แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 455 456 [457] 458 459 ... 653
6841
การออกมาเรียกร้องทวงถามเรื่องตำแหน่ง ที่ควรจะได้รับในการเติบโตจากหน้าที่การงาน การถามไถ่ถึงการบรรจุข้าราชการเพิ่มเติมของกระทรวงสาธารณสุข ให้กับพยาบาลจบใหม่นับหมื่นคน ที่ยังเป็นลูกจ้างแบบไร้อนาคตอยู่ตามโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ หลังจากทุกคนทุ่มเทอย่างหนัก เพื่อคนป่วยนับล้านคนทั่วประเทศ คงไม่มากเกินไป แต่ไม่เพียงเท่านั้น ชีวิตพยาบาลยังต้องเสียสละอะไรอีกมาก คนส่วนหนึ่งที่อดทนกับภาวะกดดันได้ ก็ดำเนินชีวิตต่อไป แต่ก็มีอีกหลายคนที่เลือกทางออกอื่นเมื่อถึงเวลาอันสมควร

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิจิตร ศรีสุพรรณ นายกสภาการพยาบาล ตอบคำถามสารพัดปัญหาที่พยาบาลกำลังเผชิญ

ถาม ปัญหาเรื่องการบรรจุผู้จบพยาบาลเข้าเป็นข้าราชการ

ดร.วิจิตร : เป็นนโยบายของรัฐบาล ที่ว่าจะไม่มีการเพิ่มตำแหน่ง เพราะเกรงว่าจะเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณในอนาคต ซึ่งปีหนึ่งๆเราผลิตพยาบาลได้ 9,000 คน ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขผลิตได้ประมาณ 3,000 คน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งหมด เมื่อผลิตออกมาแล้ว เด็กส่วนใหญ่ที่จบจากวิทยาลัยพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข เขาก็อยากจะทำงานในกระทรวง ก็ไปสมัครงาน แต่ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ไม่มีอัตรากำลังเลย เด็กเหล่านี้ก็จะเป็นลูกจ้างชั่วคราว ขณะนี้สะสมรอบรรจุอยู่ในกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 13,000 คน เพราะในแต่ละปีบรรจุได้ไม่กี่คน เพราะต้องรอคนออก คนเกษียณอายุราชการ มีตำแหน่งว่าง ถ้าโชคดีก็เอาตำแหน่งนั้นมาบรรจุคนใหม่ ถ้าโชคไม่ดีก็ต้องเอาตำแหน่งนั้นไปยุบรวม เพื่อไปให้คนอื่นที่ขยับสูงขึ้น

ถาม ที่มีตำแหน่งว่างและมีคนรอบรรจุ เป็นการรอในพื้นที่นั้นๆ หรือเป็นภาพรวมของทั้งประเทศ

ดร.วิจิตร :  คนที่ออกไป ลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนปีละประมาณ 1,000 คน ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีประสบการณ์

ถาม แล้วคนที่มาทดแทน และได้บรรจุจริงๆปีละเท่าไหร่

ดร.วิจิตร :  คนที่มารอจะได้งานทำทุกคน แต่อยู่ไม่ทน ซึ่งต้องเข้าใจว่า เด็กเหล่านี้เมื่อเรียนจบแล้วจะมีงานทุกคน เพราะจะมีโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลของรัฐไปให้เด็กกรอกใบสมัคร ซึ่งเด็กไม่ตกงานแน่นอน แต่งานที่เขาได้ทำไม่ได้เป็นงานถาวร เป็นงานชั่วคราว ซึ่งเอกชนก็อยากให้ทำตลอดไป แต่พยาบาลที่จบใหม่ไม่อยากทำ เขาอยากทำงานราชการมากกว่า เพราะค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ สวัสดิการเทียบกันไม่ได้ และคนเหล่านี้ก็ต้องการความมั่นคงในชีวิต

ถาม มีอะไรดึงดูดใจให้พยาบาลจบใหม่อยากเป็นข้าราชการ

ดร.วิจิตร : สวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล เพราะถ้าเป็นข้าราชการ เขาจะได้สวัสดิการให้กับพ่อแม่ ตัวเขาเอง และลูก แต่ถ้าไปอยู่ประกันสังคม จะได้แต่ตัวเราคนเดียว สามีภรรยาก็ไม่ได้ ลูกก็จะได้เพียงส่วนหนึ่งไม่มาก เพราะฉะนั้นตรงนี้ทุกคนกังวลกับเรื่องนี้ เพราะทุกคนอยู่กับคนป่วย ก็จะรู้ว่าค่ารักษาพยาบาลแต่ละครั้งมันแพงขนาดไหน ใช้เงินเยอะ และมีพ่อแม่ต้องเลี้ยงดู ฉะนั้นเขาจึงอยากเป็นข้าราชการ ดูพยาบาลภาคใต้ ขนาดจบปริญญาตรีแล้วยังสมัครมาเรียนเพิ่มเติม เพราะรัฐบาลบอกว่าจบแล้วจะให้เป็นข้าราชการ ตอนนี้ก็บรรจุไปเกือบหมดแล้ว จาก 3,000 คน ตอนนี้ได้ไปแล้ว 2,800 กว่าคน ที่เหลือยังไม่จบ เขาก็อยากเป็นข้าราชการ เพราะมีสวัสดิการดี ความก้าวหน้าก็จะขึ้นไปเรื่อยๆ มีความมั่นคง คือถ้าไปทำงานเอกชน ถ้าเกิดเศรษฐกิจไม่ดี อย่างช่วงต้มยำกุ้งคนลาออกเป็นแถวเลย เพราะไปอยากไปอยู่ราชการ มันไม่แน่นอน เพราะไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าเศรษฐกิจจะดีเช่นนี้ตลอดไป

ถาม สาเหตุที่พยาบาลอาวุโสลาออกจากโรงพยาบาลของรัฐไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนเพราะอะไร

ดร.วิจิตร : สาเหตุหนึ่งเพราะงานหนัก เพราะเขาทำงานหนักมาตั้งแต่สมัยสาวๆ หลังเรียนจบใหม่ๆ ซึ่งก็จะหนักอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ทีนี้พออายุมากขึ้นร่างกายทนไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีงานที่ดีกว่าเขาก็ไป อย่างน้อยสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลเอกชนก็ดีกว่าโรงพยาบาลของรัฐ

ถาม ส่วนใหญ่อายุงานเท่าไหร่ที่ลาออก

ดร.วิจิตร :  ที่เราเคยทำวิจัยไว้ เราจะถามเขาว่าเขามีความตั้งใจที่จะออกจากงานเมื่อไหร่ ค่าเฉลี่ยประมาณ 22.5-23 ปี ซึ่งเขาเรียนจบมาอายุประมาณ 22 ปี ทำงานมาประมาณ 23 ปี เขาก็อายุ 45 ปี ก็อยากออกแล้ว อยากจะเปลี่ยนงานไปอยู่ที่มันเบาหน่อย เพราะว่าเขาสะสมประสบการณ์ขึ้นมามาก แต่ก็ยังทำงานหนักเหมือนเดิม เพราะไม่มีใครมาทดแทน

ถาม เกี่ยวกับแรงจูงใจหรือเปล่า

ดร.วิจิตร :  รายได้ดีกว่า อย่างน้อยสองเท่าของที่อยู่เดิม

ถาม ตำแหน่งมีส่วนหรือเปล่า

ดร.วิจิตร :  ในส่วนของเอกชนอาจจะไม่มีตำแหน่งเป็นแรงจูงใจ แต่ของรัฐบาลกลายเป็นแรงผลักให้เขาออกไป ขณะที่รายได้จากโรงพยาบาลเอกชนก็ดึงเขาด้วย เพราะของราชการเมื่อไหร่ก็ไม่ได้เลื่อนสักที เพราะว่าพยาบาลมีความเหลื่อมล้ำ สมมุติว่าได้ระดับชำนาญการ หรือ ซี 7 เดิม พอจะขึ้นชำนาญการพิเศษ หรือ ซี 8 จะต้องยุบรวมตำแหน่ง ยุบเอาเงินของอีกคนมาให้อีกคน สมมุติว่ามีคนสองคน ถ้าคนหนึ่งจะขึ้นซี 8 ขึ้นไม่ได้ ต้องรอให้อีกคนเกษียณหรือลาออกไป แล้วเอาเงินของอีกคนมายุบรวมหรือมาพอก อันนี้แหละที่ทำให้พยาบาลตันกันเป็นแถว ทั้งเงินเดือนและตำแหน่ง พยาบาลที่มีสภาพเช่นนี้มีอยู่จำนวนมาก คือ ถ้าเป็นแพทย์ หรือทันตแพทย์ ก็จะไม่มีปัญหา พอเมื่อมีตำแหน่งว่างเขาขึ้นได้เลย โดยอัตโนมัติไม่ต้องมารอยุบรวม แต่ของพยาบาลต้องรอให้มีตำแหน่งว่างแล้วถึงจะไปยุบรวม อันนี้เป็นความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเขาไปร้องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็มีการพิจารณาว่า ก.พ.ออกระเบียบแบบนี้มาไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง กระทรวงสาธารณสุขก็ควรเปิดตำแหน่งให้มากขึ้น

ถาม มีพยาบาลที่ต้องรอแบบนี้จำนวนเท่าไหร่

ดร.วิจิตร :  มีพยาบาลซี 7 ในโรงพยาบาลชุมชนทั้งหมด 30,000 กว่าคน เกิดลักษณะนี้กว่าครึ่ง เป็นหมื่นคน เพราะคนหนึ่งเขาจะอยู่กันนานประมาณ 20 ปี อย่างเข้ารับราชการครั้งแรกซี 3 มันเลื่อนไหล ซี 3 ซี 4 ซี 5 ซี 6 พอ 6-7 ต้องทำผลงานทางวิชาการ แต่พอจะขึ้นซี 8 ต้องรอให้มีตำแหน่งว่างมายุบรวม มีคนที่หลุดไปก็ไม่เยอะ ก.พ.เคยวิเคราะห์ไว้ว่า หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป จะได้ซี 9 แต่ต้องทำผลงาน ทั้งหมด 96 โรงพยาบาล แต่ว่าให้ไปไม่หมด ยังขาดอีก 38 คน ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ โรงพยาบาลชุมชน หัวหน้าพยาบาลควรจะเป็นซี 8 ทั้งหมด มีอยู่ 700 กว่าแห่ง ได้ไปครึ่งเดียว ยังขาดอยู่ 370 อัตรา ซึ่งต้องรอไปอีกนานถ้ายังมีระเบียบนี้อยู่ เพราะต้องรอให้คนเกษียณหรือลาออก ซึ่งส่วนใหญ่คนก็จบมาใกล้ๆกัน และอีกอย่างคือ เมื่อมีคนลาออกไป ตำแหน่งก็หายไป 1 คน คนก็น้อยลงแต่งานยังเท่าเดิม เท่ากับว่าต้องทำงานหนักขึ้น และเราก็จะได้อยู่คนเดียวมันก็ดูไม่ดี ล่าสุดสภาการพยาบาลได้ไปยื่นต่อรมว.สาธารณสุข ซึ่งท่านก็รับว่าจะไปคุยกับก.พ.เพื่อให้ปล่อยตำแหน่งออกมา เพราะว่าไม่ใช่เฉพาะเราที่เดือดร้อน หน่วยงานอื่นก็เดือดร้อน ที่กระทรวงนี้ก็มีลูกจ้างอยู่เยอะเหมือนกัน ก็ไม่ทราบก.พ.ว่าอย่างไร

ถาม สาเหตุนี้เกี่ยวหรือเปล่ากับที่พยาบาลอยากไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนหรือไปอยู่ต่างประเทศ

ดร.วิจิตร :  เป็นส่วนหนึ่ง เพราะพยาบาลนี่ถ้าได้อยู่บ้านของตัวเองแล้ว ไม่อยากจะไปไหน ถ้าได้บรรจุอยู่ที่โรงพยาบาลในจังหวัดที่เขาอยู่แล้วมักจะไม่ค่อยไปไหน แต่ถ้าเขาไม่ได้อยู่แถวนั้นเขาก็จะย้ายง่าย เช่น เด็กจบใหม่ๆ เขาสมัครไปอยู่บ้านเขา แต่เมื่อไม่มีตำแหน่งเขาก็ต้องไปที่อื่น พอไปแล้วมีช่องทางเขาก็ไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน ค่อนข้างเยอะ ซึ่งตรงนี้โรงพยาบาลเอกชนก็จะได้รับประโยชน์ ขณะที่เด็กก็จะได้ค่าตอบแทนที่ดีกว่า เพราะฝึกงานที่โรงพยาบาลของรัฐแล้วไปเอกชนจะดูดี เพราะว่างานหนัก ใครผ่านโรงพยาบาลรัฐบาลไปแล้ว ก็โอเคแล้ว

ถาม ตอนนี้ประเทศเราพยาบาล 1 คน ดูแลคนไข้กี่คน

ดร.วิจิตร :  มาตรฐานเราพยาบาล 1 คน คนไข้ไม่เกิน 4 คน ต่อเวร คือ 6 ชั่วโมง แต่เขาจะได้รับกันคนละ 10-20 คนต่อเวร เพราะคนไข้เยอะมาก เพราะฉะนั้นก็จะมีปัญหาในเรื่องที่ว่า พอเหนื่อยมากๆเขาก็จะล้า และอาจเกิดความผิดพลาดได้ และเนื่องจากเราขาดพยาบาล ทำให้ต้องอยู่เวรเยอะ คนหนึ่งอยู่เวรประมาณเดือนหนึ่ง ปกติเราทำงานแค่ 22 วัน แต่พยาบาลบางคนทำงานเดือนหนึ่ง 31 วัน 31 เวร มันเกือบไม่ได้พักเลย ถ้าจะได้พักก็เวรเช้าควบเวรบ่าย วันหนึ่งควบ 2 เวร แล้วถึงจะพักได้ อันนี้ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เขาอยู่นานไปก็ไม่ได้ เพราะว่ามันเครียด และชีวิตครอบครัวก็ลำบาก

