ผู้เขียน หัวข้อ: ความไม่รู้หรือความจงใจในการลงบัญชีที่ไม่ถูกต้องที่ สปสช.?  (อ่าน 802 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
 กระทรวงการคลังมอบรางวัล สปสช.บริหารกองทุนหมุนเวียนอับดับ 1 จาก 108 องค์กรทั่วประเทศ เลขาธิการสปสช.เผยได้รับรางวัล 3 ปีซ้อน จากจัด 4 ครั้ง และได้รับการประเมินจากบริษัทไทยเรตติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด (ทริส) ให้เป็นกองทุนที่มีผลการดำเนินงานดีเด่นต่อเนื่องมาตลอด 3 ปีซ้อน (ปี 51 ,ปี 52 และปี 54 ซึ่งในปี 53 นั้นสปสช.ได้รางวัลผลการดำเนินงานชมเชย) ดูรายละเอียดได้จาก www.nhso.go.th/frontend/NewsInformationDetail.aspx?newsid=MjYz
      
       จากผลงานดีเด่นที่ว่ามานี้ สปสช. ก็สมควรได้รับโบนัสอย่างยิ่ง แต่เบื้องหลังการได้โบนัส อาจจะมีการใช้วิธีการตกแต่งบัญชีเพื่อให้ได้รับผลงานเป็นประโยชน์แก่พวกพ้องโดยมิชอบ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะถือเป็นการทำเอกสารเท็จทางราชการ และน่าจะเป็นการทุจริต
      
       ทั้งนี้ สปสช. ใช้วิธีการเร่งจ่ายเงินไปสู่โรงพยาบาลต่างๆ โดยการโอนเงินหมวดบริการกรณีเฉพาะ (central reimbursement) ให้หน่วยบริการล่วงหน้าโดยยังไม่มีผลงาน เพื่อสร้างผลงาน แล้วหักคืนทางบัญชีในเวลาต่อมา อาจเชื่อมโยงกับการปั้นผลงานให้เข้ากับ Key Performance Indicator เพื่อรับโบนัสประจำปี ไว้แจกพนักงาน น่าจะเข้าลักษณะแต่งบัญชี ที่วงการบัญชีเรียกว่า Creative Accounting โปรดดูเอกสาร 1 ประกอบ จะเห็นได้ว่าผลการดำเนินงานด้านการเงินตามดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงานที่ 1.1-1.3 ล้วนเกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินโดยเฉพาะ ดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงานที่ 1.2 มีการกำหนดเงื่อนเวลาให้เบิกจ่ายได้ตามเวลาที่กำหนด ในปี 2556 (โปรดดูเอกสารหมายเลข 1) และตัวชี้วัดที่ 1.1 ในปี 2558 (โปรดดูเอกสารหมายเลข 2) และการประเมินโดย TRIS ที่ได้รับรางวัลก็ใช้ตัวชี้วัดเดียวกัน
      
       ทั้งนี้โดยปกติ งบหมวดบริการกรณีเฉพาะ (Central Reimbursement) เป็นหมวดเงินที่ สปสช. บริหารจัดการเป็นภาพรวมระดับประเทศ โดยหน่วยบริการให้บริการผู้ป่วยล่วงหน้า หลังจากนั้นบันทึกข้อมูลผ่านโปรแกรม e-claim ที่ สปสช. กำหนดแต่ละรายการ ภายหลัง สปสช. ตรวจสอบข้อมูลผ่าน จะโอนค่าบริการทางการแพทย์ ตามอัตราที่กำหนด ซึ่งไม่มีรายการใดที่มีการกำหนดโอนเงินให้หน่วยบริการล่วงหน้า
      
