ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องของคนขี้อิจฉา  (อ่าน 2158 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เรื่องของคนขี้อิจฉา
« เมื่อ: 14 เมษายน 2011, 21:26:12 »
คนขี้อิจฉา (be jealous) หมายถึง คนที่มีความอยากและความปรารถนาที่จะได้ดีมากกว่าคนอื่นและไม่อยากให้คนอื่น ได้ดีกว่าตนเอง และเมื่อไม่เป็นไปอย่างที่อยากให้เป็น ก็เกิดอาการโกรธ เกลียด กลัว มืดมัว อ้างว้าง บางคนมีอาการหนักถึง ขนาดที่เห็นคนอื่นได้ดีกว่าตนเองแล้วทนไม่ได้ ต้องหาทางทำลายหรือทำร้ายคนที่ตนเองอิจฉาริษยาให้ต้องมีเหตุย่อยยับไป ดังนั้น คนขี้อิจฉาจึงเป็นคนที่น่ากลัวและมีปะปนอยู่มากมายในสังคม หลายครั้งที่คนเหล่านี้สร้างปัญหาเปรียบเหมือนดังจุดไฟเผาคนรอบข้างและสังคม ให้วอดวาย ทำลายทุกอย่างได้เพราะเพียงใช้ใจที่คับแคบของตนเองเป็นตัวตัดสินทุกอย่างใน ชีวิต
       
       เรามาดูกันว่า ลักษณะของคนขี้อิจฉาเป็นอย่างไรบ้าง
       
       1. ชอบน้อยเนื้อต่ำใจ
       
       คนขี้อิจฉาบางประเภทจะรู้สึกไม่มีความภูมิใจในตัวเอง ส่วนใหญ่มักคิดว่าตนเองไม่เท่าเทียมหรือต่ำต้อยหรือด้อยกว่าผู้อื่น โดยชอบเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่นจนเกิดเป็นทุกข์ เช่น คิดว่าทำไมเราถึงไม่สวยหรือไม่หล่อเหมือนดารา ทำไมเราถึงไม่รวยเท่าเพื่อนๆ หรือทำไมเราถึงไม่เก่งไม่มีความสามารถพิเศษที่โดดเด่นเหมือนคนนั้นคนนี้บ้าง คนที่มีชอบน้อยเนื้อต่ำใจในตนเองมักจะเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนแอ หากเป็นมากๆอาจส่งผลให้กลายเป็นคนที่มีปัญหาทางจิตหรือมีปัญหาทางอารมณ์ เช่น มีอารมณ์โมโหร้ายรุนแรงหรือเป็นโรคซึมเศร้าได้
       
       2. รู้สึกว่าตนมีปมด้อย
       
       คนขี้อิจฉาอาจเกิดจากเพราะมีบาดแผลที่ฝังรากลึกมาจากการเลี้ยงดูของ ครอบครัวที่ไม่อบอุ่น พ่อแม่ไม่ได้ดูแลเอาใจใส่ลูกเท่าที่ควรจะเป็น หรือพ่อแม่ให้ความรักกับลูกไม่เท่ากันเพราะมีลูกหลายคน โดยอาจจะรู้สึกรักลูกคนเล็กมากกว่าลูกคนโต รักและสนใจแต่ลูกผู้ชาย หรือบางครอบครัวที่พ่อมีภรรยาหลายคนก็อาจจะรักลูกที่เกิดจากภรรยาคนหนึ่ง มากกว่าลูกที่เกิดจากภรรยาคนอื่นๆ สิ่งเหล่านี้จึงส่งผลให้ลูกที่ไม่ได้รับความรักและการเอาใจใส่รู้สึกว่าตน เป็นคนมีปมด้อยเพราะขาดความรัก ทำให้เป็นคนขี้อิจฉาริษยาได้
       
       3. ชอบนินทาว่าร้ายผู้อื่น
       
       พฤติกรรมการแสดงออกอย่างหนึ่งของคนขี้อิจฉาก็คือมักเป็นคนที่มี ปากอยู่ไม่สุข โดยชอบหาเรื่องคนอื่นด้วยการพูดตำหนิติเตียนบ้าง นินทาว่าร้ายบ้าง บางคนขี้อิจฉามากถึงขั้นแต่งเรื่องใส่ร้ายป้ายสี ใส่ความต่างๆนานา เขียนบัตรสนเท่ห์ เขียนโจมตีทางเวปไซด์ เพื่อให้คนที่ตนเองอิจฉาได้รับความอับอายและเสื่อมเสียชื่อเสียง
       
