ผู้เขียน หัวข้อ: 'คึกฤทธิ์ ปราโมช' ปราชญ์วรรณกรรมรอบ 100 ปี  (อ่าน 2266 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
แม้ ศ.พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จากไปแล้ว แต่ผลงานด้านวรรณกรรม ศิลปวัฒนธรรม และสังคมจำนวนมากที่บุคคลสำคัญของไทยและของโลกผู้นี้ได้สร้างสรรค์ไว้ขณะมี ชีวิตอยู่ ยังคงติดอยู่ในความทรงจำและได้รับการยกย่องตลอดกาล วันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2554 ถือเป็นวันครบ 100 ปี ชาตกาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งแผ่นดินไทย มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในวาระสำคัญ

 เมื่อสองวันที่ผ่านมามีกิจกรรมฉลอง100 ปี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ซึ่งเป็นอีกกิจกรรมที่น่าสนใจ นั่นคืองานร่วมรำลึกชาตกาล 100 ปี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ บ้านคึกฤทธิ์ ซอยสวนพลู จัดโดย บมจ.อสมท ท่ามกลางบรรยากาศที่อบอุ่นของลูกศิษย์และคนทำงานด้านสื่อสารมวลชน โดยได้รับเกียรติจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในงาน

 กิจกรรม ครั้งนี้มีจุดร่วมที่น่าสนใจยิ่งเป็นการรวบรวมบุคคลในแวดวงวรรณกรรมและสื่อ สารมวลชนมาถ่ายทอดเรื่องราวในความทรงจำเกี่ยวกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ชาวไทยลำดับที่ 20 ที่องค์การยูเนสโก (UNESCO) มีมติรับรองเป็นบุคคลสำคัญของโลกถึง 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ซึ่งปี 2554 นี้ ยูเนสโกยังมีมติรับรองการร่วมฉลองในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาลของท่านอีกด้วย เป็นความทรงจำที่ทุกคนมีต่อบุคคลประวัติศาสตร์ ซึ่งเชื่อว่าคนรุ่นหลังจะได้มุมมองความคิดและปรัชญาด้วยการเรียนรู้ชีวิตและ ผลงานของท่าน

 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ประธานมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80ฯ กล่าวว่า วันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2454 เป็นวันคล้ายวันเกิดของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ซึ่งท่านเป็นคนของประชาชนอย่างแท้จริง เป็นเสาหลักด้านศิลปวัฒนธรรมไทย ทั้งดนตรีไทย โขน ลำตัด ลิเก เป็นผู้ริเริ่มงานด้ารสื่อสารมวลชนอย่างมีแบบแผน ท่านเขียนบทความไว้มากมายกว่า 10,000 ชิ้น ขณะนี้ผลงานทุกชิ้นของท่านเก็บรวบรวมไว้ที่อาคารสถาบันคึกฤทธิ์ ตั้งอยู่ถนนพระราม 4 ซอยงามดูพลี และเปิดให้บริการวันที่ 20 เมษายนนี้ เพื่อฉลองชาตกาล 100 ปี สถาบันแห่งนี้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเกียรติประวัติและผลงานของท่าน รวมถึงงานด้านศิลปวัฒนธรรม ขณะเดียวกันก็มีโรงละครขนาดเล็ก 200 ที่นั่ง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนศิลปะการแสดงรูปแบบต่างๆ ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ทั้งยังตั้งโขนชุมชนนำลูกหลานในชุมชน รวมไปถึงนักเรียนมาแสดงโขนจะเปิดตัวในโอกาส 100 ปีเช่นกัน ในอนาคตจะตั้งลำตัดชุมชนและลิเกชุมชนด้วย โดยสถาบันคึกฤทธิ์มีภารกิจสำคัญสืบสานงานของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปูชนียบุคคลผู้ได้รับการยอมรับระดับโลก
 สำหรับเวทีเสวนาบอกเล่าความทรง จำเกี่ยวกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ บรมครูผู้สร้างสรรค์ เริ่มจาก เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กล่าวว่า อาจารย์คึกฤทธิ์เป็นเอตทัคคะบุคคลคนสุดท้ายของสังคมไทย เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นกับบ้านเมือง เสียงหรือข้อเขียนของท่านในหนังสือพิมพ์เป็นสิ่งที่คนในสังคมเชื่อฟัง ต่างจากในปัจจุบันที่ขาดบุคคลลักษณะนี้

 "ชาตกาล 100 ปี คนไทยควรร่วมรำลึกถึงอาจารย์คึกฤทธิ์ ท่านเป็นผู้รอบรู้ในทุกเรื่อง เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์คนแรก ผลงานมีทุกประเภทและโดดเด่นด้วย อย่างนิยายสี่แผ่นดิน นักวิจารณ์พูดถึงเป็นวรรณกรรมประชานิยม จากปลายปากกาแปรรูปเป็นละครทีวี ละครเวที หลายครั้งหลายหนคนก็ยังติดตาม หรือเรื่องสั้นชื่อมอม ก็เป็นเอก ใครอ่านก็น้ำตาไหล มีประโยคที่ติดอยู่ในใจ "มอมไม่ได้รักนายเท่าชีวิต แต่นายเป็นชีวิตของมอม" เนาวรัตน์กล่าว ก่อนจะฝากกลอนรำลึกครูคึกฤทธิ์ด้วยความรัก เนื้อหาบทกวีพูดถึงงานเขียนของอาจารย์คึกฤทธิ์ที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณและ ความเป็นครูผู้รอบรู้