       แต่กลับมีการโอนเงินโดยไม่มีหลักเกณฑ์ พบหลักฐานว่าโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 250 แห่ง ได้รับเงินหมวดบริการกรณีเฉพาะ (Central Reimbursement) โอนจาก สปสช. พร้อมกันทุกแห่งในวันที่ 27 กันยายน 2555 วงเงินที่โอน มีตั้งแต่ หลัก 5 แสน จนถึง 40+ ล้านบาท ต่อแห่ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 1,100 ล้านบาทและมีการเรียกเงินคืนกลับหลังจากนั้นเฉลี่ย 3-6 เดือนในปีงบประมาณถัดมา ข้อสังเกตเงินหมวดนี้ ตามประกาศฯ ของ สปสช.ใช้จ่ายโดย สปสช. บริหารจัดการเป็นภาพรวมระดับประเทศ หน่วยบริการให้บริการผู้ป่วยล่วงหน้า และตั้งเบิกเงินผ่านโปรแกรม ภายหลัง สปสช. ตรวจสอบข้อมูลผ่าน จะโอนค่าบริการทางการแพทย์ ตามอัตราที่กำหนด ซึ่งไม่มีรายการใดที่มีการกำหนดโอนเงินให้หน่วยบริการล่วงหน้า (โปรดคลิกดู เอกสาร 3 ประกอบ)
      
       เงินที่โอนในวันสุดท้ายของปีงบประมาณ 1,100 ล้านบาท และเรียกเก็บคืนทั้งหมดภายใน 5-6 เดือน กองทุนอุบัติเหตุ หรือ high cost (AE/HC) ต้องจ่ายหลังจาก key เรียกเก็บ คนไข้ต้อง discharge แล้ว และจะคีย์เข้าไปได้หลังจาก discharge ไม่เกิน 30 วันตามกฎของ สปสช. เงินยอดนี้หากเรียกเก็บตามผลงานแสดงว่าโรงพยาบาลเหล่านี้มีคนไข้ป่วยหนักหรือเกิดอุบัติเหตุมากมายมหาศาลภายใน 30 วันก่อนนี้ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีมากขนาดนั้น หากมีมากขนาดนั้นต้องถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติที่มีคนเจ็บหนักด้วยโรคภัยและอุบัติเหตุมากมหาศาลในช่วงสิ้นปีงบประมาณ
      
       นอกจากนี้หากเป็นเงินที่เคยส่งให้ตามผลงานก็ต้องมีที่โรงพยาบาลได้รับบ้าง แต่โรงพยาบาลกลับไม่ได้เลยแม้แต่บาทเดียว นี่ไม่มีการจ่ายจริงเลยแม้แต่บาทเดียวจึงถือว่าผิดปกติเป็นอย่างยิ่ง เพราะโอนทั้งก้อนในวันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน 2555 ก่อนหมดปีงบประมาณวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน 2555!
      
       หาก สปสช. จะยืนยันว่าเงินยอดดังกล่าวเป็นยอดจริง ก็ต้องแสดงรายการที่โรงพยาบาลคีย์เบิกสำหรับผู้ป่วยค่าใช้จ่ายสูงและอุบัติเหตุ ของแต่ละโรงพยาบาลตรงกันกับยอดเบิกของแต่ละโรงพยาบาลในช่วงเวลาดังกล่าว โดยงบดังกล่าวต้องมาจาก IPD ที่ Discharge แล้วเท่านั้น และต้องลง ICD10 ICD9 (ถ้ามีอุปกรณ์และการผ่าตัด หรือหัตถการ)
      
       ทั้งนี้อาจเข้าข่ายว่าเป็นการตกแต่งบัญชี (Creative accounting) ถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ และถือว่าเป็นการสร้างเอกสารเท็จทางราชการ
      
       หาก สปสช. จะแย้งว่า เป็นแค่การโอนเพื่อทำการรักษาตามผลงานที่เคยเป็นในปีที่ผ่านมา ก็ฟังไม่ขึ้นเลย เพราะยังไม่มีคนตายจากอุบัติเหตุมากมายขนาดนั้น และไม่มีผู้ป่วยในที่เจ็บหนักจนรักษาหายแล้วออกจากโรงพยาบาลมากมายขนาดนั้น แล้วจะจ่ายไปล่วงหน้าได้อย่างไร นี่คือการกระทำที่ขัดแย้งกับผังบัญชีและหลักการบัญชีที่ได้รับการยอมรับทั่วไปโดยสากล (Generally Accepted Accounting Principles: GAAP)
      
       ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่าหากผู้บริหารบริษัทต้องการจ่ายโบนัสให้ตัวเอง โดยการสร้างยอดขายโดยการออกเอกสารการขายเท็จเพื่อบันทึกยอดขายและกำไรที่เกี่ยวข้องภายวันหลังจากปิดบัญชีและคำนวณกำไรเพื่อคิดยอดโบนัสแล้วก็ทำรายการรับคืนสินค้าดังกล่าวกลับมาทั้งจำนวน ถ้าเกิดเหตุในตลาดหลักทรัพย์แล้วผู้สอบบัญชีตรวจไม่เจอถือว่าผู้บริหารบริษัทนั้นทุจริตร้ายแรง ผู้ถือหุ้นจะซักฟอก เช่น กรณีของ ENRON ซึ่งทำรายการธุรกรรมทางการเงินเท็จ ตบตาผู้ถือหุ้นสุดท้ายแม้กระทั่ง Arthur Anderson บริษัทตรวจสอบบัญชีที่ลงนามรับรองงบการเงินให้ ENRON ก็ต้องล้มไปตาม ENRON ในที่สุด
      
       รองเลขาธิการ สปสช. ผู้ดูแลด้านการเงินการบัญชี การจ่ายเงินให้โรงพยาบาลของ สปสช. คือนายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ ในเวลาที่เกิดเหตุจนถึงปัจจุบัน และมีนายแพทย์วินัย สวัสดิวร ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช. ในเวลานั้น ก่อนจะถูกปลดลงจากตำแหน่งตามมาตรา 44 โดยคำสั่งของ คสช. ในอีก 3 ปีต่อมา
      
       ทั้งนี้ สตง. ได้เข้าตรวจสอบและรายงานว่า สปสช. เริ่มมีนโยบายให้จ่ายเงินโบนัสให้เจ้าหน้าที่ของ สปสช. ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 การจ่ายเงินโบนัสพิจารณาจากผลการดำเนินงานในภาพรวมของ สปสช. ซึ่งประเมินโดยบริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด (Thai Rating & Information Service Co., Ltd. : TRIS ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทริส คอร์ปอชั่น จำกัด TRIS Corporation Limited หรือ ทริส (TRIS))
      
       ผลงานเช่นนี้ โดยการโยกเงินตกแต่งบัญชีเพื่อไปรับโบนัสน่าจะเรียกได้ว่าผลงานปลอม ทั้งนี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในรายงานการประชุมครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2556 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนพิเศษตามผลการดำเนินงาน ประจำปี พ.ศ.2556 โดยสรุปสาระสำคัญของหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปี (โบนัส) มีดังนี้
      
       ข้อ 4 ให้สำนักงานใช้ระบบการประเมินผลทุนหมุนเวียนของกรมบัญชีกลางเป็นระบบหลักในการประเมินผลการดำเนินงานประจำปี
      
       ข้อ 5 ให้สำนักงานจัดทำตัวชี้วัดผลสำเร็จของการดำเนินงานในแต่ละปีงบประมาณ ตามยุทธศาสตร์นโยบาย หรือแผนงานของคณะกรรมการ โดยจัดทำร่วมกับกรมบัญชีกลาง หรือผู้แทน และคณะอนุกรรมการประเมินผลระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แล้วเสนอตัวชี้วัดประจำปีงบประมาณนั้นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา ภายในไตรมาสที่หนึ่งของปีงบประมาณนั้น เมื่อคณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบตัวชี้วัดแล้ว ให้ใช้ตัวชี้วัดดังกล่าวเป็นเครื่องมือและเกณฑ์การวัดผลสำเร็จของการดำเนินงานของสำนักงานในปีงบประมาณนั้น
      
       ข้อ 6 เมื่อสิ้นปีงบประมาณ ให้สำนักร่วมกรมบัญชีกลางหรือผู้แทนและคณะอนุกรรมการตามข้อ 5 ายงานการประเมินผลการดำเนินงานประจำปีตามตัวชี้วัดต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา และให้สำนักงานรายงานผลการดำเนินงานประจำปีนั้นไปยังสำนักงาน ก.พ.ร. ภายในเดือนมีนาคมของปีงบประมาณถัดไปด้วย
      
