ผู้เขียน หัวข้อ: สผพท.แถลงข่าว  (อ่าน 1560 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
สผพท.แถลงข่าว
« เมื่อ: 26 พฤศจิกายน 2010, 17:37:13 »
แถลงข่าวสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสผพท.
ความเป็นมาของสผพท.
 เริ่มจากพญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนาในฐานะอดีตกรรมการแพทยสภา(พ.ศ. 2546-2550) และปัจจุบันเป็นประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับเปลี่ยนเงินเดือนและค่าตอบแทนแพทย์ในภาคราชการของแพทยสภา ได้ติดตามศึกษาปัญหาการขาดแคลนบุคลากรแพทย์ การขาดแคลนงบประมาณสนับสนุนการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประชาชนไทย ความเหลื่อมล้ำในการได้รับการคุ้มครองจากหลักประกันสุขภาพของประชาชนไทย และภาระงานที่มากเกินกำลังของบุคลากรทางการแพทย์ จนทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออันตรายของประชาชนที่ไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข และบุคลากรแพทย์มีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง/ร้องเรียนและถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา จนถึงกับมีคดีตัวอย่างที่ศาลชั้นต้นได้ตัดสินพิพากษาจำคุกแพทย์คนหนึ่ง ที่พยายามจะรักษาผู้ป่วย แต่เมื่อรักษาไม่สำเร็จกลับต้องคำพิพากษาให้จำคุก
พญ.เชิดชูฯจึงได้เสนอคณะกรรมการแพทยสภาให้จัดการสัมมนาในความรับผิดชอบของแพทยสภา เพื่อระดมความคิดในการหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาในระบบการแพทย์และสาธารณสุขไทย ได้แก่
1.การสัมมนาเรื่องนโยบายการแพทย์และสาธารณสุขกับพรรคการเมือง เมื่อวันที่28 พฤศจิกายน 2550 โดยมีผู้ร่วมสัมมนาคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นพ.วินัย วิริยะกิจจา รองหัวหน้าพรรคชาติไทยนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน และนพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ ผู้แทนพรรคเพื่อแผ่นดิน
2. การสัมมนาเรื่อง วิกฤติการขาดแคลนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2551 โดยนายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มาเป็นประธานเปิดการสัมมนา
3.การสัมมนาเรื่อง แปดปีภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553
4.การสัมมนาเรื่อง การแยกบุคลากรสาธารณสุขออกจากกพ. เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553
 หลังการสัมมนาแต่ละครั้ง ได้สรุปผลการสัมมนาเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาต่างๆดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่นายแพทย์มงคล ณ สงขลา นายไชยา สะสมทรัพย์ นายวิชาญ มีนไชยนันท์ นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นายวิทยา แก้วภราดัย และนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์
 แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาในระบบบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขนั้น ไม่สามารถจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เป็นรูปธรรมได้ในเวลาอันรวดเร็ว และกลุ่มแพทย์รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขหลายคน ได้ร่วมกันก่อตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยด้านสาธารณสุข ชื่อย่อว่า ปท.สธ. เป็นคณะกรรมการอาสา เข้ามาช่วยราชการ และประชาชนอีกทางหนึ่ง คณะกรรมการนี้ประกอบด้วย แพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักวิชาการสาธารณสุข นักกฎหมายด้านกฎหมายมหาชน ผู้บริหารสาธารณสุข และอีกหลากหลายสาขาอาชีพ
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยด้านสาธารณสุข (ปท.สธ.) ได้ตั้ง คณะทำงานเข้าชื่อเสนอกฎหมายปฏิรูปการสาธารณสุขไทย (ขก.สธ.) เพื่อรวบรวมผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย และรวบรวมความคิดเห็นในการปรับปรุงร่างกฎหมาย ต่อไปนี้
1) ร่าง พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. .... มีชื่อย่อว่า ก.สธ.
2) ร่าง พระราชบัญญัติจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข พ.ศ. .... 
3) ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายอันเกี่ยวกับบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขบาง ฉบับที่ไม่เหมาะสมกับการบริหารราชการแผ่นดินในกาลปัจจุบัน พ.ศ. ....   
และประสานความร่วมมือกับ องค์กร คณะบุคคล ที่ดำเนินการในด้านนี้อยู่ก่อนแล้วและได้แสดงเจตจำนงทำการเข้าชื่อเสนอกฎหมายฯ    โดยได้จัดทำWebsite ของ ก.สธ. มี domain name ว่า www.thaitrl.org  มี พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล เป็นผู้บริหารเว็บไซต์
แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะที่คณะปท.สธ. ได้มุ่งไปที่การแก้ไขระบบบุคลากรสาธารณสุขนั้น คณะปท.สธ.ได้เริ่มขยายเครือข่ายไปยังบุคลากรสาธารณสุขในส่วนต่างๆของประเทศ โดยกลุ่มแรกที่เราไปทำการบรรยายและเสนอแนวความคิดในการจัดการบริหารงานบุคคลแยกจากกพ. ได้แก่เขต 11 (นครพนม มุกดาหาร สกลนคร ร้อยเอ็ด)  และเราได้พบว่า บุคลากรส่วนใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้มารับฟังการบรรยาย ต่างก็เห็นด้วยกับการแยกสังกัดไปอยู่ต่างหากจากกพ. และพวกเราได้ไปบรรยายในเขต 6 (ชุมพร สุราฏร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง)โดยบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขเขต 6 ส่วนใหญ่ที่ได้มาร่วมรับฟังการอภิปราย ต่างก็มีความเห็นด้วยว่าสมควรแยกการบริหารจัดการด้านบุคลากรสาธารณสุขออกจากกพ.
  แม้ในการประชุมวิชาการของกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2553 ที่จังหวัดภูเก็ตในเดือน สิงหาคม 2553นั้น คณะกรรมการจัดประชุมวิชาการของกระทรวงสาธารณสุขได้เชิญพญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนาและคณะไปบรรยายเรื่อง “ก้าวต่อไปของกระทรวงสาธารณสุข จะอยู่หรือจะแยกไปจากกพ.”
ซึ่งนายสุกฤษฎิ์ กิติศรีวรพันธุ์ได้กล่าวว่า การะทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่จัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน แต่กระทรวงสาธารณสุขขาดทั้งบุคลากร ขาดเงินงบประมาณ และขาดการบังคับบัญชาผู้กำเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดบริการสาธารณสุข(คือสปสช.) รวมทั้งขาดเงินในการพัฒนาอาคารสถานที่ที่ทำงานและขาดเครื่องมือรวมทั้งเวชภัณฑ์และเทคโนโลยีในการให้บริการรักษาประชาชน ซึ่งในการบรรยายครั้งนั้น มีบุคลากรเข้าฟังการอภิปรายไม่ต่ำกว่า 1,000 คน และพญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนาได้ถามในห้องประชุมว่า มีใครไม่เห็นด้วยกับหัวข้อที่ตั้งไว้ พบว่ามีผู้ที่ยังไม่เห็นด้วยว่าควรจะแยกบุคลากรสาธารณสุขออกจากกพ.เพียง 7 คน ซึ่งเมื่อผู้บรรยายได้ถามเหตุผลที่ไม่ขอแยก ก็ได้รับคำตอบว่า “พอทนได้”
ในขณะที่ผู้อยู่ในห้องประชุมอีกกว่า 90 % (เรียกว่าเกือบทุกคนในห้องประชุม) ได้ยกมือเห็นด้วยว่าควรจะแยกบุคลกรสาธารณสุขออกจากกพ. โดยมีผู้ให้เหตุผลในการขอแยกจากกพ.ทั้งแพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ ทันตแพทย์ และอื่นๆ เหตุผลที่อยากจะแยกคือ
1.บุคลากรหลากหลายวิชาชีพไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ต้องเป็นลูกจ้างชั่วคราวมาหลายสิบปี
2.บุคลากรขาดความก้าวหน้าในตำแหน่งและค่าตอบแทน
3. มีความเหลื่อมล้ำในการได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนนอกเวลาราชการ
4.ภาระงานมากเกินไป ขาดการพักผ่อน ขาดเวลาที่จะดูแลลูกและสามีภรรยา
5.มีความเครียดเพราะภาระงานและปัญหาการฟ้องร้อง/ร้องเรียน
   นอกจากนั้นยังมีปัญหาที่กระทรวงสาธารณสุขขาดงบประมาณในการบริหารจัดการโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสธ.เอง และไม่สามารถจัดสรรเงินเดือนและค่าตอบแทนแก่บุคลากรในสังกัดของตนเองได้ เนื่องจากว่าจำนวน 40 %ของเงินเดือนข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขนั้น รวมอยู่ในงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และรัฐบาลได้จัดสรรผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
หลังจากการรับฟังความคิดเห็นว่าบุคลากรส่วนใหญ่ของกระทรวงสธ.ต้องการแยกกออกจากกพ.  คณะปท.สธ.ได้เสนอต่อคณะกรรมการแพทยสภา ขอให้แต่งตั้งบุคลากรที่ทำงานในกระทรวงสาธารณสุข ในสาขาวิชาชีพอื่นจนครบทุกสหสาขาวิชาชีพ รวมทั้งวิศวกรและสถาปนิก และชมรมหมออนามัย มาเป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับเปลี่ยนเงินเดือนและค่าตอบแทนแพทย์ในภาคราชการของแพทยสภา ที่มีพญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนาเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการฯนี้ได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการมาหลายครั้ง เพื่อพิจารณาข้อเสนอ ในการพิจารณาจัดทำร่างพ.ร.บ.ก.สธ. และแสวงหาแนวทางในการดำเนินการให้ประสบความสำเร็จ
   แต่ในขณะที่ปท.สธ.กำลังเตรียมการเข้าชื่อเสนอพ.ร.บ.ก.สธ. โดยมีพญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุลเป็นหัวหน้าคณะทำงานเข้าชื่อเสนอกฎหมายอยู่นี้ เราก็ได้ทราบข่าวการบรรจุร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....ทั้งหมด 7 ร่างเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเมื่อพวกเราได้อ่านร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....ฉบับของรัฐบาลทุกตัวอักษรแล้ว เราก็ตระหนักว่าพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....นี้จะก่อให้เกิดความไม่ชอบธรรมตามหลักธรรมาภิบาลหรือหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และจะทำให้เกิดผลเสียหายแก่ระบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างรุนแรง รวมทั้งจะก่อให้เกิดผลกระทบเป็นความเสียหายแก่ทั้งประชาชนทั่วไปและแก่ประชาชนที่เป็นผู้ให้การรักษาพยาบาลในระบบการแพทย์และสาธารณสุข พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนาจึงได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีและขอไปพบนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล (ข่าวหนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวว่า หมอคอตกนายกฯไม่ให้พบ) เพื่อขอให้ชะลอการนำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และขอให้รัฐบาลดำเนินการทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงผลดี/ผลเสีย ที่จะเกิดจากการตราพ.ร.บ.นี้และแก้ไขก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 1 แต่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบในการไปทำความเข้าใจกับประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์
   แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ได้มอบหมายให้นพ.ไพจิตร วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มาเป็นผู้ทำความเข้าใจกับประชาชน (กลุ่มที่เข้าชื่อเสนอพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....) และบุคลากรทางการแพทย์ 
   ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะสภานายกพิเศษของแพทยสภา ได้กล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาว่า ถ้าพวกแพทย์สามารถไปรวบรวมรายชื่อบุคลากรสาธารณสุขได้มากกว่า 80% ว่าไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... แล้ว รัฐมนตรี(นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์) จะถอนร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ออกจากระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร
  นพ.ไพจิตร วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ประกอบด้วยกลุ่มเอ็นจีโอและเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ (ที่เป็นผู้เสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....)รวมทั้งผู้แทนสหสาขาวิชาชีพทางการแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขเป็นกรรมการร่วมกันในการแก้ปัญหาความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างกลุ่มเอ็นจีโอและเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์กับสหสาขาวิชาชีพในกระทรวงสาธารณสุข
แต่กลุ่มผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้ตระหนักว่าปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้พยายามบิดเบือนความจริงที่เกิดขึ้นในการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ จึงได้ออกมาจัดประชุมกันเอง จากแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะมาจากกลุ่มแพทยสมาคม แพทย์ทหาร ตำรวจ เทศบาล(กทม.) คณะแพทยศาสตร์  สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เอกชน แพทย์  ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เทคนิคการแพทย์ และอื่นๆ ที่ได้อ่านและตระหนักในปัญหาที่จะเกิดจากการตราพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....นี้ และไม่อาจจะแก้ไขได้ในวาระที่ 2ของการตั้งคณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร
   โดยกลุ่มการประชุมของบุคลากรเหล่านี้ได้ตกลงกันจัดตั้ง “สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)” โดยมอบให้พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา เป็นประธานฯ มีพ.ญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุลและนพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ เป็นรองประธาน และมีแพทย์ผู้อาวุโสเป็นที่ปรึกษาหลายคน มีสมาชิกทั้งที่เป็นส่วนตัวและในนามองค์กรอีกหลายคนและหลายองค์กร
   ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสผพท.นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ได้วางแผนการไว้ก่อน แต่มีวัตถุประสงค์หลักคือการเสนอให้รัฐบาลจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ก่อนนำพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร
   ทั้งนี้เพื่อแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ให้เหมาะสมและไม่เกิดความขัดแย้งในบ้านเมืองเพิ่มขึ้นอีกในเรื่องการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งของประเทศ ที่จะต้องเกิดผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนทั้งประเทศอย่างแน่นอน รวมทั้งพิจารณาแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ในมาตรา 41 เพื่อขยายความครอบคลุมในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุขทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายผู้ให้การรักษาและผู้รับการรักษา
   ซึ่งสผพท.ก็ได้ไปทำประชาพิจารณ์ในหมู่บุคลากรสาธารณสุขมาแล้วมาแล้วใน 41 จังหวัดโดยบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนที่ได้ร่วมรับฟังการทำประชาพิจารณ์มากกว่า 90% ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....
   อย่างไรก็ตาม ในวันนี้วันที่ 26 พฤศจิกายน 2553 นับเป็นวันปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระนิติบัญญัติ สผพท.ก็ยินดีที่พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ยังไม่ได้รับการนำขึ้นมาพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร แต่เราก็ยังยืนยันข้อเสนอว่า เป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลผู้บริหารประเทศ ที่จะต้องทำประชาพิจารณ์ให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดจากพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... และรัฐบาลต้องหาทางออกที่เหมาะสมในเรื่องการ “คุ้มครองประชาชน” ทุกคนในประเทศไทยที่จะได้รับผลกระทบจากระบบการแพทย์และสาธารณสุข ไม่เฉพาะผู้ไปรับการรักษาเท่านั้น