ผู้เขียน หัวข้อ: จดหมายจากสมาพันธ์ฯถึงสมาชิก ฉบับที่ ๓/๒๕๕๗  (อ่าน 1289 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด


๒๙  มีนาคม ๒๕๕๗
สวัสดี เพื่อนแพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ทุกท่าน

   การประชุมสามัญประจำปี ๒๕๕๗ ของ สพศท. ได้รับความเห็นมากมายจากเพื่อนแพทย์หลายจังหวัด ทำให้ไม่สามารถหาข้อสรุปว่าจะประชุมหัวข้ออะไร จัดที่ไหนและเมื่อไรจึงจะเหมาะสม โดยธรรมเนียมของการประชุมทุกปี จะมีรัฐมนตรีและปลัด สธ. มาร่วมงานประชุมทุกครั้ง แต่ในปีนี้ความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้ทั้งสองท่านมาร่วมงานประชุม กับ สพศท.พร้อมกันไม่ได้ เพราะอยู่คนละฝ่ายทางการเมือง

   ต้นเดือน เมษายน ของทุกปีจะมีการปฐมนิเทศ และจับฉลากเลือกจังหวัดใช้ทุนของแพทย์จบใหม่ โดยในอดีต แพทยสภาได้เชิญ สพศท.ผ่านทาง พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธาน สพศท. ร่วมปฐมนิเทศน้อง intern แต่ติดปัญหาเรื่องความพร้อมของทีมงาน และในปีนี้ มีการเปลี่ยนผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก ทำให้มีปัญหาเรื่องระยะเวลาและหัวข้อในการพูดของทีม สพศท. คาดว่า ในปีหน้า สพศท. จะได้พบปะพูดคุยกับน้อง intern จบใหม่ ในเรื่องการทำงาน ความเสี่ยง รายได้ ในรพศ./รพท.

   ขอให้ทุกท่านระมัดระวังการตรวจรักษาผู้ป่วยหลายราย หลาย ward ขณะอยู่เวรเพียงคนเดียว  ถ้าคนไข้คนหนึ่งมีอาการทุกข์ทรมานจากสาเหตุใดก็ตาม แต่แพทย์ดูผู้ป่วยward อื่นอยู่ แล้วไม่ได้มาดูอาการผู้ป่วยรายดังกล่าว หรือมาช้าไม่ทันใจผู้ป่วยและญาติ อาจถูกถ่ายรูปออกข่าว เหมือนกรณี สื่อมวลชนเสนอภาพข่าวเด็กชายมีอาการปวดท้องรุนแรง บิดาได้นำส่งรพช.  แต่ห้องฉุกเฉินปิดไฟ และไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่บริเวณดังกล่าว จนลูกชายต้องลงไปนอนกับพื้นเพราะทนความปวดไม่ไหว ในที่สุดต้องกดแตรรถให้เสียงดังจนมีเจ้าหน้าที่ออกมา แต่กลับให้คนไข้มาใหม่ในตอนเช้า พ่อจึงถ่ายรูปลูกที่นอนอยู่กับพื้น และรีบขับรถพาลูกไปโรงพยาบาลในตัวเมืองลำปาง ซึ่งรพช. ขนาดกลางถึงเล็ก พยาบาลจุดหนึ่งอาจต้องทำงานหลายหน้าที่ ทั้ง ER และห้องคลอด บางครั้งอาจจะไม่ได้นั่งประจำอยู่ ER แต่โชคดีที่ รพช. แห่งนี้ มีกล้องวงจรปิดจับภาพระยะเวลาตั้งแต่ รถมาจอดที่หน้าER จนถึงแพทย์ตรวจรักษาเด็กใช้เวลาเพียง ๑๕ นาที แพทย์ได้ฉีดยาลดอาการปวด และวางแผนตรวจทางห้องปฏิบัติการในตอนเช้า เพื่อนำผลมาประกอบการวินิจฉัย แต่บิดาต้องการไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัด ทาง รพช.จึงทำเรื่องส่งตัวให้ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับที่บิดาให้ข่าวกับสื่อมวลชน

   แนวทางปฏิรูประบบสาธารณสุขที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือ การตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจการบริหารกระทรวงสธ. เนื่องจากมีการแทรกแซงการปฏิบัติราชการจากฝ่ายการเมืองโดยการแต่งตั้งโยกย้ายราชการทุกระดับ หรือผู้บริหารกระทรวงขาดคุณธรรม กระทำสิ่งที่ไม่สุจริต ก็ไม่มีใครการขัดขวางหรือร้องเรียน สามารถแก้ไขโดยใช้ประชาคมสาธารสุขเป็นเครื่องมือหาฉันทามติ ในกรณีที่มีการปฏิบัติราชการที่ไม่โปร่งใส โดยมีคณะที่ปรึกษาเป็นอดีตข้าราชการสาธารณสุขที่มีประสบการณ์

      จาก... สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป แห่งประเทศไทย (สพศท.)