       ข้อ 7 การกำหนดค่าตอบแทนพิเศษประจำปีตามผลการดำเนินงานของสำนักงานให้เป็นไปตามคะแนนผล
      
       การประเมินตัวชี้วัด หากผลคะแนนการประเมินได้ต่ำกว่าร้อยละ 75 สำนักงานไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนพิเศษประจำปีนั้น กรณีที่ผลคะแนนการประเมินได้ตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไปให้สำนักงานได้รับค่าตอบแทนพิเศษประจำปี ตามผลการดำเนินงาน แปรผันตามอัตราร้อยละของเงินเดือนรวมต่อปีของผู้ปฏิบัติงานรวมทุกคน ดังนี้
      
       ค่าคะแนน (ร้อยละ) อัตราการจ่ายค่าตอบแทน (ร้อยละของเงินเดือนรวม)
       มากกว่า 90.00 ร้อยละ 12
       89.01 – 90.00 ร้อยละ 11
       88.01 – 89.00 ร้อยละ 10
       87.01 – 88.00 ร้อยละ 9
       86.01 – 87.00 ร้อยละ 8
       85.01 – 86.00 ร้อยละ 7
       82.51 – 85.00 ร้อยละ 6
       80.01 – 82.50 ร้อยละ 5
       77.51 – 80.00 ร้อยละ 4
       75.01 – 77.50 ร้อยละ 3
       ต่ำกว่า 75 ร้อยละ 0
      
       ข้อ 8 ให้สำนักงานขออนุมัติวงเงินเพื่อจ่ายเป็นค่าตอบแทนพิเศษประจำปีตามผลการดำเนินงาน ตามผล
      
       การประเมินตัวชี้วัดตามข้อ 7 ต่อคณะกรรมการ โดยให้ใช้งบประมาณด้านบุคลากร และ/หรืองบประมาณค่าใช้จ่ายที่เหลือจ่ายและไม่มีภาระผูกพัน แล้วแต่กรณีวงเงินที่ขออนุมัติตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงเงินค่าตอบแทนพิเศษประจำปีตามผลการดำเนินงานของเลขาธิการ ซึ่งมีสิทธิได้รับตามสัญญาจ้าง
      
        ผลการประเมินการปฏิบัติงานตามตัวชี้วัดความสำเร็จกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกับการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษ อยู่ในเกณฑ์ดีและดีมาก อัตราการจ่ายค่าตอบแทน ร้อยละ 12 ตัวอย่าง การประเมิน ปี 2554 – 2557 ดังตาราง


        สปสช. อาจจะแย้งว่าการโอนเงินดังกล่าวไม่ได้มีผลอะไรกับโบนัสของ สปสช. แต่ความเป็นจริงคือหาก สปสช. ไม่สามารถจ่ายเงินดังกล่าว (โอนเงิน กองทุนโรคค่าใช้จ่ายสูงและกองทุนอุบัติเหตุ) จะทำให้เกิดผลกระทบต่อคะแนนประเมินดังกล่าวซึ่งผูกกับโบนัสของ สปสช. จากระดับ A ลงมาเป็น B หรือ C เนื่องจากตัวชี้วัดสามตัว คือ 1.1 อัตราการเบิกจ่ายงบบริหารจัดการตามแผนที่กำหนด 1.2 อัตราการเบิกจ่ายวงเงินการเหมาจ่ายรายหัวที่ได้เบิกจ่ายและก่อหนี้ผูกพันให้หน่วยบริการเป็นไปตามแผนและระยะเวลาที่กำหนด และ 1.3 อัตราการเบิกจ่ายวงเงินกองทุนสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่ได้เบิกจ่ายจริงให้แก่หน่วยบริการ จะไม่ได้รับคะแนนตามเป้าหมาย สำหรับ 1.1 คือไม่สามารถใช้งบประมาณดังกล่าวได้หมดทั้ง 100% ไม่เข้าเป้า สำหรับ 1.2 ก็เช่นกัน ส่วน 1.3 หากมีงบ AE/HC ที่ยังไม่ส่งออกไปจะทำให้ปิดบัญชีได้ล่าช้า หากต้องรอโรงพยาบาลคีย์ข้อมูลใน 30 วันจะทำให้ สปสช. ต้องรอไปอีก 30 วัน และทำให้เป้าหมายในการปิดบัญชีมีช่วงเวลา lead time ลดลง 30 วัน เพื่อให้เข้าเป้าในการปิดบัญชีภายใน 60 วัน
      
