ผู้เขียน หัวข้อ: เด้ง'ปลัดณรงค์'สงครามระหว่าง'สธ.-สปชส.'ยังไม่จบ  (อ่าน 436 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
กระแสข่าวลือกันให้แซด!! "เด้ง"นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์" พ้นเก้าอี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ทำให้ตลอดเวลา 6 เดือน ฝุ่นตลบไม่เคยจางหายไปจากวงการสาธารณสุข เกิดจากการพุ่งปะทะกันระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) "ฝ่ายผู้ให้บริการรักษาพยาบาล" เพราะมีโรงพยาบาล(รพ.)อยู่ในสังกัดกว่า 900 แห่งทั้งรพ.ประจำอำเภอ ประจำจังหวัดและรพ.ศูนย์ กับ "ฝ่ายผู้ซื้อบริการ" อย่าง "สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)" ที่รับผิดชอบดูแลสิทธิรักษาพยาบาลของคนไทยกว่า 48 ล้านคน โดยสธ.คือผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุดของประเทศประมาณ 80 % ขณะที่สปสช.คือผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดเช่นกัน

ชนวนความขัดแย้งรอบนี้เกิดขึ้น ตั้งแต่ “ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน” มานั่งเก้าอี้ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)”และเข้าร่วมประชุม “คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)”ในฐานะ“ประธาน”ครั้งแรก ซึ่งสธ.เสนอให้มีการ“ปรับแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “บัตรทองใหม่” ด้วยการวางกรอบการจัดสรรงบประมาณระดับเขตสุขภาพ พร้อมระบุว่าที่ผ่านมา 12 ปี ระบบการจัดสรรแบบเดิมทำให้รพ.ขาดสภาพคล่อง ตัวเลขปี 2557 วิกฤติการเงินระดับรุนแรงราว 136 แห่ง และอ้างว่ามี “เงินค้างท่อ” ไปไม่ถึงรพ.อีกจำนวนหนึ่ง ขณะที่สปสช.ยืนยันว่าแนวทางการบริหารงบประมาณที่ผ่านมาโปร่งใส ส่วนรพ.ที่ขาดสภาพคล่องมีการวางกลไกแก้ปัญหาแล้ว และส่วนหนึ่งของปัญหาเกิดจากการบริหารของผู้อำนวยการรพ.และการเพิ่มค่าตอบแทนให้กับบุคลากรของสธ.

ดูเหมือนว่าทั้ง “สธ.และสปสช.” ต่างรับรู้ถึงข้อมูลเชิงประจักษ์ เช่นเดียวกัน คือ “รพ.ขาดสภาพคล่อง” แน่นอนย่อมเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน หากรพ.ขาดสภาพคล่องหนักจนไม่มีเงินซื้อยา เวชภัณฑ์ หรือจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ แต่ยังขัดแย้งเรื่องแนวทางการแก้ปัญหา ที่ฝ่ายหนึ่งยืนตามแนวทางเดิมและอีกฝ่ายต้องการปรับเปลี่ยน!

คู่ขัดแย้งระหว่าง"สธ.-สปสช."ยุติชั่วคราว เมื่อ"บอร์ดสปสช."มีมติเห็นชอบให้สปสช.จัดสรรงบฯตามแนวทางเดิม แต่จะต้องไม่เรียกเงินส่วนที่เป็นงบจ่ายล่วงหน้าคืนจากหน่วยบริการในช่วงปลายปีงบประมาณ หลังจากที่ต่างฝ่ายต่างงัดกลยุทธ์มาต่อสู้กันอย่างดุเดือด ต่อรองกันหลากหลายรูปแบบ จนนำไปสู่จะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง "สธ.และสปสช." ในการทำงานร่วมกัน เพื่อยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และมีคำสั่งสายฟ้าแลบจาก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ" รองนายกรัฐมนตรี ให้ยุติ"สธ.-สปสช."ความขัดแย้งโดยเร็ว