ถาม เรื่องเหล่านี้ทำให้เขามีปัญหาส่วนตัวหรือเปล่า

ดร.วิจิตร :  ก็มีปัญหาครอบครัวบ้าง ปัญหาสุขภาพ พยาบาลนี่เจ็บป่วยเยอะนะ ขณะนี้ ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล กำลังทำวิจัยอยู่ เป็นการติดตามชีวิตพยาบาลทั้งเรื่องการใช้ชีวิต และการเจ็บป่วย ความเจริญก้าวหน้าในชีวิต นี่เพิ่งทำมาได้แค่ 3 ปี ทั้งหมด 20 ปี เราจะติดตามไปเรื่อยๆ จะได้รู้ว่าพยาบาลมีวิถีชีวิตอย่างไร

ถาม ที่ว่าพยาบาลเจ็บป่วยเยอะ ส่วนใหญ่ป่วยเป็นอะไร

ดร.วิจิตร :  ก็ไม่แน่ใจว่าที่รู้ว่าเจ็บป่วยเยอะ เพราะว่าเขาเช็คได้บ่อย หรือเป็นจริง เพราะว่าเช็คมาอาจจะเจอ เช่นที่เจอบ่อยคือ เบาหวาน ความดัน มะเร็ง ก็เจอบ่อย มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก อะไรพวกนี้

ถาม เพราะพักผ่อนน้อยหรือเปล่า

ดร.วิจิตร : ความเครียดมากกว่า คาดว่านะ อาจจะไม่ใช่สาเหตุโดยตรง แต่คิดว่าร่วมกัน ทีนี้เรากำลังศึกษาว่าพยาบาลของเรากับประชากรปกติทั่วไปในอายุเท่ากัน มันจะเหมือนกันหรือไม่เหมือน ซึ่งตอนนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติให้เรามาแล้ว เพื่อดูว่าอัตราการตายเป็นอย่างไร ซึ่งจะชัดกว่าว่าสาเหตุมาจากอะไร

ถาม ที่มีข่าวว่าพยาบาลไทยฝีมือดีจนเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ จนเกิดปัญหาสมองไหลจริงหรือเปล่า

ดร.วิจิตร :  ก็จริงนะ คือพยาบาลไทยต่างชาติจะชอบ เพราะว่าเป็นคนมีฝีมือ เป็นคนมีน้ำใจ ดูแลดี ตอนนี้ไปปีหนึ่งไม่รู้เท่าไหร่ ซึ่งเราจะหาสถิติยากมาก แต่เราดูจากที่เขามาขอให้แปลเอกสารวุฒิการศึกษา ใบอนุญาต และหนังสือรับรอง เราก็ชำเลืองไว้แล้วว่า ต้องไปต่างประเทศแน่นอน

ถาม ตอนนี้ขอไปแล้วเท่าไหร่

ดร.วิจิตร :  ปีหนึ่งก็ประมาณ 700-800 คน

ถาม ถือว่าเยอะหรือเปล่า

ดร.วิจิตร :  ถือว่าเยอะ ที่ผ่านมา 4-5 ปี ที่เป็นนายกฯ ก็สังเกตและนับไว้ แต่ก่อนหน้านี้ไม่ทราบเหมือนกันว่าเท่าไหร่ แต่ไม่รู้ว่าไปจริงเท่าไหร่ เพราะเดี๋ยวนี้ต่างประเทศก็รับยากขึ้น เพราะมีการสอบอะไรด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้พยาบาลของเราทั่วประเทศมีประมาณ 1.6 แสนคน แต่ว่าทำงานจริงๆ ประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 30,000 กว่าคน เกษียณไปแล้วบ้าง ไปทำงานอย่างอื่นบ้างที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพยาบาล

ถาม สภาการพยาบาลห้ามไม่ให้ไปได้หรือเปล่า

ดร.วิจิตร :  ห้ามไม่ได้เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่เราก็ไม่ไปสนับสนุน

ถาม แล้วมีพยาบาลจากประเทสอื่นอยากเข้ามาทำงานในประเทศเราหรือเปล่า

ดร.วิจิตร :  ก็มีเขียนมาถาม เราก็มีข้อมูลให้ อย่างแรกเลยก็คือต้องมาสอบใบอนุญาต ต้องเข้าเมืองโดยถูกต้อง ต้องจบจากสถาบันที่รัฐบาลรับรอง ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในประเทศของตัวเอง จึงจะมายื่นได้จึงจะให้สอบ

ถาม มีประเทศอะไรบ้าง

ดร.วิจิตร :  มีกระจาย อังกฤษก็มี เยอรมัน ฟิลิปปินส์

ถาม ทำไมบ้านเราน่าสนใจยังไง เขาจึงอยากมาทำงาน

ดร.วิจิตร :  จำนวนน้อยนะ แต่ฟิลิปปินส์บ้านเมืองเขาเกิดภัยพิบัติบ่อย เขาก็เลยอยากมาอยู่บ้านเรา ซึ่งเขาไม่ได้มาเฉพาะประเทศไทยหรอก แต่ที่อยากมาเพราะอยู่ใกล้ และสะดวกสบาย ส่วนประเทศเพื่อนบ้านยังไม่มี เพราะมาไม่ได้ เพราะสถานะทางการศึกษาไม่เท่ากัน มีอยู่ช่วงหนึ่งเรายังต้องไปแนะนำเขาเลย ซึ่งตอนนี้ทั้งลาว เวียดนาม กัมพูชา พยายามปรับหลักสูตรให้เป็น 4 ปี เป็นพยาบาลวิชาชีพ ไม่ใช่พยาบาลเทคนิค

ถาม มันต่างกันยังไงพยาบาลวิชาชีพกับพยาบาลเทคนิค

ดร.วิจิตร :  พยาบาลวิชาชีพเขาจะเรียนนานกว่าแล้วจะมีความรู้พื้นฐานที่แน่นกว่า มีประสบการณ์ที่ดีกว่า ทำได้มากกว่า พยาบาลเทคนิคต้องทำอยู่ภายใต้คำสั่งของพยาบาลวิชาชีพ

ถาม เรียนจากที่เดียวกันหรือเปล่า

ดร.วิจิตร :  จากที่เดียวกัน แต่ 2 ปี กับ 4 ปี

ถาม ตอนนี้พยาบาลเทคนิคยังมีปัญหาหรือเปล่าเหมือนเมื่อ 2-3 ปีก่อน

ดร.วิจิตร : ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว เพราะเราจัดโปรแกรมให้เขาเรียนต่อ พอเรียนจบ 2 ปีกว่าแล้วก็สอบใบอนุญาต ซึ่งก่อนหน้านั้นเวลาประมาณ 10 ปี เราผลิตพยาบาลเทคนิคเพื่อโรงพยาบาลชุมชนไปกว่า 50,000 คน ตอนนี้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นพยาบาลวิชาชีพหมดแล้ว เพราะว่าเขามาเรียนต่อ และได้ใบประกอบวิชาชีพ เหลืออีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้เรียนหรือว่าเรียนยังไม่ผ่าน

ถาม ถ้าจะมีเมดิคอลฮับจะส่งผลกระทบต่อพยาบาลอย่างไรบ้าง

ดร.วิจิตร :  เรามองสองด้านคือว่า เมดิคอลฮับถ้ามันไม่ดีจะไม่มีคนมา เขาก็ต้องการพยาบาลที่มีความรู้ความสามารถ เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องเทรนไม่ใช่จบมาเฉยๆ ต้องไปเทรนนิ่งเฉพาะทาง สมมุติเป็นพยาบาลห้องฉุกเฉิน ห้องไอซียู ต้องไปเทรนใหม่หมด เพราะว่าถ้าพยาบาลไม่ดีต่อให้หมอดีแค่ไหนคนไข้ก็แย่ เพราะว่าพยาบาลต้องอยู่กับคนไข้ตลอดเวลา ฉะนั้นเขาจะต้องการพยาบาลที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางมากขึ้น ภาษาต้องดีขึ้น ถ้าเรามองในทางที่ดีก็น่าจะดีขึ้นเพราะว่าคนของเราจะเก่งขึ้น ความสามารถมากขึ้น วิชาชีพก็จะดีขึ้น แต่ถ้ามามองอีกทาง แล้วคนที่เหลือละใครดู เราก็ต้องผลิตให้พอ ปีนี้กระทรวงสาธารณสุขสั่งผลิตเพิ่มอีก 2,000 คน ติดต่อมาที่สภาการพยาบาล ขอให้ผลิตเพิ่มอีก 2,000 คน ในวิทยาลัยพยาบาลของกระทรวงทั้ง 29 แห่ง

โดย เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ
วันที่เขียนบทความ 02/04/2555

6842
อนุกมธ.สาธารณสุข เผยผลตรวจสอบโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จ.สระบุรี ชี้ผลสำรวจดินครั้งแรกก่อนสร้าง ผู้รับรอง  ไม่ใช่ "วุฒิวิศวกร" ทำให้ต้องทบทวนปรับฐานรากใหม่  ระบุ "ทีโออาร์" ทำให้ อภ.เสียเปรียบ ด้าน "หมอประเสริฐ" เป็นห่วง ไม่แน่ใจโรงงานวัคซีนเสร็จเมื่อไหร่ แนะรมว.สธ. ตั้งคณะกรรมการลงไปดูสภาพคล่อง

เมื่อวันที่ 16 มี.ค. นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย รองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเรื่องร้องเรียนด้านการสาธารณสุข กล่าวถึงความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก มูลค่า 1,411.70 ล้านบาท ที่ ต.ทับกวาง อ.แก่ง คอย จ.สระบุรี ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ว่า กรณีดูแล้วเห็นน่าจะมือไม่ถึง ในการสำรวจดินก่อนก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนในครั้งแรก ผู้ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานไม่ใช่วุฒิวิศวกร อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องทบทวนการออกแบบเพื่อปรับฐานรากใหม่ นอกจากนี้ข้อความที่กำหนดในสัญญาจ้างก่อสร้างและทีโออาร์ อาจทำให้ อภ.เสียเปรียบคู่สัญญา อาทิ ค่า K ที่ไม่ได้สูตรคำนวณที่แน่ชัด การขยายระยะเวลาในสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารโรงงานผลิตวัคซีน เพื่อรอข้อมูลสำหรับการทบทวนการออกแบบ หรือ ดีไซน์รีวิว จากบริษัทคู่สัญญาต้องใช้ระยะเวลาถึง 400 วัน

ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวอีกว่า ตามที่ อภ.ได้จ้างที่ปรึกษา ควบคุมการติดตั้งเครื่องจักร ควบคุมการตรวจสอบความถูกต้องกับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในราคา 50 ล้านบาท แต่ทางมหาวิทยาลัยได้ไปว่าจ้างชาวต่างชาติระบุว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นจะขอประวัติชาวต่างชาติคนดังกล่าวมาดูว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงหรือไม่ ทั้งนี้ในวันอังคารที่ 19 มี.ค.นี้ คณะอนุกรรมาธิการจะประชุมกันและมีข้อสรุปเสนอต่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขที่มี นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็นประธาน

ด้าน นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเรื่องร้องเรียนด้านการสาธารณสุข กล่าวว่า ตอนนี้จ่ายเงินไปแล้วประมาณ 1,200 ล้านบาท เหลือประมาณกว่า 200 ล้านบาท แต่งานยังไม่เสร็จ ที่ผ่านมาได้เชิญทาง อภ.มาชี้แจงแล้ว ปัญหาคือการทบทวนการออกแบบหรืองานดีไซน์ รีวิว ต้องจ่ายเงินให้กับผู้รับเหมาอีก 60 ล้านบาท และผู้รับเหมาขอค่าเสียเวลาเสียโอกาสระยะเวลาที่ทำต่อ 18 เดือน 38 ล้านบาท อย่างไรก็ตามได้ตรวจสอบพฤติกรรมอย่างละเอียดแล้ว ยังไม่พบว่ามีพฤติกรรมส่อไปในทางที่ไม่ดี แต่การบริหารจัดการไม่เป็น

เมื่อถามว่า เครื่องจักรที่ซื้อมาหลายปีแล้วยังใช้ได้อยู่หรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า ไม่รู้ ยังไม่เห็นเครื่องจักร ตนก็ไม่มีความรู้เรื่องเครื่องจักร แต่ก็สอบถามว่าการซื้อเครื่องจักรมาเก็บไว้มันจะล้าสมัยหรือไม่ คือ อาคารดูมีครบหมด เรื่องแอร์ ระบบไฟฟ้า แต่มันผิดพลาดตั้งแต่งานออกแบบครั้งต้น ผิดพลาดตั้งแต่ฐานรากต้องเสียเงินเพิ่มประมาณ 3 ล้านบาทให้ผู้รับเหมาจากฐานแผ่เป็นเสาเข็ม ไม่เทสต์ดินให้เรียบร้อยก่อน แล้วออกแบบเป็นฐานแผ่ พอจะทำงานจริงเขียนไว้ในทีโออาร์  อีกว่า ให้ผู้รับจ้างทดสอบดินอีก ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยที่ให้คำปรึกษาบอกทำฐานแผ่ไม่ได้ให้ทำเข็มเจาะ ซึ่งทีโออาร์ที่เขียนก็เป็นทีโออาร์เดียวในประเทศที่เขียนไปแล้วผู้รับจ้างได้เปรียบ

"ยืนยันว่าที่ทำเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการ เมือง แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ทางกรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ก็เข้าใจ ทั้งนี้นอกจากโรงงานวัคซีนที่ จ.สระบุรี แล้ว ยังมีโรงงานยาเอดส์ที่คลองสิบที่ล่าช้าเช่นกัน" นายสมคิด กล่าว

