุ่นให้แก่ผู้คนรอบข้าง
       
       ผู้ร่วมไว้อาลัยคนหนึ่งได้กล่าวว่า ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นขนาดนั้น เขาคงไม่กล้ากระโดดลงไปในน้ำ เพราะห่วงชีวิตตัวเองมากกว่า นี่ไม่ต้องคิดเลยว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับนายจ้างที่รวยระดับร้อยล้านพันล้าน ขณะที่เพื่อนบ้านของนายตู้ เผยว่า เศรษฐีหนุ่มคนนี้ เป็นคนดี ทำงานหนัก และทำธุรกิจอย่างซื่อสัตย์ เขามักจะตื่นแต่เช้ามาเปิดโรงงานก่อนใคร และปิดงานกลับบ้านหลังคนอื่นๆ เสมอ เป็นนายจ้างหนุ่มที่มีใจเอื้อเฟื้อคนงานอื่นๆ และไม่เคยฟุ้งเฟ้อเสียเวลากับสุรา นารี คาราโอเกะ เล่นหวย หรือกระทั่งการพนันไพ่นกกระจอกเลย

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    7 มกราคม 2556

6919
  1. นักข่าวทำเนียบฯ ตั้งฉายารัฐบาล “พี่คนแรก” ขณะที่นายกฯ ได้ฉายา “ปูกรรเชียง” ส่วนณัฐวุฒิ “ไหร่เทียม”!

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับฉายาจากนักข่าวทำเนียบรัฐบาลว่า ปูกรรเชียง
       เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ได้ประชุมและตั้งฉายารัฐบาล ฉายานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรวม 10 คน พร้อมด้วยวาทะแห่งปี ประจำปี 2555 สำหรับฉายาที่รัฐบาลได้รับ ก็คือ “พี่คนแรก” ซึ่งล้อมาจากนโยบายของรัฐบาล เช่น รถคันแรก บ้านหลังแรก ส่วนที่ได้ฉายาพี่คนแรก เพราะการบริหารงานของรัฐบาลมีเงาของพี่ชาย พี่สาวพาดผ่านเข้ามา ขณะที่ปัญหาต่างๆ ก็มาจากเรื่องของพี่ ทั้งปัญหาบ้านเมือง ข้าวของแพง ข้อครหาทุจริต เรียกได้ว่าเอะอะไรก็พี่ เรื่องของพี่ต้องมาก่อน ต้องมาเป็นอันดับแรก
       
       ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ฉายา “ปูกรรเชียง” ซึ่งล้อมาจากชื่อเล่นของนายกฯ คือ “ปู” เหตุที่ได้ฉายดังกล่าว เพราะในการบริหารงาน น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องแบกรับภาระและใบสั่งจากพี่ชาย คือ พ.ต.ท.ทักษิณ และพี่สาว(เจ๊ ด.) ขณะที่คนรอบข้างก็คอยลากไปลากมา ทำงานไม่เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรม ได้แต่เดินโชว์ไปโชว์มา เมื่อมีปัญหาทางการเมือง มักจะตีกรรเชียง ลอยตัวหนีปัญหา
       
       สำหรับฉายารัฐมนตรีอีก 9 คน ได้แก่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้ฉายา “กันชนตระกูลชิน” เพราะเป็นบอดี้การ์ดคอยปกป้องนายกรัฐมนตรี และนายใหญ่ โดยเฉพาะคนตระกูลชินวัตรทุกรูปแบบ ทั้งงานในสภาและม็อบต้านรัฐบาล เดินหน้าชนทุกเรื่อง แต่กลัวการลงไปแก้ปัญหาภาคใต้
       
       นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ฉายา “ลูกไก่ไวท์ไล” เพราะเป็นถึงรองนายกฯ ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ แต่กลับดิสเครดิตตัวเองจากกรณีโกหกสีขาว คือ การตั้งเป้าทางเศรษฐกิจเกินจริง จนถูกตราหน้าว่าขี้โกหก เป็นเหมือนเด็กเลี้ยงแกะ
       
       พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ฉายา “ตามล่าหน้าหล่อ” เพราะมีตำแหน่งใหญ่โต แต่กลับไม่มีผลงานโดดเด่นด้านความมั่นคง ผลงานที่ประจักษ์อย่างเดียวคือ การไล่ล่าอดีตนายกฯ หน้าหล่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อถอดยศ กรณีหนีการเกณฑ์ทหาร
       
       นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ฉายา “ไพร่เทียม” เพราะเป็นโควตาหนึ่งเดียวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ที่ได้เป็นรัฐมนตรี ซึ่งในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด ก็ยังได้เป็นรัฐมนตรี แต่ผลงานไม่เด่นชัด ที่ชัดเจนมีแค่การพูดเก่ง ดีแต่ปาก เมื่อมาเป็นรัฐมนตรี กลับใช้ชีวิตในลักษณะอำมาตย์ ไม่ต่างจากคำว่าไพร่เทียม
       
       นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ฉายา “บุญทรุด” เพราะเป็นรัฐมนตรีที่รับผิดชอบนโยบายหลักของรัฐบาล คือ รับจำนำข้าว แก้ปัญหาสินค้าราคาแพง แต่กลับถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าแก้ไม่ได้ แทนที่จะเป็นผลงาน กลับเป็นจุดอ่อนให้ถูกโจมตี ขณะเดียวกันถูกมองว่า ยังเป็นรัฐมนตรีอยู่ได้ เพราะเป็นเด็กเจ๊ ด.
       
       นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ฉายา “ด.ดันดี” เพราะเป็นเด็กเจ๊แดง ผลงานไม่ปรากฏ แต่ไม่เคยถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี แถมล่าสุด ยังได้ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการเลยทีเดียว เชื่อว่ามีแรงดันดีจากเจ๊ ด.
       
       นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ฉายา “โฟร์แมนสแตนด์บาย” เพราะเป็นรัฐมนตรีน้องใหม่ และเป็นที่คาดหวังของรัฐมนตรีน้ำดี ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานสารพัด เป็นคนเก่ง ไฟแรง และประกาศไม่ขอยุ่งการเมือง เร่งผลักดันงานด้านคมนาคม
       
       นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ได้ฉายา “ปั้นน้ำเป็นทุน” เพราะผลงานโดดเด่นคือ รับผิดชอบการแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่เนื่องจากปีนี้น้ำไม่ท่วม และมั่นใจว่าเป็นฝีมือของตนเอง จึงคุยโม้และแอ๊กอาร์ต โดยเฉพาะเมื่อได้รับการเลื่อนชั้นจากรัฐมนตรีขึ้นเป็นรองนายกฯ ที่ได้ดูแลโปรเจ็กต์น้ำมูลค่ากว่า 3.5 แสนล้าน
       
       นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ฉายา “สิงห์สำรอง” ซึ่งสัญลักษณ์ ของกระทรวงมหาดไทย คือ สิงห์ แต่การเข้ามาทำหน้าที่ของนายจารุพงษ์ ทั้งตำแหน่งรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ถูกมองว่าเพียงหุ่นเชิด ไม่ใช่ตัวจริง
       
       ส่วนวาทะที่สื่อมวลชนประจำทำเนียบฯ เลือกให้เป็นวาทะแห่งปี ก็คือ “คำว่าลอยตัวนั้น ต่างกับคำว่าไม่รับผิดชอบ” ซึ่งเป็นคำพูดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่กล่าวชี้แจงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2555 หลังถูกกล่าวหาเรื่องขาดความรับผิดชอบ ลอยตัวเหนือปัญหา ไม่ชี้แจงประเด็นที่ถูกกล่าวหา โดยเฉพาะเรื่องรับจำนำข้าว และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ถูกตั้งข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใส และเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง
       
       2. นักข่าวรัฐสภา ตั้งฉายาสภา “จองล้างจ้องผลาญ” ขณะที่ผู้นำฝ่ายค้าน “หล่อ รับ เละ” ด้าน “วิสุทธิ์” คว้าดาวเด่น!

เหตุการณ์ความวุ่นวายระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ในสภาเมื่อ 31 พ.ค.55 ได้รับเลือกจากนักข่าวสภาว่า เป็นเหตุการณ์แห่งปี
       เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. สื่อมวลชนประจำรัฐสภาได้ระดมความคิดเห็นตั้งฉายาผู้ที่ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อสะท้อนภาพการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติในรอบปี 2555 สำหรับฉายาที่สภาผู้แทนราษฎรได้รับ ก็คือ “จองล้าง...จ้องผลาญ” เนื่องจากภาพรวมการทำงานของสภาฯ ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ต่างเสนอญัตติหรือยื่นเรื่องให้คณะกรรมาธิการที่เป็นพรรคพวกเดียวกันตรวจสอบฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งตั้งกระทู้ถามสดเพื่อหาข้อผิดพลาดของอีกฝ่าย ซึ่งไม่ต่างกับการจ้องจะล้างแค้นซึ่งกันและกัน ขณะที่ “จ้องผลาญ” คือการผลาญงบประมาณแผ่นดิน เห็นได้จากการที่ ส.ส.จ้องจัดสรรงบฯ ให้พวกตัวเอง
       
       ส่วนฉายาของวุฒิสภา คือ “ตะแกรงเลือกร่อน” เนื่องจากภาพรวมการทำงานของวุฒิสภาตลอดปีที่ผ่านมา ยังคงมีการแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน เห็นได้จากการที่กลุ่ม 40 ส.ว.พุ่งเป้าตรวจสอบฝ่ายรัฐบาล ขณะที่ ส.ว.อีกกลุ่มก็พยายามออกแรงช่วยรัฐบาลอย่างเต็มที่ จึงเปรียบเหมือนตะแกรงเลือกร่อนเฉพาะสิ่งที่ตัวเองต้องการ
       
       ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ฉายา “ค้อนน้อย...หมวกแดง” เพราะนอกจากไม่สามารถแสดงผลงานให้เห็นว่าเป็นขุนค้อนที่น่าเกรงขามเหมือนในอดีตแล้ว ยังมีข้อครหาเรื่องความเป็นกลาง ประกอบกับมีคลิปเสียงที่สร้างความกระฉ่อนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีส่วนเกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นได้แค่ค้อนน้อยที่สวมหมวกแดง แทนการสวมหมวกประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ
       
       ส่วนนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ได้ฉายา “ผลัดไม้สุดท้าย” เนื่องจากได้ตำแหน่งประธานวุฒิสภามาอย่างเหลือเชื่อ หลัง พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ต้องตกจากเก้าอี้ประธานวุฒิสภา จากคดีออกระเบียบขึ้นเงินเดือนตัวเอง สมัยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ทำให้นายนิคมซึ่งทำหน้าที่รองประธานวุฒิสภา ลงท้าชิงเก้าอี้ผู้นำสภาสูงเป็นครั้งที่ 2 และสามารถเอาชนะคู่แข่งได้อย่างขาดลอย
       
       ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้ฉายา “หล่อ รับ เละ” เนื่องจากตกอยู่ในสภาพต้องคดีทางการเมือง เช่น ถูกดีเอสไอตั้งข้อกล่าวหาพร้อมนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในคดี 91 ศพ ,ถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสั่งถอดยศว่าที่ร้อยตรี จึงเปรียบเหมือนนายอภิสิทธิ์ที่มีหน้าตาหล่อเหลา แต่ถูกมรสุมการเมืองรุมถล่มจนเละ
       
       ส่วนผู้ที่ได้เป็น “ดาวเด่น” คือ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุน ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ซึ่งได้รับคำชมถึงความเป็นกลางจากพรรคฝ่ายค้าน ด้วยการทำหน้าที่ที่สามารถผ่อนหนักเป็นเบา และกล้าแสดงท่าทีตำหนิ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคเดียวกันที่แสดงกิริยาไม่เหมาะสมกลางสภา ขณะที่ “ดาวดับ” ได้แก่ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ,นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ และ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ เพราะแทนที่จะใช้สภาแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศ กลับแสดงพฤติกรรมที่หยาบคายและก้าวร้าว ทำให้ภาพพจน์ของสภาเสื่อมเสียอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
       
       ส่วน “คู่กัดแห่งปี” คือ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ VS ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งในอดีตเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่หลังจาก ร.ต.อ.เฉลิมเข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทย และได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ขณะที่นายชูวิทย์ได้เข้าสภาอีกสมัยในนามหัวหน้าพรรครักประเทศไทย และประกาศตัวชัดเจนว่าจะทำหน้าที่พรรคฝ่ายค้าน ทำให้ทั้งคู่กลายเป็นฝ่ายตรงข้ามและโต้เถียงกันในสภาหลายครั้ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ปี 2555 ไม่มีใครได้เป็น “คนดีศรีสภา” เนื่องจากสื่อมวลชนประจำรัฐสภามองว่า ไม่มีใครแสดงบทบาทคนดีให้เห็นเป็นที่ประจักษ์
       
       สำหรับ “เหตุการณ์แห่งปี” คือ “การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง” ซึ่งถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ไม่น่าจดจำ เพราะเกิดเหตุการณ์วุ่นวายในสภาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน หลัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และคณะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ 4 ฉบับ มีสาระสำคัญเพื่อล้มล้างผลพวงจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ปรากฏว่าได้เกิดกระแสต่อต้านทั้งในและนอกสภา โดยในสภา พรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงการคัดค้านถึงขั้นขว้างปาสิ่งของ
       
       ส่วน “วาทะแห่งปี” คือ “เต็มใจเป็นขี้ข้า” ซึ่งเป็นคำพูดของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่พูดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2555 หลังถูกนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์อภิปรายพาดพิงว่าเพิกเฉยการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เหมือนกับเป็นขี้ข้า ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม ลุกขึ้นชี้แจงว่า “ผมเป็นขี้ข้า แต่เสียใจหน่อย คุณสาทิตย์รู้ช้า ก็เป็นมานานแล้ว แต่ผมไม่เห็นเสียหายเลย ผมเต็มใจ”
       
       3. “ยิ่งลักษณ์” ชี้ ถ้าประชามติไม่ผ่าน แก้ รธน.รายมาตราได้ รบ.ไม่ต้องรับผิดชอบ พร้อมขีดเส้นได้วิธีแก้ รธน.ก่อน 15 ม.ค.!

