ผู้เขียน หัวข้อ: การการุณยฆาตตามมาตรา 12 ของพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ  (อ่าน 1769 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
การการุณยฆาต หรือ Euthanasia หมายความถึงการฆ่าผู้ใดผู้หนึ่งให้พ้นจากความทุกข์ทรมานในการที่ยังมีชีวิตอยู่ ในทางการแพทย์ การทำการุณยฆาตมีอยู่ 2 แบบ คือ active euthanasia คือผู้ทำการนี้จะเป็นผู้ “ลงมือทำ(ฆ่า)ให้ผู้อื่นตาย” เช่นการฉีดยาให้ตาย ส่วนอีกแบบหนึ่งคือ passive euthanasia คือการ “ละเว้นการช่วยชีวิต (ในเมื่อจะช่วยได้)” ส่วนในมาตรา 12 ของพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ และกฎกระทรวงที่ประกาศตามมาตรา 12 ถือว่าเป็นการ “ช่วยให้ผู้ป่วยตายตามปรารถนา โดยการ ละเว้นมาตรการทางการแพทย์ที่จะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต”ซึ่งพ.ร.บ.สุขภาพแห่ง
ชาติพ.ศ. 2550 มาตรา 12 ได้กำหนดไว้ว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

  เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”

 ก่อนที่จะกล่าวถึงผลของมาตรา 12 และกฎกระทรวงที่ออกมาตามมาตรา 12 ของพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาตินี้ ก็ขอกล่าวถึงเบื้องหลังของการออกพ.ร.บ.นี้ว่า เป็นผลงานของนพ.อำพล จินดาวัฒนะและพวก มานานหลายปีแล้ว อาจจะมีมาก่อนพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเสียอีก แต่มาสำเร็จในขณะที่นพ.อำพล จินดาวัฒนะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการรัฐมนตรีสาธารณสุขในปีพ.ศ. 2550  ที่สามารถผลักดันพ.ร.บ.นี้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยที่ไม่ครบองค์ประชุม และเมื่อผลักดันสำเร็จแล้ว ก็มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อจะมาออกกฎกระทรวงในส่วนของมาตราต่างๆตามที่คิดไว้ โดยกฎกระทรวงตามมาตรา 12 นี้ ได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 127 ตอนที่ 65 ก เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2553 และให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 210 วันหลังจากการประกาศ

  ซึ่งนับว่ากฎกระทรวงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคมนี้ ซึ่งผู้ที่จะมีผลผูกพันในการทำตามกฎกระทรวงนี้ ได้แก่แพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมทั้งหมด แต่แพทย์ส่วนมาก ยังไม่ทราบแนวทางที่จะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎกระทรวง โดยแพทยสภาเองก็มิได้ให้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ให้สมาชิกแพทยสภา(ซึ่งก็คือแพทย์ทุกคน) ได้ทราบแนวทางปฏิบัติใดๆ ทั้งๆที่แพทยสภาเป็นองค์กรที่ต้องดูแลควบคุมการประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้ถูกต้องตามกฎหมายบ้านเมืองและจริยธรรมวิชาชีพ 

    และกระทรวงสาธารณสุขเองที่จะต้องอำนวยความสะดวกในการทำงานของแพทย์ทั่วประเทศ ก็มิได้แจ้งให้แพทย์ทราบว่าจะมีกฎกระทรวงเกี่ยวกับการ “ละเว้นการรักษาผู้ป่วย” ให้แพทย์ต้องปฏิบัติตาม