ด้าน ศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความล่าช้าในการสร้างโรงงานวัคซีนว่า ไม่ได้เข้าไปยุ่ง เพราะเป็นคนนอก แต่ได้ติดตามข่าวจากหนังสือพิมพ์ ซึ่งความล่าช้าทำให้เสียโอกาส แทนที่จะสามารถผลิตได้เอง พึ่งตัวเองได้ก็ล่าช้าไป ถ้ามีการระบาดใหญ่ขึ้นมาไม่มีวัคซีนใช้ก็เสียโอกาสมาก เมื่อถามว่ามีข้อเสนอแนะอะไรไปยัง รมว.สาธารณสุข ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า รมว.สาธารณสุขควรตั้งคณะกรรมการลงไปดูข้อเท็จจริงว่าล่าช้าตรงไหน จะแก้ไขอย่างไร เพื่อที่จะเร่งรัด แต่ไม่ใช่เป็นการจับผิดใคร เพื่อที่โรงงานจะได้แล้วเสร็จ ต่อข้อถามว่า ยังหวังว่าโรงงานนี้จะแล้วเสร็จผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้หรือไม่ ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า ไม่รู้ ถ้าภายใน 5 ปีตนยังคงพออยู่เห็น

"ผมห่วงเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มต้น เพราะเคยมีปัญหามาแล้วในอดีตตอนนั้นในสมัย รมว.สาธารณสุขคนหนึ่งจะทำในราคาประมาณ 700 ล้านบาท เพิ่มไปเพิ่มมาเป็น 1,400 ล้านบาท พอได้เงินมาจริง ๆ ก็ทำไม่เสร็จ มีปัญหาดูไม่จืด ไม่รู้ปัญหาอยู่ตรงไหน" ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าว


หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 17 มีนาคม 2556

6843
ปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ประมาณ 3 หมื่นคน เทียบกับจำนวนประชากรไทยขณะนี้ประมาณ 64 ล้านคน หรือเรียกได้ว่า แพทย์ 1 คน จะต้องดูแลประชากร ที่วันหนึ่งอาจต้องเข้าใช้บริการทางการแพทย์ถึง 2 พันคน ยังไม่นับรวมประชากรแฝง อย่างคนต่างด้าวหรือชาวต่างชาติที่เดินทางมาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยที่มีจำนวนมากขึ้นทุกปี

โดยสัดส่วนของแพทย์ต่อประชากรที่สมดุลและมีการดูแลอย่างทั่วถึงนั้น จะต้องมีแพทย์ 1 คนต่อประชากร 500 คน หมายความว่าในจุดสมดุลไทยจะต้องมีแพทย์ 1.2 แสนคน และยังมีความต้องการแพทย์เพิ่มอีกกว่า 9 หมื่นคน

ถึงแม้คณะแพทยศาสตร์จะเป็นคณะฮอตฮิตของเด็กที่เรียนสายวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด แต่กลับถูกจำกัดด้วยจำนวนที่นั่ง ในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีเพียง 20 แห่งที่ เปิดรับ ทำให้การผลิตแพทย์มีความขาดแคลน อย่างไรก็ดี รัฐได้เข้ามาดูแลปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่มหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนได้ขยายแนวทางในการเพิ่มจำนวนนักศึกษาให้มากขึ้น

ทุ่ม 4 หมื่นล้านผลิต 9 พันคน

เมื่อ 18 ธ.ค. 2555 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทยปี 2556-2560 เพื่อผลิตแพทย์ให้เพียงพอต่อความต้องการด้านบริการการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ แก้ปัญหาการกระจายแพทย์ตามภูมิภาค โดยมีเป้าหมายผลิตแพทย์เพิ่ม 5 รุ่น จำนวน 9,039 คน ประกอบด้วยโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) 4,038 คน และโครงการผลิตแพทย์ชนบทเพิ่ม ภายใต้ความร่วมมือของ ศธ. และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 5,001 คน จากการผลิตแพทย์ตามแผนปกติที่มีอยู่เดิม 4,780 คน

เมื่อรวมแล้วเป็นการผลิตแพทย์ 13,819 คน และได้อนุมัติงบประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาทสำหรับการผลิตแพทย์เพิ่มให้กับสถาบันฝ่ายผลิตแพทย์ สธ. และโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองจากแพทยสภา

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา ครม.ได้เห็นชอบงบประมาณกว่า 4 พันล้านบาท สำหรับโครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์พร้อมระบบสาธารณูปโภคของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ในการสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรองรับการบริการที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ม.รัฐเปิดหลักสูตรเพิ่ม

ในปีการศึกษา 2556 มีมหาวิทยาลัยรัฐ 2 แห่งที่เริ่มเปิดหลักสูตรด้านการแพทย์ แห่งแรกคือมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่เพิ่งเปิดสำนักวิชาแพทยศาสตร์ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

"รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ" อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดเผยว่า ในหลักสูตรดังกล่าวจะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรก 32 คน หากมีความพร้อมด้านการเรียนการสอนมากขึ้นก็จะรับเพิ่มเป็น 48 คน และ 60 คนตามลำดับ โดยมหาวิทยาลัยจะเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาสามารถประกอบอาชีพรับผู้ป่วยต่างชาติและผู้ป่วยเขตร้อนด้วย

"ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการขอ งบประมาณรัฐบาลประมาณ 2.3 พันล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลขนาด 400 เตียง เพื่อรองรับการฝึกงานของนักศึกษา และใช้เป็นงบประมาณจัดหาอาจารย์และบุคลากร ระหว่างนี้ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลกลางของกรุงเทพมหานคร สำหรับเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 5-6 ไปก่อน"

เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ในระหว่างการเตรียมเปิดสอนหลักสูตรแพทยศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ เป็นแห่งแรกของประเทศ โดยมีแผนจะรับนักศึกษาจำนวน 30 คนในปีการศึกษา 2556

นอกจากนี้ สภามหาวิทยาลัยยังได้อนุมัติให้มีการจัดตั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติ

ในปี 2558 เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และเปิดสอนหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ คาดว่าจะรับนักศึกษาปีละ 40 คน โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือนักศึกษาจากประเทศตะวันออกกลาง และจะมีการจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาจากประเทศลาว, เวียดนาม และกัมพูชาด้วย

มหา'ลัยเอกชนขยับเปิดแห่งที่ 2

สำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนที่เปิดวิทยาลัยแพทยศาสตร์มา 24 ปี อย่างมหาวิทยาลัยรังสิต ผลิตแพทย์ไปแล้วกว่า 1,200 คน โดยนักศึกษาที่จบไปส่วนใหญ่เลือกทำงานในโรงพยาบาลของรัฐ โดยในปีนี้มีแผนรับ นักศึกษาแพทย์เพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา จากเดิม 100 คน เป็น 130 คน

"ผศ.ดร.นเรฏฐ์ พันธราธร" รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเราได้ทำความร่วมมือกับสถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์ เพื่อส่งนักศึกษาไปฝึกปฏิบัติ ในโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลราชวิถี และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) ปีนี้จึงขยาย ความร่วมมือกับโรงพยาบาลเลิดสิน เพิ่มเติม และมีการเปิดรับนักศึกษาเพิ่ม โดยมีค่าเทอมของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ตกปีละ 4.5 แสนบาท

และล่าสุดปีนี้มหาวิทยาลัยสยามได้เปิดตัวคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งที่ 2 ที่เปิดสอนในคณะดังกล่าว

"ดร.พรชัย มงคลวนิช" อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม เล่าว่า ทางมหาวิทยาลัยต้องการผลิตแพทย์เข้ามารองรับความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะคนที่อยู่พื้นที่ต่างจังหวัด อีกทั้งการเปิดประชาคมอาเซียนจะทำให้คนจากประเทศอาเซียนเข้ามาใช้บริการสาธารณสุขในไทยมากขึ้น

"เราร่วมมือกับโรงพยาบาลตำรวจในการเป็นสถาบันร่วมผลิตแพทย์ ซึ่งมีประสบการณ์การสอนกว่า 20 ปี กับการฝึกนักศึกษาแพทย์ให้กับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้ตั้งเป้ารับนักศึกษารุ่นแรก 48 คน มีค่าเทอมอยู่ที่ 5 แสนบาทต่อปี"

"พล.ต.ท.น.พ.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์" นายแพทย์ใหญ่ (สบ 8) โรงพยาบาลตำรวจ ให้มุมมองเกี่ยวกับการผลิตแพทย์ ว่า ประเทศไทยควรเปลี่ยนนโยบายด้านการผลิตแพทย์ที่ยึดติดกับสถาบันการศึกษาของรัฐ และไม่เชื่อมั่นในมาตรฐานภาคเอกชน

"จากผลการสอบใบประกอบโรคศิลปะ พบว่าอัตราการสอบได้ของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอกชนเทียบเท่าหรือมากกว่านักศึกษาจากภาครัฐบาล ซึ่งเห็นว่าควรมีความร่วมมือกัน เพราะภาครัฐมีบุคลากรที่มีความสามารถ ขณะที่ภาคเอกชนก็มีเงินลงทุนและการบริหารจัดการที่ดี ถ้ามารวมกันก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ ช่วยเหลือประเทศชาติได้"

อาจเป็นทางเลือกและทางรอดของประเทศที่จะช่วยผลิตแพทย์ให้มากขึ้น เพื่อรองรับด้านสาธารณสุขของคนไทยที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี


หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 - 17 มี.ค. 2556

6844
บันทึกแล้วสถิติโลก! แพทยสภาปลื้มจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกตรวจโรคตาได้ 450 คน ใน 1 ชั่วโมง เป็นประเทศแรกของโลก
       
       วันนี้ (17 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (ศูนย์หันตรา) จ.พระนครศรีอยุธยา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปทรงเป็นประธานเปิดโครงการ “แพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ” ซึ่งจัดขึ้นโดยนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาล สำหรับผู้บริหารทางการแพทย์รุ่นที่ 1 แพทยสภา และสถาบันพระปกเกล้า เพื่อบริการตรวจรักษาประชาชนด้วยทีมแพทย์อาสาเฉพาะทาง จำนวน 20 คลินิก อาทิ บริการตรวจคัดกรองโรคทั่วไป โรคหัวใจ โรคระบบประสาท โรคระบบทางเดินอาหาร ทันตกรรม โรคทางนรีเวช คลินิกเด็ก ฝังเข็ม เป็นต้น โดยมีประชาชนใน 16 อำเภอของจ.พระนครศรีอยุธยา และในจังหวัดใกล้เคียงกว่า 5,000 คน มาเข้ารับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จากนั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จประทับรถไฟฟ้าไปยังชั้นล่างอาคารเรียนรวมเพื่อทอดพระเนตรการสาธิตวิธีการช่วยชีวิตเบื้องต้น ทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์อาสาทันตกรรม หน่วยแพทย์ระบบทางเดินอาหาร
       
       ทั้งนี้ ระหว่างที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ จะเสด็จเข้าสู่ภายในตัวอาคารเรียนรวมเพื่อฉายพระรูปร่วมกับคณะผู้บริหารและคณะกรรมการดำเนินงาน ได้มีชาวบ้านจาก จ.กำแพงเพชร ประกอบด้วยนายหัสนัย สุขจิตต์ อายุ 37 ปีซึ่งได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานในโรงงานพลาสติก ทำให้มีอาการเส้นยึดทั้งแขนและขา ไม่สามารถเดินได้ ต้องนั่งอยู่บนรถเข็น มานานกว่า 12 ปี ทั้งยังเป็นโรคสะเก็ดเงินร่วมด้วย และน.ส.ขวัญกมล ผูกพัน อายุ 19 ปี ที่ประสบอุบัติเหตุถูกรถปิ๊กอัปชนเมื่อเดือนมี.ค.2555 ทำให้สมองกระทบกระเทือน ส่งผลให้พูดไม่ได้ เดินไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ต้องนั่งอยู่บนรถเข็นตลอด เดินทางมาพร้อมกับญาติเพื่อถวายฎีกาขอความช่วยเหลือ ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงมีพระปฏิสันถารกับประชาชนทั้งสองรายที่มายื่นถวายฎีกาพร้อมทั้งรับสั่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พระนครศรีอยุธยา รวบรวมข้อมูลมาถวายรายงานแด่พระองค์ เพื่อพิจารณาในการให้ความช่วยเหลือต่อไป จากนั้นได้เสด็จกลับในเวลาประมาณ 12.00น.
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในงานดังกล่าวยังมีการตรวจโรคตาภายในเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อบันทึกเป็นสถิติโลกลงในกินเนสส์ บุ๊กด้วย โดยสามารถตรวจผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการเกี่ยวกับโรคตาได้ถึง 450 คน
       
       นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า สถิติดังกล่าวยังไม่มีประเทศใดเคยทำมาก่อน ดังนั้นที่ประเทศไทยจึงถือว่าเป็นการบันทึกสถิติโลกในการตรวจโรคตาได้จำนวนผู้ป่วยมากที่สุดในโลกในเวลา 1 ชั่วโมง ซึ่งเดิมทางกินเนสส์ บุ๊ก กำหนดไว้ที่ 150 คน แต่เราสามารถทำได้ถึง 450 คน จึงถือว่าประสบความสำเร็จ และในการตรวจโรคตาครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการตรวจเพื่อสร้างสถิติอย่างเดียว แต่เป็นการตรวจโรคตาที่ครบวงจร ตั้งแต่ตรวจการมองเห็น ตรวจโรคต้อต่างๆ ด้วย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 มีนาคม 2556

6845


ตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ :

เห็นด้วยกับแนวคิดของกระทรวงสาธารณสุข ว่าตอนนี้ที่กระทรวงฯออกฉบับ 4 6 7 ทำให้โรงพยาบาลต่างจังหวัดได้รับเงิน พิสูจน์แล้วว่าเงินช่วยดึงบุคลากรได้.... เรื่องค่าตอบแทนสาขาอื่นเช่น อัยการ ศาล เค้าได้เต็มที่โดยไม่ต้องทำงาน แต่พวกหมอเรา ได้น้อย แต่ที่พวกเรายังอยู่กันได้เพราะว่า ทำเวชปฏิบัติส่วนตัว เปิดร้าน อะไรต่างๆ.... การปรับระบบเรื่องเงินก็พิสูจน์แล้วว่าทำให้คนให้อยู่ในระบบได้ส่วนหนึ่ง แต่ว่าแน่นอนสถานการณ์ต้องเปลี่ยนไป การจ่าย Flat rate อย่างเดียวไปเยอะๆ ก็ทำให้เกิดสภาพที่บางคนเลยไม่ต้องทำอะไร ส่งต่อให้คนส่วนที่ทำงานหนักอะไรต่างๆ วิธีการปรับแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่สร้างแรงจูงใจ... โรงพยาบาลนอกสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เราไม่ได้จ่าย P4P เราอาจต้องกลับไปคิด เราจ่ายเป็น OT ธรรมดา ถ้ากระทรวงฯมีอะไรก็พ่วงพวกเราไปด้วยนะครับ... เห็นด้วยกับแนวคิดของกระทรวงสาธารณสุข ในลักษณะที่เป็นเหตุเป็นผล คิดว่าจะเป็นประโยชน์