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป.ชี้ ถ้าทำประชามติไม่ผ่าน รัฐบาลควรยุติการแก้ รธน.
       ความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ยังไม่ยอมเคาะว่าจะทำประชามติหรือไม่ โดยมีมติให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเกี่ยวกับวิธีการออกเสียงประชามติและประชาเสวนาว่าจะดำเนินการอย่างไร เมื่อแล้วเสร็จ ให้สรุปวิธีที่เหมาะสมเสนอ ครม.พิจารณาอีกครั้ง ขณะที่ในพรรคเพื่อไทยเอง ยังเสียงแตก เพราะมีทั้งคนที่เห็นว่าควรทำประชามติ และคนที่เห็นว่าควรเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 3 ไปเลยโดยไม่ต้องทำประชามติ
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกมายืนยันว่า การที่สมาชิกพรรคเพื่อไทยมีความเห็นต่างเกี่ยวกับการทำประชามติ ไม่ถือว่าเป็นความขัดแย้ง พร้อมย้ำว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ได้แก้เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่แก้เพื่อประชาชน
       
       ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงผลการประชุม ส.ส.ของพรรคในวันเดียวกัน(25 ธ.ค.) ว่า ที่ประชุมมีแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 แนวทาง คือ 1.เดินหน้าลงมติในวาระ 3 2.เสนอแก้ไขรายมาตรา และ 3.ทำประชามติ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของพรรคที่ได้หาเสียงไว้ แต่ที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเลือกแนวทางใด เพราะแต่ละแนวทางก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย จึงอยากรอข้อสรุปของคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาศึกษาก่อน จากนั้นจะนำผลสรุปที่ได้เสนอเข้าที่ประชุมพรรคในการสัมมนาที่เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 6-7 ม.ค.อีกครั้ง เพื่อชี้แจงให้ประชาชนเห็นถึงข้อเสียของรัฐธรรมนูญ 2550
       
       นายพร้อมพงศ์ ยังเผยด้วยว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราใน 9 ประเด็น รวม 81 มาตรา ทั้งนี้ มีรายงานว่า ประเด็นที่ ร.ต.อ.เฉลิม เสนอแก้ ได้แก่ เรื่องที่มาของศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง พร้อมเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองไปอยู่ในแผนกหนึ่งของศาลฎีกา เมื่อมีคดีความต่างๆ ขึ้นสู่ศาลฎีกา สามารถเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษามาทำหน้าที่ได้ นอกจากนี้ยังเสนอให้แก้ไขที่มาขององค์กรอิสระต่างๆ เช่น ให้รัฐสภาเป็นผู้สรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) รวมทั้งเสนอให้ยุบผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย
       
       ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ได้หารือเรื่องแก้รัฐธรรมนูญในที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. โดยตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นบางบอนเรียงมาตรา หรือปฏิญญาเขาใหญ่ ในที่สุดก็ต้องศิโรราบให้ดูไบประกาศิต การแก้ไขเรียงมาตราเป็นวิธีที่หงายไพ่โปร่งใสเปิดเผยว่า ต้องการจะลบล้างมาตรา 309 ใช่หรือไม่ เพื่อต้องการยกเลิกองค์กรอิสระ หรือควบคุมให้อยู่ในอำนาจ
       
       ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เห็นเช่นกันว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราตามที่ ร.ต.อ.เฉลิม เสนอ ชัดเจนว่ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทยพยายามลดอำนาจการตรวจสอบของฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ เพราะรัฐบาลต้องการใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้องและพยายามเพิ่มอำนาจตัวเอง
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ขีดเส้นให้พรรคเพื่อไทยสรุปแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จก่อนวันที่ 15 ม.ค. และว่า ไม่ว่ามติพรรคออกมาทางใด ส.ส.ของพรรคพร้อมปฏิบัติตามมติพรรค เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายที่พรรคได้สัญญาไว้กับประชาชน
       
       น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังส่งสัญญาณด้วยว่า รัฐบาลมีแต่ได้กับได้ หากทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้วไม่ผ่าน เพราะมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง รัฐบาลก็กลับไปใช้วิธีแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราได้ ไม่ถือเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลแต่อย่างใด เพราะการทำประชามติไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล แต่เป็นข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ
       
       ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์บอกว่า หากทำประชามติแล้วไม่ผ่าน ก็จะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราแทน โดยชี้ว่า ถ้าจะทำประชามติ รัฐบาลก็ควรรับผิดชอบต่อผลที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่คอยแต่รับชอบอย่างเดียว ดังนั้น ถ้าประชามติแล้วไม่ผ่าน รัฐบาลควรยุติการแก้รัฐธรรมนูญไว้ก่อน นายองอาจ ยังย้ำด้วยว่า ที่ผ่านมา พฤติกรรมของนายกฯ และคนในรัฐบาลชัดเจนว่าทำเพื่อประโยชน์ของคนบางคน ดังนั้นสิ่งที่นายกฯ บอกว่าไม่ได้ทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงไม่ใช่เรื่องจริงแต่อย่างใด
       
       4. ปชป.มีมติส่ง “สุขุมพันธุ์” ลงชิงผู้ว่าฯ กทม.อีกสมัย ด้าน พท.ยังไม่เคาะ รอ 10 ม.ค.!

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเปิดตัว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.(28 ธ.ค.)
       เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้เรียกระชุมกรรมการบริหารพรรค 19 คน เพื่อพิจารณารายชื่อบุคคลที่เสนอตัวลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจำนวน 4 คน ที่คณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่มีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นประธาน พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ประกอบด้วย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ,นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตกรรมการบริหารพรรค ,นายประกอบ จิรกิติ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค และนายอภิชัย เตชะอุบล ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค นอกจากนี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค ยังได้เสนอชื่อนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค ให้ที่ประชุมพิจารณาด้วย โดยขอให้เป็นทางเลือกอีกคนหนึ่ง ทั้งนี้ หลังใช้เวลาพิจารณานาน 4 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.เป็นตัวแทนของพรรคในการลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
       
       นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เผยเหตุที่คณะกรรมการเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ว่า เนื่องจากตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์มีผลงานชัดเจนเป็นรูปธรรม พร้อมเชื่อมั่นว่า นโยบายที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์วางไว้ จะสามารถเอาชนะใจคน กทม.ได้ ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งในการกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน
       
       ส่วนกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เตรียมแจ้งข้อกล่าวหากับ 11 ผู้บริหาร กทม.ในความผิดฐานร่วมกันประกอบกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค คือการต่อสัญญาให้บริษัท บีทีเอสซี บริหารส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น นายชวนนท์ บอกว่า พรรคได้ประเมินแล้วว่า อาจมีการเดินเรื่องดังกล่าวเพื่อดิสเครดิต ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ในระหว่างที่มีการเลือกตั้ง แต่พรรคเชื่อว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พร้อมชี้แจงทุกประเด็น และมั่นใจว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ สามารถเอาชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้
       
       ด้านพรรคเพื่อไทย(พท.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค ได้ออกมาปฏิเสธกรณีมีข่าวว่า แกนนำพรรคและ ส.ส. รวมทั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) และสมาชิกสภาเขต(ส.ข.) ของพรรค มีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับการส่งผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.โดยยืนยันว่าไม่จริงแต่อย่างใด และว่า พรรคจะเปิดตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ได้ในวันที่ 10 ม.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของวันดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน
       
       5. ป.ป.ช. เปิดบัญชีทรัพย์สิน ครม. “ยิ่งลักษณ์ 3” พบ “พงศ์เทพ” รวยสุดเกือบ 3 พันล้าน ขณะที่ “นพ.ชลน่าน” จนสุดแค่ 3 ล้านเศษ!

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวยสุดใน ครม.ยิ่งลักษณ์ 3
       เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้เผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ยิ่งลักษณ์ 3 ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 23 ราย 24 ตำแหน่ง ซึ่งปรากฏว่า รัฐมนตรีที่มีทรัพย์สินมากที่สุดใน ครม.ชุดนี้ คือ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีทรัพย์สินกว่า 331 ล้านบาท ส่วนภรรยามีทรัพย์สินกว่า 2,590 ล้านบาท รวมมีทรัพย์สินทั้งสิ้นกว่า 2,921 ล้านบาท ส่วนผู้ที่มีทรัพย์สินรองลงมาคือ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 1,140 ล้านบาท ตามด้วย นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 963 ล้านบาท สำหรับรัฐมนตรีที่มีทรัพย์สินน้อยที่สุด คือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินแค่ 3 ล้านกว่าบาทเท่านั้น
       
       ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นๆ ได้แก่ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีทรัพย์สินประมาณ 5 ล้านบาทเศษ ไม่มีหนี้สิน , นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 48 ล้านบาท , นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 963 ล้านบาท , นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 25 ล้านบาท , น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 54 ล้านบาท , นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 17 ล้านบาท , นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 46 ล้านบาท , นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 51 ล้านบาท
       
       พล.อ.พฤณฑ์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 49 ล้านบาท , นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 32 ล้านบาท , นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 842 ล้านบาท , นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 17 ล้านบาท , นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 17 ล้านบาท , นายประชา ประสพดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 232 ล้านบาท , นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 83 ล้านบาท , นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 21 ล้านบาท , นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 56 ล้านบาท , นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 12 ล้านบาท และนายฐานิสร์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีทรัพยสินมากกว่าหนี้สินกว่า 43 ล้านบาท


 ASTVผู้จัดการออนไลน์    29 ธันวาคม 2555

6920
 1. “ในหลวง” พระราชทาน ส.ค.ส.ปีใหม่ พร้อมพระราชทานพรให้คนไทยมีความสุข-ความเจริญ ทรงหวังเห็นคนไทยเมตตา-หวังดีต่อกัน!
       
       เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทาน ส.ค.ส.ประจำปี 2556 แก่ประชาชนชาวไทย โดยเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์เชิ้ตลำลองสีฟ้า พระสนับเพลาสีดำ และฉลองพระบาทสีดำ ประทับบนพระเก้าอี้ ด้านขวาของพระเก้าอี้ มีโต๊ะกลมวางพระบรมฉายาลักษณ์ครอบครัวและเชิงเทียนแก้ว ทรงฉายกับสุนัขทรงเลี้ยง คือ คุณทองแดงที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2541 หมอบอยู่แทบพระบาทด้านขวา และคุณมะลิ แม่เลี้ยงคุณทองแดง หมอบอยู่แทบพระบาทด้านซ้าย ด้านหลังพระเก้าอี้ที่ประทับ ตกแต่งด้วยดอกกล้วยไม้หลากสี ด้านขวาบนมีตราพระมหาพิชัยมงกุฎประดับ ส่วนด้านซ้ายมีผอบทองประดับ ด้านล่างของผอบทองมีข้อความว่า ส.ค.ส. พ.ศ. ๒๕๕๖ สวัสดีปีใหม่ และข้อความว่า ขอจงมีความสุขความเจริญ HAPPY NEW YEAR ด้านขวา ใต้ตราพระมหาพิชัยมงกุฎ มีข้อความว่า “ความเมตตาเป็นคุณธรรมนำความสุข ช่วยปลอบปลุกปรุงใจให้หรรษา ความกตัญญูรู้คุณผู้เมตตา ทวีค่าของน้ำใจไมตรีเอย”
       
       นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้พระราชทานพระราชดำรัสในโอกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2556 แก่ประชาชนชาวไทย เผยแพร่ผ่านทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 ม.ค.ความว่า “ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าขอส่งมอบความปรารถนาดีมาอวยพรแก่ท่านทุกคนให้มีความสุข มีความเจริญ และความสำเร็จสมประสงค์ในสิ่งที่ปรารถนา ข้าพเจ้าขอขอบใจท่านเป็นอย่างมากที่พรั่งพร้อมกันมาให้กำลังใจแก่ข้าพเจ้าในคราววันเกิด ด้วยความหวังดีจากใจจริง น้ำใจไมตรีจิตที่ทุกคนทุกฝ่ายแสดงออกในวันนั้นยังประทับอยู่ในความทรงจำของข้าพเจ้าไม่รู้ลืม ในปีใหม่นี้ ข้าพเจ้ายังปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นคนไทยได้ทำจิตทำใจให้มั่นคงอยู่ในความเมตตา และหวังดีต่อกัน ดูแลเอาใจใส่กัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ให้กำลังใจแก่กันและกัน ผูกพันกันไว้อย่างญาติและฉันมิตร ทุกคนทุกฝ่าย ก็ได้ร่วมมือกันสร้างสรรค์ความสุขความเจริญมั่นคงให้แก่ตนและชาติได้ดั่งที่ตั้งใจปรารถนา ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จงคุ้มครองรักษาท่านทุกคนให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากโรคภัย ให้มีความสุขกาย สุขใจ ตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน”
       
       2. แกนนำพันธมิตรฯ ออกแถลงการณ์จี้รัฐบาลประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลโลกตีความคดีพระวิหาร ชี้ หากเพิกเฉย เท่ากับขายชาติ เตรียมยื่นหนังสือนายกฯ 8 ม.ค.นี้!

แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์ เรื่อง “เตรียมพร้อมรับมือวิกฤตชาติ” ที่บ้านพระอาทิตย์(4 ม.ค.)
       เมื่อวันที่ 1 ม.ค. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกมาเผยการเตรียมการของไทยในการสู้คดีปราสาทพระวิหารที่กัมพูชายื่นเรื่องให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ตีความว่าพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตร.กม.เป็นของกัมพูชาหรือไม่ ซึ่งศาลโลกมีกำหนดจะออกนั่งบัลลังก์ฟังการชี้แจงด้วยวาจาครั้งสุดท้ายในวันที่ 15-19 เม.ย.นี้ว่า ขณะนี้ได้หารือทีมที่ปรึกษากฎหมายต่างประเทศ และเตรียมเสนอเป็นท่าทีให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบก่อนจะไปชี้แจงต่อศาลโลก อย่างไรก็ตาม นายสุรพงษ์ พูดเหมือนส่งสัญญาณว่าไทยจะแพ้คดีนี้ โดยบอกว่า คดีนี้มีแต่แพ้กับเสมอตัว ถ้าแพ้ ไทยก็เสียดินแดนให้กัมพูชา ถ้าเสมอตัวก็คือ ปราสาทเป็นของกัมพูชา ส่วนพื้นที่รอบปราสาทเป็นแบบเดียวกับปี 2505 และว่า สิ่งที่เกรงกลัวมากที่สุดคือ หากศาลตัดสินไม่ถูกใจคนบางกลุ่ม แล้วเกิดการชักจูงคนไปในทางที่ผิด จะส่งผลเสียอย่างยิ่ง เพราะคำตัดสินของศาลโลก ทุกประเทศต้องยอมรับ การขัดขืนจะทำให้ไทยอยู่ในสังคมโลกลำบาก ดังนั้นกระทรวงการต่างประเทศจะเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับความเป็นมาของปัญหาพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารว่า รัฐบาลที่แล้วทำอะไร จึงเป็นต้นเหตุให้กัมพูชาไปฟ้องศาลโลก
       
       ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาโต้กลับนายสุรพงษ์ว่า พูดไม่มีความรับผิดชอบ และบิดเบือนที่มาที่ไปของเรื่องดังกล่าว “ที่พูดทำนองว่า รัฐบาลที่แล้วทำให้สถานการณ์ลุกลาม และทำให้กัมพูชานำไปขึ้นศาลโลก ก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะมีการไปยินยอมให้กัมพูชาเอาปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก และเปิดประตูให้กัมพูชาไปเดินสาย เพื่อจะอนุญาตให้กัมพูชาเข้าไปบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่อธิปไตยของเรา”
       
       นายอภิสิทธิ์ ยังดักคอรัฐบาลด้วยว่า อย่าโยนความผิดหรือความรับผิดชอบทางการเมือง และอย่าสมยอมเรื่องพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารกับผลประโยชน์อย่างอื่นกับกัมพูชา เพราะเห็นรัฐบาลพยายามจะรื้อฟื้นการแบ่งผลประโยชน์เรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอยู่ตลอดเวลา พร้อมตั้งข้อสังเกตด้วยว่า รัฐบาลนี้สนับสนุนให้กัมพูชาได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรดกโลก ดังนั้นต้องติดตามว่าจะมีผลกระทบกับพื้นที่ของไทยหรือไม่
       
