ผู้เขียน หัวข้อ: ครม.ผ่านเงินกู้สธ. 4โครงการค่ากว่า 3 พันล้านบาทซื้อครุภัณฑ์  (อ่าน 739 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
ครม.ไฟเขียวโครงการเงินกู้ DPL ตามที่ สธ.เสนอ 4 โครงการวงเงิน 3,273 ล้านบาท จัดหาซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์หนุนสถานพยาบาลแต่ละระดับ พร้อมเห็นชอบหลักการ สธ.เสนอขอใช้วงเงินเหลืออีก 152 ล้านบาท พัฒนาศักยภาพกรมวิชาการ 3 กรม ด้าน ปลัด สธ.เผยพร้อมกระจายการจัดสรรครุภัณฑ์ฯไปยัง 12 เครือข่ายบริการไม่ให้มีการกระจุกตัว
       
       วันนี้ (8 ม.ค.) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Development policy Loan : DPL) ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ว่า ครม.มีมติเห็นชอบโครงการของ สธ.ที่เสนอของบ DPL ใน 2 ส่วน วงเงิน 3,273 ล้านบาท จำนวนทั้งสิ้น 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการระดับทุติยภูมิหรือโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ ประมาณ 747 ล้านบาท 2.โครงการระดับตติยภูมิหรือโรงพยาบาลทั่วไปขนาดใหญ่ ประมาณ 399 ล้านบาท 3.โครงการระดับศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านโรคหัวใจและโรคมะเร็ง ประมาณ 1,111 ล้านบาท และ 4.โครงการระดับพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนทั่วไป ประมาณ 1,015 ล้านบาท ซึ่ง สธ.จะส่งวงเงินดังกล่าวเสนอสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เพื่อโอนให้จังหวัดต่างๆ ดำเนินการจัดซื้อในพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นครุภัณฑ์วงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อนุมัติ ขณะนี้ได้เตรียมจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีไว้พร้อมแล้ว สามารถเซ็นตสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ทันที

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
   
       "แต่เดิม สธ.เสนอวงเงินที่ 3,426 ล้านบาท ซึ่ง ครม.เห็นชอบในหลักการแล้ว แต่เมื่อ สธ.นำกลับมาทบทวนอีกครั้ง โดยมีการตั้งคณะทำงานซึ่งมีตัวแทนจากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ชมรมแพทย์ชนบท และส่วนกลาง ทบทวนความจำเป็นและต่อรองราคาครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ทั้งหมด ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 เป็นต้นมา พบว่ามีวงเงินเหลืออีกประมาณ 152 ล้านบาท ซึ่ง สธ.ได้เสนอกลับเข้า ครม.ไปใหม่ เพื่อดำเนินการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อพัฒนาศักยภาพของกรมวิชาการ 3 กรม โดยจะต้องเริ่มดำเนินการใหม่ทั้งหมดตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง และเสนอคณะกรรมการกลั่นกรอง เพื่อเสนอ ครม.อนุมัติต่อไป ซึ่งขณะนี้ ครม.ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว" ปลัด สธ. กล่าว
       
       นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า งบประมาณทั้งสองส่วนนี้เป็นงบประมาณสำหรับการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยในส่วนของวงเงิน 3,273 ล้านบาท จะนำไปจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์มากถึง 3,290 รายการ แบ่งเป็น
1.ระดับทุติยภูมิ จะเน้นซื้อเครื่องดมยา เครื่องตรวจอวัยวะภายใน (อัลตราซาวนด์) เครื่องเอ็กซ์เรย์ เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจ และโคมไฟผ่าตัด เป็นต้น
2.ระดับตติยภูมิ จะเน้นซื้อเตียงผ่าตัดออร์โธปิดิกส์ เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า เป็นต้น
3.ระดับศูนย์ความเป็นเลิศฯ จะเน้นซื้อเครื่องสวนหัวใจระนาบเดี่ยว เครื่องสวนหัวใจชนิดความถี่สูง เครื่องผ่าตัดกระโหลกศีรษะ เป็นต้น และ
4.ระดับพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน จะเน้นซื้ออุปกรณ์ช่วยชีวิตเด็กแรกเกิด เครื่องอบ และเครื่องนึ่ง เป็นต้น

ส่วนวงเงิน 152 ล้านบาท จะเน้นจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ให้แก่หน่วยงาน 3 ส่วนคือได้แก่
1.โครงการจัดซื้อเครื่องมือตรวจสารเสพติดในห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 60 ล้านบาท
2.โครงการพัฒนาศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาต่างๆ กรมการแพทย์ในวงเงิน 75 ล้านบาท และ
3.พัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลชุมชนเพิ่มเติม ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 17 ล้านบาท
       
       นพ.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า ในการจัดสรรครุภัณฑ์ทางการแพทย์ครั้งนี้ ได้กระจายไปยังเครือข่ายบริการ 12 เครือข่าย เพื่อไม่ให้มีการกระจุกตัว และเป็นไปตามแผนพัฒนาระบบบริการที่ต้องการให้ประชาชนทุกพื้นที่ได้รับบริการที่มีคุณภาพตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงศูนย์เชี่ยวชาญของแต่ละเครือข่ายบริการ เช่น
เครือข่ายบริการที่ 1 ในภาคเหนือ 8 จังหวัด เช่น เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน ได้รับงบ 337 ล้านบาท
เครือข่ายบริการที่ 6 ในภาคกลาง 8 จังหวัด เช่น ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จันทบุรี ชลบุรี ได้รับ 353 ล้านบาท
เครือข่ายบริการที่ 8 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด เช่น บึงกาฬ อุดรธานี ได้รับ 328 ล้านบาท
เครือข่ายบริการที่ 11 ในภาคใต้ 7 จังหวัด เช่น ชุมพร สุราษฎร์ธานี ได้รับ 316 ล้านบาท


 ASTVผู้จัดการออนไลน์    8 มกราคม 2556