ตัวแทนจากสำนักงบประมาณ :

หลักการดูดีแต่เป็นห่วงเรื่องใช้เงินงบประมาณ ประเด็นก็คือว่า ก่อนที่สภาจะเห็นชอบในหลักการ และหลักเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลง กำลังเปลี่ยน อาจจะต้องมีตัวเลขที่มาที่ไปว่า มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างไร... ส่วนหลักการก็คงต้องอธิบายให้เกิดความชัดเจนว่า ขอมาแล้ว มันจะทำให้การทำงานของกระทรวงสาธารณสุขมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และเหมาะสมกับการทำงานของแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์.... ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องตอบได้ด้วยว่า เมื่อใช้กระทรวงสาธารณสุขได้ ก็ต้องใช้ที่กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษา หรือกระทรวงอื่นๆได้ด้วย อันนี้ ก็เป็นประเด็นที่จะเป็นลูกโซ่ ต่อไปว่าเมื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์แล้ว ก็มีภาระงบประมาณ เพิ่มขึ้นที่กระทรวงสาธารณสุขแล้ว  กระทรวงก็ควร อาจจะรับได้ หรือรับไม่ได้ก็มาดูตัวเลขกันอีกที ส่วนที่จะไปกระทบกับกระทรวงอื่น ผมไม่แน่ใจว่า จะมีปัญหาลูกโซ่ไปยังกระทรวงอื่นสักเท่าไหร่... เพราะฉะนั้น ตอนแรกผมนึกว่าเกณฑ์ที่จะออกมาจะเป็นเกณฑ์กลาง โดยปกติแล้ว ทั่วไปกรมบัญชีกลางจะเป็นผู้ออก...ซึ่งเหตุผลที่กระทรวงชี้แจงต่อที่ประชุม ผมคิดว่ามีเหตุผลมีน้ำหนักเพียงพอ เพียงแต่ว่า เท่าที่เราเห็น มันยังเป็นแค่ตัวเลขที่ยังไม่ครบวงจร เราปรับลดระยะที่หนึ่งลด ครึ่งหนึ่ง ระยะที่สองก็ลดอีกส่วนหนึ่ง ระยะที่สามลดหมด แต่ว่าในส่วนที่เพิ่มขึ้น เราไม่เห็น คือ ไม่ใช่แค่สำนักงบประมาณไม่เห็น คนที่จะทำงานโดยเฉพาะในโรงพยาบาลต่างๆก็จะไม่เห็นว่า ตัวเองจะได้ในส่วนนี้อย่างไร เค้าจะไม่เห็น และก็จะเกิดความรู้สึกต่อต้านว่า เค้าถูกลดมาเป็นสเตปๆเลย แต่ที่เพิ่มขึ้นเค้าไม่รู้ว่าเค้าจะได้เท่าไหร่ ตรงนี้สำคัญ ผมไม่แน่ใจว่า เกณฑ์ตัวนี้มันอาจจะต้องมีการทดลองใช้กันหรือเปล่า มีการทดสอบเกณฑ์ ที่จะจ่ายตามปริมาณงานต่างๆที่ทำงานไป คือที่ผ่านมา ถ้าทำงานหนักนอกเหนือจากเงินเดือนปกติ ถ้าไม่ใช่วิชาชีพที่สลับซับซ้อนมาก ก็เหมาจ่ายเป็นรายเดือนให้ไป แต่ถ้ามันจำเป็นต้องทำงานหนักนอกเหนือจากเกณฑ์ปกติและก็เป็นงานที่สลับซับซ้อนก็จะต้องเป็นหน้าที่ที่จะต้องมีค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากเงินเดือน ปกติทั่วๆไปกรมบัญชีกลางจะเป็นผู้คิด ทีนี้ประเด็นนี้เราเริ่มมาจากระเบียบที่อิงกับเงินบำรุง ผมก็ไม่ได้บอกว่าระเบียบนั้นไม่ดี แต่เราจะยกเลิกระเบียบนั้น แล้วเอาระเบียบใหม่ เกณฑ์ใหม่ขึ้นมา เพราะฉะนั้นประเด็นนี้ในหลักการอาจจะต้องหารือกันว่า ควรจะให้ทางหน่วยงานกลางเป็นผู้คิดหลักเกณฑ์นี้ขึ้นมา หรือไม่อย่างไร หรืออย่างน้อยก็ที่สุด กระทรวงการคลังจะต้องเห็นชอบเกณฑ์นี้เสียก่อน โดยทั่วไปก็ต้องเป็นไปในลักษณะนี้

ตัวแทนจากกรมบัญชีกลาง :

กรมบัญชีกลางไม่ขัดข้องในเรื่องของหลักการ แต่ว่าในเรื่องของรายละเอียดคงจะต้องมาคุยกัน ทำความเข้าใจกัน เราจะจ่ายP4P เราจะจ่ายเท่าไหร่ เช่นจะต้องทำงานหนักแค่ไหนจึงจะได้... ถ้าเป็นระเบียบที่ใช้เงินงบประมาณแล้วต้องเป็นหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก

........................................................

6846

 คณะกรรมการพิจารณาทบทวนค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข เห็นชอบหลักการปรับค่าตอบแทนแนวใหม่ วงเงินเดิม   เพิ่มจ่ายตามภาระงานให้ผู้ที่ทำงานหนักทุกแห่ง  ส่วนพื้นที่เฉพาะ ยังมีระบบเหมาจ่ายเหมือนเดิม  พร้อมเริ่ม 1  เมษายน 2556

            บ่ายวันนี้ (13 มีนาคม 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการพิจารณาทบทวนระบบการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในภาครัฐ ชุดใหม่ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปลัดกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมบัญชีกลาง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาหรือผู้แทน อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ประธานชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป หัวหน้าโครงการบริหารค่าตอบแทน สำนักงานก.พ. มีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับมอบหมายเป็นเลขานุการ

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า ในวันนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการสำคัญของแนวทางการทบทวนค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข โดยวงเงินค่าตอบแทนไม่ลดลงแต่อย่างใด แต่จะมีการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนแบบใหม่ โดยจ่ายตามผลการปฏิบัติงานจริงหรือตามภาระงาน (Pay for Performance : P4P) และยังคงให้มีค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายในบางพื้นที่ที่อยู่ยาก และพื้นที่เฉพาะระดับ 1 ระดับ 2 เช่นพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือโรงพยาบาลที่หาบุคลากรไปทำงานยากเช่นเดิม เพราะฉะนั้นสรุปได้ว่าโรงพยาบาลทุกแห่งและบุคลากรทุกคนที่ทำงานเกินมาตรฐานของงานจะได้รับค่าตอบแทนส่วนนี้ โดยจะดำเนินการเป็น 3 ระยะ ระยะแรกเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 ระยะที่ 2 เดือนตุลาคม 2556 และระยะที่ 3 ในเดือนตุลาคม 2557

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า เมื่อปรับการจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบตามภาระงานแล้ว ค่าตอบแทนที่ได้รับจะไม่ลดลง บางคนได้มากกว่าวิธีเดิม เนื่องจากมีการรับประกันวงเงินในการจ่ายค่าตอบแทน  ในระยะแรกจะประกันเท่ากับวงเงินเดิมที่กลุ่มวิชาชีพเคยได้รับ ส่วนในระยะที่ 2 จะประกันวงเงินตามภาระโรงพยาบาล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีความมุ่งมั่นว่า เมื่อปรับระบบการจ่ายค่าตอบแทนแบบใหม่ สิ่งที่ประชาชนจะได้รับคือคุณภาพและประสิทธิภาพของงานบริการที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานหนัก  โดยจะมีการกำหนดเพดานวงเงินค่าตอบแทนให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านการเงินในระยะยาว และใช้วิธีการบริหารจัดการภายในเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบต่อแนวทางการบริหารงบประมาณค่าตอบแทนในปีงบประมาณ 2556 ซึ่งครม.อนุมัติงบช่วยอุดหนุน 3,000 ล้านบาท โดยจะจ่ายค่าตอบแทนตามแบบเดิมย้อนหลังในเดือนตุลาคม 2555-มีนาคม 2556 ซึ่งโรงพยาบาลได้ใช้เงินบำรุงสำรองจ่ายไปก่อนแล้วจำนวน 2,000 ล้านบาท  ส่วนที่เหลืออีก 1,000 ล้านบาทจะใช้ตามหลักเกณฑ์ใหม่เริ่มตั้งแต่เมษายน–กันยายน 2556 โดยจะให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเร่งทำความเข้าใจบุคลากรทุกระดับ  เนื่องจากเป็นระบบใหม่ หลายฝ่ายยังเข้าใจหลักการคลาดเคลื่อน        

“เรื่องเงินค่าตอบแทนนี้ เป็นสิ่งที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพื่อชดเชยการเสียโอกาสให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ชนบท กันดาร เป็นการแสดงน้ำใจความห่วงใยต่อบุคลากรที่คงอยู่ปฏิบัติงานดูแลประชาชนในพื้นที่ ด้วยอุดมการณ์ความเสียสละที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งซึ่งเงินจำนวนนี้ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับภาคเอกชน” นายแพทย์ประดิษฐกล่าว                                                      

ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วิธีการจ่ายตามผลการปฏิบัติงานจริง เป็นวิธีการใหม่ที่จะเกิดขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรสาธารณสุขทุกวิชีพทุกคน ที่ทำงานหนักเกินมาตรฐาน และเป็นการเพิ่มคุณภาพบริการแก่ประชาชน โดยจะมีการกำหนดมาตรฐานการทำงานขั้นต่ำของทุกสายวิชาชีพ ซึ่งแบ่งเป็น 7 กลุ่ม  คือกลุ่มแพทย์  กลุ่มทันตแพทย์  กลุ่มเภสัชกร  กลุ่มพยาบาลวิชาชีพ กลุ่มสหวิชาชีพ  กลุ่มตำแหน่งเจ้าพนักงานระดับเทคนิค  กลุ่มเจ้าหน้าที่อื่นและงานสนับสนุน เพื่อเป็นฐานในการจ่าย ขณะนี้ได้จัดทำหลักเกณฑ์รายละเอียดเสร็จแล้ว จะเสนอต่อคณะกรรมการต่อไป  

          นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนตามระดับพื้นที่ที่จะใช้ในปี 2556-2557  จะแบ่งโรงพยาบาล ออกเป็น 2 กลุ่มคือโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งมี 96 แห่ง และกลุ่มโรงพยาบาลชุมชน 737 แห่ง ซึ่งจะมีการทบทวนการจัดพื้นที่ใหม่ เมื่อดำเนินการระยะที่ 3 คือในเดือนตุลาคม 2557 และจะปรับทุก 2 ปี โดยในหลักเกณฑ์ของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ1.โรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ปกติ 2.โรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่เฉพาะระดับ 1 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีความยากลำบากในการบริหารจัดการบุคลากร จำนวน 7 แห่ง และ3.โรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่เฉพาะระดับ 2 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีความยากลำบากในการบริหารจัดการบุคลากรระดับมาก มี 2 แห่ง

          ส่วนโรงพยาบาลชุมชน จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่1.คือโรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ในเขตชุมชนเมือง  มี 33 แห่ง 2.โรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ปกติมี 591 แห่ง  3.โรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เฉพาะระดับ 1 จำนวน 65 แห่ง และ 4. โรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เฉพาะระดับ 2 จำนวน 48 แห่ง ซึ่งโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่เฉพาะ ได้กำหนดการจ่ายตามระยะเวลาที่อยู่ปฏิบัติงานในพื้นที่ แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1-3 ปี 4-10 ปี และ 11 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นการชดเชยค่าเสียโอกาสต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ที่เสียสละ เช่นโอกาสเล่าเรียนของบุตร เป็นต้น และเป็นแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานให้บริการประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และจะพิจารณาให้วิชาชีพต่างๆ 26 สายงาน เนื่องจากการทำงานเป็นทีมบริการ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร 2.กลุ่มพยาบาลวิชาชีพ 3.สหวิชาชีพ และ4.กลุ่มสายบริการโดยตรง ทั้งระดับปริญญาตรีและต่ำกว่าปริญญาตรี

  *********************************** 13 มีนาคม 2556
แหล่งข่าวโดย » สำนักสารนิเทศ
[มีนาคม พุธ 13,พ.ศ 2556 19:32:42]

6847


สวัสดี เพื่อนแพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ทุกท่าน

   ก่อนอื่นจะขอกล่าวถึง การประชุมสามัญประจำปี 2556 ของสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 ที่โรงแรม เซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ซึ่งถือว่า เป็นการประชุมครั้งที่ 4 หลังจากการประชุมก่อตั้งสมาพันธ์ฯในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2552

ทางสมาพันธ์ฯได้รับเกียรติ จากนพ. ชลน่าน ศรีแก้ว รมช. สธ. มาเป็นประธานกล่าวเปิดงาน ในการประชุมวันนั้นเราได้ ประธานสมาพันธ์ฯ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่2 ติดต่อกันและทีมรองประธานอีก 9 คน ที่จะช่วยเสริมหญิงเหล็กอย่าง พญ.ประชุมพร ให้ทำงานได้อย่างราบรื่น สามารถสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งได้ต่อไป โดยการรวมตัวของแพทย์เราชาวโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ยังได้รับการสนับสนุนจาก เลขาธิการแพทยสภา นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ ซึ่งจะจัดตั้งอนุกรรมการแพทยสภา ประกอบไปด้วย ประธานองค์กรแพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้การทำงาน การแก้ปัญหาให้กับผู้ป่วยต่อไป และ คุณอรวรรณ นุ้ยภักดี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาระบบงานบุคคล กพ. ได้กล่าวยกย่องการรวมตัวของสมาพันธ์ฯว่าเป็นต้นแบบการรวมตัวของข้าราชการเพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งทาง กพ.กำลังศึกษาและจะยกร่างเป็นกฎหมายต่อไป

