ผู้เขียน หัวข้อ: จาก 37.5 the stories ถึงความเท่าเทียมในสิทธิสุขภาพ  (อ่าน 807 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
ตามคำเชิญของคุณหมอ อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมได้ดู 37.5 the stories ที่ออกอากาศทางไทยพีบีเอส ตอนแรก เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาครับ แค่เริ่มแรกก็กล่าวถึงความลักลั่นในสิทธิด้านสุขภาพของไทย ทั้งสิทธิราชการ ประกันสังคม และบัตรทองแล้ว น่าสนใจว่าตอนต่อๆ ไปจะว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในเรื่องใดอีก ต้องติดตามนะครับ ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 16.30 น. ทางไทยพีบีเอส
       
       เมื่อพูดถึงความไม่เท่าเทียมกันเรื่องสิทธิด้านสุขภาพแล้ว ผมอยากชวนให้คุณผู้อ่านเห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันอีกประการหนึ่งระหว่างสิทธิประกันสังคมและสิทธิบัตรทอง นั่นคือเรื่อง การส่งเสริมป้องกันโรค ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมคงทราบดีกว่า ประกันสังคมครอบคลุมเฉพาะการรักษาเมื่อเจ็บป่วยเท่านั้น แต่ไม่ได้ครอบคลุม เรื่องการป้องกันเพื่อไม่ให้เราเกิดโรค เช่นกรณีการคุมกำเนิด
       
       ง่ายๆ ก็คือ ถ้าคุณใช้สิทธิประกันสังคมแล้วคุณไปมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันแล้วคุณตั้งครรภหรือติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ประกันสังคมเหมาจ่ายค่าคลอดและค่ารักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ให้คุณ แต่ไม่จ่ายยาคุมกำเนิดหรือถุงยางอนามัยเพื่อส่งเสริมให้คุณป้องกันการตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อมและป้องกันโรค ในขณะที่คนใช้สิทธิบัตรทองจะได้รับบริการคุมกำเนิดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และพยายามเพิ่มความสะดวกเพื่อให้คนเข้าถึงบริการป้องกันด้วยการให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นหน่วยในการจัดการเรื่องนี้ แต่ในระหว่างที่ประกันสังคมไม่มีสิทธิประโยชน์เรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงมีหน้าที่ต้องจัดสิทธิประโยชน์ส่งเสริมป้องกันโรคให้ กับผู้ประกันตน ทุกคน เพียงแต่ผู้ประกันตนไม่ทราบและโรงพยาบาลต่างๆ ก็ไม่ได้แจ้ง ให้รู้อย่างทั่วถึง
       
       การจ่ายเมทาโดน เพื่อทดแทนการใช้ หรือ ลดการใช้ สารเสพติด (เฮโรอีน) เป็นอีกหนึ่งสิทธิประโยชน์ ที่ยังไม่ครอบคลุมในระบบสุขภาพของประกันสังคมในขณะที่ในระบบหลักประกันสุขภาพ สปสช. จัดสิทธิประโยชน์นี้มาไม่ต่ำกว่า 4 ปีแล้ว และเป็นการให้ในขนาดยาที่เหมาะสมกับผู้ใช้ยาแต่ละคน และให้ต่อเนื่อง ไปจนกว่าจะหยุดยาได้ ไม่มีกำหนดว่าต้องหยุดภายในระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้น เช่น ต้องหยุดให้ได้ ภายใน 21 วัน 48 วัน อะไรทำนองนี้ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า ไม่ใช่วิธีที่เหมาะที่จะกำหนดเวลา แบบนั้นได้ ถ้าผู้ใช้ยาคนนั้นไม่พร้อมไม่ได้สมัครใจจะหยุดการกลับไปเสพซ้ำก็จะเกิดขึ้นแน่ๆ ดังนั้น เมื่อผู้ประกันตนที่เป็นผู้ใช้ยาและต้องการจะบำบัดต้องการจะใช้สารทดแทนการใช้สารเสพติดก็ต้องซื้อเอง ซึ่งมีโอกาสสูงมากที่เขาเหล่านั้นจะคิดว่า ถ้าต้องซื้อก็ไปซื้อยาเสพติดเลยดีกว่า...เมากว่า
       