    ตราบจนกระทั่งคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขวุฒิสภา ได้จัดการสัมมนา เรื่อง “ เจตนารมณ์การขอใช้สิทธิการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต: ผลกระทบต่อผู้ป่วยและแพทย์” ในวันที่ 10 มิถุนายน 2554   แพทยสภาจึงมีเอกสารของนายกแพทยสภาเรื่องแนวทางการปฏิบัติของแพทย์ เมื่อได้รับหนังสือแสดงเจตนาของผู้ป่วยตามมาตรา 12 โดยแนวทางปฏิบัติของแพทย์จากแพทยสภา ก็เพิ่งเอามาแจกในห้องสัมมนานั้นเอง ยังไม่ทราบว่า แพทยสภาได้ส่งแนวทางการปฏิบัตินี้ ให้ถึงมือแพทย์ทั่วประเทศแล้วหรือยัง? และแพทยสภาได้เคยคิดที่จะประชุมรับฟังความเห็นจากแพทย์ทั่วประเทศหรือยัง? หรือคิดว่าขอความเห็นจากอนุกรรมการบริหารแพทยสภาเพียงไม่กี่คน ก็ออกประกาศแนวทางปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ได้เลย?

   ผู้เขียนได้มีโอการสเข้าฟังวิทยากรและผู้เข้าสัมมนาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง “สิทธิการตาย”นี้ แล้วก็ขอให้ความเห็นว่า เนื่องจากนพ.อำพล จินดาวัฒนะ เป็นแพทย์ที่ไม่ได้ลงมือรักษาผู้ป่วยมานานกว่าสามสิบปีแล้ว แต่มีความคิดว่าตนเองรู้ดีว่า แพทย์ทั้งหลายควรจะทำอย่างไรในการรักษาผู้ป่วย หรือทำอย่างไรในการหยุดรักษาผู้ป่วย  จึงได้ปรึกษากับนักกฎหมายที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยเช่นเดียวกันในการเขียนพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติและการออกกฎกระทรวงตามพ.ร.บ.นี้

   แต่การเขียนพ.ร.บ.นี้หลายๆมาตรา รวมทั้งการออกกฎกระทรวงตามมาตราเหล่านี้ จากแนวคิดของพวกหมอที่ไม่ได้รักษาผู้ป่วยและนักกฎหมายที่สนองนโยบายของหมอพวกนี้ ในการช่วยเขียนพ.ร.บ.และกฎกระทรวง ล้วนมีช่องว่าง และแนวทางในการ “ตีความ”หรือการใช้ดุลพินิจ ตามกฎหมายและกฎกระทรวงอย่างมากมายมหาศาล  โดยคนเหล่านี้ได้ผลักภาระรับผิดชอบให้แก่แพทย์ผู้รักษาผู้ป่วย ให้จำยอมต้องกระทำตาม โดยที่ไม่มีหลักในการป้องกันความเข้าใจผิดและป้องกันการฟ้องร้องที่จะทำให้แพทย์ผู้รักษาตกเป็นจำเลยและอาจถูกตัดสินว่าเป็นฆาตกรจากศาลยุติธรรมได้  โดยที่นพ.อำพลและพวก กับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย

   ตามปกติแล้ว แพทย์ได้รับการสั่งสอนฝึกอบรมมาให้มีความรับผิดชอบในการ “ช่วยชีวิต” ผู้ป่วย ไม่ได้ถูกสั่งสอนมาให้ “พิพากษา” ว่าผู้ป่วยผู้ใด “สมควรตายแล้ว” จึงไม่ต้องรักษาชีวิตผู้ป่วยนี้ไว้ โดยปล่อยให้ตายไปต่อหน้าต่อตาโดยละเว้นการช่วยเหลือ หรือยุติการช่วยเหลือ โดยมีกระดาษเพียง 1 แผ่นของผู้ป่วยหรือญาติมาแสดงว่า ผู้ป่วยได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ก่อนว่า ถ้าถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตแล้ว  แพทย์ไม่ต้องลงมือรักษาผู้ป่วยคนนั้น หรือถ้ากำลังรักษาอยู่แล้ว ก็ให้แพทย์เลิกให้การรักษาทันที