ในวันเดียวกันกับการประชุมของสมาพันธ์ฯ ทางคณะกรรมการร่างพ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ...  ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมี นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว รมช. สธ.เป็นประธาน มีท่านประธานสมาพันธ์ฯของเรา พญ.ประชุมพร เป็นกรรมการด้วย (ท่าน รมช. สธ. และประธานสมาพันธ์ ทำงานหนักจริงๆ) ประชุมร่วมกับ คุณปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้สรุปผลการประชุมเป็นที่น่าพอใจสำหรับผู้ให้การรักษา อย่างเพื่อนแพทย์ทุกท่าน แต่อย่างไรก็ตาม สมาพันธ์ฯจะติดตามเรื่องนี้อย่างไม่ให้คาดสายตา

เรื่อง P4P ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ได้มาร่วมบรรยายในงานประชุมใหญ่ครั้งนี้ด้วย ทำให้ชาวสมาพันธ์ฯ เราได้รับทราบแนวทางของ สธ. และตัวแทนสมาพันธ์ ได้แจ้งถึงปัญหาการทำ P4P ว่า มีความไม่สะดวกในการทำงาน ความไม่สบายใจและความไม่ลงรอยกันในแต่ละวิชาชีพ ทำให้ท่านปลัดฯเรียกประชุมคณะกรรมการค่าตอบแทนของกระทรวง ด่วน!! ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ เพียง 4วันหลังจากการประชุมสมาพันธ์ฯ แต่ไม่แน่ใจว่า ตัวแทนผู้บริหารที่เป็นกรรมการเข้าร่วมประชุมนั้น อยู่โรงพยาบาลเดียวกับพวกเราหรือเปล่า ถึงได้มีคำกล่าวว่า “ไม่มีปัญหา เนื่องจากมีการพูดคุยกันตลอด” แต่ถึงอย่างไร 1 มีนาคม คงต้องเก็บแต้ม P4P ตามนโยบายกระทรวงฯ ซึ่งมีการแบ่งสัดส่วนจำนวนเงินของแต่ละวิชาชีพมาแล้ว จะช่วยลดความขัดแย้งได้ระดับหนึ่ง และท่านปลัดฯ สัญญาว่าจะหาเงินมาจ่าย P4P ไม่ให้เป็นภาระของโรงพยาบาลต่อไป

สำหรับผู้ที่สนใจข่าวสารของสมาพันธ์ฯ หรือต้องการพูดคุยกัน สามารถเข้าไปที่ http://www.thaihospital.org

ร่วมแรง ร่วมใจสร้างความสามัคคี
สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป

6848
โจมตีกลางวงประชุม! “หมอประดิษฐ” อึ้งเจอกลุ่มแพทย์ชนบทแต่งดำกว่า 150 คน บุกพบคาเก้าอี้ประธานประชุมค่าตอบแทน แม้ ปลัด สธ.เข้าสกัดห้ามแต่ไม่ฟัง เครื่องร้อนยื่นหนังสือร้องถูกตัดเบี้ยกันดาร ชี้มีประโยชน์แอบแฝงเอื้อ รพ.เอกชนดึงแพทย์ พร้อมยื่นถอดถอนพ้นตำแหน่ง ลั่นไม่ร่วมสังฆกรรมอีกต่อไป “หมอณรงค์” แจงเปลี่ยนพื้นที่กันดารเป็นพื้นที่เฉพาะ ยังรับเงินเหมือนเดิม ส่วนที่ปรับเป็นชุมชนเมืองรับเงินตามภาระงาน รมว.สธ.ชี้เงินค่าตอบแทนไม่มาก ถือเป็นเรื่องของน้ำใจ ย้ำให้มากกว่านี้อีก 3 เท่า แต่ไม่มีน้ำใจก็ดึงไว้ระบบไม่ได้
       
       วันนี้ (13 มี.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท นำแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร จากโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ทั้งจังหวัดที่อยู่บริเวณปริมณฑล และแพทย์ที่เดินทางมาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคเหนือ จำนวนกว่า 100 คน แต่งกายด้วยชุดสีดำ บุกเข้าห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในระหว่างที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำลังประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนกำลังคน สธ.ซึ่งมีตัวแทนจากกระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมประชุม โดยระหว่างนั้น นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.ได้พยายามห้ามปรามและร้องขอให้รอพบภายหลังการประชุม แต่ นพ.เกรียงศักดิ์ ไม่ฟัง กลับนำกลุ่มผู้มาเรียกร้องบุกตะลุยเข้าห้องประชุมในทันทีโดยไม่ฟังคำห้ามปรามใด เพื่อคัดค้านกรณี สธ.จะทบทวนการจ่ายค่าตอบแทนใหม่ โดยเฉพาะในส่วนของ รพช.ที่จะเปลี่ยนจากการจ่ายแบบอัตราเดียวทุกพื้นที่และทุกหน่วยบริการ (Flat Rate) เป็นจ่ายตามภาระงาน (Pay for Performance หรือ P4P) และมีการปรับลดเบี้ยเลี้ยงในพื้นที่ทุรกันดารลงร้อยละ 50 ของอัตราเดิมในวันที่ 1 ต.ค.2556 และเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายทั้งหมดในวันที่ 1 ต.ค.2557
       
       เมื่อ นพ.เกรียงศักดิ์ บุกเข้าห้องประชุมแล้ว ได้กล่าวกับ รมว.สาธารณสุข ว่า ที่มาในครั้งนี้ขออนุญาตไม่ไหว้ เพราะไม่ได้มาด้วยความเคารพนับถือ เนื่องจากสิ่งที่ นพ.ประดิษฐ กำลังดำเนินการอยู่นั้น ไม่แน่ใจว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงเพื่อเอื้อธุรกิจเอกชนในการรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนหรือไม่ เพราะการปรับวิธีจ่ายเป็นแบบ P4P และตัดค่าตอบแทนตามพื้นที่กันดาร อันเป็นแรงจูงใจให้แพทย์และบุคลากรทำงานในพื้นที่ชนบท จะส่งผลให้ภาคเอกชนสามารถดึงแพทย์เข้าไปทำงานได้ง่ายขึ้น จึงอยากท้าทาย สธ.ให้ประกาศดำเนินการเรื่องนี้ตั้งแต่ 1 เม.ย.2556 ไม่ต้องรอปี 2557 เพื่อจะได้เห็นผลกระทบ นอกจากนี้ ยังแสดงจุดยืนอีกว่า แพทย์ชนบทจะไม่ร่วมสังฆกรรมใดๆ กับ สธ.ที่มี นพ.ประดิษฐ เป็นเจ้ากระทรวง และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เป็นปลัด สธ.อีกต่อไป
       
       นพ.รอซาลี ปัตยะบุตร ผอ.รพ.รามัน จ.ยะลา กล่าวว่า ตนไม่มั่นใจในเกณฑ์ใหม่ของ สธ.ที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่ใหม่ หากดูแลหมอในพื้นที่ห่างไกลที่เสียโอกาสในด้านต่างๆ มากกว่าหมอในเมือง ตนก็สามารถรับได้ แต่ไม่อยากให้คงเบี้ยเลี้ยงเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วตัดเบี้ยเลี้ยงในพื้นที่ทุรกันดารอื่นที่ต้องเสียโอกาสไป ซึ่งไม่อยากให้กระทรวงอ้างถึงการจ่ายแบบ P4P ว่าจะทดแทนได้ เพราะ P4P เปรียบเสมือนโบนัสจากการทำงานหนัก แต่เบี้ยเลี้ยงเหมือนกับค่าเสียโอกาสที่ต้องเดินทางมาทำงานในพื้นที่ขาดแคลน ไม่สามารถเทียบกันได้
       
       ด้าน นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันค่าจ้างในระบบสาธารณสุขมีทั้งหมด 91,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 51.62 ของเงินในระบบสุขภาพ แบ่งเป็นเงินเดือน 51,000 ล้านบาท เงินจ้างลูกจ้างชั่วคราว 14,000 ล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนี้ในอนาคตจะไม่ต้องจ่าย เพราะมีการปรับเป็นข้าราชการ และเงินพื้นที่พิเศษและวิชาชีพที่ขาดแคลนอีก 26,000 ล้านบาท หรือเรียกว่าเงินค่าเสี่ยงภัย พื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งการปรับเปลี่ยนเงินค่าตอบแทนนั้น โดยหลักใช้วงเงิน 26,000 ล้านบาทเหมือนเดิม ไม่ลด แต่จะเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงิน โดยพื้นที่ทุรกันดารเดิมยังคงได้เงินอัตราตามเดิม แต่พื้นที่ปกติกำหนดให้จ่ายเป็นค่าตอบแทนจากภาระงาน หรือ P4P แทน
       
       นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นได้จัดทำข้อเสนอการปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายกำหนด 3 ระยะ แบ่งเป็น ระยะ 1 เริ่มวันที่ 1 เม.ย.2556 ปรับพื้นที่ 4 กลุ่ม ได้แก่ พื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่ปกติ พื้นที่เฉพาะ 1 และพื้นที่เฉพาะ 2 โดยปรับอัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่ปกติจำนวนหนึ่ง และให้จ่ายแบบ P4P โดยมีการประกันวงเงินวิชาชีพตามหลักการของแต่ละวิชาชีพนั้นๆ ระยะที่ 2 เริ่มวันที่ 1 ต.ค.2556 ปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย รพช.พื้นที่ชุมชนเมืองทั้งหมดลง 50% ในทั้ง 2 กลุ่ม และกำหนดให้จ่าย P4P ประกันวงเงินตามหลักการของ รพ.แต่ละแห่ง ซึ่งไม่น้อยกว่าของเดิม ส่วนพื้นที่รพช.ทุรกันดาร ให้จ่าย P4P ในกรอบวงเงินที่เหมาะสม และระยะที่ 3 วันที่ 1 ต.ค.2557 จะกำหนดพื้นที่แบบใหม่เป็นกลุ่ม รพช.พื้นที่เฉพาะแทนพื้นที่ทุรกันดาร โดยกำหนดให้จ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เพื่อเป็นค่าชดเชยการเสียโอกาส ส่วนพื้นที่ รพช.ชุมชนเมือง และพื้นที่ปกติ ให้ปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายทั้งหมดและจ่าย P4P ซึ่งเป็นกติกาเดียวกับโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) อีกทั้ง จะพิจารณายกระดับ รพ.อยู่พื้นที่ห่างไกลบางพื้นที่เป็น รพท.เช่น ยะลา นราธิวาส เป็นต้น ทั้งนี้ พื้นที่ทุรกันดารที่ปรับใหม่ ยังคงได้อัตราค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนเป็นพื้นที่เฉพาะแทน
       
       นพ.ประดิษฐ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้รับหลักการในข้อเสนอการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนแบบใหม่ แต่ในส่วนของ P4P ยังต้องมีการพิจารณารายละเอียดอีกที ส่วนเรื่องกลุ่มแพทย์ชนบทนั้นตนไม่ติดใจที่เดินทางมาเรียกร้อง เพราะเข้าใจว่าอาจยังมีความไม่เข้าใจในหลายเรื่อง ซึ่งการชี้แจงทั้งทางวาจาและลายลักษณ์อักษรจะเป็นหน้าที่ของ ปลัด สธ.ขณะที่ความเป็นห่วงเรื่องสมองไหลไป รพ.เอกชนนั้น ตนคิดว่าเงินของ สธ.ถือว่าเป็นการจ่ายค่าตอบแทนที่ไม่มาก ถือเป็นน้ำใจเพียงเล็กน้อย แต่เรื่องที่หมอจะอยู่ในระบบเป็นเรื่องของน้ำใจมากกว่า ต่อให้เอาเงินให้มากกกว่านี้อีก 3 เท่า ถ้าไม่มีน้ำใจอยากทำงานเพื่อประชาชนก็ดึงหมอไว้ในระบบไม่ได้ ส่วนการกล่าวหาว่าตนเอื้อประโยชน์เอกชนนั้น ก็ขอให้พิสูจน์ เพราะเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้อยู่แล้ว ส่วนการยื่นหนังสือให้ นายกรัฐมนตรีถอดถอนตนนั้นจะนำหนังสือยื่นนายกฯ ให้ และหากรัฐบาลพิจารณาว่าตนไม่มีผลงานก็ยินดีน้อมรับ
       
       สำหรับปัจจุบันอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในแต่ละระยะของ รพช.แบ่งเป็นพื้นที่ปกติ ทุรกันดารระดับ 1 และทุรกันดารระดับ 2 ทำงานปีที่ 1-3 ในพื้นที่ปกติได้ 10,000 บาท พื้นที่ทุรกันดารระดับ 1 ได้ 20,000 บาท พื้นที่ทุรกันดารระดับ 2 ได้ 30,000 บาท ซึ่งการปรับใหม่จะเป็นพื้นที่ชุมชนเมือง 10,000 บาท ระดับปกติ 10,000 บาท พื้นที่กลุ่มเฉพาะ 1 ได้ 20,000 บาท พื้นที่กลุ่มเฉพาะ 2 ได้ 30,000 บาท ปีที่ 4-10 พื้นที่ปกติ 30,000 บาท ทุรกันดารระดับ 1 ได้ 40,000 บาท ทุรกันดารระดับ 2 ได้ 50,000 เปลี่ยนเป็นพื้นที่ชุมชนเมือง 12,000 บาท พื้นที่ปกติระดับแบ่งระดับ 2.1 2.2 และ 2.3 ซึ่งเป็น รพ.ขนาดแตกต่างกัน จะได้ที่ 30,000 20,000 และ 15,000 บาท ตามลำดับ ทั้งนี้ หลังจากวันที่ 1 ต.ค.2556 แพทย์และทันตแพทย์ที่ทำงานปีที่ 1-3 ในพื้นที่ชุมชนเมืองจะไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยง แต่ระดับอื่นๆที่กำหนดยังได้เท่าเดิม และหลังวันที่ 1 ตุลาคม 2557 พื้นที่ชุมชนเมือง และพื้นที่ระดับปกติจะไม่ได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงเลย เปลี่ยนเป็นการจ่ายแบบ P4P เว้นพื้นที่พิเศษจะมีการจำแนกกลุ่มและมีอัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่กำหนดตามพื้นที่แต่ละพื้นที่

ASTVผู้จัดการออนไลน์    13 มีนาคม 2556

6849
วันที่ 12 มี.ค.56 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเสร็จการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ตั้งคณะกรรมทำงานเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินและประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ ของผู้อำนวยการองค์กรมหาชน ซึ่งจะมีผลทบทวนผลตอบแทนของทั้งผู้บริหารและบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นรองประธาน

มติชนออนไลน์ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

6850
ความก้าวหน้าในการจัดการที่สำคัญยิ่งของงานด้านสุขภาพคือ การที่มีการตั้งองค์กรอิสระมาทำหน้าที่ด้านสุขภาพเคียงข้างกระทรวงสาธารณสุข เพราะทุกองค์กรล้วนมีข้อจำกัดกระทรวงสาธารณสุขเองก็เช่นกันซึ่งเป็นองค์กรที่ใหญ่โต เทอะทะ เน้นการรักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุดก็แทบจะหมดแรงทำภารกิจอื่นแล้ว การจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจก็มีข้อจำกัดในเชิงประสิทธิภาพ ประกอบกับนิยามสุขภาพที่กว้างไกลเป็นสุขภาวะ ทำให้มีการผลักดันให้เกิดองค์กรอิสระขึ้นมาร่วมปฏิบัติการในการดูแลสุขภาพเคียงข้างกระทรวงสาธารณสุข โดยเรียกรวมๆ ว่า องค์กรตระกูล ส.