       การใช้ เมทาโดน นั้น ช่วยให้ผู้ใช้ยา คนนั้นๆ สามารถทำงานได้ ตลอดทั้งวัน โดยไม่ต้องใช้สารเสพติด และต้องเป็นการใช้ทุกวันและเพื่อให้มั่นใจและเป็นการช่วยให้ผู้ใช้ยาได้บำบัดจริงๆ ระบบการให้เมทาโดนในปัจจุบันเป็นการให้มากินต่อหน้าเจ้าหน้าที่ที่หน่วยบริการนั้นๆ ที่ให้บริการอยู่ และในหลายๆ ที่ เจ้าหน้าที่จะยืดหยุ่น เวลาที่มากินเมทาโดน ที่เหมาะกับเวลาของผู้ใช้ยาแต่ละคน ซึ่ง เป็นการดึงผู้ใช้ยาให้กลับมาใช้ชีวิตร่วมกับ คนอื่นๆ ได้ดีแบบหนึ่ง แต่น่าเสียดายที่ระบบประกันสังคม ไม่มีสิทธิประโยชน์นี้ ซึ่งในวันที่ 25 มิ.ย. นี้ เครือข่ายคนทำงานเพื่อลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด พยายามจะเข้าพบกับเลขาธิการประกันสังคมเพื่อเรียกร้องให้เพิ่มสิทธิประโยชน์นี้ ผมก็ใช่ช่องทางนี้ ช่วยส่งเสียงถึงประกันสังคมให้พิจารณาเรื่องนี้เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่ผู้ประกันตนยังได้สิทธิไม่เท่าเทียมกับสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพอื่นๆ
       
       เปิดเรื่องด้วยความบันเทิง ชวนดูซีรีย์ แต่ดูเหมือนจะปิดเรื่องด้วยประเด็นเครียดๆ ชวนคิด อย่างไรก็ตามผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ และอยากชวนทุกคนโดยเฉพาะคนที่ใช้สิทธิประกันสังคมและหน่วยบริการส่งเสียงถึงสำนักงานประกันสังคมกันให้ดังๆ ว่าอยากให้ประกันสังคมครอบคลุมค่าใช้จ่ายเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรคด้วยเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้ประกันตนและเพื่อลดภาระงานของหน่วยบริการ
       
       แต่ถ้าเลือก “ไม่ส่งเสียง” เราก็คงต้องทนอยู่กับความ “ไม่เท่าเทียม” กันต่อไปนะครับ

โดย..นิมิตร์ เทียนอุดม

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    3 มิถุนายน 2557

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
37.5 the storiy
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 05 มิถุนายน 2014, 10:06:45 »
37.5 The Story

หนุ่ม” เป็นปลัดอำเภอเล็กๆ แห่งหนึ่งและยังดำรงฐานะเป็นหัวหน้าครอบครัวที่มีสมาชิกรวม 5 คน ครอบครัวขนาดกะทัดรัดนี้ก็เหมือนครอบครัวไทยในสังคมสมัยใหม่ที่ภรรยาไม่ได้ทำหน้าที่ดูแลลูกหรือดูแลบ้านเพียงอย่างเดียว แต่ “หน่อย” ภรรยาปลัดหนุ่มต้องออกไปช่วยเหลือครอบครัวโดยการไปทำงานในบริษัทเอกชนเพื่อหาเงินส่ง “นุ่ม” ลูกสาวคนโตที่เพิ่งจะทราบผลสอบจากเพื่อนว่าได้มหาวิทยาลัยต่างจังหวัด ส่วน “นิ่ม” ลูกสาวคนรองเป็นเด็กเนิร์ดกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมและช่วยดูแล “โหน่ง” ลูกชายคนเล็กที่เป็นเด็กขี้สงสัยแต่สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง
       
       สมาชิกทั้ง 5 คนเป็นคนไทยที่มีสิทธิในการรักษาพยาบาลแตกต่างกัน สิทธิประโยชน์ก็แตกต่างกัน ถ้าป่วยพร้อมๆ กันคงวุ่นวายพิลึก
       
       จากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในปี 2556 พบว่า มีคนไทยเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่ทราบว่าตนเองมี “สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 70 คิดว่าการไปรับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลเป็นเพียง “การสงเคราะห์” จากภาครัฐ
       
       การรู้ว่าตนเองมี “สิทธิ” กับการต้องไปรับ “การสงเคราะห์” ให้ความรู้สึกต่างกันเยอะเชียวนะครับ
       
       คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการผู้ก่อตั้ง สปสช. เขียนไว้ในหนังสือ “บนเส้นทางหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ไว้ในคราวหนึ่งว่า
       