       ขณะที่นายนพดล ปัทะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกมายืนยันทำนองว่า รัฐบาลคงไม่ชั่วพอที่จะสมยอมกับกัมพูชา เพื่อให้ไทยแพ้คดีในศาลโลก “คงไม่มีใครชั่วพอที่จะสมยอมกับต่างชาติ เพื่อให้ประเทศตัวเองแพ้คดีในศาลโลก สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การที่ฝ่ายค้านและคนบางกลุ่มหาผลประโยชน์จากกรณีข้อพิพาทปราสาทพระวิหารและจุดกระแสคลั่งชาติ เพื่อหวังผลการเมืองภายในประเทศ รัฐบาลจะนำข้อมูลและข้อเท็จจริงเสนอให้ประชาชนได้รับทราบครบทุกประเด็น จนทำให้นักโกหกและนักบิดเบือน ไม่มีที่ยืนในสังคม”
       
       ด้านแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ประชุมและออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 4 ม.ค. เรื่อง “เตรียมพร้อมรับมือวิกฤตชาติ” สรุปความว่า ตามที่รัฐบาลได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้คนไทยยอมรับอำนาจศาลโลกและเตรียมพ่ายแพ้ในการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารนั้น พันธมิตรฯ เคยออกแถลงการณ์แล้วว่า ศาลโลกมีแนวโน้มจะตีความให้เป็นคุณต่อกัมพูชาและเป็นโทษต่อประเทศไทย โดยศาลโลกจะใช้การอ้างอิงกฎหมายปิดปากที่ไทยไม่ปฏิเสธแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ที่จัดทำโดยฝรั่งเศส ซึ่งเป็นมูลฐานในการพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชาเมื่อปี 2505 โดยจะส่งผลให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้สำเร็จ และจะทำให้ไทยต้องเสียดินแดนเพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านไร่ รวมถึงการสูญเสียทรัพยากรพลังงานทางทะเลในอ่าวไทย ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 ล้านล้านบาท
       
       พันธมิตรฯ เห็นว่า เมื่อความผิดพลาดในอดีตของหลายรัฐบาลล่วงเลยมาถึงตอนนี้ จึงเป็นโอกาสสุดท้ายที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะได้รักษาสัจจะที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2554 ว่า ในฐานะคนไทยคนหนึ่งยืนยันว่าจะต้องทำหน้าที่เพื่อปกป้องอธิปไตย ดังนั้น พันธมิตรฯ จึงขอให้รัฐบาลประกาศอย่างเป็นทางการต่อศาลโลกว่า ศาลโลกไม่มีอำนาจในการตีความคดีนี้ และไทยจะไม่รับอำนาจศาลโลกในการตีความคดีนี้ รวมทั้งรัฐบาลไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก โดยไม่ต้องถอนทหารหรือตำรวจตระเวนชายแดนออกจากแผ่นดินไทย และขอให้เร่งผลักดันชุมชนกัมพูชาให้ออกจากแผ่นดินไทย
       
       นอกจากนี้ พันธมิตรฯ ยังขอให้รัฐบาลเร่งฟื้นฟูและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะกับประเทศในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีประเทศใดเข้ามาใช้อำนาจในการละเมิดอธิปไตยของชาติ และให้รัฐบาลยืนยันว่า สมาชิกสหประชาชาติไม่มีอำนาจแทรกแซงอธิปไตยของไทย ให้รัฐบาลยืนยันว่า รัฐสมาชิกอาเซียนจะต้องเคารพอธิปไตย และไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกอาเซียน ,รัฐบาลต้องไม่กลับเข้าไปเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกอีก , รัฐบาลต้องหยุดใช้นักวิชาการที่รับจ้างกระทรวงการต่างประเทศมาโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อให้คนไทยยอมจำนนกับการยกดินแดนไทยให้กับกัมพูชา เพราะนักวิชาการเหล่านี้มีจุดยืนอยู่ข้างฝ่ายกัมพูชา และให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ซึ่งถูกทหารกัมพูชาจับในแผ่นดินไทยโดยเร็ว
       
       แถลงการณ์แกนนำพันธมิตรฯ ระบุด้วยว่า หากรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง
       ดังกล่าว และยังประชาสัมพันธ์ให้คนไทยยอมจำนนกับความพ่ายแพ้อย่างอยุติธรรมในเวทีศาลโลก ย่อมถือว่ารัฐบาลมีเจตนาขายชาติขายแผ่นดิน จะต้องรับผิดชอบหากไทยต้องสูญเสียอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนครั้งนี้ และจะถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ไทยต้องเสียดินแดนในรัชกาลปัจจุบัน เพราะการสมรู้ร่วมคิดของนักการเมืองทุกฝ่าย ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง และ ผู้นำกองทัพที่ไม่ทำหน้าที่ในการปกป้องอธิปไตยของชาติอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และจะต้องร่วมกันรับผิดชอบในความอัปยศทั้งหมดที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป ทั้งนี้ แกนนำพันธมิตรฯ ได้มีมติให้ตัวแทนไปยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวอย่างเป็นทางการต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 8 ม.ค.นี้ เวลา 10.00 น.
       
       3. 7 วันอันตราย ยอดตาย 365 ราย มากกว่าปีที่แล้ว “นครปฐม” ตายมากสุด ขณะที่ “ตราด” ครองแชมป์ไม่เกิดอุบัติเหตุเลย!

       เมื่อวันที่ 3 ม.ค. พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 หรือ 7 วันอันตรายว่า เกิดอุบัติเหตุรวม 3,176 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บรวม 3,329 คน ผู้เสียชีวิตรวม 365 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 29 ราย
       
       สำหรับจังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุเลยในช่วง 7 วัน คือ ตราด ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตตลอดช่วง 7 วัน มี 6 จังหวัด ประกอบด้วย ตราด นครนายก พังงา ระนอง หนองคาย และอุตรดิตถ์ สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด คือ เชียงใหม่ 144 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือ นครปฐม 18 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด คือ เชียงใหม่ 147 คน
       
       ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาแล้วขับ รองลงมาคือ ขับรถเร็ว สำหรับยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ยังคงเป็นรถจักรยานยนต์ พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด คือการไม่สวมหมวกนิรภัย ทั้งนี้ ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน
       
       พล.ต.ท.ชัจจ์ เผยด้วยว่า ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน มุ่งมั่นที่จะลดอุบัติเหตุทางถนนตามแนวทางทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2554-2563 โดยตั้งเป้าลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ต่ำกว่า 10 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนภายในปี 2563 เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทยอย่างยั่งยืน
       
       4. ละคร “เหนือเมฆ” ถูกช่อง 3 ปลดฟ้าผ่า อดฉายตอนจบ สะพัด นักการเมืองสั่งแบน ด้าน “วราเทพ” อ้าง รบ.เปล่าสั่ง!

มีประชาชนเปิดแฟนเพจในเฟซบุ๊กเพื่อแบนช่อง 3 พร้อมทวงคืนละคร “เหนือเมฆ 2” โดยใช้ชื่อ “เอาเหนือเมฆ 2 กูคืนมา”
       เมื่อวันที่ 3 ม.ค. มีข่าวสะพัดว่า ละครโทรทัศน์เรื่อง “เหนือเมฆ 2 มือปราบจอมขมังเวทย์“ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ทุกวันศุกร์-อาทิตย์ ซึ่งเดิมมีกำหนดจะอวสานในวันอาทิตย์ที่ 6 ม.ค.นี้ ได้ถูกนักการเมืองรายหนึ่งสั่งให้ยุติการออกอากาศทันที แต่ทางสถานีเห็นว่าละครยังไม่จบ จึงแก้ปัญหาด้วยการนำ 3 ตอนที่เหลือมาตัดทอนและยำรวมกันให้เหลือตอนเดียว เพื่อจบในวันศุกร์ที่ 4 ม.ค. ขณะที่ผู้ชมที่ทราบข่าว ต่างพากันติดตามว่าละครเรื่องนี้จะจบในวันที่ 4 ม.ค.ตามข่าวหรือไม่
       
        แต่ปรากฏว่า ก่อนหน้าจะถึงเวลาออกอากาศละครดังกล่าว ทางช่อง 3 ได้ขึ้นข้อความประกาศให้ทราบว่า ทางสถานีขออภัยที่ต้องงดออกอากาศละครเรื่อง “เหนือเมฆ 2 มือปราบจอมขมังเวทย์” โดยอ้างว่า เนื่องจากเนื้อหาบางช่วงบางตอนไม่เหมาะสม พร้อมชวนให้ชมละครเรื่องใหม่แทน คือ “แรงปรารถนา” ทั้งที่ละครเรื่องใหม่ มีกำหนดออกอากาศในวันที่ 12 ม.ค.
       
        ทั้งนี้ หลังละคร “เหนือเมฆ 2” ถูกปลดจากผังกลางอากาศ ทำให้คาดกันว่า สาเหตุน่าจะเป็นเพราะเนื้อหาของละครที่บอกเล่าถึงเรื่องราวการคดโกง การแย่งชิงอำนาจของนักการเมือง ที่อาจไปแทงใจดำใครเข้า นอกจากนี้หลายคนยังสงสัยว่า ละครเรื่องนี้เป็นภาคต่อจากภาคแรก ตอนภาคแรกออกอากาศเมื่อปี 2553 เนื้อหาก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับนักการเมืองเช่นกัน ก็ออกอากาศได้ไม่มีปัญหา แต่ครั้งนี้กลับออกได้แค่ 9 ตอน จากทั้งหมด 12 ตอน
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังละคร “เหนือเมฆ 2” ไม่ได้ออกอากาศตอนจบ ส่งผลให้ผู้ชมไม่พอใจเป็นอันมาก โดยต่างโพสต์ข้อความตำหนิการกระทำของช่อง 3 และนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังการสั่งแบนละครเรื่องนี้อย่างหนักบนโลกออนไลน์ เช่น “นักการเมืองประเทศนี้ ต้องบูชาอย่างเดียวสินะ เอามาล้อไม่ได้” , “ขนาดละครยังแทรกแซงได้ นับประสาอะไรกับเรื่องใหญ่” , “นักโทษโผล่ช่อง 11 นายกฯ บอกทำได้ไม่กระทบความมั่นคง เหนือเมฆถูกถอดกลางอากาศ เพราะกระทบความมั่นคงรัฐบาล” หรือแม้แต่นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรรายการ “เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์” ก็ถูกตำหนิเช่นกันที่ไม่นำข่าวละคร “เหนือเมฆ 2” ถูกแบน มาเสนอในรายการ นอกจากนี้ยังมีบางคนเสนอให้นำละครตอนที่เหลือไปลงยูทูปให้ทุกคนได้ดูด้วย
       
       ขณะที่ในอินสตาแกรม “noksinjai” ของนางสินจัย เปล่งพานิช หรือ “นก” นักแสดงชื่อดัง ภรรยานายฉัตรชัย เปล่งพานิช ผู้ผลิตละครเรื่อง “เหนือเมฆ 2” ซึ่งแสดงเป็น “นภา” ภรรยาของนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้บัญชาการหน่วยสืบสวนพิเศษในเรื่อง ได้โพสต์ข้อความก่อนหน้าที่ผู้ชมจะรู้ว่าละครเรื่องนี้ถูกแบนว่า “อย่ากลัวที่จะเป็นคนดี อย่าอายที่จะทำดี” ลงชื่อ “นภา#เหนือเมฆ 2” ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าวทำให้หลายคนเริ่มทราบว่าละครได้รับผลกระทบจากการเมือง จึงมีผู้มาโพสต์ข้อความให้กำลังใจทั้งนกหญิง-นกชาย และทีมงานจำนวนมาก โดย 1 ในนั้น มีผู้จัดละครชื่อดังของช่อง 3 อย่าง หทัยรัตน์ อมตวณิชย์ ด้วย ที่โพสต์ว่า “Keep Walking”
       
       ทั้งนี้ ในอินสตาแกรมของ “noksinjai” ยังโพสต์ข้อความหลังละครถูกแบนด้วยว่า “ไม่สำคัญว่าเกิดอะไรขึ้น สำคัญที่คุณคิดอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น...ขอบคุณทุกกำลังใจค่ะ” ขณะที่ในอินสตาแกรมของทีมงานละคร “เหนือเมฆ 2” ก็มีการโพสต์รูปภาพและข้อความแตกต่างกันไป โดยนายฉัตรชัย เปล่งพานิช โพสต์ภาพหน้าต่างที่มีลูกกรงกั้นอยู่ โดยไม่มีคำอธิบาย ,ขณะที่ของนายนนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับการแสดง โพสต์ภาพโปสเตอร์ของละครพร้อมข้อความ “RIP / เหนือเมฆ 2 ตอนมือปราบจอมขมังเวทย์ / หลับให้สบายนะ”
       
       นอกจากนี้ ยังมีเหล่าดาราโพสต์ข้อความให้กำลังใจผู้จัดและทีมงานละครเรื่องนี้อีกมากมาย เช่น “พจน์ อานนท์” โพสต์ผ่านอินสตาแกรมว่า “เข้าใจทีมงานเหนือเมฆ 2 เลย ไม่เป็นไรให้กำลังใจพี่นก พี่อุ๋ย ละครดีมีสาระดันถูกแบนไม่ให้ฉาย หรือเข้าถึงยุคฮิตเลอร์ซะแล้ว เฮ้อเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย” ด้าน “ตุ๊กกี้ ชิงร้อยชิงล้าน” ให้กำลังใจว่า “คนดีซะอย่าง น้องแรงใจให้ค่ะพี่” ส่วน “โก๊ะตี๋ อารามบอย” โพสต์ข้อความว่า “ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจครับ” ขณะที่ “กุ๊บกิ๊บ สุมณทิพย์” ก็โพสต์ว่า “เราคือคนทำงาน ให้กำลังใจกัน ชนะใจคนดูเป็นพอ” ด้านหนุ่ม “แทค ภรัณยู” โพสต์ว่า “จะแบนทำไม กลัวอะไร”
       
       ไม่ใช่แค่ในแวดวงดาราและประชาชนทั่วไปเท่านั้นที่ให้กำลังใจผู้จัดและทีมงานละคร “เหนือเมฆ 2” แม้แต่นักวิชาการยังวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “แบนละครเหนือเมฆ สะท้อนความรู้สึกไม่มั่นคงของนักการเมือง ละครเหนือเมฆ ประจานพฤติกรรมนักการเมืองชั่ว ในรูปแบบละครทีวี ซึ่งเผยแพร่ในวงกว้าง ทำให้ประชาชนเห็นความเลวร้ายของนักการเมืองไทยชัดเจน ซึ่งแทงใจดำนักการเมืองชั่วทั้งหลาย กลัวว่าประชาชนจะรู้ทันมากขึ้น จึงสั่งให้ยุติการออกอากาศ เพื่อปกปิดความชั่วช้าของตนเอง แต่ยิ่งปกปิด ปิดกั้น มันก็ทำได้ชั่วคราวเท่านั้น ยิ่งปิดกั้นมากเท่าไร ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสั่นคลอนไม่มั่นคงมากขึ้น ยิ่งสั่นคลอนมาก ก็ยิ่งแสดงว่าจุดจบของพวกมันกำลังใกล้เข้ามา”
       
        ด้านนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รีบออกมาปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่านักการเมืองสั่งแบนละคร “เหนือเมฆ 2” โดยบอกว่า เชื่อว่าไม่น่าจะมีใครในรัฐบาลไปสั่งการแน่ เพราะถ้าทำอย่างนั้น คงไม่พ้นต้องเป็นข่าว แต่จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป
       