ในปี 2535 จึงมีการก่อตั้งองค์กรตระกูล ส. องค์กรแรกคือ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) จากการวิจัยทำให้มีองค์ความรู้และได้ผลักดันผลการวิจัยไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายและการก่อตั้งองค์กรที่มีภารกิจเฉพาะอีกหลายองค์กรตามมา อันได้แก่ การก่อตั้งสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(สรพ.)ในปี 2542 ก่อตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ในปี 2544 ก่อตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ในปี 2545 ก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.)ในปี 2550 ก่อตั้งสำนักงานการแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ.) ในปี 2551 เป็นต้น ในปัจจุบันองค์กรตระกูล ส.เหล่านี้มีบทบาทอย่างมากต่อการขับเคลื่อนประเด็นทางสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมและสร้างความตระหนักกับผู้คนในสังคมว่าสุขภาพเป็นประเด็นของทุกคน ไม่ใช่แต่เฉพาะของหมอหรือของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น

ในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา องค์กรตระกูล ส. ต่างสร้างสรรค์งานเพื่อสุขภาพคนไทยไปมาก แม้ภารกิจจะแตกต่างแต่ก็มีทิศทางไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือการส่งเสริมการเติบโตของภาคประชาชนให้ลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของปัญหาและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาต่างๆโดยองค์กรตระกูล ส.ทำหน้าที่อำนวยการให้ภาคประชาสังคมเติบโต เสนอเสียงสะท้อนจากประชาชน และผลักดันนโยบายสาธารณะที่ควรจะเป็น ซึ่งทิศทางเช่นนี้เองที่เป็นเสมือนก้อนกรวดในรองเท้าของรัฐบาลทุกรัฐบาล

องค์กรตระกูล ส. มีการเสนอให้ควบคุมการโฆษณาเหล้าเบียร์อย่างเข้มข้น เสนอให้กระจายอำนาจและเปิดโอกาสให้จังหวัดจัดการตนเอง ส่งเสริมการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนต่อสิทธิต่างๆ หนุนเสริมชุมชนต่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ เรียกร้องไม่ให้สนับสนุนการเจรจา  FTA ที่เอาเรื่องสิทธิบัตรยาไปแลกเพื่อการค้าขาย สร้างความเข้มแข็งแก่คนฐานรากในการตรวจสอบนโยบายรัฐบาล คัดค้านการทำสุขภาพให้เป็นสินค้าเช่นนโยบายเมดิคัลฮับ นี่คือตัวอย่างเพียงบางส่วนที่เป็นเสมือนก้อนกรวดในรองเท้าของรัฐบาลซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นที่ก้าวหน้าแต่ไม่ตรงใจรัฐบาล

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการจัดแถวองค์กรตระกูล ส.ให้เข้ามาอยู่ในการสั่งการของรัฐบาล โดยใช้วิธีการที่หลากหลายเช่น การเปลี่ยนคนที่สั่งได้มาเป็นคณะกรรมการบอร์ด การส่งคนของฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงานโดยตรงด้วยการเป็นผู้นำหรือเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร หรือล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายประดิษฐ์ สินธวณรงค์ ก็ได้กำหนดให้องค์กรตระกูล ส.หลายองค์กรเข้ามาทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขภายใต้การควบคุมกำกับของรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขแม้ด้านหนึ่งเสมือนเพื่อการบูรณาการงาน แต่อีกด้านหนึ่งก็คือการจัดแถวเพื่อการจำกัดบทบาทขององค์กรตระกูล ส. ไม่ให้ทำเรื่องที่ก้าวหน้าที่รัฐบาลไม่อยากทำหรือไม่ให้มาขวางนโยบายสีเทาที่รัฐบาลอยากทำ และเพื่อทำหมันการหนุนเสริมการเติบโตของภาคประชาชน

ทิศทางของการเป็นประชาธิปไตยต้องส่งเสริมการเติบโตขององค์กรอิสระและภาคประชาชน ไม่ใช่การจัดแถวเพื่อการกินรวบและการสั่งการแบบรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งจะทำให้ระบบสุขภาพไทยถอยหลังลงคลอง

สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 12 มีนาคม 2556

6851
การรุกคืบเพื่อรวบอำนาจในระบบสุขภาพโดยฝ่ายการเมืองเป็นไปอย่างมีจังหวะ

นโยบายปรับโครงสร้างหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ซึ่งได้รับแรงหนุนสำคัญจาก นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. เร้าให้ฉุกคิดคำถามคือมีวาระซ่อนเร้นหรือไม่นั่นเพราะโครงสร้างใหม่ที่จะเริ่มใช้ในเดือน พ.ค.นี้ไม่เพียงแต่ปฏิรูปหน่วยงานสังกัด สธ.เท่านั้น แต่กลับ ครอบคลุมการทำงานองค์กรอิสระด้านสุขภาพที่ก่อนหน้านี้ถูกแยกอำนาจออกมาจากสธ.ด้วย

คำถามที่ตามมา ... นี่เป็นความพยายามรวบอำนาจเก่าคืนต้นสังกัดหรือไม่

เริ่มตั้งแต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ที่มีการเพิ่มตำแหน่งรองเลขาธิการขึ้นจากเดิมอีก 2 อัตรา หนึ่งคือ นพ.อรรถสิทธิ์ กาญจนสินิทธ์ อดีต สส.ขอนแก่น พรรคไทยรักไทย อีกหนึ่งคือ นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ อดีตผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สปสช.ซึ่งมีฝ่ายการเมืองสนับสนุนเกิดข้อวิพากษ์ถึงความคลุมเครือในสายสัมพันธ์

ถัดมาไม่นานมีคำสั่งลดทอนอำนาจการเบิกจ่ายเงินของ "ผู้อำนวยการสำนัก" ใน สปสช. ขึ้นอีกฉบับ เดิมทีผู้อำนวยการสำนักสามารถอนุมัติเงินและการพัสดุ ได้ไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่ปัจจุบันถูกจำกัดให้เหลือเพียง 1 หมื่นบาทหากเกิน 1 หมื่นบาทรองเลขาธิการ ซึ่งเลขาธิการได้ให้อำนาจไว้จะเป็นผู้อนุมัติ

 แหล่งข่าว สปสช. อธิบายว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการปรับโครงสร้างตามปกติเพื่อแก้ปัญหาเรื่องวิจารณญาณของผู้อำนวยการเขตในการเลือกอนุมัติที่แตกต่างกัน ตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเคยทักท้วง

ทว่า ข้อกังขาเรื่องการรวมศูนย์เบิกจ่ายไว้กับบุคคลที่ฝ่ายการเมืองวางไว้ยังคงมีอยู่

ขณะที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ล่าสุดก็ถูกลดทอนอำนาจลงเช่นกัน เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา สธ. มีนโยบายปรับเปลี่ยนภารกิจ สพฉ. โดยลดบทบาทลงเหลือเพียงการทำหน้าที่ดูแลมาตรฐาน ติดตาม ควบคุมและบังคับใช้ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเท่านั้น

ขณะที่อำนาจเดิม อาทิ การสั่งการรถพยาบาล การเปิดสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 รวมถึงการประสานเครือข่ายอาสาและมูลนิธิ และการจัดการภัยพิบัติ สธ.จะเป็นผู้ดูแลเองทั้งหมด

พร้อมกันนี้ เตรียมจะถอดตรา สพฉ. ออก และเปลี่ยนเป็นสัญลักษณ์ของ สธ. แทน

ที่ผ่านมา สพฉ. ทำงานมีประสิทธิภาพ วัดผลจากการให้บริการสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉิน เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง และอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี2554

สังคมจึงเพรียกหาคำอธิบายที่มีน้ำหนักต่อการตัดสินใจทางนโยบายในครั้งนี้

นอกจากนี้ นพ.ประดิษฐ ยังมีนโยบาย "จัดกลุ่มบริหาร" โดยดึงหน่วยงานสังกัด สธ. และองค์กรอิสระด้านสุขภาพ ที่มีภารกิจคล้ายคลึงกันมาจัดเป็นกลุ่มเพื่อบริหารร่วมมีรองปลัด สธ. ดูแล

น่าจับตาที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งถูกมัดรวมไว้กับกรมควบคุมโรคและกรมอนามัย

นี่เป็นการคุมทิศทางโดย สธ. ภายใต้คำสั่งการเมืองหรือไม่ นั่นเพราะ สสส. เป็นขุมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่หลายฝ่ายจับจ้อง

ด้านสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ก็มีคนใกล้ชิด นพ.ประดิษฐ อย่าง นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เข้ามาเป็นผู้อำนวยการคนใหม่

ล่าสุด นพ.ประดิษฐ ยังจะตั้งคณะกรรมการพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) มากำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การสาธารณสุขของประเทศ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ทั้งๆ ที่ขณะนี้มีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ซึ่งมีโครงสร้างในลักษณะเดียวกันทำหน้าที่ครอบคลุมกว่า เพราะมีภาควิชาการ ประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่แล้ว

การตั้ง คสช. ขึ้นมาใหม่จึงทั้งซ้ำซ้อนและไม่ก่อประโยชน์ต่อการบริหารงานภาพรวม

ประเมินกันว่า อนาคตอันใกล้สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) จะประสบชะตากรรมในลักษณะเดียวกัน ด้วยเป็นหน่วยงานหลักใช้การันตีมาตรฐานโรงพยาบาลเอกชน ก่อนเข้าสู่เมดิคัลฮับเต็มรูปแบบ

ทั้งหมดคือข้อกังขาที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 12 มีนาคม 2556

6852
กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้า 3 ปี บรรจุสมุนไพรไทย 15 รายการ เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ เผยเล็งวิจัยต่อยอดสรรพคุณ 'กวาว เครือขาว-บัวบก-ขมิ้นชัน' ก่อนส่งเสริมให้ใช้เป็นมาตรฐาน

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยระหว่างลงนามความร่วมมือเพื่อผลักดันยาจากสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ร่วมกับผู้แทนจากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่า สธ.มีเป้าหมายในการนำยาสมุนไพรบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติร้อยละ 10 ในอีก 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2556-2560 และว่า ขณะนี้ในบัญชียาหลัก มียาสมุนไพร 71 รายการ จากยาทั้งหมด 878 รายการ คิดเป็น ร้อยละ 8.09

"ในปี 2558 ตั้งเป้าจะผลักดันให้มีการใช้ยาจากสมุนไพรให้เป็นมาตรฐานกับการรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง เป็นต้น ไม่ใช่ให้เป็นแค่ยาทางเลือกหรือยาสำรองเหมือนในอดีต อย่างไรก็ตาม การจะสร้างความเชื่อมั่นให้แพทย์ยอมรับในสรรพคุณว่ามีประโยชน์ในการรักษา และใช้ยาจากสมุนไพรให้เป็นมาตรฐาน จะต้องมีการวิจัยสรรพคุณและเห็นผลทดลองทางคลินิกที่เป็นรูปธรรม รวมถึงการผลิตยาจากสมุนไพรต้องได้มาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) เพื่อเป็นหลักประกันในประสิทธิผลและความปลอดภัยจากการใช้ยา ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายยาแผนปัจจุบันได้ เพราะทุกวันนี้ประเทศไทยนำเข้ายาแผนปัจจุบันมากถึงร้อยละ 75" นพ.ประดิษฐ กล่าว

ทางด้าน นพ.สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วย นักวิชาการจาก 3 หน่วยงาน นักวิจัย และผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ต่างๆ สนับสนุนข้อมูลและคัดเลือกสมุนไพรที่จะวิจัยและพัฒนาต่อยอดเพื่อผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลัก เพิ่มอีกอย่างน้อย 15 รายการ ภายใน 3 ปี เพื่อนำมาใช้รักษาอาการเจ็บป่วยของประชาชนอย่างแพร่หลาย เบื้องต้นเตรียมคัดเลือกสมุนไพรกว่า 10 รายการ นำมาวิจัยสรรพคุณในการรักษาโรคเพิ่มเติม ได้แก่ ว่านชักมดลูก ขมิ้นชันและสารสกัดจากขมิ้นชัน ใบบัวบก กระชายดำ กวาวเครือขาว พรมมิ ขิง หม่อน ปัญจขันธ์ ใบฝรั่ง และพริก

