ผู้เขียน หัวข้อ: สพฉ.หนุนให้ความรู้ด้านการช่วยเหลือตัวเองกรณีประสบเหตุฉุกเฉิน  (อ่าน 621 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
สพฉ. ถอดบทเรียนจากเหตุรถพ่วง 18 ล้อชนประสานงา บขส. ที่ จ.สระบุรี จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งอบรมพนักงานให้บริการบนรถโดยสารให้มีความรู้ด้านปฐมพยาบาลเบื้องต้น...

นายอนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เปิดเผยว่า สพฉ.ได้ถอดบทเรียนจากเหตุรถพ่วง 18 ล้อ ชนประสานงากับรถบัสโดยสารของ บริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก   โดย สพฉ. จะเร่งหาแนวทางในการพัฒนาวิธีการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือเกิดอุบัติเหตุ โดยประสานงานร่วมกันระหว่างทีมกู้ชีพและกู้ภัยให้มีความพร้อม มีมาตรฐานการทำงานที่เพียงพอ และมีกระบวนการส่งต่อผู้ป่วยที่มีความพร้อม โดยสามารถส่งผู้ป่วยหรือผู้ได้รับบาดเจ็บเข้าทำการรักษาในสถานพยาบาลที่ใกล้และมีความพร้อมในการรักษามากที่สุด ขณะเดียวกันอุปกรณ์กู้ภัยก็ต้องมีความพร้อม ทั้งการให้ความช่วยเหลือกรณีรถขนาดใหญ่พลิกคว่ำ หรือทับผู้ประสบเหตุ ซึ่งจะต้องมีรถเครนช่วยยกรถ แต่จากข้อมูลขณะนี้อุปกรณ์ดังกล่าวยังกระจายไม่ทั่วถึงในแต่ละภูมิภาค

สำหรับแนวทางในการป้องกันและแก้ปัญหาในเบื้องต้น สพฉ.จะเร่งให้ความรู้กับประชาชน รวมทั้งจัดฝึกอบรมพนักงานประจำรถโดยสารให้มีความรู้ด้านหลักการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น เพื่อให้คำแนะนำที่ถูกต้องกับผู้โดยสาร นอกจากนี้จะขยายขอบเขตการฝึกอบรมสู่อาสาสมัครกู้ชีพที่ีมีความรู้เรื่อง การปฐมพยาบาลในแต่ละอาชีพด้วย เช่น โรงงาน โรงเรียน ชุมชน ซึ่งต้องรู้วิธีให้ความช่วยเหลือที่ถูกต้องเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกำหนดบทลงโทษอย่างจริงจังต่อผู้กระทำความผิดและฝ่าฝืนกฎหมาย 

น.ส.นวพร สุขประเสริฐ ฝ่ายประชาสัมพันธ์มูลนิธิร่วมกตัญญู รหัสนคร 0592 และนักสื่อสารกู้ชีพของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุถึง 19 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 2 ราย โดยสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการโดนไฟคลอกและไม่สามารถหนีออกจากรถโดยสารได้ ซึ่งจากการเข้าช่วยเหลือของมูลนิธิฯ ในช่วงแรกที่เกิดเหตุเป็นไปอย่างยากลำบาก ทั้งลักษณะของรถบัสที่เป็นรถ 2 ชั้น ประกอบกับเปลวไฟโหมกระหน่ำอย่างรุนแรง แม้จะทำการช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้วแต่ก็ยังมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก สิ่งสำคัญคือผู้ประสบเหตุเกือบทุกคนไม่รู้วิธีที่จะช่วยเหลือตัวเอง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น และไม่รู้ตำแหน่งทางออกฉุกเฉินว่าอยู่ตรงช่วงใด

อย่างไรก็ตาม แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นอุบัติเหตุที่ไม่ได้เกิดจากรถทัวร์โดยตรง แต่รถทัวร์เป็นรถโดยสารสาธารณะ จึงควรจะมีวิธีในการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก หรือหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นผู้โดยสารควรได้รับข้อมูลที่จะเอาตัวรอดจากเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้นได้ โดยเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดอบรมให้ความรู้แก่พนักงานขับรถและพนักงานที่ให้บริการบนรถโดยสารให้มีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น รวมทั้งให้ข้อมูลแก่ผู้โดยสารกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ตลอดจนวิธีการสังเกตทางออกฉุกเฉิน และการใช้เครื่องมือต่างๆ เมื่อเกิดเหตุ ซึ่งอาจนำเสนอในรูปแบบของวิดีโอหรือหนังสั้น  หรือรูปแบบการ์ตูน เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนรถโดยสารได้.

ไทยรัฐออนไลน์  27 ธค 2556