       4. เป็นคนชอบเอาชนะ
       
       คนที่มีนิสัยขี้อิจฉาส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมที่ชอบเอาชนะและแพ้ไม่เป็น คนเหล่านี้ทนไม่ได้ที่เห็นคนอื่นได้ดีกว่าตนเอง เช่น ในการเลื่อนตำแหน่ง ในการเลือกตั้ง ในการสอบ ในการประกวด ถ้าคนอื่นได้อะไรดีๆกว่าตนเอง คนที่มีนิสัยขี้อิจฉาก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อจะให้ได้สิ่งนั้นมาเป็นของตนเอง บ้าง ซึ่งอาจจะใช้วิธีสกปรก ไร้คุณธรรม หรือใช้วิชามารต่างๆ หรือ “ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกล”
       
       คนขี้อิจฉามักจะไม่รู้ตัวว่าตนทำสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องบ้างหรือมักไม่ ยอมรับในความผิดพลาดต่าง ๆ ของตนเอง แต่ส่วนใหญ่จะคิดว่าถูกคนอื่นกระทำเสียมากกว่า เช่น ที่ตนไม่ได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเพราะมักมาทำงานสายบ่อย ๆ หรือไม่ค่อยรับผิดชอบต่อหน้าที่ แต่ไม่คิดถึงความบกพร่องของตนเองตรงนี้กลับไปคิดว่าเพราะเพื่อนที่ได้เลื่อน ตำแหน่งเป็นคนชอบประจบเจ้านาย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงยากที่จะให้คนขี้อิจฉาแก้ไขนิสัยขี้อิจฉาด้วยตัวของเขา เอง แต่วิธีที่ได้ผลที่สุดคือคนใกล้ชิด เช่น พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน ต้องเข้าไปช่วยแก้ไขนิสัยความขี้อิจฉาแทนจะได้ผลมากกว่า ซึ่งวิธีการแก้ไขความขี้อิจฉาสามารถทำได้ ดังนี้
       
       1. เปิดโอกาสให้แสดงความรู้สึกได้อย่างเต็มที่
       
       เมื่อเรารู้ว่าคนใกล้ตัวเราเป็นคนขี้อิจฉาหรือรู้ว่ามีใครมาอิจฉาเรา สิ่งแรกที่ควรทำคือพยายามหาโอกาสพูดคุยกับผู้นั้นเป็นการส่วนตัวโดยให้เขา ได้แสดงความรู้สึกของเขาอย่างเต็มที่ เช่นที่เขาอิจฉาเราเป็นเพราะสาเหตุอะไร หรือทำไมต้องไปอิจฉาคนนั้นคนนี้ การเปิดโอกาสให้คนขี้อิจฉาแสดงความรู้สึกของตนจะเป็นการทลายกำแพงของความ รู้สึกให้เปิดออก การได้พูด ได้ระบาย จะทำให้คนขี้อิจฉาได้ปลดปล่อยความรู้สึกที่อัดอั้นของตนเองออกมา ซึ่งจะช่วยทำให้ความคิดและจิตใจที่รุนแรงนั้นอ่อนโยนลง
       
       แต่สิ่งที่สำคัญคือเมื่อเรากล้าที่จะให้เขาได้แสดงความ รู้สึก เราต้องมีจิตใจและความรู้สึกที่เข้มแข็งและมั่นคงพอที่จะไม่ต่อว่าหรือกล่าว ในทางร้ายใด ๆ กับเขา เพราะไม่เช่นนั้นจะกลับกลายเป็นการจุดชนวนแห่งความแตกแยกขึ้นมาได้
       