นพ.สมชัย กล่าวอีกว่า ข้อมูลในปี 2555 ระบุว่า มูลค่าการใช้ยาจากสมุนไพรในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศประมาณ 363 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.82 ของการใช้ยา ทั้งหมด โดยยาสมุนไพรที่ประชาชนนิยมใช้มากที่สุด 3 อันดับแรก ในบัญชียาหลัก คือ
1.ขมิ้นชันรักษาอาการของระบบทางเดินอาหาร แน่นท้องจุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ
2.ไพลใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อย ลดบวม ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก และ
3.ฟ้าทลายโจรใช้รักษาอาการของระบบทางเดินหายใจ บรรเทาอาการหวัด เจ็บ

มติชน วันที่ 13 มี.ค. 2556

6853
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 มีนาคม ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน โดยก่อนข้าสู่วาระการประชุม พล.ต.ท.สมยศ ดีมาก ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเพื่อนข้าราชการที่ใช้สวัสดิการการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐ โดยข้าราชการไทยเดิมมีประมาณ 2 ล้านคน รวมครอบครัวอีกประมาณ 6-8 ล้านคน การรักษาพยาบาลที่ผ่านมาเรียบร้อยดี แพทย์ผู้รักษาสามารถสั่งยาใหม่หรือเก่าที่มีประสิทธิภาพสูงให้กับคนไข้ แต่เมื่อเร็วๆ นี้ มีหนังสือเวียนจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง แจ้งมายังผู้บริหารโรงพยาบาลของรัฐ แจ้งให้แพทย์ผู้ตรวจรักษาสามารถจ่ายยาได้เฉพาะยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น ไม่สามารถจ่ายนอกบัญชีได้ ไม่เช่นนั้นกรมบัญชีกลางจะเรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าโรงพยาบาลจะต้องไปเรียกเก็บจากแพทย์ผู้สั่งยาต่อไป

"การกระทำของกรมบัญชีกลางครั้งนี้เป็นการคุกคามต่อจรรยาบรรณวิชาชีพของแพทย์อย่างไม่เคยมีมาก่อน ทำให้แพทย์ไม่กล้าสั่งยาให้ผู้ป่วย ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องหรือเหมาะสม ความจริงสิทธิสวัสดิการพยาบาลของข้าราชการที่มีมานานแล้ว โดยผู้ป่วยที่เป็นข้าราชการสามารถรับยาทุกชนิดโดยไม่ต้องเสียเงินเลย"  พล.ต.ท.สมยศ กล่าว

หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 12 มีนาคม 2556

6854
สธ.สั่งลดบทบาท สพฉ.ดึงอำนาจกลับกระทรวง ให้โรงพยาบาลราชวิถีเป็นแม่งานแทน

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายปรับเปลี่ยนภารกิจของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โดยลดบทบาทลงให้เหลือเพียงแต่การทำหน้าที่ดูแลมาตรฐานติดตาม ควบคุม และบังคับใช้ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเท่านั้น ส่วนอำนาจหน้าที่เดิม สธ.จะเข้ามาดูแลเองทั้งหมด

สำหรับอำนาจ สพฉ.ก่อนหน้านี้ คือการบริหารจัดการการแพทย์ฉุกเฉิน อาทิการสั่งการรถพยาบาล การเปิดสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 รวมถึงการประสานเครือข่ายอาสาและมูลนิธิ และการจัดการภัยพิบัติ

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กล่าวว่า ในระดับจังหวัดจะให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นเลขานุการอนุกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัด มีหน้าที่ประสานทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ฉุกเฉิน

นอกจากนี้ จะอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งให้อำนาจ สธ. บัญชาการเหตุการณ์โดยให้โรงพยาบาลราชวิถีเป็นตัวกลางในการจัดการด้านการแพทย์ฉุกเฉินยามเกิดภัยพิบัติ ขณะเดียวกันบุคลากรการแพทย์ฉุกเฉินถือเป็นคนของ สธ. จะพิจารณาเครื่องแบบและตราติดรถพยาบาลให้เหมาะสมต่อไป

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 12 มี.ค.นี้จะพิจารณางบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประจำปี 2557 รวมทั้งสิ้น 1.58 แสนล้านบาท 

หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 11 มีนาคม 2556

6855
 1. กกต.มีมติ 3 ต่อ 1 ยังไม่ประกาศรับรองผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รอสอบเรื่องร้องเรียน “สุขุมพันธุ์” ด้าน ผบ.ตร.เตรียมรับ “พงศพัศ” กลับเข้ารับราชการ!

       หลัง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.พรรคประชาธิปัตย์ คว้าชัยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 มี.ค. ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.สมัยที่สอง วันต่อมา(4 มี.ค.) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พร้อมด้วยแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ได้ขึ้นรถติดเครื่องขยายเสียงตระเวนขอบคุณประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยติดข้อความที่ข้างรถว่า “ขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่มอบให้ จะเป็นพลังให้เราทำงานต่อทันที”
       
       ทั้งนี้ วันเดียวกัน(4 มี.ค.) พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา ประธาน กกต.กทม.ได้ส่งผลเลือกตั้งให้ กกต.กลาง พร้อมแนบรายงานกรณี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการปราศรัยใส่ร้าย ตามมาตรา 57(5) ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ 2 เรื่อง ให้ กกต.พิจารณา และว่า กกต.กลางมีอำนาจประกาศรับรองผลเลือกตั้งภายใน 7 วันนับจากวันเลือกตั้ง หรืออย่างช้าวันที่ 8 มี.ค.
       
       อย่างไรก็ตาม 2 วันต่อมา(6 มี.ค.) กกต.กลาง 4 คน ได้ประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะประกาศรับรองผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการหรือไม่ โดยไม่รอให้นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.ที่ติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศได้เดินทางกลับมาก่อน จากนั้นที่ประชุมมีมติ 3 ต่อ 1 เห็นควรยังไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้รับเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลว่า ต้องสืบสวนสอบสวนกรณี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ถูกร้องคัดค้านให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากไม่แล้วเสร็จ กกต.สามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไปก่อนได้
       
       นายภุชงค์ นุตราวงค์ เลขาธิการ กกต.เผยว่า เรื่องร้องเรียนมี 3 เรื่อง อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กกต.กทม.2 เรื่อง และฝ่ายสืบสวนสอบสวนของ กกต.กลาง 1 เรื่อง เป็นคำร้องที่กล่าวหาว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กระทำผิด ฐานปราศรัยใส่ร้าย หลอกลวง จูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยม ทาง กกต.กทม.ขอเวลาสืบสวนสอบสวน 15 วัน ก่อนเสนอ กกต.กลาง หากการสอบสวนแล้วเสร็จก่อน 30 วัน กกต.อาจประกาศรับรองผลก่อนเวลาที่กฎหมายกำหนดได้
       
       ทั้งนี้ มีรายงานว่า กกต.เสียงข้างน้อย 1 เสียง ที่เห็นว่าควรประกาศรับรองผลเลือกตั้งเลย คือ นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง เนื่องจากมองว่า พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม.พ.ศ.2528 มาตรา 48 กำหนดให้ผู้ว่าฯ กทม.ต้องเข้าปฏิบัติหน้าที่ภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง แต่ กกต.เสียงข้างมากเห็นว่า พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น และประกาศ คปค.ที่กำหนดให้ กกต.สืบสวนสอบสวนกรณีมีเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่า พ.ร.บ.องค์กรปกครองท้องถิ่นอื่นๆ ประกอบกับ กกต.กทม.ยืนยันว่า จะสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ซึ่งปลัด กทม.ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรักษาการผู้ว่าฯ กทม.ได้
       
        ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า การรับรองผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ล่าช้าไม่ส่งผลกระทบอะไรกับการทำงาน และว่า ไม่รู้ว่ามีประเด็นอะไรร้องเรียนไปยัง กกต.บ้าง ได้ยินว่ามีกรณีการโพสต์เฟซบุ๊กของนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และนายเสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการอิสระ ซึ่งไม่ได้เข้าข่ายใส่ร้ายป้ายสีหรือทำผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม พรรคได้เตรียมทีมกฎหมายไว้ต่อสู้เรื่องนี้แล้ว รอให้ กกต.เรียกไปชี้แจงก่อน
       
        ขณะที่นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงยกตัวอย่างว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2554 เคยร้องคัดค้านการเลือกตั้งต่อ กกต.ใน 6 ประเด็น เป็นกรณีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำ นปช.ได้ขึ้นเวทีปราศรัย ให้สัมภาษณ์ และโพสต์ในเฟซบุ๊กในลักษณะใส่ร้ายกล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีเนื้อหาลักษณะคล้ายคลึงกับการร้องคัดค้านการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ ดังนั้น จึงหวังว่า กกต.จะพิจารณาในแนวทางเดียวกัน โดยการยกคำร้องว่า ไม่ใช่เป็นการใส่ร้ายป้ายสี แต่เป็นการใช้สิทธิแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย และขอให้รีบรับรองผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.โดยเร็ว
       
        ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมาเผยว่า ทีมกฎหมายของพรรคอยู่ระหว่างถอดเทปคำปราศรัยทั้งหมดในช่วงโค้งสุดท้ายของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ 9 คน รวมทั้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ที่ถ่ายทอดผ่านทีวีดาวเทียมหลายช่อง เพราะคิดว่าน่าจะเข้าข่ายใส่ร้ายป้ายสี พล.ต.อ.พงศพัศ และผิดกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 57 โดยจะส่งหลักฐานทั้งหมดให้ กกต.ในวันที่ 11 มี.ค.
       
        ส่วนความเคลื่อนไหวของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.พรรคเพื่อไทย หลังพ่ายเลือกตั้ง มีแนวโน้มว่าจะกลับเข้ารับราชการตำรวจอีกครั้ง โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เผยว่า ได้คุยเป็นการส่วนตัวกับ พล.ต.อ.พงศพัศแล้ว ยืนยันว่าจะขอกลับเข้ามารับตำแหน่งเดิม(รอง ผบ.ตร.) อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวไปถาม พล.ต.อ.พงศพัศ ถึงการกลับเข้ารับราชการตำรวจ พล.ต.อ.พงศพัศ ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ โดยบอกว่าแล้วแต่นายกรัฐมนตรีจะพิจารณา ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังไม่ให้คำตอบ โดยอ้างว่า ต้องรอ กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก่อน
       
        ทั้งนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นเรื่องไม่เหมาะสม หาก พล.ต.อ.พงศพัศจะกลับเข้ารับราชการเป็นรอง ผบ.ตร.อีกครั้ง เนื่องจากข้าราชการต้องมีความเป็นกลาง แต่ พล.ต.อ.พงศพัศลาออกไปลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคเพื่อไทย จึงถือว่าฝักใฝ่การเมือง และสูญเสียความเป็นกลางแล้ว
       
       2. พันธมิตรฯ ยื่น จม.รอง ปธ.สภาฯ ยันจุดยืนค้านนิรโทษฯ คดีทุจริต-ความผิดอาญา ขณะที่ ปชป.เมินร่วมหารือนิรโทษฯ จี้ รบ.ถอน กม.ปรองดอง 4 ฉบับก่อน!

       ตามที่นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย พยายามผลักดันให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมือง โดยได้ประสานให้มีการหารือ 4 ฝ่ายในวันที่ 11 มี.ค.ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย(พท.)-พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)-พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) นั้น
       
        เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีมติจะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมหารือดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า พรรคมีจุดยืนสนับสนุนการนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินเท่านั้น และว่า หากรัฐบาลจริงใจที่จะเดินหน้ากระบวนการปรองดอง ต้องถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ทั้ง 4 ฉบับออกจากวาระการประชุมสภาก่อน ส่วนการเชิญกลุ่มต่างๆ เข้าหารือนั้น พรรคเห็นว่ามีการเชิญแค่บางกลุ่ม ไม่ครอบคลุมตัวแทนทุกกลุ่ม จึงไม่น่าจะนำไปสู่การปรองดองอย่างแท้จริง
       
        ส่วนท่าทีของแกนนำพันธมิตรฯ นั้น เมื่อวันที่ 6 มี.ค. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ ได้เข้ายื่นจดหมายแสดงจุดยืนของพันธมิตรฯ ต่อนายเจริญ โดยแกนนำพันธมิตรฯ มีมติว่า 1. จุดยืนพันธมิตรฯ คือไม่เห็นด้วยและจะคัดค้านจนถึงที่สุดหากมีการออกกฎหมายใดใดเพื่อนิรโทษกรรมหรือล้างความผิดให้ผู้กระทำผิดทางอาญา หรือความผิดกรณีทุจริตทุกกรณี
       
        2.ควรนิรโทษกรรมให้เฉพาะผู้ที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ รวมทั้งควรเพิ่มตัวแทนในการหารือ เช่น ตัวแทนองค์การพิทักษ์สยาม ,นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ,ตัวแทนครอบครัวเจ้าหน้าที่รัฐผู้สูญเสีย รวมทั้งตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ร้านค้าที่สี่แยกราชประสงค์และสยามสแควร์ ,ผู้แทนคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.)
       