  แต่ปัญหาที่จะตามมาก็คือ การตัดสินว่า “วาระสุดท้ายของชีวิต” นั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว ถ้ามีญาติคนใดคนหนึ่งมาฟ้องร้องว่า การวินิจฉัยหรือดุลพินิจนี้ของแพทย์ไม่ถูกต้อง ก็เป็นภาระหนักของแพทย์ที่จะต้องไปแก้ข้อกล่าวหาในศาล ซึ่งอาจจะต้องต่อสู้กันถึง 3 ศาล และถ้าเผื่อศาลตัดสินว่า แพทย์วินิจฉัยวาระสุดท้ายไม่ถูกต้อง ก็จะมีผลตามมาคือ ทำให้ผู้คนเข้าใจ(ตามคำพิพากษา)ว่าแพทย์ผู้นี้ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยชีวิตผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยตายโดยยังไม่สมควรตาย จะต้องถูกดำเนินคดีอาญาในฐานทำให้คนตายโดยประมาท หรืออาจจะถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหา “ฆ่าคนตายโดยเจตนาหรือไตร่ตรองไว้ก่อน” อีกกระทงหนึ่ง

   นอกจากนี้แล้วก็ยังมีปัญหาในเรื่องเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ของผู้ป่วยอีก ว่าเป็นเอกสารจริงหรือปลอม เป็นเอกสารฉบับแรก หรือฉบับสุดท้าย เป็นเอกสารที่ทำในขณะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์หรือเป็นเอกสารที่ทำขึ้นโดยผู้ไม่ประสงค์ดีหรือเปล่า? ถ้าแพทย์ไม่แน่ใจในเอกสารนั้นๆ แล้วไม่ยอมทำตาม จะถูกฟ้องร้องอีกหรือไม่ เพราะไม่ยอมยุติการรักษา ทำให้ญาติต้องจ่ายเงินค่ารักษามากเกินไป หรือถ้าแพทย์เชื่อว่าเป็นเอกสารจริงแล้วทำตามที่ผู้ป่วยต้องการคือเลิกรักษา จนผู้ป่วยตายไป แล้วอาจจะมีญาติมาฟ้องร้องแพทย์อีกหรือไม่? ว่าทำไมไม่พยายามรักษาผู้ป่วย ทำไมไปเชื่อเอกสารเท็จว่าเป็นเอกสารจริง?

  ที่ผู้เขียนยกมาเป็นเพียง 2 เรื่องที่เห็นได้อย่างชัดเจนเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาปลีกย่อยอีกมากมายที่แพทย์ผู้รักษาผู้ป่วย จะต้องพบกับความลำบากใจ เช่น  เมื่อจะต้องเลิกรักษาตามหนังสือแสดงเจตนาของผู้ป่วย แพทย์จะต้อง ถอดเครื่องช่วยหายใจ จะต้องปิดท่อให้อ๊อกซิเจน ปิดเครื่องช่วยหายใจ ปิดเครื่องมือช่วยชีวิตอื่นๆ ทั้งๆที่รู้ดีว่าการกระทำเหล่านั้นจะเป็นผลให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย ถือเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่?

  มนุษย์ทุกคนไม่สามารถเลือกวันเกิดได้ มนุษย์ทุกคนก็ไม่สามารถเลือกวันตายได้เช่นเดียวกัน การเกิดและการตายล้วนเป็นไปตามธรรมชาติ หรือเป็นไปตามความเสื่อมหรืออุบัติภัยหรือความเจ็บป่วยของสังขาร เมื่อมีความเจ็บป่วยหรือความเสื่อมของสังขารแล้ว มนุษย์ทุกคนต่างก็ย่อมแสวงหาผู้เยียวยารักษา เพื่อฟื้นฟูสังขารและรักษาชีวิตไว้ โดยแพทย์เป็นผู้มีหน้าที่หลักในการช่วยฟื้นฟูสังขารของผู้ป่วยและรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้จนสุดความสามารถของแพทย์และเทคโนโลยีทางการแพทย์จะช่วยได้ ถ้าผู้ป่วยหรือญาติของผู้ป่วยไม่อยากให้แพทย์รักษาชีวิตไว้ ก็ควรจะขออนุญาตนำผู้ป่วยกลับไปที่บ้าน  ไปตายตามธรรมชาติในวงล้อมของสมาชิกของครอบครัว  แพทย์ก็จะได้ไม่ต้องลำบากใจที่จะต้อง “ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ช่วยชีวิตผู้ป่วย” ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในอดีตและปัจจุบัน คือญาติขอนำผู้ป่วยกลับไปตายที่บ้าน