        ขณะที่ น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดแถลงฝากถึงผู้ที่เข้าไปแทรกแซงสื่ออย่างละครเหนือเมฆ 2 ว่า ละครเรื่องนี้เป็นละครที่ดีมีคติสอนใจหลายอย่าง แต่กลับมีพฤติกรรมเข้าไปแทรกแซง อีกหน่อยคงแทรกแซงรายการตลก แม้แต่ตลกคาเฟ่คงเจอกันถ้วนหน้า
       
        ล่าสุด(5 ม.ค.) กระแสไม่พอใจการกระทำของช่อง 3 ลามถึงขั้นมีการเปิดแฟนเพจในเฟซบุ๊กเพื่อแบนช่อง 3 พร้อมทวงคืนละคร “เหนือเมฆ 2” โดยใช้ชื่อ “เอาเหนือเมฆ 2 กูคืนมา” ซึ่งมีคนเข้าไปกดไลท์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยแต่ละคนต่างระบายความในใจที่มีต่อละครเรื่องดังกล่าว และให้กำลังใจทีมงานผู้ผลิตละคร พร้อมยกคำพูดเด็ดๆ จากละครมาโพสต์
       
       ขณะที่ นก สินจัย ได้ทวีตข้อความขอบคุณทุกกำลังใจที่มีให้ โดยบอกว่า ซาบซึ้งใจที่ทุกคนทำให้รู้ว่าตนไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก “ขอบคุณนะคะ 2-3 วันมานี้ ทำให้ซาบซึ้งว่าเราไม่ได้อยู่ในโลกนี้เพียงลำพัง กราบสวยๆ ด้วยหัวใจจากทีมงาน นักแสดงและผู้จัดเหนือเมฆค่ะ”
       
        ทั้งนี้ มีข่าวสะพัดว่า ทางผู้ใหญ่ในช่อง 3 ได้สั่งไม่ให้นักแสดงเรื่องเหนือเมฆ 2 ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการถูกแบนของละครครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับที่ นก สินจัย ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์คมชัดลึกก่อนหน้านี้ว่า “สาเหตุจะมาจากอะไรนั้น ขออนุญาตไม่มีคำพูดใดๆ ทั้งสิ้น และไม่สะดวกที่จะตอบเลย ถามว่ารู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้ ขออนุญาตไม่มีคำพูดใดๆ ทั้งสิ้น จริงๆ ต้องขอโทษด้วย เราไม่สะดวกที่จะพูดเลย เพราะเราคงไม่สามารถตอบคำถามอะไรในส่วนนี้ได้ ขออนุญาตไม่มีคำตอบอะไรแล้วกัน ต้องขอโทษด้วยจริงๆ”


ASTVผู้จัดการออนไลน์    6 มกราคม 2556

6921

พลาดไม่ได้นะครับ เตรียมตัวเตรียมใจ ไว้พบกัน วันศุกร์ ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ นี้

6922
สภากาชาดไทยเทงบกว่า 2 พันล้านบาท สร้าง “ศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสมา” เชื่อ ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ปีละ 1 พันล้านบาท สามารถถอนทุนคืนได้ภายใน 3 ปี และมีความเพียงพอต่อผู้ป่วยในประเทศ ด้าน “เกาหลีใต้” หนุนเงินอีก 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อบรมบุคลากรสภากาชาดไทยด้านการผลิตพลาสมา ยกระดับความสัมพันธ์ 2 ประเทศ
       
       วันนี้ (4 ม.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น.ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติบรมราชินีนาถ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย แถลงข่าวและลงนามสัญญาก่อสร้าง “ศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสมา” ร่วมกับบริษัท Green Cross Corporation สาธารณรัฐเกาหลี ว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยสามารถนำพลาสมามาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์โลหิตเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยได้ตั้งแต่ปี 2552 แต่สามารถผลิตได้เพียงบางชนิดและผลิตได้ในปริมาณจำกัดคือประมาณ 10,000 ลิตรต่อปี ขณะที่ความต้องการของผู้ป่วยสูงขึ้น ทำให้ต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศเป็นหลักซึ่งมีราคาแพง ส่งผลให้โรงพยาบาลทั่วประเทศต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูง ลดโอกาสการเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์ของผู้ป่วย
       
       “ยกตัวอย่าง Albumin ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลาสมาที่มีความต้องการมากที่สุด มีปริมาณนำเข้าเฉลี่ยร้อยละ 18 ต่อปี แต่จากสถิติกระทรวงสาธารณสุขปี 2553 ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดเข้ารักษาในโรงพยาบาล 269,204 คน และคาดว่า ในปี 2556 จะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มอีก 133,767 คน รวมทั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคพันธุกรรม ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์พลาสมา ทำให้ผลิตภัณฑ์มีไม่เพียงพอต่อผู้ป่วย” เลขาฯสภากาชาดไทย กล่าว
       
       นายแผน กล่าวอีกว่า เพื่อสนองต่อนโยบายบริการโลหิตแห่งชาติ พ.ศ.2553 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติจึงจัดตั้งศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสมาขึ้น เพื่อลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานการผลิตยา (GMP) ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงยาและบริการทางการแพทย์ให้กับประชาชน ทั้งนี้ ศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสมาจะก่อสร้างในที่ดินของสภากาชาดไทยเนื้อที่กว่า 10 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ใช้งบประมาณการออกแบบและก่อสร้างกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งในปี 2558 จะเริ่มผลิตผลิตภัณฑ์พลาสมา โดยมีกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 200,000 ลิตรต่อปี ลดการนำเข้าได้ 1,000 ล้านบาท และสามารถคืนทุนได้ภายใน 3 ปี
       
       “ศูนย์ฯจะสามารถผลิตผลิตภัณฑ์พลาสมาได้จำนวน 3 ชนิด คือ 1.Albumin ใช้รักษาโรคไต โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน 2.IVIG (Intravenous Immunoglobulin) รักษาโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และ 3.Factor VIII รักษาโรคฮีโมฟีเลีย เอ โรคเลือดออกง่ายหยุดยากทางพันธุกรรม เชื่อว่า เมื่อผลิตได้อย่างเต็มกำลังจะช่วยให้ไทยมีผลิตภัณฑ์พลาสมาที่มีคุณภาพ มีความเพียงพอ ครบวงจร และมุ่งหน้าเป็นศูนย์กลางการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เลขาฯสภากาชาดไทย กล่าว
       
       Mr.CHO Sun-Tae, President of Green Cross Corporation สาธารณรัฐเกาหลี กล่าวว่า บริษัท Green Cross Corporation ได้สนับสนุนดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสมาให้แก่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติมานานกว่า 14 ปี การลงนามสัญญาก่อสร้างศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสมาในครั้งนี้ เชื่อว่า จะสามารถช่วยให้การจัดตั้งศูนย์ฯของประเทศไทยบรรลุผลสำเร็จ มีผลิตภัณฑ์พลาสมาที่มีคุณภาพสูง และเพียงพอต่อการบริการประชาชน นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างสภากาชาดไทยและบริษัท Green Cross Corporation แน่นแฟ้นขึ้น และเกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทย และสาธารณรัฐเกาหลี
       
       H.E.Mr.Jeon, Jae Man เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สาธารณรัฐเกาหลีและไทย มีความสัมพันธ์ทางการทูตตั้งแต่ปี 2501 ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่งการร่วมมือจัดตั้งศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสมาในครั้งนี้ รัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลีได้ให้การสนับสนุนความช่วยเหลือทางวิชาการตามโครงการจัดตั้งศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสมาแก่สภากาชาดไทย จำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจัดให้มีการอบรมบุคลากรสภากาชาดไทย ทั้งที่ประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี ในด้านเทคโนโลยีการผลิตพลาสมา ซึ่งเชื่อว่าการจัดตั้งศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสมาในประเทศไทยจะช่วยให้เกิดความร่วมมือใหม่ๆ ในอนาคตระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีและไทยต่อไป
       
       น.ส.วรมณี คณานุรักษ์ รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยและสาธารณรัฐเกาหลี มีความสัมพันธ์มายาวนานกว่า 60 ปี มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในด้านเศรษฐกิจ การเมือง การค้า การลงทุน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะขยายครอบคลุมสาขาต่างๆ มากยิ่งขึ้นในอนาคต อย่างปี 2555 มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับผู้นำรัฐบาลของทั้งสองประเทศอย่างเป็นทางการ ซึ่งทั้งนายกรัฐมนตรีของไทย และประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี ต่างเห็นพ้องที่จะยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีให้มีความใกล้ชิดในทุกระดับ
       
       “การลงนามสัญญาก่อสร้างศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสมาถือเป็สนตัวอย่างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั้งสองประเทศ ส่งผลให้ผู้ป่วยในไทยได้รับการรักษาด้วยผลิตภัณฑ์พลาสมาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง ในราคาที่เป็นธรรม นอกจากนี้ ไทยยังสามารถพัฒนาศักยภาพและเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตที่ได้มาตรฐานสากลของสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองในด้านการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสมาได้ในอนาคต”

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    4 มกราคม 2556

6923
 สถาบันผลิตแพทย์ จี้รัฐเร่งดูแล ชี้ ที่ผ่านมาขาดแคลนงบพัฒนาต้องควักเงินตัวเองจ่ายทั้งซื้ออุปกรณ์แพทย์ เทคโนโลยีที่จะยกระดับการรักษา
       
       นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และคณบดี ผู้บริหารจากสถาบันการผลิตแพทย์ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการผลิตแพทย์และการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ ว่า ทางสถาบันการผลิตแพทย์ ได้เสนอปัญหาเรื่องการขาดแคลนงบประมาณที่จะนำไปใช้เพื่อยกระดับพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของแพทย์ไทย โดยที่ผ่านมาสถาบันการผลิตแพทย์ต้องนำรายได้ตนเองไปดำเนินการ แต่บทบาทของสถาบันการผลิตแพทย์นั้นแตกต่างจากโรงพยาบาล สถานพยาบาลในสังกัด สธ. ที่ไม่ได้มีหน้าที่แค่รักษาผู้ป่วยเท่านั้น แต่หน้าที่สำคัญ คือ การผลิตแพทย์ ทั้งแพทย์ทั่วไป แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมทั้งการซื้อเทคโนโลยีใหม่เพื่อยกระดับคุณภาพการรักษา ดังนั้น จึงอยากให้กระทรวงศึกษาฯ กระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาล พิจารณาดูแลปัญหาขาดแคลนงบประมาณด้วย เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นานก็จะส่งผลทำให้มาตรฐานและศักยภาพแพทย์ไทยที่อยู่ในลำดับต้นๆ ของกลุ่มอาเซียนเช่นที่ผ่านมาลดลงได้
       
       ขณะเดียวกัน สถาบันการผลิตแพทย์ เสนอว่า ขอให้กำหนดเรื่องงบประมาณวิจัยให้ชัดเจนว่าควรจะอยู่สัดส่วนเท่าใดหรือกี่เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณด้านสาธารณสุข และงบประมาณที่สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย เพราะที่ผ่านสถาบันการผลิตฯต้องนำเงินรายได้มาซื้ออุปกรณ์และเทคโนโลยีเอง รวมทั้งขอให้ร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยรัฐอุดหนุนให้สถาบันการผลิตฯส่วนหนึ่ง อีกส่วนมาจากรายได้ของสถาบันแพทย์ เพื่อร่วมสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการผลิตแพทย์ในอนาคต ทั้งแพทย์ทั่วไปและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะเวลานี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญขาดแคลนจำนวนมาก ดังนั้นการผลิตแพทย์จึงควรเน้นการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น
       
       “ผม และ รมว.สาธารณสุข ได้รับเรื่องไว้ เพื่อจะนำพิจารณาในส่วนของยุทธศาสตร์ของประเทศด้วย เนื่องจากการที่จะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในด้านการแพทย์ เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ของภูมิภาค ก็เป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะที่ผ่านมามีชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาเรื่องการแพทย์ในไทยและเข้ามารักษาพยาบาลจำนวนมาก หากเร่งพัฒนาต่อไปก็จะช่วยเพิ่มพูนศักยภาพด้านนี้ได้มากขึ้น และจะช่วยทำประโยชน์ให้กับประชาชน ตลอดจนสร้างรายได้ให้กับประเทศด้วย” นายพงศ์เทพ กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    4 มกราคม 2556

6924
สัญญาณเตือน “รพ.ม.อ.” ใกล้ถึงจุดวิกฤต ส่งผลกระทบทั่วภาคใต้ “บุคลากรทางการแพทย์” ทยอยลาออกเป็นจำนวนมาก และเตรียมลาออกระลอกใหญ่
       
       วันนี้ (3 ม.ค.) นายมนูญ หมวดเอียด พยาบาลวิชาชีพชำนาญการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครรินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี กลุ่มสหสาขาวิชาชีพสุขภาพคณะแพทยศาสตร์ (ม.อ.) พร้อมด้วยพยาบาลวิชาชีพประมาณ 150 คน ได้พบกับ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีที่ตัวแทนบุคลากรของ รพ.ม.อ. ได้ยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อขอให้บรรจุบุคลากรทางการแพทย์ รพ.ม.อ.เป็นข้าราชการ
       
       นายมนูญ เปิดเผยว่า ม.อ. เป็นโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่บุคลากรในสังกัด แต่บุคลากร รพ.ม.อ. ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์แต่อย่างใด เพราะส่วนใหญ่กระทรวงศึกษาธิการจะดูแลครู ขณะที่ ม.อ. ไม่มีการบรรจุบุคลากรทางการแพทย์เป็นข้าราชการตั้งแต่ พ.ศ.2541 แต่จะจ้างในตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัย หรือลูกจ้างแทน ทำให้บุคลากรทยอยลาออก เพราะขาดขวัญ และกำลังใจ
       
       “ช่วงปี 2552-2555 ได้ลาออกไปประมาณ 300 คน ที่สำคัญ รพ.ม.อ. เป็นโรงพยาบาลหลักในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ รองรับตำรวจ และทหารที่บาดเจ็บจากเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงเหตุการณ์ความไม่สงบซึ่งเดิมมี 1,000 เตียง เฉลี่ยแล้ว พยาบาลวิชาชีพ แพทย์ ได้ทยอยลาออกประมาณปีละ 100 คน ไปทำงานกับโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ จนเกิดภาวะขาดแคลนแพทย์ และพยาบาลของโรงพยาบาลรัฐในที่สุด ส่งผลให้แพทย์ พยาบาลไม่พอเพียงต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยในภาคใต้ รัฐเองจะต้องสูญเสียงบประมาณในการผลิตแพทย์ พยาบาล แต่ละปีเป็นเงินจำนวนมหาศาล” นายมนูญกล่าว
       