        3.ในการลงมติ ต้องไม่ใช้มติเสียงข้างมาก แต่ต้องเป็นมติเอกฉันท์ 4.หากนายเจริญไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พันธมิตรฯ ขอให้เพิ่มกลุ่มต่างๆ ในการหารือ พันธมิตรฯ จะไม่เข้าร่วมหารือด้วย หรือหากนายเจริญปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ แต่ต่อมามีการแปรญัตติหรือเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ไม่เป็นไปตามที่มีข้อยุติอย่างเป็นเอกฉันท์ พันธมิตรฯ จะคัดค้านและชุมนุมนอกสภาอย่างถึงที่สุด และ 5.หากนายเจริญไม่อยากเห็นความขัดแย้งนอกสภา ส.ส.ควรหยุดเสนอกฎหมายที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมทุกฉบับ และควรถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ทั้ง 4 ฉบับที่ยังค้างอยู่ในวาระการประชุมสภาออกมา
       
        ขณะที่นายเจริญ ยืนยันว่า ไม่ขัดข้องกับข้อเสนอของพันธมิตรฯ ที่ขอให้เพิ่มกลุ่มในการหารือ และจะเชิญพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง นายเจริญ ยังขอให้ทุกฝ่ายสบายใจว่า การหารือครั้งนี้ ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ไม่มีเกมการเมือง จะนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เท่านั้น สำหรับแกนนำจะยังไม่พูดถึง ส่วนที่พันธมิตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์เสนอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ทั้ง 4 ฉบับออกจากสภาก่อนนั้น นายเจริญ อ้างว่า ไม่สามารถไปบังคับสมาชิกที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ การจะถอนกฎหมายเป็นเรื่องของผู้เสนอ แต่ยืนยันว่า ระหว่างนี้จะยังไม่มีการพิจารณากฎหมายทั้ง 4 ฉบับ
       
        ด้าน พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ อดีตประธานองค์การพิทักษ์สยาม(อพส.) เผยว่า จะไม่ไปร่วมหารือเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับ อพส. ขณะที่นายคณิต ณ นคร อดีตประธาน คอป.ก็บอกเช่นกันว่า จะไม่เข้าร่วมหารือ เพราะ คอป.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แล้ว
       
        ทั้งนี้ วันต่อมา(7 มี.ค.) นายวรชัย เหมมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และคณะ ได้เข้ายื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยนายวรชัย ยืนยันว่า แกนนำมวลชนและผู้สั่งการจะไม่ได้รับอานิสงส์จากกฎหมายดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อครหาว่าทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมขอให้นายสมศักดิ์เร่งบรรจุร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับนี้เข้าสภาโดยเร็ว
       
        ด้านนายสมศักดิ์ บอกว่า จะตรวจสอบความถูกต้องและบรรจุในวาระการประชุมสภาฯ ภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนจะสามารถนำขึ้นมาพิจารณาได้เมื่อใด ต้องขึ้นอยู่กับสมาชิก ซึ่งส่วนตัวสนับสนุนแนวทางการสร้างความปรองดองอยู่แล้ว
       
        ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์ว่า การเสนอร่างกฎหมายใหม่เข้าสภาของนายวรชัย น่าจะเป็นตัวหลอกมากกว่า เพราะในการประชุมสภาเพื่อพิจารณากฎหมาย หากมีบุคคลใดเสนอร่างกฎหมายเข้าไป แล้วมี ส.ส.คนอื่นเสนอร่างกฎหมายเอาไว้แล้ว เช่น ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ทั้ง 4 ฉบับที่ค้างอยู่ในวาระ อาจมีการอ้างว่าเป็นหลักการเดียวกัน จะได้ขอให้พิจารณารวมกันไป ดังนั้น การที่คงร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ทั้ง 4 ฉบับเอาไว้ จะเป็นหัวเชื้อในการล้างผิดให้กับคดีทุจริต
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่นายวรชัยและคณะเสนอ มี 7 มาตรา โดยเฉพาะมาตรา 3 มีความหมายกว้างมาก บัญญัติว่า ให้บรรดาการกระทำใดใดของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการอันมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2549 ถึงวันที่ 10 พ.ค.2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ขณะที่มาตรา 3 วรรคสอง บัญญัติว่า การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดใดของบรรดาผู้มีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงเวลาดังกล่าว
       
       3. “ธาริต” สรุปคดี 396 โรงพัก ส่ง ป.ป.ช.สอบ “อภิสิทธิ์-สุเทพ” พร้อมแจ้งข้อหา “พีซีซี” ฉ้อโกง-ผิด กม.ฮั้ว สั่งอายัดเงิน 438 ล้าน!

       เมื่อวันที่ 5 มี.ค. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เผยความคืบหน้าการสอบสวนคดีโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ(ทดแทน) จำนวน 396 แห่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ว่า ได้ลงนามเห็นชอบสรุปสำนวนในส่วนของนักการเมืองเสนอไปยังเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แล้ว และว่า มีข้าราชการการเมืองเกี่ยวข้องในการกระทำผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำนวน 2 ราย คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล ตร. ส่วนความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือกฎหมายฮั้ว มาตรา 11 ,12 และ 13 พบว่า นายสุเทพเข้าข่ายกระทำผิดเพียงคนเดียว
       
        นายธาริต ยังบอกอีกว่า จะดำเนินคดีกับบริษัทพีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ที่เป็นคู่สัญญากับ ตร.ทั้งคดีฉ้อโกงผู้รับเหมา และความผิด พ.ร.บ.ฮั้ว ซึ่งต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินครึ่งหนึ่งของสัญญา คือ 2.9 พันล้านบาท จากมูลค่าโครงการ 5.8 พันล้านบาท
       
        ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมายืนยันว่า คณะรัฐมนตรีชุดที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง พร้อมมั่นใจว่าไม่ได้กระทำการฝ่าฝืนมติ ครม.แต่อย่างใด จึงต้องถามดีเอสไอ เพราะที่ผ่านมามีการแจ้งข้อหาหลายคดี ที่หลายฝ่ายนึกไม่ถึงว่าดีเอสไอจะคิดได้ถึงขนาดนั้น
       
        ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ผู้บริหารบริษัท พีซีซีฯ ประกอบด้วย นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล ,นายจตุรงค์ อุดมสิทธิกุล และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนดีเอสไอ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในคดีก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง 2 ข้อหา คือ ฉ้อโกงผู้รับเหมาช่วง และผิด พ.ร.บ.ฮั้ว โดยได้นำเอกสารหลักฐานเข้าชี้แจง 14 รายการ ยืนยันว่า บริษัทไม่ได้หนีงานหรือฉ้อโกงตามที่ถูกกล่าวหา ส่วนความล่าช้าในการก่อสร้างเกิดจากผู้ว่าจ้างไม่ให้ความร่วมมือ มีการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ขณะที่การตรวจงานแต่ละครั้ง ใช้เวลามาก นอกจากนี้ยังยืนยันด้วยว่า ไม่ได้มีการจ้างช่วง เป็นเพียงการจ้างค่าแรง เพราะวัสดุก่อสร้างหลักเป็นของบริษัท พีซีซีฯ นำส่งทั้งหมด
       
        ด้าน พ.ต.ท.ถวัล มั่งคั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนดีเอสไอ เผยว่า ดีเอสไอได้มีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีธนาคารออมสิน สาขาประตูช้างเผือก จ.เชียงใหม่ จำนวน 438 ล้านบาท และดอกเบี้ยจากเงิน 877 ล้านบาท ที่ ตร.จ่ายเป็นเงินค่าล่วงหน้า 15% แก่บริษัท พีซีซีฯ หลังจากธนาคารหักไว้ในบัญชีเพื่อเป็นสัญญาค้ำประกันโครงการทันที 438 ล้านบาท
       
        ซึ่งวันต่อมา(8 มี.ค.) นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล ประธานกรรมการบริษัท พีซีซีฯ ได้เดินทางมาพบ พ.ต.ท.ถวัล แต่เช้า เพื่อต่อว่าเรื่องการอายัดเงินในบัญชีดังกล่าว เนื่องจากทำให้บริษัทเสียเครดิต และไม่มีเงินจ่ายลูกน้อง พร้อมประกาศว่าจะฟ้องร้องพนักงานสอบสวน จากนั้น พ.ต.ท.ถวัล ได้พานายพิบูลย์ไปพบนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ซึ่งนายพิบูลย์ได้ขอให้นายธาริตถอนการอายัดเงินในบัญชีธนาคารออมสิน 438 ล้านบาท และบัญชีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโรงพัก แต่นายธาริตบอกให้ทำหนังสือแจ้งเหตุผลการถอนอายัดบัญชี นายพิบูลย์จึงกลับไป และบอกว่าจะมายื่นหนังสือที่ดีเอสไออีกครั้งในวันที่ 11 มี.ค.
       
       4. ศาลแพ่ง ชี้อีก คดีไฟไหม้ “เซน” ไม่ใช่ก่อการร้าย -สั่ง “เทเวศฯ” จ่ายสินไหม 1.9 พันล้าน ด้านสยามสแควร์ ได้ 1.7 ล้าน!

       หลังศาลแพ่ง พิพากษาให้บริษัท เทเวศประกันภัย จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรณีถูกเผาระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 เป็นเงิน 3.7 พันล้านบาทเมื่อวันที่ 1 มี.ค. เนื่องจากเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่การก่อการร้ายตามที่บริษัท เทเวศประกันภัยระบุนั้น ปรากฏว่า ยังมีคดีที่บริษัท เทเวศประกันภัย ถูกฟ้องให้จ่ายค่าสินไหมทำนองเดียวกันอีก โดยเมื่อวันที่ 5 มี.ค. ศาลแพ่งได้พิพากษาให้บริษัท เทเวศประกันภัย จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าเซน ซึ่งถูกเพลิงไหม้ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 เป็นเงินกว่า 1.9 พันล้านบาท โดยให้เหตุผลเดิมว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่การก่อการร้าย
       
        ทั้งนี้ ศาลระบุว่า ในทางนำสืบของจำเลย(บริษัท เทเวศประกันภัย) ไม่ปรากฏชัดว่าการก่อวินาศกรรมหรือเหตุการณ์รุนแรง เป็นการกระทำของผู้เข้าร่วมชุมนุมคนใด หรือเป็นการสั่งการโดยแกนนำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมกระทำการนั้น และศาลเห็นว่า กลุ่มคนร้ายที่บุกรุกและเผาทรัพย์ในห้างสรรพสินค้าเซนมีจำนวนไม่มาก ใช้วิธีการไม่สลับซับซ้อน สำหรับถังก๊าซ น้ำมัน ระเบิดขวด หรือยางรถยนต์ ก็เชื่อว่าเป็นสิ่งที่หยิบฉวยได้จากบริเวณใกล้เคียงมาใช้เป็นเชื้อเพลิงและอาวุธ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการก่อการร้าย
       
        อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุม เป็นการไม่นำพาต่อคำสั่งรัฐบาล ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย จนไม่สามารถควบคุมได้ ถือได้ว่าอยู่ในความหมายของคำว่า “การจลาจล” จำเลยจึงต้องชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ตามที่โจทก์ได้ทำประกันภัยเพิ่มนอกเหนือจากประกันภัยทั่วไป เป็นเงิน 1,977,305,182 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
       
        ด้านนายนริศ เชยกลิ่น รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน) บอกว่า พอใจคำตัดสินของศาล ทั้งคดีเซ็นทรัลเวิลด์และเซน เพราะบริษัทจ่ายค่าประกันความเสียหายทุกชนิดปีละกว่า 10 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม นายนริศ บอกว่า บริษัทยังไม่คิดฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับผู้ที่ก่อเหตุเผาห้างเซนแต่อย่างใด
       
        ขณะที่บริษัท เทเวศประกันภัย ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า เนื่องจากคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด และการรับประกันภัยดังกล่าว บริษัทได้กระจายความเสี่ยงโดยทำประกันภัยต่อ ไปยังบริษัทรับประกันทั้งในและต่างประเทศ(รี-อินชัวเรอร์) หลายบริษัท จึงจำเป็นต้องปรึกษาบริษัทเหล่านั้น เพื่อขอแนวทางดำเนินการต่อไป พร้อมยืนยันว่า กรณีเพลิงไหม้ดังกล่าว บริษัทได้ตั้งสำรองค่าสินไหมทดแทนไว้แล้ว จึงไม่กระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัทแต่อย่างใด
       
        ทั้งนี้ วันเดียวกัน(5 มี.ค.) ศาลแพ่ง ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้กำกับดูแลศูนย์การค้าสยามสแควร์ เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท เมืองไทยประกันภัย ให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีที่สยามสแควร์ถูกไฟไหม้ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553
       
        โดยศาล พิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบแล้ว เห็นว่า แม้จะมีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณพื้นที่สี่แยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียงต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 พ.ค.2553 และในทางนำสืบ จำเลยระบุว่า ระหว่างการชุมนุม มีกลุ่มก่อการร้ายใช้อาวุธสงครามร้ายแรงก่อวินาศกรรมหลายครั้ง แต่การนำสืบไม่ปรากฏชัดว่าว่าการก่อวินาศกรรมหรือเหตุการณ์รุนแรงเหล่านั้น เป็นการกระทำของผู้เข้าร่วมชุมนุมคนใด หรือเป็นการสั่งการโดยแกนนำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมกระทำการนั้น
       
        ศาล ยังระบุด้วยว่า วันเกิดเหตุ เห็นว่าขณะคนร้ายเผาโรงภาพยนตร์สยาม แกนนำ นปช.ประกาศยุติการชุมนุมแล้ว ไม่มีข้อเรียกร้องทางการเมืองเหลืออยู่ และเหตุการณ์เผาโรงภาพยนตร์สยาม ทางจำเลยนำสืบไม่ได้ว่าเกี่ยวโยงกับกลุ่มคนเสื้อแดงหรือ นปช.อย่างไร และไม่ว่าจะกระทำโดยคนใดหรือกลุ่มใด ก็มิใช่การกระทำที่หวังผลทางการเมือง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการก่อการร้าย
       
        อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่า ความปั่นป่วน วุ่นวาย จนไม่สามารถควบคุมได้ ถือว่าอยู่ในความหมายของคำว่าจลาจล อัคคีภัยที่เกิดขึ้นจึงเป็นภัยที่เกิดจากการจลาจล ซึ่งเป็นข้อยกเว้นความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตามประกันอัคคีภัยดังกล่าว แต่มีกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยซึ่งโจทก์ทำไว้ 2 แห่ง ที่ไม่มีข้อยกเว้นความเสียหายที่เกิดจากการจลาจล จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จำนวน 2 คูหา รวมเป็นเงิน 1,780,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

ASTVผู้จัดการออนไลน์    10 มีนาคม 2556

หน้า: 1 ... 455 456 [457] 458 459 ... 653