  ผู้เขียนเห็นว่า มีอยู่ทางเดียวที่จะบรรเทาปัญหาที่จะเกิดตามมาจากกฎกระทรวงฉบับนี้ ในเรื่องเกี่ยวกับการพิสูจน์ความเป็นจริงของเอกสารแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุข ก็คือการกำหนดให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์ที่จะรับบริการสาธารณสุข พร้อมทั้งลงทะเบียนและรับรองความถูกต้องของหนังสือนี้ ถ้ามีการฟ้องร้องเรื่องหนังสือปลอมหรือไม่ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

  ส่วนการป้องกันการฟ้องร้องในเรื่องการตัดสินใจของแพทย์ว่า เป็น “วาระสุดท้ายของผู้ป่วยหรือยัง” ผู้เขียนเห็นว่า คงจะทำได้ยาก และแพทย์อาจจะไม่ยอมตัดสินใจในเรื่องนี้ แต่อาจจะต้องส่งผู้ป่วยต่อไปยังโรงพยาบาลระดับสูงที่มีแพทย์ผ็เชี่ยวชาญและมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดีกว่ายิ่งๆขึ้นไป

  ส่วนแพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยนั้น ถ้าไม่อยากทำตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขฯของผู้ป่วยใดๆ ก็อาจจะมีทางเลือกคือ บอกให้ญาติถอดปลั๊กออกซิเจนหรือเครื่องช่วยหายใจเอง แล้วให้ญาติเซ็นชื่อว่าไม่ขอรับการรักษาอีกทีหนึ่ง เพื่อให้พาผู้ป่วยกลับบ้าน เพื่อที่แพทย์จะได้ไม่ต้องมีส่วนร่วมในการ “ทำ” ให้ผู้ป่วยสิ้นชีวิต หรือการุณยฆาต

  แต่เรื่องเร่งด่วนในปัจจุบันที่จะต้องรีบทำก็คือการฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนกฎกระทรวงฉบับเจ้าปัญหานี้โดยด่วน และให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมส่วนใหญ่ในประเทศไทย ให้ได้มากกว่า 75% ของจำนวนผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมทั้งหมด เพื่อรับฟังความคิดเห็นและหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขกฎกระทรวงฉบับนี้ และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ควรจะทบทวนบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง ในการมีส่วนร่วมรับผิดชอบภาระที่เกิดจากกฎกระทรวงฉบับใหม่ ที่จะช่วยกันแก้ไขร่างขึ้นใหม่  สช. อย่าโยนภาระความรับผิดชอบไปให้แพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยฝ่ายเดียว ในขณะที่ปัจจุบันนี้แพทย์ก็มีภาระรับผิดชอบที่หนักมากๆอยู่แล้ว

  ส่วนแพทยสภานั้น ก็ควรทบทวนบทบาทหน้าที่ของตนเองว่า ได้ทำงานในเชิงรุก เพื่อป้องกันไม่ให้สมาชิกมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องโดยการต้องจำยอมปฏิบัติงานตามกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรมแล้วหรือยัง? แพทยสภาควรจะได้ออกข่าวให้สมาชิกทราบให้เร็ว และทั่วถึงมากกว่านี้ และแพทยสภาควรเรียกประชุมใหญ่สมาชิกทั่วประเทศ เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อมาตรา 12 ของพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติและกฎกระทรวงที่ออกมานั้นว่าเหมาะสมหรือไม่เพียงใด เพื่อจะได้ทักท้วงและแก้ไข ก่อนที่จะมีใครสักคนถูกฟ้องเสียก่อน ไม่ใช่คอยออกแนวทางปฏิบัติของแพทยสภาตามหลังกฎเพี้ยนๆของสช.และกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสผพท.
11 มิ.ย. 54