       นายมนูญ ยังเปิดเผยต่ออีกว่า ขณะนี้ยังมีแพทย์ และพยาบาล ตลอดจนสาขาอื่นๆ ที่เตรียมลาออกอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการลาออก พยาบาลชำนาญการ แพทย์เฉพาะทาง หรือสาขาอื่นๆ จะทำให้ รพ.ม.อ.ในอนาคตเกิดภาวะวิกฤตได้ เพราะขาดผู้ชำนาญการ แล้วจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ มากมาย และ ม.อ.เองตอนนี้ก็อยู่ภาวะที่ค่อนข้างจะขาดแคลนอยู่แล้ว แต่หากรัฐบาลไม่เร่งดำเนินการ ช่วยให้เขาเข้าบรรจุเป็นข้าราชการก็จะมีการลาออกกันเป็นจำนวนมาก รพ.ม.อ.จะเกิดภาวะวิกฤต จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยไข้ไปทั่ว 14 จังหวัดภาคใต้อย่างเลี่ยงไม่พ้นเชื่อว่าอนาคตอันใกล้นี้จะเกิดขึ้น
       
       “ผู้ป่วยจาก 14 จังหวัดภาคใต้ต้องส่งเข้ามารักษาใน รพ.ม.อ.ในแต่ละปีประมาณ 45,000 คน พร้อมทั้งคนป่วยใกล้เคียง และจากโรงพยาบาลจังหวัดใกล้เคียง รวมแล้วประมาณ 950,000 คนต่อปี ในขณะที่มีบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล ประมาณ 921 คน พยาบาลที่เป็นข้าราชการเงินเดือน 9,140 บาท ส่วน รพ.ม.อ. 18,000 บาท และหากไปเข้าโรงพยาบาลเอกชน เงินเดือนประมาณ 20,000 บาท พร้อมบวกกับประสบการณ์ปีละ 500 บาท หากมีประสบการณ์ 5 ปี ก็จะได้ประมาณ 2,500 บาทต่อเดือน โรงพยาบาลเอกชนเตรียมรองรับอย่างเต็มที่ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ของ ม.อ.” นายมนูญเปิดเผยว่า ส่วนใหญ่แพทย์ พยาบาล และสาขาอื่นๆ ที่ลาออกไป ไปทำงานกับโรงพยาบาลเอกชนทั่วทุกภูมิภาค แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเข้าไปยังส่วนกลางที่กรุงเทพฯ รพ.ม.อ.ขาดทั้งแพทย์ อาจารย์แพทย์ พยาบาล ฯลฯ จนส่งผลกระทบต่ออาคารศูนย์อุบัติเหตุ ขนาดสูง 15 ชั้น ซึ่งมีลานเฮลิคอปเตอร์จอดขึ้นรับส่งผู้ป่วยได้สร้างเสร็จแล้ว แต่ขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานแพทย์ และพยาบาล
       
       “คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่เมื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล ฯลฯ สำเร็จแล้ว ไม่สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้ ถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น ต่างกับหน่วยงานอื่นๆ เมื่อสำเร็จแล้ว ก็สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้ ม.อ.มีแพทย์เฉพาะทางบางโรค เป็นมือ 1 ของประเทศไทย และเป็นมืออันดับ 3 ของภูมิภาคอาเซียนด้วย เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลที่สุด เตรียมตัวลาออกกันเป็นจำนวนมาก หากมีการลาออกกันเป็นจำนวนมาก จะขาดพยาบาลชำนาญการ มีความเชี่ยวทางด้านโรคต่างๆ จะเกิดภาวะวิกฤตต่อเนื่อง ม.อ. และผู้ป่วยทั่วภาคใต้ส่งสัญญาณมาถึงรัฐบาลให้เร่งดำเนินการแก้ไขก่อนที่จะถึงวิกฤตวันนั้น”

ASTVผู้จัดการออนไลน์    3 มกราคม 2556

6925
ศปถ.สรุปยอด 7 วันอันตรายช่วงปีใหม่ เกิดอุบัติเหตุ 3,176 ครั้ง เสียชีวิต 365 ราย เพิ่มจากปีที่ผ่านมา 29 ราย บาดเจ็บ 3,329 คน เชียงใหม่แชมป์อุบัติเหตุมากสุด ส่วนนครปฐมยอดตายสูงสุด ขณะที่ตราดเป็นจังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุเลย
       
       พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.มหาดไทย (มท.2) เป็นประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 ว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 2 ม.ค. 2556 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ก้าวสู่ปีใหม่อย่างปลอดภัย ร่วมใจลดอุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 293 ครั้ง (ปี 2555 เกิด 237 ครั้ง) เพิ่มขึ้น 56 ครั้ง หรือร้อยละ 23.63 ผู้เสียชีวิต 34 ราย (ปี 2555 ผู้เสียชีวิต 21 ราย) เพิ่มขึ้น 13 ราย หรือร้อยละ 61.90 ผู้บาดเจ็บ 293 คน (ปี 2555 ผู้บาดเจ็บ 259 คน) เพิ่มขึ้น 34 คน หรือร้อยละ 13.13
       
       จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 18 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 19 คน โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาแล้วขับ ร้อยละ 32.42 ขับรถเร็ว ร้อยละ 25.94 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.21 พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 28.13 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.16 ถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 37.20 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 33.45 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 34.47 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 49.24 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,350 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 68,314 คน
       
       สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 7 วัน (วันที่ 27 ธ.ค. 55-2 ม.ค. 56) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,176 ครั้ง (ปี 2555 เกิด 3,093 ครั้ง) เพิ่มขึ้น 83 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 2.68 ผู้เสียชีวิตรวม 365 ราย (ปี 2555 เสียชีวิต 336 ราย) เพิ่มขึ้น 29 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 8.63 ผู้บาดเจ็บรวม 3,329 คน (ปี 2555 บาดเจ็บ 3,375 คน ) ลดลง 46 คน หรือร้อยละ 1.36
       
จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุตลอดช่วง 7 วัน ได้แก่ ตราด
จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตตลอดช่วง 7 วัน รวม 6 จังหวัด ได้แก่ ตราด นครนายก พังงา ระนอง หนองคาย และอุตรดิตถ์
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 144 ครั้ง
จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครปฐม 18 ราย
จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 147 คน     
โดย
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาแล้วขับ ร้อยละ 38.73 ขับรถเร็ว ร้อยละ 22.58
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.25
พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 24.39
ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 62.56
บนถนนนอกเขตทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 62.59
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 30.64
ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 54.82 ทั้งนี้

ได้เรียกตรวจยานพาหนะ 4,704,479 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 688,381 ราย โดยมีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่มากที่สุด 202,893 ราย รองลงมา ไม่สวมหมวกนิรภัย 194,759 ราย
       
       พล.ต.ท.ชัจจ์กล่าวต่อว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่เป็นกำลังสำคัญในการปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 รวมถึงผู้ใช้รถใช้ถนนที่ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ศปถ.มุ่งมั่นที่จะลดอุบัติเหตุทางถนนตามแนวทางทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2554-2563 มีเป้าหมายในการลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ต่ำกว่า 10 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนภายในปี พ.ศ. 2563 เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทยอย่างยั่งยืน
       
       นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า เนื่องจากปีนี้มีจำนวนผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทำให้สถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจะได้นำข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนมาวิเคราะห์สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และกำหนดแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงปกติและช่วงเทศกาลให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา รวมถึงผลักดันกลไกการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับมาตรการทางสังคมให้มีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น พร้อมให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความรู้และปลุกจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน โดยบูรณาการทุกภาคส่วนรณรงค์สร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง เน้นดำเนินการในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่กลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดความสูญเสียและให้ถนนทุกสายมีความปลอดภัยในทุกพื้นที่

ASTVผู้จัดการออนไลน์    3 มกราคม 2556

6926
สรุปอุบัติเหตุปีใหม่ 5 วันอันตราย ตายแล้ว 254 ศพ บาดเจ็บ 2,454 คน นครปฐมดับมากสุด 12 ศพ ส่วนเชียงใหม่ ครองแชมป์เกิดอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บมากสุด
       
       วันนี้ (1 ม.ค.) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปอุบัติเหตุบนท้องถนน ตั้งแต่วันที่ 27-31 ธ.ค. 2555 รวม 5 วัน ว่าได้เกิดอุบัติเหตุขึ้น 2,351 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 254 ราย และบาดเจ็บ 2,454 คน ส่วนอุบัติเหตุ ประจำวันที่ 31 ธ.ค. 2555 เกิดขึ้น 524 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 52 ราย
       
       ทั้งนี้ จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครปฐม 12 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บและอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ บาดเจ็บ 105 คน อุบัติเหตุรวม 104 ครั้ง ส่วนจังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุในช่วง 5 วัน ได้แก่ ตราด จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 5 วัน รวม 11 จังหวัด ได้แก่ น่าน อุตรดิตถ์ อุทัยธานี นครพนม หนองคาย ตราด นครนายก อ่างทอง ตรัง พังงา และระนอง
       
       นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า วันนี้เป็นสุดท้ายของวันหยุดยาวช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับจากภูมิลำเนาและท่องเที่ยว จึงได้สั่งการให้ทุกจังหวัดปรับแผนการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับสภาพการจราจร เพื่อรองรับการเดินทางกลับของประชาชน โดยเน้นการจัดตั้งจุดตรวจบนถนนสายหลัก เรียกตรวจผู้ขับขี่ที่กระทำผิดกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด พร้อมกวดขันพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทต้องมีระดับแอลกอฮอล์เป็นศูนย์
       
       สำหรับจังหวัดที่เป็นเส้นทางหลักไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะเส้นทางที่มุ่งสู่กรุงเทพมหานคร ให้เตรียมช่องทางพิเศษและจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตามจุดเสี่ยงจุดอันตราย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน และขอให้ประชาชนวางแผนการเดินทางและตรวจสอบเส้นทางจราจร พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่น กรณีประสบอุบัติเหตุให้แจ้งขอความช่วยเหลือทางสายด่วน 1669 ซึ่งสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลทุกแห่ง โดยไม่ต้องแจ้งสิทธิการรักษา

โดย ทีมข่าวอาชญากรรม    1 มกราคม 2556
http://www.manager.co.th

6927
จี้หน่วยงานรัฐ สปสช.กทม. ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ แก้ปัญหาเด็ก กทม.ฟันผุ ปี 54 พบเด็กอายุ 5 ขวบฟันน้ำนมผุเพิ่ม 81% และเสี่ยงต่อการเกิด 7 โรคไม่พึงประสงค์ แจงรัฐมีกองทุนงบบริการทันตกรรมปีละพันกว่าล้านบาท ขณะที่ผู้ปกครองต้องสูญเงินกว่า 100 ล้านต่อปีเพื่อดูแลฟันลูก เหตุ สปสช. กทม.หมกเม็ดเลือกอุ้มเฉพาะเด็กสังกัดโรงเรียน กทม. ทิ้งเด็กเอกชน-สพฐ. ส่งผลให้เด็ก กทม.มีคุณภาพด้านสุขภาพฟันต่ำกว่าเด็กต่างจังหวัด ทั้งที่มีทันตแพทย์ และจ่ายภาษีมากกว่า วงในพบพิรุธนโยบายเอื้อพวกพ้องผลักเด็กใน กทม.ไปรักษาคลินิกเอกชนแทน
       
       “ลูกรักฟันดีเริ่มที่ซี่แรก” แคมเปญรณรงค์ให้ผู้ปกครองให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพช่องปากของเด็ก เพราะปัญหาช่องปากจะนำไปสู่โรคร้ายในที่สุด “ฟันผุ” ในเด็กจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ เพราะในระยะยาวเด็กจะมีภาวะเสี่ยงต่อการขาดพัฒนาการ และเป็นโรคทางเดินหายใจขั้นรุนแรง
       
       ฟันผุในเด็ก! ก่อให้เกิดอันตรายมากกว่าที่คิด
       
       หลายคนคงไม่ทราบว่างบบริการทันตกรรมในปี 2554 มีมูลค่าสูงมากกว่าพันล้านบาท ขณะที่ปี 2554 พบโรคฟันผุในเด็กอายุ 3 ขวบ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 61.7 และรัฐได้วางเป้าหมายทันตกรรมสุขภาพปี 2563 ในการลดแนวโน้มการเพิ่มให้เหลือร้อยละ 50
       
       หากแต่ทุกวันนี้การเข้าถึง และการรับรู้ของประชาชนถือว่าน้อยมาก เมื่อวัดจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า การเข้าถึงบริการทันตกรรมของประชาชนทั้งประเทศมีไม่ถึง 10%
       
       ทุ่มกว่าพันล้าน! ล้มเหลว เด็กฟันผุเพิ่มทะลุ 80%
               
       ตัวเลขงบบริการทันตกรรมในปี 2554 แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ ส่วนที่ 1 วงเงิน 2.25 บาทต่อประชาชนราว 47 ล้านคน โดยเน้นการทำฟันปลอมให้ผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนที่ 2 เน้นกลุ่มเด็กวัยเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ในวงเงิน 36 บาทต่อประชากร ในประชากรกว่า 63 ล้านคน
       
       แม้งบบริการทันตกรรมจะสูงเกินพันล้านบาท โดยเน้นที่กลุ่มเด็กวัยเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี กลับพบว่า “ล้มเหลว” เมื่อดูจากการสำรวจทันตสุขภาพปี 2554 พบอัตราฟันน้ำนมผุในเด็กปฐมวัยมากถึง 61% และเมื่ออายุ 5 ขวบอัตราการเพิ่มขึ้นเป็น 81% สอดคล้องกับตัวเลขการสำรวจ ปี 2554 ของทางสำนักอนามัยภารกิจประจำพื้นฐานพบความรุนแรงของโรคฟันผุในเด็กอายุ 3 ขวบ อยู่ที่ 3.68 ซี่ต่อคน และเด็กอายุ 12 ปี อยู่ที่ 1.33 ซี่ต่อคน
       
       ขณะที่ภาครัฐใช้เงินจากภาษีของประชาชน เข้าดูแลจัดการในเรื่องบริการทันตกรรม แต่หารู้ไม่ว่าเด็กใน กทม.วันนี้ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่มีอัตราการจ่ายภาษีสูงสุด และมีทันตแพทย์มากที่สุดในประเทศ กลับได้รับโอกาสในการดูแล รักษา และป้องกันด้านทันตกรรมต่ำกว่าเด็กในต่างจังหวัดเสียอีก ปัญหาความไม่เท่าเทียมเกาะกิน จนอาจส่งผลร้ายให้เด็กใน กทม.ฟันผุ และเป็นโรคร้ายตามมา
       
       ดังนั้น เด็กฟันผุทุกคน กำลังต้องเสี่ยงกับโรคร้ายอะไรบ้าง?
       
