ผู้เขียน หัวข้อ: สวนสวรรค์เหนือแมนแฮตตัน(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2033 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
สวนสาธารณะตามเมืองใหญ่ๆ มักถูกมองเป็นแหล่งพักพิง  เป็นดั่งเกาะเขียวชอุ่มท่ามกลางทะเลคอนกรีตและเหล็กกล้า ทว่าเมื่อเข้าใกล้สวนสาธารณะไฮไลน์ (High Line) ในย่านเชลซีทางฝั่งตะวันตกตอนล่างของเกาะแมนแฮตตัน ภาพที่คุณจะเห็นเป็นอันดับแรกกลับเป็นสิ่งที่สวนสาธารณะในเมืองพยายามหลีก เลี่ยงมาตั้งแต่ต้น นั่นคือโครงสร้างเหล็กกล้าสีดำ หนัก และแข็งทื่อที่รองรับทางรถไฟลอยฟ้า ซึ่งครั้งหนึ่งเคยใช้ในการขนส่งขบวนตู้สินค้าไปยังโรงงานและโกดังต่างๆ และอย่างน้อยที่สุดเมื่อมองจากระยะไกล สิ่งนี้ก็ดูคล้ายเศษซากที่ถูกทิ้งร้างมากกว่าจะเป็นโอเอซิสกลางใจเมือง

กระทั่ง เมื่อไม่นานมานี้ ไฮไลน์ก็เป็นเพียงเศษซากกลางเมืองที่กำลังผุพังจริงๆนั่นแหละ ผู้คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียง รวมถึงรูดอล์ฟ จูลีอานี นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กระหว่างปี 1994-2001 ต่างรอวันที่จะรื้อทางรถไฟสายนี้แทบไม่ไหว คณะบริหารของจูลีอานีซึ่งตระหนักดีว่า สำหรับย่านเชลซีที่กำลังได้รับการแปลงโฉมเป็นแกลเลอรี ร้านอาหาร และเขตที่พักอาศัยหรูหราแล้ว เศษ ซากที่หลงเหลืออยู่ของไฮไลน์ซึ่งทอดตัวคดเคี้ยวเป็นะระยะทางราว 2.4 กิโลเมตรจากถนนแกนส์โวร์ตจนถึงถนนสายที่ 34 คือภาระอัปลักษณ์อันหนักอึ้ง พวกเขามั่นใจว่าเศษซากอันแปลกแยกของเมืองชิ้นนี้ต้องถูกขจัดออกไปเพื่อให้ ย่านโดยรอบได้พัฒนาอย่างเต็มที่

เจ้าหน้าที่ทางการไม่เคยทำพลาดขนาดนี้มาก่อน เพราะเป็นเวลาเกือบสิบปีหลังจากคณะบริหารของ จูลีอานีพยายามรื้อถอนไฮไลน์ แต่มันกลับกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่สาธารณะที่สร้างสรรค์และดึงดูดผู้คนได้ดี ที่สุดในมหานครนิวยอร์ก เสาเหล็กกล้าสีดำที่ครั้งหนึ่งเคยรองรับทางรถไฟร้าง ปัจจุบันกำลังโอบอุ้มสวนสาธารณะลอยฟ้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นทางเดิน ส่วนหนึ่งเป็นจัตุรัสกลางเมือง และอีกส่วนเป็นสวนพฤกษศาสตร์ เส้นทางหนึ่งในสามซึ่งอยู่ทางด้านใต้เริ่มตั้งแต่ถนนแกนส์โวร์ตยาวไปจนถึง ถนนสายที่ 20 ตะวันตก ตัดผ่านถนนเทนท์อเวนิว เปิดใช้งานเมื่อฤดูร้อนปี 2009 เส้นทางช่วงที่สองจะเปิดในฤดูใบไม้ผลิปีนี้ โดยขยายสวนสาธารณะออกไปอีกสิบช่วงตึก หรือเป็นระยะทางราว 0.8 กิโลเมตรไปจนถึงถนนสายที่ 30 ผู้สนับสนุนต่างหวังว่าในที่สุดสวนสาธารณะจะครอบคลุมส่วนที่เหลือทั้งหมดของ ไฮไลน์

ผู้ อยู่เบื้องหลังไอเดียบรรเจิดนี้คือชายสองคนที่พบกันครั้งแรกในการประชุม ระดับชุมชนว่าด้วยอนาคตของทางรถไฟสายนี้เมื่อปี 1999 ได้แก่ โจชัว เดวิด นักเขียนอิสระซึ่งอาศัยอยู่บนถนนสายที่ 21 ตะวันตก ไม่ไกลจากเส้นทางช่วงตรงกลางของไฮไลน์นัก กับโรเบิร์ต แฮมมอนด์ ศิลปินผู้อาศัยอยู่ในย่านกรีนิชวิลเลจ ห่างจากสถานีปลายทางด้านใต้ไปไม่กี่ช่วงตึก