       “วันหนึ่งในขณะที่ผมนั่งรถกลับโรงพยาบาลหลังเสร็จสิ้นภารกิจในเมือง ฝนตกหนักระหว่างทาง เราได้พบผู้หญิงคนหนึ่งอุ้มลูกน้อยยืนเหมือนกับจะรอรถโดยสารอยู่ข้างทาง ด้วยความที่เห็นว่าฝนตกหนักและรถที่ผมนั่งอยู่มีที่ว่างพอทางด้านหลัง ผมจึงบอกให้คนขับรถจอดรับแม่ลูกคู่นั้นขึ้นรถ เมื่อสอบถามได้ความว่าลูกของเธอไม่สบาย จากการสังเกตสภาพของเด็กด้วยตาก็คาดว่าเด็กน่าจะเป็นปอดบวม เพราะมมีอาการหายใจหอบ ผมเลยบอกกับผู้เป็นแม่ว่า รถที่นั่งอยู่เป็นรถของโรงพยาบาลขอให้สบายใจ และเรากำลังจะไปโรงพยาบาล คงพอจะดูแลให้ลูกของเธอหายได้
       
       เมื่อรถแล่นไปถึงโรงพยาบาลผมก็พบกับสิ่งที่คาดไม่ถึง คือแทนที่จะได้เห็นเธออุ้มลูกมาให้หมอตรวจ เธอกลับอุ้มลูกเดินออกจากโรงพยาบาลโดยไม่ยอมเข้ามารับบริการ ผมจึงเดินตามไปถามว่า มาถึงโรงพยาบาลแล้วทำไมไม่พาลูกไปให้หมอตรวจ เธออ้ำอึ้งไม่ตอบอยู่พักใหญ่ สุดท้ายคนขับรถของผมซึ่งเป็นคนท้องถิ่นได้สอบถามแทน จึงได้ความว่า เธอมีเงินพกติดตัวมาทั้งหมดเพียง 30 บาท ตั้งใจจะนำเด็กไปฉีดยากับหมอเสนารักษ์ที่อยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาลเท่าใดนัก ซึ่งโดยปกติเขาจะคิดค่ารักษาเพียง 20 บาท อีก 10 บาทที่เหลือนั้นจะเก็บไว้เป็นค่าโดยสารกลับบ้าน
       
       ผมพยายามอธิบายให้ฟังว่า จากสภาพภายนอกของลูกของเธอน่าจะป่วยด้วยโรคที่ร้ายแรงเกินกว่าจะหายได้ด้วยยาฉีดเพียงเข็มเดียว หลังจากที่พูดคุยกับอยู่พักใหญ่บวกดับการให้ความมั่นใจว่า ในกรณีที่เป็นคนไข้ยากจนโรงพยาบาลจะไม่เก็บค่ารักษา สุดท้ายเธอจึงยินยอมให้เด็กเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจนหายจากโรคปอดบวมในที่สุด”
       
       ความรู้สึกของประชาชนคนตัวเล็กๆ กับการต้องไปขอรับ “การสงเคราะห์” จากโรงพยาบาลเป็นความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ที่อาจต้องรวบรวมความกล้า บากหน้าไปขอให้ช่วยรักษา แต่หากก้าวไม่พ้นความรู้สึกนั้น ก็อาจต้องยอมอุ้มลูกเดินกลับบ้านเพื่อรวบรวมเงินทองมารักษาในคราวต่อไป
       
       ไทยพีบีเอส ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำละครซิตคอมเรื่อง “ครอบครัวอลวน” หรือ “37.5 The Story” โดยมีครอบครัวปลัดหนุ่มที่รับบทโดย คุณจุมพล ทองตัน หรือ “โกไข่” พร้อมด้วย คุณจารุภัส ปัทมะศิริ เป็น “หน่อย” คุณสุวพิชญ์ ไตรพรวรกิจ รับบทเป็น “นุ่ม” น้องกีรติกา เจริญไชย เป็น “นิ่ม” และน้องชาร์ลส์ เอเมอร์สัน แยนซีย์ แสดงเป็น “โหน่ง” ทั้งหมดเป็นตัวแทนของครอบครัวคนไทยที่มีความเข้าใจที่หลากหลายเกี่ยวกับสิทธิการรักษาพยาบาล คำตอบสำคัญหลายข้อจะถูกบอกเล่าผ่านการเดินเรื่องของครอบครัวนี้ ด้วยความสนุกสนาน ผ่านเสียงหัวเราะ ชวนให้ติดตาม
       
       แม้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเริ่มต้นมาแล้วกว่าทศวรรษ ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากในการทำให้คนไทยมีสิทธิรักษาพยาบาลมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ยังมีคนไทยจำนวนไม่น้อยไม่ทราบว่าตนเองมีสิทธิ และมีอีกไม่น้อยที่ยังไม่ทราบว่าสิทธินั้นช่วยอะไรได้บ้าง “37.5 The Story” จะช่วยทำให้เข้าใจและเปิดมุมมองใหม่ในการดูแลสุขภาพ
       
       ละครดีมีสาระ ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 14:00 น. ที่ ThaiPBS เริ่ม 31 พฤษภาคมนี้ครับ

โดย..ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ


ASTVผู้จัดการออนไลน์    20 พฤษภาคม 2557