       เด็กฟันผุเสี่ยง 7 ปัญหาอันตราย “โรคทางเดินหายใจ-ฟันแท้เน่า”
       
       แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ระบุว่า การปล่อยให้เด็กฟันผุเป็น “อันตราย” เพราะส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย และจิตใจ รวมถึงพัฒนาการของเด็ก และอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคตามมาอีก 7 ปัญหาดังนี้
       
       1. เด็กที่ฟันผุเมื่อทิ้งไว้จะส่งผลลุกลามไปสู่การเป็น “โรคทางเดินหายใจ” อันเนื่องมาจากแบคทีเรีย เชื้อโรคจากฟันที่ผุจะลงสู่ลำคอตลอดเวลา
       
       2. ฟันผุนานจะทำให้เกิดเป็นหนอง แล้วมีโอกาสลามไปที่หน่อฟันแท้ ส่งผลให้ฟันแท้อาจเปลี่ยนสี และผุได้ด้วย
       
       3. ฟันที่ผุจนเหลือแต่ตอ จนต้องถอนออก ฟันที่ขึ้นใหม่ และขึ้นซ้อน กลายเป็นฟันเก ไม่เป็นระเบียบ ส่งผลให้เด็กเกิดความไม่มั่นใจ และการบดเคี้ยวไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้ผู้ปกครองต้องเสียเงินเกือบครึ่งแสน เพื่อการจัดระเบียบฟันของลูกหรือที่เรียกกันว่า การจัดฟันหรือดัดฟัน นั่นเอง
       
       4. การที่เด็กฟันผุเร็วจนเหลือแต่ตอ หรือต้องถอนฟันออก จะส่งผลร้ายแรงทำให้ลูกของคุณออกเสียงไม่ชัด เป็นอุปสรรคในการพัฒนาการออกเสียงที่ถูกต้อง
       
       5. ก่อให้เกิดความเจ็บปวดทรมาน บดเคี้ยวอาหารลำบาก
       
       6. เจ็บคอ ไอ เรื้อรัง
       
       7. มีกลิ่นปาก ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง
       
       “อย่างกรณีฟันหน้าผุตั้งแต่อายุ 4 ขวบ หากไม่ถอนออกก็จะเจ็บ และมีเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายผ่านลำคอ แต่หากถอนออกแล้ว ต้องรอจนอายุ 6 ขวบ ฟันแท้จึงจะขึ้นใหม่ ส่งผลต่อการออกเสียงของเด็ก ทำให้พูดไม่ชัด ทั้งนี้พบว่าเด็กที่ปวดฟันรุนแรง จนต้องขาดเรียน มีมากถึงปีละ 500,000 กว่ารายทั่วประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อการเรียนด้วย” แหล่งข่าวในวงการสาธารณสุข ระบุ
               
       พบพิรุธเชิงนโยบายหลายจุด
       เด็ก กทม. “เอกชน-สพฐ.” ถูกทิ้ง
       
       ในเรื่องการดูแลด้านทันตกรรมในเด็กนั้น ข้อเท็จจริงซึ่งผู้ปกครองและเด็กทั่วประเทศอาจไม่รู้ว่ารัฐมีการจัดสรรงบประมาณไว้ดูแลในส่วนนี้ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้รับผิดชอบกองทุนงบบริการทันตกรรม แบ่งตามพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน
       
       ในส่วนของพื้นที่ กทม. จะมี สปสช.กทม.เป็นผู้วางนโยบาย เป้าหมายด้านทันตกรรม โดยแบ่งสัดส่วนการตรวจสุขภาพช่องปากที่ 70% ประกอบด้วยการป้องกัน โดยการเคลือบฟลูออไรด์เจล (Gel) หรือวานิช (Vanish) และอีกส่วนงานเป็นการบริการทันตกรรมผสมผสาน (comprehensive care) อยู่ที่ 20% แบ่งเป็นด้านการป้องกัน โดยการเคลือบหลุมร่องฟัน (ซีแลนด์ ) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดฟันผุ และในส่วนของการรักษา ประกอบด้วยการอุดฟัน ถอนฟัน การขูดหินปูน รักษารากฟันที่ซีก D กับ E
       
       โดยมีหน่วยให้บริการด้านทันตกรรมกับเด็กใน กทม.ด้วยกัน 3 ส่วน ประกอบด้วย
       
       1. สำนักอนามัยมีบริการทันตกรรมทั่วไป และทันตกรรมเฉพาะทางสาขา
       
       2. คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย
       
       3. คลินิกทันตกรรม (ภายใต้โครงการ)
       
       ขณะที่การดูแลบริการทันตกรรมในเด็กต่างจังหวัด สปสช.ได้จัดสรรงบประมาณให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นผู้กำหนดนโยบาย โดยมีเป้าหมายที่การตรวจสุขภาพช่องปาก 100% และส่วนงานการบริการทันตกรรมผสมผสาน (comprehensive care) อยู่ที่ 50% โดยไม่มีการแบ่งแยกระหว่าง โรงเรียนในสังกัดหน่วยงานการปกครองท้องถิ่น หรือโรงเรียนในสังกัดเอกชน
       
       ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อมีการนำแผนการบริหารจัดการทันตกรรมสุขภาพ รวมถึงขั้นลงมือปฏิบัติมาประเมินเบื้องต้น พบว่า กทม.มีปัญหาการบริหารจัดการ และมีการเลือกปฏิบัติขณะที่ข้อมูลยังพบด้วยว่าเด็กต่างจังหวัดได้รับการดูแลเรื่องทันตกรรมดีกว่าเด็กใน กทม.
       
       เริ่มตั้งแต่การวางนโยบายของ สปสช.กทม. ที่มีการกำหนดเป้าของ กทม. ในเรื่องการตรวจสุขภาพช่องปากเด็กเพียง 70% และการบริการทันตกรรมผสมผสาน (comprehensive care) อยู่ที่ 20% เท่านั้น ต่างจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นผู้กำหนดนโยบาย เป้าในการตรวจสุขภาพช่องปากเด็กต่างจังหวัดที่ 100% และส่วนงานบริการทันตกรรมผสมผสาน (comprehensive care) อยู่ที่ 50% ทั้งๆ ที่ใน กทม.มีทันตแพทย์มากที่สุดในประเทศ
       
       อีกทั้งใน กทม.มีการเลือกปฏิบัติกับเด็กอย่างไม่เท่าเทียมในกรณีที่สำนักอนามัย กทม.สามารถทำงานในเชิงรุก ลงพื้นที่ได้ แต่จะเจาะจงเฉพาะโรงเรียนในสังกัด กทม.เท่านั้น ขณะที่เด็กที่เรียนในสังกัดอื่นๆ ไม่ได้รับสิทธิ์นี้ หากต้องการรับบริการจะต้องเดินทางมารับการบริการเองตามสถานที่ที่ระบุไว้ใน 3 ส่วนข้างต้นเท่านั้น
       
       ขณะเดียวกันสำนักอนามัย กทม.ได้เพิ่มเป้าการทำการเคลือบหลุมร่องฟัน (ซีแลนด์ ) เป็น 50% ซึ่งอยู่ในส่วนหนึ่งของการบริการทันตกรรมผสมผสาน (comprehensive care) ที่มีเป้ารวมอยู่ที่ 20% ดังนั้นเด็กในสังกัดโรงเรียนอื่นจะมีโอกาสน้อยลงไปอีก
       
       “จำนวนเด็กที่เรียนอยู่ใน กทม.มีประมาณ 60,000 คน อยู่ในโรงเรียนสังกัด กทม.ประมาณ 40,000 คน ในสัดส่วนโรงเรียนที่มีการเปิดสอนในระดับประถมศึกษาจำนวน 431 โรงเรียน และเปิดสอนระดับมัธยมศึกษาอีก 4 แห่งที่เหลืออยู่ในโรงเรียนสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. โรงเรียนรัฐ และโรงเรียนเอกชน อีกประมาณ 20,000 คน”
       
       ทั้งนี้ จากจำนวนเด็ก กทม. ที่ไม่ได้รับการดูแลสุขภาพฟันที่เท่าเทียม โดยเฉพาะผลจากการทำงานเชิงรุก ที่เลือกปฏิบัติกับโรงเรียนในสังกัด กทม. เท่านั้น ทั้งๆ ที่ผู้ปกครอง ประชาชนใน กทม. ต่างจ่ายภาษีที่นำมาใช้ทั้งสิ้น และผลจากปัญหาการปฏิบัติที่ต่างกัน อาจส่งผลต่อสุขภาพปากของเด็ก โดยเฉพาะการเคลือบหลุมร่องฟัน (ซีแลนด์ ) จำนวน 1 ซี่ สำหรับเด็ก ป.1-ป.6 และเด็ก ม.1-ม.6 จำนวน 4 ซี่ ซึ่งถือว่าจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดฟันผุในเด็กได้
       
       “เด็กในช่วง ป.1-ป.6 จะมีหลุมร่องฟันทุกคน แต่การดูแลทันตกรรมให้ดีคือจะต้องมีการทำการเคลือบหลุมร่องฟัน ไม่ให้เศษอาหารลงไปสะสมจนกลายเป็นฟันผุ ซึ่งกองทุนทันตกรรมมีเป้าหมายที่จะดูแลในส่วนนี้ด้วย แต่ กทม.รับนโยบายมา แต่เลือกปฏิบัติเฉพาะโรงเรียนสังกัด กทม.เท่านั้น และมีผลงานน้อยกว่าต่างจังหวัดมาก”
       
       ที่สำคัญนอกจากงานป้องกันเชิงรุก จะไปบริการให้เฉพาะเด็กโรงเรียนในสังกัด กทม.เท่านั้น แล้ว เด็กอื่นจะต้องไปรับบริการที่ศูนย์อนามัยเท่านั้น ยังพบว่าการไปศูนย์อนามัยต่างๆ จะทำได้แค่ทันตกรรมป้องกัน และการทำทันตกรรมรักษา ก็ยังมีการจำกัดสถานที่ โดยมีให้บริการแค่ 6 จุด คือ 1. ศูนย์บริการสาธารณสุข 15 ลาดพร้าว 2. ศูนย์บริการสาธารณสุข 19 วงศ์สว่าง 3. ศูนย์บริการสาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง 4. ศูนย์บริการสาธารณสุข 23 สี่พระยา 5. ศูนย์บริการสาธารณสุข 39 ราษฎร์บูรณะ 6. ศูนย์บริการสาธารณสุข 40 บางแค
       
       โดย 6 แห่งจะเปิดทำการรักษาแค่ 08.00-12.00 น. ในวันและเวลาราชการเท่านั้น!
       
       “ปัญหาอยู่ตรงที่สถานที่ให้บริการไม่เข้าถึงชุมชน เปิดในเวลาไม่เหมาะสม เป็นช่วงที่ผู้ปกครองทำงาน และเด็กต้องไปเรียนหนังสือเท่านั้น”
       
       ตรงนี้จึงเป็นปัญหาสำหรับการที่เด็กใน กทม.จะเข้าถึงบริการที่รัฐบาลจัดให้ยากขึ้นไปอีก
       
       นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดในการทำงานเชิงรุกของ กทม.ในการให้บริการด้านทันตกรรมแก่เด็กในโรงเรียนสังกัด กทม. ว่าผู้ที่ดำเนินการต้องเป็นทันตแพทย์ในส่วนของราชการเท่านั้น ต่างจากต่างจังหวัดที่ให้ทันตภิบาลสามารถดำเนินการได้
       
       การกำหนดเงื่อนไขไว้เช่นนี้ส่งผลให้เป็นอุปสรรค โดยเฉพาะเรื่องจำนวนของทันตแพทย์ที่ไม่เพียงพอต่อการลงพื้นที่จริงแม้ กทม.จะมีจำนวนทันตแพทย์มากก็ตาม
       
       แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งข้อสงสัย จากตัวเลขรายงานของปี 2554 ที่ระบุว่า ในพื้นที่ กทม.ได้ทำการเคลือบหลุมร่องฟัน (ซีแลนด์) เป็นจำนวนฟันเด็ก ป.1-ป.6 ไปประมาณ 120,000 ซี่ และหากนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์กับระยะเวลาในการเปิดเรียน และจากข้อกำหนดการปฏิบัติงานที่ต้องเป็นทันตแพทย์ราชการเท่านั้นน่าจะไม่ใช่ตัวเลขที่ถูกต้อง เพราะหากทำได้จริงตามตัวเลขในรายงานนั้นจะต้องใช้แพทย์เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
       
       “ตัวเลขนี้น่าจะไม่ชอบมาพากล ที่สำคัญการดำเนินงานไม่ต้องส่งหลักฐาน และไม่ต้องตั้งเบิกด้วย ทำให้การรายงานผลไม่สัมพันธ์กับข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่”

ASTVผู้จัดการออนไลน์    30 ธันวาคม 2555

6928
 กพย. ชี้การเมืองแทรกแซงระบบ ทำคนไทยได้ยาแพงขึ้นทุกวัน กรรมการยาเผยบริษัทยากดดันบัญชียาหลักผ่านความคิดหมอ การเมืองจับมือธุรกิจยาข้ามชาติ ปรับโครงสร้างกรรมการยาสนุกมือ
       
       
       เวลาที่คนเราไม่สบาย เราจะคิดว่าจะไปรักษาอย่างไร คนที่มีเงินทองไม่เดือดร้อนก็จะไปโรงพยาบาลเอกชน เพราะคิดว่าโรงพยาบาลเอกชนนั้น หมอจะให้ยาอย่างดีมารักษาเรา ยาดีเหล่านั้นคือยาอะไร
       
       ขณะที่คนที่มีรายได้น้อยก็จะไปหาหมอในโรงพยาบาลรัฐ หรือตามสวัสดิการทางการแพทย์ในกองทุนสุขภาพ 3 กองทุนที่เรามีชื่ออยู่ คือ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) แต่จะมีกี่คนที่รู้ว่าระบบยาในประเทศไทยขณะนี้ แต่ละภาคส่วนเลือกยามาใช้กับผู้ป่วยของตนอย่างไร เงินจ่ายไปน้อย ได้ยาห่วยมารักษาหรือได้ยาดี ส่วนไหนดี ส่วนไหนห่วย ใครคัดเลือกยาเหล่านี้ ?
       