“ผมเห็นบทความใน นิวยอร์กไทมส์ บอกว่า ไฮไลน์กำลังจะถูกรื้อถอน และผมก็สงสัยว่ามีใครกำลังพยายามรักษามันไว้หรือเปล่า” แฮมมอนด์เล่า  “ผม หลงรักโครงสร้างเหล็กกล้า หมุดยึดรางรถไฟ และซากปรักหักพังครับ ผมเดาเอาว่าคงมีกลุ่มประชาคมบางกลุ่มกำลังพยายามอนุรักษ์มันไว้ เพราะผมเห็นเรื่องนี้อยู่ในระเบียบวาระการประชุมของคณะกรรมการชุมชน ผมเลยไปดูว่าเรื่องเป็นยังไงกันแน่ และจอชก็นั่งอยู่ข้างผม แต่กลายเป็นว่าในที่ประชุมนั้นมีแค่พวกเราที่อยากเก็บมันไว้ครับ”

พวก เขาขอให้เจ้าหน้าที่การรถไฟพาไปดูไฮไลน์ พอขึ้นไปบนนั้น ทั้งคู่ประหลาดใจกับความโล่งกว้างที่ได้เห็น และตัดสินใจปกป้องไฮไลน์ให้รอดพ้นจากการถูกรื้อถอน พอถึงฤดูใบไม้ร่วงปี 1999 พวกเขาก็ก่อตั้งกลุ่มเฟรนด์สออฟเดอะไฮไลน์ (Friends of the High Line) ขึ้น โดยไม่ได้ตั้งเป้าหมายสูงส่งนักในระยะแรก “เราแค่อยากงัดข้อกับจูลีอานีเพื่อไม่ให้ไฮไลน์ถูกทำลายเท่านั้นละครับ” แฮมมอนด์เท้าความ “แต่การอนุรักษ์เป็นเพียงก้าวแรก และเราเริ่มคิดว่าเราสามารถสร้างพื้นที่สาธาธารณะแห่งใหม่ขึ้นมาได้”

การ ดำเนินงานของกลุ่มเฟรนด์สออฟเดอะไฮไลน์คืบหน้าไปอย่างเชื่องช้า จนต่อมาเกิดเหตุวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เมื่อปี 2001 แฮมมอนด์เล่าว่า “ตอนนั้นเราคิดว่าผู้คนคงไม่มีกะจิตกะใจจะมาดูดำดูดีกับไฮไลน์หรอกครับ แต่กระแสความสนใจเรื่องการออกแบบและการวางผังเมืองที่เพิ่มขึ้นพร้อมๆไปกับ กระบวนการออกแบบพื้นที่บริเวณกราวนด์ซีโร่ได้ช่วยจุดประกายให้คนหันมาสนใจ โครงการของเรามากขึ้นครับ ผู้คนคงรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องดีๆเรื่องหนึ่งที่พวกเขาพอจะทำได้” ในปี 2002 กลุ่มเฟรนด์สออฟเดอะไฮไลน์ได้ว่าจ้างทีมงานให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ทาง เศรษฐศาสตร์ของโครงการ ข้อสรุปที่ได้คือการเปลี่ยนไฮไลน์ให้เป็นสวนสาธารณะจะช่วยสร้างรายได้ให้ ชุมชนในบริเวณนั้น ไม่ใช่ฉุดรั้งการพัฒนาตามคำกล่าวอ้างของคณะบริหารของจูลีอานี

พอ ถึงปี 2003 เดวิดและแฮมมอนด์ก็ตัดสินใจจัด “การประกวดแนวคิดโครงการ” ซึ่งไม่ใช่การแข่งขันด้านสถาปัตยกรรมอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการเชิญชวนใครก็ตามให้เสนอแนวคิดและการออกแบบโครงการพัฒนาไฮไลน์ ในอนาคต พวกเขาคาดว่าคงได้รับผลงานไม่กี่สิบชิ้นจากชาวนิวยอร์ก แต่สุดท้ายกลับมีผลงานเข้าประกวดทั้งหมดถึง 720 ชิ้นจาก 36 ประเทศ