 ทางด้าน ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลงชื่อดังที่ไม่ได้เป็นลูกศิษย์โดยตรง แต่ศรัทธาในความคิดและผลงาน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ บอกว่า เป็นชาวลพบุรี  ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่ประถมจนปัจจุบัน เชื่อว่าหนังสือเกือบครึ่งในชีวิตเป็นผลงานของท่าน ตนรู้จักผ่านตัวหนังสือจึงได้รับอิทธิพลโดยไม่รู้ตัว ทั้งวิธีคิด วิถีชีวิตต่างๆ นานา เป็นความประทับใจ ภาษาเพลงที่เขียนขึ้นจะแหย่บ้าง หักมุมบ้าง คำพูดกวนๆ เป็นอิทธิพลจากการอ่านงานของท่านที่มีทั้งแง่คิดและอารมณ์ขัน อีกสิ่งที่ได้เรียนรู้ผ่านบรมครูผู้นี้ นั่นคือความเมตตา พร้อมเป็นครูตลอดเวลา เป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากยิ่ง

 ส่วนเรื่องราวความ ทรงจำผ่านปาก ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล คนทำงานด้านสื่อสารมวลชนที่มีประสบการณ์ตรงกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ในบทบาทนักการเมือง กล่าวว่า บ้านซอยสวนพลูของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จะเป็นสถานที่สำคัญที่นักข่าวพุ่งเป้าไปหาเมื่อมีข่าวดี ข่าวร้าย หรือข่าวหวือหวา สมัยทำข่าวได้เข้า-ออกบ้านซอยสวนพลูหลายครั้ง ก่อนหน้านี้ก็ติดตามผลงานของท่านทุกเล่ม อ่านตั้งแต่อายุ 15 ประทับใจมาก ไม่ว่าจะเรื่องหลายชีวิต เรื่องคนของโลก แล้วยังมีงานสารคดีที่ชื่นชอบ เพราะได้รับความรู้มากมาย โดยเฉพาะบุคคลสำคัญของโลกผ่านประสบการณ์ตรงของท่าน ไม่ใช่ลักษณะอัตชีวประวัติ ท่านมีแบบฉบับการเขียนเรื่องต่างประเทศที่น่าสนใจ เช่น เขียนกาลเวลา วัน-เดือน-ปี ยุคสมัยก็เทียบกับช่วงเวลาในไทย เป็นการเชื่อมโยงต่างชาติกับไทย ทำให้เข้าใจได้ดี กลายเป็นลูกศิษย์ผ่านการติดตามผลงานทางอ้อม ในฐานะนักข่าวได้สัมภาษณ์ท่านบ่อยครั้ง ทั้งชมและด่า แต่ก็รักมาก   

 "ท่าน คือ มหาบุรุษเป็นทั้งนักการเมือง นักคิด นักเขียน นักปราชญ์ รวมไปถึงศิลปินนักแสดง สำหรับตนเป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ ด้านวรรณกรรมก็เป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ ทุกคนควรได้อ่านผลงานของท่านไม่มากก็น้อย สิ่งสำคัญจากการศึกษาผลงาน ทำให้พบว่าท่านไม่ใช่นักประดิษฐ์ถ้อยคำงดงาม หรือสร้างสรรค์คำใหม่หวือหวา แต่ได้ใช้สำนวนโวหารเฉพาะตัวสร้างผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ เรียบง่ายและตรงไปตรงมา คนธรรมดาอ่านแล้วเข้าใจ แถมลึกด้วยปรัชญา เรียกว่าเป็นนักปรัชญาวรรณกรรม ผมเป็นหนี้ทางปัญญาและทางวรรณศิลป์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ตลอดไป" ดร.สมเกียรติกล่าวทิ้งท้าย 

 ในโอกาส อสมท ร่วมรำลึกชาตกาล 100 ปี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มีสุนทร สุจริตฉันท์ วงรอยัลสไปรท์ มาขับขานบทเพลง "รักสิบล้อต้องรอสิบโมง" ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์โปรดปราน พร้อมเพลง "สวยในซอย" ให้ผู้มาร่วมงานได้ฟังอย่างมีสีสัน นอกจากนี้ ระหว่างการเสวนาน้อมรำลึกปราชญ์สยามนามคึกฤทธิ์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตเคยเป็นนักวาดการ์ตูนล้อการเมืองของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ มาวาดการ์ตูนฉลองในวาระสำคัญนี้ โดยเสนอภาพภายใต้แนวคิดที่ท่านได้รับการยกย่องจากยูเนสโกเป็นบุคคลสำคัญถึง 4 ด้าน ที่ต้องมาจากความสามารถอย่างแท้จริงและสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ

 เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี วันคล้ายวันเกิด ศ.พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในวันที่ 20 เมษายนนี้ มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80ฯ ได้ทำพิธีเปิดอาคาร "สถาบันคึกฤทธิ์" เพื่อฉลองในโอกาสสำคัญนี้ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดอาคารในวันดังกล่าว เวลา 09.30 น. ณ อาคารสถาบันคึกฤทธิ์ เลขที่ 99/9 ซอมงามดูพลี ถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ ประชาชนเฝ้าฯ รับเสด็จ และสถาบันแห่งนี้เปิดให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมได้หลังเสด็จพระราชดำเนินกลับ.

ไทยโพสต์
19 เมษายน 2554