       2. ปรับความเข้าใจและเสริมสร้างความมั่นใจ
       
       เมื่อรู้สาเหตุของปัญหาแล้วว่าทำไมคนนั้นจึงเป็นคนขี้อิจฉาหรือทำไม เขาถึงอิจฉาเรา ก็ต้องพยายามปรับความเข้าใจกับคนนั้นว่าสิ่งที่เขาคิดหรือรู้สึกไม่ถูกต้อง เช่น เพื่อนอิจฉาเพราะคิดว่าเรารวยกว่าเขา เราก็ต้องสร้างความเข้าใจว่าที่เรามีเงินใช้เพราะอะไร เป็นต้นว่าเราต้องทำงานพิเศษเพิ่มมากขึ้นหรือเราเก็บเงินวันละนิดวันละหน่อย สะสมไว้มาเป็นเวลานานแล้วจึงพอมีเงินใช้จ่ายโดยไม่ขัดสน เมื่อเขาเข้าใจถึงเหตุผลแล้วก็ต้องสร้างความมั่นใจให้เขาด้วยเพื่อให้คนขี้ อิจฉารู้สึกมีความเชื่อมั่นในตัวเองขึ้นมาและสามารถมองโลกในแง่ดีได้มากขึ้น เช่น เราบอกเขาว่า ต่อไปเขาต้องมีเงินมากเหมือนกันเพราะเขาขยันทำงานและเป็นคนใช้จ่ายอย่าง ประหยัด
       
       3. สร้างความเท่าเทียม
       
       คนขี้อิจฉามักรู้สึกว่าตนไม่เท่าเทียมผู้อื่น ดังนั้นการทำให้เขารู้สึกว่าเขาได้รับความเท่าเทียมกับผู้อื่นจะทำให้ความ ขี้อิจฉานั้นหายไปได้ เช่น เพื่อนในกลุ่มมีหลายคน บางคนอิจฉาเพราะรู้สึกว่าเพื่อนคนนั้นสนิทกับคนนี้มากกว่าตน ดังนั้น ถ้าเรารู้ว่าเพื่อนเราคนใดรู้สึกอิจฉาขึ้นมาเราก็ต้องปฏิบัติให้เขารู้ว่า เขาไม่ได้ต่างจากคนอื่นเลย เป็นต้นว่า เวลาไปเที่ยวก็ชวนเพื่อนในกลุ่มทุกคน เวลาขอความเห็นก็ขอความเห็นจากทุกคน การสร้างความเท่าเทียมนี้ ยิ่งเป็นเรื่องของลูกแล้วการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่าให้ลูกรู้สึกว่าเขาได้รับความรักและความเอาใจใส่จากพ่อแม่ไม่เท่าพี่ น้องเพราะจะทำให้ลูกเป็นคนขี้อิจฉาได้แน่นอน ดังนั้นเวลาทำอะไรต้องระวังอย่าให้อะไรกับใครมากน้อยกว่ากัน เช่น แบ่งขนมก็ให้แบ่งเท่ากัน ให้ของเล่นก็ให้เท่ากัน
       
       4. เอาชนะด้วยความดี
       
       ความดีสามารถลบล้างความผิดทุกอย่างได้ ดังนั้นให้เราทำดีกับทุกคนแม้คนนั้นจะเป็นคนขี้อิจฉาก็ตาม เช่น แม้เขาจะพูดจาว่าร้ายเราแต่ให้เราพูดกับเขาด้วยวาจาที่ดีและจริงใจเสมอ คนขี้อิจฉาเราไม่สบายก็ไปเยี่ยมให้กำลังใจเขา ซื้อขนมมาฝากเขาบ้างหรือให้ของขวัญในโอกาสสำคัญ การกระทำต่าง ๆ เหล่านี้จะสามารถเอาชนะความไม่ดีได้ในที่สุด
       
       ความขี้อิจฉาเป็นสิ่งธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน แต่เมื่อเกิดแล้วและเมื่อเรารู้ตัวเราต้องพยายามระงับให้จงได้ เพราะความขี้อิจฉาไม่ใช่พฤติกรรมที่ดีที่พึงกระทำและไม่มีผลดีอย่างใด ๆ เลย แต่เมื่อเกิดกับใครก็มีแต่จะนำความเสียหายมาให้ ถึงขนาดที่จะสามารถทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเราได้ ดังนั้น หากเรามีความรู้สึกขี้อิจฉาหรือมีคนใกล้ตัวเราเป็นคนขี้อิจฉาหรือเราถูกคน อื่นอิจฉา ลองนำวิธีแก้ไขความขี้อิจฉาที่กล่าวมาข้างต้นนี้มาใช้ ก็เชื่อว่าจะสามารถช่วยแก้ไขให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน


ดร.แพง ชินพงศ์
ASTVผู้จัดการออนไลน์    14 เมษายน 2554