       อนาคตอันใกล้ที่รัฐบาลกำลังมีความพยายามรวม 3 กองทุนเข้าด้วยกันกับกองทุนสุขภาพถ้วนหน้า และยาแบบไหนที่จะถูกคัดเลือกมาให้หมอรักษาเรา เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่ต้องรีบทำความเข้าใจ
       
       วงจรยาในปัจจุบัน
       
       ยาที่ไหลเวียนอยู่ในระบบยาปัจจุบันมี 2 ประเภท คือ ยาต้นแบบ/ยาต้นฉบับ (Original drugs) และยาสามัญ (Generic drugs) โดยส่วนใหญ่ยาต้นแบบ (Original drugs) จะมีราคาสูง เพราะเป็นยาที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาขึ้นมาใหม่ ซึ่งต้องผ่านกรรมวิธีและกระบวนการทดลองหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การศึกษาสารตั้งต้นจำนวนมาก และทดลองกับสัตว์ทดลองก่อนนำมาใช้กับคนเพื่อให้แน่ใจว่ามีฤทธิ์ในการรักษาจริงและผลข้างเคียงน้อยที่สุด กว่าจะสำเร็จเป็นตัวยาแต่ละตัวต้องใช้เวลาศึกษาวิจัยนานหลายปี ใช้เงินในการลงทุนจำนวนมาก และผู้ผลิตยาต้นแบบจะได้รับสิทธิบัตรผูกขาดในการผลิตยาประมาณ 20 ปี และเมื่อสิทธิบัตรสิ้นสุดลง ผู้ผลิตรายอื่นก็สามารถผลิตยานั้นออกจำหน่ายได้
       
       ส่วนยาสามัญ (Generic drugs) เป็นยาที่ผลิตขึ้นภายใต้เครื่องหมายการค้าอื่นที่ไม่ใช่เครื่องหมายการค้าตามสิทธิของผู้ครองสิทธิบัตรยา แต่มีตัวยาสำคัญเป็นชนิดเดียวกันกับยาต้นแบบ โดยผลิตออกมาหลังจากยาต้นแบบได้รับการรับรองและอนุมัติให้ใช้ในการรักษาโรคแล้ว จึงอาจจะลอกเลียนสูตรยาต้นแบบเมื่อยาเหล่านั้นหมดสิทธิบัตรลง ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้มาก เพราะไม่ได้ศึกษาวิจัยเอง ยาสามัญจึงมีราคาถูกกว่ายาต้นแบบหลายเท่าตัว เพราะเมื่อยาต้นแบบหมดสิทธิบัตรแล้ว ผู้อื่นจะสามารถนำสูตรไปผลิตได้ เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงยาของประชาชน แต่ต้องมีการควบคุมมาตรฐานการผลิตให้ได้ยาที่มีคุณภาพดี จนสามารถกล่าวได้ว่ายาสามัญมีคุณสมบัติเทียบเท่าตัวยาต้นแบบ เนื่องจากมีสูตรทางยาเช่นเดียวกับยาต้นแบบ ในบางกรณีอาจเป็นยาที่มาจากสายการผลิตเดียวกันกับยาต้นแบบเลย เพียงแต่ตีตราคนละยี่ห้อเท่านั้น
       
       ทั้งนี้ สิ่งที่เหมือนกันระหว่างยาต้นแบบกับยาสามัญ คือ ชนิดของตัวยาสำคัญ ขนาดความแรงของยา รูปแบบยา ผลของยา อาการข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยา และวิธีการใช้ยา ซึ่งก่อนการจำหน่าย ยาสามัญต้องผ่านการทดสอบประสิทธิภาพเปรียบเทียบกับยาต้นแบบ เพื่อเป็นหลักประกันว่ายาสามัญมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างจากยาต้นแบบ ส่วนสิ่งที่ต่างกันระหว่างยา 2 แบบนี้ คือ แหล่งที่มาของวัตถุดิบ แหล่งผลิตยา สารอื่นๆ ในตำรับที่ไม่ใช่ตัวยาสำคัญ เทคโนโลยีและกรรมวิธีในการผลิต รวมทั้งการควบคุมคุณภาพ ซึ่งบางครั้งสิ่งที่แตกต่างกันเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้การรักษาไม่ได้ผล แม้ว่าจะมีสารออกฤทธิ์เป็นสารชนิดเดียวกันก็ตาม

       “3 กองทุน” รับยาสามัญถ้วนหน้า
       
       สำหรับสถานการณ์การใช้ยาในระบบสาธารณสุขไทย ยาต้นแบบได้ถูกนำมาใช้ในโรงพยาบาลเอกชนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนโรงพยาบาลรัฐมีการจ่ายยาต้นแบบในยาบางตัวที่ไม่มีในบัญชียาหลัก และในส่วนของการร่วมจ่าย สำหรับคนไข้ในระบบกองทุนสุขภาพที่ต้องการยานอกบัญชียาหลักโดยยอมจ่ายค่ายาเอง
       
       ขณะที่คนไข้ในระบบกองทุนสุขภาพต่างๆ คือ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค), ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ จะได้ยาตามระเบียบการเบิกจ่ายของกองทุนต้นสังกัด ซึ่ง ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ระบุว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และระบบประกันสังคม ใช้วิธีการเหมาจ่ายรายหัว เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย การจ่ายยาจึงยึดตามยาในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ
       
       ส่วนระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการใช้ระบบการจ่ายตามปริมาณการใช้บริการ และระบบเบิกจ่ายตรง ซึ่งกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เป็นผู้จ่าย โดยที่ผ่านมามีงานวิจัยที่ระบุว่าการเบิกจ่ายของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่เป็นแบบปลายเปิดไม่จำกัดปริมาณ และมีการเบิกจ่ายย้อนหลัง กอปรกับระเบียบการเบิกจ่ายที่บวกค่ายาให้โรงพยาบาลอีกเม็ดละ 50 สตางค์ ทำให้มีการจ่ายยานอกบัญชียาหลักจำนวนมาก จนกระทั่งงบประมาณรายจ่ายด้านค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสูงถึงกว่า 7 หมื่นล้านบาท ในช่วงหลังจึงเริ่มมีระเบียบการจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติที่เข้มงวดขึ้นเพื่อคุมงบประมาณ
       
       สอดคล้องกับแพทย์โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งที่ระบุว่า ในช่วง 2-3 ปีนี้ กองทุนสุขภาพทั้ง 3 กองทุนกำหนดให้ใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นหลัก โดยยาในบัญชียาหลักส่วนใหญ่เป็นยาสามัญ ซึ่งมีราคาถูกกว่ายาต้นแบบค่อนข้างมาก เช่น ยาสามัญบางตัวถูกกว่ายาต้นแบบถึง 3 เท่า แต่ประสิทธิผลในการรักษาใกล้เคียงกัน ก็ถือว่ามีความคุ้มค่ากว่ามาก
       
       แต่ก็ยังมีการถกเถียงกันในเรื่องความแตกต่างของประสิทธิผลของยาทั้ง 2 แบบ และสิทธิข้าราชการที่ถูกลดลงมาเยอะมาก เพื่อจำกัดยาให้ใกล้เคียงกัน ซึ่งส่วนหนึ่งยังเป็นเหตุผลให้แพทย์โรงพยาบาลรัฐลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน เพราะสวัสดิการการรักษาพยาบาลดีกว่า
       
       ยามเจ็บป่วย แม้แต่แพทย์เองก็อยากได้ยาต้นแบบ !

       รวมกองทุนสุขภาพ คนไทยเข้าถึงยาอะไร - ถูกลงหรือแพงขึ้น
       
       อย่างไรก็ดี คนไทยยังต้องจับตามองระบบยาที่จะนำมาใช้ในกองทุนสุขภาพอย่างใกล้ชิด เพราะมีแนวโน้มที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมีใบสั่งให้นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รีบรวม 3 กองทุนเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างผลงานลดความเหลื่อมล้ำตามนโยบายประชานิยมตัวท็อปที่เรียกคะแนนเสียงถล่มทลายให้แก่พรรคมาตลอด ยาบัญชียาหลักแห่งชาติในอนาคตจะแพงขึ้นหรือถูกลงยังเป็นที่ถกเถียงในระบบสาธารณสุข แต่คนที่กุมคำตอบไว้แล้วคือ ฝ่ายการเมือง และกลุ่มธุรกิจยาที่อยู่เบื้องหลัง ?
       
       ในฝั่งที่มองแง่ดีอย่าง นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการรวม 3 กองทุนสุขภาพได้สำเร็จ คนไทยทุกคนในระบบกองทุนสุขภาพจะไม่ได้เข้าถึงเฉพาะยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น แต่จะเข้าถึงยานอกบัญชียาหลักเหมือนกันทั้งหมดด้วย
       
       “คนจะเข้าถึงยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติในลักษณะเดียวกับที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีกลุ่มยาจำเป็นราคาแพง ซึ่งเกิดจากการต่อรองราคายาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็น โดยจ่ายเป็นยา เพื่อให้คนเข้าถึงยาจริงๆ หากรวม 3 กองทุนทุกคนจะเข้าถึงยาแพงเหมือนกันหมด และจะช่วยประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยที่สูงขึ้นทุกปีๆ ได้มาก”
       
       ส่วนฝ่ายที่ยังหวั่นใจ อาจกังขาในเรื่องเดียวกับ ผศ.ดร.นิยดา ที่มองว่า ค่าใช้จ่ายด้านยาในอนาคตอาจจะแพงขึ้นได้อีก !
       
       ฝ่ายการเมืองอยากคุมเบ็ดเสร็จ 3 กองทุนอยู่แล้ว เม็ดเงินเบี้ยประกันมหาศาลที่สามารถกอบโกยไปใช้ได้อีกเยอะ คนไทยจะได้ยาแบบไหนยังไม่ทราบ แต่จากรูปการณ์การออกระเบียบที่ไม่ค่อยถูกต้องหลายตัว เช่น ล่าสุดก็ยอมให้เบิกจ่ายยากลูโคซามีนซัลเฟตได้
       
       “มีแนวโน้มว่าเขาจะผลาญเงินต่อแน่ๆ เพื่อสร้างฐานเสียงประชานิยมของเขา ส่วนในบอร์ด สปสช.ชุดใหม่ก็มีกรรมการที่เป็นพรรคพวกที่ฝ่ายการเมืองคุมเสียงส่วนใหญ่ได้ ขณะที่สำนักงานประกันสังคมมีกรรมการแพทย์ที่ไม่แข็ง น่าจะถูกชักจูงได้ ดังนั้น การที่ฝ่ายการเมืองสามารถเข้ามาคุมนโยบายระบบสุขภาพได้หมดทั้งกระทรวง อนาคตหากรวมกองทุนแล้วจะใช้ยาอะไรยังไม่รู้ แต่เชื่อว่าน่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น” ผศ.ดร.นิยดา กล่าว
       
       สอดรับกับ น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล สมาชิกเอฟทีเอวอทช์ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ซึ่งกล่าวถึงผลกระทบด้านยา หากประเทศไทยยอมรับทริปส์พลัส (TRIPs Plus) ในกรอบการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ว่า สิ่งที่น่ากังวลในรายละเอียดของทริปส์พลัสที่กระทบต่อระบบยามีหลายประการ เช่น การผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity - DE) ที่จะกีดกันไม่ให้รัฐบาลใช้ข้อมูลทดลองทางคลินิกเพื่อขึ้นทะเบียนยาให้กับยาสามัญ และการออกใบรับรองขยายการคุ้มครองเพิ่มเติม (supplementary protection certificates) ซึ่งจะส่งผลให้ยาต้นแบบที่นำเข้าจากบริษัทยาในยุโรปกว่า 40% ของยาทั้งหมดในประเทศไทยได้รับการขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรเพิ่มอีก 5 ปี จากปกติคุ้มครองเพียง 20 ปี และจะมีการขยายการผูกขาดข้อมูลด้านยา หรือ DE ทำให้ยาต้นแบบแพงขึ้นและถูกผูกขาดยาวนานยิ่งขึ้น
       
       “ปัญหาที่จะเกิดตามมา คือ เมื่อยาต้นแบบได้รับการขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรเพิ่มอีก 5 ปี ยาสามัญก็เข้าสู่ตลาดไม่ได้ ทำให้ระบบบัญชียาหลักแห่งชาติที่ใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพ มีความจำเป็นต้องนำยาราคาแพงเข้าสู่บัญชียาหลัก และหากระบบหลักประกันสุขภาพซึ่งจัดสรรงบแบบเหมาจ่ายรายหัวมีเงินไม่เพียงพอที่จะรับภาระราคายา คนก็จะเข้าไม่ถึงยา ระบบหลักประกันสุขภาพก็ลดความน่าเชื่อถือลง หรืออาจอยู่ไม่ได้เลย ทั้งที่เป็นนโยบายที่ดีของรัฐ แต่ถ้ารัฐบาลยอมรับทริปส์พลัสก็เท่ากับไปทำลายนโยบายด้านสุขภาพทั้งหมดที่รัฐสร้างขึ้น”
       
       นอกจากนั้น ทริปส์พลัสยังมีหลายวิธีในการขัดขวางยาสามัญ เช่น อาจถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นยาปลอม และใช้กฎหมายเข้าดำเนินการจับกุมทั้งระบบซัปพลายเชนของยาสามัญ ไม่ว่าจะเป็นคนขายยา หรือขนส่ง ก็อาจถูกจับทั้งหมด ทำให้ไม่มีใครอยากคบกับยาสามัญ และสุดท้ายยาสามัญจะตาย ในขณะที่บริษัทยาต้นแบบหากำไรได้เต็มที่ เช่นเดียวกับประเทศจอร์แดนที่รับทริปส์พลัสจากสหรัฐอเมริกา ทำให้ปัจจุบันยาจอร์แดนแพงกว่ายาอียิปต์ถึง 8 เท่า ทั้งที่ยาเหล่านั้นไม่มีสิทธิบัตรแล้ว แต่ก็ไม่มียาสามัญเข้าสู่ตลาด

       บริษัทข้ามชาติวิ่งซบอกการเมือง ดันยาเข้าระบบ
       
       ประเทศไทยจัดทำบัญชียาหลักแห่งชาติครั้งแรกในปี พ.ศ. 2524 โดย นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในสมัยนั้น มีสาระสำคัญคือ นโยบายยาหลักแห่งชาติและการพึ่งตนเองด้านยา โดยจัดให้มียาปลอดภัย มีคุณภาพดี ในราคาพอสมควร กระจายอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะยาสำหรับสาธารณสุขมูลฐาน รวมถึงการปรับปรุงวิธีการด้านการจัดหาและกระจายยา การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และสนับสนุนการผลิตยาภายในประเทศของภาครัฐและเอกชน
       
       
       อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.นิยดาระบุว่า บัญชียาหลักถูกปรับปรุงคัดเลือกยาใหม่เข้าบัญชีมาตลอด จนกระทั่งรายการยามากขึ้น และมีการเปลี่ยนแนวคิดใหม่ โดยนำบัญชียาหลักมาใช้เพื่อการเบิกจ่าย หลักการที่ยึดหลักตามองค์การอนามัยโลก คือมีรายการยาเท่าที่จำเป็นหรือที่เรียกว่าMinimum จึงกลายเป็น Maximum ไปโดยปริยาย
       
       ปัจจุบันยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นยาที่ใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และระบบสวัสดิการอื่นๆ โดยบัญชียาหลักฯ มี 3 บัญชี คือ
1. บัญชียาสำหรับโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข
2. บัญชียาจากสมุนไพร
3. เภสัชตำรับโรงพยาบาล
โดยมีรายการยาแผนปัจจุบันกว่า 800 รายการ บัญชียาสมุนไพร 71 รายการ ครอบคลุมโรคที่มีความจำเป็นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของประเทศไทย
       
       ทั้งนี้ ยาจะถูกคัดเลือกเข้าสู่ระบบบัญชียาหลัก โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ซึ่งตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ. 2551 มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นฝ่ายเลขานุการ และคณะกรรมการมาจากหลายภาคส่วน อาทิ ฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำ ผู้บริหารกองทุนสุขภาพ ภาคประชาสังคม มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำนโยบายแห่งชาติด้านยาและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ การพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ การกำหนดราคากลางยา การส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อปฏิบัติงานทั้งหมด 4 ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ คณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดราคากลางยา คณะอนุกรรมการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล
       
       โดย นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการ สปสช. และอดีตคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติชุดที่ผ่านมา ในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชน ระบุว่า ขั้นตอนการคัดเลือกบัญชียาสำหรับโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข (แผนปัจจุบัน) มีทั้งหมด 6 ขั้นตอนคือ
ขั้นตอนที่ 1 เปิดรับแบบเสนอยา จัดทำรายชื่อยา จัดกลุ่มยา และตรวจสอบสถานะข้อมูลทะเบียนยา
ขั้นตอนที่ 2 พิจารณาและจัดทำข้อมูลรายละเอียดทางวิชาการของยาแผนปัจจุบัน พัฒนาปรัชญา แนวคิด หลักการและเกณฑ์การคัดเลือกยาแผนปัจจุบันเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ
ขั้นตอนที่ 3 พิจารณาประมวล ประสานผลการพิจารณายาของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญแห่งชาติด้านการคัดเลือกยา ข้อเสนอของคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และคณะทำงานต่อรองราคายา มาพิจารณาในภาพรวมให้เป็นไปตามปรัชญาและหลักการอย่างครบถ้วน และเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ
ขั้นตอนที่ 4 พิจารณาแก้ไขปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติให้ทันสมัย ตามข้อเสนอของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญแห่งชาติด้านการคัดเลือกยา 17 สาขา คณะทำงานประสานผลการพิจารณายาในบัญชียาหลักแห่งชาติ และคณะทำงานสนับสนุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ขั้นตอนที่ 5 จัดทำประกาศเสนอประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติลงนาม และ
ขั้นตอนที่ 6 จัดทำประกาศราชกิจจานุเบกษา
       
       อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจยาโดยเฉพาะบริษัทยาข้ามชาติจะไม่ค่อยชอบแนวคิดบัญชียาหลักแห่งชาติ เพราะยาต้นแบบเป็นยาใหม่ที่มีราคาแพงมาก จึงไม่ค่อยมีโอกาสเข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักเท่าไร ดังนั้นจึงมีแรงต่อต้านตลอดเวลา พร้อมกับการพยายามวิ่งเต้นเพื่อผลักดันยาเข้าสู่ระบบบัญชียาหลัก หรือการส่งเสริมการขายกับแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ เช่น เชิญแพทย์ไปเที่ยวต่างประเทศ ให้ทุนวิจัย เชิญไปบรรยาย ให้เงินไปประชุม หรือแม้กระทั่งบริการรับส่งลูกและช่วยดูแลแฟลตให้ขณะที่แพทย์ไปต่างประเทศ เป็นต้น เพื่อให้แพทย์เลือกใช้ยาของตน จนกระทั่งกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่ช่วยกดดันคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติอีกที
       “บริษัทยาจะทำงานทางความคิดกับหมอผ่านทางเซลส์ยา ผ่านการจัดประชุมสนับสนุนงานวิชาการ หรือไปตามโรงเรียนแพทย์ให้แพทย์คุ้นชินกับชื่อการค้าของตน บางครั้งมากับโปรแกรมส่งเสริมการขาย เช่น ถ้าแพทย์คนไหนใช้ยาก็จะได้รับการตอบสนองเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนต่างๆ กระบวนการแบบนี้จะมีผลทางอ้อมคือ ทำให้หมอส่งเสียงขึ้นมาว่า ฉันจำเป็นต้องใช้ยาตัวนี้ๆ ดังนั้นเวลาที่มีการสำรวจข้อมูลยา ก็จะพบว่ายาตัวนี้มีการใช้เยอะ วิธีการนี้จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่บริษัทยาทำกัน”
       
       นอกจากนั้น บริษัทยาอาจทำการตลาด โดยการสร้างมูลค่า สร้างภาพว่ายาแบรนด์เนมเป็นยาดี และถ้ายาตัวนั้นไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลัก แต่แพทย์มีการสั่งใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นประเด็นขึ้นมาว่า ยาตัวนี้ทำไมมีการใช้เยอะ มีความสำคัญ แต่ทำไมไม่อยู่ในบัญชียาหลัก เท่ากับเป็นการกดดันทางอ้อมให้กรรมการต้องพิจารณาว่าเป็นยาจำเป็นจริงไหม มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพจริงไหม คล้ายๆ กรณียากลูโคซามีนซัลเฟตที่กำลังเป็นปัญหา ซึ่งไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลัก เพราะกรรมการเห็นว่าไม่มีประสิทธิผล แต่ภายนอกเกิดแรงต้านในทำนองเดียวกันนี้ เป็นต้น
       
       อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการนำยาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติจะต้องผ่านการคัดกรองยาโดยคณะอนุกรรมการพิจารณาคัดกรองยาชุดหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยคนจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ นักวิชาการ ข้าราชการ ตัวแทนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และตัวแทนของหน่วยบริการ
       “และในการพิจารณายาแต่ละครั้ง อนุกรรมการทุกคนจะต้องแสดงตัวว่าตนเองมีผลประโยชน์เกี่ยวพันกับยาตัวนั้นๆ หรือไม่ หากมีต้องเปิดเผยตัวและออกจากการพิจารณา จากนั้นหลักการพิจารณายาหลักใหญ่จะดูที่
1. ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของยาว่ามีความสำคัญจำเป็นจริงๆ หรือไม่
2. พิจารณาถึงความเหมาะสมและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจว่ามีราคาแพงเกินไปหรือไม่
หากยาผ่านเกณฑ์ดังกล่าว กรรมการที่พิจารณาเรื่องนี้จะเรียกบริษัทยามาเจรจาต่อรองราคา และพิจารณาว่าถ้าเอายานั้นเข้าสู่ระบบบัญชียาหลักแห่งชาติจะมีผลกระทบต่องบประมาณของระบบหลักประกันสุขภาพหรือไม่ การคัดเลือกยาจะต้องมองอย่างรอบด้านละรอบคอบว่ายานั้นมีความจำเป็นจริงๆ ตัวคณะอนุกรรมการที่พิจารณาเรื่องนี้ในระบบบัญชียาหลักแห่งชาติเอง จึงได้รับความน่าเชื่อถือ เพราะมีกลไกกำกับตรวจสอบค่อนข้างดี” นายนิมิตร์กล่าว
       
       สอดคล้องกับ ผศ.ดร.นิยดา ซึ่งบอกว่า จากการประเมินคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติในแง่ของธรรมาภิบาลเป็นคณะที่ได้คะแนนค่อนข้างดี โดยได้คะแนน 8 เต็ม 10 เนื่องจากมีระบบแถลงเรื่องการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะอนุกรรมการก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณายา อย่างไรก็ดี สิ่งที่ยังขาดคือระบบติดตามตรวจสอบว่าใครพูดจริง พูดไม่จริง ทำให้ได้คะแนนไม่ดีเท่าที่ควร
       
       แต่ประเด็นใหม่ที่จะทำให้โครงสร้างคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติถูกลดศักยภาพลง คือ การปรับโยกย้ายคณะกรรมการยาชุดสำคัญโดยฝ่ายการเมือง คณะอนุกรรมการกำหนดราคากลางยาและคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่เพิ่งหมดวาระลง กำลังถูกปรับไปอยู่ภายใต้คณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัยและค่าบริการทางการแพทย์ ซึ่งตั้งขึ้นตามมติ ครม.วันที่ 19 มิถุนายน 2555 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ประกอบด้วยคณะกรรมการจากฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำ และผู้บริหารกองทุนสุขภาพ โดยอ้างเหตุผลเพื่อความคล่องตัวในทางปฏิบัติ และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม !
       
       แต่สาเหตุที่แท้จริง ว่ากันว่า เกิดจากความไม่พอใจของบริษัทยาข้ามชาติที่ถูกต่อรองจนเสียราคายา จึงกระชับสายสัมพันธ์ให้ฝ่ายการเมืองช่วยจัดการ
       
       อนุกรรมการฯ 2 ชุดถูกโยกไปทำเฉพาะส่วนนโยบาย ไม่มีอำนาจตัดสินใจ อยู่ภายใต้ร่มคณะอนุกรรมการคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัยและค่าบริการทางการแพทย์ที่ตั้งขึ้นเพื่อคุมงบยาข้าราชการ แต่พอคุมเสร็จก็ทำงานสะเปะสะปะไปตามคำสั่งฝ่ายการเมืองที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ของกรรมการชุดนี้ เหลือไว้แต่ความกังขาว่า ยาที่จะเข้าสู่บัญชียาหลักครั้งต่อไป จะมีประสิทธิภาพประสิทธิผลเป็นเช่นไร ในเมื่อฝ่ายการเมืองเข้ามาเปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมการยาที่เคยเข้มแข็งทีละน้อย
       
       ในที่สุดบริษัทยาข้ามชาติคงได้แต่นั่งยิ้มหวาน เพราะบอกรักฝากใจอะไรไปกับฝ่ายการเมืองก็ได้ดังใจ ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ตามที่ปูชนียบุคคลแห่งวงการเภสัชกร ผศ.ภญ.สำลี ใจดี กรรมการ สปสช. ในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทยบ่นเบาๆ ว่า ในที่ประชุม สปสช. ท่านรัฐมนตรีระบุว่า การทำบัญชียาหลักต้องตรวจสอบให้ดี จะเอายาอะไรเข้าต้องให้ตัวเขาอนุมัติก่อน เพื่อป้องกันการกระทบงบประมาณกลางปี ทั้งที่ สปสช. วางงบประมาณไว้หมดแล้ว
       
       “จะเอายาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ ต้องไปถามพระเจ้าก่อน เราก็ได้แต่หัวเราะหึหึ เพราะแทนที่จะควบคุมธุรกิจข้ามชาติขายยาราคาแพง กลับมาคุมกรรมการต่อรองราคายา!”


 ASTVผู้จัดการออนไลน์    11 ธันวาคม 2555

6929
"เหรินไจ้จย่งถูจือไท่จย่ง(人再囧途之泰囧)" หรือ Lost in Thailand หนังจีนแนว road movie ฟอร์มเล็กที่เพิ่งลงจอฉายในจีนช่วงกลางเดือนธันวาคม กลายเป็นม้ามืดส่งท้ายปี ทำรายได้แซงหน้าหนังฟอร์มยักษ์เจ้าของสถิติรายได้สูงสุดในประเทศเดิมอย่าง "ฮว่าผี ภาค2 (画皮2)" หรือ Painted Skin 2 : The Resurrection โดยหลังจากฉายเพียง 2 สัปดาห์ Lost in Thailand ทำรายไปกว่า 720 ล้านหยวน นอกจากนี้ยังเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในการเข้าฉายวันแรกและสัปดาห์แรก ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์จีนด้วย

       Lost in Thailand เป็นหนังภาคต่อของ "เหรินไจ้จย่งถู(人再囧途 : Lost On Journey) ปี 2553 หนังตลกแนว road movie ซึ่งกำกับและแสดงนำโดย สีว์ เจิง และยังได้ดาวตลกคู่หู หวัง เป่าเฉียง มาร่วมแสดงเช่นเคย โดยภาคใหม่นี้ถ่ายทำในประเทศไทยเกือบทั้งเรื่อง (กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่)
       
       หนังเล่าเรื่องราวของสองผู้จัดการหนุ่ม สีว์ และ ปั๋ว ที่มีความเห็นไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับงานวิจัยผลิตภัณฑ์ประหยัดน้ำมันที่บริษัทคิดค้นขึ้น โดย ปั๋ว ต้องการที่จะขายลิขสิทธิ์ให้บริษัทในฝรั่งเศส ขณะที่ สีว์ ต้องการวิจัยต่อเพื่อหวังผลระยะยาว แต่ผู้ที่จะตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรคือประธานบริษัทที่พักผ่อนอยู่ในเมืองไทย ทั้งสองจึงต้องเดินทางมาเมืองไทยเพื่อแข่งกันเสนอความคิดและโน้มน้าวให้ประธานเชื่อตน แต่ระหว่างทาง สีว์ มีเหตุให้ต้องร่วมทางกับ หวัง เป่า ผู้ซึ่งนำพาเขาไปสู่การผจญภัยและความหมายของชีวิต

       พล็อตขายความฮาที่ไม่ซับซ้อน บวกกับรายชื่อของนักแสดงนำที่ไม่ใช่ระดับซูเปอร์สตาร์ ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกประเมินตั้งแต่ก่อนเข้าฉายว่าอย่างดีที่สุดไม่น่าจะทำรายได้เกิน 500 ล้านหยวน แต่สุดท้ายสรุปรายได้ 13 วัน Lost in Thailand สร้างความตื่นตะลึงให้กับวงการภาพยนตร์ในประเทศด้วยยอดรายได้ 729 ล้านหยวน

       อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเข้าฉายในประเทศไทยหรือไม่ เนื่องด้วยหน้าหนังที่อาจไม่ดึงดูดชาวไทยนัก รวมทั้งมุกตลกที่คนไทยอาจไม่ขำ อาทิ มุกพระสงฆ์ หรือ มุกสาวประเภทสอง เป็นต้น แต่ที่แน่ๆ กลุ่มสื่อจีนรายงานว่า ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวกระตุ้นการท่องเที่ยวประเทศไทยของชาวจีนให้กระเตื้องขึ้นอย่างมาก ในโลกออนไลน์มีการแชร์ภาพการท่องเที่ยวตามรอยหนัง Lost in Thailand อย่างแพร่หลาย ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนทั้งแบบกรุ๊ปทัวร์และแบบแบ็คแพ็กในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อนด้วยยอดจอง 10,000 คน(21 ธ.ค.) ขณะที่ช่วงตรุษจีนปี 2556 มียอดนักท่องเที่ยวจองแล้วกว่าร้อยละ 50 หลายๆ บริษัททัวร์จัดโปรแกรมทัวร์ตามรอยแหล่งท่องเที่ยวในภาพยนตร์ อาทิ จัดโปรแกรมให้นักท่องเที่ยวพักที่โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ ซึ่งเป็นฉากเปิดในภาพยนตร์ รวมทั้งจัดกิจกรรมอย่างการปล่อยโคม นั่งรถตุ๊กตุ๊ก และดูการแสดงช้าง เป็นต้น


ASTVผู้จัดการออนไลน์    27 ธันวาคม 2555

6930
องค์กรพัฒนาเอกชน“Venezuelan Violence Observatory” เผยเมื่อวันพฤหัสบดี (27) ระบุเหตุฆาตกรรมในเวเนซุเอลาพุ่งสูงทำสถิติใหม่ หลังมียอดเหยื่อสูงถึง 21,692 รายในปีนี้ หรือคิดเป็นอัตราส่วนผู้ถูกฆาตกรรม 73 รายต่อประชากร 100,000 คน
       
       ก่อนหน้านี้ เวเนซุเอลาเพิ่งเป็นเจ้าของสถิติประเทศที่มีเหตุรุนแรงมากที่สุดของทวีปอเมริกาใต้โดยข้อมูลของทางการเวเนซุเอลาระบุว่า มีผู้ถูกฆ่าตาย 14,092 รายเมื่อปี 2011 หรือมีเหยื่อฆาตกรรม 50 รายต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่ตัวเลขของหน่วยงานเอกชนระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุฆาตกรรมในเวเนซุเอลาในปีที่แล้วมีสูงถึง 19,336 รายหรือ 67 ใน 100,000 ราย
       
       อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุฆาตกรรมในปีนี้ซึ่งมีถึง 21,692 รายนั้นถือเป็นสถิติใหม่และเป็นตัวเลขที่สูงกว่าในปี 2011 ถึง 12 เปอร์เซ็นต์
       
       ทั้งนี้ ข้อมูลของทางการเวเนซุเอลาระบุว่า อาวุธที่ใช้ก่อเหตุฆาตกรรมส่วนใหญ่ในเวเนซุเอลา คือ ปืน และมีตัวเลขว่าจำนวนอาวุธปืนทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายในประเทศมีระหว่าง 9-15 ล้านกระบอก ขณะที่จำนวนประชากรทั้งประเทศมีเกือบ 29 ล้านคน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    28 ธันวาคม 2555

หน้า: 1 ... 460 461 [462] 463 464 ... 651