       หากไม่ได้โอนเงินดังกล่าวพรวดเดียวออกไป สปสช. อาจจะได้รับคะแนนน้อยกว่า 92.5% ซึ่งอาจจะทำให้ไม่ได้รับโบนัสระดับ A ได้ เช่นหากทำไม่ได้ตามเป้าเลยจะไม่ได้คะแนน คะแนนก็จะร่วงลงมาจาก 92.5-15 = 77.5 % เท่านั้น
      
       สปสช ยังอาจจะโต้แย้งอีกว่า ไม่ได้เรียกเงินคืน หักออกจากยอดเงินที่ทำการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้อง อันนี้เป็นเรื่องจริง เพราะโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขไม่มีเงินพอที่จะจ่ายคืน สปสช. ในความเป็นจริงโรงพยาบาลไม่มีเงินพอที่จะจ่ายคืน แต่ สปสช. ใช้วิธีหักเงินออกจากเงินงวดใหม่ที่จะจ่ายอื่นๆ ซึ่งก็เท่ากับการเรียกคืนอยู่ดี และเป็นการหักข้ามหมวดด้วย เช่น ไปหักออกจากเงิน OPD, IPD เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการรักษาพยาบาลของประชาชน
      
       สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้มี ผลกระทบ อย่างไร
       1) งบประมาณแผ่นดินที่ควรนำไปดูแลประชาชนโดยตรง ไม่ได้นำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
       2) เกิดความเสียหายแก่กองทุนฯและการบริการแก่ประชาชน
       3) ขาดประสิทธิภาพในการบริหารและการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งการควบคุมภายใน
      
       ทั้งหมดเป็นการขัดจริยธรรมอันดีเป็นการเล่นแร่แปรเลข เสกผลงานด้วยวิธีทางการเงินและการบัญชี
      
       และสิ่งที่ต้องทบทวน คือ สปสช. ได้รับ “รางวัลกองทุนเงินหมุนเวียนดีเด่น” จากกรมบัญชีกลาง มาตลอด ตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2557 นั้น เหมาะสม โปร่งใส มีคุณธรรม และเป็นธรรม ต่อประชาชนผู้เสียภาษี หรือไม่ สปสช สมควรได้รับ Bonus หรือไม่?
      
       ทั้งนี้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. ๒๕๔๒ ระบุไว้ว่า
      
        “ทุจริตต่อหน้าที่” หมายความว่า ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
      
       การตกแต่งบัญชีโดยการโยกเงินจ่ายไปก่อนแล้วทำให้ผลงานออกมาดี แล้วจึงขอเงินคืนพันกว่าล้านบาทนั้น น่าจะถือได้ว่าเป็น ใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ ทำให้สปสช ซึ่งก็คือตนเองและพวกพ้องได้โบนัสดังกล่าวนี้จะถือได้ว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่นหรือไม่? จึงครบองค์ประกอบทั้งสองข้อของการ “ทุจริตต่อหน้าที่”
      
       นอกจากนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. ๒๕๔๒ ระบุไว้ว่า ยังกำหนดบทลงโทษเอาไว้ว่า
      
       มาตรา ๑๒๓/๑ เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
      
      

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
 นอกจากนี้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. ๒๕๔๒ ระบุไว้ว่า
       
       มาตรา ๑๒๓/๕ ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       
       ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลใดและกระทำไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลนั้น โดยนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดนั้น นิติบุคคลนั้นมีความผิดตามมาตรานี้ และต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าแต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ
       
       บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลตามวรรคสอง ให้หมายความถึง ลูกจ้าง ตัวแทน บริษัทในเครือ หรือบุคคลใดซึ่งกระทำการเพื่อหรือในนามของนิติบุคคลนั้น ไม่ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ในการนั้นหรือไม่ก็ตาม
       
       พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙
       
       มาตรา ๑๕๗ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       
       จึงมีประเด็นทางกฎหมายที่ครบองค์ประกอบของการทุจริตต่อหน้าที่ครบถ้วน เพราะน่าจะมีการตกแต่งบัญชี สร้างผลงานให้ได้โบนัสแก่ตนเองและพวกพ้อง และหากผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่จัดการให้เรียบร้อยก็จะเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
       
       ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวของ สปสช และผู้ที่มีความรับผิดชอบในเรื่องการเงินการบัญชีของสปสช ถือว่าขัดกับหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ ที่กำหนดไว้ว่า
       
       มาตรา ๓/๑ การบริหารราชการตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ ต่อภารกิจของรัฐ ความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในเชิง ภารกิจแห่งรัฐ การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน การลดภารกิจ และยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็น การกระจายภารกิจ และทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจตัดสินใจ การอำนวยความสะดวก และการตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั้งนี้ โดยมีผู้รับผิดชอบต่อผลของงาน การจัดสรรงบประมาณ และการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ต้องคำนึงถึงหลักการตามวรรคหนึ่ง
       
       ในการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการ ต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้คำนึงถึงความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงาน การมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดเผยข้อมูล การติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมของแต่ละภารกิจ
       
       เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรานี้ จะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติราชการและการสั่งการให้ส่วนราชการและข้าราชการปฏิบัติก็ได้
       
       นอกจากนี้ยังผิดหลักธรรมาภิบาลซึ่งได้มีกฎหมายตราไว้เป็นการเฉพาะใน พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารบ้านเมืองที่ดี 2546
       
       นอกจากประเด็นทางกฎหมายแล้ว ในกรณีนี้ยังมีประเด็นทางการบัญชี โดยมีความพยายามของ พรรคพวกตระกูล ส ของ สปสช ที่จะให้บิดเบือนหลักการทางบัญชี มาตรฐานบัญชีเนื่องจากการโยกเงินจ่ายล่วงหน้า ตามเกณฑ์บัญชีคงค้าง (Accrual Basis) นั้นต้องถือว่าเป็นเป็นหนี้ เพราะเป็นรายได้รับล่วงหน้าและอาจจะถูกเรียกเงินคืนเมื่อไหร่ก็ได้ โรงพยาบาลต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุขต่างใช้ระบบเกณฑ์บัญชีคงค้าง (Accrual Basis) ที่เป็นมาตรฐานบัญชีที่เป็นสากล หาได้ใช้เกณฑ์เงินสด (Cash Basis) จะให้ลงบัญชีเป็นรายรับได้อย่างไรในเมื่อยังมีภาระผูกพันกันอยู่และสปสช จะเรียกคืนเมื่อไหร่ก็ได้ ทำให้การบริการงานในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขยิ่งยุ่งยากและปั่นป่วนมากหากจะลงบัญชีว่าเป็นรายได้เลยทันที
       
       แต่เมื่อไม่นานมานี้ ศาสตราจารย์อัมมาร สยามวาลาผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนำเสนอข้อมูลการบริหารงานระบบหลักประกันสุขภาพ แต่งตั้งโดยศาสตราจารย์ รัชตะ รัชตะนาวิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้แสดงความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงในวิชาบัญชีออกมาเพราะไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างบัญชีตามเกณฑ์คงค้าง (Accrual Basis) และเกณฑ์เงินสด (Cash Basis) ซึ่งข้าพเจ้าเองผู้ผ่านการศึกษาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกคน ต้องได้เรียนวิชาการบัญชีในชั้นปีที่หนึ่ง และต้องเข้าใจหลักการบัญชีสำคัญข้อนี้นับแต่เรียนวิชาการบัญชีตัวแรก
       
       ศาสตราจารย์อัมมาร ได้กล่าวใน "อัมมาร" เปิดผลสอบการบริหารงานสปสช. ต้นเหตุปัญหา รพ. ขาดสภาพคล่อง ดูได้จาก www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1433771727 เอาไว้ว่า
       
