ผู้เขียน หัวข้อ: 10 เรื่องไม่ลับ(แต่เราไม่รู้) ของ "ดวงจันทร์"  (อ่าน 1880 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เห็นกันอยู่แทบทุกคืน แต่นานๆ จะเกิดปรากฏการณ์แปลกๆ มาให้ชมสักที หลายคนเลยไม่ได้ใส่ใจ “ดวงจันทร์” ที่โคจรรอบโลกอยู่ทุกวัน พลอยทำให้พลาดข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับบริวารของโลกดวงนี้
       
       ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV จึงคัด “10 เรื่องไม่ลับของดวงจันทร์” ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ ซึ่งรวบรวมจากเว็บไซต์ข่าวอวกาศ “สเปซด็อทคอม” อโดย โจ ราโอ (Joe Rao) วิทยากรประจำท้องฟ้าจำลองไฮเดน (Hayden Planetarium) ในนิวยอร์ก สหรัฐฯ และ “ไลฟ์ไซน์ด็อทคอม” มานำเสนอ
       
       1.ดวงจันทร์ไม่ได้กลม
       
       หากเราออกไปยืนมองดวงจันทร์จากบนโลก จะได้เห็นด้านสั้นที่สุดชี้ตรงมาหาเรา และศูนย์กลางมวลของดวงจันทร์ ไม่ได้อยู่ตรงเส้นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของดวงจันทร์ แต่อยู่ห่างออกจากเส้นสมมติดังกล่าวออกมา 2 กิโลเมตร
       
       2.เราได้เห็นดวงจันทร์มากกว่าครึ่งดวง
       
       ตำราหลายๆ เล่มมักระบุว่า ดวงจันทร์จะหมุนเพียงด้านเดียวเข้าหาโลก ทำให้เราไม่ได้เห็นอีกครึ่งของดวงจันทร์ หากแต่ความจริง เราได้เห็นดวงจันทร์ทั้งหมด 59% ของพื้นที่ดวงจันทร์ทั้งหมดในวงโคจรรูปวงรี
       
       3.จันทร์ครึ่งดวงสว่างไม่ถึงครึ่งของเต็มดวง
       
       ดวงจันทร์ช่วงขึ้น 7 ค่ำ (first quarter moon) และแรม 7 ค่ำ (last quarter moon) ที่เห็นครึ่งดวงนั้น ไม่ได้สว่างเท่ากับครึ่งหนึ่งของช่วงจันทร์เต็มดวง
       
       ทว่าหากผิวดวงจันทร์เกลี้ยงเกลาเหมือนลูกบิลเลียด ความสว่างของพื้นผิวดวงจันทร์ทั้งหมดจะเท่ากัน แต่ดวงจันทร์ที่เป็นบริวารของโลกนี้มีพื้นผิวที่ขรุขระมาก ทั้งภูเขา หินก้อนใหญ่ กรวดก้อนเล็กและฝุ่นดวงจันทร์ ซึ่งทำให้เกิดเงามากมายบนดวงจันทร์ ดังนั้น ความสว่างในช่วงดังกล่าวของดวงจันทร์จึงเหลือแค่ 1 ใน 11 ของความสว่างเมื่อจันทร์เต็มดวง
       
       4. แสงจันทร์เกือบเต็มดวงยังไม่ถึงครึ่งของจันทร์เพ็ญ
       
       ช่วงที่ดวงจันทร์ปรากฏเกือบจะเต็มดวง 95% มีความสว่างเพียงแค่ครึ่งของจันทร์เต็มดวง แม้ว่าจะดูสว่างเหมือนกำลังเต็มดวง แต่มีค่าความสว่างเพียง 0.7 ขณะที่จันทร์เต็มดวงสว่างประมาณ -12 (ยิ่งเลขน้อยแปลว่ายิ่งสว่างมาก) ซึ่งจะเห็นว่าแม้จะเกือบเต็มดวงแต่ความสว่างยังห่างไกลจันทร์เต็มดวง
       
       5. จันทร์ 3 แสนดวงถึงสว่างได้เท่าดวงอาทิตย์
       
       จันทร์เต็มดวงมีความสว่าง -12.7 ขณะที่ดวงอาทิตย์มีความสว่างอยู่ที่ -26.7 ซึ่งสัดส่วนความสว่างของดวงอาทิตย์ต่อดวงจันทร์เป็น 398,110 ต่อ 1 นั่นหมายความว่า เราต้องใช้จันทร์เต็มดวงเกือบ 4 แสนดวงเพื่อให้ได้ความสว่างเท่าดวงอาทิตย์เพียงดวงเดียว
       
       แต่ถึงเราจะแปะจันทร์เต็มดวงให้ทั่วท้องฟ้า (ทั้งครึ่งบนที่เรามองเห็นกับอีกครึ่งท้องฟ้าซีกล่างที่เรามองไม่เห็น) ก็มีเพื้นที่ให้แค่ดวงจันทร์ได้เพียง 206,264 ดวง ยังขาดอีก 191,836 เราจึงจะได้ความสว่างเทียบเท่าดวงอาทิตย์
       