เมื่อ นิวยอร์กฟื้นตัวจากความทรงจำอันเลวร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน กลุ่มเฟรนด์สออฟเดอะไฮไลน์ก็เติบโตขึ้นตามไปด้วย โดยเริ่มดึงดูดความสนใจของบรรดาผู้จัดการกองทุนรวมรุ่นใหม่ๆ และผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ชอบช่วยเหลือสังคม กิจกรรมระดมทุนเพื่อไฮไลน์ในช่วงฤดูร้อนของทุกปีได้กลายเป็นงานการกุศลยอด นิยมงานหนึ่งของนิวยอร์ก และเป็นหนึ่งในไม่กี่โครงการที่มีผู้สนับสนุนวัยต่ำกว่า 40 ปีมากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

นั่นช่วยให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีต่อจากจูลีอานีอย่าง ไมเคิล บลูมเบิร์ก มีแนวคิดโน้มเอียงไปในทางเห็นด้วยกับการอนุรักษ์ไฮไลน์เอาไว้ บลูมเบิร์กซึ่งเป็นมหาเศรษฐีผู้บริจาครายใหญ่ให้สถาบันทางวัฒนธรรมต่างๆของ เมืองมาช้านานให้การสนับสนุนแผนพัฒนาโครงการไฮไลน์ ในที่สุดทางการนิวยอร์กก็ทำข้อตกลงกับกลุ่มเฟรนด์สออฟเดอะ ไฮไลน์ โดยทำงานร่วมกันในการออกแบบและก่อสร้างสิ่งที่จะกลายเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่

ในปี 2005 อแมนดา เบอร์เดน กรรมาธิการวางผังเมือง ได้ร่างข้อกำหนดว่าด้วยการจัดเขตพื้นที่ (zoning)                          ใน บริเวณนี้ขึ้นโดยออกกฎสำหรับสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ ตอนที่กฎระเบียบใหม่มีผลบังคับใช้นั้น พื้นที่โดยรอบได้กลายเป็นย่านที่ได้รับความนิยมมากที่สุดย่านหนึ่งในเมืองไป แล้ว อาคารที่ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังกำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ซึ่งรวมถึงสำนัก งานใหญ่ของบริษัทไอเอซีที่ออกแบบโดยแฟรงก์ เกห์รี พอถึงฤดูใบไม้ผลิปี 2006 ชิ้นส่วนแรกของรางรถไฟถูกยกออกจากไฮไลน์ เพื่อเป็นสัญญาณของการเปิดงานและการก่อสร้างก็เริ่มต้นขึ้น

นับ จากวันที่ไฮไลน์ส่วนแรกเปิดให้บริการเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2009 ที่นี่ก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของนิวยอร์ก และเราก็น่าจะได้ยินคนข้างๆพูดภาษาเยอรมันหรือญี่ปุ่นมากพอๆ กับภาษาอังกฤษ กระนั้นไฮไลน์ก็ยังเป็นสวนสาธารณะของผู้คนในชุมชน เมื่อผมเดินไปตามไฮไลน์พร้อมกับแฮมมอนด์ในวันแดดจัดวันหนึ่งเมื่อฤดูใบไม้ ร่วง    ที่ผ่านมา พื้นที่ส่วนที่เป็นเหมือนระเบียงรับแดดคลาคล่ำไปด้วยผู้คน และดูเหมือนจะมีชาวบ้านจากละแวกใกล้เคียงเข้ามายึดทำเลราวกับเป็นชายหาดส่วน ตัวมากพอๆ กับนักท่องเที่ยวที่ออกมาเดินเล่น

วันต่อมา  ผม เดินชมส่วนที่สร้างใหม่พร้อมกับโรเบิร์ต แฮมมอนด์ ต้นไม้ส่วนใหญ่เข้าที่เข้าทางหมดแล้ว แม้ว่าการก่อสร้างยังคงดำเนินต่อไป แต่บรรยากาศกลับเงียบสงบอย่างน่าประหลาด เราเดินไปตามส่วนที่สร้างใหม่ตั้งแต่ต้นไปจนสุดทาง แฮมมอนด์บอกว่าความเงียบสงบทำให้เขานึกถึงไฮไลน์ในช่วงแรกๆก่อนที่ผู้คนจะ แห่เข้ามา “ผมว่าผมคงจะคิดถึงไฮไลน์ในตอนนั้นครับ” เขาเปรย แต่เขาก็ตระหนักว่า ความสำเร็จอันล้นหลามของไฮไลน์เป็นเรื่องน่ายินดีกว่าการได้เห็นโครงสร้าง เหล็กเก่าๆ อันว่างเปล่าเป็นไหนๆ

เมษายน 2554