       “ประเด็นกรณีโอนเงินแล้วเรียกคืน นั้น ผลการตรวจสอบพบว่า ข้อมูลที่ปลัด สธ.นำเสนอ เป็นข้อมูลจากเว็บไซต์ของ สปสช.จริง ซึ่งเป็นการจ่ายล่วงหน้าสำหรับบริการที่มีค่าใช้จ่ายสูง อุบัติเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉิน บริการเฉพาะโรค ยาจำเป็นและยาที่มีปัญหาการเข้าถึง และจะมีการหักกลบหนี้ทางบัญชี โดยจะทำการหักรายได้สะสมไปเรื่อยๆ เมื่อเกิดผลงานบริการ จนมีวงเงินเท่ากับเงินที่จ่ายไปเบื้องต้น และจะจ่ายเพิ่มเติมในส่วนที่เกินจากที่กระทบยอดหนี้สินแล้ว”
       
       ศ.อัมมาร กล่าวต่อว่า คณะกรรมการมีความเห็นว่า “ปกติเมื่อหน่วยงานได้รับส่วนที่เป็นรายได้ของตนล่วงหน้าหรือเร็วกว่าที่คาด ย่อมถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เสียหายแต่อย่างใด อาจจะดีด้วยซ้ำไป อย่างน้อยก็ดีกว่าการได้รับเงินล่าช้า ถ้าฝ่ายที่ส่งรายได้นั้นชี้แจงให้ชัดเจนว่าเงินส่วนนี้เป็นรายได้ล่วงหน้า และถ้าฝ่ายที่รับเงินนั้นมีความเข้าใจว่ากระแสเงินที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน จะทำให้กระแสในอนาคตลดลงจะต้องบริหารเงินให้สมดุลระหว่างรายได้ และรายจ่ายในแต่ละช่วงเวลา ทั้งหมดนี้ แสดงถึงวัฒนธรรมการใช้จ่ายเงินภายใน สธ. ที่หมกมุ่นอยู่กับสภาพคล่องขณะใดขณะหนึ่ง ไม่มองดูกระแสรายได้ รายจ่ายในแต่ละช่วงเวลา การเข้าใจและการใช้ระบบบัญชีภายใน สธ.ก็แสดงถึงความหมกมุ่นดังกล่าว”
       
       ทั้งนี้นักวิชาการทางการบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้ให้คำปรึกษาผู้เขียนแล้วกล่าวว่า ศาสตราจารย์อัมมาร ไม่มีความรู้ในวิชาบัญชีเลย
       
       เพราะโรงพยาบาลภาครัฐนำเสนอรายงานทางการเงินตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ ซึ่งจัดทำโดยกรมบัญชีกลางและประกาศใช้โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาตรฐานการบัญชีภาครัฐดังกล่าวแปลมาจากมาตรฐานการบัญชีภาครัฐนานาชาติ (International Public Sector Accounting Standard: IPSAS) ซึ่งมีสาระสำคัญไม่ต่างจากมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (Thai Financial Reporting Standard) ที่ประกาศใช้โดยสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชินูปภัมภ์
       
       1. รายการยอดคงเหลือ 1,177 ล้านบาท ที่ทาง สปสช ทักท้วงว่าโรงพยาบาลบันทึกบัญชีผิดเป็นหนี้สินแต่ต้องบันทึกบัญชีเป็นรายได้นั้น
       
       ตามคำจำกัดความของคำว่า “หนี้สิน” ตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐฉบับที่ 1 ย่อหน้าที่ 5 ที่กล่าวว่า หนี้สิน คือ ภาระผูกพันในปัจจุบันของหน่วยงานซึ่งเป็นผลจากเหตุการณ์ในอดีต โดยที่การปลดเปลื้องภาระนั้นคาดว่าจะส่งผลต่อการสูญเสีย ทรัพยากรของหน่วยงานที่อยู่ในรูปของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตหรือศักยภาพในการให้บริการ (คำจำกัดความนี้มีสาระสำคัญไม่ต่างไปจากกรอบแนวคิดสำหรับการรายงานทางการเงิน (ปรับปรุง 2557) ย่อหน้า 4.4.2 ที่ประกาศใช้โดยสภาวิชาชีพบัญชีฯ)
       