ตลอดระยะเวลา 1 ปี 6 เดือนในตำแหน่ง "ปลัดณรงค์" เร่งเดินหน้าผลักดันปฏิรูประบบสาธารณสุข 5 ด้าน ดังนี้ 1.ปฏิรูประบบบริการเป็นเขตสุขภาพ 12 เขตภูมิภาคและกทม. ให้ความสำคัญกับผู้ปฏิบัติงานในภูมิภาค จัดบริการประชาชนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง 2.ปฏิรูปการเงินการคลังด้านสุขภาพ ให้มีธรรมาภิบาลและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการสุขภาพดีขึ้น หน่วยบริการได้รับงบประมาณเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการจัดบริการประชาชน 3.สร้างระบบธรรมาภิบาลและกลไกเฝ้าระวัง ตรวจสอบถ่วงดุล โดยสร้างความเข้มแข็งของกลไกประชาคมสาธารณสุข เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุล (Watch and Voice) การบริหารจัดการทุกระดับของกระทรวงสาธารณสุข เป็นพลังปกป้องระบบคุณธรรมในการบริหารประเทศ 4.การบริหารกำลังคนภาครัฐ ให้สอดคล้องกับระบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและควรจะเป็น และ5.การดูแลส่งเสริมพัฒนาการเด็กไทย ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงอายุ 5 ปี

การปฏิรูประบบสาธารณสุข 5 ด้าน ตามแนวคิดของ"ปลัดณรงค์" ส่งผลให้"ชมรมแพทย์ชนบท" และ"องค์กรเหล่าตระกูล ส." เห็นว่า แนวทางที่ “นพ.ณรงค์ ”ผลักดัน กระทบกระเทือนต่อแนวทางและสถานะของตนอย่างรุนแรง

ว่ากันว่า"นพ.สุวัฒน์ วิริยะพงษ์สุกิจ"ผู้นำแพทย์ชนบท ได้นำเสนอ"10 ทุรลักษณ์"ต่อ"คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)"ประกอบด้วย 1. เป็นเด็กสร้างนักการเมืองที่ขึ้นสู่อำนาจด้วยการวิ่งเต้น

2. เป็นคู่หูกับนักการเมือง ผลักดันนโยบายทำลายโรงพยาบาลชุมชน เอื้อประโยชน์โรงพยาบาลเอกชนในเมืองใหญ่

3. รับนโยบายทางการเมือง เพื่อทำลายระบบหลักประกันสุขภาพ หน่วยงานตระกูล ส. และระบบสาธารณสุขของชาติ หยุดกระแสปฏิรูป หยุดทำซีแอลยา เอื้อประโยชน์ให้บริษัทยาข้ามชาติ

4. ออกนโยบาย P4P ทำลายระบบค่าตอบแทนเหมาจ่ายที่จูงใจให้แพทย์และเจ้าหน้าที่ทำงานในชนบท

5. ขัดขวางรถกู้ชีพของโรงพยาบาลต่างๆ จากทุกภาคที่ช่วยดูแลการต่อสู้ของมวลมหาประชาชน สั่งให้รถทุกคันจอดรอไว้ที่ สธ. หรือโรงพยาบาลสงฆ์ ที่ไม่ใช่จุดเกิดเหตุ

6. ร่วมกับผู้มีอำนาจทางการเมืองในสาธารณสุข ทำลายภาพลักษณ์และงานขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ทำลายโรงงานผลิตวัคซีนของไทยที่ใกล้สร้างเสร็จ แต่งตั้งตัวเองและพวกพ้องเข้าเป็นบอร์ดและผู้บริหาร อภ. ทำให้ธุรกิจถูกกระทบอย่างหนัก ยอดจำหน่ายยาลดลง

7. เป็นนักฉวยโอกาส เปลี่ยนขั้วทางการเมือง เมื่อเห็นนักการเมืองที่ยึดเกาะกำลังจะหมดอำนาจลง ประกาศตัวเป็นฮีโร่นำการปฏิรูปสาธารณสุข เอาผลงานที่เคยคัดค้าน เช่น การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ การมีส่วนร่วมของประชาชน มาโฆษณาเป็นผลงานปฏิรูปของตัวเอง