       6. ดาวโลก-ดวงจันทร์แหว่งกันกลับข้าง
       
       เมื่ออยู่บนดวงจันทร์ในคืนเดือนมืด เราจะเห็นโลก “เต็มดวง” แต่เมื่อจันทร์อยู่ในช่วงข้างขึ้น ซึ่งเราจะเห็นจันทร์แหว่งซีกซ้าย ในทางตรงกันข้ามเราจะเห็นโลกในช่วงแรมแหว่งครึ่งดวงทางขวา
       
       ทว่า เมื่อจันทร์อยู่ในช่วงข้างแรมจะเห็นจันทร์แหว่งด้านขวา แต่เราจะเห็นโลกในช่วงขึ้น ซึ่งปรากฎโลกแหว่งทางซ้าย และเราจะเห็นโลกจากบนดวงจันทร์ ในตำแหน่งเดียวกับที่เห็นดวงจันทร์บนโลก
       
       อย่างไรก็ดี โลกไม่มีวันลับขอบฟ้าที่ดวงจันทร์ โดยจะอยู่ในตำแหน่งเดิมเสมอเมื่อมองจากดาวบริวารเพียงหนึ่งเดียวนี้
       
       7. แสงสีเลือดหมูจากอุปราคาบนโลก
       
       ถ้าเราอยู่บนดวงจันทร์แล้วเห็นโลกบังดวงอาทิตย์ทั้งดวง เราจะได้เห็นวงแหวนแคบๆ สีเลือดหมูรอบโลกดวงมืดๆ ซึ่งเกิดจากแสงดวงอาทิตย์ผ่านชั้นบรรยากาศของโลกเรา โดยสีที่เห็นนั้น เกิดจากการผสมผสานระหว่างแสงยามอาทิตย์ขึ้นและลับขอบฟ้า เช่นเดียวกันกับที่เราเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีเลือด เมื่อเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง
       
       8. อุณหภูมิสูง-ต่ำบนดวงจันทร์ต่างกันสุดขั้ว
       
       อ้างจากข้อมูลบนเว็บไซต์ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) อุณหภูมิที่เส้นศูนย์สูตรของดวงจันทร์ตอนกลางคืนต่ำถึง -173 องศาเซลเซียส และสูงถึง 127 องศาเซลเซียสในตอนกลางวัน ส่วนในหลุมลึกใกล้ๆ ขั้วดวงจันทร์ มีอุณหภูมิเกือบถึง -240 องศาเซลเซียส
       
       นอกจากนี้ระหว่างเกิดอุปราคา ที่ดวงจันทร์เข้าสู่เงาของโลก อุณหภูมิพื้นผิวของดวงจันทร์จะลดลงฮวบไป 300 องศาเซลเซียสในเวลาไม่ถึง 90 นาทีเลยทีเดียว
       
       9.ดวงจันทร์ก็มี “โซนแบ่งเวลา”
       
       ไม่ใช่แค่โลกเราที่มี “เขตเวลา” (Time Zone) แต่บนดวงจันทร์ก็มี เมื่อปี 1970 เคนเนธ แอล แฟรงกลิน (Kenneth L. Franklin) หัวหน้านักดาราศาสตร์ของท้องฟ้าจำลองไฮเดน ในนิวยอร์ก ได้รับการร้องขอจากบริษัทนาฬิกาให้ออกแบบนาฬิกาสำหรับใช้บนดวงจันทร์ โดยสามารถวัดเวลาแบบ “ลูเนชัน” (Lunations) ซึ่งเป็นคาบเวลาที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก (ลูเนชันละ 29.530589 วันบนโลก)
       
       ทั้งนี้ เส้นแบ่งเวลาหรือเส้นแวงบนดวงจันทร์นั้น มีความกว้าง 12 องศา (ขณะที่เส้นแวงโลกกว้าง 15 องศา) และเขตเวลาบนดวงจันทร์ล้วนมีชื่อเฉพาะ เช่น เขตเวลาโคเปอร์นิแคน (Copernican time), เขตเวลา 36 องศาตะวันออก (36-degree East Zone time) เป็นต้น ส่วนชั่วโมงบนดวงจันทร์มีชื่อเรียกว่า “ลูนาวร์” (Lunour)
       
       10. บริวารหนึ่งเดียวกำลังลอยห่างไปเรื่อยๆ
       
       แม้ว่าเราจะแหงนฟ้าเห็นดวงจันทร์กันอยู่ทุกคืน แต่รู้ไหมว่าดาวบริวารดวงเดียวของโลกกำลังเคลื่อนห่างเราไปเรื่อยๆ ซึ่งทุกๆ ปีดวงจันทร์จะขโมยพลังงานในรูปของการหมุนจากโลก (rotational energy) และใช้ขับเคลื่อนตัวเองให้ห่างออกไป 4 เซนติเมตร
       
       ไลฟ์ไซน์ระบุข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ว่า เมื่อ 4.6 พันล้านปีก่อน ที่ดวงจันทร์ก่อตัวขึ้น มีระยะห่างจากโลกเพียง 22,530 กิโลเมตร แต่ตอนนี้อยู่ห่างออกไปแล้ว 450,000 กิโลเมตร


ASTVผู้จัดการออนไลน์    5 เมษายน 2554