       ยอดเงิน 1,177 ล้านบาทดังกล่าวเป็นยอดเงินโอนจาก สปสช ซึ่งโรงพยาบาลจะต้องทำผลงานแลก รวมถึงเงินที่จะต้องจ่ายให้กับหน่วยบริการอื่น ดังนั้นยอดเงินดังกล่าวจึงเข้าข่ายหนี้สิน โดยหน่วยบริการจะต้องเสียทรัพยากรออกไปเพื่อจัดบริการให้กับผู้ป่วยเพื่อปลดเปลื้องภาระนั้น การรับรู้รายการดังกล่าวเป็นรายได้ทันทีจึงไม่ถูกต้องตามมาตรฐานบัญชีภาครัฐและกรอบแนวคิดสำหรับการรายงานทางการเงิน โรงพยาบาลไม่สามารถปฏิบัติผิดหลักการบัญชีโดยการรับรู้เมื่อได้รับเงินสดตามเกณฑ์เงินสดซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติที่ผิดมาตรฐานการบัญชีตามที่ทาง สปสช แนะนำได้
       
       2. รายการยอดคงเหลือ 1,247 ล้านบาท ซึ่งทาง สปสช ทักท้วงว่าโรงพยาบาลแสดงรายการในงบการเงินผิดพลาดจากหนี้สินไม่หมุนเวียนเป็นหนี้สินหมุนเวียน
       
       ตามคำจำกัดความของคำว่า “หนี้สินหมุนเวียน” ตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐฉบับที่ 1 ย่อหน้า 66 หนี้สินจะจัดประเภทเป็นหนี้สินหมุนเวียนเมื่อหนี้สินนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
       
       66.1 คาดว่าจะมีการชำระภายในรอบระยะเวลาดำเนินงานตามปกติของหน่วยงาน
       66.2 ถึงกำหนดชำระภายใน ๑๒ เดือนนับจากวันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน
       66.3 หน่วยงานไม่มีสิทธิอันปราศจากเงื่อนไขให้เลื่อนการชำระหนี้ออกไปอีกเป็นเวลาไม่น้อย
       กว่า 12 เดือน นับจากวันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน
        (คำจำกัดความนี้มีสาระสำคัญไม่ต่างไปมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 1 เรื่อง การนำเสนองบการเงิน ย่อหน้า 69 ที่ประกาศโดยสภาวิชาชีพบัญชีฯ)
       
       รายการดังกล่าวเป็นเงินของหน่วยงานอื่น เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจนว่าจะใช้เงินดังกล่าวเมื่อใด โรงพยาบาลจะต้องจ่ายทันทีเมื่อมีการทวงถามและมีความน่าจะเป็นสูงว่าโรงพยาบาลจะต้องจ่ายออกไปภายในกำหนด 12 เดือนนับจากวันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน ดังนั้นรายการ 1,247 ล้านบาทดังกล่าวจึงต้องแสดงรายการเป็นหนี้สินหมุนเวียนให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ โรงพยาบาลไม่อาจแสดงรายการดังกล่าวเป็นหนี้สินไม่หมุนเวียนตามที่ สปสช แนะนำได้เพราะผิดมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและมาตรฐานการรายงานทางการเงิน
       
       ผลงานเช่นนี้ของ สปสช โดยใช้ Creative accounting ควรจะได้รับโบนัสหรือไม่ ทั้งๆที่ทำผิดจริยธรรมทางการเงินและการบัญชี การมีความรู้ความเข้าใจทางการเงินการบัญชีที่ผิดๆ แม้ในหลักการสำคัญเบื้องต้นที่สุด แต่กลับมากำหนดนโยบายหลักประกันสุขภาพน่าจะทำให้เกิดปัญหาได้
       
       อนึ่งขอให้จัดการเรื่องการทุจริตในหน้าที่ให้เด็ดขาดเพื่อประเทศชาติของเราด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง
       
อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
       สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
       สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
       คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
22 มิถุนายน 2559
http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000062126