8. เสนอแผนปฏิรูปสร้างเขตบริหารสุขภาพ ยึดอำนาจที่เคยกระจายให้นายแพทย์สาธารณสุข 76 จังหวัด ผอ.โรงพยาบาล กว่า 1,000 แห่ง มารวมศูนย์ที่ผู้ตรวจราชการ 12 เขต เพื่อง่ายต่อการสั่งการ เปิดช่องแสวงหาประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างได้ง่ายขึ้น 9. สั่งให้หน่วยบริการและเจ้าหน้าที่ไม่ให้ส่งข้อมูลการบริการ ไม่ให้เข้าร่วมงานและร่วมประชุมพัฒนางานกับ สปสช. เอาผู้ป่วยเป็นตัวประกันเพื่อเป็นเกมต่อรองอำนาจของตน และ10. ประกาศยุบบทบาทและดึงหน่วยงานตระกูล ส. อาทิ สปสช., สสส., สช., สพฉ. ให้กลับไปอยู่ภายใต้อำนาจ สธ. เปิดยุคความขัดแย้งครั้งใหญ่ในระบบสาธารณสุข

ว่ากันว่า มีกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติบางคนร่วมโหมไฟ ชี้ชัดว่า“ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข” กำลังวางยา คสช. ควบคู่ไปกับการถูกขยายผลทันทีว่า “สธ.” กำลังจะร่วมมือกับ “คสช.” ล้มโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ชาวบ้านทั่วประเทศ 48 ล้านคนได้รับประโยชน์

6 มีนาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้ประชาชน ใจความตอนหนึ่งว่า “ถ้ามีงานอะไร ในกระทรวงไหนไม่เดิน ทั้งที่รัฐมนตรีได้สั่งการไปแล้ว ผมจะเล่นงานข้าราชการประจำแน่ ผมไม่ย้ายรัฐมนตรีเพราะผมตั้งมากับมือ และรู้ดีว่าแต่ละคนทำงานอย่างไร”

ดูเหมือนว่า วลีเด็ด“พล.อ.ประยุทธ์” ได้ลดแรงกระเพือมต่อกระแสข่าวลือจะปรับคณะรัฐมนตรี “ประยุทธ์1” ได้ทันที แต่เหนือความคาดหมาย “ถ้ามีงานอะไรในกระทรวงไหนไม่เดิน” เป็นการบอกนัยยะหมายถึง“กระทรวงสาธารณสุข”

9 มีนาคม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการบริหารงบสปสช. จากนั้นในวันรุ่งขึ้น(10มีนาคม) “นพ.วินัย สวัสดิวร” เลขาธิการ สปสช. ชี้แจงผ่านวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ใจความตอนหนึ่งว่า“การบริหารงบ สปสช.ผ่านมติบอร์ดสปสช.เห็นชอบมาตลอด ”

11 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการทำงานของ “ปลัดณรงค์” โดยให้ “น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยระหว่างนี้ให้ย้าย “นพ.ณรงค์” ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปก่อน จนกว่าจะมีการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วเสร็จ

หากย้าย "ปลัดณรงค์"เพื่อเปิดทางให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทำงาน ทำไมกรณี "สปสช."ที่ถูกสำนักงาน ป.ป.ท. ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง แต่ยังให้"นพ.วินัย" นั่งเก้าอี้ฎเลขาธิการสปสช." คำถามนี้พุ่งตรงไปที่ "รมว.สธ.-รองนายกฯ-นายกฯ" เชื่อว่าประชาคมสาธารณสุขยังคาใจ

"ปลดปลัดณรงค์" แค่ลดฝุ่นตลบ!!วงการสาธารณสุข แต่ซุกขยะไว้ใต้พรม เพราะสงครามระหว่าง"สธ.-สปชส."ยังไม่จบ อีกทั้งปัญหาระบบสาธารณสุขยังไม่ได้รับการแก้ไข



โดย : กมลทิพย์ ใบเงิน วันที่ 12 มีนาคม 2558
http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/638725